mom so hard

เป็นแม่ไม่ใช่เรื่องง่าย นี่คือความสตรองของแม่ ที่ทำให้เราต้องรีบกลับไปสวมกอดแทนคำขอบคุณไปตลอดทั้งชีวิต

“เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีลูก เมื่อนั้นเราจะเข้าใจแม่ของตัวเองมากยิ่งขึ้น”

 

ประโยคนี้คือเรื่องจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และจะยิ่งเข้าใจมากยิ่งขึ้น… เมื่อวันที่ผู้หญิงคนหนึ่งได้เริ่มต้นเป็น ‘แม่’ นับตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ยาวไปจนถึงเวลาที่อุ้มท้องนานเกือบ 40 สัปดาห์ คนเป็นแม่ต้องพบเจอการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกนับครั้งไม่ถ้วน แต่เราก็ยินดีต้อนรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มใจ ในขณะที่สายใยระหว่างลูกน้อยและแม่ถูกเกาะเกี่ยวผูกพันไว้ด้วยสายรก

     จนวันที่ทารกน้อยได้ออกมาลืมตาดูโลก วินาทีที่หมอตัดสายรก วินาทีนั้นการผจญภัยในดินแดนที่เรียกว่า ‘ลูก’ ซึ่งไม่มีแม่คนไหนรู้จักมาก่อนก็ได้ออกสตาร์ท ความเหนื่อยจากการไม่ได้นอนเต็มอิ่มได้เริ่มต้นขึ้น และกินเวลายาวนานหลายเดือน จนกว่าลูกจะถึงวัยที่ไม่ต้องตื่นมากินนมกลางดึก และโตพอที่จะนอนได้เต็มคืนเหมือนผู้ใหญ่ ไหนจะวนเวียนอยู่กับการดูแลเด็กแรกเกิดที่ทั้งตื่นกลัว ร้องจ้า อึ ฉี่ อาบน้ำ กิน และนอนหลับ ต้องปั๊มนมทุกๆ สามชั่วโมงตามเข็มนาฬิกา 6 9 12 3 และวนกลับมาอีกในเวลาเดิม เพื่อเพิ่มและรักษาปริมาณน้ำนม ซึ่งใช้พลังงานครั้งละ 500 กิโลแคลอรี ไม่แปลกใจเลยว่าแม่ที่ให้นมลูกในช่วงแรกๆ น้ำหนักจึงลดลงอย่างรวดเร็ว บวกกับการไม่ได้นอนเต็มอิ่ม กินไม่เป็นเวลา ยิ่งหากเลี้ยงคนเดียวด้วยแล้ว เวลา 24 ชั่วโมงที่เคยคิดว่ามากพอ กลับไม่เคยพอเลยสักวัน

     นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของความเหนื่อยกาย จนเมื่อทารกแรกเกิดเติบโตเป็นเด็กตัวเล็กๆ ค่อยๆ คลานออกจากที่นอนของตัวเองได้แล้ว ความเหนื่อยของแม่ก็จะค่อยๆ ทวีคูณ และยิ่งเพิ่มมากขึ้นจนกว่าลูกคนหนึ่งจะเติบโตพอจะดูแลตัวเองได้ และเดินออกจากอ้อมกอดของแม่ไปใช้ชีวิตของตัวเอง ตอนนั้นแม่อาจจะเหนื่อยน้อยลง ได้ชีวิตกลับคืนมา แต่ทว่าความเป็นแม่ก็ไม่มีวันที่จะได้กลับไปเป็นผู้หญิงคนเดิม คนที่ก่อนมีลูกได้อีกตลอดกาล

     แต่ในความเหนื่อยยากนั้น ปลายทางมีบางอย่างรอให้คุณได้ร่วมเรียนรู้ ซึ่งเรากำลังจะบอกว่า หากคุณคิดจะมีลูก นี่คือการเตรียมพร้อมรับมือ หากคุณกำลังตั้งครรภ์นี่คือสิ่งที่อีกไม่นานคุณจะต้องพบเจอ หากคุณเป็นแม่มือใหม่ นี่คือความเข้าใจว่าแม่ทั้งโลกก็มีปัญหาเหล่านี้ไม่ต่างกัน โดยเราขอเล่าผ่านประสบการณ์ของสามคุณแม่ เริ่มจากแม่มือใหม่ของฝาแฝดวัย 8 เดือน แม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดที่มีลูกวัยเกือบ 3 ขวบ และแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกวัยรุ่นถึงสองคน

 

mom so hard

 

‘กวาง’ – สิรินาฏ สายประสาท

Pain & Almost Died

     อาการหน่วงๆ บีบๆ ที่บริเวณท้องน้อยของแม่ท้องแก่ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น นี่คือหนึ่งในสัญญาณว่าเวลาที่ทารกจะคลอดออกมาลืมตาดูโลกกำลังจะเริ่มต้นขึ้น ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่คนเป็นแม่ตื่นเต้นมากที่สุด ก่อนที่ความตื่นเต้นจะค่อยๆ ลดและกลายเป็นความเจ็บปวดที่อาจกินเวลายาวนานถึง 24 ชั่วโมง เพราะมดลูกเกิดการหดรัดตัวเพื่อรอให้ช่องคลอดเปิดขยายจนครบ 10 เซนติเมตร และเมื่อนั้นการเบ่งคลอดก็ได้เริ่มต้น นั่นหมายความว่าความเจ็บปวดก็อีกระลอกที่กำลังตามมา

     ความเจ็บปวดที่เกินระดับ 10 นั้นคือเหตุผลส่วนหนึ่งของ 1 ใน 3 ของคุณแม่ท้องแก่ที่เลือกใช้วิธีการผ่าคลอด โดยในแต่ละปีมีแม่ท้องผ่าคลอดและคลอดเองกว่า 700,000 คน ในจำนวนนี้มีแม่ที่โชคดีคลอดลูกได้ง่ายอยู่จำนวนมาก แต่ก็มีแม่ผู้โชคร้ายที่ต้องมาเสียชีวิตจากการคลอดประมาณ 100 คน จากอาการตกเลือดหลังคลอด ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 1 ใน 3 ของการตายทั้งหมดของแม่ ซึ่งเกิดจากมดลูกไม่แข็งตัว มีการฉีกขาดของช่องคลอดมาก มดลูกแตก รกค้าง ตัวแม่เองมีเลือดแข็งตัวผิดปกติ และการท้องนอกมดลูก เป็นต้น1

     ความเสี่ยงที่แม่ต้องเอาชีวิตตัวเองเป็นเดิมพัน โชคชะตาบางครั้งก็เล่นตลกร้ายกับผู้เป็นแม่เพื่อทดสอบความแข็งแกร่งทั้งจิตใจและร่างกาย เช่นเดียวกับกรณีของ ‘กวาง’ – สิรินาฏ สายประสาท นักวาดภาพประกอบนามปากกา SIRI คุณแม่มือใหม่ของลูกสาวฝาแฝด ‘ฟ้า’ และ ‘ทะเล’ วัย 8 เดือน ที่เสี่ยงเสียชีวิตจากภาวะนี้

     “หลังจากที่ผ่าคลอดเสร็จแล้ว ได้เจอลูกแล้ว กำลังรอกลับไปที่ห้องฟักฟื้น ระหว่างนั้นเลือดกลับออกมาจากช่องคลอดเยอะมาก เราเลยเรียกพยาบาล จนหมอมาตรวจดูจึงรู้ว่าตกเลือด เลยรีบเข็นไปที่ห้องไอซียูทันที” นี่คือสิ่งที่ผิดปกติที่เธอสังเกตเห็นตั้งแต่แรก และต้องอยู่ห้องไอซียูนานถึง 5 วัน โดยไม่ได้พบลูกสาวตัวน้อยเลย

     “เวลานั้นเราคิดถึงและอยากเจอหน้าลูกมาก ภาวนาอยู่ในใจว่าอยากมีชีวิตต่อ ขอให้รอดออกไปเลี้ยงลูก จนได้รับอนุญาตให้สามีถ่ายรูปแฝดด้วยโทรศัพท์มือถือแล้วเอามาให้เราดู วินาทีนั้นพลังใจก็กลับคืนมา” เธอพูดพลางถอนหายใจ

 

mom so hard

 

     ก่อนจะอธิบายถึงสาเหตุของการเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดให้ฟังว่า เหตุการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้กับแม่หลังคลอดทั้งท้องเดี่ยวและท้องแฝด แต่ท้องแฝดจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่า เพราะว่าท้องขยายใหญ่มาก ไม่มีอาการเจ็บแจ้งเตือน มดลูกไม่เคยซ้อมหดตัว ไม่มีการเจ็บท้อง ไม่มีน้ำเดิน พอถึงเวลาผ่าคลอด ฮอร์โมนและระบบต่างๆ ในร่างกายก็เลยรวน ส่งผลให้เสียเลือดมาก

     แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมีมากกว่านั้น เพราะเธอเองก็เรียนจบเทคนิคการแพทย์ ทำให้ค่อนข้างเข้าใจคำศัพท์ทางการแพทย์ที่ได้ยินจากตอนที่หมอและพยาบาลคุยกัน ทั้งเรื่องที่เธอเสียเลือดเยอะมาก ความดันต่ำ น้ำเริ่มท่วมปอดต้องให้ยาระบายออกทางปัสสาวะ ไข้ขึ้นสูงโดยไม่รู้สาเหตุ เลือดออกเยอะจนเกล็ดเลือดต่ำมาก โดยคนปกติจะต้องมีเกล็ดเลือดแสนสี่ถึงสี่แสน ในขณะที่เกล็ดเลือดของกวางมีแค่ห้าหมื่น นั่นหมายความว่า หากเลือดออกก็เสี่ยงเสียชีวิตทันที ระหว่างนั้นก็คอยเจาะเลือดดูว่า เกล็ดเลือดเพิ่มขึ้นหรือไม่เป็นระยะๆ

     กวางขยับมือมาจับที่ข้อพับแขนข้างหนึ่งแล้วเล่าต่อว่า “ข้อพับแขนและหลังมือทั้งสองข้างของเราโดนเจาะจนพรุน สุดท้ายต้องไปเจาะที่เท้า” เธอหัวเราะขึ้น แต่เชื่อว่าวินาทีที่โดนเจาะนั้น เสียงหัวเราะอาจเป็นคราบน้ำตา เพราะนอกจากอาการที่กล่าวมาแล้ว เธอยังต้องผ่านการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เนื่องจากหัวใจของเธอเต้นผิดจังหวะ มีภาวะแพ้เลือด ให้เลือดไปทั้งหมด 5 ถุง ส่วนประกอบของเลือด 3 ถุง และเกล็ดเลือดอีก 2 ยูนิต

     “โชคดีที่หมอช่วยเราไว้ได้ ไม่อย่างนั้นเราคงไม่รอด หรือไม่ก็ต้องตัดมดลูกทิ้ง” เธอบอกถึงปลายทาง ถ้าหากเธอคือคนที่โชคร้าย เธอก็คงไม่ได้ออกมาจากห้องไอซียูมาเจอลูกอีกเลย

 

mom so hard

 

     หลังจากวิกฤตเสี่ยงตายหลังคลอดของกวาง โลกใบนี้ก็ไม่ได้มีที่ว่างมากพอให้ผู้เป็นแม่คนนี้ได้คลายความเจ็บปวด ทันทีที่หมดกังวลด้านร่างกาย ก็ถึงคราวจิตใจที่โดนผลกระทบอย่างหนัก นั่นก็คือภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Baby Blue) ซึ่งกรมอนามัยร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้สำรวจนำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช และสงขลา (ปี 2561) และพบว่ามีแม่ซึมเศร้าหลังคลอดถึง 10%2

     ภาวะนี้จะพบมากในช่วง 6 เดือนแรก เป็นเหตุให้น้ำนมไหลน้อย ปฏิสัมพันธ์กับลูกลดลง อาจไม่ได้กอดลูกเท่าที่ลูกต้องการ หลายคนมองว่ามีลูกส่งผลกระทบต่อชีวิตเป็นอย่างมาก และบางครั้งอาจถึงขั้นทำร้ายลูก ทำร้ายตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ

     กวางเองก็เป็นคนหนึ่งที่ตกอยู่ในช่วงเวลา Baby Blue เธอบอกว่าตอนนั้นลูกเพิ่งได้ 10 วัน

     “เราเริ่มรู้สึกว่าไม่ไหว จัดการกับเด็กตรงหน้าไม่ได้เลย เราไม่รู้จักเขาเลย เขาเป็นใครก็ไม่รู้มาอยู่ตรงหน้า คุยกันก็ไม่รู้เรื่อง แล้วเราก็เริ่มร้องไห้” นั่นเป็นครั้งแรก แต่หลังจากนั้นความรู้สึกของเธอก็เพิ่มมากขึ้น จนวันที่เธอรู้สึกว่าไม่อยากอยู่แล้ว อยากกระโดดลงมาจากคอนโดฯ

     “แค่รู้สึก แต่โชคดีที่ไม่ทำ” เธอหายใจลึกๆ นึกย้อนความรู้สึกในวันนั้น และทุกครั้งที่เธอรู้สึกแย่ สามีเธอคือคนแรกที่ให้กำลังใจ ก่อนจะหาทางแก้ไขด้วยการกลับไปหาครอบครัวที่จังหวัดขอนแก่นให้บ่อยเท่าที่กวางต้องการ

 

FYI

     5 อันดับสาเหตุการตายของแม่หลังคลอดนั้นสาเหตุหลักมีดังนี้ อันดับแรก ‘ตกเลือดหลังคลอด’ ตามด้วย ‘ติดเชื้อในกระแสเลือด’ ‘ครรภ์เป็นพิษ’ ‘ภาวะแทรกซ้อนของโรคทางอายุรกรรม’ และ’น้ำคร่ำอุดหลอดเลือดที่ปอด’ เป็นอันดับสุดท้าย

 

mom so hard

 

‘แนล’ – ชนานาฎ ทองมณี

Baby Blue & Postpartum Depression

      สำหรับกวาง เธอคือหนึ่งในแม่ที่โชคดีเข้าข้าง แต่สำหรับ ‘แนล’ – ชนานาฎ ทองมณี อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการสำนักพิมพ์แซลมอน คุณแม่ของน้องจักรวาลวัย 2 ขวบกว่า โชคชะตามักพาเธอให้ไปเจอกับความเศร้าที่ทิ้งดิ่ง ก่อตัวจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด

     “เราเป็นโรคซึมเศร้า กินยามาจะสองปีแล้วนะ” แนลบอกกับเราอย่างตรงไปตรงมา ก่อนจะเล่าถึงสิ่งที่เธอเชื่อว่าคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคนี้ก่อตัวและลุกลาม

     “ความคาดหวังการเลี้ยงลูกตอนแรกๆ เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อมาบวกกับอารมณ์ที่ไม่คงที่ ฮอร์โมนที่ทิ้งดิ่งสุดๆ ทำให้เราเหมือน ‘ผีบ้า’ ยิ่งช่วงหกเดือนแรก เราควบคุมอารมณ์ไม่ได้ สุดท้ายสะสม และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า”

 

mom so hard

 

     แนลบอกว่าอาการของเธอหนักขึ้นเรื่อยๆ บางวันลูกเข้าเต้าไปก็นั่งร้องไห้อย่างไม่มีเหตุผล พลางพูดใส่ลูกด้วยอารมณ์รุนแรง แถมอารมณ์ยังเปลี่ยนแปลงได้เร็ว “อย่างเวลาเราโมโหสามีอยู่ แต่สามารถหันกลับมายิ้มให้ลูกได้เหมือนไม่อะไรเกิดขึ้น“ จากนั้นเธอก็เริ่มนอนไม่หลับ มีความคิดชั่ววูบว่ากลัวตัวเอง เพราะจากที่เคยคิดว่าห้ามตาย กลับรู้สึกว่าตายก็ได้ขึ้นมา จุดนั้นเองที่ทำให้เธอตัดสินใจไปพบจิตแพทย์

     “ช่วงแรกๆ ก็กินยาหนึ่งเม็ด บรรเทาความรู้สึกหดหู่นี้ และออกจากห้องหมอมาด้วยความมั่นใจว่าเราจะหาย” แนลบอกกับเราด้วยแววตาที่หม่นลงอย่างเห็นได้ชัด นั่นเพราะยังมีอีกหลากหลายปัจจัยภายนอกที่เธอควบคุมไม่ได้เล่นงานเธออย่างหนัก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับสามี ส่งผลให้เธอร้องไห้รวดเดียวนานสุดถึงสามชั่วโมง ในขณะที่ลูกตัวน้อยก็อยู่และเริ่มร้องไห้ตามไปด้วย

     “หลังจากนั้นก็เหมือนรู้ตัว เราก็กลับมาเป็นปกติมาก คิดว่าจัดการตัวเองและปัญหาได้แล้ว แต่พอครบกำหนดที่หมอนัด กลายเป็นว่าหมอก็สั่งเพิ่มยาเป็นเม็ดครึ่ง”

     ตลอดเวลาของการกินยา เธอปรับวิธีคิดใหม่ บาลานซ์ตัวเอง ลูก สามี ครอบครัว เพื่อนและสังคม เธอเลือกเลี้ยงลูกทางสายกลาง นั่นทำให้บรรยากาศในบ้านดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ต่อให้โรคที่เธอเป็นจะย้อนกลับมาทำร้ายเธออยู่บ่อยๆ ก็ตาม

 

mom so hard

 

‘เจี๊ยบ’ – วรรธนา วีรยวรรธน

Challenges & Endurance

     ดูเหมือนคนเป็นแม่จะเต็มไปด้วยความทุกข์ แต่นี่ก็คือเรื่องจริงที่กว่าใครสักคนจะเป็นแม่คนได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งการันตีได้เลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากความเสี่ยงตาย ความเจ็บปวดทุกข์ใจแล้ว ยังมีเรื่องที่ท้าทายความอดทนของแม่ นั่นก็คือการดูแลลูกตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายที่ลูกละจากอ้อมกอดของแม่ สู่อิสรภาพในวัยที่เติบใหญ่

      เรื่องนี้ผู้ที่เล่าเรื่องราวได้ดีที่สุดคงจะต้องเป็นแม่ที่ผ่านความเหนื่อยและประสบการณ์ความเป็นแม่มานานมากพอจนเข้าใจได้อย่างแจ่มชัด เราจึงนึกถึง ‘เจี๊ยบ’ – วรรธนา วีรยวรรธน นักร้องและนักเขียนบท แม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นทั้งสองคน อย่าง ‘เนปาล’ เด็กสาววัย 18 ปี และ ‘ธิเบต’ หนุ่มน้อยวัย 15 ปี ซึ่งเธอได้ให้ความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจในแง่มุมของแม่ที่ต้องทำงานและเลี้ยงลูกไปด้วย เพราะนี่คือหนึ่งในความเข้มแข็งของแม่ที่กินเวลายาวนานเกือบจะทั้งหมดของชีวิต

     “ย้อนกลับไปตอนที่เรามีลูกคนแรกเมื่ออายุสามสิบ รู้สึกว่าเรายังอยู่ในวัยทำงาน แต่ก็มีวุฒิภาวะทางด้านอารมณ์และการใช้ชีวิตมากพอระดับหนึ่ง เมื่อเรามีลูกเราก็พร้อมที่จะทุ่มเทให้ เราคิดว่าเลี้ยงลูกไปด้วยทำงานไปด้วยไม่เห็นเป็นไรเลย แล้วเป็นไงล่ะ…” เธอหยุดหัวเราะให้กับตัวเองอย่างเข้าใจชีวิต “เพราะยังไงมนุษย์แม่ก็จะไม่มีวันกลับไปเป็นคนเดิมได้อีกเลย”

 

mom so hard

 

     เธอยังยืนยันกับเราว่า ‘เป็นเรื่องปกติ’ ที่บางครั้งอยู่บ้านก็อยากออกไปทำงาน พอออกไปทำงานก็รู้สึกอยากอยู่บ้าน หรือทำงานอยู่แล้วอยากกลับบ้าน คิดถึงลูก คนเป็นแม่มือใหม่ก็ไม่ต้องไปหงุดหงิดตัวเอง เพราะมันเป็นบริบทที่คนคนหนึ่งทำอยู่สองด้านในเวลาเดียว แต่สิ่งที่ต้องทำให้ดีต่อก็คือการบาลานซ์ตัวเองให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเองและการดูแลลูก

     “เราไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับแม่คนอื่นๆ แม่ในโลกนี้ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมด ทุกคนมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่แล้ว ขอแค่เชื่อมั่นในตัวเองและทำให้ดีที่สุดในแบบของเราก็พอ” นี่คือทางออกที่เธอเลือกมานำเสนอ

     นอกจากนี้เธอยังบอกอีกว่า แม่ต้องมีความอดทนให้มากพอ ทำตัวให้เป็นเพื่อนกับลูกเสมอ ยิ่งต้องเลี้ยงลูกคนเดียวด้วยแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือพยายามฟอร์มทีมของตัวเองให้ได้เร็วที่สุด และเลี้ยงลูกด้วยทัศนคติเชิงบวก

     “กระบวนการสร้างความคิดบวกเท่ากับการได้รับความไว้วางใจในการใช้ชีวิต” นี่คือแนวทางที่ครอบครัวนี้ใช้กันมารุ่นสู่รุ่น ซึ่งเธอเรียนรู้มาจากกาแฟหนึ่งแก้วของพ่อ ตอนนั้นที่วรรธนาอายุได้ 5 ขวบ พ่อของเธอก็ให้ลองกินกาแฟ เพราะเห็นว่าเด็กหญิงผมชี้ฟูคนนี้อยากชิม

     “พ่อบอกกับเราว่า นี่คือเครื่องดื่มที่บ่งบอกว่าเป็นผู้ใหญ่ แต่ถ้าอยากชิมจะให้ลอง จะได้รู้ว่าเป็นยังไง หลังจากนั้นเราก็รู้สึกตัวใหญ่มาก ไปโรงเรียนก็ยืดอกบอกว่าเมื่อเช้าเรากินกาแฟมา” เธอพูดไปยิ้มไป แต่กลับมีน้ำเสียงที่หนักแน่น เพื่อย้ำให้รู้ว่ากระบวนการที่ทำให้คนเราเรียนรู้เรื่องความไว้วางใจในการใช้ชีวิต ไว้ใจในสิ่งที่ลูกสนใจ ตัดสินใจ และไว้ใจว่าลูกจะดูแลชีวิตของตัวเองได้ดี สามารถเริ่มต้นได้จากผู้ปกครอง

 

mom so hard

 

Thank You & Happy

     เส้นทางของแม่มือใหม่ดูเหมือนยังอีกยาวไกลกว่าจะเห็นปลายทาง แต่แม่อีกจำนวนไม่น้อยที่เห็นปลายทางตั้งแต่เริ่มต้น แม่ผู้ที่เชื่อมั่นว่า ท่ามกลางความทุกข์ มีความสุขอยู่ทุกระยะ สุขที่ได้เห็นลูกยิ้มครั้งแรก ตื่นเต้นไปกับพัฒนาการใหม่ๆ เต็มตื้นไปกับคำเรียกว่าแม่เป็นครั้งแรก และอีกความสุขมากมายที่ผู้เป็นแม่จะได้รับ แต่ก่อนที่จะได้รับ แม่ย่อมเป็นผู้ให้เสมอ

     เจี๊ยบ วรรธนา ก็เชื่อเช่นนั้น เธอบอกว่าลูกคือเพื่อนร่วมทางของชีวิต ระหว่างทางที่ลูกโต และระหว่างทางที่แม่แก่ตัวลง ไม่ว่าจะเป็นยังไงแม่ก็จะยังเป็นแม่และเป็นเพื่อนให้ลูกเสมอ ยิ่งถ้าต้องเลี้ยงลูกคนเดียวด้วยแล้ว สิ่งเดียวที่ต้องทำก็คือพยายามฟอร์มทีมของตัวเองให้เร็วที่สุด ให้กลายเป็น big team ที่มีความยืดหยุ่น รับฟัง เอ่ยคำว่าขอบคุณกันและกัน พร้อมปรับปรุงแก้ไข

     “เราพูดคำว่าขอบคุณอย่างจริงใจกับลูก ขอบคุณที่เขายืนข้างเรามาจนถึงทุกวันนี้ สิ่งนี้มีค่าและสำคัญกับเรามาก ทำให้แม่ผ่านมาได้ และทำให้เราไปต่อด้วยกันได้” เธอบอกกับเราในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยว และบอกเราด้วยความรู้สึกที่แสนอบอุ่นจนเราสัมผัสได้ว่า “เขารักเรามาก เขาพร้อมที่จะลำบาก พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่ออยู่กับเรา เพราะเราเป็นคนเดียวบนโลกที่บอกว่าเขาเหลืออยู่เท่านี้ อย่าไปน้อยเนื้อต่ำใจ กลัว หรือกังวลมากจนเกินไป ค่อยๆ ปรับและดูแลกันและกันให้ดีที่สุดก็พอ”

 

     สำหรับครอบครัวที่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาอย่างครอบครัวของแนลและกวางถือว่ายังคงโชคดี ถึงแม้ว่าความเหนื่อยของแม่จะมากขนาดไหนก็ตาม อย่างที่กวางได้บอกกับเราว่า “ต่อให้เหนื่อยคูณสอง แม่คนนี้ก็อยากมีลูกทั้งคู่เหมือนเดิม อีกอย่างเราเชื่อว่าทุกอย่างจะง่ายขึ้นเมื่อพวกเขาโตขึ้น ถึงตอนนั้นเขาจะเล่นกันเองได้ ช่วยดูแลกันและกันได้ เมื่อนั้นเราคงเริ่มได้อะไรกลับคืนมา”

     ถึงแม้เรื่องราวของแม่ทั้งสามคนจะผูกโยงกันไว้ด้วยความเจ็บปวดบางอย่าง แต่สุดท้ายเรื่องเล่าของพวกเธอก็ทำให้เราเชื่อมั่นจนหมดทั้งใจว่าแม่คือผู้หญิงที่สร้างโลก สร้างจากความเจ็บปวดเป็นตัวตั้ง ด้วยหัวใจที่เข้มแข็ง ผ่านสองมือที่โอบกอดเราไว้ตั้งแต่แรกเกิด จนกลายมาเป็นความรักที่ทรงพลัง ถ่ายทอดออกมาได้อย่างแข็งแกร่งที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ สุดท้ายพลังนั้นจะกลายเป็นยาที่รักษาความเจ็บปวดให้กับตัวแม่เอง และเยียวยาลูกได้ในวันที่เขาต้องการเมื่อเติบโตในอนาคต

 


ที่มา: 

      1www.facebook.com/thaimedcouncil/posts/2101297330135161

      2www.thaihealth.or.th