“บะหมี่กึ่งฯ ติดอันดับสินค้าขายดีของครึ่งปีแรก…”
นั่นเป็นข่าวที่ได้ยินช่วงต้นปี 2562 ตอนนั้นเราไม่เคยคิดมาก่อนว่ามันจะกลายเป็นสินค้าขายดีตลอดปีนั้น (ยันปีนี้) แถมดูทรงแล้วคิดว่าคงฮิตติดชาร์ตไปอีกนาน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าบะหมี่กึ่งฯ อยู่เคียงข้างพวกเราเสมอ ทั้งยามสุข (ที่อยากหาอะไรแก้เหงาปากตอนดึก) ยามทุกข์ (แรกๆ ก็ทุกช่วงสิ้นเดือน หลังๆ เริ่มกระจายไปหลายวันของเดือน) เป็นทุกอย่างให้แล้วแม้กระทั่งเป็นตัวบ่งชี้ทางสังคม ช่วงไหนเศรษฐกิจดิ่งวูบ ยอดขายบะหมี่กึ่งฯ ยิ่งพุ่งสูง เมื่อชาติประสบวิกฤต สิ่งที่ผู้คนคิดถึงและถลันไปแย่งชิงมากักตุนอันดับแรกกลับไม่ใช่ข้าวสาร แต่มันคือเจ้าก้อนเส้นบะหมี่นี้อีกเช่นกัน ยิ่งระยะนี้เหมือนจะสนิทกันกว่าเดิมหลายเท่า แต่ก็เป็นความสนิทที่ห่างเหินชอบกลเพราะไม่รู้จักพื้นเพ หากมีที่ไหนจะช่วยให้เราทำความรู้จักบะหมี่กึ่งฯ เพื่อนซี้ได้ดีขึ้น ก็น่าจะเป็นที่นี่… CupNoodles Museum จังหวัดโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
บะหมี่นอกจากจะถูกยกย่องเป็นอาหารมงคล กินง่าย อร่อยดี เป็นเหมือนคำอวยพรให้อายุยืนยาวแล้ว ในความรู้สึกของชาวญี่ปุ่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังจัดอยู่ในประเภทสุดยอดสิ่งประดิษฐ์แห่งศตวรรษที่ 20 อีกต่างหาก สำคัญยิ่งกว่ารถไฟความเร็วสูงหรือเครื่องร้องเพลงคาราโอเกะด้วย จึงไม่แปลกถ้าประเทศนี้จะมีพิพิธภัณฑ์ที่อุทิศให้กับนวัตกรรมด้านปากท้องโดยเฉพาะ เพียงนั่งรถไฟมาลงสถานีอิเคดะ แล้วเดินตามทิศที่เด็กๆ สะพายถุงใส่กระป๋องบะหมี่สวนทางกับเราไว้ คุณก็จะเจอกับอาคารพิพิธภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรานิชชินภายในไม่กี่นาที
หน้าตึกมีรูปปั้นของบิดาแห่งวงการบะหมี่กึ่งฯ ตั้งอยู่ นั่นคือ ท่านโมโมะฟุกุ อันโดะ ชายผู้ปัดเป่าความหิวโหยให้คนญี่ปุ่นและทั่วโลกมาตลอดระยะเวลาหกสิบกว่าปี ในฐานะอัครสาวกแห่งบะหมี่กึ่งฯ นี่คือสิ่งที่ต้องสักการะด่วนๆ สักครั้งในชีวิต ส่วนผู้ปกครองนิยมพาเด็กๆ มาเที่ยวที่นี่เพราะนอกจากภายในจะมีโซนพิพิธภัณฑ์ที่สนุก ทันสมัย เข้าใจง่าย ยังมีโซนเวิร์กช็อปให้ฝึกทำทั้งเส้นสดและทำบะหมี่ถ้วยแบบหนึ่งเดียวในโลกด้วยตัวเองด้วย
Nissin เริ่มแรกคือเกลือ
สิ่งแรกที่พิพิธภัณฑ์บอกให้รู้คือ เดิมทีคำว่านิชชินไม่ได้ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งฯ แต่เป็นชื่อบริษัทผลิตเกลือของท่านอันโดะในเมืองอิเคดะ และบะหมี่กึ่งฯ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกใน ค.ศ. 1958 หลังช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศญี่ปุ่นเกิดภาวะอดอยาก ขาดแคลนอาหาร รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนหันมาบริโภคขนมปัง เนื่องจากมีข้าวสาลีที่สหรัฐอเมริกาส่งมาช่วยเหลือจำนวนมาก และมันน่าจะเป็นอาหารที่ง่ายต่อการเก็บรักษากว่าข้าวสวย ขณะนั้นเองท่านอันโดะที่เป็นเจ้าของโรงงานเกลือเห็นภาพผู้คนมาต่อแถวรอรับขนมปังอย่างห่อเหี่ยวใจ ก็ได้แต่สงสัยว่าทำไมเราถึงลืมราเมนที่เป็นอาหารประจำชาติไปเสีย ในเมื่อเส้นก็ทำจากแป้งสาลีเหมือนกัน ยิ่งในยามอากาศเย็นจัด ราเมนร้อนๆ ย่อมดีกว่าขนมปังแห้งๆ ที่ฝืดคอเป็นไหนๆ
ท่านอันโดะเชื่ออย่างสุดใจว่าสันติภาพจะคืนสู่โลก ก็ต่อเมื่อประชาชนท้องอิ่มและมีอาหารการกินเพียงพอ ดังนั้น อาหารที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ต้องมีคุณสมบัติเริ่มต้นคืออร่อย ปลอดภัย ไม่แพง ทำง่าย และเก็บได้นาน เพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น สูตรอาหารชนิดใหม่ของโลกก็เกิดขึ้นภายในกระท่อมเล็กๆ สถานที่ที่เขาทดลองทำเส้นบะหมี่สดจากแป้งสาลี ต้มเส้นในซุปไก่เข้มข้น สาเหตุที่ต้องใช้ซุปไก่ เพราะเป็นอาหารบำรุงสุขภาพที่อร่อยและกินง่าย พอเส้นดูดซับรสชาติได้ที่ก็ตักมาผึ่งให้แห้ง ระหว่างกำลังคิดว่าจะทำอย่างไรให้เก็บเส้นได้นานๆ วันหนึ่งบังเอิญเห็นภรรยากำลังทอดเทมปุระอยู่ในครัว จึงปิ๊งไอเดียทอดเส้นในน้ำมันเพื่อไล่ความชื้นและถนอมคุณภาพ ในพิพิธภัณฑ์ยังมีกระท่อมจำลองให้เข้าไปเดินดูหม้อซุป ไข่ แป้ง ไม้นวดแป้ง เครื่องหั่นเส้นโบราณประกอบจินตนาการ สมจริงประหนึ่งเราได้วาร์ปไปเป็นคนร่วมคิดค้นกับท่านอันโดะกันเลย
13 ปีกว่าที่บะหมี่ถ้วยเทน้ำร้อน รอ 3 นาที จะกำเนิด
แม้ทุกวันนี้บะหมี่กึ่งฯ จะวางแผงมากว่า 60 ปี มีคนทั่วโลกฝากท้องไว้กับสิ่งนี้วันละประมาณ 270 ล้านซอง/กระป๋องต่อวัน แต่บะหมี่กึ่งฯ ยุคบุกเบิกนามว่า ‘ชิกิงราเมน’ กลับไม่ใช่อาหารที่ถูกใจตลาดเท่าไหร่ เพราะถึงได้ชื่อว่าเป็นบะหมี่มหัศจรรย์ ต้มน้ำ พร้อมกิน แต่ราคาซองละ 35 เยน ก็ถือว่าแพงอยู่ดีถ้าเทียบกับอุด้งร้อนชามละเพียง 6 เยน กระทั่งช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตลาดแรงงานขยายตัว ประชาชนชาวญี่ปุ่นต้องทำงานหนัก อาหารที่ทำง่าย กินได้ไวเ ริ่มตอบโจทย์วิถีชีวิตจนได้กระแสตอบรับที่ดีขึ้น
แต่กว่าจะมาเป็นบะหมี่ในถ้วยกระดาษพร้อมซองเครื่องปรุงและส้อมพลาสติกที่คุ้นเคย ก็ต้องใช้เวลาพัฒนาพอสมควร เดิมทีบะหมี่ของท่านอันโดะเป็นแบบที่ต้องต้มในน้ำร้อน ยังต้องวิ่งหาชาม ตามหาตะเกียบ ไม่สะดวกในยามเร่งด่วน อยู่มาวันหนึ่งขณะเดินทางไปพบตัวแทนจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา เห็นพนักงานในออฟฟิศใช้วิธีย่อยเส้นเป็นชิ้นๆ ใส่ถ้วยกระดาษ แช่น้ำร้อน และใช้ส้อมแทนตะเกียบ จุดประกายบะหมี่เวอร์ชันถ้วยพร้อมส้อม กลายเป็นคัพนูเดิลนับแต่นั้นสืบมา โดยผลิตขึ้นครั้งแรกในปี 1971 ห่างจากปีแรกที่เปิดตัวแบบซอง 13 ปี
กระนั้นบะหมี่ถ้วยก็ประสบปัญหาที่เหมือนรุ่นพี่บะหมี่ซองเคยเจอช่วงออกสู่ท้องตลาดใหม่ๆ นั่นคือแพง ทำให้ชาวญี่ปุ่นไม่ค่อยตอบสนอง แต่เหตุการณ์ที่เข้ามาช่วยพลิกผันก็แสนจะน่าประทับใจ เมื่อปีต่อมาเกิดเหตุบุกชิงตัวประกันจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายในเมืองนาโงย่า ขณะที่สถานีโทรทัศน์กำลังถ่ายทอดสด ภาพของกลุ่มตำรวจในทีมปฏิบัติการที่กำลังซดบะหมี่ถ้วยโฮกๆ อยู่ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ ก็กระจายสู่สายตาประชาชนไปทั่วประเทศ! ราวกับช่วยโฆษณาทางอ้อม ถูกยิงตรงสู่ผู้บริโภคทั่วญี่ปุ่นให้เห็นถึงความสะดวกของนวัตกรรมบะหมี่ถ้วยว่ามันดีเช่นนี้เอง ในภาวะเร่งด่วนและอากาศเลวร้ายที่แม้แต่ข้าวกล่องยังแข็งจนกินไม่ได้ เรายังมีราเมนถ้วยอยู่
ปรากฏว่านิชชินก็ขายดีถล่มทลายนับแต่นั้นเป็นต้นมา
บะหมี่กึ่งฯ จากพื้นดินสู่ห้วงอวกาศ
บะหมี่เป็นอาหารที่เกิดขึ้นบนโลกนี้มานานกว่า 4,000 ปี อ้างอิงจากการขุดพบชามบะหมี่โบราณที่ถูกฝังอยู่ใต้ชั้นดินลึกสามเมตรในมณฑลชิงไห่ของจีนเมื่อ ค.ศ. 2002 ในที่สุดท่านอันโดะก็พาเส้นไปได้ไกลถึงนอกโลก คัพนูเดิลกลายเป็นอาหารในห้วงอวกาศ ถือเป็นประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติที่สามารถพัฒนาสูตรบะหมี่กึ่งฯ ให้เหมาะสมต่อการกินในสภาวะไร้น้ำหนักได้โดยไม่เลอะเทอะ ใช้ชื่อว่า The Space Ram ถูกนำออกสู่นอกชั้นบรรยากาศโดยนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นใน ค.ศ. 2005 เมื่อท่านอันโดะมีอายุได้ 95 ปี
บริเวณพิพิธภัณฑ์ยังมีอุโมงค์บะหมี่กึ่งฯ จัดแสดงวงศ์ตระกูลของบะหมี่นิชชินตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษที่ทำขึ้นมาเป็นห่อแรก ให้ผู้ชมเพลิดเพลินกับการไล่ดูว่าแต่ละปีมีบะหมี่กึ่งแบบไหน อะไร ออกวางตลาด หีบห่อที่ดูโบราณค่อยๆ ทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ ตามปีที่ผ่านไป บางรสเลิกผลิตแล้ว บางรสเป็นรุ่นที่ผลิตจำนวนจำกัด เช่น คัพนูเดิลอันปังแมน รวมทั้งโซนขายดีตลอดกาลที่ปัจจุบันยังผลิตอยู่ ความสนุกสำหรับอุโมงค์นี้คือ ตอนที่เราค่อยๆ ไล่อ่านว่าจักรวาลบะหมี่ถ้วยนี้เคยผลิตรสแปลกๆ อะไรบ้าง ใครเคยทันกินรุ่นไหน อย่างรสนมแกงกระหรี่ รสซุปไก่โมจิ รสหูฉลาม แน่นอนว่ารสต้มยำกุ้งก็ติดอันดับรสขายดีกับเขาเช่นกัน
ออกจากอุโมงค์ เราจะเห็นความเป็นผู้มาก่อนกาลของญี่ปุ่นได้จากตู้อัตโนมัติหยอดเหรียญสำหรับกดบะหมี่ที่ปัจจุบันไม่มีแล้ว และสิ่งที่ประทับใจยิ่งคือโมเดลถ้วยบะหมี่ขนาดใหญ่ ถูกผ่าครึ่งให้ดูกายภาพด้านในชัดๆ ว่าถึงเป็นเพียงบะหมี่ถ้วย แต่ก็ได้ผ่านการคิดมาอย่างดีในทุกๆ ส่วน ชั้นแรกมีกุ้ง ไก่ ไข่ ต้นหอม ชั้นต่อมาเป็นก้อนบะหมี่ ด้านล่างสุดเหลือพื้นที่ว่างระหว่างก้นถ้วยกับบะหมี่ไว้แทนที่จะใส่เต็มกระป๋อง เผื่อพื้นที่เวลาเส้นพองน้ำซุปจะได้เต็มถ้วยพอดีไม่ล้น ส่วนแบบซองก็ทำเป็นก้อนกลมแบนๆ เพื่อให้เข้ากับรูปทรงของชาม แช่ในน้ำร้อนได้ทั่วถึงเท่ากันทั้งก้อน
เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม
เสร็จจากโซนความรู้ก็มาสู่ช่วงลองทำจริง เสียดายวันที่มาแผนกทำเส้นสดงดสอนชั่วคราว แต่ฝั่งบะหมี่ถ้วยยังให้บริการ สิ่งที่เชิญชวนให้พุ่งเข้าไปต่อแถวรอทำบะหมี่แฮนด์เมดร่วมกับเด็กๆ อย่างรวดเร็วคือ กระบวนการทั้งหมดไม่เสียค่าสมัครใดๆ ยกเว้นค่าถ้วยกระดาษสำหรับใส่บะหมี่มูลค่า 300 เยนเท่านั้น นับว่าคุ้มค่าความสนุกและเปิดโลก ตั้งแต่เริ่มต้นจนสำเร็จออกมาเป็นถ้วยมีทั้งสิ้นแปดขั้นตอน เริ่มจากกดซื้อถ้วยเปล่า จากนั้นล้างมือ ฆ่าเชื้อให้สะอาด แล้วต่อแถวเพื่อเข้าสู่ห้องระบายสี ตกแต่งกระป๋องบะหมี่เวอร์ชันส่วนตัว พิธีกรรมตรงนี้ขึ้นอยู่กับทักษะเชิงศิลปะของใครของมัน ถ้าสมองส่วนศิลปะฝ่อเหมือนข้าพเจ้า กระป๋องบะหมี่ก็จะถูกจารึกไว้อย่างเน่าหนอนหนึ่งเดียวในโลกเยี่ยงนั้นสืบไปแสนนาน
ช่วงบรรจุก้อนบะหมี่ลงกระป๋องเป็นซีนที่ทุกคนตั้งตาคอย เพราะเราจะได้ใส่มันด้วยมือตัวเอง พนักงานจะช่วยวางกระป๋องคว่ำลงบนก้อนเส้นที่ไหลมาตามสายพาน เด็กๆ มีหน้าที่หมุนก้านเหล็กให้เครื่องค่อยๆ ดันเส้นลงถ้วย ระหว่างนี้พนักงานจะอธิบายว่าการค่อยๆ ครอบถ้วยลงบนเส้นเป็นวิธีที่ท่านอันโดะคิดขึ้นเพื่อบรรจุเส้นให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง หากตั้งถ้วยไว้แล้วกรอกเส้นลงมา บะหมี่บางถ้วยอาจจะเบี้ยวไม่ก็เอียง
ขั้นต่อมาคือเลือกผงซุปและเครื่อง ผงซุปมีให้เลือกสี่รส ได้แก่ ซุปไก่รสดั้งเดิม ซีฟู้ด ชิลลี่โทเมโต้ และรสแกงกะหรี่ (เพราะเพิ่งจะเดินเสพตำนานจากพิพิธภัณฑ์มาหมาดๆ ทำให้ข้าพเจ้าโหยหารสซุปไก่ในอดีตยิ่งนัก ดังนั้นจึงเลือกซุปไก่) ส่วนเครื่องเคียงสามารถเลือกได้สี่อย่างจากทั้งหมดสิบสองหลุม ทั้งกุ้งอบแห้ง ไข่ หมู ไส้กรอก ปูอัด ต้นหอม เต้าหู้ ชีส สาหร่าย และอื่นๆ อีกมากมาย (เราคิดไปเองหรือเปล่าไม่รู้ แต่ดูเหมือนถ้วยที่ทำเองจะเครื่องแน่นกว่าที่เคยซื้อตามร้านทั่วไปหลายเท่า) ลำดับต่อไปเป็นการปิดฝาด้วยความร้อนและหุ้มพลาสติกเพื่อคงความสดใหม่ ออกมาเป็นบะหมี่ถ้วยหน้าตาคุ้นเคย
ขั้นสุดท้าย พนักงานจะแจกกระเป๋าพลาสติกกับเชือกสีแดงไว้สำหรับแพ็กถ้วยใส่กระเป๋ากลับบ้าน ใช้เวลาฟัดกับการแพ็กอยู่นานเกือบถอดใจว่าทำไมสายเชือกนี่ต้องร้อยยากเย็น แต่ไม่อยากอายเด็กโต๊ะข้างๆ จึงอดทนร้อยเชือกเป่าลมต่อไปจนออกมาหน้าตาเหมือนที่เด็กญี่ปุ่นสะพายกันในที่สุด จนได้เป็นถุงพลาสติกป่องๆ มีถ้วยบะหมี่นอนอยู่ตรงกลาง คุณพนักงานแนะนำว่า บะหมี่นี้ควรกินให้หมดภายในหนึ่งเดือน หึ… ไม่อยากบอกว่าเดี๋ยวมันก็ถูกทำลายหมดตั้งแต่คืนนี้แล้วล่ะ อย่าห่วงเลยค่ะ
บะหมี่กึ่งฯ คือกระจกสะท้อนวัฒนธรรม ไม่ว่าไปตกอยู่ชาติไหนก็สามารถรวมร่างกับวัฒนธรรมอาหารชาตินั้นได้เสมอ รสลักซาร์สิงคโปร์ก็ดี หรือจะรสชีสก็ไม่เลว และในบางบริบทสังคม บะหมี่กึ่งฯ มีฐานะเป็นอัตราแลกเปลี่ยน คัพนูเดิลมีค่าดั่งทองคำในเรือนจำสหรัฐอเมริกา มันคือวัฒนธรรมที่ไม่มีชนชั้นวรรณะ แต่เป็นเพื่อนที่เข้าอกเข้าใจปากท้องเราเสมอตลอดมาและตลอดไป
อนึ่ง วิธีต้มบะหมี่กึ่งฯ ให้ได้เส้นเหนียวนุ่มตามหลักของคนญี่ปุ่นมีหลักการสำคัญสองข้อ
หนึ่ง เติมเบกกิ้งโซดาลงไปประมาณหนึ่งช้อนโต๊ะระหว่างต้มเส้น ปฏิกิริยาเคมีจะช่วยให้เส้นมีรสสัมผัสหนึบนุ่มเหมือนเส้นสด
สอง ต้มเพียงสามนาทีเท่านั้น น้อยกว่านี้ไม่อร่อย นานกว่านี้เดี๋ยวเละไปและหิวเกิน ขี้เกียจรอ