ระยะหลังมานี้คุณอาจจะสังเกตเห็นว่าการชุมนุมประท้วงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
โดยเฉพาะปี 2019 นั้นนับว่าเป็นห้วงเวลาแห่งการลุกฮือเลยก็ว่าได้ เพราะการประท้วงครอบคลุมตั้งแต่ทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรป จนถึงเอเชีย
แต่นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าการชุมนุมประท้วงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาหลายยุคหลายสมัย และเป็นบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ยิ่งในบริบทปัจจุบัน การประท้วงดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะนี่คือเสียงของประชาชน
เสียงนั้นอาจแสดงออกมาในรูปของคำพูด ภาษา การกระทำ การจัดกิจกรรม การวางนโยบาย ไปจนถึงการสร้างสถานการณ์ก็ได้ แต่โดยรวมแล้วเสียงที่เปล่งออกมามีเจตจำนงเพื่อคัดค้านหรือเรียกร้องในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
คลื่นการประท้วงระลอกใหม่ที่กำลังจะซัดเข้าหาฝั่ง
แม้เหตุประท้วงในแต่ละพื้นที่จะมีชนวนและความซับซ้อนของปัญหาภายในที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือคลื่นการประท้วงในหลายพื้นที่มีลักษณะร่วมบางอย่าง
หากย้อนกลับไปไล่เรียงเหตุการณ์ในอดีต จะพบว่า ยุค 1960s ถือเป็นการประท้วงของคนหนุ่มสาวเพื่อต่อต้านสงคราม การเหยียดสีผิว ความไม่เท่าเทียม และปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่ต่อมาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในสหรัฐอเมริกา แต่ขยายมาสู่การประท้วงในญี่ปุ่นด้วย
จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่ยุคปลาย 1980s-1990s ก็เป็นการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในแถบลาตินอเมริกา เอเชีย และยุโรปตะวันออก ก่อนโลกอาหรับจะตามออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2010-2012 ด้วยเช่นกัน แต่ที่น่าสนใจคือ การเรียกร้องประชาธิปไตยกำลังกลับมาเป็นหนึ่งในสาเหตุของการชุมนุมประท้วงอีกครั้ง
จากรายงานของ V-Dem สถาบันวิจัยด้านประชาธิปไตยแห่งประเทศเดนมาร์ก พบว่าเมื่อปี 2019 ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกึ่งอำนาจนิยม อำนาจนิยม และเผด็จการ เพิ่มขึ้นเป็น 92 ประเทศ ตัวเลขนี้เท่ากับว่าประชากรโลกราว 54% อยู่ภายใต้ระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศซึ่งเคยเป็นเสาหลักของประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกาก็เผชิญภาวะถดถอย การประท้วงจึงเป็นสิ่งที่เกิดเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไม่เพียงแค่ปัญหาประชาธิปไตยไม่เต็มใบอย่างเดียวที่เป็นชนวนให้เกิดคลื่นการประท้วงระลอกใหม่ แต่ทางองค์กร Amnesty ยังพบว่าปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ การทุจริตและเพิกเฉยของชนชั้นนำทางการเมือง รวมถึงสิทธิพลเมืองและปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการประท้วงเช่นกัน
ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนอย่างเรียลไทม์บนโลกออนไลน์ เป็นเรื่องธรรมดาที่คนทั่วโลกจะมีความตื่นตัวต่อประเด็นต่างๆ นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าการประท้วงยุคใหม่มักเริ่มต้นขึ้นจากความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียก่อน เมื่ออารมณ์ความรู้สึกของพวกเขาค่อยๆ สะสมมาจนถึงจุด ‘ปรอทแตก’ ความกลัวจะทลายลง ผู้คนผละจากการอยู่หน้าจอ แล้วเดินออกไปบนท้องถนนแทน ที่สำคัญ กลุ่มผู้ประท้วงยุคใหม่จะสามารถมี ‘เจตจำนงร่วม’ (Collective Will) ได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน เพราะโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นว่ามีคนอื่นๆ คิดเหมือนตัวเองและสามารถรวมกลุ่มกันได้ง่าย ซึ่งเมื่อที่หนึ่งออกมาเคลื่อนไหว ก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้อีกที่อยากจะลุกขึ้นเช่นเดียวกัน
จากม็อบยุคเก่าสู่ม็อบยุคใหม่
การประท้วงเกิดขึ้นได้ตั้งแต่การแสดงจุดยืนส่วนบุคคล เหมือน ‘เกรตา ธันเบิร์ก’ ที่หยุดเรียนทุกวันศุกร์ออกมาประท้วงเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมจนปลุกการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของกลุ่มเยาวชน หรืออาจจะเป็นการรวมตัวกันเป็นมวลมหาประชาชนอย่างที่พบเห็นเสมอมาก็ได้
ส่วนรูปแบบการประท้วงนั้นมีหลากหลายขึ้นอยู่กับผู้ชุมนุมเลยว่าจะให้แบบไหน แต่ที่เก่าแก่ที่สุดจะเป็นลักษณะรวมตัวกันเดินขบวนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยมักเลือกสถานที่ที่มีความสำคัญต่อประเด็นการประท้วงนั้นๆ ไม่ก็เป็นสถานที่สำคัญของประเทศ หลังจากการเดินขบวนไปจนถึงจุดหมาย ผู้คนก็จะฟังการปราศรัย พร้อมมีการแสดงและการเล่นดนตรีต่างๆ
อีกรูปแบบที่เห็นกันอย่างแพร่หลายคือการยึดพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งไว้เป็นเวลานาน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการยึดจนกว่าประเด็นที่เรียกร้องจะสำเร็จ เมื่อสำเร็จแล้วก็จะยอมออกจากพื้นที่ แต่ถ้าหากการประท้วงขยับเพดานเข้าสู่ขั้นรุนแรง การประท้วงก็อาจอยู่ในแบบปิดล็อกสถานที่บางแห่งเอาไว้ เช่น ปิดสนามบิน ปิดสถานที่ราชการ และปิดถนน เพื่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง
นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการประท้วงด้วยการอดอาหาร การลงชื่อเรียกร้อง การเปลือยกาย การชูป้าย การแกล้งตาย และอื่นๆ อีกมากมายขึ้นอยู่กับความสร้างสรรค์ของผู้ชุมนุม ดังนั้น รูปแบบของการประท้วงจึงไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว แต่ปรับเปลี่ยนและพัฒนาลื่นไหลไปตามยุคสมัย เหมือนช่วงที่ผ่านมา ‘แฟลชม็อบ’ (flash mob) รูปแบบการเคลื่อนไหวทางการเมืองของผู้ชุมนุมชาวฮ่องกง ได้กลายเป็น ‘โมเดล’ ให้กับอีกหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน
แต่รู้กันไหมว่าจุดตั้งต้นในการทำแฟลชม็อบมีจุดประสงค์เพื่อความบันเทิง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด แถมมันยังเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2003 ด้วยไอเดียนึกสนุกของ ‘บิลล์ วาสิค’ (Bill Wasik) บรรณาธิการอาวุโสของนิตยสาร Harper’s ที่ส่งอีเมลให้ 130 คน มารวมตัวกันที่แผนกขายพรมสุดหรูในห้างดัง Macy’s ย่านแมนฮัตตัน สหรัฐอเมริกา พร้อมกระชับว่า หากมีพนักงานขายเดินเข้ามาถาม ให้ทุกคนตอบกลับไปว่ามาจากชุมชนแห่งหนึ่งในย่านชานเมืองของนิวยอร์ก จะมาซื้อพรมแห่งความรักไปไว้ในชุมชน และจะตัดสินใจซื้อก็ต่อเมื่อทุกคนเห็นชอบแล้วเท่านั้น ก่อนจะแยกย้ายกันไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่ามกลางความงุนงงของพนักงาน
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมแบบแฟลชม็อบของฮ่องกงไม่เพียงแค่นัดหมายกันอย่างฉับพลันและสลายการชุมนุมแบบทันท่วงทีเท่านั้น แต่พวกเขายังใช้กลยุทธ์ ‘blossom everywhere’ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการกระจายตัวเป็นกลุ่มเล็กๆ ไปทั่วเมืองและมีการนัดหมายกันอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งใช้กลยุทธ์ ‘formless shapeless, like water’ หรือทำให้เป็นรูปเป็นร่างน้อยที่สุด โดยใช้แอพฯ แชตที่มีความปลอดภัยสูงเป็นเครื่องมือในการอัพเดตความเคลื่อนไหวการประท้วงและเตือนภัยผู้ชุมนุม ทั้งยังมีกรุ๊ปของทนายและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์คอยให้คำแนะนำผู้ประท้วงในแนวหน้า รวมถึงให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมที่อยู่ในแชตสามารถตัดสินใจได้แบบเรียลไทม์ว่าจะเคลื่อนไหวขั้นต่อไปอย่างไร
จะเห็นได้ว่าโซเชียลมีเดียเป็นถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ม็อบยุคนี้แตกต่างจากหลายปีก่อนอย่างสิ้นเชิง แต่นอกจากความสะดวกในการสื่อสารแล้ว โซเชียลมีเดียยังเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดการประท้วงแบบ ‘ไร้แกนนำ’ ที่มีข้อดีในแง่ที่ว่ารัฐบาลไม่สามารถพุ่งเป้าไปปราบปรามหรือกดดันผ่านแกนนำได้โดยตรง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะปราบปราบทุกคนไปเลยพร้อมกัน
การประท้วงแบบไร้แกนนำเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อรับมือกับความผิดพลาดของ ‘ขบวนการร่ม’ (Umbrella Movement) ในปี 2014 ซึ่งรวมศูนย์การสั่งการไว้ที่ผู้นำไม่กี่คน เมื่อคนเหล่านี้ถูกจับ ขบวนการก็เสียหลัก แต่นัยหนึ่ง ความสำคัญของแกนนำก็ถูกโซเชียลมีเดียเข้ามาทำหน้าที่แทน เมื่อก่อนแกนนำคือคนที่ปลุกระดมการชุมชนหรือปราศรัยเพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร แต่ยุคนี้ทุกคนสามารถเสพข่าวได้ภายในคลิกเดียว การไปม็อบจึงไม่ใช่การไปรับฟังข้อมูลจากใคร แต่ไปเพื่อแสดงออกมากกว่า อาจจะเป็นการแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางการเมือง แสดงออกถึงตัวตน และแสดงออกถึงความชอบก็ได้ เหมือนที่ทุกคนแสดงออกกันผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นปกติ
นี่เองที่ทำให้ม็อบยุคใหม่กลายเป็นศิลปะการประท้วงแบบสร้างสรรค์ โดยการหยิบ Pop Culture มาเป็นเครื่องมือสำหรับใช้แสดงออกและเรียกร้องทางการเมืองไปพร้อมกัน
Pop Culture กับกิมมิกแห่งการก่อม็อบ
วัฒนธรรมและการเมืองไม่เคยแยกออกจากกัน ตลอดมาวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการครองอำนาจนำ (Hegemony) ที่ชนชั้นปกครองใช้ควบคุมความหลากหลายทางวัฒนธรรม ด้วยการป้อนอีกชุดความคิดหนึ่งที่อาจจะเป็นความเชื่อ ค่านิยม และจารีตต่าง ๆ ให้กลายเป็นบรรทัดฐานที่ถูกยอมรับ แต่ในทางเดียวกันวัฒนธรรมก็เป็นเครื่องมือของการต่อต้านด้วยเช่นกัน
การชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่า ป๊อปคัลเจอร์ (Pop Culture) กลายมาเป็นธีมหลักในการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ‘ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง หอแต๋วแตก ‘ม็อบแฮมทาโร่’ ที่เป็นการ์ตูนดังแห่งยุค 90s และ ‘ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์’ วรรณกรรมระดับโลกที่ทุกคนต้องรู้จัก
สังเกตกันไหมว่าเกือบทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็น Pop Culture ที่มาจากโลกภาพยนตร์ หากยุคหนึ่ง ‘สี’ คือสัญลักษณ์ทางการเมือง ยุคนี้ก็คงเป็นยุคของ ‘หนัง’ เพราะตั้งแต่บริการวิดีโอสตรีมมิงถือกำเนิดขึ้นมา ไม่ว่าใครก็สามารถดูหนังเรื่องโปรดได้จากที่บ้าน แถมหนังยังเป็นกิจกรรมสุดโปรดที่คนรุ่นใหม่มีร่วมกัน ฉะนั้น เมื่อหนังถูกนำมาเล่าเรื่องการเมือง ทุกคนจึงสามารถ ‘เก็ต’ สิ่งที่ต้องการจะสื่อสารได้
การประท้วงในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะในไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นอีกหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งหนังที่ถูกหยิบนำมาใช้ส่วนใหญ่อาจมีตัวละครหรือเนื้อเรื่องที่สอดคล้องกับชนวนเหตุในการประท้วง
สัญลักษณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองในศตวรรษที่ 21 ที่พบเห็นกันอย่างแพร่หลาย คงหนีไม่พ้นหน้ากาก ‘กาย ฟอว์กส์’ (Guy Fawkes) จากภาพยนตร์เรื่อง V For Vendetta (2005) ซึ่งตัวเอกมีพฤติกรรมแนวอนาธิปไตย เคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างรัฐบาลเผด็จการ พร้อมสวมหน้ากากสีขาวที่ถอดแบบจากใบหน้าของ กาย ฟอว์กส์ ผู้ก่อกบฏวางแผนสังหารกษัตริย์อังกฤษในช่วงต้นทศวรรษที่ 1600
แต่ ‘หน้ากากดาลี’ จาก Money Heist (2017) ซีรีส์สัญชาติสัญชาติสเปนอันโด่งดังที่นำมาฉายทาง Netfilx ก็กำลังได้รับความนิยมตามมาติดๆ หลังถูกนำไปใช้ประท้วงในเปอร์โตริโก โดยมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับทีมโจรกรรมที่วางแผนปล้นโรงกษาปณ์และธนาคารกลางแห่งชาติของสเปน ซึ่งระหว่างทำการปล้นพวกเขาจะสวมใส่ชุดจัมพ์สูทสีแดงสดและสวมหน้ากากรูปใบหน้าของ ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) ศิลปินที่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันทรงพลังของสเปน
อีกซีรีส์ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องสิทธิสตรีคือ The Handmaid’s Tale (2017) ซึ่งสร้างมาจากนวนิยายดิสโทเปียนชั้นบรมครูของ มาร์กาเรต แอตวูด (Margaret Atwood) เกี่ยวกับการที่ผู้หญิงถูกลดทอนคุณค่าให้เป็นเพียงเครื่องบรรณาการของชนชั้นสูงเพื่อทำหน้าที่ตั้งครรภ์ ชุดคลุมสีแดง หมวกบอนเน็ตสีขาว จึงถูกสวมใส่เพื่อประท้วงประเด็นสิทธิสตรีตั้งแต่ในสหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และไอร์แลนด์เหนือ
นอกจากนี้ ‘Joker’ (2019) ตัวร้ายแห่งก็อตแธมที่บอบช้ำจากการโดนสังคมกดทับ ก็เป็นหนังเรื่องล่าสุดที่ถูกนำมาใช้เพนต์หน้าและแต่งกายที่การประท้วงในเลบานอนและการชุมนุมอีกหลายแห่ง
ส่วนที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือเพลง ‘Do You Hear The People Sing?’ จากละครเวทีและหนังคลาสสิกเรื่อง Les Misérables ซึ่งถูกผู้ประท้วงชาวฮ่องกงนำมาร้องเพื่อปลุกใจและแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการตัดสินใจของรัฐบาลครั้งกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ครั้งแรกที่พบเพลงนี้ถูกนำมาใช้ในบริบทการเมืองไทย คือช่วงหลังการสลายการชุมชนกลุ่มคนเสื้อแดง ในปี 2553 โดยถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทยในหลากหลายเวอร์ชัน และล่าสุดเพลงนี้ได้ถูกนำมาแปลเนื้อเรื่องเป็นภาษาไทย ก่อนจะร้องพร้อมกันในการชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอกที่ผ่านมา
การที่ป๊อปคัลเจอร์ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์หรือกิมมิกในการประท้วงนั้น เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเพื่อต้องการให้เป็น ‘ไวรัล’ บนโลกโซเชียลฯ และลบภาพการประท้วงที่รุนแรงให้กลายเป็นการประท้วงที่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะในประเทศไทยนั้นทุกคนยังคงติดอยู่กับภาพจำแบบเก่า เมื่อม็อบเกิดขึ้นด้วยความสนุกสนานบวกความตลกขบขันก็น่าจะช่วยให้ภาพเหล่านั้นๆ ค่อยๆ เปลี่ยนไป จนสามารถผลักให้ผู้คนก้าวลุกขึ้นมาประท้วงด้วยกัน
ป๊อปคัลเจอร์เองก็ถือเป็น soft power อย่างหนึ่งที่รัฐบาลมหาอำนาจแทบทุกประเทศใช้ โดยอาจจะมาในรูปของแฟชั่น หนัง ดนตรี การแสดง และภาษา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การสร้างการรับรู้หรือความนึกคิดของผู้คน และเศรษฐกิจ เห็นได้จากประเทศเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จมากในการสร้างป๊อปคัลเจอร์ของตัวเอง จนดึงเม็ดเงินเข้าประเทศมหาศาล เพียงแต่วันนี้ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลอีกแล้วที่นำป๊อปคัลเจอร์มาใช้ แต่ประชาชนเองก็หยิบเครื่องมือนี้มาใช้ต่อสู้กับรัฐบาลด้วยเช่นกัน
เมื่อความขบขันเป็นพลังทางการเมือง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอารมณ์ขันเป็นหนึ่งพลังทางการเมืองที่สำคัญ แถมยังเป็นการต่อสู้ทางการเมืองแบบสันติวิธี ระยะหลังมานี้เราจึงได้เห็นการใช้มุกตลกเสียดสีหรือเล่นโจ๊กเกี่ยวการเมืองบนโซเซียลมีเดียเป็นไปอย่างเข้มข้น
การใช้ความตลกมาวิจารณ์สังคมและการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ทำกันมาตั้งแต่ยุคสมัยกรีกโบราณ โดยนักคิดยุคนั้น อริสโตฟาเนส (Aristophanes) สร้างละครขึ้นมาเพื่อการตำหนิสังคมชายเป็นใหญ่ วิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) ก็มีบทประพันธ์ที่เสียดสีมาตรฐานสังคมโดยใช้การอุปมาอุปไมย ส่วนการ์ตูนเสียดสีก็มีมายาวนานตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 18 ถ้าเป็นยุคนี้ก็ต้องยกให้ครอบครัวซิมป์สัน
แคทเธอรีน แรนกิ้น (Katherine Rankin) นักประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย อธิบายว่า การเสียดสีทั้งในแง่บวกและในแง่ลบมีเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมาตามสายวิวัฒนาการของมนุษย์เพื่อการเอาตัวรอดในชีวิตที่ประกอบกันเป็นสังคม การเสียดสีจึงเป็นการคัดกรองมิตรและศัตรูในวิธีหนึ่งด้วยการแบ่งว่าใคร ‘เก็ต’ หรือ ‘ไม่เก็ต’
ปัจจุบันการใช้มุกตลกทางการเมืองส่วนใหญ่มักจะอยู่ในรูปของ ‘มีม’ (Meme) ที่เป็นภาพและข้อความสั้นๆ ถ้าหากคุณอยู่ฝ่ายเดียวกัน คุณก็จะเข้าใจสารที่มีมนั้นอยากจะสื่อ เมื่อเข้าใจก็อยากจะแชร์ต่อ มีมจึงกลายเป็นเครื่องมือใหม่ที่ช่วยกระจายรูปแบบความคิดทางการเมืองไปด้วย
ผศ. ดร. จันจิรา สมบัติพูนศิริ ที่ศึกษาเรื่องนี้และเขียนไว้ในหนังสือ หัวร่อต่ออำนาจ : อารมณ์ขันและการประท้วงด้วยสันติวิธี กล่าวว่า การใช้ความตลกในการต่อต้านอำนาจนั้นสามารถไปไกลกว่าการโจมตีตัวบุคคล เพราะมันช่วยสั่นคลอนอำนาจด้วยการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของระบบความคิดในสังคม ซึ่งระบบความคิดเหล่านี้ทำให้อำนาจของผู้นำเผด็จการใช้ในการดำรงอยู่ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในกลุ่มต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์และเช็กในช่วงสงครามเย็น หรือกลุ่มเยาวชนในจอร์เจียและยูเครนที่สามารถโค่นล้มรัฐบาลอำนาจนิยมได้จากการใช้มุกตลกเสียดสี
ย้อนกลับมาดูการเมืองไทย ตลอดช่วงที่ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เราถูกปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกแทบทุกทาง มุกตลกเสียดสีจึงเป็นสิ่งเดียวที่สามารถใช้ระบายความขับข้องใจและสื่อสารได้ในช่วงเวลานั้น จนถึงตอนนี้ความตลกและความขบขันก็ยังคงเป็นเครื่องมือที่ใช้เคลื่อนไหวทางการเมือง เห็นได้จากม็อบที่ผ่านมาซึ่งชูป๊อปคัลเจอร์ ชูความเป็นเฟสติวัล ชูความสนุกสนาน อาจจะเป็นเรื่องดีในแง่ที่ว่าเป็นการกระทำโดยสันติวิธี แต่สิ่งที่ต้องจับตามองก็คือช่วง 30 ปีที่ผ่านมาการประท้วงแบบสงบเรียบร้อยมีมากขึ้น ฝ่ายปราบปรามเองก็เรียนรู้ที่จะจัดการกับขบวนการแบบนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นไปได้ว่ารูปแบบการก่อม็อบแบบใหม่ๆ ก็อาจเกิดขึ้นมาเพื่อรับมือกับแนวโน้มนี้
ที่มา:
- www.the101.world/protest-movements-after-covid19/
- www.the101.world/protests-around-the-world/
- https://today.line.me/th/article/%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0
- http://six.fibreculturejournal.org/fcj-030-flash-mobs-in-the-age-of-mobile-connectivity/
- www.posttoday.com/world/609179
- https://themomentum.co/do-you-hear-the-people-sing-the-same-song/
- https://medium.com/the-political-economy-review/money-heist-and-protests-an-insight-into-politics-and-modern-popular-culture
- www.voicetv.co.th/read/T7-an_DZ4
- https://workpointtoday.com/thailand-protest-2020-digital-movement/
- https://bizarreculture.com/how-powerful-is-protest-discussing-the-changing-culture-of-opposition/
- www.brut.media/us/international/when-pop-culture-becomes-protest-culture-ff657043-a8c5-4c2e-a4fd-355905c30308
- www.bangkokbiznews.com/news/detail/760273
- www.nytimes.com/2019/08/02/world/asia/hong-kong-protests-memes.html
- https://thematter.co/social/we-use-humour-to-cope-with-despatare/108001
- www.bbc.com/news/world-50123743
- www.bbc.com/news/world-asia-34581340