ลึกลงไปใต้ชั้นผิวหนังคือโลกใหม่ที่ลึกลับและซับซ้อนจนให้ความรู้สึกถึงการหลบซ่อน เพราะภายในร่างกายของเราประกอบไปด้วยระบบอวัยวะซึ่งเปรียบเสมือนห้องหลากรูปแบบหลายขนาดที่เปิดโอกาสให้แขกต่างถิ่นตัวประหลาดในฐานะผู้บุกรุก สามารถแอบแฝงเข้ามาอาศัย สิงสู่ และเข้ายึดครองพื้นที่ในห้องหับของร่างกาย
ความหวาดกลัวและน่าขยะแขยงจึงเป็นความรู้สึกแรกๆ ที่เกิดขึ้นได้ทันทีเมื่อมีเหตุทำให้นึกถึงปรสิต ในความน่าสะอิดสะเอียนเหล่านี้จึงสร้างความอยากรู้อยากเห็นขึ้นตามมาถึงความเป็นไปได้ว่าภายในร่างกายของเราอาจมีแขกที่ไม่ได้รับเชิญเข้ามาอาศัยอยู่ (ซึ่งตอนนี้มันอาจอยู่ที่ไหนสักแห่งในตัวเรา)
ความใคร่รู้พาเราให้ออกเดินทางไปถึงกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Meguro Parasitological Museum หรือ พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยาเมกุโระ เพื่อสำรวจความสัมพันธ์ลับๆ ที่เกิดขึ้นแบบไม่เต็มใจนักระหว่างร่างกายของโฮสต์ (host) ผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างเงียบเชียบและเสียประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียวให้กับปรสิต (parasite) เพราะที่นี่คือพิพิธภัณฑ์เฉพาะทางปรสิตวิทยาแห่งแรกของโลกที่เปิดเผยความลับในร่างกาย และเผยแพร่ความร้ายกาจของแขกตัวประหลาดที่ไม่มีใครอยากต้อนรับ
จุดเริ่มต้นแห่งความแปลกประหลาดของชีวิต
ด้วยระยะทางเพียง 1 กิโลเมตร จากสถานีเมกุโระ (Meguro Station) ใช้เวลาเดินเท้าร่วม 15 นาทีเท่านั้นก็ถึงจุดหมาย (เพื่อความสะดวกแนะนำให้ดูเส้นทางเดินผ่าน google map) อาคาร MPM หรือ Meguro Parasitological Museum มีขนาด 6 ชั้น แบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ คือ ชั้นที่ 1 และ 2 เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม ส่วนชั้นที่เหลือเป็นพื้นที่เก็บตัวอย่างปรสิตและเอกสารวิชาการด้านปรสิตวิทยา รวมถึงเป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการพิเศษ
แต่ก่อนจะเป็นอาคารใหญ่โตอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ย้อนกลับไปในอดีตพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มต้นจากอาคารชั้นเดียวซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1953 โดย นพ. ซาโตรุ คาเมไก (Satoru Kamegai) ผู้เก็บรวบรวมตัวอย่างปรสิตและเศษซากแห่งความสยองของสิ่งมีชีวิตที่ถูกปรสิตเข้ายึดครองเพื่อการศึกษาหาความรู้ด้านปรสิตวิทยา ในเวลาต่อมาเมื่อจำนวนตัวอย่างและคลังข้อมูลที่เกี่ยวข้องมีเพิ่มมากขึ้น จึงมีการปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์ครั้งใหญ่เป็นอาคารสูง 6 ชั้น ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1992 จากนั้นทางพิพิธภัณฑ์จึงได้จัดทำเนื้อหานิทรรศการใหม่ทั้งหมด พร้อมเปิดพื้นที่ 2 ชั้นแรกของอาคารเป็นส่วนจัดแสดง และจดทะเบียนเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2001
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยาเมกุโระเก็บสะสมปรสิตไว้มากถึง 60,000 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้มีตัวอย่างที่เป็นต้นแบบ (type specimens) 15,000 ตัวอย่าง ทั้งยังมีเอกสารงานวิจัยกว่า 50,000 ชิ้น และหนังสือร่วม 6,000 เล่ม ครอบคลุมเนื้อหาด้านปรสิตวิทยาและโรคที่เกิดจากปรสิต ส่วนนิทรรศการที่เปิดให้เข้าชมนั้น ทางพิพิธภัณฑ์ได้คัดเลือกตัวอย่างปรสิตชิ้นสำคัญมาจัดแสดงจำนวนเพียง 300 ตัวอย่าง แต่รับรองว่าเป็นจำนวนที่มากพอสำหรับสร้างประสบการณ์ชวนขนหัวลุกได้
เมื่อเข้ามาในตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ ด้านขวามือคือส่วนต้อนรับ มีล็อกเกอร์ให้เก็บของ มีโต๊ะวางแผ่นพับเป็นข้อมูลควรรู้ขนาดกระชับเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ และแผนผังบ่งบอกส่วนจัดแสดงทั้ง 2 ชั้น รวมถึงมีกล่องรับเงินบริจาคตั้งไว้ด้วย เพราะที่นี่เปิดให้ทุกคนชมฟรีแบบไม่เก็บค่าเข้า ดังนั้น ถ้าต้องการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ก็สามารถบริจาคเงินลงในกล่องนี้ได้ และก่อนที่จะไปเผชิญหน้ากับปรสิต ทางพิพิธภัณฑ์มีกฎข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามคือ ห้ามวิ่ง ควรเดินชมด้วยความเงียบ ห้ามจับหรือสัมผัสตัวอย่างปรสิตที่จัดแสดง ห้ามคุยโทรศัพท์ และกฎสำคัญที่สุดคือสามารถถ่ายภาพได้ในจุดที่อนุญาตเท่านั้น ซึ่งสังเกตได้จากสัญลักษณ์ที่ติดไว้ตามจุดต่างๆ
เมื่อทุกคนพร้อมแล้ว ยินดีต้อนรับสู่พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยาเมกุโระ และขอให้สนุกสนานไปกับการเปิดเผยความลับที่อยู่ลึงลงไปใต้ผิวหนังของร่างกายและทำความรู้จักกับปรสิตตัวร้าย ซึ่งรับรองว่าสยองขวัญกว่าหนังผีเรื่องใดๆ
เผชิญหน้ากับความลับที่หลบซ่อนในร่างกาย
เริ่มต้นด้วยสิ่งที่ดึงดูดสายตามากที่สุดคือ ตู้กระจกที่ตั้งอยู่ตรงกลางส่วนจัดแสดงชั้น 1 เพราะภายในบรรจุตัวอย่างปรสิตจำนวนมาก ที่มีทั้งแบบฉายเดียวตัวเดียวโดดๆ และแบบมาทั้งโคตรโดยชอนไชเกาะติดอยู่กับชิ้นส่วนของโฮสต์ผู้โชคร้าย เช่นลำไส้ใหญ่ของกระรอกที่เต็มไปด้วยพยาธิ ปลาที่มีปรสิตเกาะอยู่ทั่วตัว หรือปรสิตที่รุมเกาะบริเวณส่วนคอและรอบดวงตาของเต่า โดยทุกตัวอย่างมีรายละเอียดของชื่อปรสิตและระบุปีที่เริ่มต้นเก็บ ซึ่งบางตัวอย่างอายุมากกว่าพิพิธภัณฑ์นี้จะก่อตั้งด้วยซ้ำ
ในชั้นแรกจึงเป็นการบอกเล่าให้เห็นภาพรวมจากความหลากหลายของปรสิต (Diversity of Parasites) เริ่มต้นจากชนิดสายพันธุ์ วงจรชีวิตตั้งแต่ไข่จนถึงตัวโตเต็มวัย ช่องทางการเข้าสิงสู่โฮสต์จนเกิดเป็นภาวะปรสิต (parasitism) และความข้องเกี่ยวระหว่างปรสิตกับโลก เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ระบบนิเวศเกิดสมดุลขึ้น แต่สำหรับมนุษย์ ปรสิตคือตัวก่อโรคและอาการเจ็บป่วย ซึ่งอาจร้ายแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ ข้อมูลหนึ่งที่น่าตกใจคือ ร่างกายของเราเป็นห้องหับชั้นดีที่เปิดโอกาสให้กับปรสิตประมาณ 200 สายพันธุ์เข้ามาสิงสู่ได้ โดยสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยในมนุษย์ คือ พยาธิตัวกลม (roundworm) พยาธิเข็มหมุด (pinworm) พยาธิตัวตืด (tapeworm) และพยาธิใบไม้ในตับ (liver fflluke)
และถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าโลโก้ของพิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยาเมกุโระเป็นรูปร่างของปรสิตที่มีชื่อว่า Eudiplozoon nipponicum ซึ่งอยู่ในสายพันธุ์หนอนตัวแบน (ffllatworm) ที่มีลักษณะเด่นคล้ายกับผีเสื้อ สาเหตุที่พิพิธภัณฑ์เลือกปรสิตตัวนี้ก็เพราะว่ามันเป็นปรสิตประจำถิ่นของประเทศญี่ปุ่น พบได้บ่อยในปลาน้ำจืด รวมถึงเป็นปรสิตที่ นพ. ซาโตรุ คาเมไก ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สนใจศึกษาเป็นกรณีพิเศษ จนสามารถตั้งสมมติฐานได้ว่าเป็นปรสิตที่สามารถพัฒนาเพศเพื่อสืบพันธุ์ได้
สัมผัสคลังสยองของจริง
เดินขึ้นบันไดมาขั้นบน ซึ่งเป็นชั้นสองของส่วนจัดแสดง ในชั้นนี้สามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนแรกเป็นห้องขนาดเล็กที่แยกออกมาเพื่อบอกเล่าประวัติความเป็นมาของปรสิตวิทยาในประเทศญี่ปุ่น (Progress of Parasitology in Japan) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 984 จนถึงปัจจุบัน พร้อมจัดแสดงวัตถุที่มีคุณค่าทางวิชาการของ ดร. ซัตยุ ยามากุติ (Satyu Yamaguti) ผู้ศึกษาและจัดหมวดหมู่ปรสิตในสัตว์ป่าของประเทศญี่ปุ่น และปรสิตในปลาทะเลของประเทศอินโดนีเซียและฮาวาย เช่น สมุดบันทึกข้อมูลประกอบภาพแสดงลักษณะทางกายวิภาคของปรสิตมากกว่า 1,400 สายพันธุ์ ซึ่งเขียนและวาดด้วยมือทั้งเล่ม เมื่อเดินออกมาหน้าห้องจะพบแบบจำลองปรสิตขยายส่วนที่ทำด้วยขี้ผึ้งของ จินคิชิ นุมาตะ (Jinkichi Numata) สร้างขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1910 เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยโตเกียวในสมัยนั้น ซึ่งตอนนี้กลายเป็นทรัพย์สินทางประวัติศาสตร์ที่พิพิธภัณฑ์ได้รับสิทธิ์ให้เก็บรักษาไว้
ส่วนที่สองคือส่วนนิทรรศการหลักหัวข้อปรสิตในมนุษย์ (Human Parasites) และปรสิตนำโรคจากสัตว์สู่มนุษย์ (Zoonotic Parasites) ซึ่งเป็นเรื่องราวต่อเนื่องจากชั้นล่างที่บอกว่าร่างกายของเราเปิดโอกาสให้กับปรสิตประมาณ 200 สายพันธุ์เข้ามาอาศัยอยู่ได้ แต่ชั้นนี้จะขยายรายละเอียดเพิ่มเติมอีกว่าปรสิต 200 สายพันธุ์นี้ สามารถแบ่งสัดส่วนออกเป็นปรสิตนำโรคจากสัตว์สู่มนุษย์ 90% เช่น ไข้มาลาเรียและโรคบิด ซึ่งถ้าหากเกิดการติดเชื้อแล้วไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนอีก 10% ที่เหลือคือปรสิตตัวเป็นๆ ในมนุษย์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีไข่หรือตัวอ่อนปรสิตเข้าไป ซึ่งอันตรายเหมือนกันเพราะมันทำให้มนุษย์เจ็บป่วยและเสียชีวิตได้
แผนภาพแสดงวงจรชีวิตของปรสิตที่ใช้ชีวิตอยู่ในคนแบ่งออกตามชนิดต่างๆ พร้อมตัวอย่างพยาธิในขวดแก้วที่สร้างความรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องมองดู เช่น พยาธิตัวกลมที่อัดแน่นอยู่ในขวดอาจทำให้เรามองถั่วงอกในมื้ออาหารไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ตัวอย่างหัวใจของสุนัขที่เต็มไปด้วยพยาธิอาจบุกรุกเข้ามาอยู่ในปอดของคนได้ผ่านยุงเป็นพาหะ หรือกระเพาะอาหารของวาฬมิงก์ที่มีพยาธิ Anisakis (อะนิซาคิส) เกาะยั้วเยี้ยเต็มพื้นที่ ซึ่งทุกๆ ปีในประเทศญี่ปุ่นจะมีคนติดเชื้อจากพยาธิชนิดนี้มากกว่า 7,000 คน ซึ่งเกิดจากการกินปลาทะเลดิบ ก็อาจทำให้ไม่อยากปลาดิบไปเลย และไฮต์ไลต์ของชั้นนี้คือพยาธิตัวตืดยาว 8.8 เมตร หรือประมาณความสูงของอาคาร 3 ชั้น ซึ่งนำออกมาจากระบบทางเดินอาหารของโฮสต์เพศชายในปี ค.ศ. 1986 เมื่อเห็นของจริงแบบนี้ก็ทำเอาพูดไม่ออกบอกไม่ถูกเหมือนกัน เพราะเราทุกคนมีความเสี่ยงตกเป็นโฮสต์ให้พยาธิเหล่านี้เข้ามาอยู่โดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
ถัดมาเป็นส่วนที่สามคือร้านขายของที่ระลึก ซึ่งไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ ของแต่ละชิ้นถูกจัดวางในเคาน์เตอร์กระจกขนาดเล็กเพื่อบอกว่าที่นี่มีอะไรจำหน่ายบ้าง ทั้งโปสต์การ์ด ปากกา ไม้บรรทัด แฟ้ม เสื้อยืด กระเป๋าผ้า หนังสือและสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับปรสิต รวมถึงไกด์บุ๊กที่มีหน้าปกชวนอ้วก จนทำให้เผลอคิดว่าจะมีคนซื้อไหม (แต่เราก็ซื้อมา) ยิ่งไปกว่านั้นของบางชิ้นดูเข้าข่ายของที่ระทึกมากกว่า โดยเฉพาะพวงกุญแจอะคริลิคใสภายในมีตัวอย่างปรสิตจริงๆ ถือเป็นของแปลกที่ถ้าหากอยากได้ต้องมาที่นี่เท่านั้น
แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยาเมกุโระจะเปิดให้เข้าชมแค่สองชั้น ด้วยวิธีการนำเสนอเนื้อหาอย่างเรียบง่ายและไม่ได้มีเทคนิคการจัดแสดงที่หวือหวาหรืออลังการ แต่เชื่อเถอะว่าความธรรมดาแบบนี้แหละที่สามารถสร้างความตื่นเต้นและสะกดเราให้ค่อยๆ ใช้เวลาเดินดูแต่ละส่วนจนครบถ้วน รู้ตัวอีกทีเวลาก็ผ่านไปเป็นชั่วโมงแล้ว
ท้ายที่สุดแล้วเมื่อย้อนกลับไป ณ จุดเริ่มต้นและวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งที่ต้องการให้ Meguro Parasitological Museum เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นคลังเก็บตัวอย่างปรสิตหายาก เป็นที่ทดลองศึกษาและตีพิมพ์ผลงานวิชาการด้านปรสิตวิทยาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ของโลกอย่างสมบูรณ์แบบ รอต้อนรับผู้กล้าให้เข้ามาค้นหาความลับของชีวิตที่ซุกซ่อนอยู่ภายในร่างกายซึ่งเราไม่มีทางล่วงรู้ได้จากที่ไหน
WHERE TO FIND MEGURO PARASITOLOGICAL MUSEUM
พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยาเมกุโระ ปิดทุกวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดราชการของประเทศญี่ปุ่น และเปิดให้เข้าชมทุกวันพุธถึงอาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น.
ตรวจสอบวันทำการและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kiseichu.org/e-top