ยุคเรวะ

เมื่อญี่ปุ่นเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเรวะ และการเดินหลงของ เนิฟ ปาลกะวงศ์ฯ กลางคนญี่ปุ่นนับพัน

ไม่เคยคิดว่าชาวต่างชาติอย่างเราจะได้ไปเดินหลงอยู่กลางประเทศญี่ปุ่นช่วงเปลี่ยนผ่านรัชศกพอดี…

     เป็นความบังเอิญแบบงงๆ เพราะถึงจะทราบข่าวว่าญี่ปุ่นกำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจเซตวันเดินทางให้ตรงกับระยะนี้ ตอนวางแผนเที่ยวคิดแค่ว่าอยากพาแม่มาดูซากุระ แต่ทั้งที่ผ่านเข้าฤดูใบไม้ผลิได้สักพักแล้ว ซากุระส่วนใหญ่ก็ยังมีแค่กิ่ง เพราะอากาศหนาวเย็นนานผิดปกติ ต้นไหนผลิดอกออกช่อ ต้นนั้นจะโดนรุมล้อมเป็นพิเศษ เราเดินเซ็งๆ กันเป็นอาทิตย์ กระนั้นก็แอบสังเกตได้ว่า แม้ซากุระยังไม่บานดี แต่ผู้คนส่วนใหญ่กลับตื่นตัวที่จะออกมาเฝ้ารอซากุระในปีนี้ ระดับที่เรียกได้ว่าแน่นขนัดกว่าปีก่อนมากๆ ต่อให้วันธรรมดาก็ตาม ยังสงสัยอยู่เลยว่าเพราะอะไร

     “รัฐบาลกำลังจะประกาศรัชศกใหม่ในอีกไม่กี่วัน นี่เป็นซากุระสุดท้ายของยุคเฮเซแล้วนะ รีบๆ ออกไปดู”

     คำบอกเล่าจากเพื่อนสาวชาวไทยผู้ย้ายตามสามีมาใช้ชีวิตในโอซาก้า ทำให้ถึงบางอ้อว่าทำไมในสวนซากุระจึงท่วมท้นด้วยคลื่นมนุษย์ แถมยังเป็นคนท้องถิ่น หาใช่ทัวร์จีน ทัวร์ไทยอย่างที่เห็นบ่อยๆ

 

ยุคเรวะ

 

Heisei to Reiwa: เก่าไปใหม่มา เวลาที่เปลี่ยนผ่าน

     วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ได้รับการจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่าญี่ปุ่นมีชื่อรัชศกใหม่ต่อจากเฮเซแล้ว นั่นคือ ‘เรวะ’ (Reiwa, 令和) หมายถึงความสงบสุขและกลมเกลียว

     การประกาศชื่อรัชสมัยแห่งการครองราชย์ถือเป็นพิธีการสำคัญ ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก เนื่องจากชื่อนั้นต้องถูกใช้ในเอกสารทางราชการ ปฏิทิน หนังสือพิมพ์ ฯลฯ โดยราชประเพณี ยุคสมัยจะมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่จักรพรรดิเสด็จสวรรคต เช่น การเปลี่ยนจากยุคโชวะของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ มาสู่ยุคเฮเซของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 200 ปี ที่จักรพรรดิทรงสละราชบังลังก์และส่งต่อให้มกุฎราชกุมารด้วยพระองค์เอง จึงเป็นวาระพิเศษที่ทุกคนร่วมยินดีอย่างไม่เคยปรากฏ

     บรรยากาศของเย็นวันที่ 31 มีนาคม วันสุดท้ายก่อนประกาศชื่อรัชศก ในกรุงเกียวโต เมืองที่ปกติก็มีนักท่องเที่ยวมาเยือนติดอันดับต้นๆ อยู่แล้ว วันนี้ยิ่งเนืองแน่นกว่าเดิม แม้ช่วงเช้าถึงบ่ายสภาพอากาศจะมีฝนตกลงมาตลอดไม่ขาดสาย ก็ไม่สามารถหยุดฝูงชนที่ออกมาเดินตามท้องถนนได้ ผู้คนจับกลุ่มพูดคุยกันถึงเหตุการณ์ในพรุ่งนี้ และต่างก็คาดเดาไปต่างๆ นานา หลายบ้านถือเป็นโอกาสพิเศษที่จะพาครอบครัวออกมาใช้เวลาร่วมกัน แม้ยังไม่มีพิธีขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการจนกว่าจะถึงวันที่ 1 พฤษภาคม แต่พบว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่านี่เป็นวันสุดท้ายในยุคเฮเซแล้ว เพราะในรุ่งเช้าแผ่นดินก็จะมีชื่อใหม่เกิดขึ้น หนุ่มสาวที่เดินตามท้องถนนพากันถ่ายภาพแสงสุดท้ายเก็บไว้เป็นที่ระลึก

 

ยุคเรวะ

 

     ย่านการค้า ตามตลาดท้องถิ่นมีชาวญี่ปุ่นออกมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อของฝากส่งท้ายรัชศกเก่ากันอย่างคึกคัก คำว่า ‘ซากุระสุดท้ายแห่งยุคเฮเซ’ นอกจากส่งผลถึงการท่องเที่ยวแล้ว ผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ทำจากซากุระต่างพากันได้รับความนิยม และเราก็ชื่นชมในความสามารถของการสร้างวาระแห่งชาติของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้น เพราะแม้กระทั่งร้านขายสาเกประจำเมืองยังนำเสนอ ‘สาเกที่หมักในยุคเฮเซ’ แน่นอนสาเกขวดนี้กลายเป็นสินค้าขายดีทันดี

     จากคำบอกเล่าของคนท้องถิ่น ตลอดช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีข่าวสละราชบัลลังก์ ธุรกิจต่างๆ ก็ออกผลิตภัณฑ์รุ่นลิมิเต็ดอิดิชันสู่ท้องตลาดไม่ขาด ตั้งแต่มันฝรั่งเลย์รุ่นส่งท้ายปีเฮเซ การฟีเจอริงกันระหว่างบริษัทกูลิโกะกับคิริน (บริษัท เคียววะ ฮัคโค คิริน จำกัด) กลายเป็นป๊อกกี้และชานมรุ่นเฮเซเจเนอเรชัน กับเอกลักษณ์ข้างขวดรูปนักเรียนมัธยม สื่อถึงความสดใสแห่งวัยหนุ่มสาวในช่วงปีเฮเซ น่าเสียดายที่ออกมานานแล้ว เลยตามซื้อเก็บไม่ทัน ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีแม้กระทั่งอากาศยุคเฮเซอัดกระป๋อง เป็นที่ระลึกถึงอากาศบริสุทธิ์และคืนวันเก่าๆ ในรัชศกที่ผ่านพ้น (ยอมใจ)

 

ยุคเรวะ

 

     เช้าวันแรกของเดือนเมษายน เรากลับมาโอซาก้า มองไปทางไหนก็เห็นทุกคนดูใจจดใจจ่อรอฟังประกาศจากรัฐบาล เรายืนมองจอโทรทัศน์ขนาดยักษ์กลางเมืองใหญ่ท่ามกลางคนที่มายืนรวมตัวนับพัน บรรยากาศเหมือนคืนส่งท้ายปีที่ต้องออกจากบ้านเพื่อมาอยู่ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ร่วมกัน โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องถูกยกขึ้นมารอถ่ายวินาทีสำคัญ จนเมื่อสิ้นคำประกาศจากรัฐบาลญี่ปุ่น ชื่อ ‘เรวะ’ ก็ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ ผู้คนโห่ร้องยินดี คุณย่าคุณยายบางคนร้องไห้ ขนาดเราที่เป็นคนต่างชาติยังอดจะตื่นเต้นไปด้วยไม่ได้

     สามีชาวญี่ปุ่นของเพื่อนอธิบายว่า คนในประเทศนี้สะสมความรู้สึกสิ้นหวังจากชีวิตที่หนักหน่วงตลอดช่วงสามสิบปีของเฮเซ โดยเฉพาะตั้งแต่เริ่มปีแรกของศักราชที่ชาติเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ ต้องต่อสู้กับภัยพิบัติทางธรรมชาติร้ายแรงอีกหลายหน พวกเขาจึงหวังเอาการเข้าสู่รัชศกใหม่เป็นโอกาสในการได้เริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ด้วย

     มีเจ้าหน้าที่นำหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของวันมาแจก สำนักข่าวและแท่นพิมพ์ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ต้องชื่นชมด้านความฉับไว เพียงไม่นานหลังจากเสร็จสิ้นแถลงการณ์ ภาพตัวแทนรัฐบาลและป้ายชื่อเรวะก็อยู่บนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับทันที สิ่งนี้จะกลายเป็นหลักฐานของยุคสมัยที่จับต้องได้และจะถูกจดจำตลอดไป แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากได้มาครอบครอง ทันใดนั้นภาพการเข้าแถวเป็นระเบียบสไตล์ญี่ปุ่นที่คุ้นเคยก็หายไป นาทีนี้ใครแย่งได้จงแย่ง โกลาหลจนชาวไทยได้แต่ยืนมองอยู่ห่างๆ เพราะแทรกเข้าไปชิงมาไม่ไหวจริงๆ

 

ยุคเรวะ

 

รัชสมัยแห่งความสงบสุข

     ราชวงศ์ญี่ปุ่นได้ชื่อว่ามีประวัติการสืบราชบัลลังก์ติดต่อกันยาวนานที่สุดในโลก กล่าวคือเกือบ 2,700 ปีตั้งแต่ญี่ปุ่นก่อตั้งชาติขึ้นเมื่อ 600 ปีก่อนคริสตกาล โดยเจ้าชายนารูฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์เบญจมาศ จะทรงเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 126 แห่งรัชศกเรวะ นับจากวันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป ทั้งนี้ หลักเกณฑ์สำคัญในการคัดเลือกชื่อรัชศก พิจารณาจากสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้

     – ต้องไม่เป็นชื่อโหลที่มีคนใช้ซ้ำเยอะๆ

     – ต้องไม่ซ้ำกับชื่อบริษัทหรือกิจการสำคัญ

     – หลีกเลี่ยงชื่อในกระแส หรือชื่อจากผลโพล

     – ต้องไม่ขึ้นต้นด้วยตัว M, T, S, H อันเป็นอักษรขึ้นต้นรัชศกก่อนหน้า

     – เป็นอักษรคันจิที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน

     – ต้องไม่ซ้ำกับตัวคันจิในพระนามขององค์จักรพรรดิ

     – อักษรหนึ่งตัวต้องมีจำนวนเส้นเวลาเขียนไม่เกิน 15 ขีด

     นอกเหนือจากชื่อเรวะ สำนักข่าว NHK ได้นำเสนอชื่อทั้งหมดที่เข้าชิงและคาดว่าน่าจะถูกใช้ ได้แก่ บันโป (万保) บันนะ (万和) โคชิ (広至) คิวกะ (久化) เอโค (英弘) ซึ่งรัฐบาลได้ขอความเห็นจากเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงวิชาการและสื่อมวลชน จนสรุปได้มติเจ็ดในเก้าโหวตให้ ‘เรวะ’ เป็นชื่อที่เหมาะสม

     ก่อนหน้านี้เคยมีนักทำนายของญี่ปุ่นออกมาทำนายไว้ล่วงหน้ากว่าหนึ่งปีว่า ชื่อรัชสมัยต้องขึ้นต้นด้วยตัว R แน่นอน วิเคราะห์จากเกณฑ์การตั้งชื่อที่ผ่านมา เช่น ห้ามซ้ำกับตัวย่อชื่อยุคก่อน ก็จะเหลือตัวอักษรที่ใช้ได้แค่ A, K, N, Y, R, และ W แต่เพราะตัวอักษรทุกตัวยกเว้น R ล้วนเสี่ยงที่จะสับสนจนเขียนผิดอ่านผิด เนื่องจากดูใกล้เคียงกับ M, T, S, H ดังนั้น จึงทำนายว่าเป็นตัว R และสุดท้ายก็คือ Reiwa ในที่สุด

     จากผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักข่าวภายในประเทศ พบว่าชาวญี่ปุ่น 73.7% ชอบชื่อรัชศกนี้ ทั้งยังเห็นด้วยกับการใช้ชื่อที่มาจากวรรณกรรมหรืองานเขียนดั้งเดิมของญี่ปุ่นเอง แทนชื่อที่มาจากงานประพันธ์ของจีน ถือเป็นครั้งแรกที่ชื่อยุคสมัยมีความเป็นญี่ปุ่นแท้ นับตั้งแต่มีธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นช่วงศตวรรษที่ 7 และนั่นก็ส่งผลให้คะแนนนิยมของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

ยุคเรวะ

 

ความสุขในวันวาน

     หนึ่งในความสนุกที่พลาดไม่ได้ของวัน คือการออกไปเดินสำรวจดูความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตั้งแต่ระดับย่อยสุดอย่างท้องตลาด เป็นความตะลึงใจครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้กับเรื่องความว่องไวของคนประเทศนี้ ปฏิกิริยาตอบสนองต่อชื่อใหม่แห่งยุคที่เร็วระดับพริบตาเดียวก็มีสินค้าที่เกี่ยวข้องออกมามากมาย ทั้งเคสโทรศัพท์ เสื้อยืด กระเป๋า แฟ้ม ล้วนมีคำว่าเรวะสกรีนติดไว้ (แน่นอนว่าราคาพุ่งสูงกว่าแบบไม่มีคำว่าเรวะเป็นเท่าตัว) พวงกุญแจ ที่ห้อยกระเป๋าหลากหลายรูปแบบเขียนเป็นคำว่าเรวะ และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในวันเดียว ใกล้ๆ ตลาดมีศาลเจ้าท้องถิ่น นี่ก็จัดเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผู้คนนิยมทำกันในวันนี้ คือการขอพรและเขียนคำอธิษฐานลงกระดาษเพื่อผูกลงบนกิ่งจำลอง แน่นอนว่าเราแทบหาที่แทรกลงไปผูกกระดาษขอพรไม่ได้

 

ยุคเรวะ

 

     รายการโทรทัศน์ช่วงนี้ก็สนุกเป็นพิเศษ ช่องข่าวนำเสนอความเคลื่อนไหวของประชาชนที่มีต่อชื่อใหม่จากทั่วทั้งประเทศ ที่เห็นบ่อยสุดในระยะแรกคือกิจกรรมแปรอักษรของเหล่ามนุษย์ออฟฟิศ นักเรียนนักศึกษาประกวดเขียนอักษรคันจิคำว่าเรวะด้วยพู่กัน มีร้านเบเกอรีชื่อดังในโอซาก้าทำคุกกี้เป็นคำว่าเรวะ บาริสตาเขียนชื่อรัชศกใหม่บนฟองนมให้ลูกค้า ได้เห็นเบื้องหลังการทำงานอันเคร่งเครียดของทีมงานผลิตปฏิทินที่รู้ชื่อใหม่เอาพร้อมๆ กับประชาชนทั้งประเทศ แถมต้องแข่งกับเวลาเพื่อให้ปฏิทินรุ่นอัพเดตรัชศกใหม่สามารถวางขายเร็วที่สุด โดยจะออกมาในเวอร์ชันตั้งโต๊ะ มีเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนแรก

     วงการบันเทิงเองก็มีมีการจัดอันดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงสามสิบปีแห่งยุคเฮเซ น่าติดตามไม่แพ้รายการไทยช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ Oricon Chart ชาร์ตเพลงยักษ์ใหญ่แห่งประเทศจัดอันดับสิบอัลบั้มที่มียอดขายสูงสุดตั้งแต่ปี 1989-2019 ที่หนึ่ง ได้แก่ First Love (1999) ของ อูทาดะ ฮิคารุ อยู่ที่ 7.6 ล้านแผ่น และยังคงเป็นอัลบั้มที่มียอดขายสูงสุดตลอดกาลของญี่ปุ่น ที่สำคัญคือภายในท็อปเท็นนี้ เป็นอัลบั้มของฮิคารุไปแล้วถึงสามชุด นอกจาก First Love ยังมี Distance (2001) 4.4 ล้านแผ่น และ Deep River (2002) 3.6 ล้านแผ่นตามลำดับ

     เฮเซถือเป็นยุคแจ้งเกิดของศิลปินมากมายที่ทำให้วงการเพลงญี่ปุ่นเติบโตจนขยายฐานผู้ฟังออกสู่ระดับสากลผ่านกระแส J-pop ที่เฟื่องฟู ทั้ง Arashi, AKB48, Mr.Children, Ayumi Hamasaki รวมถึง Hey! Say! JUMP บอยแบนด์จากค่ายจอห์นนีส์ที่ใช้ชื่อรัชศกเป็นชื่อวง เนื่องจากสมาชิกในวงล้วนเกิดในช่วงปีเฮเซ

 

ยุคเรวะ

 

     ในความทรงจำของคนนับล้าน เฮเซยังเป็นระยะเวลาแห่งป๊อปคัลเจอร์ที่หลายคนเติบโตมาด้วยกัน เป็นเพื่อนในจินตนาการ เป็นแรงบันดาลใจที่มีอิทธิพลต่อชีวิต แผ่ขยายวัฒนธรรมญี่ปุ่นสู่ทั่วโลกให้กลายเป็นภาพจำ ทั้ง Dragon Ball Z (1989) ผลงานของ อากิระ โทริยามะ มหากาพย์การต่อสู้ผจญภัยระดับจักรวาลของยอดมนุษย์ต่างดาวเพื่อตามหาดราก้อนบอลทั้งเจ็ด แต่ยังมีที่มหากาพย์กว่านั้นคือ นักสืบจิ๋วโคนัน (1994) ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘สุดยอดนักสืบแห่งปีเฮเซ’ ที่แฟนมังงะชาวญี่ปุ่นเองยังโอดครวญว่าสุดท้ายก็โตไม่พ้นยุคเฮเซสินะ จวนจะเข้าแผ่นดินเรวะอยู่แล้วทำไมไม่โตสักที (ฮา) และ One Piece (1997) การ์ตูนที่ได้รับการบันทึกไว้ใน Guinness World Record ว่ามียอดขายถล่มทลายสุดในโลกด้วยจำนวน 450 ล้านเล่ม ซึ่งแน่นอนว่ายังคงลอยออกทะเลไปเรื่อยๆ ยังไม่เห็นแววว่าจะจบง่ายๆ เช่นเดียวกับ โคนัน

     ซีรีส์ขบวนการไอ้มดแดงหรือ Kamen Rider เพื่อนวัยเด็กของหลายคนก็ถือกำเนิดขึ้นช่วงนี้ รวมถึงขบวนการนักสู้ห้าสีเซ็นไตต่างๆ เช่น Ju Rangers, Power Rangers, Turbo Rangers กับเทคนิคขยายร่างของเหล่าร้ายด้วยการกินมันต้มอัดแท่งในตำนาน จะว่าไปก็คิดถึงสมัยที่ตื่นขึ้นมาดูช่องเก้าการ์ตูนในเช้าวันเสาร์อาทิตย์มากๆ

 

ยุคเรวะ

 

     กระแสเรวะนำความสนใจมาสู่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ไม่เว้นแม้แต่บุคคลในข่าวก็ยังถูกกล่าวถึงผ่านสื่อต่างๆ ตามไปด้วย เช่น โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการใหญ่คณะรัฐมนตรีผู้รับหน้าที่ประกาศชื่อรัชศก ได้รับความชื่นชมจากประชาชนอย่างมาก ทั้งในแง่หน้าที่การงานซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตำแหน่งโหดหิน จากความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ เพราะเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสำหรับการเมืองญี่ปุ่นไม่ได้เป็นเพียงแค่โฆษกของรัฐบาล แต่ยังอยู่เหนือรัฐมนตรีทั่วไป จนได้สมญานามว่าเป็น ‘นายกรัฐมนตรีเงา’ เนื่องจากได้รับความไว้วางใจสูงสุดจาก ชินโสะ อาเบะ ในฐานะมือขวา เป็นคนประสานงานระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนักการเมืองทุกพรรคทุกฝ่าย นอกจากนี้นายซูกะยังทำหน้าที่ร่างนโยบายรัฐบาล เป็นผู้ร่างแถลงการณ์แสดงจุดยืนของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี หลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สองอีกด้วย

     ด้านชีวิตส่วนตัวและประวัติการทำงานของนายซูกะก็ได้รับการยกย่องไม่น้อย ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของความขยันขันแข็ง ถ่อมตน และอดทนสู้งาน จากเด็กหนุ่มที่มีพื้นเพครอบครัวเป็นชาวนา ตั้งใจเรียนจนจบมัธยมปลาย สมัครเป็นพนักงานที่โรงงานผลิตกล่องกระดาษ เรียนหนังสือและทำงานส่งตัวเองเรียนไปด้วยกระทั่งจบมหาวิทยาลัย เข้าสู่เส้นทางการเมืองโดยปราศจากเส้นสาย เลขาธิการคณะรัฐมนตรีนั้นได้ชื่อว่าเป็นตำแหน่งที่เครียดอันดับต้นๆ ของประเทศรองจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายซูกะก็อยู่ในหน้าที่นี้มานานเกือบสิบปี เป็นที่ทราบกันในหมู่ลูกน้องและคนสนิทว่า ท่านเลขาฯ ไม่เคยมาสาย ไม่เคยลางานหรือลาหยุด กิจวัตรประจำวันคือนอนห้าทุ่มตื่นตีห้า อาหารกลางวันมื้อประจำคือโซบะ เพราะใช้เวลาน้อย รีบกินรีบกลับไปทำงานต่อ เกิดเป็นกระแสโซบะท่านเลขาฯ ขึ้นมาในหมู่ชาวเน็ตญี่ปุ่น ในฐานะอาหารนักสู้ และยิ่งกว่านั้นคือมีคนวาดรูปท่านเลขาฯ ตอนกำลังชูป้ายเรวะในเวอร์ชันอนิเมะด้วย ดูน่ารักน่าเอ็นดูสมกับความญี่ปุ่น

 

ยุคเรวะ

 

รุ่งอรุณแห่งความหวังและการก้าวต่อไป

     ภายหลังคำประกาศของรัฐบาล ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย องค์กรธุรกิจพร้อมใจกันจัดแคมเปญสนุกๆ เพื่อต้อนรับรัชศกเรวะกันถ้วนหน้า กลายเป็นสีสันของบ้านเมืองที่ไม่เคยปรากฏ เพราะหลายร้อยปีที่ผ่านมา วาระแห่งการเปลี่ยนผ่านมักมาพร้อมการไว้อาลัยอันโศกเศร้า ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับครั้งนี้

     รีสอร์ตสไตล์บาหลีในโอซาก้าแห่งหนึ่งชื่อ Hotel Bali Tower Osaka Tennoji ออกโปรโมชันใหม่ โดยแขกที่เข้าพักท่านไหนมีอักษรคันจิคำว่า ‘เรวะ’ (令和) ไม่ว่าในชื่อหรือนามสกุล จะได้สิทธิ์พักฟรีทันทีสองคืนไปเลย ส่วนคนที่มีอักษร ‘เร’ () หรือ ‘วะ’ () ตัวใดตัวหนึ่ง จะได้รับส่วนลดค่าธรรมเนียมถึง 20% แทน ผู้ร่วมกิจกรรมเพียงแค่เตรียมหลักฐานเพื่อยืนยันกับพนักงานเท่านั้น

     ด้านบริษัทผลิตตรายางและร้านเครื่องเขียนก็ตื่นตัวไม่แพ้กัน เมื่อออร์เดอร์ตรายางและสติ๊กเกอร์ตัวอักษรเรวะจากหน่วยงานรัฐและเอกชนในท้องถิ่นนั้นมีการสั่งผลิตทันที เพื่อใช้ในงานเอกสารของรัชสมัยใหม่ ตามมาด้วยธุรกิจร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากเทรนด์เรวะ และชื่อ ‘เรวะ’ นั้นมาจากบทกวีดอกบ๊วย หรืออุเมะโนะฮานะ ที่อยู่ในหนังสือรวมบทกวีมันโยชู ประชุมกลอนฉบับเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น อายุกว่า 200 ปี โดยมีความหมายถึงการบรรยายความงดงามในธรรมชาติประมาณว่า ฤดูหนาวได้ผ่านพ้น เข้าสู่ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ดอกบ๊วยเริ่มเบ่งบาน ดอกกล้วยไม้ส่งกลิ่นหอมกระจาย… ซึ่งความต้องการที่จะมีหนังสือชุดนี้ไว้ในครอบครองของประชาชนทั่วประเทศ ทำให้เกิดยอดสั่งจองมหาศาล มีการรีปรินต์ครั้งใหญ่ แม้จะต้องซื้อให้ครบเป็นเซตซึ่งจะมีถึง 20 เล่ม และราคาสูงกว่า 4,500 บาทก็ตาม

     ฝั่งห้างสรรพสินค้าหลายเจ้าเตรียมปล่อยเสื้อผ้าและเหรียญที่ระลึกเป็นลายชื่อยุคเฮเซ และเรวะ บางแห่งประกาศจะแจกเค้กถั่วแดงให้กับลูกค้าตั้งแต่วันที่ 27 เมษายนเป็นต้นไป ส่วนบริษัท Nippon Travel Agency บริษัทที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยวที่เก่าแก่ของญี่ปุ่น ก็ทำการเหมารถไฟหัวกระสุนเที่ยวพิเศษสายโอซาก้า-คิวชู เพื่อผลิตตั๋วที่ระลึกซึ่งจะมีชื่อยุคทั้งสองพิมพ์คู่กัน

 

ยุคเรวะ

 

     นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งตลาดหลักทรัพย์หลายคนมองว่า การเปลี่ยนรัชศกจะกระตุ้นการจับจ่าย เกิดเงินสะพัดหมุนเวียนในระบบช่วงวันหยุดยาวสิบวัน (Golden Week) ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายนถึง 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา กว่า 3.7 แสนล้านเยน หรือ 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ธุรกิจการท่องเที่ยวภายในประเทศน่าจะคึกคักอย่างมาก

     แต่ขณะเดียวกันก็ใช่ว่าทุกคนจะรู้สึกดีหรือมีความสุขกับเรื่องนี้เสียทั้งหมด ผลสำรวจจากหนังสือพิมพ์ Asahi ระบุว่า ชาวญี่ปุ่นวัยทำงานราว 45% รู้สึกวิตกกังวลกับช่วงหยุดยาว มีเพียง 35% เท่านั้นที่คิดว่าตนมีความสุขดี

     สาเหตุของความเครียดทั้งที่ได้หยุดยาวมีมากมาย เพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเล่าว่า กิจวัตรปกติของตัวเองคือการทำงานเป็นหลัก ปกติตื่นเช้าออกจากบ้านไปทำงาน กลับมาตอนค่ำก็นอน ใช้ชีวิตอยู่ในอพาร์ตเมนต์ ถ้าจะต้องว่างยาวขนาดนั้นโดยไม่มีแผนจะทำอะไรเป็นพิเศษ คงต้องนอนเบื่อๆ อยู่ห้องตลอดสิบวัน หรือถ้าออกเดินทางไปต่างจังหวัด ต่างประเทศ ก็ไม่พ้นต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ค่าแพ็กเกจทัวร์ ค่าตั๋วเครื่องบินสุดแพง แถมสถานที่ไหนๆ ล้วนมีแต่คนแย่งกันกินแย่งกันใช้ แตะตรงไหนก็แพงไปหมด ดูเป็นวันหยุดที่เหนื่อยกว่าวันธรรมดาเสียอีก ดังนั้น ถ้าคิดอะไรไม่ออกจริงๆ คงเลือกกลับบ้านไปหาพ่อแม่ อย่างน้อยก็ช่วยประหยัดค่ากิน

 

ยุคเรวะ

 

     ฝั่งของผู้ให้บริการเองก็มีความกังวล หากลูกค้าต่อวันเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แปลว่าจะเหนื่อยกว่าเดิมหลายเท่า แต่นั่นยังไม่ชวนเครียดเท่ากับว่ากลัวจะไม่สามารถควบคุมคุณภาพให้ดีตามมาตรฐานได้ จริงๆ คือมาใช้บริการจำนวนเท่าเดิมต่อวันดีกว่าโถมมาวันละหลายร้อยคน หาได้ดีใจกับยอดขายที่จะเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

    สิ่งที่เห็นและรับรู้ผ่านบทสนทนามากมาย สัมผัสได้ว่าชาวญี่ปุ่นต่างปีติยินดี และตั้งตารอคอยความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสถาบันกษัตริย์ โดยส่วนตัวก็นึกดีใจที่ได้อยู่ร่วมในช่วงเวลาสำคัญนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เรารัก ผูกพันในฐานะที่เติบโตมาพร้อมวัฒนธรรมสมัยเฮเซ ถือเป็นเรื่องน่าจับตามองว่าญี่ปุ่นในแผ่นดินใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ จะมีอะไรให้เราได้ตามทึ่งกันต่อไป

 


เรื่องและภาพ: บุญมนัสสวัสดี ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ภาพบางส่วนจาก: Reuters