จิตสำนึกสาธารณะญี่ปุ่น: ความขัดแย้งในจิตใจของคนญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อพูดถึง ‘จิตสำนึกสาธารณะ’ ก็มักจะพ่วงตามมากับภาพของ ‘ชนชาติญี่ปุ่น’ ที่ใครหลายคนมักจะมีภาพแบบสถิตย์ นึกถึงแต่อะไรที่ใครมักคิดถึงกันอย่างที่กระแสสื่อสังคมส่วนใหญ่มักจะให้ภาพร่วมกัน แต่จริงๆ แล้ว สิ่งนี้ไม่อาจให้ภาพเหมารวมกับลักษณะสังคมและวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นทั้งหมดทั้งมวลได้ แท้ที่จริงตามหน้าประวัติศาสตร์ของชาวญี่ปุ่นนั้นล้วนแล้วแต่มีพลวัตและไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวตลอดมาอย่างที่เราเข้าใจ

        บทความนี้จะต้องการกล่าวถึงบริบทสังคมและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถึงญี่ปุ่น ณ ปัจจุบันว่าภายหลังจากประเทศญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามในครั้งนั้น ทำให้ผู้คนเต็มไปด้วยบาดแผลภายในจิตใจและปัญหาทางอารมณ์มาตั้งแต่ตอนนั้นจวบจนปัจจุบันนี้ กลายมาเป็นความย้อนแย้งภายในจิตใจของคนญี่ปุ่น ที่ต้องหาหนทางระบายออกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ต่อด้วยการวิพากษ์ถึงความเป็นญี่ปุ่นที่เกี่ยวโยงกับประเด็นจิตสาธารณะ

ญี่ปุ่นกับการสร้างชาติที่พังทลาย

        ขอย้อนรอยสักนิดถึงบทความก่อนหน้า ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 ภายหลังญี่ปุ่นเปิดประเทศ รับนำเอาอิทธิพลของชาติตะวันตกเข้ามา บทบาทของญี่ปุ่นในบริเวณเอเชียตะวันออกก็ได้ปรากฏเด่นชัดขึ้นในฐานะชาติมหาอำนาจ โดยการรับนำเอาลัทธิชาตินิยมพ่วงด้วยอุดมการณ์จักรวรรดินิยมมาใช้ ผนวกการวางระบบสังคมการเมืองที่จะไม่ยอมเป็นเบี้ยล่างใคร พาตนเองก้าวสู่การเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ และการทหาร เหนือประเทศจีน เกาหลี รวมถึงประเทศต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ กระทั่งถลำลึกกลายเป็นผู้ก่อมหาสงคราม และหาญกล้าพลีชีพเพื่อชาติและจักรพรรดิด้วยความจงรักและภักดี

        เมื่อสิ้นสุรเสียงของพระจักรจรรดิประกาศกร้าวให้ยุติสงคราม พร้อมให้ประชาชนและทหารญี่ปุ่นทุกหมู่เหล่าปล่อยวางอาวุธ นับเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ถือเป็นการสิ้นสุดมหาสงครามโลกครั้งที่สอง คนจำนวนมากเลือกที่จะปลิดชีพเพื่อชาติ เนื่องจากไม่อาจยินยอมพร้อมรับความจริงตรงหน้า ดั่งโลกทั้งใบได้แตกสลายลง ในขณะที่ประชาชนอีกส่วนแม้จะรู้สึกว่าชีวิตที่มีตอนนี้ไร้ค่าแต่เพียงไรก็ตาม ก็ยังจะก้มตายอมรับชะตากรรมอย่างห้าวหาญ เดินหน้าสู่ต่อไป และพวกเขานี่แหละ คือผู้คนที่หลงเหลือซึ่งเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ญี่ปุ่นเจริญรุดหน้าในเวลาต่อมา

        กว่าที่จะพ้นผ่านช่วงเวลาที่แสนยากลำบากเหล่านั้นมาแน่นอนว่าย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก การปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนขององค์จักรพรรดิ และถ้อยคำข้างใต้นี้คือสิ่งสำคัญอันยิ่งใหญ่ทำให้ชาวญี่ปุ่นอดทนฟันผ่าอุปสรรคจนพ้นภัย ฟื้นฟูตัวเองจากสงคราม สามารถก้าวเดินต่อไป และทำให้ประเทศกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้งหนึ่ง

“จงอดกลั้นในสิ่งที่ยากจะอดกลั้นไว้ได้ และจงอดทนในสิ่งที่ยากจะอดทน เพื่อถากถางปูทางสู่มหาสันติภาพอันจักยั่งยืนสืบไปนับพันปี”

        จากประเทศที่มีความเชื่ออย่างสุดใจว่าตนเองห้าวหาญ จะมีใครอื่นใดสามารถทัดเทียมได้ กลับกลายเป็นชาติที่แพ้พ่ายให้กับสงคราม ต้องอยู่ใต้ปกครองต่างชาติอย่างสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจระส่ำระส่ายจนพังทลาย ความคิดและความเชื่อทั้งหมดที่เคยมีมา ถูกถอนรากถอนโคนทิ้ง กลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพิศมัย ไม่น่าเชื่อถือ และไม่แม้แต่จะสามารถเหนี่ยวรั้งชนชาติญี่ปุ่นได้อีกต่อไป สิ่งที่เคยมีมาในอดีต ทั้งความก้าวหน้าของระบบการเมือง ทั้งความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการทหาร อาจจะเรียกได้ว่าถูกโค่นล้มลงไป แต่ต้องสร้างใหม่ขึ้นมาทั้งหมด 

        แต่เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นกลับมาคึกคะนองกับชาวโลกได้อีกอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาบนหน้าประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เพื่อทำให้ประเทศเข้าใกล้คำว่าประเทศประชาธิปไตย โดยการโฟกัสที่สามประเด็นหลัก ได้แก่ การปฏิรูปสถาบันจักรพรรดิ การยกเลิกองค์กรทหาร และการทำลายไซบัทสึ บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเส้นสายกับรัฐบาล

        แม้มีหลายฝักหลายฝ่าย ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส โซเวียต และบรรดาประเทศสัมพันธมิตรทั้งหลายต่างต้องการให้ประหารชีวิตจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ และฮิเดกิโตโจ ในฐานะผู้นำกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น โดยมีผลประชามติกว่า 70% ให้จัดการประหารพระจักรพรรดิ แต่อเมริกากลับมองว่าหากทำลายสถาบันจักรพรรดิลง จะยิ่งทำให้การปกครองญี่ปุ่นยิ่งยากเข้าไปใหญ่ โดยเทียบว่าจักรพรรดิเป็นพญาผึ้ง หากถูกกำจัดไป เหล่าผึ้งก็จะโกลาหลและแตกรังแน่ๆ

        ภายหลังสงครามครั้งนั้น กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะ นำโดย ดักลาส แมคอาเธอร์ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกา ก็ทำได้เพียงเข้ายึดครองญี่ปุ่น และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ลดทอนพระราชอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิลงให้กลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ ตามประชาธิปไตยแบบตะวันตก (ที่ไม่เคยมีการแก้ไขตราบจนปัจจุบัน) อีกทั้งเพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นกลับมาแก้แค้นด้วยการผงาดขึ้นมาเป็นจักรวรรดินิยมชาตินิยมสุดโต่งอีกครั้ง จึงห้ามไม่ให้มีกองกำลังทหารในสงครามเป็นของตนเอง พร้อมทั้งยังผ่าตัดไซบัทสึ (กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจและการเมืองของญี่ปุ่นในยุคเมจิ ช่วงปี ค.ศ. 1868 ถึง 1912) ออกเป็นหลายยริษัท เพื่อป้องกันการผู้ขาด และปฏิรูปกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อให้นายทุนขนาดใหญ่ที่ครอบครองที่ดินหายไปจากระบบ

        ไม่ต่างกันกับส่วนลึกภายในจิตใจของประชาชนคนญี่ปุ่น ที่ต่างบอบช้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งไปผูกโยงกับความคิดและความเชื่อมากมายที่พวกเขายึดถึง ก่อนที่ก็ถูกรื้อถอนสิ่งเหล่านั้นออกไป ราวกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดเป็นสิ่งที่เขาลวงหลอก หลงเหลือก็เพียงแต่ความไร้ค่า แต่อย่างไรก็ตาม หนึ่งสุภาษิตที่จะช่วยปลอบประโลมความรู้สึกล่มสลายตรงหน้าได้ เพื่อให้สามารถลุกขึ้นหยัดยืนขึ้นมาให้อีกครั้งก็คือคำว่า

明けない夜はない หมายถึง ไม่มีคืนไหนที่จะไม่เช้า

        แน่นอนว่าไม่มีใครไม่เจอปัญหา ความผิดพลาด หรือสิ่งที่ล้มเหลวในชีวิต ไม่ว่าจะด้านได้ก็ดี แต่ในท้ายที่สุด เชื่อว่าไม่มีอะไรอยู่ยั้งยืนยงเสมอไป ไม่มีใครจมจ่มอยู่กับความทุกข์ทนได้ตลอดไป ในวันหนึ่งจะดีขึ้นมามาได้อีกครา เปรียบเหมือนค่ำคืนที่มืดมิดเท่าไรก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้วพระจันทร์จะร่ำลาไป พระอาทิตย์จะขึ้นมาเฉิดฉายให้แสงสว่างอีกครั้งหนึ่งแน่นอน

        ดังที่เราจะสามารถเห็นได้จากญาติผู้ใหญ่ที่เคยมีชีวิตอยู่ในยามสงครามครั้งนั้น การที่พวกเขาสามารถคลี่ยิ้มได้แม้แต่เพียงจางๆ เมื่อกลับไปนึกย้อนถึงเรื่องราวให้อดีตเหล่านั้นได้ นั่นก็หมายความว่าคนญี่ปุ่นได้ก้าวข้ามออกมาจากช่วงประวัติศาสตร์ชาตินิยมอันเจ็บปวดนั้นแล้ว

ญี่ปุ่นกับการกลับมาเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง

        ญี่ปุ่นภายใต้การปกครอบของอเมริกา ด้วยข้อห้ามในการมีกองกำลัง แต่จะได้รับการสนับสนุนทางการทหารนั้น ทำให้ญี่ปุ่นไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลไปกับการทหารและกองทัพ ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีกำลังในการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกแบบก้าวกระโดด กลายมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับเดียวกันกับสมัยก่อนสงครามโลก

        เวลาเพียงเจ็ดปี ภายหลังปรับเปลี่ยนญี่ปุ่นให้เข้าที่เข้าทางตามที่ตนเองต้องการแล้ว สหรัฐอเมริกาก็ได้ตัดสินใจให้เอกราชกับญี่ปุ่น ทำสนธิสัญญาซานฟรานซิสโก และกลับมาเชิดหน้าชูตาในเฉพาะสังคมโลกทุนนิยมแบบเดียวกันได้แต่เพียงเท่านั้น ส่วนทางโซเวียตและคณะก็ไม่ได้ยอมรับญี่ปุ่นเท่าที่ควร 

        ในส่วนของการศึกษา สหรัฐฯ ได้เข้ามาจัดระบบเพื่อปลูกฝังประชาชนไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เคารพในสิทธิส่วนบุคคล มีความเสมอภาคทางการศึกษา ส่งเสริมให้คนหันมาเรียนหนังสือมากขึ้น เพื่อพ้นจากสภาพประเทศด้อยพัฒนาอย่างรวดเร็ว และได้รับความประสบความสำเร้จทางด้านอื่นตามมา

        จากชาติที่พังทลายลงไป ได้ฟื้นคืนชีพกลับมาอีกครั้ง แถมยังไต่เต้าขึ้นผงาดไปสู่การเป็นมหาอำนาจ แน่นอนว่าไม่ใช่ทางด้านการทหารอย่างเคย แต่เป็นด้านเศรษฐกิจที่ทรงอิทธิพลต่อหลายประเทศทั่วโลกในระยะเวลาอันสั้น

        ชาวญี่ปุ่นหลายคนที่มีชีวิตอยู่ต่อ แม้จะเชื่อว่าในจิตใจจะรู้สึกว่าตนเองไร้ค่าราวกับว่าตายลงไปเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อต้องสู้ต่อไป พวกเขาก็ต้องสละตัวตนเดิมทิ้ง และเกิดกลายมาเป็นตัวตนใหม่ เพื่อที่จะจงรักภักดีต่อสังกัดใหม่ต่อไป แม้ว่าผู้ที่จะมาปกครองต่อคือสหรัฐอเมริกาเป็นระยะเวลาชั่วคราวก็ตาม 

        แต่สิ่งนี้เองก็ถือเป็นข้อดีของชาวญี่ปุ่นที่มีจิตสำนึกในความเป็นกลุ่มสูง สละตนเองเพื่อคนในส่วนรวม เป็นรากฐานที่ทำให้เศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่นพัฒนาอย่างยิ่งยวด ต่อให้แท้ที่จะจริงแล้ว จะรู้สึกกดดันตัวเอง รู้สึกไม่เป็นตัวเองก็ตาม แต่ก็ต้องสยบยอมต่อเสียงคนข้างมาก ไม่ให้ตนเองเสียหน้า พ่วงมาด้วยหน้าที่ ความรับผิดชอบ และการปฏิบัติ จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในสังคมอย่างแยกขาดออกจากกันไม่ได้

        ตามหลักสำคัญเกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นสองคำที่พูดถึงการสะท้อนตัวตนของคนญี่ปุ่น คือคำว่า งิริ (giri) หมายถึง หน้าที่หรือพันธกิจที่คนญี่ปุ่นจำเป็นต้องทำให้ประสบความสำเร็จในฐานะสมาชิกของกลุ่ม เป็นภาพลักษณ์ภายนอกที่มักจะได้รับความคาดหวังจากกลุ่มสังคม กับอีกหนึ่งคำคือ นินโจ (nijo) หมายถึง พันธกิจของความเป็นมนุษย์ ซึ่งผูกโยงกับอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดภายใน 

        แต่บ่อยครั้งสิ่งนี้ก็มักที่จะขัดแย้งกันเอง ทำตามหน้าที่อย่างเคร่งครัดจนเกินไป เห็นความสำคัญต่อสาธารณะมากกว่าเรื่องส่วนตัว ใส่ใจบริษัทอย่างหนักจนเพิกเฉยการดูแลครอบครัวในแบบอย่างที่ควรจำเป็น แต่คนส่วนมากก็มักจะระบายอารมณ์ความรู้สึก ผ่านวัฒนธรรมการดื่มเหลังเลิกงาน (nomikai) เป็นพื้นที่ที่สามารถแสดงตัวตนออกมาได้ โดยไม่ต้องห่วงใยภาพลักษณ์ของตัวเอง ทำให้ไม่ต้องเก็บอารมณ์เอาไว้จนระเบิดออกมาเป็นการฆ่าตัวตายที่สถานีรถไฟ ฆาตกรรมหมู่แก๊สซาริน หรือพฤติกรรมแปลกๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณชน

ญี่ปุ่นกับความขัดแย้งในจิตใจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

        เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในวงการวิชาการ โดยตั้งต้นด้วยคำถามที่ดูจะเหมือนง่าย แต่แน่นอนว่าไม่ง่าย ว่า Who are Japanese? โดย โรเจอร์ กู้ดแมน ที่เขียนต่อยอดงานจากสุกิโมโตะ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของญี่ปุ่น สิ่งใดครอบงำการอธิบายสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นกันแน่

        จึงเกิดการสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับชาวญี่ปุ่น (Nihonjinron) โดยแบ่งออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน คือ Primordialists ที่มองว่าความเป็นชาติพันธุ์นั้นเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่เกิด และอัตลักษณ์ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ถ่ายทอดมาแต่กำเนิด ในแบบที่สองก็คือ Instrumentalist ที่มองว่าอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เป็นสิ่งประดิษฐ์โดยกลุ่มปัจเจกเพื่อใช้เป็นเครื่องมือให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน

        นักวิชาการสายที่เชื่อในแบบแรกมองว่า ชาวญี่ปุ่น หรือชาววะ (和; wa) เป็นกลุ่มคนที่มักจะถูกคาดหวังให้คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น หลีกเลี่ยงความบาดหมางระหว่างคน ชอบความคล้ายคลึง กลมกลืนร่วมกันของมนุษย์กับธรรมชาติ มีจิตสำนึกของเกี่ยวกับกลุ่มที่พัฒนามาจากการทำเกษตรกรรมในที่ราบลุ่มมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ ทำให้ต้องทำงานหนัก มุ่งมั่น พยายามเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร 

        แม้แนวคิดข้างต้นจะฟังดูน่าเชื่อถือ และเป็นแนวคิดที่มีอำนาจนำจนกลายมาเป็นภาพจำของบุคคลภายนอกที่มองเข้าไปยังชาวญี่ปุ่นแต่เพียงไร คำอธิบายดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายกรณี เนื่องจากคำอธิบายที่ว่านั้นเป็นการสร้างตัวแบจำลองของสังคมญี่ปุ่นในทิศทางตรงกันข้ามหมดเลยกับประเทศตะวันตก ทำให้ง่าย (simplify) ด้วยการมองสังคมญีปุ่่นเป็นเนื้อเดียวกันหมด ต่างจากชนชาติตะวันตกที่มีความหลากหลาย

        อีกอย่างก็มองอะไรเป็นแบบแก่นแท้นิยม (essentialist) และไร้ประวัติศาสตร์ (ahistorical) เป็นการมองวัฒนธรรมญีปุ่นเป็นแบบตายตัวไม่เปลี่ยนแปลง ขัดแย้งกับแนวคิดที่มักจะมองว่าอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการมือปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และการวางสมมุติฐานว่าสังคมญี่ปุ่นมีความกลมกลืนและคงที่ ทั้งที่จริงแล้วหากมองแย้งด้วยข้อมูลและความถูกต้องของบริบททางประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นนั้นมักจะละทิ้งความซื่อสัตย์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือหากมองในอีกแง่หนึ่ง ถึงจะมองว่าสังคมมีความกลมเกลียวเห็นพ้องต้องกัน แต่นั่นไม่ใช่เพราะเขาเป็นเช่นนั้นมาตั้งแต่เกิด แต่เป็นเพราะการเห็นพ้องต้องกันถึงประโยชน์ส่วนตนบางอย่างในการสร้างผลประโยชน์ส่วนรวม

        แน่นอนว่างานเขียน Nihonjinron จะมีคุณค่าและคุณูปการที่สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของชาติเพื่อให้คนในชาติรู้สึกถึงวัฒนธรรมที่มียึดถือร่วมกัน การหยิบยกลักษณะพิเศษที่มีเฉพาะในวัฒนธรรมของตนเอง อย่างภาษาญี่ปุ่น จักรพรรดิ ชินโต การสร้างความเป็นญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยเมจิ ล้วนแล้วแต่เป็นความพยายามสร้างจิตสำนึกความเป็นชาติผ่านกระบวนการเหล่านี้ทั้งนั้น 

        ไม่เพียงประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แม้แต่ประเทศไทยเองก็ยังมีภาษาไทย พระมหากษัตริย์ ชนชาติไทย ศาสนาพุทธ สัญลักษณ์ที่สามารถหยิบยกขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นถึงการสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยเลือกที่จะไม่กล่าวถึงสิ่งที่แปลกแยกไปจากสังคม นั่นอาจจะหมายถึงกลุ่มชนชายขอบหรืออะไรก็ตามแต่

        อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ที่เล่ามาสามบทความ ก็เพื่อต้องการชี้ให้เห็นถึงจุดตั้งต้นที่ใครมักจะคุ้นเคยกันอย่างดีถึง ‘ความเป็นญี่ปุ่น’ ผ่าน ‘จิตสำนึกสาธารณะแบบญี่ปุ่น’ ที่ในทีแรกคนก็มักจะคิดถึงแต่อะไรในแบบสถิต เช่น การพูดจาถนอมน้ำใจผู้คน ความเป็นห่วงเป็นใยต่อความรู้สึกผู้อื่น การต่อแถวอย่างเรียบร้อยเพื่อรับถุงยังชีพ หรือการกล่าวบนโพเดียมเพื่อขอลาออกจากตำแหน่งหลังทำบางสิ่งบางอย่างล้มเหลว อันเป็นสิ่งที่กระทบต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่เป็นเพียงภาพแคบๆ ที่เรามองจากสื่อสังคมที่ภาพผลิตซ้ำภาพเหล่านี้ของญี่ปุ่นอยู่ตลอดเวลา

        แต่ถ้าหากเราก้าวถอยหลังมาอีกหนึ่งก้าวหรือมากกว่านั้น แล้วไปสืบค้นสังคมของคนญี่ปุ่นและความเป็นญี่ปุ่นผ่านร่องรอยหน้าประวัติศาสตร์ จะยิ่งเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า ญี่ปุ่นไม่ญี่ปุ่นอย่างที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันมาโดยตลอด นอกจากปัจจัยที่เกิดมาจากการอยู่ร่วมกันของคนญี่ปุ่นในพื้นที่ที่จำกัดแล้ว ชนชาติญี่ปุ่นในบางจำพวกก็เถลิงในอำนาจ อยากได้อยากมีเช่นเดียวกันกับชนชาติอื่นๆ ทั่วโลก ก่อสงครามแย่งชิงตำแหน่ง บัลลังก์ ราชสมบัติ หรือเพื่อที่จะประกาศตนเป็นมหาอำนาจของโลก

        แต่ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ก็สะท้อนให้เห็นถึงความลื่นไหลของบริบททางประวัติศาสตร์ ซึ่งมาจากการขัดเกลาทางสังคมและบริบทรอบข้าง จากแรงกดดันภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา การทหาร และประวัติศาสตร์มากมาย ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้จิตสำนึกสาธารณะแบบญี่ปุ่่นนั้นผลัดเปลี่ยนแนวคิด ความหมาย และการอธิบายความให้แตกแขนงออกไปเป็นหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะระดับต่อตนเอง สังคม การปกครอง และประเทศชาติก็ตามที


ที่มา:

https://www.th.emb-japan.go.jp/itpr_th/history.html
http://www3.ru.ac.th/korea/article1/article13.pdf
https://so02.tci-thaijo.org/index.php/japanese/article/view/51929
https://www.blockdit.com/posts/5ee9ca2fc08913174e8e0ff1
https://www.blockdit.com/posts/5eeb88f5e859060d8c058830
https://www.marumura.com/japan-after-world-war-ii/
https://th.anngle.org/j-culture/girininjo.html
https://thestandard.co/reiwa-era/
– เอกสารคำสอน ม336 สังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่น
– การบรรยาย 2402349 นโยบายการต่างประเทศของญี่ปุ่น

ภาพ: Reuters