สั่งลา ‘หัวลำโพง’ กับภาพที่ไม่มีวันลบได้ in Popular Culture

มีข่าวว่าสถานีรถไฟ ‘หัวลำโพง’ หรือชื่อที่แท้จริงคือ ‘สถานีกรุงเทพ’ จะยุติบทบาทในฐานะสถานีส่วนกลางที่เชื่อมคนทั้งประเทศเข้าไว้ด้วยกันอย่างเป็นทางการ และปรับเส้นทางรถไฟส่วนใหญ่ให้สิ้นสุดที่ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ ถือเป็นการปิดตำนาน 105 ปีของสถานี พร้อมกับความสุ่มเสี่ยงว่าพื้นที่ประวัติศาสตร์อาจถูกรื้อ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นแทน ตามรอยโรงภาพยนตร์สกาล่าที่เพิ่งมีดราม่าไปเมื่อไม่นานมานี้

        ไม่ว่าท้ายที่สุดชะตากรรมของหัวลำโพงจะเป็นเช่นไร อย่างน้อยสถานีที่ถูกออกแบบมาอย่างเป็นเอกลักษณ์ก็ไม่มีทางลบออกไปจากสังคมไทยได้ เนื่องจากมีภาพยนตร์ขนาดยาว ภาพยนตร์สั้น และมิวสิกวิดีโอเคยเข้ามาบันทึกภาพ บันทึกประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้เป็นจำนวนไม่น้อย 

        a day BULLETIN จึงขอใช้โอกาสนี้รวบรวมสื่อดังกล่าวจำนวนหนึ่งมาให้ดูกันว่ามีเรื่องอะไรบ้าง พร้อมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สถานีที่ตั้งตระหง่านมานานแห่งนี้จะไม่สูญหายไป และเหลือเพียงภาพเคลื่อนไหวที่ยืนยันว่า เมืองไทยเคยมีสถานีรถไฟแห่งนี้อยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน

1. ภาพยนตร์เรื่อง หมอนรถไฟ (2560)
โดย สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์

        สารคดีเกี่ยวกับรถไฟไทยที่สร้างบรรยากาศให้คนดูไม่เพียงรู้สึกว่ากำลังดูหนัง แต่ยังรู้สึกประหนึ่งกำลังนั่งโดยสารรถไฟของจริงอย่างไรอย่างนั้น ผู้กำกับ สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ ขนทีมงานขึ้นไปจับภาพความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตของผู้คนบนรถไฟอยู่นานกว่า 8 ปี ตะลอนไปทั่วทุกภูมิภาคก่อนนำฟุตเตจทั้งหมดมาตัดเป็นหนังเรื่องเดียว 

        หากใครไม่เคยขึ้นรถไฟในเส้นทางเหล่านั้นอาจดูไม่ออกว่าภาพที่เห็นบนจอมาจากส่วนไหนของประเทศบ้าง ส่วนภาพของสถานีหัวลำโพง แม้ในเรื่องอาจไม่ได้ปรากฏเป็นภาพเคลื่อนไหว แต่ก็มีการนำภาพนิ่งสมัยที่ก่อสร้างขึ้นใหม่มาใช้ประกอบเรื่องราวช่วงท้ายเรื่องแทน 

        หมอนรถไฟ เข้าฉายป้ายแรก ณ เทศกาล World Film Festival of Bangkok ปี 2560 ก่อนที่ Documentary Club ผู้จัดจำหน่ายสารคดีจะนำเข้าฉายเชิงพาณิชย์ในปีเดียวกัน ก่อนลงเอยด้วยการคว้ารางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม จากเวทีประกวดภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยมครั้งที่ 26 โดยชมรมวิจารณ์บันเทิง และ 2 รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม และกำกับภาพยอดเยี่ยม จาก Starpics Thai Film Awards ครั้งที่ 15 โดยนิตยสาร สตาร์พิคส์ มาครอง ปิดท้ายด้วยการเดินทางไกลไปฉายในเทศกาลดังๆ ทั่วโลกอีกนับไม่ถ้วนด้วย

 

2. ภาพยนตร์เรื่อง ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น (2551)
โดย ทรงยศ สุขมากอนันต์

        ขึ้นชื่อว่าผลงานการกำกับของ ‘ย้ง’ – ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้ช่ำชองการทำหนัง-ซีรีส์วัยรุ่นจากซีรีส์เรื่อง ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ดังนั้นมั่นใจได้ว่าเรื่องราวใน ปิดเทอมใหญ่..หัวใจว้าวุ่น (ซึ่งใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Hormones) จะตอบโจทย์ความชอบของคนวัยนี้แน่นอน ผ่าน 4 เส้นเรื่องความรักสุดอิรุงตุงนังที่มีความเกี่ยวพันกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

        สถานีหัวลำโพงเข้ามามีบทเด่นในเส้นเรื่องของ เหิร (ฉันทวิชช์ ธนะเสวี) และนวล (ธนิยา อำมฤตโชติ) ในฐานะจุดเริ่มต้นของความอิรุงตุงรัง ช่วงกลางเรื่องคนดูจะเห็นว่าเหิรนั่งรถตุ๊กตุ๊กมาลงข้างหน้าหัวลำโพง ก่อนขึ้นรถไฟไปหาแฟนสาวที่ฝึกงานอยู่จังหวัดตรัง แต่บนรถไฟขบวนนั้นเขาได้พบกับสาวญี่ปุ่นสุดแซ่บ อาโออิ (โซระ อาโออิ) และเกิดใจเกเรขึ้นมาจนความสัมพันธ์ของเขากับแฟนต้องร้าวราน

        บทบาทของหัวลำโพงยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เพราะยังสถานที่เชื่อมรัก เชื่อมความสัมพันธ์ของตัวละครคู่ด้วย หากใครอยากรู้ว่าเหตุการณ์ลงเอยอย่างไร สามารถรับชมได้ทาง Netflix

 

3. ภาพยนตร์เรื่อง เพื่อนสนิท (2548) 
โดย คมกฤษ ตรีวิมล

        คนไทยจำนวนมากน่าจะเคยตกอยู่ในสถานะเดียวกับไข่ย้อย (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) ที่แอบรักเพื่อนแต่ไม่กล้าบอกเพื่อน จนกระทั่งวันที่รวบรวมความกล้ามากพอไปสารภาพรัก ก่อนพบว่ามันสายเกินไปแล้ว เลยต้องหลบไปพักเลียแผลหัวใจเงียบๆ คนเดียว

        ในช่วงต้นเรื่องของ เพื่อนสนิท คนดูจะเห็น ไข่ย้อย มาหัวลำโพงเพื่อซื้อตั๋วเดินทางไปจังหวัดสุราษฏร์ธานี หากไล่เรียงตามไทม์ไลน์แล้ว นี่คือเหตุการณ์หลังจากเขาสารภาพรักดากานดา (ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) แต่ผู้กำกับ คมกฤษ ตรีวิมล จัดวางฉากนี้ให้อยู่ตั้งแต่ต้นเรื่อง ก่อนยังขีดเขียนให้เขาประสบอุบัติเหตุจนขาหักด้วย

        โชคยังดีว่าผู้กำกับไม่ใจร้ายจนเกินไป เพราะอย่างน้อยเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนำพาให้เขาได้พบเจอกับ นุ้ย (มณีรัตน์ คำอ้วน) พยาบาลสาวที่อาจเป็นคนที่ใช่ของเขามากกว่า ‘เพื่อนสนิท’ ด้วยซ้ำไป

 

4. ภาพยนตร์เรื่อง ปล้นนะยะ (2547)
โดย พจน์ อานนท์

        ปล้นนะยะ อาจไม่ได้ยกกองไปถ่ายทำภายในสถานีหัวลำโพง แต่เหตุการณ์เด่นของเรื่องเกิดหน้าสถานีแห่งนี้เมื่อ 4 กะเทยสุดแสบ เสือ (วินัย ไกรบุตร) เจ๊พริก (จาตุรงค์ มกจ๊ก) ไนซ์ (ธงธง มกจ๊ก) และกบ (โก๊ะตี๋ อารามบอย) แต่งองค์ทรงเครื่องในชุดสวยเต็มยศไปปล้นธนาคาร เพื่อเอาเงินไปผ่าตัดแปลงเพศ แต่การปล้นครั้งนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะดันมีกลุ่มโจรอีกกลุ่มที่เตรียมบุกปล้นเงินจากธนาคารแห่งนี้ด้วยเหมือนกัน

        สำหรับช่องทางรับชม ปล้นนะยะ แบบถูกลิขสิทธิ์สามารถรับชมทางช่อง Youtube ของค่ายพระนครฟิลม์ได้โดยตรง แม้อัตราส่วนของภาพอาจไม่สมบูรณ์ แต่ก็ไม่กระทบอรรถรสความฮา และยังพอมองเห็นภาพด้านหน้าของสถานีหัวลำโพงได้แบบชัดเจนอยู่

        ลิงก์รับชม: https://www.youtube.com/watch?v=PnWBfz_437I

 

5. ภาพยนตร์เรื่อง กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (2538)
โดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

        แค่พ่อแม่แยกทางกันก็ช้ำใจมากอยู่แล้ว แต่ลูกๆ ดันไปเห็นแม่ (จินตหรา สุขพัฒน์) อยู่กับผู้ชายอื่นอีก พวกเขาเลยตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพื่อไปหาพ่อ (สันติสุข พรหมศิริ) ที่เชียงใหม่ 

        แต่ขณะออกเดินทาง เด็กๆ ไม่รู้ตัวเลยว่าดันไปครอบครองของสำคัญที่เหล่าผู้มีอิทธิพลต้องการ พวกเขาตกเป็นเป้าไล่ล่าตั้งแต่ในสถานีหัวลำโพงจนต้องตะลอนออกนอกเส้นทาง นำมาซึ่งความลุ้นระทึกว่า สุดท้ายแล้วครอบครัวที่เคยแตกร้าวนี้จะกลับมาเจอกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาได้หรือไม่

        กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ ถือเป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผู้กำกับระดับตำนาน หากใครอยากพิสูจน์คุณภาพว่าดีสมกับคำร่ำลือจริงหรือไม่ สามารถรับชมได้ทางแพลตฟอร์ม True ID

        ลิงก์รับชม: https://movie.trueid.net/th-th/movie/VGv1KO6pNdo2

 

6. ภาพยนตร์เรื่อง The Railway Man (2014) 
โดย โจนาธาน เทปลิตสกี้

        หนังสัญชาติอังกฤษที่อุดมไปด้วยนักแสดงมากความสามารถ หนึ่งในนั้นคือ โคลิน เฟิร์ธ ผู้รับบทเป็น อิริก โลแม็กซ์ อดีตนายทหารที่มีบาดแผลในใจจากการถูกจับเป็นเชลยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกบังคับให้ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว 

        ผู้กำกับ โจนาธาน เทปลิปสกี้ ยกกอง The Railway Man เข้ามาถ่ายทำในหลายสถานที่ทั่วประเทศไทย รวมถึงสถานีหัวลำโพงด้วย โดยใช้บางส่วนของหัวลำโพงจำลองเป็นสถานที่ที่เหล่าทหารญี่ปุ่นควบคุมตัวโลแม็กซ์และทหารอังกฤษทั้งหมดขึ้นรถไฟไปยังจังหวัดกาญจนบุรี ในฉากนี้มีการใช้เทคนิคพิเศษลบอาคารสถานที่ด้านหลังออกไป แต่จะยังคงเห็นรถไฟไทยได้อย่างชัดเจน

        การเข้ามาถ่ายหนังเรื่องนี้ทำให้เกิดมุกตลกไม่น้อยว่า เพราะรถไฟไทยแทบไม่มีวิวัฒนาการจากอดีตเลย ทีมงาน The Railway Man จึงเลือกเป็นสถานที่ถ่ายทำ แต่อย่างน้อยหนังก็สามารถนำเสนอด้านมืดของสงครามได้เข้มข้น และไม่ควรพลาดเลยทีเดียว

 

7. ภาพยนตร์เรื่อง แม่หัวลำโพง (2526) 
โดย แสนยากร

        หากลองค้นคำว่า ‘หนังไทย’ และ ‘หัวลำโพง’ ผ่าน Google มั่นใจได้ว่าชื่อของ แม่หัวลำโพง จะปรากฏขึ้นก่อนเป็นอันดับต้นๆ และจากชื่อเรื่องก็บ่งชี้ได้อย่างดีว่าสถานการณ์ในเรื่องมีต้นตอที่พื้นที่ใด

        แม่หัวลำโพง เป็นผลงานแจ้งเกิด ‘แก้ว’ – อภิรดี ภวภูตานนท์ ให้กลายเป็นนักแสดงสาวขาบู๊แรงแห่งยุค บท ซ่า เจ้าของสมญานาม ‘แม่หัวลำโพง’ คือสาวแกร่งผู้กล้าท้าชนเหล่าอันธพาล สร้างภาพจำให้เธอเป็นสาวขาบู๊แห่งหนังไทยที่ก็ยังติดตัวเธอมาจนถึงปัจจุบัน

        ขอบคุณภาพโปสเตอร์จากแฟนเพจ: Thai Movie Posters 

 

8. ภาพยนตร์เรื่อง เศรษฐีอนาถา (2499) 
โดย วสันต์ สุนทรปักษิน

        ภาพยนตร์เรื่องแรกของสยามประเทศที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีตุ๊กตาทองและสำเภาทอง ที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2500 และเป็นหลักไมล์สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าหัวลำโพงมีบทบาทในแวดวงบันเทิงยาวนานเพียงใด ขนาดตัวหนังมีอายุมากกว่า 60 ปีก็ยังห่างจากอายุของสถานีแห่งนี้แบบแทบจะครึ่งต่อครึ่ง! 

        เศรษฐีอนาถา ดัดแปลงจากนิยายเรื่องเยี่ยมของ สันต์ เทวรักษ์ เมื่อปี พ.ศ. 2498 เล่าเรื่องราวสุดชวนหัวเมื่อ นายจอน บางคอแหลม (เจิม ปั้นอําไพ) พนักงานรถไฟขี้เมา ที่อยู่ๆ ก็ได้รับเงินจำนวน 1 ล้านบาทจาก ประพนธ์ ธนพิทักษ์ (เสถียร ธรรมเจริญ) มหาเศรษฐีหนุ่มโดยมีข้อแม้ว่าเขาต้องใช้เงินก้อนนี้ให้หมดภายใน 1 ปี เหมือนจะเป็นภารกิจง่ายๆ ที่ไหนได้มันกลับยากกว่าที่คิด! 

        ปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐีอนาถา มาพร้อมกับพล็อตเรื่องสุดล้ำ หากเปิดดูในยุคปัจจุบันน่ายังรู้สึกบันเทิงไปกับหนังได้ไม่ยาก ตัวหนังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติเมื่อ พ.ศ. 2557 และสามารถรับชมแบบเต็มๆ ได้ทาง Youtube ของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ทางลิงก์นี้ https://www.youtube.com/watch?v=TZIUiWrnmvE 

 

9. สารคดีสั้น หัวลำโพง (2547) 
โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล

        หนังสั้น-สารคดีสั้นแนวทดลองที่เปิดโลกทัศน์ให้คนไทยมองมุมใหม่ว่า หนังสั้นก็ทำแบบนี้ได้ด้วย? 

        หัวลำโพง เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระคนสำคัญของไทย และเขาถ่ายทำหนังสั้นความยาว 12 นาทีเรื่องนี้สมัยที่ยังเป็นเพียงนักเรียนมัธยมเท่านั้น! โดยจะพาคนดูไปพบกับคุณตาคนหนึ่งที่พยายามตั้งกล้องถ่ายรูปตัวเองในสถานีหัวลำโพงโดยปราศจากบทบรรยาย คนดูจะได้จับจ้องการกระทำและอิริยาบถต่างๆ ของเขา และร่วมลุ้นว่าเขาจะทำอะไรที่เหนือความคาดหมายบ้าง

        จุฬญาณนนท์ใช้มุมมองสุดปราดเปรื่องทำให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องดำเนินเรื่องสุดเข้มข้นตามขนบที่คุ้นชิน ก็ทำให้หนังมีความน่าสนใจและน่าติดตามได้ และถึงแม้หนังสั้นฉบับเต็มอาจหาชมได้ยาก แต่เขาอัปโหลดส่วนหนึ่งของหนังความยาว 3 นาทีเอาไว้ในช่อง Youtube ส่วนตัว สามารถรับชมได้ทางลิงก์นี้ https://www.youtube.com/watch?v=Qcra6J2vIu4

 

10. สารคดีสั้น Dreamscape (2558) 
โดย วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย

        สารคดีสั้นและงานทดลองอีกเรื่องที่น่าสนใจ ผลงานของ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย นักทำหนังรุ่นใหม่มาแรงที่ตามไปสัมภาษณ์ผู้คนซึ่งส่วนมากจะเป็นคนชายขอบ คนเร่ร่อนถึงความฝันของแต่ละคน พร้อมกับให้ลองวาดตัวละครฮีโร่ในความคิดของพวกเขา เพื่อนำไปทำเป็นแอนิเมชันเคลื่อนไหว ฉายผ่านโปรเจกเตอร์ในแต่ละพื้นที่ และหนึ่งในพื้นที่นั้นก็มีสถานีหัวลำโพง ซึ่งถือเป็นแหล่งที่รวมคนชายขอบของสังคมเอาไว้ไม่น้อยเลยทีเดียว

        Dreamscape เล่นกับภาพ แสง และเงาที่กลายเป็นลายเซ็นสำคัญที่ขาดไม่ได้ในหนังของวรรจธนภูมิ ไม่ว่าจะเป็น นิรันดร์ราตรี สารคดีว่าด้วยการปิดตัวของโรงภาพยนตร์ธนบุรีรามา หลังเปิดให้บริการมานานถึง 25 ปี และ School Town King ที่ว่าด้วยวัยรุ่นจากสลัมคลองเตยที่มีความฝันอยากเป็นแรปเปอร์ โดยเรื่องหลังนี้ยังได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ในฐานะหนังว่าเป็นหนังที่ดีที่สุดของปี 2563 อีกด้วย

 

11. มิวสิกวิดีโอเพลง เซโรงัง (2553) 
โดย Slur

        หากให้นึกถึงมิวสิกวิดีโอที่ถ่ายทำที่หัวลำโพง เพลง เซโรงัง ของวง Slur วงสุดแนวจากค่าย Smallroom น่าจะเด้งขึ้นมาในหัวก่อนเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากทีมงานถ่ายทำเอ็มวีนี้บริเวณเกาะกลางถนนหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพงทั้งเพลง และตั้งกล้องถ่ายลองเทก ให้เย่ บู้ เป้ และ เอม 4 สมาชิกวงเต้นท่าต่างๆ ที่เหมือนจะเต้นไปเรื่อย แต่จริงๆ คิดมาอย่างดี ประกอบเนื้อเพลงที่ฟังแล้วงงๆ ว่าต้องการสื่ออะไร แต่ติดหู และเข้ากับคาแรกเตอร์ความกวนของวงดีแท้

        ปัจจุบันเพลงเด่นจากอัลบั้ม Boong (บุ้ง) เพลงนี้มีอายุครบ 11 ปีแล้ว สามารถรับชมอีกครั้งทางลิงก์นี้ https://www.youtube.com/watch?v=XHssIVcLeio

 

12. มิวสิกวิดีโอเพลง สัญญาเมื่อสายัณห์ (2542) 
โดย ธนาวุฒิ ชวธนาวรกุล

        หนึ่งในเพลงเด่นและติดหูคนไทยมายาวนานของ ‘ไท’ – ธนาวุฒิ ชวธนาวรกุล ไม่แพ้ ประเทือง ใช่เลย และ ข้ามันลูกทุ่ง โดยเพลง สัญญาเมื่อสายัณห์ เป็นเพลงเก่าแนวลูกทุ่ง ที่บรรจุอยู่ในอัลบั้มยอดฮิต ไท-พิเศษ (ระหว่างทาง) เมื่อปี 2542 มีเนื้อหาตัดพ้อความรักที่ไม่สมหวัง เมื่อสัญญาที่คู่หนุ่มสาวบ้านนอกเคยให้กันไว้กลับมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยึดตามนั้น เป็นอีกงานเพลงคัฟเวอร์ที่ตอกย้ำความสามารถของนักร้องนักดนตรีขาร็อกรายนี้ว่า เขาสามารถร้องและทำเพลงฮิตได้หลากหลายแนวจริงๆ 

        สำหรับตัวเอ็มวีถ่ายทำในหัวลำโพงทั้งเพลง พร้อมกับจับภาพการเดินทางไปมาของผู้คนในสถานีอันเนืองแน่น น่าเสียดายที่ยังไม่มีการอัปโหลดมิวสิกวิดีโอโดยเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการ แต่สามารถฟังผ่านสตรีมมิงต่างๆ อาทิ Spotify และ JOOX ได้

 

13. มิวสิกวิดีโอเพลง High Tension (2563) 
โดย BNK48

        หัวลำโพง เป็นสถานที่ยอดฮิตขนาดที่ไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปแห่งชาติอย่าง BNK48 มาใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำมิวสิกวิดีโอกับเพลง High Tension ซึ่งแปลไทยจากเพลงต้นฉบับชื่อเดียวกันของ AKB48 เมื่อปี 2016 โดยมีไอดอลสาวสุดอินดี้ ‘พารูรุ’ หรือ ชิมาซากิ ฮารุกะ เป็นเซนเตอร์ประจำเพลง

        เมื่อแปลงเป็นเพลงไทย เจ้าของตำแหน่งเซนเตอร์ตกเป็นของสาวสายฮาสวยเก่ง ‘น้ำหนึ่ง’ – มิลิน ดอกเทียน และยังเป็นเพลงที่มีคุณค่าทางใจต่อเธอมากๆ ด้วย ในเอ็มวีเธอนำไอดอลในวงมาสร้างความสนุกสนานให้มนุษย์ออฟฟิศทั้งหลาย ที่อาจกำลังเบื่อและเครียดกับงานที่ทำ และมั่นใจว่าเธอน่าจะทำให้คนดูคนฟังเกิดความผ่อนคลายขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย

        สามารถรับชมมิวสิกวิดีโอได้ทางลิงก์นี้ https://www.youtube.com/watch?v=_jmHOW6X4V0

 

14. มิวสิกวิดีโอเพลง So What (2020) 
โดย LOONA

        ไม่เพียงศิลปินไทยที่ชอบถ่ายทำเอ็มวีที่หัวลำโพง แต่ยังรวมถึง LOONA วงไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปจากแดนกิมจิ ที่เคยมาถ่ายเอ็มวีในเพลง So What เพลงหลักจากมินิอัลบั้ม [#] (อ่านว่า แฮช) ที่นี่ด้วย แม้ในเอ็มวีอาจเห็นหัวลำโพงอยู่เพียงเสี้ยววิ และมี 2 สมาชิกวงอย่าง ฮยอนจิน และ ชเวรี่ เท่านั้นในฉาก แต่เนื่องจากเอ็มวีนี้ถ่ายทำในสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เลยทำให้เมมเบอร์ในวงต้องแบ่งๆ กันถ่ายทำตามแต่ละที่ด้วย เช่น มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, ใต้ทางด่วนลาดพร้าว และตึกร้างเมืองทองธานี เป็นต้น

        อีกสิ่งที่อาจต้องโน้ตไว้ก็คือ Loona เป็นศิลปินจากต่างประเทศรายท้ายๆ ที่เข้ามาถ่ายทำเอ็มวีในเมืองไทย ก่อนโรคโควิด-19 จะระบาดอย่างหนักไม่กี่เดือนพอดี หากมาถ่ายทำกันช้ากว่านี้ เผลอๆ เราอาจไม่ได้เห็นภาพอันสวยงามประกอบเพลงฟังสนุกแบบนี้แน่นอน

        สามารถรับชมมิวสิกวิดีโอได้ทางลิงก์นี้ https://www.youtube.com/watch?v=GEo5bmUKFvI