หากพูดถึงคำว่า ‘จิตสำนึกสาธารณะ’ สิ่งที่ใครหลายคนมักจะคิดถึงขึ้นมาพร้อมกัน จนอดเอามาเปรียบเทียบไม่ได้ ก็คือภาพของ ‘ชนชาติญี่ปุ่น’ ที่ลอยมาพร้อมกับภาพประชาชนต่อแถวเข้าคิวรับถุงยังชีพเมื่อภัยพิบัติ หรือภาพผู้นำมายืนหน้าโพเดียมประกาศขอลาออกจากตำแหน่งภายหลังจากการทำผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย แล้วสิ่งใดที่หล่อหลอมให้คนญี่ปุ่นมี ‘จิตสำนึกสาธารณะ’ คำนึงต่อผู้อื่นได้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวโลกได้ขนาดนี้ แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแค่กระบวนการขัดเกลาทางสังคมที่เข้มข้น แต่ยังเป็นผลมาจากเรื่องทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และประวัติศาสตร์ของประเทศผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่สองอีกด้วย
กว่าประเทศญี่ปุ่นจะพัฒนาจนสามารถสร้างคนได้มีคุณภาพเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย คนญี่ปุ่นก็ไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่เกิดขึ้นมาลืมตาดูโลกแล้วเข้าอกเข้าใจ มีจิตสำนึกสาธารณะ เห็นแก่ส่วนรวมได้ตั้งแต่เกิด ตามหน้าประวัติศาสตร์ ประเทศญี่ปุ่นเองก็มีทั้งสงครามภายใน การช่วงชิงอำนาจระหว่างขุนนาง การจัดแบ่งคนออกเป็นชนชั้นต่างๆ ก่อนจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดทั้งคนทั้งประเทศ ภายหลัง (ถูกบังคับให้) รับอารยธรรมมาจากตะวันตกในช่วงยุคเมจิ (Meiji Restoration)
ลักษณะที่สำคัญและทำให้คนญี่ปุ่นเป็นคนที่เคร่งครัดในระเบียบแบบแผนนั้นคือการปฏิรูปการศึกษา ผ่านนโยบายของรัฐบาลที่จงใจใช้โรงเรียนเป็นกลไกสำคัญในการบ่มเพาะผู้คน ไม่ว่าจะเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ชาตินิยม เชิดชูจักรพรรดิ ทำให้คนญี่ปุ่นมีความเชื่อมาโดยเสมอว่าการตายในสนามรบเพื่อจักรพรรดิเป็นการตายอันทรงเกียรติ และพร้อมใจพลีชีพในมหาสงครามโลกครั้งที่สอง
อย่างที่ใครหลายคนพอจะทราบกันดี ว่าสุดท้ายประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้แพ้สงครามครั้งนี้ จากความพ่ายแพ้นั้นทำให้ผู้คนเต็มไปด้วยบาดแผลในจิตใจและมีปัญหาทางอารมณ์ตั้งแต่ตอนนั้นจวบจนปัจจุบัน แม้จะเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าญี่ปุ่นสามารถสร้างสังคมและบุคลากรออกมาได้มีคุณภาพมากเท่าไหร่ก็ตาม แต่ส่วนลึกภายในจิตใจของพวกเขากลับมีความย้อนแย้งในตัวตนสูงอย่างคาดไม่ถึง คนญี่ปุ่นบ่อยครั้งจำเป็นต้องทำในสิ่งที่แม้จะขัดกับความรู้สึกตัวเอง เพราะกลัวที่จะตกเป็นเป้าสายตาของคนรอบข้าง
บทความนี้ต้องการที่จะพูดถึง ‘จิตสำนึกสาธารณะญี่ปุ่น’ ที่แบ่งออกเป็นสามตอนตามช่วงเวลา หนึ่ง คือ ญี่ปุ่นในยุคสมัยร่วมใจสร้างชาติ ตั้งแต่อดีตกาลจนถึงสมัยปฏิรูปเมจิ ตอนที่สอง ญี่ปุ่นสมัยฟื้นฟูประเทศช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และตอนสุดท้าย ญี่ปุ่นในปัจจุบัน ว่าด้วยความย้อนแย้งภายในจิตใจของคนญี่ปุ่น และสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์
ปฐมบทของประเทศญี่ปุ่นในยุคที่ไร้เสถียรภาพ
การที่คนญี่ปุ่นกลายมาเป็นคนญี่ปุ่นที่มีการให้สำคัญกับความเป็นกลุ่มชน มีสำนึกคิดและและแสดงออกซึ่งพฤติกรรมแบบญี่ปุ่นๆ นั่นก็เป็นผลมาจากลักษณะทางภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นหมู่เกาะ รูปแบบสังคมญี่ปุ่นที่พัฒนามาจากสังคมเกษตรกรรม อีกทั้งการที่ต้องเผชิญแปรปรวนกับภัยธรรมชาติสูง พวกเขาเจอมาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพายุไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว สึนามิ หรือภูเขาไฟ ทำให้คนญี่ปุ่นไม่ยอมแพ้ที่จะเอาชนะกับภัยธรรมชาติทั้งหลายที่เกิดขึ้น อาศัยการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน ให้การร่วมมือร่วมแรงร่วมใจ นำไปสู่วิถีของการเรียนรู้ว่าเขาจะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นโดยไม่สร้างความขัดแย้งหรือพูดอะไรทำร้ายจิตใจคนรอบข้างอย่างไร
ในยุคแรกเริ่ม ภาพรวมของเกาะญี่ปุ่นประกอบไปด้วยรัฐเล็กๆ ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเมื่อราวคริสตศตวรรษที่ 4 มีศูนย์กลางอยู่ที่ยามาโตะ หรือจังหวัดนาระในปัจจุบัน ช่วงนั้นญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรต่างๆ บนคาบสมุทรเกาหลี ทำให้ได้รับอิทธิพลตามหลักคำสอนของขงจื๊อและศาสนาพุทธ รวมถึงวิทยาการต่างๆ ที่รับมาจากประเทศจีนผ่านประเทศเกาหลี
ช่วงต้นศตวรรษที่ 8 หลังจากเมืองหลวงถาวรแห่งแรกสร้างขึ้นในเมืองนาระ พร้อมก้าวเข้าสู่ยุคนาระ ราชวงศ์จักรพรรดิของญี่ปุ่นก็ขยับขยายอำนาจการปกครองออกจากศูนย์กลางทีละน้อย ตลอดจนขยายอำนาจไปจวบจนเกือบทั่วประเทศ
ต่อมาไม่นานนักก็ย้ายเมืองหลวงใหม่ไปยังเมืองเกียวโตในปัจจุบัน พร้อมกับการล่มสลายของสมัยนาระ กลายเป็นการเริ่มต้นสมัยใหม่ที่เรียกว่าสมัยเฮอัน เป็นยุคที่รุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ที่สุดสมัยหนึ่งของการพัฒนาประเทศญี่ปุ่น มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนต้องหยุดชะงักไปในปลายศตวรรษที่ 9 ทำให้ญี่ปุ่นสั่งสมวัฒนธรรมที่เป็นตัวของตัวเองขึ้นมา ผ่านกระบวนการผสมกลมกลืนและปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ที่เคยได้รับมาจากภายนอกให้กลายเป็นแบบอย่างเฉพาะตัวของชาวอาทิตย์อุทัยไปโดยปริยาย
ช่วงนั้นชีวิตในสังคมเมืองหลวงเต็มไปด้วยความหรูหราโอ่อ่า เพราะคนในราชสำนักสนใจอยู่แต่เรื่องศิลปะและความรื่นรมย์ ทำให้อำนาจในการควบคุมตระกูลขุนนางนักรบท้องถิ่นต่างเริ่มคลอนแคลน เป็นสิ่งล่อตาล่อใจให้ตระกูลขุนนางคิดต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงราชสำนัก เกิดสงครามครั้งใหญ่และสร้างความเสียหายอย่างมากในยุคกลางญี่ปุ่น
ยุคศักดินาจึงได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้การสืบทอดตำแหน่งของโชกุน หรือผู้ปกครองทางการทหาร จัดตั้งรัฐบาลขึ้นที่คามากุระ ใกล้กับนครโตเกียวในปัจจุบัน โดยสวมรอยเข้าบริหารแทนที่จักรพรรดิที่นครเกียวโต เป็นยุคการปกครองระบอบโชกุนด้วยบุชิโด วิถีทางแบบซามูไรหรือนักรบ ที่ถูกนำมาใช้ปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง และดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่าหลายร้อยปี แม้จะผ่านมาถึงสมัยมุโรมาจิแล้วก็ตาม
เมื่อการปกครองดำเนินไปเป็นระยะเวลากว่าสองศตวรรษ ระบอบโชกุนเดิมก็ถูกท้าทายอำนาจโดยตระกูลคู่แข่งจากส่วนอื่นของประเทศ ญี่ปุ่นแตกแยกด้วยสงครามกลางเมืองโดยผู้ครองนครในท้องถิ่นทำสงครามเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ แต่สุดท้ายความสงบสุขก็เกิดขึ้นได้อีกครั้งโดยการปกครองของนายพลโตโยโทมิ ฮิเดโยชิ ในปี 1590 ก่อนที่อำนาจจะลดลงอันเนื่องมาจากการยกทัพบุกเกาหลีไม่สำเร็จ
ญี่ปุ่นในยุคที่ (ไม่สามารถ) แยกตัวอย่างโดดเดี่ยว
ผู้ที่ขึ้นมาสืบทอดเป็นโชกุนคนต่อมาที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นปึกแผ่นและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขยาวนานได้ก็คือ โตกุงาวะ อิเอยาสุ ผู้จัดตั้งรัฐบาลโชกุนขึ้นที่กรุงเอโดะในปี 1603 และเลือกที่จะปิดประเทศไม่ติดต่อกับประเทศภายนอก เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งคุณงามความดีที่สมบูรณ์แบบด้วยโครงสร้างสังคมและการเมืองที่ตนสร้างขึ้น โดยออกกฎหมายห้ามคนเลื่อนชนชั้นของตัวเอง มีลำดับศักดิ์สูงต่ำคงไว้อย่างเคร่งครัด คือ นักรบ ชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้าเป็นตำแหน่งล่างสุดตามลัทธิขงจื๊อ
แต่ระบบที่ว่านี้ไม่อาจอยู่ยั้งยืนยงได้ ในวันหนึ่งก็ต้องล่มสลายลงเพราะคนต่างชนชั้นนั้น ก็มาถึงจุดที่ตัวเองไม่พึงพอใจในสถานะและระบบที่ตนเองอยู่ อย่างชาวนาที่ต้องทำงานหลังขดหลังแข็งแต่กลับได้ส่วนแบ่งน้อย ซามุไรแม้จะมีเกียรติ แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับยากจนถึงขนาดเป็นหนี้พ่อค้า พ่อค้าแม้มีศักดิ์ต่ำ แต่ก็มีเงินและมีหน้ามีตาพอสมควร ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังต้องเอาใจขุนนาง บ้างก็สนับสนุนซามูไร บ้างก็หันมาอยู่ฝ่ายโค่นล้มโชกุน
ที่กล่าวขึ้นมาทั้งหมดข้างต้นก็เพื่อที่จะเน้นย้ำให้เห็นว่าญี่ปุ่นตามหน้าประวัติศาสตร์แท้ที่จริงแล้วก็ไม่ได้เป็นปึกแผ่นมาโดยตลอด เหตุการณ์สงครามกลางเมืองแย่งชิงบัลลังก์ล้วนเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ไหนจะความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ทำให้เกิดเป็นความบาดหมางระหว่างกัน แม้ว่าจุดตั้งต้นจากภูมิประเทศและภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งจะมีส่วนทำให้ญี่ปุ่นต้องร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อเอาชนะภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น แต่ในส่วนของผู้มีอำนาจนั้นกลับทำสงครามกันจ้าละหวั่น กว่าจะกลายมาเป็นประเทศที่สงบได้ จนเรียกได้ว่าปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นไปได้ ก็ต้องอาศัยแบบแผนที่สำคัญทั้งในแง่การเมืองและสังคมที่สร้างขึ้นมาใหม่
การที่โชกุน โตกุงาวะ อิเอยาสุ ปิดประเทศโดยมีเป้าหมายว่าจะรักษาเสถียรภาพภายในประเทศ เนื่องจากความเชื่อที่ว่าคริสต์ศาสนาอาจจะมีอานุภาพในการทำลายล้างทัดเทียมกับอาวุธปืนที่ญี่ปุ่นมี จึงมีการสั่งห้ามเผยแผ่คริสต์ศาสนาและห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศ ยกเว้นกลุ่มพ่อค้าชาวดัตช์และชาวจีนที่ถูกให้ติดต่อกับญี่ปุ่นได้แค่ตรงบริเวณที่จัดไว้เท่านั้น
แต่ความสงบนั้นก็กลับเกิดขึ้นได้เพียงแค่ในระยะเวลาสั้นๆ สุดท้ายก็กลับต้องแพ้ภัยต่อกระแสกดดันให้เปิดประเทศสู่โลกภายนอก เมื่อปี 1853 พลเรือจัตวา แมตทิว ซี เพอร์รี แห่งสหรัฐอเมริกา ได้นำกองเรือรบเข้ามาในอ่าวโตเกียว ยื่นข้อเสนอแกมบีบบังคับให้ญี่ปุ่นทำสัญญาเปิดประเทศในเวลาต่อมา กลายเป็นชนวนเหตุเพิ่มแรงกดดันกระแสการเมืองและสังคมญี่ปุ่น จวบจนปั่นป่วนและทำลายโครงสร้างของระบบศักดินาที่มีอยู่เป็นเวลาเกือบสิบปี และท้ายที่สุดรัฐบาลโชกุนสายโตกุงาวะก็ถูกโค่นล้มลง ก่อนจะได้รับการฟื้นฟูใหม่มาเป็นของจักรพรรดิในยุคปฏิรูปการปกครองสมัยเมจิ ในปี 1868
ญี่ปุ่นในยุคร่วมใจสร้างชาติด้วยความรักและภักดี
สมัยเมจินับได้ว่าเป็นยุคที่มีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น เพราะสามารถพาประเทศเข้าสู่ความทันสมัยและเร่งพัฒนาให้ทัดเทียมกับชาติตะวันตกในเวลาเพียง 20-30 ปีเท่านั้น ถ้าเทียบกับชาวตะวันตกก็ใช้เวลากว่าหลายศตวรรษ จนญี่ปุ่นกลายมาเป็นประเทศที่ทันสมัยทั้งในด้านอุตสาหกรรม สถาบันการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ผ่านการให้ความสำคัญกับการศึกษาด้วยความเชื่อที่ว่าการศึกษาจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาประเทศก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ได้ทัดเทียมกับชาติตะวันตก พร้อมทั้งเป็นรากฐานในการสร้างจิตสำนึกสาธารณะอย่างที่คนทั่วโลกคุ้นเคยกันในปัจจุบัน
ประเทศญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญกับการศึกษามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ช่วงแรกในอดีต รัฐบาลจะให้การสนับสนุนจำกัดอยู่แค่ในบรรดาลูกหลานของชนชั้นปกครองเท่านั้น โดยเดิมทีจะเน้นไปที่การเรียนรู้หลักคำสอนตามตำราขงจื๊อและการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะเหล่าซามุไรเมื่อมีเวลาว่างจากสงครามภายในประเทศ ก็จะใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนวิทยาการ และเรียนรู้อารยธรรมตะวันตกจากดัตช์
ไม่เพียงเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง จากความรู้ที่ซามุไรได้ศึกษา ได้กลับมาตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของโชกุน เพราะถูกสอนมาว่าผู้ที่ควรมีอำนาจที่แท้จริงควรเป็นจักรพรรดิ ไม่เพียงแต่ซามูไรเท่านั้น แต่จากการขยายการศึกษาในยุคโตกุงาวะก็ทำให้คนอ่านออกเขียนได้จำนวนมาก ทั้งยังตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงประเทศให้มีความก้าวหน้า และส่งผลต่อค่านิยมด้านการศึกษาของชาวญี่ปุ่นมาจนปัจจุบัน
แต่หลังจากเปิดประเทศในสมัยเมจิ ญี่ปุ่นก็ได้ปฏิรูปการศึกษาขนานใหญ่ มีการปรับใช้หลักสูตร จัดระบบการเรียนการสอนตามแบบตะวันตก ก่อตั้งกระทรวงการศึกษา ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาแบบใหม่ ตามแบบโรงเรียนของฝรั่งเศส ให้คนญี่ปุ่นที่แต่เดิมก็สนใจในความรู้ตามหลักขงจื๊อแต่เดิมสามารถเข้าถึงได้โดยทั่วกัน ปรับเปลี่ยนโรงเรียนสอนซามูไรและโรงเรียนวัดให้กลายมาเป็นโรงเรียนรัฐบาล พร้อมเปิดให้ประชาชนมีความรู้จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคต
นอกจากนั้นยังออกนโยบายส่งออกเด็กหนุ่มไปยังประเทศอุตสาหกรรมเพื่อนำความรู้มาพัฒนาประเทศ และนำเข้าผู้ที่มีความรู้จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีให้แก่คนญี่ปุ่นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แผนการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้กลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังนัก เนื่องจากประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาเอง ครอบครัวที่เป็นชาวนาก็ยังต้องการลูกหลานให้ช่วยทำงานเป็นแรงงานเด็ก และตำราที่ใช้สอนก็แปลมาจากตะวันตก โดยครูผู้สอนเองก็ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องที่จะสอนดีขนาดนั้น
ท้ายที่สุด ก็ได้ล้มเลิกแผนการศึกษาเดิม และออกกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนประถมศึกษา กฎหมายว่าด้วยการฝึกหัดครู และทำให้ระบบการศึกษาทั่วประเทศเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โดยมีการบังคับให้เด็กชายหญิงต้องเข้ารับการศึกษาภาคบังคับเป็นเวลา 16 เดือน จนสามารถขยายการศึกษาให้ประชาชนได้อย่างกว้างขวาง
ผลผลิตที่ได้ไม่เพียงแต่ทำให้เด็กเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ได้รับการศึกษาที่ผ่านการปฏิรูปมาจนมีมาตรฐานแบบตะวันตก แต่แท้ที่จริงแล้ว การศึกษาในยุคนี้อาจมีไว้เพื่อไล่กวดโลกของชาวตะวันตกให้ทัน แต่ไม่ได้หวังว่าจะทำให้สังคมเดินทางไปสู่ความเสมอภาคและอิสรภาพเทียบเท่าตะวันตกได้ แต่เป็นการก้าวไปเป็นประเทศจักรวรรดินิยมที่ครอบลงบนโครงสร้างศักดินาที่ยังคงอยู่คงเดิมแบบไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
เพราะจุดประสงค์หลักคือ โรงเรียนได้กลายมาเป็นกลไกสำคัญที่รัฐบาลใช้บ่มเพาะอุดมการณ์ทางการเมือง ชาตินิยม เชิดชูจักรพรรดิ บูชาประเพณีและการทหาร หล่อหลอมจนมีความเชื่อโดยถ้วนทั่วกันว่าการตายในสนามรบเพื่อจักรพรรดิเป็นการตายอันทรงเกียรติ เป็นชนวนเหตุให้เกิดประชากรที่พร้อมพลีชีพเพื่อชาติในมหาสงครามโลกครั้งที่สองที่จะเกิดขึ้นในเวลาถัดมา
ที่มา:
- https://www.th.emb-japan.go.jp/itpr_th/history.html
- http://www3.ru.ac.th/korea/article1/article13.pdf
- https://so02.tci-thaijo.org/index.php/japanese/article/view/51929
- เอกสารคำสอน ม336 สังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่น
- การบรรยาย 2402349 นโยบายการต่างประเทศของญี่ปุ่น
ภาพ: Reuters, Twitter @mayauki