My Dream Room Come True เมื่อการแต่งห้องนำไปสู่การสำรวจคุณค่าในชีวิตของฉัน

เทอมสุดท้ายของชีวิตในรั้วมหา’ลัยที่เพิ่งผ่านพ้นไปปีกว่า วิชาหนึ่งที่เราลงเรียนเพราะอยากจะเรียนจริงๆ คือ ‘Self Awareness’ หรือการตระหนักรู้ในตัวเอง ซึ่งชื่อวิชาบอกชัดเจนแล้วว่าเป็นการเรียนรู้เพื่อกลับมสำรวจภายในจิตใจของตัวเอง และหนึ่งในบทเรียนนั้นคือ ‘Personal Core Value’ หรือ ‘คุณค่าภายในขั้นพื้นฐานของมนุษย์’ โดยอาจารย์ผู้สอนมีรายการคุณค่ามาให้นักศึกษาเลือก 5 รายการเรียงตามลำดับว่า คุณค่าไหนที่เห็นว่าสำคัญที่สุดในชีวิต

        ในตอนนั้นเราจำไม่ได้แล้วว่าเขียนอะไรลงไปบ้าง แต่พอเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยทำงานที่ออกมาใช้ชีวิตของตัวเองอย่างจริงจัง และการเริ่มต้นวางแผนตกแต่งห้องในยุคที่แทบทุกคนต้องเวิร์กฟรอมโฮม จึงทำให้เราได้มีโอกาสกลับมาทบทวนตัวเอง และสำรวจคุณค่าภายในของตัวเองอีกครั้ง

Ekaterina Bolovtsova/pexels

Personal Core Value คุณค่าที่เราคู่ควร

        คุณค่าภายในขั้นพื้นฐานของมนุษย์ (บางที่อาจใช้คำว่า ค่านิยมส่วนบุคคล) หากอธิบายอย่างง่ายคือ คุณค่าที่ว่านี้เปรียบเสมือนหลักสำคัญที่คนเรายึดถือในการดำเนินชีวิต ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรม มีส่วนชี้นำในการตัดสินใจ และกระตุ้นให้เราปฏิบัติตามวิถีที่นำไปสู่การตอบสนองคุณค่าที่ตัวเรากำหนดไว้

        โดยคุณค่าของคนแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป และสามารถกำหนดได้ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อชีวิต เช่น การเลี้ยงดู สังคม วัฒนธรรม รวมถึงประสบการณ์ชีวิตที่ประสบพบเจอมา เมื่อเรากำหนดคุณค่าของตัวเองได้แล้ว นั่นแปลว่าเราจะมีแก่นหลักในการดำเนินชีวิต ซึ่งนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายต่างๆ รวมถึงวิธีการเดินไปสู่เป้าหมายในชีวิตที่วกกลับมาตอบสนองยังคุณค่าที่เรายึดถือไว้นั่นเอง

        ความสำคัญของการกำหนดคุณค่าส่วนบุคคลนี้ เพื่อเป็นแกนหลักที่ช่วยให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข แต่หากวันใดที่เรารู้สึกไม่แน่ใจในเส้นทางที่เดินอยู่ หรือกำลังมีคำถามว่า “นี่ฉันกำลังทำอะไรอยู่กันแน่” คุณค่านี้ก็เป็นเสมือนข้อความใน โพสต์อิตที่แปะไว้เตือนใจว่าเรากำลังหลงทางอยู่หรือเปล่า หรือสิ่งที่ทำอยู่ตอบสนองคุณค่าที่ตั้งไว้ไหม 

        ซึ่งคุณค่าที่ว่านี้มีตัวเลือกมากมาย อาทิ ความรัก ความสุข ครอบครัว สุขภาพที่ดี การประสบความสำเร็จ ความร่ำรวย การช่วยเหลือผู้อื่น ความปลอดภัย ความซื่อสัตย์ ความสงบ ความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าแสดงออก ความถูกต้อง ฯลฯ

        ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ บางคนอาจกำหนดคุณค่าของตัวเองว่า ต้องการเป็นคนที่ช่วยเหลือผู้อื่น เขาจึงต้องเป้าหมายเพื่อเป็นหมอไว้ เพื่อจะได้ทำงานที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ หรืออาจเป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยก็ได้ สำหรับบางคนอาจกำหนดว่า อยากเป็นคนที่ร่ำรวย เขาจึงต้องหาเงินให้ได้เยอะๆ โดยอาจมาจากการเป็นแม่ค้า นักธุรกิจ หรือการเป็นแฟนของคนที่รวยก็ถือว่าเป็นหนทางที่ตอบสนองคุณค่าของตัวเองได้เหมือนกัน 

        บางคุณค่าอาจมีการวิวัฒนาการ เปลี่ยนแปลงได้ตลอดตามการเติบโต และประสบการณ์ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งสำคัญคือ คุณค่าส่วนตัวนี้เองที่มีส่วนในบุคลิกภาพของเรามากที่สุด และเป็นตัวกำหนดว่าเราควรใช้ชีวิตอย่างไร

Dmitry Zvolskiy/pexels

แต่งห้องเพื่อตอบสนองคุณค่าที่กำหนดไว้

        แล้วการแต่งห้องช่วยให้รู้ถึงคุณค่าส่วนตัวนี้อย่างไร 

        อย่างที่กล่าวไปว่าคุณค่าที่เรากำหนดไว้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และการแต่งห้องเป็นหนึ่งในตัวหมากที่ทำให้เราได้กลับมาทบทวนกับว่า ตัวเรานั้นต้องการอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อยู่กับอะไรได้ รวมถึงคุณค่าใดที่สำคัญกับชีวิตในตอนนี้ เพื่อที่จะได้แต่งห้องให้ตรงกับคุณค่าที่ตั้งไว้ และเหมาะสมกับการใช้ชีวิตในยุคปรกติใหม่เช่นนี้

        หลังจากที่ได้สำรวจชีวิตในช่วงที่ผ่านมา ช่วงนี้ และนับจากนี้ไป เราก็พบว่ารายการคุณค่าที่จะกำหนดไว้เพื่อใช้เป็นแนวทางในการใช้ชีวิตช่วงที่โควิด-19 ยังไม่หายไปนี้มี 3 คุณค่าหลักคือ ความสุขทางใจ สุขภาพที่ดี และการพัฒนาความสามารถ 

        ดังนั้น การมีที่อยู่อาศัยที่สามารถมีวิถีชีวิตตามคุณค่าที่กำหนดไว้ได้ ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักในตอนนี้ ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นเรื่องของการศึกษา และค้นหาแรงบันดาลใจที่ตอบสนองทั้ง 3 คุณค่านี้ให้ได้ 

 

Spark Joy ตามทฤษฎีคมมาริ ของ มาริเอะ คนโดะ

        เพราะเพิ่งมาอินกับการแต่งห้อง เราเลยเพิ่งเปิดดูรายการ Tidying up with Marie Kondo จัดบ้านเปลี่ยนชีวิตกับมาริเอะ คนโดะ ทาง Netflix มีประโยคหนึ่งที่เธอพูดไว้ซึ่งค่อนข้างประทับใจคือ

        “เป้าหมายสูงสุดของการจัดบ้านที่แท้จริงคือ การเรียนรู้ที่จะเห็นค่าทุกอย่างที่คุณมี เพื่อให้คุณได้พบกับความสุขสำหรับครอบครัวคุณ และใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย” 

        ไดอะล็อกนี้ของมาริเอะทำให้เราสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมของบ้านตัวเองซึ่งอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ของเยอะ ล้นทะลักเต็มบ้าน 

        เพราะคุณยายไม่ยอมทิ้งอะไรเลยแม้แต่ของที่พังแล้วเพราะคำว่า ‘เสียดาย’ นั่นทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดอยู่บ้างว่าในเมื่อของสิ่งนั้นไม่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันของเราแล้วจะเก็บให้รกบ้านไปทำไม แต่อีกมุมหนึ่งก็เข้าใจว่าเพราะความยากลำบากในชีวิตที่ผ่านมา 70 กว่าปี การจะได้ของมาสักชิ้นในสมัยก่อนไม่ง่ายเหมือนในสมัยนี้ ดังนั้น การจะทิ้งของสักชิ้นหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับจิตใจของใครบางคน 

Jarek Ceborski/Unsplash

        อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวเราคิดว่า ความสุขที่จากการได้อยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า ‘บ้าน’ ได้อย่างสบายทั้งกายและใจต่างหากที่สำคัญกว่า 

        เมื่อออกมาอยู่ด้วยตัวเอง เราจึงอยากทำห้องให้ตรงตามความต้องการของตัวเองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และการนำทฤษฎีของมาริเอะก็เป็นอีกวิธีที่ดี 

        โดยวิธีนำมาใช้อาจจะกลับกันกับในซีรีส์ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการเก็บกวาดของที่ไม่จำเป็นออกจากบ้าน และกลับมาจัดระเบียบของที่ยังอยู่ในชีวิตให้เป็นระเบียบ สำหรับห้องที่ไม่มีอะไรเลยตอนนี้ของเราจึงเป็นการวางแผนการจัดระเบียบก่อนที่จะนำอะไรก็ตามเข้ามาวางไว้ในห้อง

        ซึ่งยังแบ่งหมดหมู่สิ่งของไว้ 5 หมวดตามทฤษฎีของเธอ คือ หมวดที่ 1 เสื้อผ้า หมวดที่ 2 หนังสือ หมวดที่ 3 เอกสาร หมวดที่ 4 โคโมโนะ ได้แก่ ห้องครัว ห้องน้ำ โรงรถ (ไม่มี) และของจิปาถะทุกอย่าง และหมวดที่ 5 ของที่มีค่าต่อจิตใจ 

        สิ่งของบางอย่างที่อาจจะต้องนำวิธี Spark Joy มาใช้เพื่อตัดสินใจว่าจะนำเข้ามาหรือไม่ แต่ในบางครั้งบางคราวเราก็ไม่สามารถหยิบมันขึ้นมาแล้วใช้ความรู้สึกตัดสินได้ว่า Spark Joy หรือไม่ เพราะในบางครั้งการใช้อารมณ์ความรู้สึกก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดได้ แม้แต่มาริเอะเองก็ยังมีของบางอย่างที่เธอไม่ Spark Joy ในตอนแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับรู้สึกได้ถึงความสำคัญของมัน ดังนั้น สำหรับเราจะใช้เกณฑ์ 2 ชั้นในการตัดสินว่าของสิ่งนี้ควรจะอยู่หรือไม่ คือ ความรู้สึก Spark Joy กับการใช้คิดทบทวนถึงเหตุผลอีกครั้งเพื่อให้ได้คำตอบที่แน่นอนที่สุด

 

การมีบ้านที่ตรงความต้องการ ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย

        เนรมิตบ้านในฝัน (Dream Home Makeover) เป็นอีกรายการหนึ่งที่เราดูเพื่อเพิ่มแรงบันดาลใจในการแต่งห้อง และเรียนรู้ถึงสไตล์ของการแต่งบ้าน โดยมี เช และ ซิด แม็กกี คู่สามีภรรยาที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจในการออกแบบภายในบ้านเป็นผู้ดำเนินรายการ ในแต่ละอีพีทั้งสองจะพาเราไปชมการออกแบบบ้านตามความต้องการของลูกค้า 

        สิ่งที่เราได้เรียนรู้อย่างแน่ชัดถึงความรู้สึก นอกจากมุมมองการออกแบบ และสไตล์การแต่งบ้านของผู้คนฝั่งตะวันออก นั่นคือ เหตุผลเบื้องหลังของการมีบ้านสักหลังหนึ่ง คือตอบโจทย์การอยู่ร่วมกันของคนในบ้านอย่างมีความสุข ซึ่งความต้องการของลูกค้าแต่ละคนนั่นล้วนตอบสนองคุณค่าที่ให้ความสำคัญกับ ความสุขของครอบครัว ของพวกเขาได้อย่างชัดเจน ซึ่งเชได้ตอบสนองสิ่งที่พวกเขาต้องการได้อย่างสมบูรณ์แบบเช่นกัน เพราะในฐานะคนออก และแม่ลูกสองนั้นการทำให้ครอบครัวมีความสุขคงเป็นหนึ่งในคุณค่าที่เธอกำหนดไว้ไม่ผิดแน่

        เนื่องจากชีวิตของเราอยู่ในบ้านหลังปานกลาง ที่อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ และทัศนคติเกี่ยวกับการมีบ้านของครอบครัวไม่ได้เปิดกว้างมากนักในเรื่องของการตกแต่งบ้านให้ดูน่าอยู่ ดังนั้น บ้านเราจึงเต็มไปด้วยสิ่งของมากมาย ตลอดชีวิตตั้งแต่เสื้อผ้าในวัยเด็กของแม่ และบรรดาน้าๆ จนถึงของจิปาถะที่แม้ไม่มีประโยชน์แล้วแต่ยังเก็บไว้อยู่ แต่ไม่กลับไม่ขยายพื้นที่ หรือมีวิธีการจัดการเก็บให้เป็นสัดส่วน

Patrick Perkins/Unsplash

        ดังนั้น เมื่อนั่งดูเนรมิตบ้านในฝัน อีกบทเรียนหนึ่งอย่างที่ทำให้เราตกตะกอนอย่างลึกซึ้ง คือ การมีที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต หรือมีส่วนช่วยให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นนั้นไม่ใช่ของหรูหราฟุ่มเฟือย แต่เป็นคุณภาพของพื้นฐานชีวิตที่ดีที่คนเราควรจะได้รับ เพื่อสนับสนุนคุณค่าส่วนตัวที่ตั้งไว้ในชีวิต

        ตอนนี้เรากำลังคิดอย่างหนักว่า การแต่งห้องในสไตล์ไหน การจัดวางอย่างไร ถึงจะตอบโจทย์ในการใช้ชีวิตมากที่สุด แผนการเบื้องต้นที่เป็นองค์ประกอบย่อยในการสนับสนุนคุณค่าที่ตั้งไว้ ได้แก่ การมีพื้นที่ทำงานที่สร้างแรงกระตุ้นในการทำงาน ทั้งยังเสริมแรงบันดาลใจ มีมุมพักผ่อนที่ให้ความสุขทางใจ และเป็นที่พักร่างกายจากความเหนื่อยล้า และมีอุปกรณ์ที่ช่วยพัฒนาทักษะ ความสามารถในด้านการทำงาน และด้านจิตใจ เป็นต้น 

        หวังว่าเราจะทำให้หอใหม่เป็นห้องที่สอบสนองคุณค่าของตัวเองได้มากที่สุด My dream room will come true 😉 

Duonguyen/Unsplash


ที่มา:

https://medium.com/real-life-resilience/what-are-your-personal-core-values-622a04e1127b

https://christieinge.com/personal-core-values/

– รายการ ‘Tidying up with Marie Kondo จัดบ้านเปลี่ยนชีวิตกับมาริเอะ คนโดะ’ ทาง Netflix

– รายการ เนรมิตบ้านในฝัน (Dream Home Makeover) ทาง Netflix

ภาพ: Unsplash, pexels