ความตาย

จะอยู่หรือไป? เปิดมุมมองต่อความตาย และ Living Will หนังสือที่นำไปสู่ ‘การตายดี’

ความตาย เป็นเรื่องที่ผู้คนในสังคมร่วมสมัยมักจะไม่กล่าวถึง ด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรม เราถูกทำให้เชื่อว่ามันน่ากลัวหรือไม่เป็นมงคล ควรจะต้องแยกออกไปจากชีวิตประจำวัน ทั้งที่เรื่องนี้คือสัจธรรมของชีวิต มีผู้คนเริ่มหันมาสนใจศึกษา หาข้อมูลความรู้ นำประสบการณ์ของผู้คนมาถ่ายทอดบอกกล่าวกัน เพื่อทำให้เกิดชุดความรู้ที่พร้อมนำไปใช้ได้จริง ก่อนที่วันนั้นจะมาถึงจริงๆ สำหรับตัวเราเองและคนรอบข้าง เพื่อจะนำไปสู่ ‘การตายดี’

     ความรู้เรื่องการตายดีเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับมือกับสภาพสังคมยุคใหม่ที่กำลังเคลื่อนเข้ามา เมื่อจำนวนประชากรคนหนุ่มสาวลดลง สวนทางกับจำนวนประชากรสูงอายุที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สัดส่วนประชากรที่เปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมทุกด้าน การรักษาพยาบาลและการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายจะส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนหนุ่มสาว สังคมไทยจะมีความมั่นคงได้ถ้าเรามีความพร้อม เตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมรับมือ

ความตาย

 

     ในสังคมโลก เรื่องการตายดีนั้นถูกพูดถึงกันกว้างขวาง ไม่ได้หลีกเลี่ยงหรือปิดบัง ยกตัวอย่าง ปีเตอร์ ซาอูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยหนัก ได้พูดในรายการ TEDxNewy หัวข้อ ‘ชวนคุยถึงเรื่องความตาย’ เรียกร้องให้เราบ่งบอกความต้องการในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต เขากล่าวว่า “เราควบคุมความตายไม่ได้ แต่เราสามารถปฏิวัติความตายได้” ซึ่งอธิบายไว้อย่างน่าสนใจในฐานะทำงานในแผนก ICU มานาน ได้ช่วยเหลือผู้คนให้พ้นจากความตายมาก็ไม่น้อย สิ่งที่เขาเห็นและรับรู้มาตลอดคือ ระหว่างการรักษาผู้ที่กำลังป่วยหนัก ผู้ป่วยมักจะบอกว่า “พอแล้ว ไม่ไหวแล้ว” หลังจากนั้นก็ขอหยุดทุกอย่าง และเขาต้องปล่อยให้คนคนนั้นจากไป

     ความต้องการของผู้ป่วยและการยอมรับสภาพความเป็นจริงทางร่างกาย บวกกับการพิจารณาถึงเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกลางและสุขภาพท้องถิ่น เขาริเริ่มการรณรงค์การเคารพสิทธิของผู้ป่วย (Respecting Patient Choices) เพื่อฝึกบุคลากรนับร้อยที่อยู่ในแผนกดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินให้ไปพูดคุยกับผู้ป่วยและคนในครอบครัว เพื่อบอกความจริงที่ว่าพวกเขาจะกำลังจะเสียชีวิต และสอบถามว่าพวกเขาต้องการจะให้ทำอย่างไร หรือบอกความปรารถนาออกมา เพื่อที่จะได้ช่วยกันทำสิ่งเหล่านั้นให้เป็นจริง

     ตลอดเวลาที่ดอกเตอร์ปีเตอร์ใช้แนวทางนี้ ครอบครัวและผู้ป่วยกว่า 98% ชื่นชอบ และเรื่องนี้ควรเป็นแนวทางของการปฏิวัติความคิดเกี่ยวกับความตาย ในอีก 6 เดือนต่อมาทุกอย่างหยุดชะงักเพราะเงินทุนหมด แต่เขาไม่ได้หยุดคิดเรื่องนี้ เขายังคงใช้แนวคิดเดิม แต่ทำโครงการขนาดเล็กลง ด้วยการให้ทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วม เริ่มตั้งแต่พูดคุยความต้องการอย่างเป็นกันเองกับคนชราในบ้าน อาจใช้คำถามง่ายๆ เช่น ถ้าคุณยายไม่สบายหนักแล้วพูดไม่ได้ เธอคิดว่าใครจะเป็นคนพูดแทนได้ไหม นั่นเท่ากับว่าเธอจะต้องบอกอะไรบางอย่าง หรือให้อำนาจอะไรบางอย่างในการตัดสินใจเมื่อวันนั้นของคุณยายมาถึง หรือการค่อยๆ พูดคุยไปทีละเล็กทีละน้อย

 

 

     นอกจาก ดอกเตอร์ปีเตอร์ ซาอูล ยังมี เดม ซิเซลี เซาน์เดอร์ส ผู้ก่อตั้งองค์กรเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ยังได้เห็นถึงความสำคัญของการบอกความต้องการในช่วงที่ยังมีสติ ดอกเตอร์ปีเตอร์จึงเดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสิทธิและกฎหมายต่างๆ ทั้งก่อนตาย ใกล้ตาย และหลังความตาย รวมทั้งวิธีการรักษารูปแบบต่างๆ ซิเซลีได้กล่าวไว้ว่า “คุณสำคัญเพราะเป็นตัวคุณ และจะสำคัญไปตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต”

     นั่นคือตัวอย่างของขบวนการทางสังคมที่กำลังขับเคลื่อนโลกรอบตัวของเราอยู่ มีการมองเรื่องความตายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก และหาทางเลือกที่เปิดกว้างเพื่อให้ผู้ป่วยระยะท้าย มีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี จากไปอย่างสงบสุข เป็นไปตามความต้องการของตัวเอง ในขณะที่บ้านเราก็มีองค์กรที่ทำงานด้านสุขภาวะและรณรงค์เพื่อสังคมหลายแห่งที่ทำงานเกี่ยวกับการตายดี บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม ก็เป็นหนึ่งในนั้น

     ตลอดปีที่ผ่านมา ชีวามิตรฯ จัดการอบรมให้ความรู้กับผู้สนใจเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการสนับสนุนเอกชนรายอื่นๆ ที่ทำงานทางด้านนี้ในด้านเงินทุนและความรู้ อีกทั้งยังรณรงค์ให้มีการพูดถึงเรื่อง ‘การตายดี’ กันอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ด้วยการเขียน Living Will (พินัยกรรมชีวิต) และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่ให้สิทธิทางเลือกแก่ประชาชน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับสังคมไทยในการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในเวลาอันใกล้

     เมื่อชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ เรื่องราวเกี่ยวกับความตายก็เป็นสิ่งที่ควรรู้ เพื่อเตรียมตัวสำหรับอนาคต เราจะดูแลคนที่คุณรักได้อย่างเหมาะสม ก่อนที่พวกเขาจะจากไปอย่างสมปรารถนาและอย่างเป็นธรรมชาติ สามารถมีชีวิตช่วงท้ายอย่างมีคุณภาพ และเจ็บปวดให้น้อยที่สุด

     a day BULLETIN ได้รวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาไว้ให้คุณได้ศึกษากัน ณ ที่นี้

 

ความตาย

 

A MATTER OF LIFE AND DEATH 

     การตายดีไม่ใช่เรื่องเดียวกับการุณยฆาต ในขณะที่กระแสข่าวเกี่ยวกับ ดอกเตอร์เดวิด กูดออล ทำให้เกิดการถกเถียงกันถึงเรื่อง Right to Die นักวิทยาศาสตร์วัย 104 ปี เดินทางออกจากบ้านในออสเตรเลีย เพื่อบินข้ามโลกไปจบชีวิตของเขาที่คลินิกไลฟ์เซอร์เคิล ในเมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยให้เหตุผลว่า “ผมไม่มีความสุข ผมต้องการตาย มันไม่ได้น่าเศร้าอะไรนักหรอก สิ่งที่น่าเศร้าก็คือความตายถูกห้ามต่างหาก” และนาทีสุดท้ายของลมหายใจขณะกระทำการุณยฆาต เขาได้ฟังเพลง Ode to Joy จากซิมโฟนีหมายเลข 9 ของบีโธเฟนก่อนที่จะจากไปอย่างสงบด้วยยาเนมบูทอล

     แม้ว่าเคสของเดวิด จะเป็นความตายที่ตรงตามปรารถนาของเขา แต่เป็นคนละเรื่องกับ ‘การตายดี’ ในสังคมที่มีความเชื่อศาสนาและจิตวิญญาณ สิทธิที่จะตายไม่ได้เป็นสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมาย แม้ว่าการทำให้ผู้ป่วยตายจะเป็นไปเพื่อให้เขาพ้นจากความทุกข์ทรมาน แต่เราก็ถือเป็นการทำลายชีวิต ฝ่าฝืนศีลธรรม และขัดต่อสิทธิในชีวิต (Right to Life) ของบุคคลนั้น

     นอกจากนี้ หากอนุญาตให้แพทย์สามารถทำให้ผู้ป่วยตายได้ บทบาทของแพทย์จะมีความคลุมเครือระหว่างผู้บำบัดรักษา (Healer) กับผู้ฆ่า (Killer) สุดท้ายการกระทำนี้ก็อาจจะขยายขอบเขตจากการทำให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวังได้จากไปอย่างสงบไปสู่สิทธิในการจบชีวิตของผู้คนกลุ่มอื่นด้วย

     อย่างไรก็ตาม ในเชิงการแพทย์และกฎหมาย สิทธิที่จะตายนั้นมีหลายประเภท และมีข้อบังคับที่แตกต่างกันออกไป เช่น  การทำให้ผู้ป่วยตายโดยเจตนา (Euthanasia) การฆ่าตัวตายโดยความช่วยเหลือของแพทย์ (Physician-assisted Suicide) การยุติการใช้เครื่องมือช่วยชีวิต (Withholding / Withdrawal of Life-sustaining Treatment)

 

โดยเราได้รวบรวมข้อบังคับและหลักปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิที่จะตายใน 4 ประเทศที่น่าสนใจ ดังนี้

• เนเธอร์แลนด์

     ออกกฎหมายรองรับการุณยฆาตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 และพบว่าสถิติการตายประมาณ 9.1% ของการตายทั้งหมดต่อปี เกิดจากการุณยฆาต (2,300 ราย สมัครใจตาย และ 400 ราย ตายเพราะแพทย์ลงมือเอง และ 1,040 ราย ถูกการุณยฆาตโดยผู้ป่วยไม่มีส่วนรับรู้หรือให้ความยินยอม) โดยผู้ป่วยที่ร้องขอให้แพทย์ทำให้ตนตายโดยสงบ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ป่วยในระยะสุดท้าย แต่ต้องอยู่ในสภาวะทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง และแพทย์กับผู้ป่วยนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์ทางการแพทย์กันมาก่อนเป็นระยะเวลานานพอสมควร

• สวิตเซอร์แลนด์

     รองรับการุณยฆาตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940 โดยขณะนี้เป็นเพียงประเทศเดียวที่มีศูนย์ช่วยจัดการฆ่าตัวตายภายใต้การช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ชาวต่างชาติ ซึ่งจะได้รับอนุญาตก็ต่อเมื่อคนคนนั้นกระทำโดยไม่เป็นการเห็นแก่ตัว และต้องเป็นไปภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เช่น มีอายุ 75 ปีขึ้นไป เป็นต้น

• แคนาดา

     วุฒิสภาแคนาดาภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ผลักดันร่างกฎหมายการจบชีวิตโดยการช่วยเหลือของแพทย์ (Physician-assisted Suicide) ตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 โดยต้องมีอายุมากกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และต้องเป็นผู้ป่วยที่รักษาในระยะสุดท้ายที่มีประกันสุขภาพของแคนาดาเท่านั้น เพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวเดินทางมาจบชีวิต

• อินเดีย

     เป็นอีกประเทศที่การุณยฆาตเป็นกฎหมาย แต่รองรับแค่ในเชิงรับ (Passive Euthanasia) เพื่อยุติการรักษาแก่ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายเท่านั้น กฎหมายฉบับนี้ได้รับการอนุมัติโดยศาลฎีกาแห่งอินเดียในปี ค.ศ. 2011 ส่วนการยุติชีวิตในเชิงรุก หรือการเร่งให้เสียชีวิต (Active Euthanasia) ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมายอยู่

 

     สำหรับสังคมไทย การตายแบบได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์แบบเชิงรุก (Active Euthanasia) เป็นสิ่งผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม ขณะที่การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยระยะท้ายโดยการยุติการรักษาในช่วงเวลาที่เหมาะสม ให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ป่วย ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 ซึ่งมีการอนุญาตให้ทำ ‘หนังสือแสดงเจตนาเพื่อปฏิเสธการรับการรักษา’ หรือ Living Will เพื่อแสดงเจตนาไม่ประสงค์การยื้อความตาย หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

 

ความตาย

 

LIVING WILL: WHEN THE TIME COMES

     Living Will หรือ หนังสือแสดงเจตนาเพื่อปฏิเสธการรับการรักษา เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยแต่ไม่แปลกอะไรในต่างประเทศ บางคนอาจจะเคยได้ยินคนนั้นคนนี้พูดถึงกันมาบ้างว่า พวกเขาในวัยหนุ่มสาวก็เริ่มเขียนหนังสือ Living Will แล้ว ความหมายของหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้มีไว้เพื่อเป็นการยืนยันถึงความต้องการสุดท้ายของผู้ป่วยเท่านั้น แต่มันยังเป็นเอกสารที่ช่วยให้เกิดคุณภาพชีวิต เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารตอบโต้กับใครได้แล้ว มันจะช่วยกำหนดเป้าหมายการรักษาและจุดมุ่งหมายในชีวิตของเราต่อไป

     Living Will มีผลดีกับทั้งตัวคนเขียนเอง รวมถึงผู้ดูแลและแพทย์ ที่ไม่ต้องมาลังเลสงสัยว่าจะทำอย่างไรกันดี ใน Living Will สามารถลงรายละเอียดได้ว่าถ้าฉันหายใจไม่ได้และจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ฉันต้องการให้ปฏิบัติต่อฉันอย่างไร นอกจากนี้ยังระบุได้ถึงขั้นที่ว่าทรัพย์สมบัติที่มีจะยกให้ใครดูแลต่อ หรือหนี้สินที่ยังคงอยู่ใครจะมาช่วยดูแลเรื่องนี้ คุณพ่อคุณแม่หรือสัตว์เลี้ยงของเราจะให้ใครช่วยเหลือต่อไป และงานศพของฉันนั้นอยากให้จัดขึ้นในรูปแบบไหน

     ในบางประเทศ มีข้อปฏิบัติที่คล้ายคลึงกับ Living Will คือ ‘Advance Care Plan’ (ACP) แต่ความแตกต่างที่ชัดเจนคือ Living Will เจ้าตัวเป็นผู้เขียนเองในขณะที่ยังแข็งแรงและมีสติสัมปชัญญะ ในขณะที่ Advance Care Plan เป็นการวางแผนร่วมกันของหลายฝ่าย ทั้งเจ้าตัว แพทย์ และญาติ

     สิ่งที่เราควรรู้ก็คือ Living Will เหมาะกับทุกคน ไม่เฉพาะกับผู้ป่วยระยะท้ายเท่านั้น ทุกคนสามารถเขียนได้ในขณะที่ยังแข็งแรงและมีสติสัมปชัญญะ และมันจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อเราอยู่ในช่วงระยะท้ายของชีวิต หรือกำลังจะเสียชีวิตจากโรคเฉียบพลันและอุบัติเหตุ แต่จะถูกยกเลิกก็ต่อเมื่อผู้เขียนตั้งครรภ์ โดยถ้าเด็กในท้องยังไม่คลอดออกมา Living Will ฉบับนั้นจะไม่ถูกนำมาใช้ยืนยันตามเจตนารมณ์ เพราะถือว่ายังมีอีกชีวิตหนึ่งอยู่ในตัว

 

สำหรับการเขียน Living Will นั้นไม่ได้ยากเกินกว่าจะเข้าใจ เราสามารถเริ่มต้นเขียนหนังสือแสดงเจตนารมณ์สุดท้ายของตัวเองได้จากกระดาษเปล่า โดยมีหลักการคร่าวๆ ดังนี้

 

01 ข้อมูลส่วนบุคคล: ระบุให้ครบถ้วนทั้งชื่อ-สกุล วันเดือนปีเกิด หมายเลขบัตรประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์

     สิ่งที่ห้ามลืม: วันที่ที่คุณเขียนข้อความลงใน Living Will พร้อมกับเขียนกำกับอย่างชัดเจนว่า คุณเป็นคนเขียนด้วยตัวเองในขณะที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน และต้องไม่ลืมว่าต้องสามารถอัพเดตข้อมูลและความต้องการต่างๆ ได้ตลอดเวลา ดังนั้น วันที่จึงสำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวช่วยยืนยันว่า Living Will ฉบับนั้นเป็นเจตจำนงสุดท้ายที่คุณต้องการจริงๆ

 

02 ระบุความเห็นส่วนตัวที่มีต่อชีวิตและความตาย รวมถึงสิ่งที่ต้องการ: เช่น ต้องการความเคารพ ต้องการศักดิ์ศรี ต้องการความสุขสบาย ไม่ต้องการเป็นภาระของครอบครัว ไม่อยากทุกข์ทรมานเป็นเวลานาน เป็นต้น

     สิ่งที่ห้ามลืม: คุณสามารถระบุถึงเรื่องของการจัดงานศพ (ถ้าต้องการ) รวมถึงข้อมูลการบริจาคอวัยวะหลังเสียชีวิต (ถ้าทำไว้) ลงไป

 

03 การรักษา: คุณสามารถระบุลงไปได้ว่าอยากเข้ารับการรักษาที่ไหน ใครที่อยากให้มาเยี่ยม ถ้าเกิดอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันต้องการการปั๊มหัวใจหรือใส่ท่อช่วยหายใจหรือไม่ หากมีอาการหายใจไม่ออกต้องการความช่วยเหลือระดับไหน ยินยอมรับอาหารทางท่อ หรือให้ทีมแพทย์เข้ารักษาอวัยวะภายในของคุณได้แค่ไหน

     สิ่งที่ห้ามลืม: ให้บุคคลที่เป็นพยานรับรู้ของคุณลงชื่อกำกับ พร้อมระบุรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับตัวคุณ

 

04 ครอบครัวและคนดูแล: Living Will จะใช้ไม่ได้ผลถ้าหากคนในครอบครัวไม่รับรู้ถึงเจตนาของคุณ ดังนั้น เมื่อเขียนแล้ว จำเป็นต้องบอกทุกคนให้เห็นพ้องตรงกัน และระบุชื่อของคนที่จะมาเป็นตัวแทนของคุณ โดยเขาจะมีหน้าที่พิทักษ์เจตนารมณ์ และตัดสินใจแทนในเรื่องชีวิตช่วงสุดท้าย

     สิ่งที่ห้ามลืม: วิธีติดต่อบุคคลที่เป็นตัวแทนของคุณในวันที่คุณไม่สามารถสื่อสารได้แล้ว

 

     หากคุณยังมองภาพรวมไม่ออกว่าจะเขียน Living Will ของตัวเองอย่างไร สามารถเข้าไปดาวน์โหลดแบบฟอร์มและและดูตัวอย่างการเขียนของคนอื่นๆ ได้ที่เว็บไซต์ www.thailivingwill.in.th หรือติดต่อขอรับคู่มือ Living Will ได้กับทางบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (สำนักงานใหญ่) 3/88-89 ซอย ส.เกียรติชัย 1 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310 โทร. 08-4095-5564 อีเมล [email protected] หรือเว็บไซต์ Cheevamitr.com

 

ความตาย

 

AT LIFE’S END: DYING PAINLESSLY AND PEACEFULLY

     เพื่อให้การเดินทางช่วงสุดท้ายก่อนหมดลมหายใจ การรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) จำเป็นต้องมีตัวช่วยเพื่อให้ผู้ป่วยคลายความเจ็บปวด นั่นก็คือยาระงับปวด ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ไม่ควรปฏิเสธ โดยแพทย์จะเลือกให้ชนิดของยาระงับปวดตามความรุนแรง และลักษณะของอาการปวด

     เริ่มต้นที่อาการปวดน้อยๆ ใช้ ‘พาราเซตามอล’ ปวดมาขึ้นจนถึงระดับปานกลางจะใช้ ‘โคเดอีน’ หรือ ‘ทรามาดอล’ ซึ่งออกฤทธิ์เหมือนกับมอร์ฟีน แต่ทรามาดอลจะมีความแรงน้อยกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า ทำให้ยานี้ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษเหมือนกับมอร์ฟีน และต้องใช้ร่วมกับพาราเซตามอล สุดท้ายอาการปวดระดับรุนแรง อาทิ โรคมะเร็งระยะสุดท้าย จึงจะใช้ ‘มอร์ฟีน’ ยาแก้ปวดที่สกัดมาจากฝิ่น ซึ่งมีทั้งแบบฉีดที่ออกฤทธิ์แรงกว่าแบบกิน 2-3 เท่า แต่จะหมดฤทธิ์เร็วกว่าภายใน 1-2 ชั่วโมง ในขณะที่ยากินจะอยู่ได้ 2-4 ชั่วโมง แต่หากเป็นยามอร์ฟีนแบบกินที่ออกฤทธิ์ยาวก็จะอยู่ได้นานถึง 12-24 ชั่วโมง ในขณะเดียวกันก็มีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยๆ คือท้องผูก นอกจากนั้นก็มีอาการอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และง่วงนอน หากได้รับมากเกินไปหรือการเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็ว ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อกระตุกหรือเกิดการสับสนได้

     เมื่อความเจ็บปวดขั้นสุดของผู้ป่วยระยะสุดท้ายเกินต้านทาน มอร์ฟีนกลายเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ช่วยแก้ปวดและช่วยแก้อาการหอบเหนื่อยได้อย่างเป็นอย่างดี ที่สำคัญ ยังช่วยให้คลายความกลัว ความกังวล และทำให้รู้สึกเคลิ้มหลับเมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาสุดท้าย แต่ในขณะเดียวกัน ญาติหรือตัวผู้ป่วยเองหลายคนก็มักปฏิเสธ เพราะยังคงเข้าใจว่าจะทำให้เกิดอาการติดยา ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดี และไม่ใช่แค่เพียงคนไทยที่คิดเช่นนี้ ในบางประเทศก็มีทัศนคติแบบนี้เช่นกัน เช่น ญาติและผู้ป่วยชาวจีนเองก็ยังคิดว่าการได้รับมอร์ฟีนจะทำให้กลายเป็นคนติดยา ซึ่งเป็นความกลัวที่ฝังแน่นรากลึกกันมาช้านาน

     เปรียบเทียบกับทัศนคติต่อการติดมอร์ฟีนในทางฝั่งอเมริกานั้นแทบจะเป็นศูนย์ การได้รับมอร์ฟีนสำหรับผู้ป่วยที่ปวดขั้นรุนแรงถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและผู้ป่วยเองมักให้การยอมรับ อย่าง Felicia Knaul ศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยการเเพทย์ไมอามี เมื่อหลายปีก่อนเธอเป็นมะเร็งเต้านม และได้เข้ารับการผ่าตัดเพื่อบำบัดมะเร็ง เมื่อฟื้นขึ้นหลังจากการผ่าตัด ความเจ็บปวดขั้นรุนแรงจนหายใจไม่ได้ เธอได้รับมอร์ฟีนเพื่อช่วยลดความเจ็บปวด ซึ่งเธอเองยอมรับว่า หากวันนั้นไม่ได้มอร์ฟีน เธอก็ไม่แน่ใจว่าจะทนความเจ็บปวดขั้นนั้นได้อย่างไร

 

     จากเวทีเสวนา ‘เรื่องความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย’ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2560 นายแพทย์เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี รังสีแพทย์ ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ว่า คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่าใช้มอร์ฟีนแล้วจะให้เสพติด แต่ที่จริงแล้วยาชนิดนี้หมอเบิกจ่ายให้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย และเมื่ออยู่ในการดูแลของแพทย์แล้วก็มีโอกาสที่จะติดน้อยมาก ความเป็นจริงแล้วการให้มอร์ฟีนหวังผลมากกว่านั้น โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้ายบางคนมีอาการหอบเหนื่อยมาก หมอจะถามญาติว่าต้องการที่จะให้ใส่ท่อช่วยหายใจหรือไม่ หากผู้ป่วยต้องการที่จะจากไปโดยไม่มีการยื้อความตาย ก็จะไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ และสามารถให้ยานอนหลับร่วมกับมอร์ฟีนอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ป่วยค่อยๆ หลับและเสียชีวิตไปอย่างไม่ทรมาน

     แน่นอนว่ามอร์ฟีนอาจส่งผลต่อการรู้คิดได้ ซึ่งคนที่ต้องการจะครองสติจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตและไม่อยากใช้มอร์ฟีน ก็ต้องมีความพร้อมรับความเจ็บปวดขั้นรุนแรง และอาการทางกายอื่นๆ ในภาวะใกล้ตาย ซึ่งนั่นก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เรามีสิทธิเลือกได้ทุกคน

     นอกจากการได้รับมอร์ฟีนในโรงพยาบาลแล้ว ผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะได้รับชุดสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง โดยเฉพาะสิทธิบัตรทองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อช่วยลดจำนวนครั้งของการนอนโรงพยาบาล และช่วยลดภาระทางการเงินของครอบครัวที่ต้องเดินทางมาดูแล ได้แก่ ยามอร์ฟีนเพื่อบรรเทาอาการปวด ชุดทำความสะอาด และออกซิเจนพร้อมอุปกรณ์ร่วมกับการติดตามอาการตามความเหมาะสม

 

ความตาย

 

THE RELATIONSHIP BETWEEN SCIENCE AND SPIRITUALITY

     โลกของสสารและโลกของจิต นิยามความตายแตกต่างกัน เรื่องความตายนั้นจึงมีมุมมองที่หลากหลาย สำหรับคนทั่วไป อาจระบุความตายได้ง่ายๆ ว่าบุคคลนั้นหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้ถือว่าเสียชีวิต แต่ถ้าลงไปในรายละเอียดทางการแพทย์ ถือว่าความตายคือการที่สมองของบุคคลนั้นหยุดการทำงาน หรือที่เรียกว่าสมองตาย ทางแพทยสภาได้ประกาศข้อกำหนดนี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2532 และยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2554 จนกระทั่งตอนนี้การตายจะยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าอวัยวะภายในของเราต้องหยุดทำงานระดับไหน แต่ละคน แต่ละมุม ใช้เกณฑ์แตกต่างกัน เพราะต้องพิจารณาถึงเรื่องศีลธรรมและเรื่องทางจิตใจ อย่างไรก็ตาม เราสามารถวิเคราะห์ว่าคนหนึ่งได้เสียชีวิตแล้วคร่าวๆ โดยทางการแพทย์ถือว่าการตายของสมองนั้นสำคัญที่สุด เพราะกับบางคนแม้สมองจะหยุดทำงานแล้ว แต่หัวใจยังเต้นอยู่ โดยสามารถหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ (Respirator)

     ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์พนัส เฉลิมแสนยากร บอกถึงหลักการคร่าวๆ ในการดูว่าคนนั้นตายแล้วหรือไม่ ว่าสามารถดูจากลักษณะมากมายอื่นๆ จากร่างกายของเขาด้วย เช่น ตัวอุ่นหรือตัวเย็น ถ้าตัวเย็นชืดแล้ว แสดงว่าน่าจะตายแล้ว สีของมือและเท้าก็พอดูได้ เช่น ถ้ามือเท้าแดงดี ก็น่าจะยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าสีของร่างกายเขียวคล้ำ แสดงว่าน่าจะตายแล้ว ยิ่งถ้าสีเขียวคล้ำไปอยู่ทางด้านหลังมากกว่าด้านหน้า (ในกรณีที่นอนหงายตาย) แสดงว่าน่าจะตายมาหลายชั่วโมงแล้ว ลักษณะเช่นนี้ทางการแพทย์เรียกว่า Livor Mortis

 

     ส่วนในทางจิตวิญญาณ ศาสนาได้ตีความเรื่องความตายไปในอีกมุม อย่างในศาสนาพุทธ ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยกล่าวไว้ว่า “สมัยเมื่ออาตมาเป็นเด็กเล็กๆ โยมแม่เล่าให้ฟังถึงการตายของตา ตาได้ตายอย่างวัฒนธรรมของพุทธบริษัท เมื่อถึงเวลาที่จะตายบอกว่าไม่กินอาหารแล้ว กินแต่น้ำและยา ต่อมาบอกว่ายาไม่กินแล้ว กินแต่น้ำ พอถึงวันที่ตาย แกนั่งพูดกับลูกหลาน รวมทั้งโยมแม่ด้วย ถึงเรื่องที่จะตาย แล้วก็ไล่ให้คนที่ร้องไห้ออกไป คงเหลืออยู่คนเดียวที่กล้า ที่บังคับตนเองได้ ที่ไม่ร้องไห้ พูดตามที่จะพูดซึ่งก็หลายนาทีอยู่เหมือนกัน แล้วจึงขอนิ่ง แล้วขอตาย นี่วิธีการตายตามธรรมเนียมโบราณของพุทธบริษัทที่ดี ที่ประพฤติอบรมกันมาอย่างดี เขาทำได้แม้กระทั่งว่าจะตายลงในการหายใจครั้งไหน เป็นการหายใจครั้งสุดท้ายแบบปิดสวิตช์ไฟฟ้า”

 

     เมื่อชีวิตดำเนินมาถึงจุดที่ร่างกายไม่สามารถทำงานได้เหมือนจิตใจต้องการ ทั้งโรคร้าย สภาพความเป็นอยู่ และอวัยวะต่างๆ ที่เสื่อมสภาพจนไม่สามารถมีความสุขกับการดำเนินชีวิตได้อีกต่อไป การรักษาต่อไปไม่เป็นประโยชน์ ผู้ป่วยระยะท้ายจะได้รับดูแลแบบประคับประคอง หรือ ‘Palliative Care’

     นอกจากการดูแลด้วยแพทย์เป็นระยะๆ เขายังต้องการได้รับความช่วยเหลือทางจิตใจไปพร้อมกัน เช่น มีความต้องการเกี่ยวกับศาสนา ต้องการสัมพันธภาพที่ดีกับคนในครอบครัว ต้องการควบคุมชีวิตตัวเองได้ ต้องการสะสางเรื่องค้างคาให้เสร็จเรียบร้อย ต้องการสัมผัสกับธรรมชาติ และต้องการพบเห็นแต่สิ่งที่ดีๆ เพื่อจะได้นำไปสู่การตายดี

 

ในหนังสือ ปทานุกรมแห่งความตาย (เครือข่ายพุทธิกา 2558) ระบุการตายดีไว้ 12 ข้อ ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางที่สอดคล้องกันระหว่างความเชื่อทางวัตถุสสารและจิตวิญญาณ ได้แก่

     01 การตายที่ผู้ตายยอมรับได้ พร้อมที่จะจากไป

     02 เป็นการตายอย่างมีสติ

     03 ทราบว่าความตายจะมาถึง และเข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

     04 ได้รับการปฏิบัติอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และมีความเป็นส่วนตัว

     05 ได้รับข้อมูลและการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ตามความจำเป็น

     06 ได้รับการดูแลบรรเทาอาการปวดและอาการทางกายอื่นๆ เป็นต้น

     07 สามารถเลือกได้ว่าจะตายที่ไหน (ที่บ้านหรือโรงพยาบาล)

     08 ได้รับการดูแลทางอารมณ์และจิตวิญญาณตามต้องการ

     09 สามารถเลือกได้ว่าควรมีใครอยู่ด้วยในวาระสุดท้ายของชีวิต

     10 สามารถแสดงเจตนาล่วงหน้าว่าต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างไรในระยะท้าย

     11 มีเวลากล่าวลาบุคคลที่ตนเองรัก สะสางสิ่งที่คั่งค้างในใจ

     12 สามารถจากไปอย่างสงบเมื่อถึงเวลา ไม่ถูกเหนี่ยวรั้งหรือยืดชีวิตโดยไร้ประโยชน์