เดชา ศิริภัทร

เดชา ศิริภัทร: เรียนรู้ศาสตร์แห่งการพึ่งพาตัวเองเพื่อความสุขผ่านบ้านต้นไม้และกัญชา

“ค้นหาอาชีพที่ทำแล้วต้องไม่เบียดเบียนตัวเองและทำประโยชน์ให้กับคนอื่น ซึ่งผมค้นหาเจอแล้วและอยากทำไปตลอดชีวิต” นี่คือแง่คิดที่น่าสนใจของ เดชา ศิริภัทร ปราชญ์ชาวนาและผู้ก่อตั้งมูลนิธิข้าวขวัญวัย 71 ปี ที่เขาเล่าให้เราฟังถึงความสุขที่ค้นพบจากการได้ใช้ชีวิตอยู่กับบ้านต้นไม้ กัญชา และการพึ่งพาตัวเอง จนทำให้เขารู้ความหมายของการมีชีวิต

เดชา ศิริภัทร

บ้านต้นไม้ ความสุข กัญชา และการพึ่งพาตัวเอง

        ในช่วงชีวิตของคนเรา หลายครั้งคงมีคำถามเกิดขึ้นมาและไม่สามารถหาคำตอบได้ทันที โดยเฉพาะหนึ่งคำถามสำคัญ ที่อย่างน้อยต้องมีสักครั้งหรือเสี้ยวหนึ่งของความคิดที่แอบสงสัย แต่เราก็มักจะไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนมากเท่าไหร่นักอย่างคำถามที่ว่า “ชีวิตคืออะไร” 

        คำถามนี้มักเกิดขึ้นเมื่อเรามีช่องว่างทางใจระหว่าง ‘ความจริง’ และ ‘สิ่งที่อยากให้เป็น’ เริ่มสวนทางกัน คำตอบที่ดีที่สุดในเวลาที่เราพอจะค้นหามาได้ คงอ้างอิงจากหนังสือเรื่อง ถาม | ตอบ สิบห้าวินาที พุทธทาสภิกขุ ที่ได้ตอบไว้ว่า “ชีวิตคือความเป็นอยู่ หรือมีอยู่สำหรับที่จะเป็นมนุษย์ เป็นคน แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา เราเรียกชีวิตว่า ‘สิ่งที่ต้องพัฒนา’ ดีกว่า”

        จากหนังสือ องค์รวมอันแฝงเร้น: การเดินทางสู่ชีวิตที่ไม่แบ่งแยก เขียนโดย ปาร์กเกอร์ เจ. ปาล์มเมอร์ ซึ่งเล่าถึงเนื้อความตอนหนึ่งว่า “ชาวไร่ชาวนาที่อาศัยอยู่บนที่ราบใหญ่ เมื่อเขาเห็นสัญญาณแรกของพายุหิมะ ก็จะรีบขึงเชือกจากประตูหลังบ้านโยงไปหาโรงนา พวกเขารู้ว่าเคยมีคนเดินออกจากบ้านไปแล้วแข็งตายอยู่ข้างนอกนั่น เพราะมองอะไรไม่เห็นท่ามกลางพายุหิมะที่ขาวโพลน ทั้งที่ยังเดินวนอยู่หลังบ้านตัวเองแท้ๆ”

        บ้านเปรียบได้กับตัวตนที่แท้จริงของเรา ในขณะที่สังคมสมัยใหม่บีบคั้นให้เราแบ่งแยกตัวเองออกไปภายนอก ชีวิตเราแต่ละวันจึงเปรียบเหมือนกับการเดินออกไปยังโรงนา ท่ามกลางการแก่งแย่งแข่งขัน ความเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย เมื่อต้องตกอยู่ท่ามกลางพายุหิมะและมองอะไรไม่เห็น ใครจะยังคงรู้สึกวางใจ เบาใจ เขารู้ว่าสามารถหาทางกลับบ้านได้อีกครั้ง การมีเพื่อนที่ไว้วางใจกันได้ มีวงสนทนาที่มีคุณภาพ ซักถามกันได้โดยไม่ชี้นำและตอบคำถามด้วยความจริงใจ เปรียบเหมือนเชือกโยงที่จะช่วยพาเราทุกคนกลับมาบ้าน กลับคืนสู่ตัวตนที่แท้จริง

        เรื่องราวต่อจากนี้อาจเป็นกุญแจดอกใหม่ที่ไขความกระจ่างบางอย่าง และอาจเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราค้นหาความเป็นอยู่นั้นให้กับตัวเองก่อนที่จะลาจากโลกนี้ไปแล้วหาความหมายนั้นให้กับตัวเองไม่เจอ

ความตายที่ไม่สูญเปล่า

        ท่ามกลางไอแดดที่ร้อนระอุ เราได้พบกับความเย็นจางๆ ที่เคลื่อนผ่านมาจากทิวต้นไม้ข้างทางที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ มูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี 

        “ร้อนหน่อยนะ” เสียงของอาจารย์เดชาดังขึ้นมาจากข้างหลัง ก่อนจะเดินนำหน้าเราไปเพื่อพาไปหาที่หลบแดด

        “ไปตรงบ้านต้นไม้กัน” ว่าแล้วอาจารย์ก็พาเราเดินไปข้างๆ มูลนิธิ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีต้นมะขามสูงใหญ่ ด้านบนเป็นบ้านไม้ขนาดเล็กสร้างคร่อมกิ่งไม้ใหญ่ไว้ ดูแข็งแรง แต่รู้สึกว่าเต็มไปด้วยความอันตราย เพราะบันไดทางขึ้นชันมาก ในขณะที่พื้นที่ด้านบนก็มีขนาดเล็ก ห้องนอนและชานบ้านคับแคบ แต่กลับกว้างพอเมื่อคิดว่าบ้านหลังนี้มีไว้รองรับคนอยู่อาศัยแค่หนึ่งหรือสองคน

        ไอร้อนยังคงหน้าที่ได้ดีเยี่ยม แต่เรื่องราวของอาจารย์เดชากลับทำให้ใจของเราเย็นลง บทสนทนาที่ว่าด้วยเรื่องชีวิตผ่านแนวคิดของวัย Baby Boomer เริ่มต้นขึ้น ณ ตรงนี้ ตรงที่เปิดโอกาสให้ความฝันในวัยเยาว์ได้สร้างแรงขับเคลื่อนข้างใน ให้ชายชราวัย 71 ปี ได้กลับมาทำบางสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่นก่อนที่จะลาจากโลกไปนี้ 

        “ผมทำบ้านต้นไม้หลังนี้เมื่ออายุได้ 59 ปี แต่สิ่งที่ทำให้ผมกลับมาทำก็เพราะว่าได้อ่านหนังสือเรื่อง The Last Lecture เป็นเรื่องของศาสตราจารย์คนหนึ่งที่รู้ว่าตัวเองจะอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน เขาก็ไล่ทำในสิ่งที่อยากทำตั้งแต่เด็กให้ครบก่อนตาย นั่นทำให้ผมกลับมามองตัวเอง นี่เราแก่จนปูนนี้แล้ว ยังมีเรื่องที่ไม่ได้ทำอีกหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือสร้างบ้านต้นไม้ เพราะผมชอบทาร์ซาน ตอนเด็กมันทำไม่ได้ ไม่กล้าทำ แก่แล้วกลัวตายเลยรีบทำ

        “ที่นี่ไม่ใช่แค่ทำตามความฝัน แต่อยู่ได้จริง กลางคืนอากาศดี เงียบสงบ ทำให้ผมได้อยู่กับตัวเองผ่านความมืด ได้ฝึกสติและฝึกการทรงตัวผ่านการก้าวขึ้นลงบันไดที่ชัน และยังได้ออกกำลังกายไปในตัว สิ่งเหล่านี้คนอายุเยอะจำเป็นต้องทำ ทำให้ขาตัวเองแข็งแรง เวลาเข้าห้องน้ำจะได้ไม่ล้ม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตายเร็วขึ้น” 

        ความฝันในวัยเด็ก ความอยากในวัยเยาว์ เทียบเท่าความไร้เดียงสาที่ค่อยๆ จางหายไปเมื่อคนเราอายุมากขึ้น และอาจจะหดหายไปเมื่อถึงวัยที่ไม้ใกล้ฝั่ง บ้านต้นไม้จึงเป็นสิ่งย้ำเตือนในการใช้ชีวิตยามที่ความตายอยู่ใกล้ตัว ให้มีคุณค่าและมีพลังที่จะใช้ชีวิตที่มีต่อ 

        “เรื่องนี้สำคัญต่อชีวิตคนเรา หลายเรื่องที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเด็กๆ แต่ว่าคนที่มีเวลาเหมือนไม่มาก หากไม่ได้ทำ จะรู้สึกติดค้าง เขาเรียกตายตาไม่หลับ แต่หากได้ทำทุกอย่างแล้วก็จะหลับสบายหรือที่เรียกว่า ไปสู่สุคติ” 

 

เดชา ศิริภัทร

ความยินดีที่ได้อยู่กับปัจจุบันขณะ

        ‘สุคติ’ เป็นเรื่องหลังความตายที่สำคัญพอๆ กับ ‘ความสุข’ ที่เป็นเรื่องของปัจจุบันขณะ ทำให้หนุ่มสาวหลายคนออกเดินทางเพื่อค้นหาความสุขจากภายนอก แต่สำหรับชายสูงวัย ความสุขที่ว่านั้นกลับเดินทางอยู่ภายใน 

        “สมัยหนุ่มๆ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่อยากดี อยากมี อยากเป็น อยากร่ำรวย เหมือนกับคนอื่นๆ แต่วันที่ผมไปบวชที่สวนโมกข์ ชีวิตและแนวคิดก็ได้เปลี่ยนไป ผมรู้ว่าความสุขที่แท้จริงไม่ได้ต้องการอะไรแบบนั้น ตอนบวชผมมีความสุขมากกว่าตอนเป็นฆราวาส ทั้งๆ ที่ใส่แค่จีวรสองชุด กินอาหารมื้อเดียว นอนหมอนไม้ และไม่ได้เสวนากับใครเลย”

        ความสุขเบ่งบานในจิตใจ เมื่อได้มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้คุย ได้ทำความเข้าใจและได้ตกตะกอนกับความคิดของตัวเองมากขึ้น ดั่งที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า ‘ความสุขเกิดจากความทุกข์น้อย ความทุกข์คือเรื่องจริง ความสุขคือเรื่องไม่จริง’ เพราะความสุขทุกข์เหมือนวิทยาศาสตร์ อย่างเรื่องความร้อนที่ไม่มีจำกัดอุณหภูมิ ส่วนความเย็นลงไปที่ศูนย์องศาเคลวินก็จะไม่เย็นไปกว่านั้น เพราะว่าความเย็นขึ้นอยู่กับความร้อน เมื่อความร้อนหมดไปความเย็นก็ลงต่ำสุด ความสุขก็เหมือนความเย็น ไม่มีทางหาได้ถ้าไม่รู้จักความทุกข์ ทุกข์น้อยลงเท่าไหร่ ความสุขก็จะเกิดขึ้น

        การถามหาความสุขก็ไม่ต่างอะไรจากการควานหาเข็มในมหาสมุทร หากต้องการความสุขก็แค่อยู่กับสิ่งที่มีตรงหน้าและอยู่กับสิ่งเป็น ณ เวลานี้ “คนเราเกิดมาจากความทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์ทุกขั้นตอน แต่ทุกข์นี้เป็นธรรมชาติ เราต้องเรียนรู้และอยู่กับมันให้ได้” หากยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้ ความสุขที่คอยถามหาก็จะปรากฏอยู่ตรงหน้าโดยที่ไม่ต้องไปค้นหาอีกต่อไป

 

เดชา ศิริภัทร

ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย

        ความสุขที่ไม่ต้องค้นหา เป็นนามธรรมที่ฟังแล้วไม่มีใครนึกภาพออก อาจารย์เดชาจึงอธิบายว่า “สิ่งนั้นก็คือการทำงานที่ทำประโยชน์ให้คนอื่นและไม่เบียดเบียนตัวเอง ทำแล้วมีความสุข และอยากทำไปตลอดทั้งชีวิต”

        เขาได้แสดงให้เราเห็นถึงงานที่ทำแล้วมีความสุขตลอดชีวิตแบ่งออกเป็นสองเรื่องคือ เรื่องแรก ก่อตั้งมูลนิธิข้าวขวัญตั้งแต่ปี 2532 ในวัย 41 ปี ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่อาจารย์ได้ไปช่วยเกษตรกรที่ภาคอีสานทำเรื่องเกษตรผสมผสาน จดจ่อและมุ่งมั่นอยู่กับเรื่องเดิมๆ นานถึง 5 ปี มีรายได้พออยู่พอกิน ได้ช่วยคนอื่น และเขามั่นใจแล้วว่าสิ่งนี้จะทำไปตลอดชีวิต อาจารย์จึงกลับมาบ้านและก่อตั้งมูลนิธิ ซึ่งทำมากว่า 30 ปีแล้ว 

        “วิธีปฏิบัติคือเราต้องหาตัวเองให้เจอ ต้องรู้จักตัวเองว่าเหมาะกับอะไร” อาจารย์เดชายิ้มน้อยๆ ก่อนขยายความ ส่วนเรื่องที่สองคือการทำยา ที่ใช้กัญชาเป็นการดูแลตัวเองโดยพึ่งพิงธรรมชาติและพึ่งพาตัวเองด้วยการคิดค้นน้ำมันกัญชาตำรับเดชา เริ่มจากการทดลองใช้เองเมื่อปี 2555 ก่อนที่จะมอบให้ผู้อื่น เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดให้กับโรคร้ายที่กัดกิน กลายเป็นความหวังสุดท้ายของผู้ป่วย ให้คลายทุกข์ที่เกิดจากความเจ็บ ก่อนจะลาจากโลกนี้ไปด้วยการตายอย่างสงบ 

        ทว่าเส้นทางสายนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่ได้หวานปานน้ำผึ้งเดือนห้า ทั้งยังเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรคมากมายที่เป็นเหตุให้ล้มเลิกและละทิ้งได้ง่ายๆ กลางทาง สำหรับอาจารย์เดชาไม่ได้ทำให้แรงมุ่งหวังนี้สูญหายไป ท่ามกลางปัญหา ทั้งเรื่องการคัดค้าน ข้อกฎหมาย การโดนจับ และอีกมากมายที่อยู่รอบตัว แต่อาจารย์กลับไม่เคยสิ้นยินดี เพียงเพราะนี่คือสิ่งที่เขาเชื่อว่าสามารถช่วยคนได้   

        “ผมรู้ดีว่ากัญชายังผิดกฎหมาย แต่ในเชิงการรักษา ตัวสารในกัญชาสามารถรักษาโรคได้ โดยเฉพาะ THC (delta-9-Tetrahydrocannabinol) ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และ CBD (cannabidiol) ที่ไม่มีฤทธิ์เสพติด ทั้งสองเป็นตัวที่ช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยได้ ที่สำคัญคือมันทำให้มะเร็งฆ่าตัวตายเอง ทำให้คนพัฒนาตัวเองได้ ทำให้สมองดี ทำให้อารมณ์ดี โดยมีเทคนิคการใช้คือกินนับหยดเพื่อให้หลับดี เมื่อหลับอย่างสมบูรณ์ ร่างกายก็จะซ่อมแซมส่วนที่บกพร่องได้เอง”

        แต่เพราะยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย การเคลื่อนไหวต่างๆ อาจารย์เดชาเองก็ยอมรับว่า นี่คือการดื้อแพ่งเพื่อให้ได้มา “ในต่างประเทศมีหลายคนที่ดื้อแพ่ง ในอเมริกาก็ติดคุกไปกว่า 800,000 คน ที่แคนาดาก็คือ ริก ซิมป์สัน คนธรรมดาที่เป็นตัวอย่างในการทำน้ำมันกัญชา (ริก ซิมป์สัน ออยล์) ต้องติดคุกไปก่อนที่จะได้สิ่งนี้มา ประเทศเราไม่ได้ลงทุนแบบนั้นเพราะเชื่อฟังกฎหมาย ไม่อยากติดคุก แต่ผมไม่ยอม ผมจะต่อสู้กับกฎหมาย โดยทำการดื้อแพ่งที่เรียกว่า Social Disobedience (Civil Disobedience) หรือการอารยะขัดขืน ซึ่งแน่นอนว่าผิดกฎหมาย แต่ที่ผมขัดขืนเพื่อให้คนรู้ว่า กฎหมายนั้นไม่ถูกต้อง ต้องเปลี่ยนที่กฎหมายไม่ได้มาเปลี่ยนที่ผม ผมยอมให้กฎหมายจับ และผมก็จะไม่หยุด ผมจะเดินต่อเพื่อให้คนรู้มากกว่านี้” น้ำเสียงของอาจารย์เดชาแข็งกร้าวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเอ่ยถึงเรื่องนี้

        ในความหมายของอาจารย์เดชา ไม่ได้หมายความว่าเพื่อให้ได้บางสิ่งมาจะต้องเกิดจากความดื้อแพ่งล้วนๆ แต่จะต้องมีปัจจัยมากมายมาประกอบเพื่อให้ได้เดินทางไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้อย่างถูกต้องตามครรลองคลองธรรม และสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยรู้ว่าอยู่เพื่ออะไร ทำเพื่อใคร และจะเดินทางไปสู่สิ่งนั้นได้อย่างไร 

        “ผมทำทุกอย่างในฐานะนักปฏิบัติธรรม เป้าหมายคือการสร้างกุศล ช่วยผู้ป่วยให้พ้นจากทุกข์ หรือทำให้ทุกข์น้อยลง ผมทำน้ำมันกัญชา สนับสนุนให้สิ่งนี้เข้าถึงผู้ป่วยได้ในราคาที่ถูก ปลูกได้เอง หรือสามารถรับฟรีได้ ผมตั้งเป้าไว้ว่าอย่างน้อย 1 อำเภอ จะต้องมี 1 วัดที่แจกจ่ายฟรี”

        ล่าสุด สิ่งที่อาจารย์เดชาทุ่มทั้งกายและใจก็ค่อยๆ เห็นผล ทางกรมแพทย์แผนไทยฯ ได้ร่วมกับอาจารย์เดชา ผลิตน้ำมันกัญชาจากของกลาง 1 ตันได้ 1 ล้านขวด โดยปล่อยลอตแรกไปแล้วหนึ่งแสนขวด แบ่งให้อาจารย์เดชา 2.5 หมื่นขวดเพื่อดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ต่อไป 

 

เดชา ศิริภัทร

การอยู่กับความเป็นจริง

        ทั้งการสร้างบ้านต้นไม้ การเข้าใจถึงความสุขที่แท้จริง อยู่กับสิ่งที่ทำได้ตลอดชีวิตอย่างมูลนิธิข้าวขวัญ และการทำน้ำมันกัญชา เมื่อขมวดรวมแล้ว ทั้งหมดคือการพึ่งพาตัวเองเวอร์ชันอาจารย์เดชา 

        “การพึ่งพาตัวเอง หมายถึงคนเราจะต้องรู้จักตัวเอง ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง รู้เท่าทัน และมีเป้าหมายในชีวิต” อาจารย์เดชาบอก 

        โดยเขาอธิบายเพิ่มเติมให้ฟังว่า ตามเดิมวิถีชีวิตของคน อยู่รอดมาได้ด้วยปัจจัย 4 อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เราสามารถดูแลตัวเองได้หมด ข้าวปลูกได้ ผักปลูกได้ ใส่เสื้อผ้าสบายๆ ตามสภาพอากาศ มีสมุนไพรไว้ดูแลตัวเอง และมีบ้านไว้นอน ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นล้วนๆ ทำให้คนสามารถพึ่งพาตัวเองได้เกือบ 100%  แต่แล้วคนเราต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น ผู้คนเลยเพลินไป เพลินจนลืมว่าตัวเองสามารถทำอะไรเองได้

         “ความไม่รู้เท่าทันทำให้เกิดปัญหา คนเราเอาความสะดวกเป็นตัวตั้ง ไม่ได้คิดว่าอะไรควรหรือไม่ควรจะทำ ผู้คนถูกกระแสพาไปได้ง่ายๆ ซึ่งผมไม่ได้บอกว่า ต้องสร้างบ้านเอง ต้องปลูกข้าวกินเอง แต่กำลังจะสื่อว่าเราต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง เราไม่ได้ต่อต้านและเราต้องรู้เท่าทัน และทำทุกอย่างโดยทางสายกลาง พอดิบพอดี ยังเป็นตัวของตัวเองได้และเหมาะกับตัวเอง ซึ่งทั้งหมดต้องนำแนวคิดไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของตัวเอง เพื่อไม่ให้ไหลไปกระแสที่ต้องมี ต้องเป็น ต้องเหมือนคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายต่อการใช้ชีวิต”

        หากเชือกในหนังสือ องค์รวมอันแฝงเร้น: การเดินทางสู่ชีวิตที่ไม่แบ่งแยก’คือหลักยืดโยงบ้านและโรงนาให้ชีวิตไม่เคว้งคว้างจนเกินไป กัญชาของอาจารย์เดชาอาจเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเดินทางภายในอันแรงกล้า เป็นพลังที่ผลักดันให้ใครสักคนมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย เราเองก็เช่นกัน ที่น่าจะตอบคำถามให้กับตัวเองได้ว่า เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร หรือจะสิ้นสงสัยใดๆ แล้วใช้ชีวิตให้มีความสุข ณ ปัจจุบันขณะก็ได้เช่นกัน