โตมร ศุขปรีชา: สำรวจกายวิภาคของสวนสาธารณะโลกและการเติบโตของสวนป่าเบญจกิติ

สวนสาธารณะไม่ได้มีความสำคัญแค่เป็นปอดให้กับเมือง แต่ยังสร้างคุณค่าต่อทุกชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นตั้งแต่เป็นแหล่งพักผ่อนปล่อยใจให้กับผู้คน ถิ่นที่อยู่ของสัตว์ในระบบนิเวศน์ ช่วยรองรับการระบายน้ำเมื่อฝนตก ลดปัญหาน้ำท่วม ดักจับฝุ่นที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ เป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพวกเราและเมืองที่อยู่ได้ ดังนั้นการได้พาตัวเองหลบออกจากเส้นทางการจราจรที่แออัด เดินหน้าเข้าสู่สวนสาธารณะเขียวชอุ่ม มีเสียงแม่น้ำที่ไหลเป็นซาวนด์แทร็กคลอไปกับเสียงของผู้คนที่ทำกิจกรรมของตัวเองอยู่รอบๆ ก็ถือเป็น White Noise ที่ช่วยเยียวยาความบอบซ้ำของใจเราให้ดีขึ้นได้ไม่ยาก 

        a day BULLETIN ชวนคุณลองถอดรองเท้าคู่โปรดที่ใส่อยู่แล้วเอาตัวไปสัมผัสสนามหญ้าในสวนสาธารณะ สูดกลิ่นไอดินจางๆ แล้วมาอ่านเรื่องราวน่ารู้ของสวนสาธารณะ ที่ถ่ายทอดโดย ‘หนุ่ม’ – โตมร ศุขปรีชา Chief Creative Director ของ OKMD หรือสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องที่หาอ่านได้ยากอย่าง ประวัติศาสตร์การกำเนิดสวนในยุคแรกเริ่ม ความน่าทึ่งของการจัดการสวนสาธารณะเด่นๆ ของโลกในยุคปัจจุบัน และการเติบโตของสวนป่าเบญจกิติ ที่กำลังผลัดใบเข้าสู่การเป็นสวนป่าใจกลางกรุงเทพฯ ที่สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง รวมถึงข้อคิดในการจัดการพื้นที่ภายในกรุงเทพฯ ที่เคยถูกมองข้ามให้เป็นแหล่งรื่นรมย์ทางธรรมชาติที่ใครก็เข้าถึงได้

ประวัติศาสตร์ของสวนและแนวคิดของการเกิดสวนสาธารณะ

        “สมัยก่อนมนุษย์ไม่ได้มีคอนเซปต์เรื่องสวน เพราะเราอยู่ใกล้กับธรรมชาติอยู่แล้ว” หนุ่ม โตมร ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ บอกเราถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิดการจัดสวนให้เกิดความเป็นระเบียบสวยงามว่า

        ต้องย้อนไปในยุคสมัยกรีก-โรมัน โดยสวนของแต่ละที่ก็มีการใช้งานที่แตกต่างกันจากสภาพภูมิประเทศและระบบการเมืองการปกครอง

        “ถ้าเป็นสวนของกรีกโบราณ เขาจะมีแนวคิดเรื่องของการเปิดที่อยู่ตัวเองออกไป ให้เห็นพื้นที่กว้างใหญ่ โดยเรียกว่า Bella Vista หมายถึงการเห็นอะไรใหญ่ๆ เห็นความงาม ความใหญ่โตของธรรมชาติ เนื่องจากประเทศกรีกภูมิประเทศเป็นแนวเขา ดังนั้น จึงไม่มีสวนแบบที่มีป่าติดกับบ้านหรือที่อยู่อาศัย ดังนั้นในบ้านวิลลาแบบกรีก เวลามองออกไปจะเห็นภูมิประเทศที่ต่ำลงไป พอเราเห็นภาพใหญ่แบบนี้ก็จึงเริ่มมีการจัดสวนให้เห็นว่าต้องมีอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง เช่น มีแม่น้ำลำธาร มีสะพาน มีบ้าน ซึ่งเป็นสวนของกรีกนั้นจะเป็นสวนแบบเปิด”

        ทางด้านสวนแบบโรมันนั้นจะเป็นแบบตรงกันข้าม เนื่องจากสภาพบ้านเรือนและสังคมแตกต่างกัน หากกรีกคือชุมชนที่รวมตัวกันของเหล่านักปรัชญา โรมันก็คือเมืองของนักรบและการทำศึกสงคราม สวนในเมืองจึงถูกออกแบบให้เป็นสวนแบบปิด

        “สวนของคนโรมันจะอยู่ข้างในบ้านหรือกลางบ้าน มีส่วนที่เป็นคอร์ดอยู่ด้านข้าง และเป็นสวนแบบปิด เพราะถ้าเกิดเปิดแผ่ออกไป เวลาเกิดสงครามหรือมีข้าศึกบุกเข้ามา เราจะถูกเข้าถึงได้ง่าย สวนแบบนี้จึงเกิดเป็นคอนเซปต์ของสวนที่เป็นไพรเวตหรือสวนในพื้นที่ส่วนตัว และสืบทอดต่อเนื่องมาเรื่อยๆ อย่างในช่วงยุคกลางของยุโรป ก็จะมีสวนที่อยู่ในอาราม โบสถ์ วิหาร หรือที่ที่นักบวชอาศัยอยู่ โดยพระหรือชีก็จะปลูกพืชเอาไว้กินด้วยก็จะมีลักษณะเป็นสวนครัว แล้วก็มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็เป็นสวนอีกแบบหนึ่ง แต่คอนเซปต์ก็ยังเป็นสวนแบบที่เป็นไพรเวตอยู่”

ที่มาของแนวคิดการทำสวนสาธารณะ

        จากสวนที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองการใช้งานส่วนบุคคลก็ค่อยๆ ถูกพัฒนาต่อมาเป็นสถานที่ใช้เก็บพืชพันธุ์หายาก ซึ่งเริ่มต้นโดยชาวอังกฤษ และประเทศทางฝั่งยุโรปนั่นเอง

       “สวนแบบอังกฤษก็ยังคงเป็นแบบปิด เพียงแต่ว่าคนอังกฤษนั้นก็มีความต้องการอีกแบบ นั่นคือเขาทำสวนไว้ไม่ใช่เพื่อปลูกพืชท้องถิ่น แต่จะเป็นการแข่งขันสะสมพรรณไม้หายาก และประเทศอย่างสเปนกับโปรตุเกสเองก็แข่งกันหาของแปลกๆ จากต่างแดนด้วย ซึ่งช่วงที่เกิดลัทธิล่าอาณานิคมขึ้นมา โดยที่อังกฤษนั้นเขาจะสนใจเรื่องสวนมาก จนถึงขั้นเมื่อมีการค้นพบประเทศสหรัฐอเมริกา ทางอังกฤษก็ส่งคนจำนวนมากไปอเมริกา เกิดแบบเขตนิวอิงแลนด์และอะไรอีกมากมายในอเมริกา แต่เป้าหมายหนึ่งที่ส่งคนคือไปที่อเมริกาคือไปเก็บสัตว์ เก็บตัวอย่างพืชแปลกๆ แล้วเอากลับมาลองเลี้ยงดู คนที่เป็นนักเพาะพันธุ์พืชก็แข่งกันว่าสวนของใครมีอะไรเจ๋งกว่ากัน เกิดเป็นคอนเซ็ปต์ของสวนที่มีการเก็บรักษาพืชพรรณที่หายาก เช่น สวนพฤกษศาสตร์ คิว การ์เด้น (Kew Garden) เราจะเห็นโรงเรือนกระจกที่ขนาดใหญ่มากซึ่งเอาไว้เก็บพืซจากตะวันออก มีบัว มีต้นปาล์ม และพืชจากทางตะวันออก ดังนั้น คอนเซปต์ของสวนแบบอังกฤษจึงเป็นต้นทางสำหรับสวนยุคใหม่ ซึ่งเริ่มต้นด้วยวิธีคิดแบบสวนที่ไพรเวตแต่ก็มีการเก็บพืชหายากแล้วก็แข่งขันกัน สวนแบบนี้จึงมีลักษณะเดียวกับพิพิธภัณฑ์ คือเป็นที่ที่ฉันมีของมีค่าเก็บเอาไว้ เมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็อยากเปิดให้คนได้มาชื่นชมด้วย เกิดเป็นที่มาของพื้นที่สวนที่เป็นสาธารณะมากขึ้น แต่เมื่อเป็นสวนสาธารณะแล้ว ความหายากของพืชก็เริ่มคลายตัวลงด้วยเช่นกัน แต่สวนลักษณะนี้ก็ยังมีการจัดสวน มีการปลูกพืช แล้วก็มีการใช้ทรัพยากรต่างๆ ไปในการปลูก เช่น ต้องการการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย คอยดูแลเรื่องสภาพอากาศ ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการดูแลอยู่ซึ่ง ตัวอย่างสวนในเมืองไทยที่เป็นแบบนี้คือ สวนสาธารณะต่างๆ ที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในกรุงเทพฯ หรือสวนนงนุช เป็นต้น ซึ่งพืชที่อยู่ในสวนก็จะไม่ใช่พืชที่หายาก แต่เป็นพืชประเภทต้นปาล์มหรือต้นไม้ต่างๆ มาปลูก แต่เราก็ต้องรดน้ำใส่ปุ๋ยให้อยู่ดี

Forest Park แนวคิดของสวนป่าที่อยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง

         อีกแนวคิดที่น่าสนใจคือสวนป่าหรือ Forest Park ซึ่งเป็นต้นแบบในการสร้างสวนป่าเบญจกิติ พื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพฯ ซึ่งอาจจะเป็นสวนป่าแห่งแรกของประเทศไทยด้วย

         “สวนป่าที่โดดเด่นมากที่สุดเท่าที่มนุษยชาติในโลกน่าจะเคยทำคือ Meiji Jingu Gaien ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นสวนสาธารณะที่อยู่กลางเมือง สวนแห่งนี้เกิดขึ้นเพราะสมเด็จพระจักรพรรดิมุสึฮิโตะเสด็จสวรรคต แล้วเขาก็จะต้องสร้างศาลเจ้าเอาไว้กลางกรุงโตเกียว แต่ว่าศาลเจ้าตามคติญี่ปุ่นต้องไม่อยู่โดดเดี่ยว ต้องมีป่า มีต้นไม้ล้อมรอบ เขาจึงสร้างสวนป่าขึ้นมา ซึ่ง Meiji Jingu Gaien คือการใช้แนวคิดว่าต้องทำให้ต้นไม้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง ด้วยการสร้างให้เกิดระบบนิเวศของมันเอง ที่ไม่ต้องเอาน้ำไปคอยรด ไม่ต้องใส่ปุ๋ย แต่มันจะเกิดวัฏจักรวนเวียนขึ้นมาได้ สวน Meiji Jingu Gaien วางแผนในการสร้างเป็นเวลา 150 ปีเพื่อให้มันเป็นป่าที่สมบูรณ์ เพราะการสร้างป่าไม่ใช่เรื่องง่าย หนึ่งในวิธีสร้างคือปล่อยไว้เฉยๆ เดี๋ยวมันขึ้นของมันเอง แต่แบบนี้ต้องใช้เวลาหลายร้อยปี สำหรับ Meiji Jingu Gaien เวลา 150 ปี เขาจะเริ่มต้นที่การปลูกต้นไม้แต่ละแบบ เช่น ต้นสนดำ ต้นสนแดง พอมันโตขึ้นมาเฟสที่หนึ่งมันก็จะตายใน 50 ปี แล้วจะเกิดต้นสนอีกประเภทหนึ่งขึ้นมาแทน พอครบ 50 ปีมันก็ตาย จนกระทั่ง 50 ปีสุดท้ายจะกลายเป็นต้นไม้ใบกว้าง เช่น อบเชย กานพลู ขึ้นมา แล้วมันจะกลายเป็นพืชที่เหมาะสมกับสถานที่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองกลายเป็นป่าขึ้นมา ตอนนี้ Meiji Jingu Gaien อายุครบหนึ่งร้อยปีเข้าสู่เฟสที่สาม และกำลังเกิดสวนป่าที่สมบูรณ์ขึ้นมา หลังจากนั้นมันจะเป็นป่าแบบนั้นตลอดไป มันจะไม่ตายแล้ว มันจะเกิดทดแทนขึ้นมาเองได้ตลอดไป โดยวิธีคิดแบบนี้ในโลกสมัยใหม่ก็มีอีกหลายที่ เช่น High Line Park ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาไม่ได้จัดเต็มแบบ Meiji Jingu Gaien แต่เขาเอาสวนที่มาจากรางรถไฟเดิมมาสร้าง โดยใช้วิธีคิดว่าปล่อยให้เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นปลิวมาตก และไม่มีการกำจัดทิ้ง ไม่ได้แค่เอาต้นไม้ใหม่มาปลูกเท่านั้น แต่จะให้มีต้นไม้พื้นถิ่นเติบโตขึ้นมาด้วย แต่ใช้วิธีในการจำกัดพื้นที่ เช่น ถ้าต้นไม้ขึ้นรกเกินไปก็ตัดออกบ้าง”

        สวนป่าเบญจกิติใช้แนวคิด Forest Park นี้ในการสร้างขึ้นมา โดยช่วงแรกจะเห็นว่าต้นไม้ภายในส่วนยังมีขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก แต่ด้วยวิธีคิดที่ใช้การจำลองระบบนิเวศฯ แบบกรุงเทพฯ จริงๆ ขึ้นมา การเติบโตของสวนแห่งนี้ก็เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

        “ถ้าถามว่าสวนแบบกรุงเทพฯ นั้นเป็นอย่างไร ภูมิประเทศของกรุงเทพฯ คือ ที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ที่ดินเป็นลักษณะของเนินหรือโคก มีหนองน้ำ ซึ่งกรุงเทพฯ ปัจจุบันนี้จะเหมือนผู้หญิงที่แต่งหน้าจนหนาเตอะไปหมดด้วยคอนกรีต จนไม่มีพื้นที่ที่ทำให้เราเปิดไปเห็นหน้าสดของกรุงเทพฯ เลย แต่ว่าพื้นที่ของสวนป่าเบญจกิติเป็นพื้นที่ที่ใหญ่มากๆ ที่เปิดออกมาแล้วทำให้เราเห็นหน้าสดของกรุงเทพฯ ว่าเป็นยังไง ซึ่งที่มีดิน มีหนองน้ำ มีอะไรต่อมิอะไร แล้วก็เขาก็ใช้วิธีคล้ายๆ Meiji Jingu Gaien แต่ว่าไม่ได้ออกแบบยาวนานขนาดที่จะทำให้มันยั่งยืนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ยังต้องดูแลควบคู่ไปด้วย แต่ว่าต้นไม้ตอนนี้มันก็จะค่อยๆ เริ่มโตขึ้นมาแล้วมันก็จะทดแทนกันไป ซึ่งผ่านไปอีกห้าปีสวนป่าเบญจกิติก็จะหน้าตาไม่เหมือนเดิม เพราะจะมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นมา ดังนั้น สวนป่าเบญจกิติจึงมีความสำคัญ เพราะเป็นสวนที่เป็น Forest Park แห่งแรกที่เกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพฯ และทำให้มีกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ เกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตของสวนที่เราต้องคอยจับตาดู มันไม่ใช่สวนที่สร้างขึ้นปุ๊บแล้วเสร็จเลยเหมือนสวนทั่วๆ ไป ที่เราเอาต้นไม้มาลงแล้วแค่ตัดแต่งมัน ต้องเอาน้ำไปรด ต้องเอาปุ๋ยไปใส่ ที่นี่คือต้นไม้ที่จะค่อยๆ อยู่ด้วยระบบนิเวศน์ที่หมุนเวียนได้เองจริงๆ”

         เขาเล่าให้ฟังต่อว่าแนวคิดของ Forest Park ไม่จำเป็นต้องสร้างสวนที่เติบโตด้วยตัวมันเองตั้งแต่แรกเสมอไป สามารถนำไปใช้กับสวนที่สร้างขึ้นมาได้เองก็ได้ เช่น Marina Bay Sands ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งภายในส่วนนั้นเต็มไปด้วยต้นไม้ที่แปลกหูแปลกตา แต่ทางสิงคโปร์ก็ได้วางแผนในอนาคตข้างหน้าไว้แล้ว

         “สวนแห่งนี้ต่อไปเขาจะไม่ต้องใช้พลังงานใหม่ๆ เข้าไปเติมเลย เพราะเขาคำนวณว่าเมื่อต้นไม้เริ่มโตขึ้น ใบไม้มาที่มันร่วงลงมาจะมากพอใช้ผลิตพลังงานสำหรับสวน โดยไม่ต้องใช้พลังงานเพิ่มเติมเข้าไป ก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่นำแนวคิด Forest Park เอาไปประยุกต์กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ แล้วกลายเป็นสวนในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก”

         นี่คือประวัติศาสตร์คร่าวๆ ของสวนตั้งแต่ยุคก่อนจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

กรุงเทพฯ เมืองสีเขียวที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

        เมื่อเรามีวิธีคิดและการจัดการสวนสาธราณะหลากหลายแบบ สิ่งที่เราอยากรู้คือ ในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ส่วนอื่นๆ เราสามารถสร้างสวนให้กระจายไปยังจุดต่างๆ ของเมืองได้มากน้อยแค่ไหน

        “ถามว่ากรุงเทพฯ สามารถมีสวนเพิ่มขึ้นได้ไหมคำตอบคือ มีได้ เพราะว่าเรามีพื้นที่ที่เป็นกระเปาะเล็กๆ อยู่ค่อนข้างเยอะ อย่างแนวคิดของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะสร้าง Pocket Park ก็คือสวนกระเปาะนั้นสามารถเป็นไปได้จริง เพราะกรุงเทพฯ มีพื้นที่เล็กๆ อยู่เต็มไปหมด แต่สิ่งที่ต้องปรับปรุงก็คือการเข้าถึง เพราะว่าสวนบางที่ เช่น สวนวิภาภิรมย์ ซึ่งอยู่ในซอยวิภาวดี 18 ถือว่าเป็นสวนที่ดีเลยเพราะอยู่ในชุมชน เแต่การเข้าถึงค่อนข้างยากสำหรับคนทั่วไป เพราะว่าต้องเข้าซอยย่อยแล้วเข้าซอยย่อยอีกทีถึงจะเข้าไปถึงสวนได้ และคนทั่วไปก็จะไม่ค่อยรู้ เพราะฉะนั้น เรื่องพื้นที่ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวลแต่ว่าเรื่องการเข้าถึงต่างๆ ที่จะทำยังไงให้มันเข้าถึงได้ต่างหาก”

        ส่วนแนวคิด ‘สวน 15 นาที’ หรือ 15 Minute Pocket Parks throughout the City ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็สามารถเกิดขึ้นได้จริงเหมือนกัน เพราะในต่างประเทศก็นำแนวคิดนี้มาใช้พัฒนาเมืองสู่การเชื่อมต่อไปยังสถานที่ต่างๆ ที่สามารถเดินได้จริงด้วย

        “ที่ประเทศสิงคโปร์เขาใช้เวลาเดินถึงสวนน้อยกว่าเราอีก คือ 10 นาทีถึง โดยไม่ว่าอยู่ตรงไหนของเมืองก็สามารถเดินถึงพื้นที่สวนได้ในสิบนาที และยังเชื่อมเข้ากับระบบขนส่งต่างๆ รวมถึงแหล่งเรียนรู้ด้วย เช่น ห้องสมุด ซึ่งถ้าเราทดลองแนวคิดนี้กับกรุงเทพฯ แล้วพบว่าทำได้จริง เราสามารถพัฒนาให้เหลือแค่ 10 นาทีก็ได้ด้วยเช่นกัน เพราะจากระบบนิเวศแล้ว เราควรจะทำได้ดีกว่าสิงคโปร์ด้วยซ้ำ เพียงแค่ระบบการจัดการของผู้ดูแลในบ้านเรายังไม่ดีพอ มีข้อจำกัดเยอะ และการเปลี่ยนผู้บริหารบ่อยๆ โดยไม่มีแผนระยะยาวก็เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เรามองภาพไม่ค่อยตรง และไม่เห็นภาพใหญ่ร่วมกัน สมมติว่าพอตั้งนโยบายแบบนี้ไว้ พอเปลี่ยนผู้บริหารบ้านเมือง นโยบายก็อาจจะเปลี่ยนไป ทำให้ไม่เกิดแผนระยะยาว ปัญหาไม่ใช่เรื่องระบบนิเวศของเราที่ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้แบบสิงคโปร์ แต่เป็นเรื่องของระบบและการบริหารจัดการของบ้านเราเอง เพราะตอนนี้เราไม่ได้คิดด้วยกันทุกหน่วยงาน

        “ปัญหาในระบบราชการคือแต่ละหน่วยงานไม่ได้ประสานงานในเรื่องเดียวกัน เช่น เรื่องต้นไม้ที่อยู่ริมถนน แต่ละหน่วยงานก็มีวิธีในการตัดเล็มต้นไม้คนละแบบ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเขาเข้าไปตัดต้นไม้มั่วซั่วหรอก แต่การตัดต้นไม้เพื่อไม่ให้โดนสายไฟมันต้องตัดแบบหนึ่ง เพื่อการเล็มให้สวยงามอาจจะต้องตัดอีกแบบหนึ่ง ใช้คนละหลักการกัน แล้วไม่มีการพูดคุยกันว่าจริงๆ แล้วหลักการในการตัดต้นไม้ให้สวยงามควรจะเป็นยังไง หรือเราจะทำอย่างไรกันแน่ เราจะเอาสายไฟลงดินหรือเราจะไม่เอาต้นไม้เลย ถ้าเราต้องการให้มีสายไฟกับต้นไม้ เราต้องเลือกต้นไม้ที่ขนาดใหญ่เลยสายไฟขึ้นไป เช่น ต้นยางนา หรือไม้พุ่มขนาดเล็กไม่สูงถึงสายไฟ ทำสายไฟให้มีฉนวนเพื่อกันต้นไม้ไปโดน หรือปลูกต้นไม้แล้วตัวสายไฟอาจต้องห่างจากต้นไม้ที่มันสูงถึงเสายไฟอย่างไร มันเป็นเรื่องที่คิดด้วยกันได้ แต่ว่าเราเองไม่ค่อยมีการประสานกันในเรื่องการทำงานร่วมกันเท่าไหร่”

        สุดท้ายเขายกตัวอย่างการจัดการสวนเล็กๆ ที่รายล้อมอยู่ภายในเมืองของประเทศสิงคโปร์ถึงตัวอย่างการเชื่อมต่อที่ทำให้สามารถเดินได้ถึงกันอย่างน่าสนใจไว้ด้วย

        “สิงคโปร์เขาไม่ต้องตั้งใจสร้างสวนใหญ่ๆ เลย แต่ว่าตรงไหนที่เป็นพื้นที่ว่างก็เอามาทำเป็น Line Park ให้อยู่ด้านหลังแนวของตึกแถว ที่ต่อให้ด้านหลังตึกนั้นอาจจะเป็นที่ทิ้งขยะหรือพื้นที่เสื่อมโทรม เมื่อเขาเปลี่ยนเป็น Line Park แล้ว มันก็กลายเป็นพื้นที่ที่น่าเดินเป็นการสร้างทางเดินเพิ่มให้กับเมือง และสิ่งสำคัญคือเขาได้เชื่อม Pocket Park เหล่านั้นด้วยทางเดินที่เชื่อมถึงกันได้ เพราะฉะนั้น ต่อให้มันเป็นสวนเล็ก แม้ว่าเราจะรู้สึกว่าระยะทางแค่นิดเดียวก็เดินทั่วแล้ว แต่มันเชื่อมต่อถึงกันได้ เหมือนกับสวนป่าเบญจกิติที่เชื่อมกับสวนลุมพินีโดยผ่านสะพานเขียว เลียบคลองไผ่สิงโต ซึ่งเป็นตัวอย่างรูปแบบหนึ่งที่ทำได้ และคนก็สามารถเข้าไปใช้งานได้จริงๆ”

        ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าสวนสาธารณะ นอกจากจะมีความเป็นมาที่น่าสนใจแล้ว พื้นที่สีเขียวนี้ที่ไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กต่างก็มีคุณค่ากับทุกชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกัน และยังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืนจริงๆ


เรื่อง: ทรรศน หาญเรืองเกียรติ | ภาพ: Unsplash, ทรรศน หาญเรืองเกียรติ และ เฟซบุ๊ก สวนเบญจกิติ