วัตถุดิบนานาชนิดวางพร้อมที่เคาน์เตอร์ครัว กลิ่นหอมหวานที่ลอยวนอยู่ในอากาศ ไอร้อนจากเตาที่ค่อยๆ ลอยขึ้นมา เสียงน้ำเดือดจากหม้อใบเล็ก ในระหว่างที่เตรียมจาน ถาด หรือกล่องใบสวยรอจับคู่กับขนม เพื่อเตรียมส่งให้กับผู้รับ สองมือขยับอย่างพลิ้วไหวรวมทุกส่วนผสมที่ชั่งตวงมาอย่างดี ด้วยสูตรที่ผ่านการคิดมาอย่างสร้างสรรค์ ของขวัญอันแสนพิเศษนี้มักเกิดขึ้นเฉพาะในเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง เราขอพาทุกคนไปพบกับการให้ของขวัญในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มีทั้งความอิ่มเอมใจ และอิ่มท้องไปพร้อมๆ กัน
เนริคิริ รสชาติแห่งการเฉลิมฉลองจากวัฒนธรรมญี่ปุ่น
ภายในหม้อใบเล็กเต็มไปด้วยถั่วขาว มือหนึ่งกำลังกวนอย่างขะมักเขม้น สองตาจดจ้องไปยังเนื้อละเอียดเนียนที่ส่องแสงแวววาวเป็นประกายวิบวับของถั่วขาวก่อนจะสุกได้ที่ในอีกไม่นาน รอยยิ้มเล็กๆ ของ เปมิกา ธนล้ำเลิศกุล เจ้าของร้านขนมญี่ปุ่น Homu แย้มขึ้นเป็นระยะ นี่คือช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดของคนทำขนมหวานสไตล์ญี่ปุ่น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล เพื่อมอบเป็นของขวัญให้คนสำคัญ
เริ่มต้นจากความชอบ กลายเป็นขนมสุดแสนพิเศษ
“เราเริ่มทำขนมญี่ปุ่นเพราะชอบในความน่ารักของรูปทรง รสชาติอ่อนหวานอันมีเอกลักษณ์ และขนมแต่ละชนิดยังให้ความหมายที่ดีแตกต่างกัน ครั้งแรกที่ได้กินขนมญี่ปุ่นประจำเทศกาล เรารู้สึกว่า กินแล้วอายุยืนจัง (หัวเราะ) จนเรามีโอกาสได้ทำขนมชนิดแรกอย่างโมจิหยดน้ำ ที่กินคู่กับผงคินาโกะและคุโรมิตสึ เป็นสูตรดั้งเดิมจากเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคุณป้าของเราเป็นสอน จากนั้นเราก็เรียนรู้เพิ่มเติมและทดลองอยู่ราว 1 ปี จึงได้สูตรเฉพาะตัว จนสามารถทำขนมอื่นๆ เพิ่มขึ้นได้ โดยมีขนมตัวหลักที่ทำเป็นประจำ เช่น ‘บุรามันเจะ’ ที่ทำจากถั่วเหลือง ครีมนม และน้ำผึ้ง ‘โอะอุโต’ คล้ายวุ้นที่ผสมเหล้าญี่ปุ่น เชอรี กับบ๊วยดอง ให้รสเปรี้ยวและหวานซ่า แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงสิ้นปี เราก็จะเริ่มทำ ‘เนริคิริ’ ขนมมงคลแห่งการเฉลิมฉลอง เพื่อต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส และมอบให้เป็นของขวัญในเทศกาลปีใหม่ ซึ่งเราจะทำแค่เฉพาะเดือนธันวาคมเท่านั้น”
ขอให้สุขภาพดี กินแล้วรู้สึกอายุยืน ชีวิตเต็มไปด้วยรอยยิ้ม
“เราชอบกลิ่นหอมจางๆ ของถั่วขาวกวน ผสานกับกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์จากถั่วแดงกวนของขนมมงคลเนริคิริ ลายดอกเบญจมาศ สื่อความหมายว่า ‘ขอให้โชคดี มีโชคลาภ’ และแฝงไปด้วยคำว่า ‘ขอให้สุขภาพดี กินแล้วรู้สึกอายุยืน ชีวิตเต็มไปด้วยรอยยิ้ม’ เพราะขนมนี้ทำจากถั่วขาว ถั่วแดง และแป้งข้าวเหนียว ซึ่งดีต่อสุขภาพ หากเป็นสูตรญี่ปุ่นแท้ๆ จะไม่ปรุงแต่งอะไรเพิ่ม สำหรับคนไทย เราจะต้องเติมน้ำตาลเพิ่มอีกเล็กน้อยเพื่อให้ถูกปาก จะได้ยิ้มกว้างขึ้น นอกจากเรื่องรสชาติแล้ว เราจะต้องพิถีพิถันในทุกๆ ขั้นตอนอย่างมาก โดยเฉพาะการปั้นให้เป็นรูปดอกเบญจมาศ ซึ่งเริ่มจากหยิบถั่วขาวกวน ผสมสีแดงเล็กน้อย ปั้นให้สีเข้ากัน ทำเป็นเปลือก ก่อนที่จะหยิบไส้ถั่วแดงกวนใส่ตรงกลาง ใช้ข้อนิ้วโป้งค่อยๆ ดันเพื่อห่อให้มิด แล้วใช้ไม้สามเหลี่ยมขนาดใหญ่ กดให้เป็นร่องเล็กๆ เพื่อทำแบ่งเป็นกลีบดอก และใช้ปลายตะเกียบหัวมน ลากแล้วกดทำเป็นกลีบ สุดท้ายเติมเกสรด้านบนก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย”
ผสานสองศิลปะแห่งรสชาติและการให้
“สำหรับวัฒนธรรมญี่ปุ่น มักจะทำขนมให้กันและกัน เพราะการทำขนมหรืออาหารคือศิลปะ การให้ก็คือศิลปะ ซึ่งกลายมาเป็นตัวกลางของการสื่อความหมายที่ดี เป็นของขวัญที่ทำให้เห็นถึงความตั้งใจของคนทำและความสำคัญของผู้รับ ทั้งยังบอกเป็นนัยๆ กับผู้รับว่า ขอบคุณสำหรับสิ่งดีๆ ที่ผ่านมา เท่านั้นไม่พอ เขายังใส่ใจในของขวัญที่ทำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องแพ็กเกจจิ้งหรือการห่อของ เพื่อทำให้ผู้รับรู้สึกประทับใจมากขึ้น อย่างขนมเนริคิริของเราจะทำทั้งหมด 4 ชิ้น ใส่บอกซ์เซตแยกชิ้น แล้วใช้ผ้าคอตตอนญี่ปุ่นเนื้อนุ่มห่อให้เป็นเบนโตะเหมือนห่อกล่องข้าว สามารถหิ้วกลับได้เลย”
สุขจากสายตา และสุขจากปลายลิ้น
“ความสุขล่องลอยอยู่ในอากาศเมื่อรับห่อขนม และความสุขฟุ้งกระจายเมื่อเปิดห่อเนริคิริเซตนี้ ให้ความสุข ความอร่อย รสอ่อนหวาน และมีความมันเล็กน้อยจากเนื้อถั่วขาวกวน ตัดกับความหอมหวานอันเป็นเอกลักษณ์ของถั่วแดงกวนเนื้อเนียน ละลายในปากทันทีที่ชิมคำแรก ยิ่งได้กินคู่กับชาเขียวมัตฉะอุ่นๆ สักแก้ว หรือจะเป็นชาอังกฤษหอมๆ สักหน่อย ก็เป็นการจับคู่กันได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกว่า เมื่อนำขนมชนิดนี้กลับบ้านก็จะได้พบกับความสุข เพราะเนริคิริสื่อถึงความหมายถึงความสุขทั้งมวล ทั้งสุขจากสายตา และสุขจากปลายลิ้น”