หลายคนอาจเคยคิดว่า การแสดงความเจ็บปวดทางร่างกายหมายถึงความพ่ายแพ้ อ่อนแอ ไม่อดกลั้น หรือยิ่งไปกว่านั้นคือโดนกล่าวหาว่าสำออยหรือโอเวอร์แอ็กติ้ง แต่จริงๆ แล้วในโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง หรือโรคกระดูก การที่เราสกัดกั้นความเจ็บปวดไว้จะยิ่งทำให้ทรุดหนักและรักษาได้ยากกว่าเดิม เพราะฉะนั้น จึงควรสังเกตตัวเองอย่างถี่ถ้วน ไม่โกหกตัวเองหรือคนใกล้ชิดว่าสบายดีแล้วคิดว่าอาการจะหายเอง เพื่อที่แพทย์และญาติจะได้หาวิธีการจัดการกับความเจ็บปวด (Pain Management) ได้อย่างทันท่วงที
01 | ใช้ยาระงับปวด
โดยแพทย์จะเลือกใช้ชนิดยาตามความรุนแรง ดังนี้
ปวดน้อย: ใช้พาราเซตามอล
ปวดระดับกลาง: ใช้โคเดอีนหรือทรามาดอลควบคู่กับพาราเซตามอล (ออกฤทธิ์เหมือนมอร์ฟีน แต่มีความแรงน้อยกว่า 10 เท่า)
ปวดระดับรุนแรง: ใช้มอร์ฟีน (ยาแก้ปวดที่สกัดมาจากฝิ่น มีทั้งแบบฉีดและแบบรับประทาน)
การใช้ยามอร์ฟีนไม่ได้ทำให้โรคที่เป็นอยู่แย่ลง แต่จะช่วยให้อาการปวดลดลง ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
02 | การรักษาด้วยวิธีทางกายภาพ
ทำได้หลายวิธี เช่น
– การใช้ความร้อน/ความเย็นในการประคบ โดยความเย็นจะทำให้การนำกระแสประสาทสู่สมองช้าลง ทำให้เกิดอาการชา การไหลเวียนโลหิตลดลง หลอดเลือดหดตัว หลังจากนั้นควรประคบด้วยความร้อน จะช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และลดอาการบวม
– เปลี่ยนท่านอนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดจากการกดทับหรือการใช้กล้ามเนื้อมัดนั้นนานเกินไป สอนให้ผู้ป่วยเปลี่ยนท่าอย่างนุ่มนวล ถูกต้อง เมื่อเปลี่ยนท่าควรเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เช่น หมอน อุปกรณ์พยุงตัว
03 | การรักษาด้านจิตใจ
– พูดคุยให้กำลังใจกับผู้ป่วย โดยไม่ควรแสดงอาการเศร้าโศกหรือวิตกกังวล
– สอบถามความต้องการของผู้ป่วยอยู่เสมอ
อ่านเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับซีรีส์ Departure Guide ขั้นตอนเตรียมตัวตาย (ดี) เพื่อจากโลกนี้ไปอย่างสวยงามต่อได้ที่:
– ไป (แบบ) ที่ชอบที่ชอบ ศึกษาข้อกฎหมายที่จะช่วยออกแบบฉากสุดท้ายของชีวิตได้ตามต้องการ
– ทบทวนเรื่องราวชีวิตกับ 10 คำถามสำคัญที่ควรตอบตัวเองให้ได้ก่อนจากโลกใบนี้ไป
– การดูแลอย่างมีความหมายและคำบอกลาสุดท้าย เมื่อคนที่เรารักเดินมาถึงปลายทางของชีวิต
– Döstädning กระบวนการทิ้งสัมภาระและจัดบ้านให้เรียบร้อยก่อนความตายมาถึงตามแบบฉบับชาวสวีดิช
– ตายแล้วโปรไฟล์เฟซบุ๊กไปไหน? จัดการมรดกดิจิตอลของเราก่อนวันที่บัญชีต่างๆ จะออฟไลน์ไปตลอดกาล