หากเทียบกับราคาค่าเรือข้ามฟาก 2 บาท สู่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี กับราคาค่าเข้าชมและเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมของชาวมอญดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ร่วมกับชาวไทยและชาวอิสลามในพื้นที่แห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นราคาที่แสนถูก ช่างคุ้มค่ากับการตามหาศิลปะมอญที่ยังคงเหลืออยู่ให้เห็น ผ่านคำบอกเล่า และการลงมือทำให้เห็นของช่างฝีมือรุ่นท้ายๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดและสืบต่อกันมามากกว่า 200 ปี
ทันทีที่ข้ามมาถึงเกาะเกร็ด เบื้องหน้าคือกำแพงสีขาวของวัดปรมัยยิกาวาส วัดมอญเก่าแก่ที่ยังคงการสวดมนต์และเทศน์เป็นภาษารามัญหรือภาษามอญเหมือนในอดีต และจากจุดนี้เองที่หลายคนมักจะเลี้ยวขวา แต่หากเลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าสู่หมู่ที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวมอญส่วนใหญ่อพยพมาอาศัยอยู่ตั้งแต่ต้น และหอบวิชาเครื่องปั้นดินเผามาเป็นเครื่องมือในการทำมาหากินในยุคแรกๆ ผสานกับเรื่องราวศิลปะของชาวมอญที่ค่อยๆ ผสมไปในวิถีชีวิตของคนไทยช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 จากนั้นวิถีชีวิต ศิลปะ และงานทำมือของชาวมอญก็ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงทุกวันนี้
THROWBACK TO THE BEGINNING
เมื่อเลี้ยวซ้ายแล้วเดินตรงไปข้ามคลองเล็กๆ ก็จะพบกับบ้านเลขที่ 5 ซึ่งเป็นบ้านพักที่ได้ปรับเปลี่ยนให้ส่วนหนึ่งเป็นร้านอาหารที่ชื่อว่า เดอ ปาลา ของปราชญ์ชาวมอญ ‘ครูอ๊อด’ – เฉลิมศักดิ์ ปาลา อดีตครูวิชาสอนประวัติศาสตร์ และเป็นชาวมอญรุ่นที่ 7 ที่เกิดและเติบโตในบ้านหลังนี้
“บ้านหลังนี้ได้รับพระราชทานโฉนดเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 และได้บ้านเลขที่เป็นหลังที่ 5 ตั้งอยู่ตรงข้ามกับร้านกาแฟบ้านเลขที่ 1 ในสมัยก่อนเริ่มนับบ้านเลขที่โดยเริ่มต้นที่วัดปรมัยยิกาวาส” ครูอ๊อดเริ่มต้นอธิบาย ในขณะที่จัดแจงเครื่องแต่งกายแบบชาวมอญ ผู้ชายจะนุ่งโสร่งตารางหมากรุกขนาดใหญ่ เรียกว่า ‘เกริด’ ซึ่งต่างจากลองยี หรือโสร่งพม่า และสวมเสื้อแขนยาวสีขาว พาดบ่าด้วยผ้าตารางหมากรุกอีกผืน
“บรรพบุรุษของเราเป็นชาวรามัญหรือมอญ แต่ไม่ใช่พม่า เดิมจะอยู่ในพื้นที่เขตมะละแหม่ง ประเทศเมียนมา” ครูอ๊อดเปรยขึ้นเพื่อให้เราเข้าใจไม่ผิด ก่อนจะเล่าเรื่องราวของชาวมอญและเกาะเกร็ดมาอย่างยาวนาน
เริ่มแรกที่ชาวมอญหนีจากสงครามตั้งแต่ครั้งโดนพม่าเข้าโจมตี เป็นเวลาเดียวกันกับการเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่สอง ตอนนั้นชาวมอญและชาวไทยถูกกวาดต้อนไปอยู่ในที่ต่างๆ ของพม่า บางส่วนที่ยังคงยืนหยัดต่อสู้ บางส่วนหนีไปทางด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี และหลังจากนั้นก็ได้เข้ามาในพื้นที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี กระจายไปยังอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี รวมทั้งอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
สำหรับชาวมอญที่อพยพมาเกาะเกร็ดนั้นมีชื่อกลุ่มว่า กวานอาม่าน หรือกลุ่มเครื่องปั้นดินเผา จำพวกโอ่ง อ่าง สำหรับใส่เหล้าสาโท ไหสำหรับเหล้ากะแช่ที่ทำจากข้าวหมาก นั่นทำให้ในปัจจุบันเกาะเกร็ดจึงเป็นแหล่งขึ้นชื่อเรื่องปั้นดินเผาแบบมอญ
“การอพยพทีไม่ใช่แค่สิบยี่สิบคน แต่มาทีราวๆ สองหมื่นคน เดินทางด้วยเท้าเปล่า จัดเป็นขบวน ส่วนหน้าคือผู้หญิง เด็ก คนแก่ พระสงฆ์ มีคนนำทางแค่ 10 กว่าคน และมีกองระวังหลังคือชายฉกรรจ์อาวุธครบมือ เพื่อระวังพวกพม่า ตลอดการอพยพไม่สามารถใช้ไฟได้ ระหว่างทางเจอผักหญ้าอะไรที่สัตว์กินได้ก็ต้องเก็บไว้กิน เป็นอย่างนี้ประมาณ 1-2 เดือน จึงจะเข้าสู่ด่านเจดีย์สามองค์ได้ และค่อยๆ เดินทางต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งเกาะเกร็ด” ครูอ๊อดเสริม
เดิมทีพื้นที่เกาะแห่งนี้ยังไม่มีสภาพเป็นเกาะ เป็นผืนดินขนาดใหญ่ที่มีลํานํ้าเล็ก ซึ่งเป็นทางลัดไปเชื่อมกับลํานํ้าใหญ่เป็นสายเดียวกันหรือที่เรียกว่า ‘เตร็ด’ ต่อมาในสมัยของพระเจ้าท้ายสระ (พระราชโอรสในพระเจ้าเสือ) รับสั่งให้ขุดเตร็ดขยายลำน้ำเพื่อให้เรือสำเภาแล่นได้สะดวก จึงทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นเกาะอย่างทุกวันนี้
“คนมอญจะออกเสียงเตร็ดว่า เกร็ด เลยเรียกกันติดปากว่า เกาะเกร็ด” ครูอ๊อดอธิบายที่มาเพิ่มเติม กระทั่งได้เวลาเที่ยงๆ เริ่มมีลูกค้าเริ่มเข้าร้าน เสียงกระทะและกลิ่นกับข้าวเริ่มโชยเตะจมูก ครูอ๊อดขอตัวสักครู่ ส่วนเราก็ต้องไปตามหาเรื่องราวของเครื่องปั้นดินเผากันต่อ
TIMELINE: HISTORY OF KOH KRET
พ.ศ. 2300 : กองทัพพม่าได้โจมตี และยึดเมืองหลวงหรือกรุงหงสาวดีของชาวมอญไว้ได้
พ.ศ. 2310 : ชาวมอญกระจัดกระจายไปหลายพื้นที่ มีบางกลุ่มพยายามต่อสู้ เพื่อช่วงชิงดินแดนกลับคืนมา ชาวมอญกลุ่มหนึ่งได้ล่าถอยและบางส่วนอพยพมาอยู่ที่เกาะริมปากแม่น้ำเจ้าพระยา
พ.ศ. 2317 : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงไปรับครอบครัวชาวมอญชุดแรกที่เคยพยายามต่อสู้กับพม่าแล้วแพ้ ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในท้องที่ปากเกร็ด และเกาะเกร็ด
พ.ศ. 2358 : สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้ามงกุฎฯ (รัชกาลที่ 4) ไปรับครอบครัวชาวมอญชุดสุดท้ายที่หนีภัยสงครามาจากพม่า อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ที่ด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี เข้ามาอยู่ที่เกาะเกร็ดนับแต่นั้นเป็นต้นมา
HERITAGE OF MON POTTERY
เราออกจากร้านเดอ ปาลา ของครูอ๊อด มุ่งหน้าตามหางานศิลปะชิ้นเอกอย่างเครื่องปั้นดินเผามอญ พร้อมกับความตั้งใจที่จะรู้ให้ลึกซึ้งถึงคำว่า ‘มอญคราฟต์ และในที่สุดเราได้พบกับ ‘จ๊อด’ – พงษ์พันธุ์ ไชยนิล ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560 ประเภทงานเครื่องดิน (เครื่องปั้นดินเผามอญ) ณ บ้านดินมอญ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 โซนชาวมอญเช่นเดียวกับบ้านของครูอ๊อด
“ย่าเล่าให้ฟังว่า คุณย่าชวดผมได้เข้ามาที่เกาะเกร็ดเป็นกลุ่มสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยก่อนหน้านี้ก็มีชุดแรกมาแล้ว มาพร้อมกับศิลปะการทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นทุนเดิม พอสมัยคุณย่าชวดเข้ามา ก็เห็นว่าที่นี่เป็นแหล่งปลูกข้าว และดินก็ดี จึงนำความรู้ด้านเครื่องปั้นดินเผาที่มีมาปั้นข้าวของเครื่องใช้ไว้ใช้เอง เช่น โอ่งใส่น้ำ อ่างล้างเท้า กระปุกใส่กะปิ น้ำตาล และบางส่วนนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของในหมู่ชาวมอญ เช่น โอ่งแลกข้าว เมื่อเหลือจึงนำไปขายให้กับคนไทยตามชุมชนอื่นๆ” เขาย้อนวันวานให้ฟัง
“ส่วนจุดเด่นของเครื่องปั้นดินเผาแบบมอญในอดีตคือ เนื้อดินดี มีขนาดใหญ่ คงทน และมีความสวยงามแบบเรียบง่ายที่ปราศจากลวดลาย มีน้ำหนักค่อนข้างมาก และราคาแพง ต่อมาเริ่มมีลวดลายเล็กน้อย แต่ทำขึ้นเฉพาะของที่มอบให้กับผู้ใหญ่ในเมืองเท่านั้น ลวดลายที่ว่านั้นก็ไม่ได้มีความอ่อนช้อยเหมือนลายไทย แต่เพื่อให้ชิ้นงานนั้นถูกใจผู้ใหญ่ จึงเริ่มมีการลอกลายไทยจากวัดไทย จนมาถึงรุ่นคุณย่าก็เริ่มมีคนเขียนลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผามากขึ้น”
จากคุณย่าชวดสู่รุ่นคุณย่า จ๊อดเล่าให้ฟังต่อว่า “เดิมทีช่างปั้นจะเป็นงานของผู้ชายเท่านั้น ส่วนผู้หญิงจะเป็นคนสาวและถีบแป้นเพื่อให้แป้นหมุน เพราะการปั้นโอ่งหรืออ่างนั้นมีขนาดใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ แต่คุณย่ากลับปั้น สาวและหมุนแป้นได้เอง ด้วยการประยุกต์จากโอ่งขนาดใหญ่มาปั้นเป็นกระปุกขมิ้นขนาดเล็ก ตอนเด็กๆ เราเห็นปู่กับย่าทำ ดูเหมือนง่ายมาก เอาดินมาตั้งไว้ที่แป้น หมุนๆ ไม่นานก็กลายเป็นโอ่ง หม้อ รวมทั้งกระปุกทรงหยดน้ำของย่า ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จพร้อมขายแล้ว”
กาลเวลาผ่านไป งานคราฟต์มอญที่ยังคงอยู่ในสายเลือด และเขาเป็นรุ่นที่ 5 สืบทอดศิลปะเครื่องปั้นดินเผา
“เมื่อเรามาเป็นคนปั้นเองทุกขั้นตอน ถึงได้รู้ว่ามันยากมาก กว่าจะได้ชิ้นงานแต่ละใบมันช้ามาก กระปุกและฝาก็ปิดไม่สนิท แต่ในฐานะที่เราเป็นคนรุ่นใหม่ เราจึงตั้งต้นที่อนุรักษ์ต้นแบบ ผสานไปกับการคิดและพัฒนาต่อยอดให้เกิดความสวยงามที่แปลกใหม่ เราทำและคิดอยู่นาน จนได้วิธีทำฝาที่ปิดสนิท โดยได้ไอเดียมาจากแกะสลักละมุดที่เป็นฟันปลา” หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ใช้ความรู้ทางด้านองค์ประกอบศิลป์ที่เรียนมา ผสานไปกับความคิดสร้างสรรค์ เขียนลายต่างๆ ลงบนกระปุกทรงหยดน้ำดั้งเดิม จนทำให้กระปุกขมิ้นราคาแสนถูกเป็นกระปุกที่มีราคาแพงหลักพันจนได้
“สำหรับเราแล้ว นี่คือแนวทางการอนุรักษ์คราฟต์มอญให้ยังคง และอยู่ไปได้เรื่อยๆ มากกว่าทำแบบเดิม ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการก๊อบปี้ แล้วก็ค่อยๆ หายไป” เขาทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ
A LITTLE BIT OF SWEETNESS JOY
เมื่อเรากลับมาหาบ้านเลขที่ 5 อีกครั้ง ครูอ๊อดจึงเล่าเรื่องราวของขนมหันตรา ขนมหวานมอญ ให้ฟังว่า “ในสมัยสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ พระปิยมเหสีในรัชกาลที่ 5 พระองค์เสด็จทางเรือไปบางปะอิน ผ่านเกาะเกร็ดและสนพระทัยในวัดปรมัยยิกาวาส ซึ่งในเวลานั้นเป็นวัดมอญสภาพทรุดโทรม ต่อมาพระองค์จึงบูรณะฟื้นฟู และตัดสินพระทัยว่า หลังบูรณะจะถวายให้พระอัยยิกาซึ่งมีเชื้อสายมอญ แต่ระหว่างการบูรณะที่กินเวลาร่วม 10 ปี พระองค์และพระอัยยิกา รวมทั้งเชื้อพระวงศ์ได้เสด็จมาทอดพระเนตรอยู่เนืองๆ ทำให้ต้องมีการจัดตั้งโรงครัว คณะแม่ครัวชาววังก็มาดูแลราวๆ 5-10 คน โดยมีลูกมือคือ คุณหญิงคุณนายมอญ ทำให้สูตรอาหารคาวหวานชาววังทั้งหลายผ่านสายตามาโดยตลอด
“คนมอญไม่ได้ต้องการทำสูตรตามชาววังเป๊ะๆ เพราะรสชาติไม่ถูกปาก” ครูอ๊อดบอกกับเรา และเพื่อให้ได้ขนมที่ถูกปากถูกใจชาวมอญ ก็เริ่มปรับสูตรขนมหันตราชาววัง ที่ใช้ไข่แดงทำเป็นฝอยทองลักษณะเป็นแพ แล้วห่อขนมเม็ดขนุนไว้ข้างใน เหมือนข้าวแช่พริกหยวก ให้เป็นหันตราชาวมอญ
“ชาวมอญไม่ชอบสูตรนั้น เพราะรู้สึกว่ากินไข่แดงซ้ำซ้อน” ครูอ๊อดย้ำเรื่องรสชาติ ทำให้ต้องเปลี่ยนจากฝอยทองเป็นฝอยเงินที่ทำจากไข่น้ำต้อย หรือไข่ขาวที่ติดกับเปลือกไข่ โรยเป็นฝอยลงในน้ำเชื่อม แล้วอบด้วยควันเทียน ก่อนนำมาโรยหน้าตัวขนม เพื่ออรรถรสทางสายตา และยังได้กลิ่นคล้ายไข่หวานเวลาเคี้ยว หากสนใจลองไปขอดูได้ที่ร้านป้าเล็ก อยู่ริมน้ำถัดไปอีกไม่ไกล” หลังครูอ๊อดเล่าจบ เราก็ปักหมุดกลับไปต่อกันที่ร้านป้าเล็กซึ่งอยู่ไม่ไกลทันที
เราเดินลัดเลาะไปตามตรอกเรื่อยๆ ก็พบกับบ้านไม้ริมน้ำ บริเวณด้านหน้าปรับให้เป็นครัวทำขนมแบบชาวบ้าน โดยมีขนมสีเหลืองสวยใส่กล่องพลาสติกใสวางโชว์ให้เห็น ติดราคาไว้กล่องละ 20 บาท และที่นั่นเราก็ได้พบกับ ‘ป้าเล็ก’ – มะลิ พิกุลทอง วัย 62 ปี หนึ่งในสองคนที่ยังคงทำขนมหันตราอยู่
“อีกเจ้าก็คือแม่พะยอม” ป้าบอกเราแบบนั้น ก่อนจะเล่าให้ฟังถึงการสืบทอดสูตรขนมให้ฟัง
“ป้าได้สูตรนี้มาจากคนเฒ่าคนแก่ที่เขาทำไปถวายพระหรืองานบุญต่างๆ ป้าก็ไปเป็นลูกมือช่วยและพอจำได้ สมัยก่อนนี่กินกันบ่อยมาก แต่หลังๆ ก็ไม่ค่อยทำกินกันแล้ว แต่ป้ามองว่า น่าทำ อย่างน้อยเพื่ออนุรักษ์ขนมโบราณของชาวมอญไว้ ราวๆ 20 ปีก่อน ป้าก็เริ่มทำขนมนี้อย่างจริงจัง จนมาถึงทุกวันนี้ ป้าเห็นแล้วว่าไม่มีใครอยากทำต่อ สิ่งที่ป้าทำได้ก็แค่สอนคนที่สนใจอยากจะทำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่มาทำโครงการ ไม่ใช่ที่อยากมาเรียนรู้จริงๆ คิดแล้วป้าก็เริ่มเสียดาย” ป้าเล็กเสียงอ่อยลง แล้วก็ยื่นขนมหันตราสีเหลืองรสหวานฉ่ำให้เราลองชิม
HOW TO MAKE: HAN-TRA, THE ORIGINAL MON DESSERT
1. กวนถั่วทอง กะทิ น้ำตาล และน้ำลอยดอกมะลิ แล้วปั้นเป็นทรงรีสั้นๆ
2. ตั้งน้ำเชื่อมในกระทะทองเหลืองพออุ่น ชุบไข่แดง
3. นำถั่วกวน ชุบไข่แดง หยอดลงในน้ำเชื่อม
4. ตัดขึ้นมาโปะด้วยฝอยเงินที่ทำจากไข่ขาว
THE LAST CRAFTMANSHIP
เวลาบ่ายคล้อย เรายังคงตามหาช่างศิลป์ชาวมอญแห่งวัดปรมัยฯ ใครๆ ต่างเรียกว่า ‘ผู้พัน’ และมักจะซ่อนกายอยู่ภายในกุฏิเจ้าอาวาส เพียงเวลาไม่นานเราก็ได้พบกับ ‘ลุงเสธ’ – พลโท ชาติวัฒน์ งามนิยม ช่างตอกกระดาษอังกฤษเพียงคนเดียวและอาจเป็นคนสุดท้ายในเกาะเกร็ด
“นี่คือทองกริต หรืออะลูมิเนียมแท้ที่นำมารีดจนเป็นฟอยล์แล้วเคลือบด้วยทองเค ประเทศแรกที่ทำคืออังกฤษ จึงเรียกกันว่ากระดาษอังกฤษ เพราะชาวอังกฤษได้นำเข้ามาสมัยที่ปกครองพม่า และชาวมอญเองยังคงอยู่ที่พม่า เมื่อครั้งอพยพใหญ่จึงนำกระดาษอังกฤษติดมาด้วยที่นี่ด้วย” ลุงเสธหยิบกระดาษขึ้นมาหนึ่งแผ่นเพื่ออธิบาย
“แต่เดิมชาวมอญใช้กระดาษสาชุบสีธรรมชาติ หรือใช้กระดาษข่อยนำมาทาเป็นลักปิดทอง แล้วก็ฉลุลาย ก่อนนำไปติดที่ผ้าไว้ตกแต่งเรือพระที่นั่งฯ บริเวณหลังคาด้านใน ม่าน ตกแต่งฉัตรเบญจาสำหรับประกอบเกียรติยศ รวมทั้งทำธงตะขาบใหญ่เล็กๆ ใช้ในการฉลองพระ หรือแห่ในงานสงกรานต์สำหรับเป็นพุทธบูชา และห้ามแขวนในบ้าน ทีนี้กระดาษสาเมื่อตอกลายแล้วจะขาด เมื่อเจอกับกระดาษอังกฤษที่มีความเหนียวกว่า ชาวมอญเลยใช้วิธีนี้ในการตอกกระดาษเป็นต้นมา”
ความโดดเด่นการตอกกระดาษแบบมอญ จึงกลายเป็นงานศิลปะที่ใช้ทำเป็นวอลเปเปอร์สไตล์มอญอยู่ที่มีลวดลายละเอียดอ่อน เช่น การทำธงตะขาบ หรือการทำวอลเปเปอร์มอญไว้ติดที่โลงเหม หรือโลงทอง มีหลายลวดลายด้วยกัน เช่น ลายมอญ ลายพรรณพฤกษา ลายเครือวัลย์ ลายก้านแย่ง ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นต้น
“ศิลปะลวดลายมอญอีกอย่างคือ การติดแวว เป็นเทคนิคของเครื่องกระดาษมอญ ซึ่งทำยาก เพราะต้องทั้งเจาะและสอดสีทำแบบนี้อยู่ทั้งหมดทำ 4 รอบ กว่าจะได้แววชิ้นเล็กๆ มาตกแต่งเพื่อเพิ่มลวดลาย” ลุงเสธอธิบายพร้อมหยิบกระดาษทรงสี่เหลี่ยมเล็กประกอบไปด้วยกระดาษสีแวววาวให้ดู
“ส่วนใหญ่แล้วช่างตอกกระดาษนี้จะอยู่ที่วัด เป็นพระอาจารย์เก่งๆ ลุงเองก็ฝึกมากับพระอาจารย์ เพราะเป็นศิลปะเพื่อศาสนา ลุงฝึกมาตั้งแต่อายุ 12 ปี ค่อยๆ เรียนรู้ และเริ่มทำอุปกรณ์ตอกเองเพื่อทำให้เกิดลวดลายมากกว่าลายเดิมที่ทำอยู่ ลุงทำเป็นงานอดิเรกเพื่ออุทิศให้พุทธศาสนา ด้วยแรงศรัทธา ไม่เอาเงิน ตั้งแต่รับราชการอยู่ที่กองบัญชาการทหาร (27.19) สรพ. จนทุกวันนี้เกษียณแล้วอายุ 72 ปี แต่ลุงก็ยังคงทำอยู่ แต่อาจจะน้อยลงเรื่อยๆ
“สมัยนี้ไม่มีใครสนใจจะเรียกรู้การตอกกระดาษแล้ว ไม่มีใครอยากทำ ไม่เห็นคุณค่า หากหมดรุ่นลุงไปก็คิดว่าการตอกกระดาษจะหายไปด้วย” ลุงเสธกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ชวนให้รู้สึกใจหาย ก่อนที่เราจะล่ำลาแกไปด้วยความรู้สึกเสียดายที่เกิดขึ้นเมื่อรู้ว่าศิลปะมอญชนิดนี้กำลังจะหายไปจริงๆ โดยที่ยังมีสิ่งที่อยู่รอดเพียงอย่างเดียวคือ เครื่องปั้นดินเผา จนเป็นคำถามที่ก้องอยู่ในหัวว่า…
“จะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ”