ถ้ามองเมืองใหญ่จากมุมสูง เราจะเห็นความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งของชีวิตที่ดำรงอยู่กับภารกิจต่างๆ จากเช้าจรดค่ำ เมืองใหญ่ไม่เคยหลับ เป็นความจริงมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ท่ามกลางกระแสธารแห่งความเคลื่อนไหวของผู้คนในเมืองใหญ่ ยังมีอีกหลายชีวิตที่เลือกจะทิ้งเมืองอันเป็นแหล่งรวมความฝันและการต่อสู้อย่างเข้มข้นไปสู่ชีวิตที่เรียบง่ายในชนบท ยิ่งเดินทางออกไปไกลมากเท่าไหร่ พวกเขายิ่งหลงรักเมืองเล็กๆ มากเสียจนไม่อยากกลับไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อีกเลย ถ้าจะมีคำถามจากคนเมืองถึงคนทิ้งเมืองว่า เพราะอะไรชนบทถึงน่าดึงดูดใจกว่าเมืองที่เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง เรื่องราวของอดีตคนเมือง 4 คน ที่เลือกใช้ชีวิตในต่างจังหวัดจะให้คำตอบนี้กับคุณ
สู่ความสุขและชีวิตใหม่ที่ปากช่อง
เมื่อต้องเผชิญกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิต เพราะโรคร้ายที่มาเยือนโดยไม่ทันตั้งตัว ‘ต้องการ’ – วลัยกร สมรรถกร สาวนักเขียน นักวาดภาพประกอบ จึงตัดสินใจละทิ้งชีวิตที่สนุกสนานมาตั้งแต่เกิดในกรุงเทพฯ เพื่อแลกกับสุขภาพที่ดีกว่า แล้วเธอก็ค้นพบว่าความสุขง่ายๆ นั้นอยู่แค่ในบ้านของเธอนั่นเอง
ครั้งหนึ่งในกรุงเทพฯ
“คือเราก็ใช้ชีวิตปกติตามแบบคนเมืองนะ ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากคนทั่วไป ทำงานวาดภาพ เขียนหนังสือ อยู่บ้านในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง แต่หลังจากที่เราป่วยเป็นมะเร็งที่แขน แล้วต้องรับการรักษา เราถึงรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่มันไม่ดีต่อสุขภาพเลย เพราะว่าเมืองมันไม่ได้เอื้อให้ใช้ชีวิตแบบธรรมชาติ เหมือนว่าทุกอย่างต้องใช้เงินซื้อ คนถึงต้องทำมาหากิน ต้องหาเงิน ดึกดื่นแค่ไหน เสียสุขภาพแค่ไหนก็ไม่เป็นไร เพื่อให้เงินมันเข้ามา”
จุดเปลี่ยนสำคัญ
“หลังจากผ่าตัดรักษาตัวและได้เข้าคอร์สเรื่องธรรมชาติบำบัด เราก็พยายามใช้ชีวิตออร์แกนิกตามที่เราได้ศึกษามา แล้วไม่รู้ทำไมอยู่ๆ ก็คิดขึ้นมาแล้วพูดกับคุณแม่หน้าทีวีว่า ‘แม่ เราขายบ้านแล้วย้ายไปอยู่ปากช่องกันไหม’ คุณแม่คิดสัก 5 วินาที แล้วบอกว่า ‘เอาสิ’ คือมันเป็นความบังเอิญที่เราแม่ลูกได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้พอดี ทุกอย่างเลยกลายเป็นการตัดสินใจเรื่องใหญ่ที่ง่ายมาก พอตัดสินใจปุ๊บ ประกาศขายบ้านปั๊บ ขับรถมาหาซื้อที่กันทุกอาทิตย์ พอขายบ้านได้ก็ย้ายมาเช่าบ้านอยู่ที่ปากช่องประมาณ 6 เดือน ระหว่างที่รอสร้างบ้านของเรา”
สู่ชีวิตใหม่ที่ปากช่อง
“ปากช่องอากาศดีกว่ากรุงเทพฯ แน่นอน ส่วนประเด็นเรื่องสุขภาพ เรื่องอาหาร ที่ต่างจังหวัดเราจะหาของกินที่เป็นธรรมชาติได้ง่ายกว่า อย่างไปตลาดก็จะมีผักพื้นบ้านให้ได้ซื้อ แล้วผักพวกนี้ไม่มียาฆ่าแมลงเพราะขึ้นเองตามฤดู แค่นี้ก็ต่างจากกรุงเทพฯ แล้ว คือขนาดเราแยกตัวออกมาอยู่นอกเมืองแค่นิดหน่อย เพราะปากช่องก็ไม่ได้ไกลจากกรุงเทพฯ ไม่ได้ทำเกษตรด้วยตัวเองอะไรมากมาย เรายังรู้สึกว่าเราพึ่งตัวเองได้เยอะขึ้นมาก เงินก็ใช้น้อยลง อยู่บ้านหลายวันไม่ต้องออกไปตลาดก็อยู่ได้ มีข้าวของอะไรในตู้เย็นก็หยิบมาทำกิน อยากกินผัดกะเพรา เรามีเห็ดอยู่ในตู้เย็น เด็ดใบกะเพรา เด็ดพริกที่ปลูกเอง ก็ทำได้แล้ว”
นิยามความสุขของชีวิต
“ถ้าอยู่กรุงเทพฯ ตื่นมา มีธุระ ก็ต้องรีบจัดการตัวเอง ออกไปเจอรถติด วันหนึ่งทำได้ 2 เรื่องก็ถือว่าเก่งแล้ว แต่อยู่ที่นี่ตื่นมาก็ทำกับข้าวเอง รดน้ำต้นไม้ เวลาเราทำงานก็ใช้สีจากดอกไม้ ก็ไปเดินสำรวจว่ามีดอกไม้อะไร ผลไม้อะไรที่ใช้ได้บ้าง ก็นั่งทำงานไป พอใกล้กลางวันก็คิดว่าจะทำอะไรกิน ต่างกับตอนอยู่กรุงเทพฯ มาก คือเรามีความสุขกับการอยู่บ้าน ไม่ออกไปไหนสักอาทิตย์ก็ไม่รู้สึกอะไร ไม่เบื่อ เพราะว่าเราก็ยังเข้ากรุงเทพฯ อยู่เรื่อยๆ 2-3 อาทิตย์ก็ไปที ไปหาเพื่อน ไปเที่ยว ไปคุยงาน แถมอยู่ที่นี่เพื่อนก็มาหาบ่อยๆ”
ไปกรุงเทพฯ ก็เหมือนไปเยี่ยมบ้านที่เคยอยู่
เพราะกรุงเทพฯ ในความคิดของผู้คนคือแหล่งรวมของความฝัน วิรัตน์ โตอารีย์มิตร นักเขียนและคอลัมนิสต์อิสระ เจ้าของร้านหนังสือ Booktopia จึงต้องเดินทางไปค้นหาฝันของตัวเอง และความฝันที่แรงกล้าก็สร้างความสำเร็จให้กับชีวิตในเมืองใหญ่ของเขา แต่มันเป็นแค่ช่วงหนึ่งของชีวิตเท่านั้น เพราะในที่สุดเขาก็พบว่าความฝันเหล่านั้นไม่ใช่ทุกสิ่ง
ครั้งหนึ่งในกรุงเทพฯ
“ผมเคยทำงานเป็นกอง บ.ก., เป็น บ.ก. นิตยสาร ทำงานหนักทีเดียว แต่สนุก เลิกงานก็ดื่มสังสรรค์กับพี่ๆ เพื่อนๆ พลังล้นเหลือ ได้สัมภาษณ์คนที่อยากสัมภาษณ์ ได้ทำงานที่อยากทำ มีรายได้พอประมาณที่จะหากิจกรรมที่เป็นไลฟ์สไตล์ของชีวิต ถือเป็นช่วงเวลาที่สนุกกับงานของวัยหนุ่ม แต่นานวันเข้าเราก็พบว่าชีวิตเหมือนถูกสาป ต้องออกจากบ้านทุกวัน ตอนเย็นรถติด ชีวิตก็อยู่บนถนน ไม่รู้จะถึงที่พักกี่โมง เป็นวัฏจักรที่ไม่จบไม่สิ้น อาจจะดีสำหรับหนุ่มสาวหรือคนที่ชอบชีวิตในเมืองใหญ่ แต่สำหรับเราในที่สุดมันก็ไม่ใช่”
จุดเปลี่ยนสำคัญ
“ตอนอยู่กรุงเทพฯ เราลืมเรื่องรากของตัวเองไปเลย เพราะมัวแต่อยู่กับความฝันของการทำแมกกาซีน การทำหนังสือ ซึ่งเป็นความฝันส่วนตัวของเรา ทำงานจนไม่ได้กลับบ้านเป็นปี ทั้งๆ ที่อุทัยธานีไม่ได้ไกลจากกรุงเทพฯ ต้องเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ และไม่รู้ว่าจะต้องเช่าไปจนถึงเมื่อไหร่ ในใจตอนนั้นก็คิดถึงครอบครัว อยากกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด เพราะงานเขียนหนังสือมันทำที่ไหนก็ได้ หลังถอยห่างจากงานนิตยสาร ก็มาเป็นนักเขียนและคอลัมนิสต์ฟรีแลนซ์เต็มตัว อยู่กรุงเทพฯ ต่ออีกสักพักใหญ่จึงตัดสินใจโยกย้ายตัวเองมาอยู่ต่างจังหวัด สภาพแวดล้อมต่างจังหวัดเอื้อต่อการทำงานเขียนด้วย เพราะสิ่งเร้ามันน้อย เหมาะกับอาชีพอย่างเรา มีเวลาเขียนมีเวลาคิด อยู่ต่างจังหวัดได้ปีสองปีก็เริ่มวางแผนทำร้านหนังสือ Booktopia ที่อุทัยธานี ซึ่งแผนนี้มีมาตั้งแต่อยู่กรุงเทพฯแล้ว ที่บ้านมีตึกว่างอยู่ก็เลยค่อยๆ สร้างร้านนี้ขึ้น”
สู่ชีวิตใหม่ที่อุทัยธานี
“ตอนกลับมาแรกๆ ก็รู้สึกแปลกหูแปลกตากับบ้านตัวเอง พอหัวค่ำก็เงียบสงัด เขาปิดไฟนอนกันหมด เราก็ต้องปรับตัว แต่ไม่เคยคิดอยากกลับไปอยู่กรุงเทพฯ เลย ยิ่งนานวันก็ยิ่งเข้ากรุงเทพฯ น้อยลง เมื่อมาคิดถึงข้อเสียของการอยู่ต่างจังหวัดคืออะไร สุดท้ายแล้วแทบไม่มี มีแต่ข้อดี เพราะเมืองมันเล็ก ค่าใช้จ่ายน้อย ค่าครองชีพถูก สามารถออกจากบ้านโดยไม่มีเงินยังได้เลย อยู่กรุงเทพฯ มีเงิน 1,000 บาท เรารู้สึกว่ามันน้อย อาจจะไม่พอซื้ออะไรเลย แต่อยู่ต่างจังหวัด มีเงิน 500 บาทต่อวัน เรารู้สึกว่ารวยเลยทีเดียว นอกจากนั้นก็มีเวลาเยอะขึ้น สามารถทำธุระได้หลายๆ ที่ภายในวันเดียว อากาศก็ดี ผู้คนมีจริตน้อย อยู่กรุงเทพฯ ผู้คนมีจริตกันมาก ซึ่งตัวเราก็เคยเป็น เพราะเมื่ออาศัยอยู่ในเมืองใหญ่บางครั้งเรากลัวการถูกมอง แต่ที่นี่ผู้คนจริตน้อย ส่วนใหญ่ไม่มีใครสนใจเรื่องเสื้อผ้าข้าวของแบรนด์เนม ไม่มีใครมาสนใจว่าเราใส่รองเท้าหรือเสื้อผ้ายี่ห้ออะไร พออยู่นานวันเข้าจริตแบบที่เราเคยมีเคยเป็นในเมืองใหญ่ก็ค่อยๆ น้อยลง”
นิยามความสุขของชีวิต
“ความเงียบในต่างจังหวัดนั้นดี และสีเขียวจากต้นไม้ก็จำเป็นกับชีวิต มันช่วยเราล้างพิษจากเมืองใหญ่ได้ เดี๋ยวนี้เวลาเข้าไปทำธุระในกรุงเทพฯ ตอนขับรถกลับบ้าน เมื่อมองสองข้างทางจะพบว่าสีเขียวของต้นไม้เขียวค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น จากตึกสูงค่อยๆ เจอทุ่งนา ค่อยๆ ปลดพันธนาการ แต่เราไม่ได้คิดว่ากรุงเทพฯ เลวร้ายอะไรนะ นานๆ ไปทีก็สนุกดี นานๆ เห็นรถติดบ้างก็เพลินดี เวลาไปกรุงเทพฯ ก็เหมือนไปเยี่ยมบ้านที่เคยอยู่แต่ไปไม่กี่วันเราก็คิดถึงบ้านที่ต่างจังหวัดแล้ว”
ความสุขของชาวนาจากการทำความฝันให้เป็นจริง
หากมีการทำเซอร์เวย์ถามอาชีพในฝันของคนเมือง ‘ชาวนา’ อาจไม่ติดอยู่ในลิสต์ 10 อันดับแรกของหมวดนี้ ซึ่งก็คงไม่แปลก เพราะตราบใดที่ลมเย็นของเครื่องปรับอากาศยังสัมผัสร่างกายมากกว่าแสงอาทิตย์ เราก็คงไม่มีโอกาสได้พบกับความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง เหมือนที่ กานต์ ไตรทอง-นิศารัตน์ นาครักษ์ สองสามีภรรยาชาวนาเจ้าของกิจการ ‘ข้าวหอมคุณยาย’ อดีตมนุษย์เงินเดือน ได้สัมผัส และนี่คือเรื่องราวแห่งความสุขของทั้งคู่ที่คนเมืองรู้แล้วอาจต้องอิจฉา
ครั้งหนึ่งในสิงคโปร์และกรุงเทพฯ
“ชีวิตก่อนมาทำนา เราทำงานเป็น business manager อยู่ที่สิงคโปร์ ไปทำงานที่นั่นด้วยความทะเยอทะยาน อยากจะเติบโตในองค์กร อยากพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าคนไทยก็เก่ง เป็นผู้นำระดับภูมิภาค ตอนอยู่ที่นั่นเรานั่งเครื่องบินกลับบ้านเกือบทุกอาทิตย์ เพราะอยู่สิงคโปร์ไม่ค่อยมีอะไรทำ ส่วนใหญ่ก็เดินตากแอร์ในห้าง เป็นชีวิตหนุ่มสาวออฟฟิศแบบ Nine to Five, Monday to Friday ช่วงหลังเบื่อก็เลยไปตีกอล์ฟซึ่งก็ต้องเดินทางไปอีกเกาะ ใช้เงินมากพอๆ กับกลับมาเมืองไทย เราก็เลือกกลับมาเมืองไทยดีกว่า ได้เล่นกับหลาน คุยกับพี่น้อง มีความสุขกว่าเยอะ จนสุดท้ายจึงตัดสินใจกลับมาอยู่เมืองไทย”
จุดเปลี่ยนสำคัญ
“อยู่สิงคโปร์ได้ระยะหนึ่งเราก็เกิดคำถามว่าความสุขคืออะไร ความสุขเท่ากับเงินไหม ก็พบว่ามันไม่เท่ากัน พอคิดได้แบบนี้ชีวิตก็เปลี่ยนไป หันมาเตรียมตัวที่จะเลิกจากการเป็นพนักงานบริษัทแล้ววางแผนชีวิตเหลือ ตอนกลับมาเมืองไทยแรกๆ ก็ยังเป็นพนักงานบริษัทอยู่ แต่บอกตรงๆ ว่าเราทำงานด้วยความรู้สึกเคานต์ดาวน์ รอเวลาที่พอดีแล้วจะออกไปทำนา ระหว่างนั้นก็เป็นช่วงซื้อที่ดิน เรียนรู้การทำนา พอกิจการเริ่มขยายมากขึ้น มีพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ทำโรงสีเล็กๆ ของตัวเอง เราสองคนก็ลาออกจากงานประจำมาทำเองแบบเต็มตัว”
วิถีชนบท ชีวิตที่แทบจะไม่ต้องปรับตัว
“การเป็นชาวนาที่สระบุรี เราแทบไม่ต้องปรับตัว เพราะหลังจากซื้อที่ดินก็จะมานอนช่วงเสาร์-อาทิตย์ เราจึงคุ้นเคยกับท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ อีกอย่างที่นี่ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ แค่ชั่วโมงกว่า เราจึงไม่รู้สึกว่าห่างไกลเมืองขนาดนั้น พูดถึงชีวิตประจำวันของเราที่นี่ก็เรียบง่ายมาก ตื่นมาปุ๊บก็ลงนาตั้งแต่ 6โมงเช้า พอแดดเริ่มร้อน ประมาณ 8 โมง ก็กินข้าว ขับรถประมาณ 5 นาที ก็ถึงแหล่งของอร่อย สามารถนั่งกินไปคุยไปได้ถึง 10 โมง หลังจากนั้นเราก็จะไปหากิจกรรมอินดอร์ทำ อย่างฝน ตอนนี้ชอบทำงานไม้ ก็จะเข้าห้องไม้ ไปทำงานอดิเรกของตัวเอง พอถึงเที่ยงกินข้าว กินเสร็จก็อาจจะนั่งกินกาแฟสักแก้วรอให้แดดร่ม แล้วค่อยลงนา ทุกวันของเราเป็นแบบนี้ คล้ายกับทุกวันเป็นวันหยุด”
ลงมือทำความฝันให้เป็นจริง
“คุณต้องไปหาไลฟ์สไตล์ของตัวเองให้เจอก่อนว่าชอบแบบไหน เหมาะกับการใช้ชีวิตอยู่ในต่างจังหวัดจริงหรือเปล่า ถ้ามันใช่จริงๆ ผมแนะนำให้ซื้อที่ดินก่อนอันดับแรก เพราะพอคุณซื้อที่ปุ๊บ ที่แห่งนั้นจะเป็นตัวดึงดูดให้คุณไปหามันบ่อยๆ และอยู่นานขึ้นเรื่อยๆ จนคุณต้องมาอยู่เต็มตัว จากนั้นคุณก็จะเจอชีวิตอีกรูปแบบที่มีเวลาเป็นของตัวเอง 100% อย่างที่เราทำงานระยะเพาะปลูกจะอยู่ที่ 3-4 เดือน มันจะหนักแค่ช่วงเตรียมดินและลงข้าว หลังจากนั้นก็แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย จะไปไหนก็ได้ จะเที่ยว 1-2 สัปดาห์ ก็ไม่ต้องขออนุญาตใครหรือกลัวใครจะว่า หลายคนชอบคิดว่าฉันต้องเก็บเงินก้อนหนึ่งก่อนถึงจะเริ่มชีวิตใหม่ได้ ถ้าคุณคิดแบบนั้นคุณก็จะเก็บเงินไปทั้งชีวิต แล้วชีวิตของคุณก็จะไม่ก้าวเดินเสียที แต่เมื่อไหร่ที่คุณตัดสินใจเปลี่ยน เชื่อเถอะว่าคุณก็จะขวนขวายหาเงินก้อนนั้นมาได้เอง เรามักจะยุคนรอบข้างเสมอว่าถ้ามีฝันให้ลงมือทำเลย เพราะคนเราไม่รู้จะจากโลกนี้เมื่อไหร่ อย่างน้อยถ้าได้เริ่มทำเพียงสองวันแล้วเกิดเป็นอะไรไป เราก็ยังมีความสุขกับการทำความฝันให้เป็นจริงได้ตั้งสองวัน ดีกว่าปล่อยให้สิ่งนั้นค้างคาใจอยู่ตลอด”
แรงดึงดูดของกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ที่ไม่เท่ากัน
‘โจ้’ – วชิรา รุธิรกนก อดีตบรรณาธิการ นิตยสาร a day และเจ้าของ Rabbithood Studio & Design Lab คงไม่ย้ายจากเมืองใหญ่ที่เป็นบ้านเกิดของเขา เพื่อมาเริ่มก่อร่างสร้างชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการอีกครั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ เขาบอกเราว่ามันเป็นเพียงความบังเอิญ แต่เรากลับคิดว่าความบังเอิญคงไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด
ครั้งหนึ่งในกรุงเทพฯ
“ตอนอยู่กรุงเทพฯ ก็ทำงานครับ อยู่คอนโดฯ ตื่นนอน ขับรถออกจากบ้าน ติดอยู่บนถนน จ่ายค่าทางด่วน ถ้าออกไปข้างนอกก็จะมีชีวิตอยู่บนรถไฟฟ้าบ้าง แท็กซี่บ้าง มอเตอร์ไซค์วินบ้าง ทำงานเสร็จก็กลับบ้าน ขับรถ ติดอยู่บนถนน จ่ายค่าทางด่วน ก็ซ้ำๆ อยู่อย่างนี้ เสาร์-อาทิตย์มีเวลาก็ขับรถไปบางแสนบ้าง หัวหินบ้าง ที่มันใกล้ๆ พอไปได้ ซึ่งกว่าจะขับรถไปถึงรวมรถติดก็เป็นชั่วโมง แล้วตอนอยู่กรุงเทพฯ เราไม่เคยรู้สึกว่าเป็นเจ้าข้าวเจ้าของกรุงเทพฯ สักเท่าไหร่”
จุดเปลี่ยนสำคัญ
“ตอนแรกมาอยู่เชียงใหม่แบบไม่ได้ตั้งใจ กะว่าจะมาแป๊บๆ มาอยู่คอนโดฯ ของเพื่อน คือเพื่อนทำงานอยู่ที่แพร่ แล้วเขาก็เช่าคอนโดฯ ทิ้งไว้ จะกลับมาแค่เสาร์-อาทิตย์ เราก็นอนห้องรับแขก เสาร์-อาทิตย์เพื่อนกลับมาก็ไปเที่ยวเล่นกัน พออยู่กับเพื่อนไปประมาณ 3 เดือน ก็รู้สึกว่าชอบเมืองนี้ อยู่ไปเลยดีกว่า เอาจริงๆ เราก็เป็นคนชอบกรุงเทพฯ นะ แล้วก็ไม่เคยคิดจะย้ายเมืองด้วยซ้ำ แต่พอได้มาอยู่เชียงใหม่มันเหมือนมีอะไรบางอย่างดึงดูดมา เราคิดขนาดว่าหรือชาติที่แล้วเราจะเป็นคนเชียงใหม่วะ (หัวเราะ) อยู่แล้วโคตรรู้สึกเลยว่ามันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเราไปหมด”
ธรรมชาติและต้นไม้ใหญ่
“เราชอบธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันเราก็โตมาแบบคนกรุงเทพฯ อยู่เมืองหลวงมาตลอดชีวิต พอมาเชียงใหม่ก็ได้เจอทั้งด้านที่เป็นธรรมชาติ และด้านที่เป็นเมือง ผสมผสานกันในอัตราส่วนที่คิดว่าพอดี คือมันไม่ถึงกับมีแต่ธรรมชาติอย่างเดียวเหมือนน่าน และเราก็ยังติดการดูหนัง อยากดูคอนเสิร์ตดีๆ อยากเดินร้านขายซีดี ร้านหนังสือดีๆ มีกิจกรรมหรือกลุ่มก้อนที่สนใจทำอะไรคล้ายๆ กัน เราว่าเชียงใหม่มันพอดีมากสำหรับเรา ถ้าไม่อยากไปไหนไกล เวลาอยู่ในเมืองก็จะมีต้นไม้ใหญ่เยอะมาก ที่เจ๋งกว่าในเมืองคือขับรถออกไปแค่ 10 นาที ก็จะเจอน้ำตก ดอยอินทนนท์ ฝาง อ่างขาง ตอนเช้าอาจจะนั่งกินกาแฟเก๋ๆ อยู่นิมมานฯ บ่ายๆ ก็อาจจะขับรถไปเจอภูเขา ชาวบ้าน น้ำตก ถามว่าชีวิตแบบนี้จะหาได้ที่ไหน ถ้ามีการจัดการระบบตัวเมืองดีๆ เราว่าคุณภาพชีวิตของคนที่นี่อยู่ในขั้นระดับโลกเลยนะ”
สำรวจเงื่อนไขในชีวิต
“สำหรับคนที่อยากย้ายเมือง เราคิดว่าอาจจะต้องกลับไปดูเงื่อนไขรอบๆ ในชีวิตตัวเอง ถ้าเป็นเงื่อนไขที่เป็นรูปธรรม ก็ควรหาวิธีจัดการมันอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเงินนั่นแหละ อย่างเช่น มาถึงจะทำงานอะไร อยู่กรุงเทพฯ เคยได้ 50,000 มาเชียงใหม่อยากได้ 50,000 ก็ต้องคิดใหม่แล้ว เพราะที่นี่เงินเดือน 20,000 นี่โคตรหรูเลย คือคุณรับได้ไหม ถ้าแลกกับคุณภาพชีวิตแบบนี้ แต่เรารับได้ไง เราได้เงินน้อยลงก็จริง แต่ได้ใช้ชีวิตแบบนี้มันคุ้ม ส่วนที่เป็นปัญหาเชิงนามธรรม อันนี้เชียร์ว่าไม่ต้องกลัว มาเลย คือเราตอบไม่ได้หรอกว่าเชียงใหม่เหมาะกับทุกคนไหม แต่ถ้าไม่มาอยู่จะรู้ได้ยังไงว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ มันไม่มีทางอื่น พออยู่เอง สัมผัสเอง เราจะได้กลิ่น รู้สึก พอได้สัมผัสทุกอย่างถึงจะค่อยรู้ว่าเราเหมาะกับเมืองนั้นๆ จริงหรือเปล่า”