ไป (แบบ) ที่ชอบที่ชอบ ศึกษาข้อกฎหมายที่จะช่วยออกแบบฉากสุดท้ายของชีวิตได้ตามต้องการ

คุณเคยจินตนาการการตายดีของตัวเองไว้แบบไหน?

นอนอยู่บนเตียงนุ่มๆ ที่บ้านของตัวเอง มีคนที่รักห้อมล้อม ได้ยินเสียงเพลงโปรดเปิดคลอเบาๆ พร้อมกับจังหวะหัวใจที่เต้นช้าลงเรื่อยๆ หรืออยู่ในโรงพยาบาลที่มีทีมแพทย์วิ่งวุ่น มีเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ต่างๆ ระโยงระยาง พร้อมญาติพี่น้องที่คอยให้กำลังใจอยู่ไม่ไกล

     เราเชื่อว่าสองตัวเลือกนี้ไม่มีข้อไหนถูกหรือผิดไปมากกว่ากัน เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเราในฐานะผู้ (ใกล้) ตาย ควรมีสิทธิ์ ‘เลือก’ ได้ทั้งหมด และสามารถออกแบบช่วงเวลาสุดท้ายของตัวเองตามความปรารถนาได้อย่างแท้จริง

     ในบทความตอนแรกของซีรีส์ ‘Departure Guide’ จึงขอชวนคุณไปรู้จักกับข้อกฎหมายเกี่ยวกับการตายดี ทั้งการเขียน Living Will และความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการการุณยฆาต ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องการกำหนดช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตได้อย่างที่ต้องการ

 

Living Will

 

Living Will คืออะไร

     รู้หรือไม่ว่าเราทุกคนเลือกเองได้ว่าต้องการให้แพทย์ทำอะไรกับร่างกายเราบ้างก่อนตาย ด้วย Living Will หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขในวาระสุดท้ายของชีวิต เพื่อหลีกเลี่ยงความทรมานจากการรักษาพยาบาล เช่น การกระตุ้นหัวใจ การใช้เครื่องช่วยหายใจ และยังเป็นตัวช่วยในวันที่เราสื่อสารไม่ได้ ไม่มีสติสัมปชัญญะ เพื่อให้ญาติเข้าใจเจตนาของเรา และไม่เป็นภาระในการตัดสินใจของคนอื่น โดยจัดเป็นกฎหมายตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติด้วย

 

ใครทำ Living Will ได้บ้าง

     ใครๆ ก็ทำหนังสือ Living Will ได้ โดยต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ มีสุขภาพแข็งแรง หากเป็นผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุต้องตัดสินใจด้วยตนเองได้

 

เขียน Living Will อย่างไร

     สามารถเขียนได้ทั้งบนแบบฟอร์มและกระดาษเปล่า เพียงมี 5 องค์ประกอบสำคัญต่อไปนี้

 

1. ข้อมูลส่วนบุคคล

     เช่น ชื่อ-นามสกุล หมายเลขประจำตัวประชาชน อายุ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีที่ทำหนังสือแสดงเจตนา โดยอาจบอกมุมมองเกี่ยวกับชีวิตและความตาย และบอกเจตนาที่ต้องการได้รับ เช่น ต้องการความเคารพ ต้องการความสุขสบาย ไม่ต้องการเป็นภาระของครอบครัว ไม่อยากทุกข์ทรมานเป็นเวลานาน

 

2. ต้องการการดูแลอย่างไร

     เช่น อยากรักษาตัวที่ไหน อยากให้ใครมาเยี่ยม ต้องการการปั๊มหัวใจหรือใส่ท่อช่วยหายใจหรือไม่ หากหายใจไม่ออกจะให้ทำอย่างไร ยินยอมให้แพทย์ใช้ยากระตุ้นหัวใจไหม

 

3. ชื่อผู้แทนการตัดสินใจ

     ระบุชื่อคนที่จะมาเป็นตัวแทนการตัดสินใจ พิทักษ์เจตนารมณ์เรื่องความประสงค์ของชีวิตช่วงสุดท้ายของคุณ รวมทั้งวิธีติดต่อบุคคลนั้นๆ

 

4. การดูแลหลังเสียชีวิต

     อยากให้มีการจัดงานศพอย่างไร เลี้ยงแขกด้วยเมนูอะไร หรือต้องการให้มีการจัดการกระดูก อัฐิ หรือร่างกายส่วนที่เหลืออย่างไร

 

5. ลงลายมือชื่อ

     เซ็นชื่อของคุณ หากมีพยานอาจลงลายมือพยานพร้อมบอกความเกี่ยวข้องด้วย 

 

ทำแล้วเก็บไว้ที่ไหน

     ถ่ายสำเนา มอบให้แก่ญาติ คนในครอบครัว และแพทย์ที่เคยทำการรักษาพยาบาล เพื่อให้ทุกคนทราบเจตนา เมื่อต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาล ให้ผู้ป่วยหรือญาตินำ Living Will มาแสดงต่อแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลด้วย

     *Living Will สามารถแก้ไขและเปลี่ยนแปลงได้ โดยจะยึดฉบับล่าสุดเป็นหลัก

 

Living Will

 

Mercy Killing คืออะไร

     การุณยฆาต คือการช่วยเหลือหรือการปล่อยให้ผู้ป่วย (หรืออาจจะไม่ป่วย) ตายตามความต้องการของตนเอง เหมือนกับที่หนุ่มไทยคนหนึ่งเลือกเดินทางไปจบชีวิตด้วยวิธีการุณยฆาต ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

     การุณยฆาตอาจแบ่งเป็น 2 วิธี ตามกฎหมายในประเทศที่อนุญาตให้ทำการุณยฆาต (Euthanasia) ได้ คือการให้ยาหรือฉีดยา เพื่อให้ผู้ที่ต้องการการุณยฆาตตาย และการที่บุคลากรทางการแพทย์เตรียมยาหรือสารพิษเพื่อให้ผู้ที่ต้องการการุณยฆาตฆ่าตัวตาย (Physician-Assisted Suicide: PAS) โดยปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่ยอมรับเรื่องนี้

 

ประเทศที่อนุญาตให้ทำการุณยฆาตได้ถูกต้องตามกฎหมาย

     1. สหรัฐอเมริกา โดยรัฐที่อนุญาตการการุณยฆาตแบบ Euthanasia คือ ได้แก่ รัฐออริกอน รัฐวอชิงตัน รัฐเวอร์มอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐโคโลราโด และรัฐฮาวาย ส่วนรัฐมอนแทนา ใช้การการุณยฆาตแบบ PAS

     2. แคนาดาใช้การการุณยฆาตทั้งแบบ Euthanasia และ PAS

     3. สวิตเซอร์แลนด์ใช้การการุณยฆาตแบบ PAS

     4. เนเธอร์แลนด์ใช้การการุณยฆาตทั้งแบบ Euthanasia และ PAS

     5. เบลเยียมใช้การการุณยฆาตแบบ Euthanasia

     6. ลักเซมเบิร์กใช้การการุณยฆาตทั้งแบบ Euthanasia และ PAS

 

สิทธิการขอตายตามธรรมชาติในประเทศไทย

     การุณยฆาตในประเทศไทยเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่อนุญาตให้เร่งการตาย เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลกที่มีแนวทางกฎหมายรองรับการขอตายตามธรรมชาติและไม่ยื้อชีวิต อย่างไรก็ตาม มาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ เปิดโอกาสให้เราแสดงเจตนาล่วงหน้าได้ว่า เมื่ออยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต ขอจากไปตามวิถีธรรมชาติ โดยไม่ประสงค์จะให้ใช้เครื่องมือต่างๆ มายืดความตายออกไป ควบคู่กับการดูแลแบบ Palliative Care ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีคุณภาพชีวิตที่ดี และยังอาจได้รับการรักษาทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดบางอย่าง หรือยาบางอย่างเพื่อวัตถุประสงค์ที่คนไข้จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

     เพราะฉะนั้น ตามหลักของกฎหมายประเทศเราแล้ว สามารถขอจากไปอย่างสงบโดยไม่ต้องยื้อชีวิตได้ด้วยการเขียน Living Will แต่ไม่รองรับการทำการการุณยฆาตที่เร่งให้เสียชีวิตเร็วขึ้นนั่นเอง 

     **ตัวอย่างการเขียน Living Will**

 


อ่านเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับซีรีส์ Departure Guide ขั้นตอนเตรียมตัวตาย (ดี) เพื่อจากโลกนี้ไปอย่างสวยงามต่อได้ที่:

     – ทบทวนเรื่องราวชีวิตกับ 10 คำถามสำคัญที่ควรตอบตัวเองให้ได้ก่อนจากโลกใบนี้ไป

     – เพราะเจ็บไม่ได้แปลว่าแพ้ เข้าใจการจัดการกับความเจ็บปวดทางร่างกาย เมื่อเวลาสุดท้ายของชีวิตใกล้มาถึง

     – การดูแลอย่างมีความหมายและคำบอกลาสุดท้าย เมื่อคนที่เรารักเดินมาถึงปลายทางของชีวิต

     – Döstädning กระบวนการทิ้งสัมภาระและจัดบ้านให้เรียบร้อยก่อนความตายมาถึงตามแบบฉบับชาวสวีดิช

     – ตายแล้วโปรไฟล์เฟซบุ๊กไปไหน? จัดการมรดกดิจิตอลของเราก่อนวันที่บัญชีต่างๆ จะออฟไลน์ไปตลอดกาล