โทษประหาร

The Death Penalty: ด้านมืดของโทษประหาร

ย้อนกลับไปวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 เวลาบ่าย 4 โมง ณ สวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทร์ 95 จังหวัดตรัง

        วันนั้นเกิดเหตุทะเลาะวิวาทโดยกลุ่มนักเรียน ซึ่งจบลงด้วยการปล่อยให้เด็กชายคนหนึ่งที่มีแผลฉกรรจ์ถึง 24 แห่ง นอนอาบกองเลือดอยู่กลางสวนสาธารณะ นั่นคือร่างของ ‘ช้าง’ – ดนุเดช สุขมาก ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนที่กำลังเติบโตและมีอนาคตจากการเล่นกีฬาอันเป็นทักษะติดตัวของเขา

        ทางด้านคดีความ ตำรวจสืบสวนสอบสวนทั้งพยานหลักฐานและพยานบุคคลในที่เกิดเหตุ ก่อนที่จะตัดสินใจจับกุม ‘มิก’ – ธีรศักดิ์ หลงจิ ชายวัย 17 ปี ที่ตำรวจเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง คดีได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วจนศาลมีคำสั่งให้ประหารชีวิตจำเลยฐานฆ่าชิงทรัพย์ และแม้จะสู้ถึงชั้นศาลฎีกาและพระราชทานขออภัยโทษ สุดท้ายในวันที่ 18 มิถุนายน 2561 มิกก็ถูกประหารชีวิตโดยการฉีดยาเข้าสู่ร่างกาย 

        แม้กระบวนการในชั้นศาลจะจบไปนานกว่า 2 ปี แต่ทั้งครอบครัวน้องมิกฝั่งจำเลย และครอบครัวน้องช้างฝั่งโจทก์กลับไม่รู้สึกว่าตนได้รับความยุติธรรมเลยแม้แต่น้อย

        เรามีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดตรัง เพื่อพูดคุยกับทั้งครอบครัวหลงจิและครอบครัวสุขมาก พวกเขาเปิดใจเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นทั้งน้ำตา โดยทั้งสองฝั่งเชื่อมั่นว่าคดีความดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้นไป จำเป็นต้องได้รับการ ‘รื้อคดี’ เพื่อเสาะหาความยุติธรรมต่อ และหวังว่าการพูดคุยกับสื่อจะช่วยกระจายเจตจำนงในครั้งนี้ของพวกเขาได้ 

 

โทษประหาร

ครอบครัวหลงจิ – ในวันที่ฉันกลายเป็นแม่นักโทษประหาร

        ในเช้าวันฝนตก เราเดินทางไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ห้อมล้อมไปด้วยสีเขียวของป่า และเสียงกรีดร้องของแมลง นั่นคือหมู่บ้านที่ครอบครัวหลงจิอาศัยอยู่ 

        พวกเขาออกมาต้อนรับอย่างยิ้มแย้ม เราใช้เวลาพูดคุยกันคร่าวๆ ระหว่างอาหาร ว่าเหตุการณ์ในวันนั้นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ก่อนจะเขยิบเข้ามาในบ้านหลังฝนเริ่มตกหนักขึ้น 

        แล้วบทสนทนาเกือบ 2 ชั่วโมงที่ไร้วี่แววของรอยยิ้มก็ดำเนินขึ้น

        “มะ หาตังค์สู้คดีให้ผมด้วย ผมไม่ได้ทำ”

        นั่นคือคำแรกที่แม่ของมิกได้ยินหลังลูกชายถูกตำรวจเข้าจับกุม เธอไม่เคยรู้เลยว่านี่จะเป็นการพูดคุยครั้งสุดท้าย 

        “วันที่โดนจับ เราทำงานอยู่ ไม่ได้รู้เรื่องอะไร มิกเองก็โดนจับแล้วถูกพามาที่บ้าน ตอนนั้นเรากลับมาบ้านพอดี ก็ตกใจ ถามว่าตำรวจพาลูกชายมาที่บ้านทำไม ซึ่งเขาก็พูดเพียงว่ามิกไปฆ่าเขา แต่ลูกชายเราสวนทันควันว่าผมไม่ได้ทำ ตอนนั้นเราทำอะไรไม่ได้เลย มันสับสนไปหมด ก็ได้แต่บอกว่าอย่าเพิ่งทำอะไรลูกชายฉัน 

        “วันต่อมาเราไปโรงพักแต่เช้าตรู่ ตอนนั้นมีการชี้ตัวโดยพยานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตำรวจกำลังสอบสวนมิกอยู่ แต่มิกเองยังยืนยันเสียงแข็งว่าเขาไม่ได้ทำ ผมไม่รู้จักเขา ผมจะทำไปเพื่ออะไร เขาพูดแบบนี้อยู่ตลอด

        “แต่ที่เราติดใจคือตอนชี้ตัว มิกเล่าให้ฟังว่าตอนพยานมาดูตัว ผู้ต้องสงสัยข้างๆ มีแต่ตำรวจหมดเลย มีเขาคนเดียวเท่านั้นที่เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีจริงๆ”

        ที่เธอรู้สึกไม่ดียิ่งขึ้นก็คือ มีการจัดหาทนายความให้กับลูกชายโดยเธอไม่รู้เรื่อง 

         “เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสามารถจ้างทนายเองได้ ไม่มีใครบอกขั้นตอนนี้กับเรา ช่วงแรกทนายศาลบอกว่าให้รับสารภาพไปเถอะ เดี๋ยวก็หลุดคดีเอง แต่มิกเขายังคงยืนยันว่าไม่ได้ทำ เลยไม่รับ เชื่อไหม ตอนแรกยังคิดอยู่เลยว่าลูกชายรอดแน่นอน เราก็นั่งรอข้างนอก แต่ศาลพิพากษาประหารชีวิต ตอนนั้นเราร้องไห้เลย มิกเองก็ร้อง เขาคงทำตัวไม่ถูกเหมือนกัน”

        ทำไมถึงเชื่อแบบนั้น?

        “หลักฐานที่พอจะสู้ได้ก็มีมีดที่เป็นอาวุธสังหาร ซึ่งดูจากบาดแผลของน้องช้างแล้วไม่ใช่ของมิกเลย มิกจะมีอาวุธที่พ่อตีให้ ซึ่งไม่ใช่แบบนั้น แต่พอโดนตัดสินประหารแบบนั้นเราก็ทำอะไรไม่ได้ เลยตัดสินใจเปลี่ยนทนาย และไปว่ากันต่อในชั้นอุทธรณ์และฎีกา” 

        กรณีของมิกคือฆ่าชิงทรัพย์ ที่มีโทษประหารชีวิต เป็นโทษสูงกว่าการฆ่าทั่วไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัจจัยในการตัดสินประหารชีวิตก็ขึ้นอยู่กับหลายพฤติการณ์ เช่น จำเลยรับสารภาพไหม สำนวนคดีเป็นอย่างไร การแก้ต่างของทนายฟังขึ้นหรือไม่ ซึ่งในคดีนี้ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ได้สืบกันจนสิ้นสงสัยตามความคิดของครอบครัวหลงจิ ยกตัวอย่างเช่นคำให้การของพยานที่บอกว่า มิกได้โทรศัพท์แล้ว แต่ยังคงทำร้ายน้องช้างต่อ ซึ่งนั่นหมายถึงการฆ่าชิงทรัพย์อาจไม่ใช่แรงจูงใจของการทะเลาะวิวาทครั้งนั้นก็ได้ 

        เรื่องนี้นำไปสู่การพูดคุยในประเด็นการพิสูจน์จนสิ้นสงสัย (Beyond a Reasonable Doubt) ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญของครอบครัวหลงจิ โดยเรื่องนี้มีการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 ที่ระบุว่า

        ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น 

        เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

        รวมไปถึงมาตรา 227/1 ที่ระบุว่า ในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอด พยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน หรือพยานหลักฐานที่มีข้อบกพร่องประการอื่นอันอาจกระทบถึงความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน

        แม้ในทางทฤษฎีคือการที่ต้องพิสูจน์ ‘จนศาลสิ้นสงสัย’ ว่าจำเลยนั้นกระทำผิดจริงๆ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีปัญหาอยู่ตรงที่ขอบเขตของคำดังกล่าวควรอยู่ตรงไหน เพราะระดับของการพิสูจน์จนสิ้นสงสัย อาจแตกต่างกันไปตามทัศนคติของคนมอง 

        ในกรณีของมิก ครอบครัวหลงจิอาจมองว่าพยานหลักฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการตัดสินจนยืนยันได้ว่าลูกชายคือผู้ก่อเหตุ แต่ศาลก็มีดุลพินิจที่ชัดเจนเช่นกันว่าหลักฐานที่มีอยู่หนักแน่นและเพียงพอต่อการที่ ‘ศาลจะสิ้นสงสัย’ จนถึงขั้นตัดสินให้มิกต้องรับโทษประหารชีวิตตามรูปคดี

        ตรงนี้ถือเป็นอีกประเด็นที่คดีดังกล่าว ได้กลายเป็นกรณีตัวอย่างเปิดโอกาสให้สังคมได้พูดถึงระดับของการพิสูจน์ จนสิ้นสงสัยต่อไปได้อีกในหลายแง่มุม 

        แต่แน่นอนว่าสำหรับครอบครัวหลงจิ พวกเขานั้นไม่ได้สิ้นสงสัยเลยแม้แต่น้อย

        “แน่นอนว่าเรื่องคดี เราก็ยังคาใจ ทำไมยังไม่แก้ปัญหา ไม่มีการสืบสวนให้เต็มที่ เพราะในเมื่อบอกว่ามีผู้สมรู้ร่วมคิด 2 คน พยานในเหตุการณ์ก็ตั้งเยอะ ตอน 4 โมงเย็น ทำไมถึงมีแค่ลูกเราคนเดียวที่ถูกดำเนินการ”

        ในวันประหารชีวิตที่นักโทษต้องเขียนพินัยกรรม โทรศัพท์หาคนรู้จัก กินอาหารมื้อสุดท้าย ตอนนั้นแม่ทำอะไรอยู่

        “ตอนนั้นเรายังมีหวังอยู่เลย ยังคิดว่าจะส่งเอกสารให้ลูกเรียนต่อในคุก แต่จู่ๆ ก็มีโทรศัพท์มาบอกว่ามิกโดนโทษประหารนะ ให้รีบมารับลูกพรุ่งนี้เช้า ตอนนั้นเราทรุดเลย รีบลางานกลับบ้านเตรียมไปหาลูกพรุ่งนี้เช้า ขึ้นเครื่องไปแบบฉุกเฉินเลย คืนนั้นเราไปนอนพักบ้านพี่สาวก่อน แต่เราก็ไม่ได้นอนหรอก ตื่นก่อนเพื่อน รีบออกไปแต่เช้าเพราะอยากไปรับเขากลับบ้าน พอไปถึงทำเรื่องเสร็จก็จัดการเรียบร้อยแล้ว มิกไปแล้ว”

 

โทษประหาร

 

          ถึงตอนนี้แม่ของมิกเริ่มกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เราหยุดบันทึกเสียง ปล่อยให้เสียงฝนและบรรยากาศลมหนาวเยียวยาเธอ  ก่อนเริ่มคุยกันต่อถึงเรื่องราวในวันที่กลายเป็นแม่ของนักโทษประหารเรียบร้อยแล้ว

          “คนรอบตัวในชุมชนดีกับเราหมดเลย เขารู้จักมิกดี เขารู้ว่าเด็กคนนี้เกเรบ้างตามประสาวัยรุ่น แต่มีความเป็นลูกผู้ชายพอ กล้าทำกล้ารับ ส่วนความเห็นในโลกออนไลน์เราไม่กล้าแตะเลย ลูกสาวเราวิ่งมาร้องไห้แล้วบอกว่าคนด่าครอบครัวเราเยอะมาก เชื่อไหม ตั้งแต่วันนั้นโทรทัศน์ โทรศัพท์ ไม่เปิดดูเลย กลัว แต่เราก็ไม่ได้โกรธพวกเขาหรอกนะ ความคิดของคนมันนานาจิตตัง ไม่โกรธ ไม่ว่ากัน”

         อยากรื้อฟื้นคดีใหม่ไหม เราเปิดประเด็นในสิ่งที่คิดว่าแม่ของมิกน่าจะต้องการมากที่สุด

        “ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากให้รื้อคดีใหม่ อย่างน้อยก็จะได้หาความจริงทั้งหมดให้ชัดเจนขึ้น ถ้าลูกเราทำเราจะได้ยอมรับได้ แต่ถ้าลูกเราไม่ได้ทำ มันก็เป็นความไม่ถูกต้องที่เกิดทั้งครอบครัวเราและครอบครัวลูกของผู้เสียหาย มิกไม่ใช่คนที่จะไม่ยอมรับอะไร เพราะปกติเขาทำอะไรเขาจะยอมรับตลอด แต่อันนี้เขาต่อสู้จนวินาทีสุดท้ายว่าตัวเองไม่ได้ทำ

        “เราไม่ได้ต้องการสู้เพื่อให้มิกบริสุทธิ์ แต่แค่อยากรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในวันนั้น ตัวเราและคนในชุมชนก็อยากช่วยหมด แต่ด้วยระยะทาง เงินทอง กระบวนการพวกนี้ในตอนนั้นเราเลยไม่สามารถเข้าถึงได้เลย          

        ถึงตรงนี้เราพักเรื่องราวในคดี และเปิดใจกับครอบครัวตรงๆ ถึงการรื้อฟื้นคดีว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในทางปฏิบัติ

        เพราะหากอ้างอิงตามพระราชบัญญัติ การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 5 ซึ่งระบุว่า

        คดีใดที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อปรากฏว่า 

        (1) พยานบุคคลซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลัง แสดงว่าคำเบิกความของพยานนั้น เป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง 

        (2) พยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคลตาม (1) ซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลัง แสดงว่าเป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริงหรือ 

        (3) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญา โดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด

        ดังนั้น หากพิจารณาจากข้อเท็จจริง การรื้อฟื้นคดีของมิกจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งในการพิสูจน์ถึงความเป็นเท็จของพยานตามข้อ (1) และ (2) รวมถึงการจะหาพยานหลักฐาน ที่ต้องมานั่งพิจารณาว่ามีความหนักแน่นและชัดแจ้งพอไหม หลังเหตุการณ์ผ่านมานานถึง 2 ปี แล้ว     

        “การรื้อคดีอาจเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าทำได้จริง เราน่าจะได้เรียนรู้ว่าขั้นตอนตรงไหนที่มีปัญหาอยู่ ถึงแม้จะเอาชีวิตลูกชายกลับมาไม่ได้แล้ว แต่ก็อาจทำให้เกิดการเริ่มปรับปรุงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับลูกคนอื่นได้เป็นผู้บริสุทธิ์ มีโอกาสได้ต่อสู้มากขึ้นก็ได้

        “หรืออย่างน้อยถ้าคดีได้รับการสืบจนกระจ่าง ก็จะเป็นการล้างบาปให้กับครอบครัว ให้กับสังคม เราอาจไม่ต้องถูกตีตราว่าเป็นแม่ของนักโทษประหารไปตลอด ที่สำคัญคือคืนความบริสุทธิ์ให้ลูกเรา”

        คงดีกว่าใช่ไหม ถ้าลูกชายได้รับการลงโทษอย่างกระจ่างจนถูกจับคุกแทนการถูกประหารชีวิต

        “แน่นอนว่าเราเป็นแม่ เราก็อยากให้ลูกมีชีวิตกลับมาบ้านดีกว่า แต่ถ้าศาลตัดสินให้ประหารชีวิตโดยมีหลักฐานที่แน่นหนา เราก็ต้องยอมรับ แต่ที่ไม่เห็นด้วยตอนนี้ เพราะเราอยากให้ทุกอย่างกระจ่าง ให้ลูกชายได้รับความยุติธรรมก่อน”

        สุดท้ายเราถามผู้เป็นแม่ว่า มีอะไรจะฝากบอกครอบครัวสุขมากผู้เสียหายไหม เพราะต่อจากนี้ เราจะมีโอกาสได้พูดคุยกับครอบครัวนั้น ครอบครัวของเหยื่อจากคดีฆาตกรรม เพื่อพูดคุยถึงโทษประหารในคดีที่ฝั่งนั้นก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน 

        “เราเองก็อยากขอโทษเขานะที่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เราก็ไม่รู้หรอกว่าคนที่ทำลูกเขาคือใคร แต่พอเห็นแผล เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น ในหัวอกคนเป็นแม่เราก็เสียใจด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าเขายังมีความโกรธเคืองต่อครอบครัวเราอยู่ ก็ขอโทษจริงๆ”

 

โทษประหาร

ครอบครัวสุขมาก-ฝันที่ล่มสลาย

        ทีมงานมาถึงบ้านของครอบครัวสุขมากในช่วงบ่ายๆ เพียงลงจากรถได้ไม่ถึงนาที ครอบครัวก็ออกมาต้อนรับ

        “ผมเตรียมทำธุรกิจขายยางก่อน ซื้อมาเรียบร้อยแล้ว แต่พอลูกชายเสีย มันเหมือนทุกอย่างแหลกสลายไปหมด ผมทำธุรกิจไม่ได้ เลยต้องมาประคับประคองหาอะไรง่ายๆ ทำเลี้ยงชีพไปก่อน”

        แม้จะเป็นเรื่องที่สะเทือนใจ แต่เขากลับเล่าด้วยสีหน้าที่มีรอยยิ้ม และชวนให้เราไปนั่งที่โต๊ะรับแขกหน้าบ้าน ซึ่งมีคุณแม่นั่งรออยู่แล้ว เราจัดแจงตัวเองให้เข้าที่ นั่งลงบนเก้าอี้ และเริ่มพูดคุยถึงเหตุการณ์วันนั้นอีกครั้ง

        “ที่ต้องการก็คือคนที่เหลือนั่นแหละ” พ่อเล่า “ขนาดตำรวจยังแถลงอยู่เลยว่ามิกพร้อมพวกอีกหนึ่งคน แต่คนพวกนั้นหายไปไหน ตอนอ่านในสำนวนคดี อ่านในคำพิพากษา ก็บอกอยู่ว่ามีสองคนแน่ๆ แต่ก็ทำไมถึงไม่มีการจับกุมอีกคนสักที”

        พ่อพูดออกมาทันควันหลังจากเราเริ่มเกริ่นนำถึงวัตถุประสงค์ในการพูดคุยครั้งนี้ รวมไปถึงความเห็นในประเด็นต่างๆ ของครอบครัวหลงจิที่ฟังไปเมื่อเช้า      

        “ตามความคิดและสิ่งที่พ่อไปสืบมาเอง เด็กพวกนี้เป็นเพื่อนกันหมดเลย มีอยู่ประมาณ 11 คน ซึ่งตำรวจจะสอบถามทั้ง 11 คนก็ทำได้ วันนั้นตอนผมไปหาศพลูกที่สวนสาธารณะหลังรู้ว่าถูกแทง ยังเจอบางคนถือมีดอยู่เลย แต่ผมมองไม่เห็นว่ามีมิกไหม ตอนนั้นมันชุลมุนมาก โรงเรียนกำลังเลิก เด็กเต็มไปหมด

        “ไม่ใช่ว่ามิกไม่ได้ทำ แต่เป็นไม่ใช่แค่มิกทำ ในสำนวนตำรวจมีแค่ 2 คนที่ทำ แต่ผมเชื่อว่าในนั้นมี 4 คนที่ทำ ผมรู้ ผมสืบด้วยวิธีชาวบ้าน ผมรู้ยันตัวบุคคล แต่ผมไม่มีพยานหลักฐานเลยเอาไปใช้ในศาลไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นผมก็รู้ว่าต้องเป็นแบบนั้น เพราะมีดที่ใช้แทงลูกไม่ใช่เล่มเดียวแน่นอน แผลที่แทงมาตอนที่เห็นบางรอยก็แตกต่างกันอย่างชัดเจน”

        พ่อกล่าวเสริม พร้อมเดินไปหยิบหลักฐานต่างๆ ในคดี 

        “อย่างที่เขียนบอกว่าเป็นการฆ่าชิงทรัพย์ก็ไม่ใช่ จริงๆ คือปัญหาเรื่องผู้หญิง แฟนเก่าแฟนใหม่ เหมือนแฟนของลูกผมเขาโทรศัพท์มาให้ออกไปเคลียร์ปัญหากัน แต่ลูกผมไม่รู้ว่าจะลงเอยอย่างนี้ ตอนแรกยังชวนเพื่อนให้ไปเที่ยวที่สวนสาธารณะอยู่เลย พยานแวดล้อมก็เห็น แม่ค้าขายลูกชิ้นยังบอกเลยว่าอย่าไปทำมันๆ มันน่าสงสาร ผมยืนยันเลยว่านี่ไม่ใช่ชิงทรัพย์ แต่เป็นเรื่องชู้สาว”

        แล้วทำไมคดีถึงออกมาแบบนั้น 

        “ไม่รู้” นี่คือคำตอบของพ่อ

        ตรงนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญ เพราะตามกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคท้ายระบุว่า ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ 

        (1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป 

        (2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น 

        (3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ 

        (4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ 

        (5) ให้พ้นจากการจับกุม ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองหมื่นบาท

        โดยในวรรคท้ายยังมีการระบุอีกว่า ‘ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต’  

        ซึ่งจะทำให้โทษที่จำเลยได้รับนั้นมีความรุนแรงกว่ากระทำความผิดต่อชีวิตตามมาตรา 288 ที่ระบุว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

        จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่ต้องพิจารณาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงองค์ประกอบความผิด ว่ามีเจตนาประสงค์ต่อผล (Direct General Intent) เป็นเช่นไร เป็นการฆ่าที่หวังผลเพียงชีวิต หรือหวังทรัพย์ของผู้ตาย เพราะนั่นอาจหมายถึงการตัดสินคดีและการมีชีวิตอยู่ของจำเลยในคดีนั้นๆ ได้

        “ถ้าผมไม่ได้เก็บ เรื่องนี้ก็คงจบไปนานแล้ว แต่ที่เก็บก็เพราะยังคาใจอยู่ ที่ตำรวจบอกว่ามีสองคน แล้วอีกคนไปไหน พยานแถวนั้นก็บอกว่าหลายคน รุมแทงกันถึง 24 แผล คนเห็นคาตา ขนาดลูกเราวิ่งหนีก็ยังตามไปแทง แบบนี้มันอุกอาจเกินไป ไม่น่าทำคนเดียวได้แล้ว”

 

โทษประหาร

 

        มีคนเห็นเหตุการณ์บ้างไหม เราถามด้วยความสงสัยหลังจากได้ข้อมูลในคดีมากขึ้นจากคุณพ่อ

        “เห็นเป็นร้อยคน แต่ตำรวจก็ไม่ไปสืบใคร พยานเองก็กลัว ไม่กล้าจะให้สอบปากคำ จะขอดูกล้องวงจรปิดกล้องก็เสีย เชื่อไหมว่ามีตำรวจบางคนพูดถึงขนาดว่า ไปสืบมาให้ได้ แล้วเดี๋ยวผมจะตามไปจับเอง แล้วผมจะสืบอย่างไร ไม่ใช่ตำรวจ ผมโมโหเรื่องนี้ถึงขนาดไปฟ้องผู้ว่าเลยนะ แต่เขาก็ทำอะไรไม่ได้

        “ผมคนพื้นที่ ผมใช้วิธีชาวบ้าน ผมรู้อยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร แต่ทั้งหมดที่มีมันก็แค่ข่าวลือ ไม่มีน้ำหนัก เพราะในคดีความ เวลาจะทำอะไรต้องทำด้วยหลักฐาน ต้องคุยด้วยกฎหมาย”

        ถึงแม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกับศาล แต่ครอบครัวสุขมากก็เข้าใจการต่อสู้ในกระบวนการเป็นอย่างดี เพราะคดีอาญาในกฎหมายไทย หลักการพื้นฐานที่สำคัญคือการสันนิษฐานเอาไว้ก่อน ว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าโจทก์จะหา ‘พยานหลักฐาน’ มาพิสูจน์ได้ว่าจำเลยผิดจริงๆ 

        ซึ่งในกรณีนี้ ครอบครัวสุขมากในฐานะโจทก์ ก็ต้องหาพยานหลักฐานที่มีความหนักแน่น น่าเชื่อถือ และสามารถใช้พิสูจน์ในชั้นศาลจนสิ้นสงสัยตามมาตรา 227 และมาตรา 227/1 แต่เมื่อคดีได้รับการตัดสินจนสิ้นสุดไปแล้ว ทางออกคือต้องรื้อคดีใหม่ เพื่อให้เกิดการสอบสวนอีกครั้งซึ่งอาจจะนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องสงสัยคนที่สองได้ในที่สุด

        มีความคิดอยากรื้อคดีขึ้นมาใหม่บ้างไหม นี่เป็นคำถามเดียวกับครอบครัวหลงจิ ที่เราคาดว่าคำตอบที่ได้มาคงไม่ต่างจากครอบครัวนั้นเท่าไหร่นัก

        “อยากรื้อแน่นอน มันคาใจแบบนี้ ผมเป็นคนสูญเสีย แม้ชีวิตแลกชีวิตแล้ว แต่มันก็ยังมีหลายอย่างที่ไม่แน่ชัดและเป็นธรรมกับลูกชายเราเลย ช้างเป็นนักกีฬาของโรงเรียน กำลังมีอนาคต ทำไมเขาต้องโดนแบบนี้

        “จริงๆ ถ้าเกิดมีเงินจ้างทนายดีๆ อาจจะมีการสอบสวนที่ดีขึ้น หาข้อเท็จจริงๆ มันอาจไม่จบที่การประหารชีวิตที่ไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมาก็ได้ 

        คิดว่าถ้าจับคนที่สองได้ ทุกอย่างจะดีขึ้น

        “ใช่ มันคือการคืนความยุติธรรม ผมอโหสิกรรมให้นะ แต่อยากรู้ว่าคนทำจริงๆ ตอนนี้อยู่ไหน ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามิกที่ถูกประหารเป็นคนทำจริงหรือเปล่า ถ้าผมเป็นตัวเอง ผมจับพยายานมาเค้นแล้ว ว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมตำรวจไม่ทำอะไร คดีต่างประเทศดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว แต่ที่จังหวัดตรังแคบนิดเดียวทำไมหาไม่ได้

        “ตอนรู้ข่าวว่ามิกโดนประหาร ยังรู้สึกคาใจอยู่เลย ทำไมไม่หาผู้ร้ายมาให้ครบก่อน พูดตามตรง ผมไม่อยากให้ประหารเลย อยากให้จับกุมไปก่อนเพื่อสืบคดี เพราะแม้กระทั่งตอนนี้ทุกอย่างก็ยังคลุมเครืออยู่”

        สิ่งหนึ่งที่สื่อกระแสหลักชอบพาดหัวกันเวลามีโทษประหารเกิดขึ้น คือครอบครัวได้รับความยุติธรรมแล้ว พ่อรู้สึกอย่างนั้นไหม เราเริ่มถามถึงความรู้สึกด้านจิตใจบ้างหลังจากได้ข้อมูลในเชิงประจักษ์เพียงพอแล้ว

          “ผมไม่ได้คิดเรื่องการเยียวยาเลย รัฐให้เงินมาหนึ่งแสน ซึ่งบอกเลยว่าไม่พอ ลูกตายทั้งคน ความยุติธรรมคือต้องจับให้หมด ไม่อย่างนั้นพวกผมก็ยังคาใจและเสียใจอยู่ทุกวันนี้ไปตลอด

        “เพราะแผลที่อยู่ในใจมันลึกมากๆ แล้ว ผมยังอยากให้ตำรวจจับอีกคนให้ได้ ส่วนจะประหารหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่กระบวนการของศาลเลย แต่อยากให้จับได้ให้หมด ผมอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น มันมีใครบ้าง”

        “ทุกวันนี้ชีวิตพวกเราผัวเมียไม่เหมือนเดิม ยังเสียใจอยู่ทุกวัน แม้จะมิกจะโดนประหารไปแล้วก็ตาม”

Why Death Penalty?

        หลังจากได้พูดคุยกับครอบครัวหลงจิและครอบครัวสุขมาก เราพบว่าจุดร่วมหนึ่งของทั้งสองครอบครัวคือความรู้สึกสงสัยและค้างคาใจ

        โทษประหารที่เกิดขึ้นเร็วเกินไป ทำให้ความสงสัยที่เกิดขึ้นยังไม่ปลาสนาการหายไป

        ฝั่งครอบครัวหลงจิต้องจมอยู่กับความผิดที่ไม่รู้ว่าลูกชายได้ก่อขึ้นหรือไม่ ฝั่งครอบครัวสุขมากเองถูกตรึงไว้กับสภาวะหลังความตายที่ทำให้ชีวิตเดินไปข้างไม่ได้ 

        นั่นนำไปสู่คำถามที่ว่า – แล้วโทษประหารเป็นประโยชน์สำหรับใครบ้างเล่า

        หากย้อนกลับไปจากหนังสือกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นหนังสือกฎหมายที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมกฎหมายโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีมาประมวลไว้ด้วยกัน เราจะพบว่า การประหารชีวิตในสมัยนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างสําหรับผู้ที่คิดร้ายต่อผู้อื่น หรือคิดร้ายต่อแผ่นดิน บทลงโทษซึ่งเป็นอํานาจสิทธิ์ขาดขององค์พระมหากษัตริย์ จึงเป็นสิ่งที่ใช้ป้องปรามผู้ที่คิดเหิมเกริมต่อราชบัลลังก์และแผ่นดิน

        การลงโทษในกฎหมายตราสามดวงมีหลากหลาย เช่น การเปิดหัวกะโหลกแล้วเอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใหญ่ใส่ลงไปในมันสมอง (การลงโทษสถานที่ 1) แล่ผิวหนังให้ทั่วร่าง แล้วเอาแปรงหวีชุบน้ำมีฤทธิ์กรดประเภทต่างๆ รูดขูดหนังและเอ็นให้ลอกออกเหลือแต่ร่างกระดูก (การลงโทษสถานที่ 14) หรือการเชือดเนื้อออกมาทอดด้วยน้ำมัน แล้วให้กินเนื้อตัวเองจนกว่าจะตาย (การลงโทษสถานที่ 19)

        แม้การลงโทษจะรุนแรงและโหดเหี้ยมเพียงไหน อัตราการกระทำความผิดนับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันก็ไม่มีทีท่าว่าจะหมดไป จนหลายคนอาจตั้งคำถามว่า – หรือโทษประหารอาจไม่ได้ผล

        ในปัจจุบัน การลงโทษประหารเป็นสิ่งที่หลายสังคมไม่ยอมรับ เพราะหลักการสมัยใหม่ในทางอาชญวิทยา การลงโทษควรมีไว้เพื่อแก้ไข ฟื้นฟู และเยียวยาผู้ต้องหามากกว่า

        ดังนั้น การคร่าชีวิตมนุษย์คนหนึ่งไปอาจไม่สามารถทำให้ใครคนหนึ่งกลับมาเป็นคนดีช่วยพัฒนาสังคมได้ในอนาคต

        ผศ. พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเอาไว้ว่า

มีข้อมูลในเชิงสถิติจากการศึกษามากมายชี้ว่าโทษประหารไม่ได้ทำให้อัตราการกระทำผิดในสังคมลดลง และในอีกด้านหนึ่ง ยังเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานด้วย

        ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนว่าการลงโทษเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู เยียวยา ช่วยป้องกันการเกิดอาชญากรรมในอนาคตได้ดีกว่ามาก

        มีกรณีศึกษาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ปิดตัวเรือนจำลงถึง 19 แห่ง เพราะไม่มีนักโทษให้คุมขัง เป็นผลมาจากนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาของผู้กระทำผิดมากกว่าลงโทษเพียงอย่างเดียว โดยที่ผ่านมา ผู้พิพากษาชาวดัตช์มักไม่ค่อยตัดสินลงโทษจำคุกหรือประหารอาชญากร แต่ใช้วิธีอื่นในการลงโทษ เช่น ติดแท็กอิเล็กทรอนิกส์เพื่อจับตาดูความเคลื่อนไหว ให้ทำงานบริการสังคม และให้เข้ารับการบำบัดพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการก่ออาชญากรรมขึ้น เช่น เข้ารับการบำบัดยาเสพติด เข้าหลักสูตรบริหารควบคุมอารมณ์โกรธ หรือให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับผู้มีปัญหาหนี้สิน จนทำให้ปัจจุบันเนเธอร์แลนด์มีอัตราส่วนผู้ต้องขังต่อประชากรทั้งหมดเพียง 57: 100,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

        ตัวอย่างจากเนเธอร์แลนด์จึงชวนให้เราตั้งคำถามถึงแนวทางในการป้องกันอาชญากรรมของไทย ว่าเราควรปรับปรุงและเดินหน้าไปในเส้นทางไหน โดยเฉพาะหากอ้างอิงตัวเลขงบประมาณของตำรวจ เราจะพบว่ากว่า 80% ที่เป็นรายจ่ายประจำคือเงินเดือนของบุคลากร แต่งบสำหรับพัฒนาบุคลากรหรือเทคโนโลยีที่จะช่วยให้สามารถป้องกันอาชญากรรมได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น มีไม่ถึง 2% เท่านั้น 

        นอกจากข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เราเห็นว่า โทษประหารไม่ได้ช่วยลดอาชญากรรมในสังคมแล้ว โทษประหารยังยังสร้างบาดแผลในจิตใจให้กับคนข้างหลังที่ต้องมีชีวิตอยู่ต่ออย่างมาก เหมือนสองครอบครัวที่กำลังต่อสู้กับปัญหานี้เช่นกัน 

         เพราะในทางปฏิบัติ การประหารมนุษย์คนหนึ่งมีความเสี่ยงสูงมาก นี่คือการตัดโอกาสในการยืนยันความบริสุทธิ์ ที่ในบางกรณีอาจต้องใช้เวลายาวนานนับสิบๆ ปีในการพิสูจน์ เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า มีการ ‘จับแพะ’ หรือเปล่า เพราะเทคโนโลยีในอนาคตอาจพัฒนาไปไกลขึ้น จนเปลี่ยนผลการตัดสินก็ได้ การด่วนประหารชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ ‘เสี่ยง’ มหาศาล

        คำประกาศสิทธิมนุษยชนของฝรั่งเศสบอกว่า มนุษย์ทุกคนย่อมได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดจริง ดังนั้น บางทีโทษประหารอาจจะขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนข้อนี้ก็ได้ จึงควรเป็นเรื่องที่สังคมต้องกลับมาขบคิดและพัฒนาต่อไปว่าเราจะทำอย่างไร 

        แน่นอน ข้อถกเถียงเรื่องนี้ดำเนินต่อเนื่องมาตลอดประวัติศาสตร์ และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาข้อสรุปร่วมกันในเวลาอันสั้น

        แต่ก็เป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงและเผชิญหน้ากับมันด้วยความจริง

 

 


ขอขอบคุณแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย