ป๋วย อึ๊งภากรณ์

‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ย้อนอ่านความฝันของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์

“เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ” —ป๋วย อึ๊งภากรณ์

        ข้อความเปิดของบทความนี้ เป็นข้อความที่ถูกแชร์กันมากตั้งแต่ปีที่ผ่านมาที่ฝุ่นควัน PM 2.5 เริ่มหนักหนา และยังคงถูกยกมากล่าวถึงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปีนี้ที่เต็มไปด้วยด้วยสารพัดข่าว (ร้าย) ทั้งภายนอกและภายในประเทศ ฝุ่นควันไม่คลาย ยังมีโรคร้าย ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ไหนจะการเมืองที่แปดเปื้อน ยิ่งเปิดโปงเท่าไหร่ ยิ่งไม่เข้าใจว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

        ถ้อยคำจากบทความ ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ที่เข้ากับสถานการณ์ร่วมยุคสมัย ใครจะไปคิดว่าข้อความที่เขียนขึ้นมาตั้งแต่ปี 2516 โดย ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ที่สะท้อนความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย จะกลายเป็นหมุดหมายให้ผู้ทำงานเชิงนโยบายต่างๆ ได้ตั้งคำถามว่ารัฐควรจะมีบทบาทในการสร้างรากฐานชีวิตที่ดีให้แก่ผู้คนอย่างไร  

        เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของป๋วยครบรอบ 104 ปี ในวันที่ 9 มีนาคม นี้ a day BULLETIN จึงอยากชวนอ่านบทความชิ้นอมตะนี้อีกครั้ง เพื่อตั้งคำถามว่าเราจะสร้างสังคมที่มี welfare ในความหมายของ well และ fair หรือ สังคมที่ ‘ดี’ และ ‘ยุติธรรม’ ได้อย่างไร เพื่อที่เราจะได้ใช้ชีวิตกันอย่างมีคุณภาพตั้งแต่วันออกจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

 

“ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียนจะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมมีสติปัญญาเรียนชั้นสูงๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวยหรือจนจะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น”

 

        ป๋วยเป็นบุตรของนายซา แซ่อึ๊ง และ นางเซาะเช็ง แซ่เตียว ผู้หญิงที่ป๋วยกล่าวถึงในงานเขียน ‘ผู้หญิงในชีวิตของผม-แม่’ ว่ามีอิทธิพลต่อป๋วยเป็นอย่างมาก ครั้งหนึ่งป๋วยเคยพูดถึงคุณธรรมของแม่ที่เป็นแบบอย่างให้ป๋วยในเรื่องความซื่อสัตย์ ประหยัดอดออม ขยัน อดทนกับการเป็นแม่เลี้ยงลูกทั้ง 7 ด้วยตัวคนเดียวหลังเตี่ยเสียชีวิตไป แต่แม้จะยากจน ลำบากจนเกือบกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย แต่สุดท้ายนางเซาะเช็งก็ตัดสินใจสู้ต่อไป ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะส่งเสียให้ป๋วยเรียนอัสสัมชัญฯ จนจบให้ได้ แม้จะเป็นโรงเรียนที่แพงที่สุดในเวลานั้น แต่นางเซาะเช็งก็ยืนยันว่าลูกๆ ต้องได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด การเติบโตพร้อมกับรับรู้ถึงความลำบากของแม่ในช่วงนี้ทำให้ป๋วยได้เห็นช่องว่างความแตกต่างของชนชั้น และทำให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาในฐานะเครื่องมือพัฒนาทรัพยากรบุคคลตั้งแต่ยังเด็ก

        แม้ประเทศไทยจะมีนโยบาย ‘Education for All’ เด็กทุกคนสามารถเรียนฟรีได้ 15 ปี แต่ทั้งข้อมูลและประสบการณ์ เราต่างรู้ดีว่าการศึกษานั้นยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งค่าเครื่องแบบ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าทัศนศึกษา ค่าเรียนพิเศษ ฯลฯ ยังไม่นับถึงคุณภาพที่ต่างกันไปในแต่ละโรงเรียน ต่างพื้นที่กัน ที่ทำให้เกิดระบบการแข่งขันต่างๆ ตามมา และส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำที่ไม่ใช่เรื่อง ‘การเข้าถึง’ (access to education) อีกต่อไป หากเป็นความเหลื่อมล้ำจากคุณภาพการศึกษา (quality education) ที่ไม่เท่าเทียม

        ประเทศเดนมาร์กเป็นหนึ่งประเทศที่ได้รับความชื่นชมในด้านการศึกษา ‘อาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด’ เคยเล่าถึงประสบการณ์พาลูกสาวเข้าเรียนที่เดนมาร์กไว้ว่า เมื่อทำเรื่องขอ resident permit เสร็จก็ได้รับเช็คสวัสดิการสำหรับการเลี้ยงดูเด็กมาให้ เพื่อใช้ในการเสริมพัฒนาการ ส่งเสริมการเรียนรู้ให้ลูก ให้มีรากฐานที่พร้อมต่อการเรียนเท่าเทียมกัน อีกทั้งเจ้าหน้าที่เทศบาลยังรวมรวมรายชื่อโรงเรียนที่มีที่ว่างในละแวกบ้านมาให้ โดยกำชับว่าไม่ต้องหา ไม่ต้องห่วงว่าจะเข้าโรงเรียนไหน เพราะทุกโรงเรียนมีคุณภาพเหมือนกันหมด

        และแม้ใครต่อใครจะส่ายหัวแล้วบอกว่า แหงละ เดนมาร์กทำเช่นนั้นได้ แต่ค่าครองชีพและอัตราภาษีที่ต้องจ่ายก็สูงเป็นเท่าตัวเช่นกัน อันที่จริงคำถามที่ถูกต้องอาจไม่ใช่การเสียภาษีเท่าไร แต่คำถามที่ถูกต้องนั้นคือ เราจะทำอย่างไรให้เกิดการกระจายภาษีที่เป็นธรรม และภาษีที่เก็บได้นั้นถูกนำไปใช้เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คน ประชาชนผู้จ่ายภาษีจริงๆ

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

“เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย ทำให้ได้รับความพอใจ ว่าตนได้ทำงานเป็นประโยชน์ต่อสังคม”

“ประเทศของผมควรจะมีความสัมพันธ์อันชอบธรรมและเป็นประโยชน์กับโลกภายนอก ผมจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความคิดและวิชาของมนุษย์ทั้งโลก และประเทศของผมจะได้มีโอกาสรับเงินทุนจากต่างประเทศมาใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม”

 

        หน้าที่การงานของป๋วยนั้นไม่จำกัดอยู่กับตำแหน่งใดตำแหน่งเดียว หากปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ที่หน้าที่ความสามารถของตนจะเป็นประโยชน์สูงสุดเสมอ ตั้งแต่งานแรกในฐานะครูผู้ช่วยที่อัสสัมชัญ ที่ป๋วยทำหน้าที่สอนด้วยเงินเดือน 40 บาทในสมัยนั้นอยู่นานหลายปี ควบคู่ไปกับการเรียนที่ธรรมศาสตร์ ก่อนจะสอบได้ทุนและย้ายไปเรียนที่อังกฤษ จบปริญญาตรีด้วยเกียรนิยมอันดับหนึ่ง จนได้ทุนศึกษาต่อปริญญาเอกโดยทันที โดยไม่ต้องผ่านปริญญาโท

        แต่แม้ป๋วยจะไม่ต้องกลับมารับราชการ สามารถเข้าทำงานกับบริษัทต่างชาติที่ไหนก็ได้ แต่ป๋วยกลับปฏิเสธและกลับมารับราชการในกระทรวงการคลังตามเดิม ด้วยสำนึกว่าตนนั้น “ได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลไทย คือเงินของชาวนา ชาวเมืองไทย ไปเมืองนอกแล้วผูกพันใจว่าจะรับราชการไทยด้วย” และตัดสินใจเข้ารับราชการ คู่ไปกับการเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัย

        เมื่อ ดร.ป๋วย กลับจากอังกฤษ ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงเวลา 12 ปีที่ป๋วยดำรงตำแหน่งนั้นเป็นช่วงที่ถือได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยปลอดจากอิทธิพลการเมือง เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ เงินบาทได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งไทยและต่างประเทศ ป๋วยริเริ่มจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตร และออกกฎระเบียบต่างๆที่ยังเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

        แม้ป๋วยจะเป็นผู้ว่าการธนาคารฯ ที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด แต่งานที่ป๋วยสนใจที่แท้จริงกลับเป็นงานด้านการศึกษา ดังจะเห็นได้ว่าแม้จะมีคนเสนอตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ทั้งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังก็ดี หรือเป็นนายกรัฐมนตรีก็ดี แต่ป๋วยก็ปฏิเสธอยู่เสมอ เพื่อพิสูจน์เจตนารมณ์เมื่อครั้งเป็นเสรีไทยว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ ลาภ ยศส่วนตน ในทางตรงกันข้าม เมื่อถูกทาบทามให้รับตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเปิดใหม่ที่ไม่มีใครรู้จักในสมัยนั้น ป๋วยกลับตอบรับทันที แม้จะต้องรับตำแหน่งควบกับการเป็นผู้ว่าฯต่อไปเพราะถูกยับยั้งไม่ให้ลาออก ซึ่งในสมัยนั้นที่หากบุคคลใดเป็นข้าราชการได้รับเงินเดือนสองตำแหน่งจะต้องเลือกรับเงินเดือนเต็มเพียงแห่งเดียว และอีกที่หนึ่งเพียงครึ่ง ซึ่งแม้จะทำงานหนักเท่ากันสองแห่ง ป๋วยกลับเลือกรับเงินคณบดีเต็ม 8,000 บาท และรับเงินเดือนตำแหน่งผู้ว่าฯครึ่งหนึ่ง หนึ่งในการกระทำที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการศึกษาและการพัฒนาเป็นงานสำคัญของป๋วย แม้นั่นจะหมายถึงว่าป๋วยจะต้องทำงานหนักกว่าเดิม รายได้น้อยลงก็ตาม

        และถึงแม้บทบาทของป๋วยในด้านการศึกษาทั้งการเป็นคณบดีคนแรกของคณะเศรษฐศาสตร์ และเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลาต่อมา จะไม่ยาวนานเท่าตำแหน่งผู้ว่าฯ ด้วยสถานการณ์การเมืองที่ออกไล่ล่าฝ่าย ‘ซ้าย’ ในไทยในขณะนั้น บีบบังคับจนป๋วยต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ แต่ป๋วยก็ได้วางรากฐานสำคัญให้ทั้งคณะฯและมหาวิทยาลัยฯ ทั้งการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ หาทุนให้อาจารย์ไปศึกษาต่อต่างประเทศ สร้างกลไกลประชาธิปไตยผ่านกรรมการต่างๆ การสร้างห้องสมุด การขยายตัวจากท่าพระจันทร์ไปรังสิตเพื่อให้มหาวิทยาลัยเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น

        หน้าที่การงานของป๋วยที่เป็นแบบอย่างให้ผู้ได้ร่วมงานด้วยเสมอมา เป็นตัวอย่างให้กับคนรุ่นหลังต่อๆไป ยืนยัน ย้ำเตือนว่า คุณธรรมของบุคคลเพียงคนเดียวเท่านั้นก็สั่นสะเทือนได้ทั้งคนรอบตัว และสังคมวงกว้าง และความดี ความจริง ความงามเท่านั้นที่จะเป็นอมตะไร้กาลเวลา หาใช่ลาภ ยศ เงินตรา อำนาจที่ผู้มักมากพยายามกอบโกยให้ได้ในชีวิตนี้ไม่

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

“ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำบริสุทธิ์สำหรับดื่ม”

“เรื่องอะไรที่ผมทำเองไม่ได้ หรือได้แต่ไม่ดี ผมก็จะขอความร่วมมือกับเพื่อนฝูง ในรูปสหกรณ์ หรือสโมสร หรือสหภาพ จะได้ช่วยซึ่งกันและกัน”

 

         แม้จะทำงานหนักทั้งด้านเศรษฐกิจและการศึกษา แต่ป๋วยตระหนักอยู่เสมอว่าคุณภาพชีวิตโดยรวมของประเทศจะไม่สามารถดีขึ้นได้หากผู้ยากไร้ในประเทศยังไม่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และความเหลื่อมล้ำจากทั้งเศรษฐกิจและการศึกษาจะมีแต่สร้างปัญหาให้สังคมในระยะยาว งานด้านพัฒนาชนบทจึงเป็นอีกภารกิจสำคัญของป๋วยเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของทั้งปัจเจกชนและสังคมดีขึ้นไปได้พร้อมๆกัน

        งานด้านการพัฒนาของป๋วยเริ่มต้นจากการก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ตามมาด้วยการก่อตั้งสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร (หรือ ‘วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ในปัจจุบัน) ที่เป็นแบบอย่างของค่ายอาสาพัฒนาชนบทตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จนถึงทุกวันนี้ ทั้งมูลนิธิฯ และโครงการบัณฑิตอาสาฯ นับว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างนักพัฒนาจำนวนมากที่ทำงานพัฒนาด้วยหลักการออกไปอยู่ เรียนรู้กับผู้คน สัมผัสปัญหาที่แท้จริง และประสานให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน ตามที่ป๋วยเคยแนะแนวทางไว้

        ปัจจุบันงานพัฒนาของป๋วยนั้นได้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง ‘อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี’ (สวนป๋วย) โดยวัตถุประสงค์การใช้งาน รวมถึงกระบวนการออกแบบล้วนสะท้อนแนวทางการพัฒนาที่มีป๋วยเป็นแรงบันดาลใจ ตั้งแต่อาคารที่เป็นรูปตัว H ที่มาจาก Humanity ให้ระลึกถึงความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานของมนุษยชาติที่เกื้อกูล พึ่งพาอาศัยกัน ถึงจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆเพื่อประโยชน์ร่วมกันได้ รวมทั้งลักษณะสวนที่เป็น ‘พูนดิน’ ตามชื่อของ ‘ป๋วย’ ที่แปลตรงตัวได้ว่า บำรุง หล่อเลี้ยง ซึ่งพื้นที่นี้ได้ถูกใช้สำหรับโครงการ ‘ธรรมศาสตร์ทำนา ปลูกผัก บนหลังคารอยฟ้า’ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้เกิดการเรียนรู้อย่างบูรณาการด้วยหลายศาสตร์ เช่น นวัตกรรมการเกษตร พลังงานทางเลือก การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะ ฯลฯ บนแนวคิดการบริหารจัดการทั้งระบบอย่างครบวงจร สอดคล้องกับชีวิต สิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งจะก่อประโยชน์ทั้งทางด้านความมั่นคงทางอาหาร อากาศสะอาด น้ำหมุนเวียน

        ตัวอย่างจากสวนสาธารณะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แรงบันดาลใจจากป๋วยที่ทำให้เห็นว่างานพัฒนาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรืออยู่ในชนบท และเป็นงานที่สำคัญถึงขั้นต่อชีวิต ที่หากไม่มีความรู้ ความสามารถในการจัดการที่ดีแล้ว เราอาจจะต้อง “ตายแบบโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามการเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำ หรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ”

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

“ผมจำเป็นต้องมีเวลาว่าง สำหรับเพลิดเพลินกับครอบครัว มีสวนสาธารณะที่เขียวชอุ่ม สามารถมีบทบาทและชมศิลปวรรณคดี นาฏศิลป์ ดนตรี วัฒนธรรมต่างๆ เที่ยวงานวัด งานลอยกระทง งานนักขัตฤกษ์ งานกุศล อะไรได้ พอสมควร”

 

        ในนอร์เวย์ มีปรัชญาหนึ่งที่เรียกว่า ‘Friluftsliv’ แปลตรงตัวว่า ฟรี-อากาศ-ชีวิต ปรัชญาการใช้ชีวิตในธรรมชาติที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาวสแกนดิเนเวียนมายาวนาน จะเห็นได้จากชีวิตประจำวันของคนนอร์เวย์ที่หากว่างเมื่อไหร่เป็นต้องออกไปแคมปิ้ง เล่นสกี เดินป่า ฯลฯ วิถีชีวิตที่ได้กลายมาเป็นกฎหมาย The Outdoor Recreation Act of 1957 หรือที่รู้จักกันว่า The Right to Roam ตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ‘Allemannsretten’ (The Everyman’s Right) สิทธิของทุกคนในการเข้าถึงธรรมชาติได้อย่างเสรี ภายใต้เงื่อนไขไม่รบกวน ไม่ทำลายธรรมชาติ หรือแม้แต่กิจกรรมที่ผู้คนรอคอยในแต่ละปีอย่าง ‘Tourist in Your Own City’ ในเมืองออสโล ที่เปิดให้ผู้คนเป็นนักท่องเที่ยวในเมืองตัวเอง เข้าพิพิธภัณฑ์ สถานที่สำคัญต่างๆในเมืองได้ฟรี อาจดูเหมือนเป็นกฎหมายยิบย่อย เป็นกิจกรรมพักผ่อนที่เป็นไปเพื่อความรื่นรมย์ บันเทิงใจ หากแท้จริงนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้นอร์เวย์เป็นประเทศที่ติดอันดับต้นๆ ที่ผู้คนมีความสุขที่สุดในโลกต่อเนื่องกันหลายปี

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

        ป๋วยเองก็ดูจะเห็นความสำคัญของเวลาว่างเช่นกัน แม้ภารกิจการงานจะรัดตัว แต่เป็นที่รู้กันว่าป๋วยนั้นโปรดปรานดนตรี ศิลปะ และการพักผ่อนสังสรรค์ เป็นที่จดจำกันในเพื่อนร่วมงานว่าป๋วยมักชอบเป่าขลุ่ย ฟังเพลงไทยเดิมในห้องทำงาน สนับสนุนให้มีการจัดตั้งวงดนตรีไทยในแบงก์ชาติ หรือแม้แต่ชวนเพื่อนร่วมงานสังสรรค์ จิบบรั่นดี ดื่มเบียร์เย็นๆ หลังเลิกงานอยู่เสมอ

        สุนทรียะในการใช้ชีวิตนั้นดูจะไม่ใช่เพื่อการพักผ่อนเสียอย่างเดียวสำหรับป๋วย หากความมีสุนทรียะยังช่วยให้ป๋วยสามารถสื่อสารเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายด้วยเช่นกัน เห็นได้จากเวลาป๋วยจะพากษ์วิจารณ์สิ่งใด แทนที่จะสื่อสารไปตรงๆ ป๋วยมักใช้วรรณศิลป์ในการเขียนทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรองในการกล่าวถึงประเด็นนั้นๆ การใช้ศิลปะเข้ามาช่วยสื่อสารที่ทำให้เนื้อหาใจความนั้นไม่ฟังดูแข็งกร้าว และเป็นตัวอย่างให้เห็นหนึ่งในแนวทางการทำงานด้วยสันติวิธีตามที่ป๋วยเชื่อเสมอมา

        เช่น การคัดค้านรัฐประหารโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ป๋วยเลือกใช้วิธีเขียนจดหมายในนาม ‘นายเข้ม เย็นยิ่ง ถึง นายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ’ ซึ่งรู้กันว่า ‘นายทำนุ’ นั้นคือจอมพลถนอมฯ และ ‘นายเข้ม’ นั้นคือป๋วยนั่นเอง ความสามารถในทางวรรณศิลป์ของป๋วยช่วยให้ถ้อยคำมีความไม่กระด้าง ดึงดูดให้ผู้คนทั่วไปรับรู้ถึงใจความนั้นได้ และยังเป็นงานเขียนที่มีคุณค่าจนถึงปัจจุบัน รวมถึงงานเขียนชิ้นนี้ ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ และงานเขียนชิ้นอื่นๆ ของป๋วยที่ปรากฏการใช้วรรณศิลป์มาช่วยในการสื่อสารเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายอยู่เสมอ

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

“เมื่อตายแล้วยังมีสมบัติเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใช้ในชีวิตของเธอ

ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้เลี้ยงให้โต แต่ลูกที่โตแล้วไม่ให้

นอกนั้นรัฐบาลควรเก็บไปหมด จะได้ใช้เป็นประโยชน์ในการบำรุงชีวิตของคนอื่นๆ บ้าง

ตายแล้วเผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน

และอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไปนี่แหละคือความหมายแห่งชีวิต

นี่แหละคือการพัฒนาที่ควรให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน”

 

         ในขณะที่ลี้ภัยอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ ป๋วยล้มป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ส่งผลให้ป๋วยไม่สามารถพูดสื่อสารได้อย่างปกติเป็นเวลานานถึง 22 ปีก่อนจะจากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2542 ในบ้านพักชานกรุงลอนดอน โดยที่พิธีศพของป๋วยนั้นถูกจัดขึ้นที่อังกฤษอย่างเรียบง่ายตามที่ป๋วยเคยแจ้งความต้องการไว้

        จวบจนเมื่อพิธีศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถึงได้มีการนำอัฐิป๋วยกลับมาที่ประเทศไทย ส่วนทรัพย์สินต่างๆ สิ่งของส่วนตัวของป๋วยอย่างไปป์ ไม้เท้า ฯลฯ นั้นมาร์เกรท ภรรยาได้นำไปทิ้งด้วยเห็นว่าป๋วยนั้นเป็นคนธรรมดา ไม่ต้องเก็บสิ่งของไว้ให้ใครบูชาหรืออะไร จะเหลือไว้ก็เพียงไม่กี่สิ่งเช่นเหรียญพระราชทานจากพระเจ้าจอร์จที่ 6 ที่ระลึกถึงครั้งเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ที่จอน อึ๊งภากรณ์ ลูกชายเป็นผู้เก็บไว้ โดยเล่าว่า ไม่ได้เก็บไว้เพื่อให้ผู้คนมาชื่นชม ซาบซึ้งไปกับวัตถุรางวัล แต่อยากให้เป็นสิ่งเชิญชวนให้ผู้พบเห็นได้กลับไปย้อนอ่านชีวิตของป๋วยให้คอยเตือนใจถึงว่าชีวิตที่ตั้งอยู่บนความจริง ความงาม ความดี นั้นเป็นเช่นไร

        เช่นเดียวกันกับบทความย้อนอ่านชีวิต และความฝันของป๋วยถึงคุณภาพชีวิตที่ดีครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อยกย่องเชิดชูใครในความเป็นตัวบุคคล หากเพื่อทบทวนแนวทางการใช้ชีวิตนี้ให้เป็นชีวิตที่ดี งดงาม ตามความจริง ตั้งแต่ออกจากครรภ์มารดาจนถึงวันกลับสู่เชิงตะกอน

        และเพื่อร่วมสร้างสังคมที่ทั้ง Well และ Fair ด้วยกัน

        ไม่ว่าฝันนั้นจะอีกนานเท่าไรก็ตาม

 


หมายเหตุ:

        งานเขียน คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เดิมเป็นภาษาอังกฤษ ถูกนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกไกล (Southeast Asian Development Advisory Group – SEADAG) เมื่อเดือนตุลาคม 2516

        และถูกนำมาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 2516 ในชื่อ The Quality of Life of a South East Asian : A Chronical of Hope from Womb to Tomb (ต่อมารู้จักกันในชื่อ From Womb to Tomb)

        ภายหลังถูกแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

ขอบคุณรูปภาพและต้นฉบับงานเขียนของป๋วยจาก หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ http://puey-ungpakorn.org/index.php/archives และ www.puey.in.th 

อ้างอิง:

  • เพจ 100ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 
  • เพจ สวนป๋วย PUEY Park for the people 
  • หนังสือ “ฟัง คิด ถาม เรื่องป๋วย: รวมบทสัมภาษณ์จากสารคดี “ป๋วย อึ๊งภากรณ์”: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” (2016) จัดทำโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • บทความ “101 ปี – 101 เรื่อง – ป๋วย 101” โดยกษิดิศ อนันทนาธร (2017) จาก www.the101.world/101-stories-puey-101
  • บทความ “เรียนที่ไหนก็เก่งได้เท่ากัน คุยเรื่องการศึกษาเดนมาร์ก กับอ.เดชรัต สุขกำเนิด” (2018) จาก https://thematter.co/social/denmark-welfare-state-education/51665
  • บทความ “The Right to Roam: พเนจรในนอร์เวย์ด้วยสิทธิแห่งการเข้าถึงธรรมชาติ” (2019) โดย วิรดา แซ่ลิ้ม จาก https://gmlive.com/right-to-roam
  • บทความ “สวนป๋วย: สวนสวยด้วยความยั่งยืน” (2020) เขียนโดย กนกพร โชคจรัสกุล จาก https://judprakai.bangkokbiznews.com/green/1536