หากเราคุ้นชินกับการเรียนที่มีภาพจำเป็นครูยืนสอนอยู่หน้าห้อง นักเรียนนั่งจับคู่ข้างกันอย่างไร้ความหมาย มีเด็กเก่งนั่งแถวหน้า เด็กเกเรอยู่หลังห้อง ส่วนตรงกลางคือเด็กทั่วไปที่สนใจเรียนแต่ก็แอบหลับ มีบางวิชาที่จับกลุ่ม 4-5 คน เรียนและทำรายงาน แต่ก็มักจะมีคนที่ทำและคนคอยจ่ายเงินเสมอ
สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยลงทุกปีอย่าง โรงเรียนพุทธจักรวิทยา เพราะที่นี่มีผู้อำนวยที่วางนโยบายการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง มีครูจำนวนน้อยแต่อุดมด้วยความตั้งใจสอนอย่างแรงกล้า ทำให้มีนักเรียนที่หันกลับมารักโรงเรียนและรู้คุณค่าของการศึกษามากขึ้นแทน
เรียนรู้และก้าวไปข้างหน้า
โรงเรียนพุทธจักรวิทยาก่อตั้งมานาน ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนจาก สพฐ. มามากมาย แต่ทว่าก็ยังไม่มีหลักสูตรหรือรูปแบบการเรียนการสอนใดที่จะหยุดยั้งการลดลงของปริมาณนักเรียนได้ จนกระทั่งเมื่อสี่ปีก่อน จุฑาธิณี สิงหรัญ ได้ก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ที่มาพร้อมกับความปรารถนาใหม่ ไม่เน้นการเพิ่มปริมาณของเด็กในโรงเรียน แต่เน้นการเพิ่มคุณภาพและศักยภาพของเด็กที่ยังเหลือให้ดีที่สุดมากกว่า
“บริบทของสังคมในชุมชนย่านนี้เปลี่ยนคือเรื่องจริงที่ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่สิ่งที่ผู้อำนวยการอย่างเราทำได้ก็คือหาวิธีหรือแนวทางที่จะทำให้โรงเรียนยังคงอยู่ มีครูที่สนใจเด็ก และเด็กๆ ได้รับการเรียนที่เหมาะสม เพราะเราเห็นว่านักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ขาดโอกาสด้วยฐานะ อยากไปเรียนพิเศษก็ไม่มีโอกาสได้ไปเพราะต้องทำงาน ดังนั้น เขาก็จะใส่ใจการเรียนน้อย ดูถูกตัวเองมาก ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ความอดทนน้อย หากไปทำงานที่ได้เงินเร็วก็จะเลือกทำ แต่หากจะให้ประดิษฐ์ของหรือทำอะไรสักอย่างขึ้นมาขาย เด็กจะไม่ทนทำเพราะใช้เวลานานกว่าจะเงิน
“ประการต่อมาคือเมื่อสองปีที่ผ่านมา โรงเรียนของเราจะมีครูรุ่นเก่าและครูรุ่นใหม่เริ่มเข้ามาเรื่อยๆ ครูรุ่นเก่าก็จะเก่งในเรื่องเทคนิคและมีประสบการณ์สอนเยอะ ส่วนครูรุ่นใหม่ยังขาดประสบการณ์ในการคุมชั้นเรียน แต่เก่งในเรื่อง ICT ฉะนั้น เวลาเราทำแบบสอบถามการประเมินความเป็นครูก็พบว่าทุกคนต้องการพัฒนาตัวเองในเรื่องการจัดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของครูในโรงเรียน”
แต่ทว่าแนวคิดหรือหลักสูตรแบบไหนที่จะสอดคล้อง ผอ.จึงนึกออกว่าครั้งหนึ่งเคยไปดูแนวทาง SLC1 จากโรงเรียนเพลินพัฒนา ทุกอย่างตรงกับสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในโรงเรียนแห่งนี้ ประจวบเหมาะกับทาง ผศ.ดร. ชญาพิมพ์ อุสาโห อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำแนวคิดจากประเทศญี่ปุ่นมานำเสนอ แล้ว SLC ในโรงเรียนพุทธจักรวิทยาก็ได้เริ่มต้นขึ้นท่ามกลางความตื่นเต้นยินดีจากตัวครูและนักเรียนทุกคนต่อการเปลี่ยนแปลงโรงเรียน ที่วันนี้เริ่มเห็นผลลัพธ์บ้างแล้ว
ปรัชญา SLC สามประการ
แต่สิ่งที่ทำให้ ผอ.รู้สึกว่า SLC เหมาะกับโรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้อยู่ที่ปรัชญาสามประการซึ่งเป็นหัวใจหลักของ SLC ประกอบไปด้วย ‘ปรัชญาความเป็นประชาธิปไตย’ เป็นการใช้ชีวิตอยู่กับผู้อื่นอย่างเคารพ รับฟังเสียงของทุกคนและไม่ทอดทิ้งใครให้อยู่เพียงลำพังในห้องเรียน ‘ปรัชญาความเป็นสาธารณะ’ ทั้งในห้องเรียนและโรงเรียน หมายถึงโรงเรียนคือพื้นที่การเรียนรู้ของทุกคน สุดท้ายคือ ‘ปรัชญาว่าด้วยความเป็นเลิศ’ ซึ่งก็คือการเป็นเลิศตามแนวทางและศักยภาพของตัวนักเรียนเอง
“ปรัชญาทั้งสามตรงกับสิ่งที่คิดว่าคงทำได้ ซึ่งเราไม่ได้สั่งการครูทันที แต่เราเชิญอาจารย์มาอธิบายให้คุณครูฟัง เมื่อทุกคนรับฟังแนวคิดและเริ่มเห็นด้วย เราเองคือคนแรกที่จะต้องไปเรียนรู้วิธีการและหลักการของ SLC ผ่านการเวิร์กช็อปและทำงานร่วมกับเครือข่ายหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนในสังกัด กทม. อย่างโรงเรียนประถมวัดหัวลำโพง”
ผู้อำนวยการต้องเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้น อย่างกระบวนการนำ SLC ไปใช้พัฒนาบทเรียนร่วมกันหรือ Lesson Study ว่า Plan Do See มีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบไหน แล้วจะสะท้อนผลให้ครูด้วยกันเห็นได้อย่างไร รวมทั้งวิธีการปรับแผนการเรียนรู้จากแผนเดิมที่ทำอยู่ตามปกติ ซึ่งก็คือ PLC (Professional Learning Community) นโยบายจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เน้นเรื่องชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เครื่องมือที่ช่วยให้ครูสร้างความรู้ขึ้นมา ผ่านการสะท้อนให้ครูได้เรียนรู้จากชั้นเรียนของตัวเอง พร้อมปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนาการจัดการเรียนรู้ของตน เพื่อให้ลูกศิษย์เกิดการเรียนรู้ชนิดรู้จริง
แต่ที่น่าสนใจมากของ SLC สำหรับผู้อำนวยการก็คือ ‘สุทรียสนทนา’ ที่ต้องนำมาใช้ในระหว่างการพัฒนาบทเรียนร่วมกันของครูผู้สอน ครูผู้สังเกตการณ์ นักเรียนในชั้นเรียน ครูอาวุโส รวมทั้งผู้อำนวยการ
“การสังเกตการณ์สอนของครู หากไปสังเกตแล้วนำมาติเพื่อนครูด้วยกันเอง คงไม่มีใครยอมรับ การที่เราเรียนรู้เรื่องนี้ก็จะช่วยให้พูดกับครูผู้สอนให้เปิดใจรับฟังด้วยท่าทีที่ดีได้ พอหลังจากเวิร์กช็อปเรียบร้อย เราก็นำกลับมาทำที่โรงเรียนเลย พร้อมกำหนดให้เป็นนโนบาย เพื่อให้มีเป้าหมายร่วมกันว่าเราจะใช้แนวคิด SLC ไปพร้อมกันทั้งโรงเรียนทุกระดับ ซึ่งตั้งแต่ชั้น ม.1 – ม.6 มีเพียง 12 ห้องเท่านั้น ทำให้การขับเคลื่อนการเรียนรู้เป็นไปได้ด้วยดี”
การเปิดชั้นเรียนและเรียนรู้แบบกลุ่มเกื้อกูล
แต่เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ผุ้อำนวยการได้พาเราไปทำความรู้จักกับแนวคิด SLC ผ่านการเรียนการสอนในคาบวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้น ม.2 ระหว่างนั้น ‘ครูแตน’ – กาญจนา เชื้อหอม ครูรุ่นใหม่ก็กำลังทบทวนบทเรียนให้ลูกศิษย์เป็นครั้งสุดท้ายก่อนสอบปลายภาคในวันรุ่งขึ้น
“สังเกตว่า เด็กๆ จะไม่วอกแวกหรือหันมามองพวกเราที่อยู่หลังห้องเลย” ผู้อำนวยการชี้ชวนให้เราสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กๆ พร้อมอธิบายต่อว่ากระบวนการนี้เรียกว่า Open Classroom กระบวนการเปิดชั้นเรียนเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ครูหรือบุคลากรอื่นทั้งในโรงเรียนและต่างโรงเรียน รวมถึงบุคคลภายนอกได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชั้นเรียนและสังเกตการณ์ชั้นเรียนอยู่รอบๆ ห้องเรียน เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน โดยไม่มีการจับผิดในการสอน แต่เป็นการจับตามองลูกศิษย์
“ครั้งแรกๆ ที่เด็กๆ และครูเองเจอกับระบบนี้ก็งงๆ ตื่นๆ หน่อย เพราะปกติเมื่อไม่มีการสอนจะไม่มีคนอื่นเข้ามาในชั้นเรียนเลย แต่เมื่อหลายครั้งเข้า เด็กและครูก็เริ่มชิน แต่เป็นการชินที่น่าสนใจคือชินเพราะสนุกกับกิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูนำมาใช้มากกว่าชินเพราะคุ้นเคย ในขณะที่ครูเองก็เริ่มสนุกไปด้วย เพราะได้จัดกิจกรรมที่สอดคล้องไปกับความต้องการในการเรียนรู้ของเด็กจริงๆ”
ครูแตนและนักเรียนที่เรียนแบบกลุ่มกันอยู่นั้น นอกจากจะไม่ได้หันมาสนใจผู้สังเกตการณ์อย่างเรารวมทั้ง ครูมาลา ชูเกียรติศิริ ครูอาวุโสวัยเกษียณ และผู้อำนวยการที่เข้ามายืนอยู่เงียบๆ หลังห้องแล้ว ยังสามารถจดจ่ออยู่กับการเรียนรู้ตรงหน้าและครูผู้สอนได้อีกด้วย ซึ่งผู้อำนวยการบอกว่า นี่คือกระบวนการจัดการเรียนรู้ขั้นตอนหนึ่งของ SLC ที่สอดคล้องไปกับ PLC ได้อย่างลงตัว
ครูมาลาจึงช่วยขยายความให้ฟังเพิ่มเติมว่า “การโอเพ่นคลาสในแต่ละเดือนนั้นเราเข้าไปดู ไม่ได้เข้าไปเพื่อสังเกตหรือจับผิดครู เราเข้าไปดูการเปลี่ยนแปลงของเด็กว่าเด็กที่สอนร่วมกันนั้นเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า หลุดโฟกัสการเรียนหรือไม่ และเราในฐานะครูสังเกตการณ์ก็จะเห็นและจดว่าเด็กเป็นอย่างไร พอรอบต่อไปเรากับครูได้คุยกัน ครูผู้สอนก็จะเข้าไปดูแลเด็กคนที่มีปัญหาได้ทันและมากขึ้น จากนั้นครูก็จะเริ่มจับกลุ่มกันเพื่อปรึกษาและหาทางแก้ปัญหา ทั้งยังต้องเตรียมการเรียนรู้ให้เด็กมากขึ้น หรือต้องมีคำพูดเพื่อกระตุ้นให้เด็กสนใจมากขึ้น สำหรับครูแล้ว SLC จะทำงานกันเป็นทีมและจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กๆ เองก็เช่นกัน การเรียนรู้แบบจับกลุ่มช่วยกัน เพื่อพากันและกันให้ไปสู่การเรียนรู้ อย่างน้อยขั้นพื้นฐานได้ทุกคน”
การเรียนรู้ของครู
เราสังเกตการณ์อยู่อย่างนั้นจนหมดคาบ ครูแตนจึงแวะมาคุยให้ฟังอย่างออกรสชาติ พร้อมท่าทีที่แสดงให้เห็นเลยว่าเธอยินดีกับการเป็นครูและสนุกไปกับการสอนลูกศิษย์ในโรงเรียนนี้อย่างหมดหัวใจ
“ใครจะคิดว่าเป็นครูแล้วต้องมางงกับคำว่า PLC SLC (หัวเราะ) ตอนแรกแค่เจอคำว่า PLC ภาพวิธีการสอนก็ยังเบลอๆ เรารู้แค่ว่าจะต้องมีการจับคู่บัดดี้เพื่อนครูเพื่อให้ร่วมแสดงความคิดเห็นในด้านการจัดการความรู้กับนักเรียนประจำห้องเรียนของตัวเอง เราต้องเปิดใจรับฟังแนวคิดและวิธีการนำจัดกิจกรรมเพื่อนำมาใช้กับนักเรียนของเรา
“ว่าแล้วเราก็ลองลงมือทำ จนเข้าใจและรู้สึกได้ถึงพลังและคุณค่าของความเป็นครูในตัวเองกลับมา หลังจากที่เริ่มเหี่ยวเฉา ทั้งๆ ที่เพิ่งเป็นครูได้ไม่นาน หรือไม่ก็คงเป็นครูที่เช้าชามเย็นชามแน่ๆ เพราะเราขาดความกระตือรือร้น แต่วันที่เรามาเรียนรู้การเป็นครูแบบ PLC ทำให้เราเข้าใจบทบาทของตัวเองมากขึ้น สนุกกับการได้เตรียมแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้ลูกศิษย์มากขึ้น”
ครูแตนเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี พร้อมบอกเหตุผลไว้อย่างน่าสนใจว่าหลังจากที่ทำความรู้จักกับ PLC จนเข้าใจแล้วและรู้ว่าจะต้องพัฒนาตัวเองอย่างไร รู้ถึงข้อดีของการมีบัดดี้เพื่อนครูมาช่วยเสริมทัพการจัดการเรียนรู้ผ่านการให้เข้ามาดูถึงในห้องเรียน ทำให้ครูผู้สอนต้องเตรียมตัว เตรียมสื่อการเรียนการสอนและกิจกรรมให้สุดความสามารถ รู้ว่าการเรียนรู้ของเด็กจะดีก็ต้องมีพื้นที่ให้แสดงออกมากกว่าการเป็นผู้สอนอย่างเดียว
แต่จุดสำคัญทั้ง PLC และ SLC คือการที่เน้นให้เด็กลงมือทำให้มากที่สุด โดยที่ครูเป็นผู้เปิดโอกาสและจัดหากิจกรรมที่เกี่ยวข้องมารอให้เด็กเก็บเกี่ยวไป จนวันที่โรงเรียนนำแนวคิด SLC เข้ามา ครูแตนจึงมองว่าเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่คล้ายกัน ซึ่งทำได้อยู่แล้ว อาจแตกต่างกันที่เลเวล
“สำหรับเรา PLC คือขั้นพื้นฐาน ส่วน SLE คือขั้นแอดวานซ์ ที่มีต้นทางมาจากอุดมการณ์ของผู้นำโรงเรียน กลางทางมาจากครูผู้สอน และปลายทางคือการเรียนรู้ของลูกศิษย์ที่จะได้รับไปอย่างเข้มข้น”
ส่วนครูมาลาเอง ในฐานะที่เป็นครูรุ่นเก่า ได้บอกกับเราว่า “หากต้องการให้เด็กเรียนรู้ได้ดี ครูต้องเรียนรู้และเป็นแบบอย่างที่ดีก่อน ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นสักแต่ว่าสอน ท้ายสุดเด็กก็ไม่ได้อะไร อย่างเราในฐานะครูรุ่นเก่า หลักสูตรเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน นักเรียนเปลี่ยน เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนตาม และเมื่อได้มาจับคู่กับครูรุ่นใหม่ เราจึงได้เรียนรู้เรื่อง ICT จากรุ่นน้องมากขึ้น จนนำไปใช้กับนักเรียนได้ด้วย”
และล่าสุดมีข่าวว่าก่อนที่ครูมาลาจะเกษียณได้ไม่กี่วัน ครูได้นำ QR code มาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนักเรียน เรื่องนี้ได้สร้างความแปลกใจให้ทั้งลูกศิษย์และครูด้วยกันเป็นอย่างมาก แต่นี่ก็คือผลลัพธ์ของการเรียนรู้ที่ไม่มีวันเกษียณอายุ
“หากต้องการให้เด็กเรียนรู้ได้ดี ครูต้องเรียนรู้และเป็นแบบอย่างที่ดีก่อน” — ครูมาลา ชูเกียรติศิริ
เรียนรู้ (ใจ) ศิษย์ ด้วยการ ‘เยี่ยมบ้าน’
แต่ท้ายสุดแล้วแนวคิดใดหรือจะสู้แนวทางของการเอาใจใส่นักเรียน ในเมื่อโรงเรียนมีจำนวนเด็กน้อยลง ย่อมทำให้ผู้อำนวยการและครูทุกคนไม่ได้เพียงแค่รู้จักลูกศิษย์ประจำชั้นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการรู้จักนักเรียนแทบทุกคนในโรงเรียน แต่ว่าจะเข้าใจ รู้ใจ และรู้จักนักเรียนในแต่ละรุ่นได้นั้น ผู้อำนวยการได้เล่าให้ว่าที่นี่ใช้วิธีเยี่ยมบ้านเด็กเพื่อสร้างความไว้วางใจ
“นักเรียนของเราส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ย้ายตามพ่อแม่มาจากต่างจังหวัด ผู้ปกครองมักจะมีอาชีพแรงงาน ทำให้ไม่มีเวลาดูแลและเอาใจใส่ลูกในเรื่องการเรียนสักเท่าไหร่ ทำให้เด็กหลายคนจะต้องพึ่งตัวเองเยอะ บางคนมีความรับผิดชอบสูง ดูแลตัวเองและครอบครัวด้วยการทำงานหาเงินได้ ในขณะที่บางคนความรับผิดชอบต่อตนเองยังมีไม่มากพอ เสี่ยงที่จะเสียคนก็เยอะ เราจึงมีระบบเยี่ยมบ้านนักเรียน อย่างน้อยเพื่อรับรู้ถึงปัญหาที่เด็กๆ กำลังเผชิญ ทำให้เราเข้าใจ ก่อนจะช่วยกันหาทางออกให้กับนักเรียนเป็นรายบุคคลต่อไป”
ครูมาลาได้เสริมว่า “เด็กหลายคนไม่มีเป้าหมายในชีวิต พวกเขามีความสุขที่ได้มาโรงเรียน แต่ไม่ได้ชอบเรียน เพราะตอนที่เราไปเยี่ยมบ้านของเด็กก็พบว่าบ้านของเขาไม่มีอะไรเลย เมื่อเราเข้าใจ เราก็เรียนรู้ที่จะหาวิธีตะล่อมให้เขากลับมาอยากเรียน และเราก็ทำได้”
โรงเรียนคือบ้านหลังที่สองของการเรียนรู้ชีวิต
ด้วยแววตาและน้ำเสียงของผู้อำนวยการ ครูมาลา และครูแตน เรารู้สึกได้ถึงความต้องการให้โรงเรียนเป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง ที่ซึ่งเด็กๆ จะได้เรียนรู้การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง จบออกไปแล้วดูแลครอบครัวได้ รับผิดชอบต่อตัวเองเป็น และไม่สร้างปัญหาให้กับสังคม
“โรงเรียนของเราไม่ได้วัดผลลูกศิษย์กันที่คะแนนสอบหรือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังได้ แต่หากเด็กทำได้ คงเป็นเพราะเด็กรู้สึกสนุกกับความรู้ที่ได้จากครู เกิดเป็นการใฝ่รู้ โดยมีโรงเรียนและครูเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง” ผู้อำนวยการโรงเรียนยืนยัน
คะแนนสอบอาจวัดความรู้ทางวิชาการ แต่คงไม่มีคะแนนอะไรมาวัดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำด้วยตัวเองได้ ครูมาลายกตัวอย่างของนักเรียนชั้น ม.6 ให้ฟังว่า ครูทุกคนพร้อมที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กเห็นคุณค่าของตัวเองและกล้าแสดงออกซึ่งต้องสร้างขึ้นด้วยตัวเอง อย่างในวิชาการงานของครูมาลา ที่ให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องของการทำขนม แต่เป็นตัวของเด็กๆ เองที่ตัดสินใจอบคุกกี้แล้วออกไปขายหน้ามูลนิธิร่วมกตัญญู ตรงวัดหัวลำโพง ภายในเวลา 70 นาที ได้เงินมาทั้งหมด 2,700 บาท พวกเขารีบนำมาบอกครู จากสีหน้าและแววตาของเด็กๆ ได้บอกผลลัพธ์ให้ครูมาลารับรู้โดยไม่ต้องอธิบายใดๆ
และนี่คือ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ยิ่งใหญ่ ที่ครูทุกคนพยายามปลูกฝังรากแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริงไว้ในโรงเรียนแห่งนี้ ทั้งหมดก็เพื่อทำให้เด็กหนึ่งคนหรือนักเรียนแต่ละรุ่นได้เรียนรู้สาระวิชาการ เรียนรู้ทักษะชีวิตและวิชาชีพ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวออกไปเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริงในวันข้างหน้าต่อไป
1SLC (School as Learning Center): โรงเรียนแนวคิด SLC เกิดขึ้นโดย ศาสตราจารย์มานาบุ ซาโต ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยกักคุชูอิน ประเทศญี่ปุ่น การเรียนรู้ที่ให้ทุกคนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ ทั้งนักเรียน ครู ผู้อำนวยการ ผู้ปกครอง และชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ โดยใช้กิจกรรมการเปิดชั้นเรียนให้ทุกคนได้สังเกตการณ์ เพื่อนำไปสู่การสะท้อนคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักเรียน สิ่งนี้จะช่วยให้ครูพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับนักเรียนได้ แนวคิด SLC สามารถสร้างนักเรียนให้มีความคิดสร้างสรรค์ (creativity) การสืบสอบ (inquiry) และความร่วมมือรวมพลัง (collaboration) ผ่านการเรียนแบบจับกลุ่มคละผู้เรียน เพื่อช่วยกันเรียนและคอยดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตและการทำงานในอนาคต
ที่มา: บทบรรยายของ ดร.นิภาพร กุลสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)