ตัวอักษรเป็นเครื่องมือในการสร้างคำ แต่ถ้ามองให้ลงลึกไป เราจะพบว่าตัวอักษรที่ถูกใช้ในแต่ละที่มีความแตกต่างกันอยู่ในรายละเอียดการออกแบบ ซึ่งมีส่วนอย่างยิ่งในการเน้นย้ำการสื่อสารผ่านตัวอักษรให้เกิดภาพจำ เกิดแรงดึดดูดใจ หรือทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกคล้อยตาม ในบางครั้งแบบตัวอักษรยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ฉายภาพให้เห็นเรื่องราวทางสังคมในยุคต่างๆ เรื่องราวของตัวอักษรจากหลายสถานที่ต่อจากนี้คือหนึ่งในตัวอย่างที่จะพาผู้อ่านไปพบโลกของการออกแบบตัวอักษร ที่มองผ่านๆ เหมือนธรรมดา แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องตัวอักษรไม่ใช่เรื่องธรรมดาอย่างที่ใครๆ คิด
…
—
ทองหล่อ-เอกมัย
—
ถ้าพูดถึงบริษัทที่ให้บริการออกแบบตัวอักษรครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย เราก็ต้องนึกถึง อนุทิน วงศ์สรรคกร จากบริษัท คัดสรร ดีมาก หัวเรือใหญ่ของสตูดิโอผลิตแบบตัวอักษรที่มีผลงานมากมายหลายรูปแบบในชีวิตประจำวัน เรื่องราวของแบบตัวอักษรมีอะไรที่มากกว่าการเป็นตัวแทนของการสื่อสาร เพราะในแต่ละช่วงกาลเวลา แบบตัวอักษรก็เปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม การพูดคุยกับเขาในครั้งนี้เป็นการฉายภาพของเรื่องราวในอดีตผ่านป้ายในย่านทองหล่อและเอกมัยที่มีแบบตัวอักษรต่างๆ เป็นตัวแทนของเรื่องราวที่หลายคนอาจไม่เคยรู้
1. โรงรับจำนำ เอกมัย
“โรงรับจำนำแห่งนี้มีความน่าสนใจตรงที่ตัวริบบิ้น เพราะตัวริบบิ้นมันกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของโรงรับจำนำ พอเห็นโรงรับจำนำจะเห็นว่ามันจะเป็นฟอนต์แบบนี้ก่อนที่จะมีคอมพิวเตอร์ พอคอมพิวเตอร์เข้ามาหน้าตามันก็เปลี่ยนไป ซึ่งก่อนที่จะมีคอมพิวเตอร์เราใช้วิธีเขียนด้วยมือ อาศัยการเขียนซ้ำ แต่พอมาเป็นป้ายขนาดใหญ่ก็เกิดคำถามว่าต้องใช้วิธีไหนในการเขียน สมัยก่อนถ้าใหญ่มากๆ ก็ใช้กระดาษปรู๊ฟมาแปะต่อกันแล้วก็ร่างขึ้น เหมือนกับทำป้ายขนาดเล็กนั่นแหละ แต่แค่ขนาดมันใหญ่ขึ้น จะเห็นได้ว่าป้ายโรงรับจำนำเอกมัยสภาพยับเยินมาก ซึ่งความยับเยินตรงนี้บ่งบอกว่าไม่เคยมีใครทำอะไรกับมันเลยตั้งแต่เปิดมา แต่หากดูดีๆ จะรู้ว่าตอนนั้นคนทำตั้งใจมาก”
2. ร้านวัฒนาพานิช เอกมัย
“ป้ายเก่าของวัฒนาพานิชเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวที่ใช้ป้ายนีออน ซึ่งเดี๋ยวนี้จะไม่ค่อยเห็นร้านอาหารที่มีป้ายนีออนแล้ว การใช้ป้ายนีออนสมัยก่อนจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ความทันสมัย ทุกคนก็อยากจะมีป้ายนีออนติดไฟสว่างตอนกลางคืน ถ้าอยากจะวุ่นวายหน่อยก็มีหลายสี ถ้ามีหลายสีแล้วยังวุ่นวายไม่พอก็ใส่เอฟเฟ็กต์กะพริบ ยิ่งกะพริบมากอายุก็สั้นลง ร้านอาหารแต่ก่อนเป็น night time entertainment จนถึงแยกหนึ่งที่แบ่งความบันเทิงออกเป็นบันเทิงโลกียะ กับ บันเทิงแบบปลอดภัย ซึ่งร้านอาหารเป็นความบันเทิงแบบปลอดภัย จะสังเกตเห็นว่าร้านอาหารที่เป็นนีออนดัดจะเป็นเหลา ราคาแพง หรือไม่ก็เป็นร้านมีโชว์”
3. ต้นเครื่องทองหล่อ
“ต้นเครื่องเป็นอีกร้านที่น่าสนใจ เพราะผมเห็นว่าร้านนี้อยู่คู่กับซอยทองหล่อมานาน ไม่ว่าถนนจะขยายหรือตึกด้านข้างจะผุดขึ้นมาอย่างไร ต้นเครื่องก็อยู่ตรงนั้นมาตลอด ตั้งแต่สมัยที่ทองหล่อเป็นย่านที่อยู่อาศัย ซึ่งพอมีป้ายร้านนีออนอยู่ในย่านแบบนี้จะโดดเด่นมาก ถ้าสังเกตดีๆ ตรงป้ายจะมีช้อนส้อมในตัวอักษร น.หนู กับสระเอ ตัวหนังสือก็พยายามคราฟต์ และสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ ถ้าคุณดูอักษรตัวสีส้มจะเป็นหัวตัน แต่ถ้าเปิดไฟนีออนจะเป็นหัวกลม ฟอนต์ของมันจะมีจริตซึ่งหายากมากในสมัยนี้ เพราะส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์ทำหมด และการที่มันเป็นนีออนก็บ่งบอกถึงอายุของป้ายด้วย“
4. โลเปร่า
“L’Opera เป็นร้านขายอาหารอิตาเลียน แต่ป้ายหน้าร้านเหมือนโรงหนัง ซึ่งมันอยู่ตรงนั้นมานานมาก ลองไปดูได้จะเห็นว่าสีมันซีดมากๆ แล้วร้านนี้ก็อยู่มานานแล้วนะ ใครๆ ก็รู้จัก เขาน่าจะอยากให้ร้านเป็นลักษณะเหมือนโรงละคร เพราะชื่อร้านก็เกี่ยวข้องกับโรงละครแล้ว”
5. ตึกคาอูลิน
“ตึกคาอูลินก่อตั้งขึ้นในยุค 50’s-60’s ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในยุคนั้น แถวนี้มันไม่มีตึกสูงยี่สิบสามสิบชั้นเหมือนปัจจุบัน สามชั้นถือว่าสูงแล้ว แล้วแถวนี้มันเป็นย่านที่อยู่อาศัยมาก่อน เราจะเห็นว่าป้ายอันนี้มันดูไม่มีอะไรเลย ไฟสปอตไลต์ก็ไม่มี ไฟตัวอักษรนีออนก็ไม่มี เพราะตึกนี้มันไม่ได้มีความสำคัญในเชิงโลกียะ มันเป็นโรงงานยาที่ตั้งอยู่เงียบๆ ไม่ต้องการความโดดเด่น อีกเรื่องหนึ่งคือถ้าสังเกตป้ายในยุคเดียวกันในกรุงเทพฯ จะพบว่าแทบทุกป้ายจะเลือกคำที่มันไม่มีไม้เอก โท ตรี ไม่มีชั้นที่สาม เพราะมันไม่สวย ดูฟูมฟายเกินไป แล้วในอดีตป้ายมันไม่ได้ทำหน้าที่ในเชิงการโฆษณา แต่มันคือความภูมิใจมากกว่า ป้ายนี้ไม่ได้ทำให้ยาขายดีขึ้น แต่เจ้าของตึกเข้าภูมิใจที่ทำธุรกิจจนสร้างตึกสามชั้นได้ มันมีประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นหลงเหลือ”
อนุทิน วงศ์สรรคกร
“ป้ายใหม่ๆ ในยุคหลังๆ ที่มีคอมพิวเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ฟอนต์จะเป็นแบบสำเร็จรูปเสียส่วนใหญ่ ป้ายเก่าๆ อย่างฟอนต์ของร้านวัฒนาพานิช และต้นเครื่อง สมัยก่อนทำยากมาก เพราะทุกบ้านไม่ได้มีคอมพิวเตอร์ คนสมัยก่อนไม่คุ้นเลยนะ ถ้าพูดถึงฟอนต์มาตรฐาน คนทั่วไปจะนึกไม่ออก นึกออกแต่ลายมือตัวเองกับเครื่องพิมพ์ดีด ซึ่งสมัยก่อนคนที่ทำพวกนี้ต้องเป็นศิลปิน มีความคิดสร้างสรรค์มาก เพราะกว่าจะทำออกมาแต่ละป้ายมันมีขั้นตอนกระบวนการที่มากกว่าปัจจุบัน”
…
—
วงเวียน 22
—
การมีสายตาและความคิดที่เต็มไปด้วยความรู้เกี่ยวกับการผลิตตัวอักษรและป้าย ทำให้ ศุภกิจ เฉลิมลาภ นักออกแบบตัวอักษรมากความสามารถ มองเห็นเรื่องราวต่างๆ ผ่านป้ายหน้าร้านมากมายบริเวณวงเวียน 22 เขาสามารถเล่าเรื่องราวในอดีตจากมุมมองเทคนิคของช่างผลิตป้าย ความรุ่งเรืองของยุคสมัย หรือแม้กระทั่งลายลักษณ์อักษรที่เป็นเอกลักษณ์ของช่างฝีมือในอดีต
1. เฮียบเชียง
“มันน่าจะเป็นยุคที่มีอายุพอสมควร ประมาณเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพราะว่ามันเป็นการใช้เครื่องมือสมัยก่อน ซึ่งป้ายก็จะมีหลายภาษา ซึ่งพอเป็นการแกะสลักไม้ก็รู้เลยว่ามันมีมานานแล้ว การปิดด้วยทองแบบนี้จะทำให้ดูมีมูลค่าสูง ซึ่งจะเป็นงานฝีมือทั้งหมด ดังนั้น สมัยก่อนเวลาเห็นป้ายของแต่ละที่เราจะรู้เลยว่าทำมาจากที่ไหน เพราะแต่ละร้านก็มีลายมือที่แตกต่างกัน”
2. กงเฮงจั่น
“ผมคิดว่าเขาแบ่งป้ายเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน ไทย-จีน-อังกฤษ แต่เขาแบ่งโดยลืมดูว่าบริบทของตัวอักษรสั้นยาวมันไม่เท่ากัน พอภาษาจีนที่มีน้อยคำมันก็เลยถูกขยายให้เต็มพื้นที่ คือสมัยก่อนเราจะจัดเลย์เอาต์ไม่ได้ ซึ่งทำให้ไม่เห็นภาพรวมของป้ายก่อน แล้วป้ายนี้มันอาจจะถูกส่งให้ช่างแต่ละคนทำ คือแต่ละภาษาก็อาจจะเป็นช่างคนละคนตามความถนัด ภาษาจีนร้านหนึ่ง ภาษาอังกฤษร้านหนึ่ง”
3. ยั่งยืน
“ช่างทำป้ายอันนี้เขียนไม้เอกใส่ไว้บนไม้หันอากาศเลย อาจเพราะมีพื้นที่จำกัดมากกว่า แต่นั่นเป็นข้อดีของการใช้มือเขียน เพราะคุณสามารถออกแบบตัวอักษรได้อิสระ อยากวางตรงไหนก็ได้ แต่ถ้าใช้คอมพิวเตอร์ทำก็จะไม่มีทางได้ตัวอักษรแบบนี้ ได้การจัดวางแบบนี้ เพราะระบบมันถูกเซตไว้ว่าไม้เอกจะต้องลอยอยู่เหนือไม้หันอากาศขึ้นไปแบบตรงๆ”
4. โฆษณา
“สมัยก่อนนิยมเขียนตัวนี้มาก ตามผนังตึกในสมัยก่อนจะใช้ตัวนี้เยอะ เพราะมันเขียนง่าย ใช้บล็อกตัวอักษร เขาจะทำบล็อกตัว บ. แล้วเขาก็จะกลับบล็อกไปมา คือใช้บล็อกตัวเดียวแต่สเกตช์ได้ทุกตัว เป็นทั้งสระอา กอไก่ ฯลฯ เวลาเขาขึ้นไปตึกสูงๆ เขาก็ไม่ต้องพกอะไรขึ้นไปเยอะ เอาบล็อกตัว บ. ไปอย่างเดียว ซึ่งมันก็ไม่ต้องตีเส้นตั้งเส้นนอนแล้ว เพราะมันสามารถใช้ขนาดมาตรฐานของบล็อกตัว บ. ได้ทั้งหมดเลย”
5. ยูการ์ด
“มันน่าจะถูกออกแบบโดยคนจีน เพราะรูปแบบที่เขาใช้ การจัดวาง และฟอนต์เขาใช้ฟอนต์ Tahoma ซึ่งมันเป็นฟอนต์เพื่อการอ่าน ไม่ใช่เพื่อการทำป้าย เพราะดูแล้วมันไม่ค่อยสวย นั่นก็เพราะว่าคนทำป้ายอาจเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งก็ไม่รู้หรอกว่าฟอนต์นี้มันสวยหรือไม่ อาจจะแค่ให้อ่านได้ เพราะมันขัดกับภาษาจีนในป้ายมาก เพราะมันดูสวยและทันสมัย”
ศุภกิจ เฉลิมลาภ
“ถ้าถามว่าทำไมต้องมีการดีไซน์ตัวอักษร ผมคิดว่ามันเหมือนเวลาเราแต่งตัวเหมือนๆ กัน ใส่เสื้อผ้าสีเดียวกัน ถ้ายูนิฟอร์มที่ทุกคนในประเทศใส่เป็นแบบนั้น มันก็จะหาความโดดเด่น ความแตกต่าง หรือบุคลิกของสินค้าไม่ได้ ผู้บริโภคก็อาจจะเลือกซื้อผิดด้วยซ้ำ อย่างหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ เราก็ไม่ต้องรู้แล้วว่ามันชื่ออะไร บางทีเราเห็นแค่ส่วนเดียว ทั้งเรื่องตัวอักษรและธีมสี เราก็รู้เลยว่ามันเป็นหนังสือพิมพ์อะไร จึงไม่มีใครเปลี่ยนเลยมาตั้งแต่อดีต เพราะถ้าเปลี่ยนตัวอักษรที่เป็นชื่อของหนังสือพิมพ์ไป คนก็อาจจะงงไปเลยก็ได้ ดังนั้น การออกแบบตัวอักษรจึงมีความสำคัญมาก”
…
—
เทเวศร์
—
นอกจากเรื่องประวัติศาสตร์ที่ผนึกเข้ากับตัวอักษรแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราสนใจเมื่อยืนมองดูป้ายนับร้อยนับพันแบบในกรุงเทพมหานครคือ เขาใช้เทคนิคอะไร และคิดอย่างไรถึงใช้ตัวอักษรแบบนี้ ความสงสัยดังกล่าวจึงพาให้เรามาพูดคุยกับนักออกแบบตัวอักษรไทยกลุ่ม ‘เซียมไท้’ ซึ่งประกอบด้วย อ. ไพโรจน์ ธีระประภา, ผศ. อาวิน อินทรังษี และ อ. ธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ ผู้ประดิษฐ์ตัวอักษรคุ้นตาอย่าง ‘ฟ้าทะลายโจร’, ‘มหาวิทยาลัยศิลปากร’ โดยใช้ชุมชนย่านเทเวศร์เป็นห้องเรียนในการค้นหาคำตอบในครั้งนี้
1. ลูกสาว ก. พานิช
“ร้านนี้กับร้านข้างๆ คือ ‘สงวนยอดผัก’ ใช้พู่กันแบนเหมือนกันทั้งคู่ แต่ร้านลูกสาว ก. พานิช จะเขียนแบบขยี้ สะบัดแล้วยก มันก็จะเกิดเป็นปลายแหลมในแต่ละตัวอักษร ซึ่งมันก็สวยดี แต่ก็ต้องระวังในการสื่อสาร เพราะมันอาจจะสับสนได้ระหว่าง ก.ไก่ กับ ถ.ถุง คนออกแบบตัวอักษรจึงต้องบาลานซ์ให้ดีระหว่างลูกเล่นกับการสื่อสาร”
2. หอสมุดแห่งชาติ
“เราคาดว่ามันเป็นตัวอักษรในยุคสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระองค์ท่านเป็นผู้ออกแบบผลงานสำคัญๆ ทั้งสถาปัตยกรรม รวมถึงสิ่งที่เราเรียกว่ากราฟิกในปัจจุบัน ซึ่งตัวอักษรที่ท่านชอบใช้คือลักษณะนี้ เรียกว่าตัวริบบิ้น ใช้เทคนิคปากกาหัวตัด”
3. ห้องอาหารมาเรไทย
“เป็นตัวอักษรประดิษฐ์ อายุร่วม 50 ปี ความเก่ากับวัสดุที่ผ่านกาลเวลาทำให้มันดูสวย ซึ่งตัวอักษรแบบนี้เวลาเรามองนานๆ ความแปลกตามันจะค่อยๆ เผยมากขึ้น ปกตินั่งรถผ่าน มองดูแล้วก็จะเฉยๆ แต่พอหยุดดูเข้าจริงๆ เราจะเห็นประเด็นใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น คำนี้ตอนแรกคิดว่าอ่านว่า มาเร่ไทย จนมาดูใกล้ๆ ถึงรู้ว่าจริงๆ คือ มาเรไทย”
4. จัมโบ้ คัลเล่อร์แล็บ
“เป็นตัวอักษรรุ่นเดียวกับที่ใช้ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ เดลินิวส์ สมัยก่อน เพราะก่อนหน้าที่จะเป็นฟอนต์คอมพิวเตอร์ คนทำหนังสือพิมพ์จะใช้วิธีการเขียน”
5. กุฏิดาวเรือง
“เราสนใจในวิธีคิดของคนทำ ถ้าดูเฉพาะชุดตัวเลข ตัวเลขไทยเป็นตัวที่ดีไซน์ยาก แต่กุฏิดาวเรืองทำออกมาได้ดี มวลของแต่ละตัวมันพอๆ กัน ความสูงของตัวเลขก็เป็นสัดส่วนที่เข้ากันกับตัวอักษรด้านบน หรือแค่การเรียงของแต่ละตัวอักษร ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่ามี grid อยู่ มันจึงดูงาม แบบของตัวอักษรก็ดูละมุนละไม ดูนิ่งสงบ เข้ากับสถานที่ซึ่งเป็นกุฏิวัด”
กลุ่มเซียมไท้
“เทเวศร์เป็นย่านที่มีความผสมผสานอยู่เยอะ มีทั้งไทยและจีน เราจึงเห็นป้ายของร้านค้าที่มีตัวอักษรไทยแบบหัวนกคู่กับตัวอักษรจีน หรือป้ายตัวอักษรไทยที่ทับศัพท์มาจากภาษาจีน โดยจุดเด่นของย่านนี้คือลีลาตัวอักษรประดิษฐ์จะมีหลากหลายกว่าแถวเยาวราช เช่น ร้านไทยรัตน์ เขาก็ใส่ลายกนกเข้าไปในตัวอักษรเพื่อแสดงความเป็นไทย เพราะทำกิจการผลิตตราให้สถาบันราชการต่างๆ หรือร้านสมใจนึกก็จะเป็นตัวแทนของป้ายที่มีหลายคูหาในสมัยก่อน เจ้าของร้านจะชอบขยายตัวอักษรให้ใหญ่ยาวครอบคลุมทุกคูหา เพราะเขาเชื่อว่าชื่อร้านที่ดูกว้างใหญ่มันจะส่งเสริมให้กิจการดูมั่นคงเจริญรุ่งเรือง ด้วยความที่เราเป็นนักออกแบบจึงอาจตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ลึกๆ ของแต่ละป้ายไม่ได้ สิ่งที่เราทำคือการเฝ้ามองและศึกษาหลักฐานการที่หลงเหลืออยู่เพื่อที่จะต่อยอดต่อไป”