ตั้งแต่เด็ก เราคุ้นเคยกับการไปเที่ยวสวนสัตว์ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน เนื่องจากเป็นแหล่งเรียนรู้ชีวิตสัตว์ป่าและธรรมชาติที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด แต่เมื่อเวลาผ่านไป สวนสัตว์ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาตามวัตถุประสงค์ในแต่ละยุค
เริ่มตั้งแต่สมัยยุคล่าอาณานิคม จากเดิมสวนสัตว์คือสถานที่ที่เก็บสมบัติของประเทศเจ้าอาณานิคมที่ไปล่ามาได้ และใช้เก็บสิ่งของมีค่า โดยเฉพาะสัตว์ป่าต่างๆ ที่ประเทศราชได้ส่งมาเป็นของบรรณาการ ซึ่งนำมาจัดแสดงรวมกันไว้ในที่เดียว อาทิ สิงโตและเสือโคร่งที่มาจากคนละทวีป เสมือนเป็นการเก็บแสตมป์สะสมเพื่อให้เข้าชุด รวมทั้งนำคนป่าหรือชนเผ่ามาโชว์ในที่แห่งเดียวกัน ซึ่งในเวลานั้นคุณค่าของสัตว์ป่าและคนป่าที่มีชีวิตเป็นแค่ของแปลก
ต่อมาเมื่อมนุษย์เริ่มมองเห็นคุณค่าของสัตว์ป่ามากขึ้น จึงเริ่มแยกสัตว์แต่ละทวีป แต่ละสายพันธุ์ออกจากกัน ตามถิ่นที่อยู่ด้านถภูมิศาสตร์ (Geographical Zoning) หลังจากนั้นไม่นานสวนสัตว์ที่เป็นแค่การจัดแสดงก็เริ่มเปลี่ยนแปลง และเพิ่มภารกิจหน้าที่มากขึ้น เมื่อสัตว์บางชนิดเริ่มสูญพันธุ์ด้วยภัยธรรมชาติ โรคระบาด แต่ยังมีสัตว์บางชนิดเหลือรอดอยู่ภายในสวนสัตว์ สวนสัตว์จึงกลายเป็นสถานที่เก็บรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไปโดยปริยาย
จนกระทั่งมาถึงการเป็นสวนสัตว์สมัยใหม่ (Modern Zoo) ที่มีข้อกำหนดหลักสำคัญ 4 เรื่องคือ อนุรักษ์ ให้การศึกษา วิจัย และพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อให้ผู้คนได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติในเมืองมากขึ้น รวมทั้ง Zoological Park หรือสวนสัตว์และสวนสาธารณะที่มีสัตว์ป่าให้ชม มีพันธุ์ไม้ให้ศึกษา มีประวัติศาสตร์ให้เรียนรู้ ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของสวนสัตว์ที่มีอยู่ในทุกประเทศทั่วโลก
“สำหรับประเทศไทยที่ไม่เคยทำเรื่องสวนสัตว์แบบเฉพาะตัวมาก่อน แต่เป็นการรับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามา อย่างเขาดินที่เพิ่งจะครบ 80 ปีในปีนี้ (2561) เท่ากับว่าเราเพิ่งหัดทำสวนสัตว์มาได้แค่ 8 ทศวรรษ แต่เป็นช่วงเวลาที่เราได้เรียนรู้ ได้พบกับบุคคลากรที่จบจากต่างประเทศมาช่วยงาน มีการส่งบุคคลากรไปดูงานต่างประเทศเพื่อปรับปรุงและต่อยอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำสวนสัตว์ให้ดีขึ้น ดังนั้น การปิดตัวของเขาดินในครั้งนี้คือความพร้อมที่จะพัฒนาสวนสัตว์ต่อไป” นี่คำตอบเบื้องต้นของ ‘หมอต้อม’ – น.สพ. ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ วิจัย และการศึกษา องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์
ซึ่งคำตอบของหมอต้อมชวนให้เราตั้งคำถามถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของสวนสัตว์ในอนาคต ว่าจะช่วยสร้างคุณค่าให้กับผู้คน สัตว์ป่า สิ่งแวดล้อม และสังคมไทยได้อย่างไร
ภารกิจหลักของสวนสัตว์ในโลกสมัยใหม่
ภาพจำในอดีตของใครหลายๆ คน สวนสัตว์เป็นเพียงสถานที่หนึ่งที่นำสัตว์มาขังไว้ให้คนดู แต่เพื่อปรับความเข้าใจใหม่ทั้งหมด หมอต้อมอธิบายหน้าที่และภารกิจของสวนสัตว์สมัยใหม่ให้ฟังว่า
“อะไรก็ตามที่มีรั้วล้อมขอบชิด มีคนเลี้ยง และเอาอาหารให้กิน เรียกว่าสภาพการกักขัง นั่นฟังแล้วอาจดูโหด นี่คือ ‘ความจริง’ ซึ่งไม่ต่างจากการทำฟาร์มเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ แต่จุดแตกต่างคือวัตถุประสงค์ สวนสัตว์ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้หนึ่งในสังคม มีหน้าที่บริการความรู้ และการพักผ่อนหย่อนใจควบคู่กัน
“การเรียนรู้ในสวนสัตว์ไม่ได้มีแค่เรื่องของสัตว์ป่า พืชพันธุ์ แต่ยังเป็นหน่วยย่อยของการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสีเขียว โลกร้อน การรีไซเคิล หรือแม้กระทั่งขยะทะเล ขึ้นอยู่กับเราว่าจะเล่าเรื่องอะไร ในรูปแบบไหน และน่าสนใจอย่างไร นอกจากนี้ยังสามารถสอนถึงต้นทางของธรรมชาติ สรรพสิ่ง หรือแม้กระทั่งเรื่องอาหารได้ อย่างที่ National Zoo สวนสัตว์แห่งชาติในวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เมื่อชาวอเมริกันและสภาคองเกรสมีความเห็นตรงกันว่าเด็กอเมริกันไม่รู้ว่าพิซซ่าทำมาจากอะไร แป้ง ชีส มะเขือเทศ โบโลเนสมาจากไหน ก่อนจะมอบภารกิจนี้ให้สวนสัตว์ทำหน้าที่เป็นแหล่งเพิ่มพูนและเผยแพร่ความรู้ให้กับมนุษยชาติ”
เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย เด็กๆ ในยุคปัจจุบันไม่รู้ว่าข้าวมาจากไหนเช่นกัน ต่อจากนี้สวนสัตว์สมัยใหม่ในบ้านเราอาจจะใส่ดีเทลเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ลงในภารกิจหนึ่งของสวนสัตว์ เพื่อให้เป็นคุณครูอีกคนที่สอนวิชาธรรมชาติวิทยาอีกทาง
สวนสัตว์เปลี่ยนทัศนคติและสร้างจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์
ทุกวันนี้สวนสัตว์ไม่ได้ทำหน้าที่แค่บอกผู้คนว่าสัตว์ตัวนี้มาจากไหน ออกลูกกี่ตัว เรื่องราวเหล่านี้ทุกคนสามารถหาได้จากช่องทางอื่นๆ มากมาย แต่ความพิเศษของสวนสัตว์มีมากกว่านั้น เมื่อในวันที่คนคนหนึ่งได้จ้องตากับสัตว์ป่าตัวหนึ่งจริงๆ เขาจะรู้สึกตื่นเต้น เกิดความสงสัย อยากรู้จัก จนเกิดเป็นความประทับใจ กลายเป็นความรัก ความหลงใหลอย่างไม่รู้ตัว
แต่เชื่อหรือไม่ว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถเปลี่ยนทัศนคติ สร้างจิตสำนึก เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือสัตว์ป่าในอนาคตได้อย่างแนบเนียน
“เมื่อมาถึงสวนสัตว์ สิ่งแรกที่คุณจะต้องเจอคือ ความประทับใจในตัวสัตว์ และเกิดเป็นความรักความเมตตา จากนั้นเจ้าหน้าที่จะค่อยๆ สร้างความเข้าใจว่าเขาคืออะไร อย่างตัวนิ่มไม่ใช่ตัวกินมด สมเสร็จก็ไม่ใช่ตัวกินมด มีความน่ารักแค่ไหน บ้านของเขาอยู่ไหน เขากำลังเผชิญปัญหาตามธรรมชาติอะไรอยู่หรือเปล่า หรือเขาอาจจะกำลังโดนล่า ที่สวนสัตว์จะต้องอธิบายเรื่องราวให้ฟังเพิ่มเติม และต้องใช้วิธีการนำเสนอในรูปแบบที่เข้าถึงชีวิตประจำวันของผู้คน”
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น หมอต้อมได้เล่าถึงไอเดียเจ๋งๆ ของสวนสัตว์โอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา และสวนสัตว์เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียให้ฟังว่า “อย่างกรงลิงอุรังอุตัง ซึ่งพวกมันกำลังเผชิญหน้ากับความตายจากการเผาป่าธรรมชาติบนเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อปลูกปาล์มทำเป็นธุรกิจปั๊มน้ำมัน เขาใช้วิธีการเปลี่ยนทัศนคติคนด้วยการสร้างซูเปอร์มาร์เกตขนาดเล็กไว้ข้างๆ กรงสัตว์ บนชั้นวางมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกมากมาย ใกล้ๆ กันจะมีเครื่องอ่านบาร์โค้ด สแกนยี่ห้อแล้วเทียบดูว่าเลเวลของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมแค่ไหน เมื่อปรากฏสีเขียวคือเป็นมิตร สีส้มคือแหล่งที่มาไม่ชัดเจน สีแดงคือไม่เป็นมิตร เพราะฉะนั้น ทุกคนสามารถตัดสินใจสนับสนุนผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนั้นต่อหรือไม่ได้ทันที”
ตัวอย่างของลิงอุรังอุตังอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีสัตว์ป่าอีกมากมายที่ตายหรือสูญพันธุ์ไป เพียงเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และปรับเปลี่ยนแนวคิดต่อโลกใบนี้อย่างจริงจัง
“เมื่อทุกคนได้เจอสัตว์ตัวจริง และรับรู้ถึงปัญหา คำถามในใจจะเกิดขึ้น เช่น ช้างกำลังโดนล่าอย่างหนัก เรายังจะใส่กำไลงาช้างไหม เห็นข่าวการตายของเต่าทะเลที่กินขยะพลาสติกจนเต็มท้อง ยังจะใช้ถุงพลาสติกอยู่หรือเปล่า คำถามนี้จะเป็นจุดเล็กๆ ที่ช่วยสร้างจิตจิตสำนึก กระทั่งเมื่อกลับถึงบ้าน อาจจะพบคำตอบที่นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองได้ เราอาจจะเลิกใช้พลาสติก พกตะเกียบและหลอดที่ล้างได้ หรือพกถุงผ้า ทั้งหมดเรารู้ดีว่าไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่เราจะทำเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าทางอ้อม” นี่คือวิธีการที่สวนสัตว์เจาะลงไปในใจผู้คน เพื่อให้ทุกคนรักและเห็นคุณค่า และพร้อมที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิ่งเหล่านี้ด้วยสองมือของตัวเอง
สวนสัตว์สร้างและพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ
เบื้องหน้าของสวนสัตว์มีหน้าที่และภารกิจหลักที่ยิ่งใหญ่ให้ทำทุกวัน ในขณะที่เบื้องหลังก็มีผู้คนอีกมากมายที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสวนสัตว์ในอีกมิติหนึ่ง นั่นคือนักวิจัยผู้มาพร้อมกับโครงการอนุรักษ์ที่ทรงคุณค่าอีกหลายโครงการ แต่ที่สร้างรอยยิ้มกว้างๆ ให้หมอต้อมทุกครั้งที่เอ่ยได้นั้นก็คือ โครงการปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ป่าธรรมชาติ
“นกกระเรียนไทยสูญพันธ์ไปป่าธรรมชาติไทยกว่า 50 ปีมาแล้ว แต่มีอยู่ในสวนสัตว์ เป็นโครงการที่รุ่นพี่ของเราเคยทำมาก่อนเมื่อประมาณปี 2530 ที่ภูเขียว แต่ไม่สำเร็จ เราเว้นมา 20 ปี แล้วมาเริ่มทำใหม่ เมื่อเรามีจำนวนนกเพียงพอ ผ่านไป 10 ปี นกกระเรียนที่เราปล่อยไปตามธรรมชาติได้ให้กำเนิดลูกนกจนกลายเป็นสัตว์ป่าตามธรรมชาติได้จริงๆ”
ยิ่งไปกว่าการอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ คือการได้สร้างและพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสัตว์แต่ละชนิดให้เกิดขึ้นในประเทศไทย นี่คือสิ่งทำให้หมอต้อมมั่นใจว่าสิ่งที่ทำมาเนิ่นนานนั้นไม่มีอะไรที่สูญเปล่า แม้กระทั่งความล้มเหลว
“ในทุกๆ โครงการ เราได้สร้างดอกเตอร์ผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ เรามีดอกเตอร์กระเรียน 2 คน ดอกเตอร์กวางผา 2- 3 คน รวมทั้งดอกเตอร์เสือลายเมฆและละมั่ง หลายคนทำงานในองค์กรของภาครัฐ บางคนไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ มอบความรู้ให้กับนิสิตนักศึกษาต่อไป
“รวมทั้งการพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ว่าจะเป็นคนเลี้ยงเสือ เลี้ยงลิง เลี้ยงเมียร์แคต เลี้ยงนก เขาต้องเก่งขึ้นทุกวัน สัตว์แพทย์เองก็ต้องเก่งขึ้น แพทย์ดมยาสลบสัตว์ก็ต้องชำนาญมากขึ้น เพราะไม่ใช่แค่นำมาใช้ในสวนสัตว์ แต่ยังสามารถช่วยเสริมทีมให้กับภารกิจหลักของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ สุดท้ายทั้งเรื่องของการอนุรักษ์และวิจัยได้กลายเป็นวิสัยทัศน์หนึ่งขององค์การสวนสัตว์ฯ ไปแล้ว” หมอต้อมกล่าวอย่างภาคภูมิใจ
สวัสดิภาพสัตว์และสวนสัตว์มาตรฐานสากล
หน้าที่ของสวนสัตว์และความภาคภูมิใจของหมอต้อมที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากสวนสัตว์ไม่ได้มีมาตรฐานสากล (International Standard) ที่คำนึงถึงความสุขและสวัสดิภาพของสัตว์เป็นสำคัญ และในทุกวันนี้ สวนสัตว์จำนวน 5 จาก 7 แห่งขององค์การสวนสัตว์ฯ รวมทั้งเขาดิน ได้ก้าวเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิก World Association for Zoos and Aquariums (WAZA) หรือสมาคมสวนสัตว์และอควาเรียมโลก และยังได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมประจำปี 2018
“ผู้อำนวยการสวนสัตว์ระดับท็อปกว่า 300 คนทั่วโลกจะมาประชุมที่ประเทศไทย เพราะฉะนั้น องค์การสวนสัตว์ของเราถือว่าอยู่ในพรีเมียร์ลีก เมื่อเราอยู่ในครอบครัวนี้แล้วก็ต้องมีมาตรฐานและใส่ใจเรื่องสวัสดิภาพสัตว์อย่างดีที่สุด เพราะทุกคนตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นกับเราได้ อย่างบางคนเห็นเรามีสัตว์สามขา แล้วเขามาท้วงว่าคุณเอามาโชว์เรียกความสงสารเหรอ ทรมานมันหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้วเราไปช่วยมันจากพรานที่ดักสัตว์ไว้ได้ และเราคิดว่าสวนสัตว์ของเรามีพื้นที่ที่เพียงพอ เพื่อให้สัตว์ตัวนี้อยู่ ซึ่งนายพรานคนนั้นอาจเป็นคนยากจน เขาล่าเพื่อดำรงชีวิต เพราะคนไม่ได้เหมือนหรือมีเท่ากันหมด นี่คือ สิ่งที่เราต้องเล่าออกไป
“รวมทั้งการจัดการเรื่องพื้นที่ บางคนบอกว่าสัตว์อยู่ไกลเห็นไม่ชัด แต่จริงๆ แล้วสัตว์เขาก็ต้องการพื้นที่ มีจุดให้นอน ให้หลบจากสายตาคน มีถ้ำให้หลบจากเสียงริงโทนจากมือถือ หรือเสียงคนคุยกันตลอดเวลา เพื่อให้เขาไม่เครียด ดังนั้น การออกแบบสวนสัตว์ก็เปลี่ยนไป ถ้าเราคิดให้สัตว์มีความสุขเป็นหลัก”
สวนสัตว์ที่ให้ความสำคัญกับสัตว์ จะคำนึงถึงหลักการ 5 Domains Model หรือหลักสวัสดิภาพสัตว์ อันเป็นที่ยอมรับในสวนสัตว์ระดับสากล ซึ่งเป็นการประเมินด้านโภชนาการ ด้านสภาพแวดล้อม ด้านสุขภาพกาย ด้านการแสดงออกทางพฤติกรรม และด้านจิตใจของสัตว์ โดยจะต้องมีการตรวจสุขภาพสัตว์ ตรวจสอบสวนสัตว์ พร้อมทั้งระบุถึงการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ทัดเทียมระดับคุณภาพ ISO
“หลักของสวัสดิภาพสัตว์หรือ Animal Welfare เหล่านี้จึงเป็นตั๋วที่ทำให้เกิดมาตรฐานของสวนสัตว์ที่ดี เพื่อทำงานวิจัยหรืออนุรักษ์สัตว์ป่าต่อไปได้” หมอต้อมอธิบายให้เราฟังอย่างใจเย็น เพื่อชี้ให้เห็นถึงบทบาทและมาตรฐานหลายมิติขององค์การสวนสัตว์
ความหวังใหม่และความเป็นไปได้ในอนาคต
เมื่อคิดถึงประโยชน์ การพัฒนา และความสุขของสัตว์น้อยใหญ่ที่จะได้เคลื่อนย้ายไปอยู่ในที่กว้างๆ แล้ว การย้ายสวนสัตว์ดุสิตจึงไม่ใช่เรื่องน่าเศร้าแต่อย่างใด นอกจากนี้ การได้รับที่ดินจำนวนกว่า 300 ไร่ ยังเป็นการรีเซตสวนสัตว์ใหม่ตั้งแต่ต้นกระบวนการอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นสวนสัตว์ที่มีระบบจัดการและการออกแบบโครงสร้างที่ดียิ่งขึ้น
“ที่ผ่านมามีหลายปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดในการทำสวนสัตว์แบบที่เราอยากทำ การย้ายไปที่ใหม่จึงถือว่าเป็นโอกาสสำหรับองค์การสวนสัตว์ที่มีประสบการณ์กว่า 80 ปี ในการทำสวนสัตว์มา 7 แห่ง ที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นการสร้างสวนสัตว์ระดับชาติหรือระดับโลก และเป็นโอกาสให้เราได้เริ่มดีไซน์จากศูนย์ ตั้งแต่พื้นที่ว่างๆ ได้คิด เนรมิต วางผัง พาสถาปนิกและวิศวกรมาดูเรื่องกฎหมายและการออกแบบ นับว่าเป็นครั้งแรกที่จะได้เริ่มทำโดยปราศจากแรงกดดันด้านเวลา” หมอต้อมบอกกับเราอย่างสดใสถึงความหวังและความเป็นไปได้ในอนาคต
สวนสัตว์ที่ใหม่มีเนื้อที่มากกว่าเป็นเท่าตัว ทำให้องค์การสวนสัตว์สามารถออกแบบพื้นที่จัดแสดงได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ปัจจุบันเรามีฐานข้อมูลเยอะมากว่าจะสร้างคอกหมีให้ดีที่สุดอย่างไร คอกเสือต้องทำอย่างไร ตอนนี้จึงอยู่ในขั้นตอนการวาง Master Plan อย่างจริงจัง โดยฟังทั้งเสียงของคนใน และผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นมาประกอบกัน หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการการออกแบบและก่อสร้าง ซึ่งจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญของสัตว์แต่ละชนิดมาร่วมออกแบบด้วย”
หมอต้อมยกตัวอย่างสวนสัตว์ในประเทศญี่ปุ่นให้ฟังถึงเวลาที่ใช้วางแผนและออกแบบคอกยีราฟนานถึง 2 ปี แต่ก่อสร้างเสร็จภายในวันเดียว การสร้างสวนสัตว์ที่มีคุณภาพจึงเป็นกระบวนการที่ไม่เร่งรีบ ใช้เวลาตามธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น
“ทุกวันนี้ไลฟ์สไตล์ของเรามันทำให้ขาดการเชื่อมโยงกับธรรมชาติอยู่แล้ว ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ถ้าเราไม่เคยเห็นภาพสัตว์ป่าสักตัวหนึ่งผ่านนิวส์ฟีด ผ่านแบนเนอร์ ผ่านบิลบอร์ด หรือสายตาเราไม่ได้ปะทะกับอะไรที่เป็นต้นไม้เลย แล้วเราจะไปคิดถึงสิ่งเหล่านี้ไหม เพราะแบบนี้สวนสัตว์เองก็อาจจะต้องพยายามเปลี่ยนบทบาทในอนาคต
“แน่นอนว่าต้องมีคุณภาพมากขึ้น และสามารถทำให้คนว้าว แต่ก็ต้องกลายเป็น story teller ที่มีวิธีบอกคนทั่วไปด้วยว่าเขาจะช่วยรักษาธรรมชาติและรักษาสัตว์ป่าได้อย่างไร ทำให้คนได้เกิดความตระหนัก เกิดความรัก และความเข้าใจที่จะเชื่อมโยงกับธรรมชาติ นอกจากนี้เราก็ยังต้องพัฒนางานวิจัยต่อไป ทั้งเรื่องการรักษา การฉีดยาสลบ การเคลื่อนย้าย เพื่อคงความหลากหลายของสัตว์เอาไว้ และนำเรื่องราวนี้ถ่ายทอดไปยังคนหมู่มากให้มากขึ้น”
ทั้งหมดนี้คือหัวใจสำคัญของสวนสัตว์เพื่อเชื่อมโยงให้เราได้เห็นคุณค่าที่มีต่อคน สังคม และสัตว์ป่า ผ่านสวนสัตว์ดุสิตที่จะย้ายไปตั้งอยู่บริเวณคลองหก ฝั่งตะวันออก จังหวัดปทุมธานี และสวนสัตว์อีก 6 แห่งทั่วประเทศ
ขอบคุณภาพ: แฟ้มภาพสวนสัตว์ดุสิต