‘ดูช้างให้ดูหางดูนางให้ดูแม่’ บทเรียนชีวิตของผู้หญิง 3 วัย จากรุ่นคุณยายสู่รุ่นลูกสาว

จริงอย่างที่ใครบอกไว้ว่า ต่อให้ลูกโตแค่ไหน สำหรับแม่แล้ว ลูกคนนี้ก็ยังคงเป็นเด็กน้อยคนนั้นของแม่อยู่ดี พูดแบบนี้อาจจะฟังดูเกินจริงไปหน่อย เพราะเราทั้งกองบรรณาธิการยังไม่มีใครเปลี่ยนบทบาทจากลูกมาเป็นแม่สักคน

     เราจึงชวนผู้หญิง 3 รุ่น อันประกอบด้วย คุณยาย คุณแม่ และลูกสาว จาก 3 ครอบครัวสุดน่ารัก มาพูดคุยถึงความรักและความสัมพันธ์แบบผู้หญิงถึงผู้หญิง รวมถึงการเปลี่ยนบทบาทจากคุณลูกเป็นคุณแม่ และคุณแม่เป็นคุณยาย

 

_

คุณยาย อำนวย เทพวงศ์ไว
คุณแม่ วนาชล ฉัตรกุล ณ อยุธยา
‘ป่าน’ – ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา

_

 

 

GRANDMOTHER

     “แม้จะต้องดูแลลูกสาวทั้ง 4 คน ก็ไม่เคยรู้สึกยากเลย เพราะพวกเขาไม่ค่อยดื้อ ยายบอกยายสอนอะไรพวกเขาก็จะจำ ตอนที่หาเลี้ยงพวกเขาตัวคนเดียว เหนื่อยนะ แต่เหนื่อยก็พัก มีแรงแล้วค่อยลุยต่อ คุณแม่ของน้องป่านเป็นลูกคนสุดท้องของยาย ซึ่งเราอยู่ด้วยกันตลอด เราเป็นห่วงลูกๆ หลานๆ หมดทุกคน นึกถึงพวกเขาตลอดเวลา ไหว้พระสวดมนต์ก็จะสวดให้พวกเขาเสมอ ถ้าถามว่าน้องป่านกับแม่เขานิสัยต่างกันตรงไหน ก็คงเป็นเรื่องความละเอียด แม่เขาจะเป็นคนละเอียดมาก น้องป่านเขาจะเป็นเหมือนเด็กสมัยใหม่ แต่เราก็ภูมิใจในตัวเขาทุกอย่างเลย รักมาก ทุกวันนี้ยายจะบอกลูกหลานเสมอว่า ไม่ต้องเป็นห่วงอะไรยายนะ ยายอายุมากแล้ว ไม่ต้องกังวล (ยิ้ม)”

 

 

MOTHER

     “เพราะคุณตาท่านเสียตอนแม่อายุเพียง 9 ขวบ คุณยายจึงต้องออกเดินทางไปทำงานค้าขายในหลายๆ ที่ การสั่งสอนของท่าน ส่วนใหญ่จะเป็นการทำให้เห็นมากกว่า อย่างเรื่องความอดทน ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร ท่านก็จะต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อ ส่วนบทบาทการเป็นแม่ แม้เราจะยังไม่มีประสบการณ์การเลี้ยงลูกมากนัก แต่ก็ค่อยๆ เรียนรู้กันไป พร้อมกับได้คุณยายมาช่วยทุกอย่าง พอมีลูกก็ตกลงกันว่าจะเลี้ยงเขาด้วยเหตุผล อะไรที่อธิบายไม่ได้เราจะไม่สอนลูก เราเป็นห่วงเขาในเรื่องสุขภาพระยะยาวและอาหารการกิน แต่เรื่องอื่นๆ อย่างการเรียน การทำงาน หรือการจัดการกับชีวิต เราไม่เป็นห่วงเขาเลย เพราะน้องป่านเป็นเด็กที่มีสติ มีสมาธิ ตอนนี้กลับเป็นเขาด้วยซ้ำที่คอยเตือนพ่อและแม่ให้มีเหตุผลกับเรื่องต่างๆ”

 

DAUGHTER

     “จริงๆ คุณยายชื่ออำนวย แต่เราชอบเรียกว่าอลิสา เพราะเราคิดว่าคุณยายดูเหมาะกับชื่ออลิสา (หัวเราะ) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับเพื่อนสนิทสมัย ป.1 ที่เรารักมาก เลยอยากเรียกคุณยายด้วยชื่อนี้ ตอนนี้ลูกหลานและเหลนทุกคนก็เรียกคุณยายว่าอลิสากันหมด เราสนิทกับแม่และยายมากจึงแชร์กับพวกท่านได้ทุกเรื่อง ถ้าเรื่องจริงจังอย่างการทำงานเราจะปรึกษาแม่ ท่านจะให้เหตุผลเราเป็นข้อๆ ได้ แต่ถ้าเป็นคุณยาย คำตอบจากท่านจะเป็นแนว abstract เป็นการถามอย่างหนึ่งตอบอีกอย่างหนึ่ง แต่คำตอบดีมากๆ นะ เช่น ช่วงที่เราเครียดจากการทำงานธีสิส เราก็บอกยายว่า ‘ช่วงนี้หนูไม่มีความสุขเลย’ ยายก็ตอบว่า ‘แค่ได้กินอาหารอร่อยๆ อยากไปเที่ยวก็ได้ไป ได้อยู่กับพ่อแม่ แค่นี้ยังไม่มีความสุขอีกเหรอ’ ”

 

_

คุณยาย ทิพารดี ศิริวงศ์
คุณแม่ ลักขณา ศิริวงศ์
‘พีเจ’ – หริสวรรณ อยู่สุข

_

 

 

GRANDMOTHER

     “ตอนยายเลี้ยงลูก ยายก็เลี้ยงแบบที่คุณยายทวดเลี้ยงมา เลี้ยงแบบสบายๆ ส่วนตัวยายเป็นครู เห็นที่เขาเลี้ยงลูกแบบเข้มงวดมาเยอะ รู้ว่าวิธีแบบนั้นทำให้เด็กกดดัน เราเลยให้อิสระกับเขา แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยแบบปล่อยเลยนะ ต้องอยู่ในกรอบด้วย พอเราให้เขาคิด ให้ตัดสินใจเอง เขาเลยโตมาเป็นคนที่ไม่กลัวใคร อยากได้อะไรก็ต้องทำให้ได้ ชอบแสดงออก ช่างพูด จะเรียกว่าพูดมากก็ได้ (หัวเราะ) พอมาถึงรุ่นพีเจ หลานคนนี้ดื้อกว่าแม่นะ เขาจะมีความมั่นใจ มีความกล้าแบบเด็กสมัยใหม่ เราก็จะคอยดึงไม่ให้เขาเลยเถิดไป ยายจะพาไปวัด สอนให้ทำกับข้าว ให้รู้ว่าแต่ก่อนกว่าจะได้อะไรมาต้องรอคอย ยายจะสอนหลานอยู่เสมอว่า จะทำอะไรให้อยู่ในกรอบด้วย ไม่ใช่ว่าจะไปตามสมัยทุกเรื่อง”

 

MOTHER

     “ตอนเด็กๆ แม่ไม่รู้ว่าวิธีที่ยายเลี้ยงเป็นการเลี้ยงลูกแบบคนรุ่นใหม่ คิดว่าทุกบ้านก็น่าจะคล้ายๆ กัน แต่ปรากฏว่าในชั้นเรียนแม่โดดเด่นที่สุด เป็นหัวหน้ามาตลอดตั้งแต่จำความได้ ยายไม่เคยห้ามในสิ่งที่แม่พูด ชอบก็บอกว่าชอบ ไม่ชอบก็บอกไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะอะไร มันกลายเป็นเรื่องดีที่แม่นำมาเลี้ยงลูกสาวของตัวเองด้วย คุณยายเคยขู่ว่าเดี๋ยวตีนะ แม่จะท้าทายว่าให้ตีเลย แต่สุดท้ายเขาจะบอกว่า ‘แม่ไม่ตีหรอก แม่จะให้คิดเอง’ พอพูดแบบนั้นมาเราจ๋อยกว่าโดนตีอีกนะ การได้มาเป็นแม่คนทำให้แม่เข้าใจยายมากขึ้น เวลามีคนบอกว่า ตอนเห็นลูกแรกเกิดแล้วร้องไห้ แม่ไม่เคยเข้าใจเลยนะ พอมาเจอกับตัวเอง น้ำตาไหลสะอึกสะอื้น จนสามีถามว่า ‘เป็นอะไร เจ็บเหรอ’ เราก็ตอบไปว่า ‘เปล่าหรอก ตื้นตัน’ ”

 

 

DAUGHTER

     “เรารู้สึกเท่มากที่เวลาไปไหนจะมียายกับแม่เดินมาด้วยตลอด และดีใจที่ในตัวเรามีทั้งความยายและความแม่ ในตัวยายและแม่ก็มีความทันสมัยที่ได้มาจากเรา ยายกับแม่เขาเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก เขารู้ว่าตอนนี้สังคมเป็นยังไง แต่ในขณะเดียวกันเขาก็พยายามสอนความเหมาะสมให้กับเรา จนเราติดนิสัยบางอย่างมา พอใกล้ชิดกันมาตั้งแต่เด็ก มันเลยกลายเป็นความห่วงใยที่เป็นธรรมชาติไปแล้ว เวลาไปไหนก็จะโทร.บอก ไปเที่ยวก็ถ่ายรูปส่งให้ และด้วยความที่ทั้งยายและแม่เป็นครู เวลาเขาสอนอะไรเราเสร็จจะถามว่า ‘เข้าใจไหมเนี่ย’ ถ้าบอกว่าเข้าใจ เขาจะถามต่อว่า ‘เข้าใจว่าอะไร’ เราก็ต้องอธิบายแบบสรุปให้เขาฟัง ก่อนคำถามที่เด็ดไปกว่านั้นจะตามมา ‘แล้วจะนำไปปรับใช้กับชีวิตยังไง’ (หัวเราะ)”

 

_

คุณยาย วรรณงาม ศรีเฟื่องฟุ้ง
คุณแม่ ดารานิตย์ ศรีเฟื่องฟุ้ง
‘บัว’ – ปริดา มโนมัยพิบูลย์

_

 

 

GRANDMOTHER

     “ยายแต่งงานตอนอายุ 16 ปี มีลูกสาว 8 คน ลูกชาย 1 คน มีหลาน 23 คน ที่จริงตอนนี้มีเหลน 6 คนแล้ว สมัยเลี้ยงลูก ยายให้นมลูกทุกคนเองจนอายุ 7 เดือน ถึงเริ่มหย่านมแม่ เสื้อผ้าที่ลูกๆ ใส่ ยายก็เป็นคนตัดเย็บให้หมด ทั้งชุดนักเรียน ชุดว่ายน้ำ และเพราะมีลูกสาวหลายคน เวลาจะตัดชุดนอนที ยายจะไปเลือกซื้อผ้า เอาลายเดียวกัน แต่คนละสี จะได้รู้ว่าสีนี้ของใคร คนนี้สีแดง คนนี้สีน้ำเงินนะ ยายเลี้ยงลูกๆ แล้วก็ช่วยสามีทำงานด้วย สมัยที่ขายของก็ช่วยดูกิจการ เรื่องอาหาร ขนมจีนแกงไก่หน่อไม้และต้มพะโล้ถือเป็นทีเด็ดสุดๆ ของยายเลยนะ ไม่มีที่ไหนอร่อยเท่าของยายอีกแล้ว และครอบครัวเรามีธรรมเนียมว่าคุณตาจะต้องอาบน้ำให้หลานทุกคน”

 

MOTHER

     “ครอบครัวเราเห็นชัดเจนมากในเรื่องของเจเนอเรชัน อย่างคุณยายมีลูก 9 คน ต่อมารุ่นแม่มี 3 คน เพราะตอนนั้นรัฐบาลมีนโยบายให้หักภาษีได้แค่สามคนที่จะได้ค่าเลี้ยงดู แม่คิดว่าสามคนก็คงพอแล้ว เพราะเห็นคุณยายมีลูกเยอะแล้ว
ดูเหนื่อย (ยิ้ม) เราก็พยายามให้การศึกษา ให้ทุกอย่างกับเขาให้มากที่สุด ตอนแม่แต่งงาน แม้จะย้ายออกไปอยู่กับทางบ้านสามี แต่ทุกอาทิตย์ก็จะกลับมาหาคุณตาคุณยาย การเลี้ยงดูลูกสาวก็คงเหมือนอย่างที่คุณยายเลี้ยง เพียงแค่ว่า
ถ้าแม่มีอะไรเพิ่มเติมให้เขาได้ก็จะเพิ่มเติม และอาจจะมีเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยบ้าง เมื่อก่อนอ่านนิทานให้ลูกสาวฟัง แต่เดี๋ยวนี้พอลูกสาวเรามีลูก เราก็เปิดวิดีโอให้หลานสาวดูแทน”

 

 

DAUGHTER

     “สิ่งแรกที่คิดตอนรู้ว่าท้องลูกสาวคือ ตายแล้ว เราเคยทำอะไรไม่ดีกับแม่ไว้บ้างไหมนะ (หัวเราะ) แน่นอนว่าบทบาทการเป็นลูกเป็นหลานกับการมาเป็นแม่เองมันย่อมแตกต่างกันมากอยู่แล้ว แต่เราก็มองทั้งคุณแม่และคุณยายเป็นแบบอย่างว่าท่านสอนเรามายังไง เราขอเป็นให้ได้สักครึ่งหนึ่งของที่ท่านทำก็ภูมิใจมากแล้ว พอมีลูกสาว เราก็ตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่ใกล้ท่าน เพราะเราโตมาในครอบครัวใหญ่ เราก็อยากให้ลูกได้รับความอบอุ่น ได้ใกล้คุณตาคุณยายทุกวันตั้งแต่ยังเด็กๆ ก่อนมีลูก เราทำงานเยอะมาก เจ็ดวันต่อสัปดาห์ ทั้งสอนหนังสือ สอนพิเศษ เพราะอยากใช้สิ่งที่เราเรียนมาให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมที่สุด ทำอะไรสารพัด ตั้งแต่ท้องเขาจนคลอด เราลดเรื่องงานออกไปเยอะมาก เพราะเราอยากอยู่ใกล้ลูกให้ได้มากที่สุด”

 


จาก a day BULLETIN LIFE ฉบับ 127
เรื่อง: พิมพ์อร นทกุล, มิ่งขวัญ รัตนคช, นภษร ศรีวิลาศ
ภาพ: มณีนุช บุญเรือง