สิ่งหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกซึ่งมาเยี่ยมเยือนประเทศญี่ปุ่นมักจะแปลกใจและชื่นชมกันเหลือเกินว่า ทำไมคนญี่ปุ่นถึงสามารถรักษาคุณภาพของสินค้าและการบริการได้อย่างดีโดยแทบไม่มีที่ติ ถนนหนทางก็สะอาดสะอ้าน สินค้าที่ออกวางจำหน่ายก็มีคุณภาพ ไม่มีการตีหัวเข้าบ้านหรือหลอกขายของ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถอธิบายได้ด้วยนิสัยเฉพาะบางอย่างที่พวกเขาเคารพในงาน และมุ่งมั่นที่จะทำสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพสูงอยู่เสมอ
Kodawari อาจจะเป็นคำศัพท์ที่ยากต่อการแปลให้เข้าใจในภาษาอื่น เพราะคำนี้ใช้เรียกแนวคิดที่บ่มเพาะมาเป็นเวลานาน จนกลายเป็นรากฐานที่สำคัญของคนญี่ปุ่น เราอาจจะอธิบายคร่าวๆ ได้ว่า โคดาวาริคือระดับคุณภาพโดยส่วนตัวที่แต่ละคนทุ่มเทให้กับงานที่ตัวเองทำหรือกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ เพื่อผลักดันตัวเองให้ไปสู่คำว่า มืออาชีพ
การพัฒนาตัวเองเพื่อให้กลายเป็นคนมีคุณภาพ ไม่ท้อแท้ ห่อเหี่ยว เบื่อหน่าย ทุกครั้งที่ต้องลุกออกจากเตียง ไม่เกี่ยงว่างานที่ทำอยู่นั้นจะน่าเบื่อหน่ายแค่ไหน การหลุดพ้นออกไปจากนิสัยลบๆ ควรเริ่มจากการเรียนรู้แนวคิดโคดาวาริของคนญี่ปุ่นกันก่อน
นั่นคือเหตุผลที่เรากำลังจะพาคุณไปพบกับวิถีชีวิตที่ช่วยสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง ผ่านวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน และจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่น
The Deffiinition of Kodawari
โคดาวาริ เป็นแนวคิดที่แฝงอยู่ในตัวคนญี่ปุ่น และถ่ายทอดออกมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ดังนั้น โคดาวาริจึงอยู่ในชีวิตประจำวันโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว และแสดงออกมาผ่านกิจวัตรประจำวัน ซึ่งในบางเรื่องนั้นแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าเป็นบ้านเราก็จะพูดว่า “ไม่เป็นไร หยวนๆ กันไป” แต่ด้วยความเคร่งครัด จริงจัง และเอาใจใส่ คำว่า ‘หยวนๆ กันไป’ จึงไม่มีอยู่ในพจนานุกรมของพวกเขา
การกวาดหิมะเพื่อเปิดทางเดินบนถนนก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้จะมีเจ้าหน้าที่นำรถออกมากวาดหิมะในตอนเช้าของทุกวันเพื่อเปิดเส้นทางให้รถวิ่งได้ก็ตาม แต่หิมะที่กองอยู่ตรงทางเท้านั้น พวกเขาถือว่าเป็นความรับผิดชอบของแต่ละครัวเรือน หรือถ้าเป็นเจ้าของร้านค้า เปิดทำธุรกิจการค้าใดๆ ก็ตาม พวกเขาต้องช่วยกันโกยออกไปไว้ริมทางเดิน เรื่องนี้ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน เป็นวิถีของความเอาใจใส่เป็นพิเศษ และเป็นการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาได้ทำ
ตรงทางเดินหน้าพิพิธภัณฑ์กล่องดนตรี (Otaru Music Box Museum) ที่เมืองโอตารุ ประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าเส้นทางนั้นจะเปิดไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เดินอย่างสะดวกจากการโกยหิมะตั้งแต่ตอนเช้า แต่เราก็ยังเห็นพนักงานของแต่ละร้านเดินออกมาหยิบพลั่วคอยตักและโกยเศษหิมะอยู่เสมอ
ทั้งๆ ที่เราเองก็มองว่าหิมะตกลงมานิดเดียว ไม่เป็นไรหรอก ไม่ต้องไปตักหรอก รอให้สุมกันเยอะๆ ก่อนแล้วค่อยตักก็ได้ แต่วิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นกลับไม่คิดแบบนั้น เขาไม่หยวนกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะนั่นคือความรับผิดชอบที่ฝังอยู่ในตัว
The Great Responsibility
เมื่อพูดถึงความรับผิดชอบ ข้อนี้ถ้าตัดเกรดออกมา อย่างไรคนญี่ปุ่นก็ต้องได้ระดับ A+ กันแทบทั้งนั้น นั่นเพราะทุกคนยึดถือโคดาวาริอยู่ในตัว ซึ่งจะเห็นได้ตั้งแต่อดีตแล้วว่า จิตวิญญาณที่น่าชื่นชมของคนญี่ปุ่นนั้นเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ แน่วแน่ และพิถีพิถัน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้จะย่อหย่อนไปตามกาลเวลาก็ตาม แต่อย่างไรก็ยังคงมาตรฐานสูงอยู่ดี
หนึ่งในความรับผิดชอบที่ส่งต่อมาจนถึงมือของหลายๆ คนคือ คุกกี้ Shiroi Koibito จากโรงงานชิโรอิโคอิบิโตะ ซึ่งเป็นของฝากขึ้นชื่อของฮอกไกโด คุกกี้รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่หอมกลิ่นนมเนยอันเลื่องชื่อนี้เกิดขึ้นมาจากความรับผิดชอบต่อสินค้าที่จริงจัง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 2007 ที่มีคนร้องเรียนว่า การระบุวันที่ความอร่อยของขนมถูกแก้ไขและยืดเวลาออกไป (ขนมยังไม่เสีย แต่จะไม่ได้รับรสชาติที่หวานหอมเท่ากับช่วงที่ยังสดใหม่) ซึ่งความสามารถในการรับรู้รสชาติของคนญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องที่จริงจัง พวกเขาสามารถแยกแยะรสแฝงที่อยู่ในอาหารได้ นั่นคือความสุนทรีย์ในการลิ้มรส และสัมผัสกับความสุขในแบบญี่ปุ่น
ทางบริษัท อิชิยะ ก็ออกมายอมรับ และแสดงความรับผิดชอบโดยประธานบริษัทและผู้บริหารระดับสูงแสดงสปิริต ขอลาออกจากตำแหน่งและปิดโรงงานผลิตลงสามเดือน คุกกี้ชิโรอิโคอิบิโตะถูกเก็บจากร้านจำหน่ายต่างๆ ทั่วประเทศ ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนการบริหารครั้งใหญ่ และเปิดไลน์ผลิตคุกกี้อีกครั้ง
ทำไมต้องทำขนาดนี้ เพราะขนมก็ไม่ได้เสียหรือกินแล้วเกิดอาการเจ็บป่วยสักหน่อย แต่สำหรับคนญี่ปุ่นนั้น การเปลี่ยนแปลงตัวเลขระบุวันหมดอายุของความอร่อยนั้น พวกเขาถือว่าเป็นความไม่ซื่อสัตย์ และเป็นความตั้งใจที่จะเอาเปรียบผู้บริโภค เรียกง่ายๆ ว่าทรยศต่อลูกค้านั่นเอง การลาออกของผู้บริหารยกทีมซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวที่สิบทอดกันมาหลายสิบปีนั้นคือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม
ดังนั้น ถ้ามีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมโรงงานชิโรอิโคอิบิโตะ คุณจะพบว่าในบริเวณชั้นที่ 3 ของโรงงาน จะมีพื้นที่ให้คุณยืนดูพนักงานที่กำลังทำคุกกี้กันอย่างแข็งขัน เพราะสิ่งนี้คือการแสดงออกให้เห็นว่าทางบริษัทพยายามปรับปรุงตัวเอง และแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง
The Simple Structure
เนื่องจากความเคร่งครัด ความมีระเบียบแบบแผนอย่างสูง และวินัยในการทำงานอย่างเป็นสเต็ปขั้นตอนเป๊ะๆ 1-2-3-4 บางครั้งก็ส่งผลให้เกิดความโกลาหลกับคนนอกที่ไม่รู้วัฒนธรรมของคนญี่ปุ่น
ภายในร้าน LeTAO ที่อบอุ่นและอบอวลไปด้วยกลิ่นของชีสเค้กที่เพิ่งอบเสร็จใหม่ๆ พนักงานสาวเดินมารับออร์เดอร์ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม “Hot latte please!” เราสั่งลาเต้ร้อนเป็นอันดับแรก เพราะเชื่อว่าอากาศเย็นๆ การจิบกาแฟร้อนๆ คู่กับชีสเค้กที่เลื่องชื่อเป็นความสุขที่กำลังจะมาอยู่ตรงหน้า
พนักงานทำคิ้วขมวดขึ้นเล็กน้อย และด้วยปัญหาเรื่องของภาษา ทำให้การสื่อสารล้มเหลว เราสังเกตเห็นพนักงานสามคนมายืนคุยกันด้วยสีหน้าเคร่งเครียด จนทำให้เราเอะใจ หยิบเมนูที่วางอยู่บนโต๊ะขึ้นมาดู “ที่ร้านนี้ไม่มีกาแฟลาเต้” ในเมนูมีแค่กาแฟดำเท่านั้นที่ให้บริการ ใจเราหายวาบ รีบเดินไปหาพวกเธอ แล้วบอกขอโทษที่สั่งของที่ไม่มีในร้าน และขอเปลี่ยนเป็นกาแฟดำปกติ
บรรยากาศที่ตึงเครียดกลับมาสดใสอีกครั้ง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะถ้าเป็นเรื่องของงานบริการแล้ว ถ้าลูกค้าสั่งอะไรที่ไม่มีในเมนู พนักงานรับออร์เดอร์จะไม่มีสิทธิ์บอกว่าไม่ได้ เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์นี้พวกเขาจะมีโปรแกรมอัติโนมัติขึ้นมาในหัว คือรับออร์เดอร์ เดินไปปรึกษาผู้จัดการ เพื่อหาข้อสรุปที่ละมุนละม่อม และแสดงความรับผิดชอบที่ไม่สามารถให้บริการได้
ต้องยอมรับว่าเป็นสปิริตที่สูงส่ง และเป็นผลพวงของโคดาวาริที่ถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนาน ซึ่งวิถีแบบนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การที่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบแบบแผนที่เคร่งครัดขนาดนี้ ทำให้คนญี่ปุ่นตามหาความสุขให้กับพื้นที่ของตัวเอง
โคดาวาริจึงเป็นสิ่งที่เรียกร้องทั้งทางฝั่งผู้ผลิตสินค้าหรือให้บริการ และฝั่งที่เป็นผู้บริโภคด้วยว่าจะต้องรักษาคุณภาพ และรับรู้ถึงระดับคุณภาพเช่นนั้นได้ในเวลาเดียวกัน
สีหน้าโล่งใจของพนักงานสาวในร้าน LeTAO คงเกิดขึ้นไม่ได้ หากเราไม่ได้เข้าใจบริบทของพื้นที่ตรงนั้น และยังดื้อดึงที่จะเรียกร้องกาแฟลาเต้ ด้วยเหตุผลเข้าข้างตัวเองต่างๆ หรือคิดเสมอว่าลูกค้าคือพระเจ้า ไม่ยอมละทิ้งตัวตน ความจองหองของตัวเอง สุดท้ายแล้วเราก็ไม่อาจได้ลิ้มรสชาติความอร่อยของชีสเค้กและกาแฟดำร้อนๆ ในแบบที่เป็นก็ได้ เพราะใจของเรา และของพนักงานนั้นขุ่นมัวไปแล้วเรียบร้อย
Ojigi: The Japanese art of Bowing
เรื่องของการบริการที่เหนือระดับเป็นสิ่งที่ทำให้เราทึ่งกับวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นเสมอ ตั้งแต่การนำเสนอ (พลังของแพ็กเกจจิ้งที่แค่เห็นก็พร้อมควักเงินซื้อ) ความใส่ใจในรายละเอียด (ซอฟต์ครีมเจ็ดสีที่สามารถทำออกมาให้เท่ากันทุกอัน) ความตรงต่อเวลา (ระบบรถไฟฟ้าของญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่าเที่ยงตรงที่สุดในโลก) การรักษาความสะอาดบนถนนหนทางและในแม่น้ำ (บางแห่งท่อระบายน้ำมีปลาคาร์ปว่ายอยู่ในนั้นด้วย) ความเป็นระเบียบร้อยร้อย แม้ในร้านค้าที่มีของอัดแน่นอย่างร้าน Don Quijote และความเอาใจใส่ที่แสดงออกมาผ่านการโค้งคำนับ
คนญี่ปุ่นใช้การโค้งคำนับมาเป็นเวลากว่า 800 ปี การโค้งคำนับใช้แสดงออกถึงระดับชั้นและความสัมพันธ์ เมื่อต้อนรับบุคคลที่มีสถานะสูงกว่า ก็ต้องทำให้ร่างกายของตัวเองอยู่ต่ำกว่าเพื่อบอกถึงการสละตัวตน ไม่ได้ต้องการโอ้อวดว่าตัวเองนั้นยิ่งใหญ่ ซึ่งการโค้งคำนับนั้นกลายมาเป็นมารยาททางสังคมเหมือนกับการไหว้ในบ้านเรา ที่เด็กและผู้ใหญ่ต่างก็ต้องเรียนรู้
สิ่งนี้เชื่อมโยงไปสู่เรื่องของการโบกมือลา ซึ่งคนญี่ปุ่นจะโบกมือลาหรือยืนส่งแขกจนกว่าแขกคนนั้นจะเดินลับตา (หรือนั่งรถ) หายไปจากสายตา ถึงแม้ว่าแขกจะไม่ได้หันกลับมามองก็ตาม แต่ด้วยสปิริตของความเป็นเจ้าบ้าน เขาก็จะยืนส่งคุณจนถึงที่สุด ซึ่งเราจะเห็นความน่ารักนี้แม้กระทั่งตอนที่เครื่องบินกำลังแล่นออกจากสนามบินของประเทศญี่ปุ่น
โคดาวาริคือความยืนหยัดและมุ่งมั่นอยู่กับคุณค่าในงานที่แต่ละคนยึดถือ ทำให้พวกเขาไม่ย่อหย่อน และไม่ยอมรามือให้กับหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบของตัวเอง ทำให้เขาสามารถทำงานนั้นได้แม้ว่าจะยากหรือน่าเบื่อหน่ายแค่ไหน และเขาจะบรรลุถึงงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด
และนี่คือสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้แล้วนำมาปรับใช้กับชีวิตของเราได้ โดยที่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนญี่ปุ่นหรืออาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น