แม้จะถ่ายภาพออกมาอย่างสวยหยด และก็พอเข้าใจคอนเซ็ปต์ที่ว่าด้วยการรำลึกถึงอดีตในวัยเด็กของผู้กำกับ แต่ผมก็อดรู้สึกขัดใจเล็กๆ กับภาพขาว-ดำของ อัลฟองโซ กัวรอง ในเรื่อง Roma ไม่ได้อยู่ดี
ผมไปเยือนเม็กซิโกซิตีเมื่อต้นปี 2018 นอน airbnb ในย่านโคโลเนียโรมา (Colonia Roma) ย่านเดียวกับที่กัวรองเคยใช้ชีวิตในวัยเด็ก นั่นคือราวสองเดือนก่อนที่ Roma จะฉายทาง Netffllix เสียดายเล็กน้อย เพราะถ้ามีโอกาสได้ดูก่อน หนึ่งสัปดาห์ที่อยู่คงมีกิจกรรมให้ซอกแซกตามภาพยนตร์กว่านี้ แต่ถึงอย่างนั้น ย่านนี้ก็มีอะไรให้รื่นรมย์แทบนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะการชมตึกรามที่เต็มไปด้วยสีสันและร่มเงาของต้นไม้ หนึ่งในเสน่ห์ของโรมาคือสีสัน มันเปลี่ยนภาพของเม็กซิโกที่เคยจดจำไปพอสมควร นึกเสียดายว่าน่าจะอยู่นานกว่านี้ ให้อยู่เป็นเดือนๆ ยังได้
เรานอนที่บ้านของมานูเอลและโมนิกา มานูเอลเป็นศิลปินภาพพิมพ์ที่เปิดสตูดิโออยู่ในบ้าน (และเปิดห้องหนึ่งเป็น airbnb ให้เราเช่า) ส่วนโมนิกาเป็นสถาปนิกที่ต้องปั่นจักรยานไปทำงานออฟฟิศทุกเช้าในย่านเดียวกันนี้ บ้านของทั้งคู่อยู่บนชั้นหนึ่งของอพาร์ตเมนต์ริมถนนสายหลักในเขต Roma Norte บ้านที่มีเลย์เอาต์ใกล้กับบ้านของกัวรองในวัยเด็ก และคนเม็กซิกันซิตีส่วนใหญ่ในย่าน (เท่าที่ผมแอบชะโงกมองเข้าไปดูบ้านอื่น) กล่าวคือมีประตูที่เปิดเป็นทางเดินแคบและยาวสำหรับจอดรถ ทางเดินที่ทำหน้าที่เหมือนคอร์ตกลางปราศจากหลังคา เชื่อมเข้าสู่บ้านอื่นๆ และทำหน้าที่เป็นลานสูบบุหรี่รวม เปิดประตูเข้าไปก็เจอห้องนั่งเล่นกลาง แตกต่างก็แค่บ้านที่เราอยู่มีชั้นเดียว และทั้งคู่ไม่ได้เลี้ยงหมาไว้ที่คอร์ต
เชื่อมกันด้วยสวนสาธารณะ ติดกับโรมาคือย่าน ลา กองเดซา (La Condesa) เว็บไซต์แนะนำการท่องเที่ยวบอกว่าสองย่านนี้น่าอยู่ที่สุดในเมือง ไม่เพียงเพราะว่ามันปลอดภัย แต่ตึกรามบ้านช่องที่สวย คาเฟ่ ร้านอาหาร ร้านหนังสือ และที่สำคัญคือสวนหย่อมและแนวต้นไม้ที่ผุดแซมบ้านเรือนและท้องถนน นั่นยังไม่น่าอิจฉาเท่ากับบรรยากาศและสาธารณูปโภคที่เอื้อให้การเดินเท้าเป็นทางเลือกหลักในการคมนาคม จากบ้านของทั้งคู่ เราสามารถเดินเท้าไปดูภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลนใกล้บ้าน ไม่รู้ว่าโรแมนติกของคนอื่นเป็นอย่างไร แต่โรแมนติกของผมคือการเดินเท้าจากบ้านไปดูหนังกับคนรัก ก่อนจะดูจบก็เดินเท้ากลับมาพร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องหนังที่เราเพิ่งดูมา
โรมาและลา กองเดซา มีบรรยากาศคล้ายๆ กับโคโยกัน (Coyoacán) ย่านที่ ฟรีดา คาห์โล (Frida Kahlo) เกิด และปลูกบ้านสีฟ้า หรือ Casa Azul ไว้ (ที่ซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใครมาเม็กซิโก ต่อให้ไม่สนใจงานศิลปะ ก็ไม่ควรพลาด) แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นชัดคือย่านโคโยกันมีลักษณะเป็น grid มีระเบียบ ต้นไม้ถูกตัดเนี้ยบ และเป็นชุมชนบ้านสวยที่เปี่ยมสีสันเหมือนกัน (น้ำเงิน, แดง, คราม ใส่กันแบบไม่แคร์สายตาของผู้นิยมมินิมอล – แต่กลับสวยชะมัด)
เซนโทร ฮิสโทริโค (Centro Historico) หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Historical Center แตกต่างจากย่านอื่นๆ ในเม็กซิโกซิตีที่สุด เพราะย่านนี้คือศูนย์กลางประวัติศาสตร์ เต็มไปด้วยอาคารสถานที่ โบสถ์ และป้อมปราการที่สเปนมาสร้างไว้ ที่น่าสนใจกว่านั้นคือกลุ่มอาคารสเปนเหล่านี้ก็ซ้อนทับกับซากโบราณสถานของชนเผ่ามายันเสียด้วย ที่นี่คือหนึ่งในแหล่งอารยธรรมมายันแหล่งสุดท้ายในเม็กซิโกที่ถูกกองทัพสเปนเข้ามาเผาทำลาย และสถาปนาอาณานิคมใหม่ในศตวรรษที่ 16 Templo Mayor คือซากศาสนสถานที่ยังคงหลงเหลือ และปัจจุบันยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และอนุรักษ์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ตั้งอยู่ถัดจากโบสถ์ Metropolitan Cathedral โบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดของเม็กซิโกซิตี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณจัตุรัสกลางเมือง
เราใช้เวลาอยู่ในย่านนี้มากกว่าย่านอื่น เพราะที่นี่เต็มไปด้วยพิพิธภัณฑ์และแลนด์มาร์กที่หากเพิ่งเคยมาเมืองหลวงของเม็กซิโก ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่คุณจะไม่มา Palacio de Bellas Arts ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารหินอ่อนสไตล์อาร์ตนูโว อยู่ปลายสุดของสวนสาธารณะ Alameda Central (สวนที่เป็นเหมือนเซ็นทรัลพาร์กของเม็กซิโกซิตี) ที่นี่เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะและโรงละครกลางเมือง จากตรงนั้น เราเดินเลาะไปบนถนน Cinco de Mayo Avenue ที่ขนาบข้างด้วยอาคารสูงในยุคศตวรรษที่ 17 ถนนที่ทำให้เราไพล่นึกถึงการเดินอยู่ในย่านใจกลางของกรุงมาดริด นี่คือถนนที่พลุกพล่านไปด้วยนักท่องเที่ยวที่สุด เพราะสุดปลายถนนคือโบสถ์ Metropolitan Cathedral และจัตุรัสกลางเมืองดังที่กล่าว (ให้นึกถึงฉากเปิดใน James Bond 007 ภาค Spectre – ถนนเส้นนี้เลย)
ไม่ไกลจากจัตุรัสกลางเมือง คือที่ตั้งของ National Palace ที่ทำงานของฝ่ายบริหารของประเทศ ซึ่งเปิดส่วนหนึ่งให้นักท่องเที่ยวเข้าชม นอกจากความแกรนด์ของสถาปัตยกรรม ไฮไลต์ที่คุ้มค่าแก่การต่อคิวเข้าชมสถานที่แห่งนี้ (อย่างน้อยๆ ก็ราว 20-30 นาที) คือภาพจิตรกรรมฝาผนังของ ดิเอโก ริเวรา (Diego Rivera) สามีของ ฟรีดา คาห์โล และศิลปินผู้เป็นตำนานของประเทศ ซึ่งได้วาดภาพประวัติศาสตร์การรวมชาติของเม็กซิโกไว้ภายในอาคาร (โดยเฉพาะโถงบันไดหลัก) อย่างอลังการ
ข้อดีของการพักบ้านศิลปินคือคำแนะนำถึงแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ดีๆ ในแบบที่ไกด์บุ๊กส่วนใหญ่ไม่ค่อยบอก มานูเอลแนะนำสวนชาพูลเตเปค (Chapultepec Park) สวนสาธารณะขนาดใหญ่ฝั่งตะวันตกของเม็กซิโกซิตี สวนอันเป็นที่ตั้งของทั้งสวนสัตว์ของเมือง, พระราชวังเก่าบนเนินเขาที่ถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ (Chapultepec Castle), พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่, Ruffiino Tamayo Museum – พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ว่ากันว่าเป็น MoMA แห่งละตินอเมริกาก็ตั้งอยู่ที่นี่ และที่สำคัญคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาแห่งชาติเม็กซิโก (National Museum of Anthropology) หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดในโลก
และถ้าเกิดเดินข้ามถนนทางทิศใต้ของสวนแห่งนี้ไปเพียงอึดใจ ก็เป็นที่ตั้งของ Luis Barragan House อดีตบ้านของสถาปนิกที่ทั้งโลกจดจำในการผสานสีสันสุดเปรี้ยวของเขาเข้ากับอาคารทรงโมเดิร์นอย่างเฉียบขาด ปัจจุบันบ้านหลังนี้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชม (ต้องจองคิวเข้าชมทางออนไลน์เท่านั้น ไม่รับวอล์กอิน)
มานูเอลยังแนะนำให้เราไปย่านโปลันโค (Polanco) ย่านช้อปปิ้งที่เต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้าหรู ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยสองแห่งที่ต้องไม่พลาด Soumaya Museum คือพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในอาคารรูปทรงคล้ายนาฬิกาทรายสีเงิน จัดแสดงผลงานสะสมของ Carlos Sim หนึ่งในนักธุรกิจเม็กซิกันที่รวยที่สุดในโลก คอลเล็กชันของเขาครอบคลุมตั้งแต่ประติมากรรมของ ออกุสต์ โรแดง, จิตรกรรมของ ซัลวาดอร์ ดาลี, คล็อด โมเนต์, ปีเตอร์ พอล รูเบนส์, งานในยุคเรอเนซองส์ของศิลปินเวนิส ไปจนถึงต้นฉบับลายมือหนังสือ The Prophet ของ คาลิล ยิบราน นี่คือมิวเซียมที่รวมคอลเล็กชันน้องๆ Musée d’Orsay ของปารีสเลยละ
ส่วน Museo Jumex ที่ตั้งอยู่ใกล้กัน แม้จะมีขนาดเล็กกว่า หากก็คัดสรรนิทรรศการของศิลปินร่วมสมัยเจ๋งๆ ระดับโลกมาให้ชมตลอด เช่นตอนที่ผมไป ที่นี่จัดนิทรรศการเดี่ยวของ จอห์น บาลเดสซารี (John Baldessari) ศิลปินชาวอเมริกัน ควบคู่กับนิทรรศการซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานคอนเซปชวลของศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ เรียกได้ว่าขณะที่พิพิธภัณฑ์ Soumaya พี่ใหญ่จัดแสดงผลงานของศิลปินที่ (เกือบทั้งหมด) ตายแล้ว พิพิธภัณฑ์ที่เล็กลงมาข้างๆ ก็จัดแสดงงานศิลปะของศิลปินที่ยังมีชีวิตและสร้างสรรค์ผลงานภายในศตวรรษนี้ หมุนเวียนให้ชมทุกเดือน
เม็กซิโกซิตียังมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะและประวัติศาสตร์อีกนับไม่ถ้วนที่เราไม่ได้แวะชม ยังไม่นับรวมการเปิดบ้านของศิลปินหรือบุคคลในประวัติศาสตร์โลกที่เคยใช้ชีวิตในเม็กซิโก เช่น ลีออน ทร็อตสกี้ (Leon Trotsky) หรือ หลุยส์ บุนเยล (Luis Bunuel) เป็นพิพิธภัณฑ์ กระทั่งได้มาเยือนที่นี่เป็นครั้งแรกนี่แหละที่ทำให้ผมตระหนักว่า นอกจากภาพอันคุ้นตาของทะเลทรายแห้งแล้ง แก๊งสเตอร์ นักฆ่า และพ่อค้ายาเสพติด ผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวูด โลกอีกใบของเม็กซิโกคือที่ที่ศิลปะ สถาปัตยกรรม สุนทรียะ และประวัติศาสตร์ ถูกจัดเรียงอย่างเป็นระบบในรูปแบบของวิถีชีวิต ชุมชน และพิพิธภัณฑ์
ไร้ข้อกังขาเลยว่า เหตุใดประเทศนี้จึงผลิตศิลปิน ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียน และอีกหลากนักสร้างสรรค์ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ระดับโลกมากมายนัก