NFT

NFT ประตูสู่โอกาสใหม่ของศิลปินกับตลาดงานศิลปะดิจิทัลที่ร้อนแรงที่สุดตอนนี้

“คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” 

        วลีสุดฮิตเวลามีคนไทยสักคนแสดงศักยภาพที่ตัวเองมีจนเป็นที่ประจักษ์สายตาแก่คนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการประกวดนางงามที่เพิ่งจบไป การแข่งร้องเพลง ทักษะด้านการแสดง การแข่งกีฬา รางวัลด้านวิชาการ รวมถึงผลงานด้านศิลปะแขนงต่างๆ 

        ในบทความนี้เราอยากจะพูดถึงศิลปะการวาดภาพ ทั้งด้านวิจิตรศิลป์และด้านดิจิทัลอาร์ต หลายคนอาจรู้สึกเช่นเดียวกันกับเราว่า ศักยภาพของศิลปินในเมืองไทยมีมากพอให้ผลิตผลงานได้เทียบเท่าวงการศิลปะในต่างประเทศเลยด้วยซ้ำ และส่วนตัวเรายังคิดว่าหากมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง งานวาดการ์ตูนไทย หรือแม้แต่แอนิเมชันก็อาจจะฮิตได้เท่ากับมังงะ และอนิเมะของญี่ปุ่นด้วยซ้ำ เพราะเรื่องราวในสังคม วัฒนธรรม และประเพณีไทยนั้นมีแรงบันดาลใจให้หยิบจับได้มากมายเลยทีเดียว 

        แต่น่าเสียดายที่พวกเขาขาดการการสนับสนุน ความคิดนั้นจึงเป็นได้แค่ภาพในหัว ส่วนในมุมของศิลปินเองก็ต้องพยายามหาโอกาสให้กับตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่อทำตามความฝันและความอยู่รอด แม้ว่ามุมหนึ่งงานศิลปะที่ศิลปินผลิตออกมาก็เพื่อต้องการสื่อสารบางอย่างต่อผู้คนและสังคมได้รับรู้ แต่แน่นอนในอีกมุมหนึ่งของชีวิตพวกเขาก็ต้องการให้งานที่ผลิตออกมาขายได้ด้วยเช่นกัน 

‘NFT’ ตลาดใหม่ระหว่างสายผลิตกับนักสะสม 

        เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้หลายคนคงได้ยินคำว่า ‘NFT’ ผ่านหูกันมาบ้างแน่นอน โดย NFT ย่อมาจาก Non – Fungible Token หากจะให้อธิบายง่ายๆ NFT คือ Token หรือเหรียญดิจิทัลรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นเทคโนโลยีใน Blockchain เช่นเดียวกับเหรียญดิจิทัลอย่าง Bitcoin 

PUCK

‘หมู’ – ไตรภัค สุภวัฒนา

        ข้อแตกต่างคือ NFT ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของสกุลเงิน แต่จะอยู่ในรูปแบบของไฟล์ดิจิทัล เช่น รูปภาพ คลิปวิดีโอ เสียง เป็นต้น ซึ่งไฟล์เหล่านี้มีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนใคร เนื่องจากแต่ละไฟล์ก็จะมีรหัสเฉพาะที่แตกต่างกัน จึงทำให้แต่ละไฟล์มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น และไม่สามารถทดแทนได้ หมายความว่าไม่สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าอื่นได้เหมือนเหรียญดิจิทัลอย่าง Bitcoin ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า “แล้วใช้อะไรซื้อขายไฟล์ NFT นี้” คำตอบคือ เงินดิจิทัลที่มีชื่อว่า Ethereum

        เมื่อคุณซื้อผลงานที่เป็นไฟล์ NFT มาครอบครอง ความพิเศษที่ได้รับคือ ‘สิทธิ์การเป็นผู้ครอบครองผลงาน’ พูดง่ายๆ ก็คือผลงานนั้นได้กลายเป็นทรัพย์สินของคุณแล้ว แม้ว่าผลงานนั้นจะถูกพบเห็นได้ทั่วไปตามอินเทอร์เน็ตก็ตามที แต่ต้นฉบับก็มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลทุกอย่างได้จากระบบ Blockchain ตั้งแต่ใครคือผู้สร้างสรรค์ การประกาศขาย จนถึงข้อมูลการซื้อขายครั้งล่าสุด และแม้ว่าคุณจะเป็นเจ้าของ แต่ลิขสิทธิ์ยังเป็นของผู้ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาอยู่เช่นเดิม และศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานก็จะได้รับค่าลิขสิทธิ์ทุกครั้งที่มีการซื้อขายด้วยเสมอ 

        ด้วยความพิเศษนี้เอง จึงดึงดูดให้ศิลปินไทยจำนวนมากสนใจที่จะเข้ามาทดลองขายผลงานในรูปแบบ NFT กันมากขึ้น จนหลายคนถึงขั้นเอ่ยปากว่า นี่แหละคือตลาดแห่งความหวังใหม่ของเหล่าศิลปินไทย แต่จะจริงตามนั้นหรือเปล่าคงต้องหาคำตอบจากศิลปินที่กำลังเพลิดเพลินกับการสร้างผลงานในตลาดนี้ถึงจะรู้  

        เรามีโอกาสได้พูดคุย และทำความรู้จักกับ 6 ศิลปินไทยที่มีแนวทางการผลิตผลงานที่แตกต่างกัน กับอีก 1 เจ้าของแกลลอรีซึ่งในอีกมุมหนึ่งเขาคือนักสะสม และเป็นพาร์ตเนอร์ในการขายงาน มาดูกันว่าประสบการณ์ที่ได้จากการลงไปเป็นผู้เล่นในตลาดใหม่แห่งนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง

FXAQ27

‘แอค’ – ภูริชญา ปัญญาสมบัติ 

เทคโนโลยีที่เข้ามายกระดับมูลค่างาน ‘ดิจิทัลอาร์ต’ 

        ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ งานศิลปะในบ้านเรานั้นไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนอย่างที่ควร โดยเฉพาะยิ่งสายดิจิทัลอาร์ตที่มักจะโดนดูถูกฝีมือ และโดนกดราคาค่าแรงอยู่เสมอ ซึ่งหมายความว่าผู้คนมักตีราคาและคุณค่าผลงานสายดิจิทัลอาร์ตน้อยกว่างานวาดมือมาก

        ยิ่งเป็นศิลปินเบอร์เล็กยิ่งต้องสู้สุดตัว เพื่อที่จะสามารถทำให้ราคาการจ้างงานมีมูลค่าสมกับทักษะที่เขาฝึกฝนมาตลอดชีวิต ศิลปินหลายคนที่พอมีโอกาสจึงออกไปไขว่คว้าในตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะรับงานคอมมิชชันจากลูกค้าต่างประเทศ หรือเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศเลยก็มี

        ‘วิค’ – วันชนะ อินทรสมบัติ ศิลปิน เจ้าของเพจ Art of Vic และผู้ก่อตั้ง Studio Kun สตูดิโอที่เคยมีส่วนร่วมกับการผลิตการ์ตูนแอนิเมชัน และเกมกับค่ายต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศมาแล้วมากมาย เขาเป็นหนึ่งในศิลปินที่กำลังไปได้ดีมากในตลาด NFT ซึ่งให้ความเห็นให้ประเด็นนี้ว่า

        “ถ้าจะยกมูลค่างานดิจิทัลอาร์ตให้เทียบเท่ากับงานแบบวิจิตรศิลป์ที่สร้างสรรค์บนผืนผ้าใบนั้นยากมาก เพราะใครจะคัดลอกไฟล์ไปที่ไหนก็ได้ แต่พอมีระบบ NFT ขึ้นมา ทำให้ดิจิทัลอาร์ตกลายเป็นงานที่มีชิ้นเดียวในโลก ซึ่งเทียบเท่ากับงานมาสเตอร์พีซหรือผลงานชิ้นเอกเลยก็ว่าได้ ดังนั้น พอขายชิ้นแรกได้ปุ๊บผมก็ไปป่าวประกาศในเฟซบุ๊กทันที กลุ่มเพื่อนที่เป็นศิลปินดิจิทัลอาร์ตก็เริ่มสนใจกันใหญ่ จึงทำให้คนเข้ามาเล่นเยอะขึ้น”

        ในขณะเดียวกัน ‘หมู’ – ไตรภัค สุภวัฒนา ศิลปิน และนักวาดการ์ตูนผู้ใช้นามปากกาว่า ‘PUCK’ ก็มีความเห็นเพิ่มเติมว่าไม่ใช่แค่คนทั่วไปที่ให้คุณค่ากับงานดิจิทัลอาร์ตน้อยกว่างานวาดมือ แต่ศิลปินแนววิจิตรศิลป์ที่ทำงานบนผืนผ้าใบเองบางคนก็ไม่ค่อยให้คุณค่ากับดิจิทัลอาร์ตสักเท่าไหร่ 

        “แต่พอมี NFT ไฟล์งานศิลปะสายดิจิทัลก็ดูมีมูลค่าขึ้นมา เหมือนคนก็มองเห็นมูลค่าของผลงานประเภทนี้ เทียบเท่ากับงานวาดมือที่เป็นงานคราฟต์มากๆ ผมจึงมองว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนที่เขาทำงานสายดิจิทัล”

        ด้านศิลปินสายดิจิทัลคอลลาจอาร์ต ที่สร้างผลงานด้วยเทคนิคการตัดแปะภาพอย่าง ‘แอค’ – ภูริชญา ปัญญาสมบัติ ศิลปิน เจ้าของเพจ FXAQ27 จึงเพิ่มเติมถึงแนวคิดการให้คุณค่ากับงานศิลปะในความคิดของเธอว่า ‘เป็นปัญหาโลกแตก’ เพราะเธอเห็นว่างานศิลปะแต่ละชิ้นจะมีคุณค่าอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน โดยเฉพาะโลกของ NFT ที่จะทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า การให้มูลค่าของสิ่งหนึ่งนั้นแทบจะไม่ต้องมีนิยามอะไรเลย เพียงแค่ชอบคนก็เห็นคุณค่าของสิ่งนั้น

อาจารย์ตั้ม

‘อาจารย์ตั้ม’ – เกรียงไกร กงกะนันทน์

        “บางครั้งคนเราก็ชอบยึดติดว่าศิลปะต้องเป็นแบบนี้เท่านั้นนะ มูลค่าถึงจะเยอะได้ ฉันต้องวาดรูปสวยถึงมีค่ามากมีมูลค่ามาก แต่จริงๆ แล้วคนที่เขาซื้องานศิลปะ เขาซื้อเพราะตัวศิลปิน เขาชื่นชอบศิลปินคนนี้เขาจึงซื้อ เขาไม่ได้ซื้อเพราะการสาดสีสวย หรือไม่สวย คือเราไม่สามารถวัดค่าเป็นเงินได้ อยู่ที่ใครให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่า มันอาจจะมีความย้อนแย้งในแง่หนึ่งกับการที่ให้คนมาบอกว่าเรามีมูลค่าแค่ไหน”

เพราะมี ‘ชิ้นเดียวในโลก’ จึงกระตุ้นความต้องการอยากจะครอบครองได้ดี

        เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภาพเคลื่อนไหว (GIF) Nyan Cat แมวสายรุ้งที่กลายเป็นมีมเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว ได้สร้างมูลค่าไว้ถึง 6.9 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 18 ล้านบาท ต่อมาช่วงต้นเดือนมีนาคม ข้อความแรกบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ก่อนเปิดให้ใช้ซึ่งเป็น Jack Dorsey ซีอีโอและผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Twitter เป็นเจ้าของก็ได้ทำเงินให้เขาถึง 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 90 ล้านบาท 

        เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ภาพที่มีชื่อว่า Everydays: The First 5000 Days ซึ่งเป็นภาพสไตล์คอลลาจที่ศิลปินชื่อว่า Beeple  หรือ Mike Winkelmann ได้ทำสถิติไว้สูงสุดในขณะนี้ด้วยราคา 69.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2 พันล้านบาท ทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีในชั่วพริบตา จึงเป็นผลให้ตลาดซื้อขายผลงานศิลปะในรูปแบบ NFT คึกคักเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งในประเทศไทยเอง โดยวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ทางสำนักพิมพ์บันลือบุ๊กส์ก็ทำการประกาศขาย ‘หนังสือการ์ตูน ขายหัวเราะ’ เล่มแรกที่มีลายเซ็นของ บ.ก. วิธิต ด้วยมูลค่า 34,492.74 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวหนึ่งล้านบาทนั่นเอง

        บางคนอาจสงสัยว่าทำไมภาพที่จับต้องไม่ได้ถึงมีมูลค่าสูงมากมายเช่นนี้ อย่างภาพ Nyan Cat มีมแมวสายรุ้งก็ยังมีให้กดเซฟได้ทั่วไปบนอินเทอร์เน็ต แต่หากมองในมุมของนักสะสม แม้จับต้องไม่ได้ หรือภาพนั้นจะพบเห็นได้ทั่วไป แต่อย่าลืมว่า ‘ต้นฉบับ’ มีเพียงชิ้นเดียวในโลก แล้วผู้ถือครองต้นฉบับก็สามารถอ้างสิทธิ์ได้แค่คนเดียว นั่นก็เพียงพอให้ใช้คำว่า ‘พิเศษกว่า’ ได้แล้ว หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนของแท้กับของปลอม อย่างไรเสียของแท้ก็ย่อมมีทั้งมูลค่า และคุณค่ามากกว่าอยู่แล้ว 

โน้ต

‘โน้ต’ – วัจนสินธุ์ จารุวัฒนกิตติ

        เช่นเดียวกับ ‘โน้ต’ – วัจนสินธุ์ จารุวัฒนกิตติ เจ้าของ และภัณฑารักษ์ Palette Artspace ที่เป็นทั้งนักสะสมผลงานศิลปะ และพาร์ตเนอร์ในการนำผลงานเข้าสู่ NFT ให้กับศิลปินอีกหลายคน

        “ผมว่า NFT จะช่วยเหลือศิลปินที่ทำงานแนวดิจิทัลอาร์ตได้ดีมากๆ เพราะก่อนหน้านี้เวลาศิลปินสายนี้มาจัดแสดงงานในแกลเลอรีของผม เขาจะต้องพิมพ์งานที่อยู่ในคอมพ์ฯ ออกมาใส่กรอบแล้วค่อยนำมาติดที่ผนัง แต่พอเป็น NFT ผมว่าแพลตฟอร์มนี้ทำให้ไฟล์ดิจิทัลมีคุณค่าในตัวเองขึ้นมาได้แล้ว

        “ข้อดีอีกอย่างคือ ทุกคนสามารถไปลงงานในแพลตฟอร์มที่คนสามารถเห็นได้ทั่วโลกอย่างเว็บไซต์ OpenSea หรือ Foundation ที่ศิลปินทุกคนสามารถเข้าไปโพสต์งานได้ นี่คือความเสมอภาคเลยนะ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แต่เราสามารถแสดงงานอยู่ในตลาดเดียวกันได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่างานของคุณมีความน่าสนใจอย่างไร ตรงไหนของงานคุณที่จะดึงให้คนเข้ามาดู อันนี้อยู่ที่ตัวศิลปินแล้วว่าจะพยายามในเส้นทางนี้มากน้อยแค่ไหน แต่วันนี้คุณมีโอกาสแล้ว

        “ผมชอบตรงที่งานสามารถมีลูกเล่นที่เคลื่อนไหวได้ เราสามารถดูในมือถือได้ และสะดวกกว่าการถ้าต้องชวนคนมาดูที่บ้านแต่มาไม่ได้ โดยเฉพาะใน NFT ความพิเศษคือ สามารถ ‘ยืนยันการเป็นเจ้าของได้จริง’ จุดนี้เองที่เพิ่มมูลค่าให้กับงานดิจิทัล แล้วการที่เราสนับสนุนศิลปินก็ทำให้เขามีแรงบันดาลใจในการทำงานชิ้นต่อไป”

        ด้าน ‘อาจารย์ตั้ม’ – เกรียงไกร กงกะนันทน์ ศิลปิน เจ้าของเพจ Kriangkrai Kongkhanun และอาจารย์คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม เขาตัดสินใจเข้ามายังโลกของ NFT ส่วนหนึ่งเพราะเขามองว่าเป็นโอกาสใหม่ในการนำเสนอผลงาน อีกส่วนหนึ่งก็นำประสบการณ์ที่ได้ไปสอนนักศึกษาของเขาต่อ ซึ่งอาจารย์ตั้มได้เสริมว่า

        “ผมมองว่าวงการ NFT ไปได้ไกลแน่นอน แต่เนื่องจากตอนนี้ยังคงเป็นสิ่งที่ใหม่มากสำหรับบ้านเรา คนที่เข้ามาในวงการนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นเหล่าศิลปินด้วยกันเอง ส่วนนักสะสมก็มีบ้าง เพราะว่าคนจะคุ้นชินกับงานศิลปะที่จับต้องได้ พอกลายเป็นงานที่ดูอย่างเดียวจับต้องไม่ได้ เขาก็จะต้องคิดก่อนว่าคุ้มค่าไหมกับการที่จะลงทุน และยังมีข้อจำกัดบางอย่าง อย่างค่าธรรมเนียมในการซื้อหรือลงขายงานที่อาจจะยังสูงอยู่ ถ้าหากว่ามีการพัฒนาตรงนี้มากขึ้น ตลาดคงจะกว้างขึ้น”

Art of Vic

‘วิค’ – วันชนะ อินทรสมบัติ

‘โอกาสใหม่’ ที่ทำให้ศิลปินได้ลองทำสิ่งใหม่ และได้แสดงตัวตนอย่างเต็มที่

        แม้จะเป็นเทคโนโลยีที่อาจเกิดขึ้นมาเพื่อการแข่งขันในทางดิจิทัลเป็นหลัก แต่ไม่ใช่แค่ศิลปินสายดิจิทัลอาร์ตเท่านั้นที่สนใจลงมาเล่นในตลาดโลกแห่งนี้ ยังเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้ศิลปินวาดมือ สายวิจิตรศิลป์ได้ทดลองทำในสิ่งใหม่ด้วย อย่างเช่นอาจารย์ตั้มก็เป็นหนึ่งในศิลปินที่ทำงานหลักบนผืนผ้าใบ และตอนนี้เขาก็กำลังสนุกกับการขายผลงานคาแรกเตอร์ 3D ที่ชื่อว่า The 3D Devils อยู่ (หากใครสนใจก็เข้าไปดูในเพจของอาจารย์ตั้มได้เลย) 

        “เราอยากให้คนที่เข้ามาซื้อผลงานได้รู้ตัวตนจริงๆ ได้รู้จักงานจิตรกรรมดิจิทัลที่เป็นตัวตนเราจริงๆ คนที่เข้ามาซื้อผลงานเรา ท้ายที่สุดเขาก็อยากดูงานที่เป็นตัวตนเราจริงๆ ฉะนั้น การสร้างสรรค์ และการพัฒนาผลงานต้องออกมาจากตัวตนเราจริงๆ เพราะสิ่งที่เป็นตัวตนเราคือสิ่งที่จะอยู่กับเราไปจนตาย” 

        ‘ไลน์’ – เกียรติอนันต์ เอี่ยมจันทร์ ศิลปิน ผู้ใช้นามปากกา Line Censor Kiatanan กล่าว เดิมทีเขาเป็นศิลปินแนวจิตรกรรมไทยร่วมสมัย เรียกได้ว่าเป็นศิลปินสายวิจิตรศิลป์อีกคนที่ได้ทดลองทำผลงานในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากเดิม โดยเขานำผลงานบนเฟรมมาทำเป็นภาพดิจิทัลที่มีลักษณทั้งเคลื่อนไหวได้ และมีเสียงประกอบ

        “พอมาทำ NFT เราต้องหาแรงบันดาลใจ หาคอนเซ็ปต์ สร้างกระบวนการคิดเป็นของตัวเองทั้งหมด ดังนั้น การสร้างงานก็น่าจะแตกต่างกันคนละโลกเลย แต่ก็ใช้หลักในการออกแบบเข้ามาผสมกับงานวิจิตรศิลป์ จึงออกมาเป็นคอลเลกชันคาแรกเตอร์ชุดนี้ขึ้นมา โดยมีแนวคิดว่าคาแรกเตอร์แต่ละตัวจะสื่อถึงเรื่องของสังคมปัจจุบัน ว่ามีเหตุการณ์ใดบ้างที่เกิดขึ้นในปี 2021

        “ในเมืองไทย ศิลปินสายงานศิลปะเชิงแนวคิดหรือวิจิตรศิลป์ เวลานำงานไปโชว์ก็จะมีแหล่งรวมที่เป็นศูนย์กลางอย่างแกลเลอรี เพื่อให้นักสะสมได้เห็นซึ่งสายนี้ก็จะมีวงการนักสะสมที่คอยซื้องานเก็บอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นโลกของ NFT ที่ทุกคนทั่วโลกทำได้หมด ผมมองว่าเป็นโอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้น เพราะงานเราไม่ต้องอยู่แค่ในแกลเลอรี แต่ขึ้นอยู่กับศิลปินอย่างเราเองทั้งหมด ในการหาช่องทางเผยแพร่งานเอง ทำโปรโมตเอง ซึ่งเราก็ต้องมีฐานแฟนคลับอยู่แล้วด้วยนะ”

Line Censor Kiatanan

‘ไลน์’ – เกียรติอนันต์ เอี่ยมจันทร์

        เป็นวิคที่เล่าเสริมขึ้นมาในมุมของตัวเอง แม้เขาจะเป็นสายดิจิทัลอาร์ตก็ตามแต่การขายผลงานในตลาด NFT นั้นไม่ใช่การสร้างสรรค์ผลงานตามโจทย์ลูกค้าเหมือนงานประจำของเขา แต่เป็นการนำเสนอตัวตนของศิลปินเองทั้งหมด ดังนั้น จะทำให้นักสะสมสนใจงานของคุณได้หรือเปล่า ก็อยู่ที่คุณจะแสดงตัวตนเองมาได้มากน้อยแค่ไหน

หากจะอยู่รอดให้ได้ ก็ต้องสร้างตัวตน ศึกษาตลาด และทำการตลาดให้เป็น

        อย่างที่วิคกล่าวในช่วงท้าย หากคุณเป็นศิลปินหน้าใหม่ก็คงจะยากสักหน่อยเมื่อเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ เพราะคุณจะต้องต่อสู้กับศิลปินที่มีชื่อเสียงและฐานผู้ติดตามมากมาย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะของแบบนี้สามารถเรียนรู้กันได้ 

        ในประเด็นนี้ที่เราจะกล่าวถึงต่อไปนี้ เราขอยกหน้าที่ให้ ‘มุ่ย’ – ศศิ ธนาดีโรจน์กุล ศิลปิน และนักวาดภาพประกอบ ที่ใช้นามปากกาว่า MEISANMUI เป็นคนอธิบาย เพราะนอกจากสร้างผลงานตัวเองแล้ว ยังเป็นทั้งครูสอนวาดภาพออนไลน์ แล้วยังชอบศึกษา และทดลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อนำความรู้นั้นไปแบ่งปันให้แก่คนอื่นอีกด้วย 

        โดยเธออธิบายว่า การสร้างแบรนด์ หรือตัวตนของศิลปินในแพลตฟอร์มสำหรับ NFT แนะนำให้ทำในช่วงที่ค่าแก๊ส (Gas Fee) หรือค่าทำธุรกรรมในตลาด NFT ไปในทางที่สูง เพราะนักสะสมรวมถึงนักลงทุนมักจะไม่ค่อยซื้อสินค้าในช่วงนั้น ดังนั้น จงใช้จังหวะนี้สร้างตัวตนขึ้นมาให้นักสะสมรู้จัก และมองว่าเห็นว่าศิลปินคนนี้น่าลงทุนด้วย ส่วนช่วงที่ค่าแก๊สต่ำเป็นช่วงที่ทำการตลาดแบบขายแหลก เพราะคนจะตามซื้อเก็บงานในช่วงนี้

        “นั่นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ใครจะมองว่าการขายของใน NFT รวยง่ายเหมือนถูกหวย แต่หากลองเข้ามาจริงๆ จะรู้ว่าเหนื่อยกว่าปกติอีก เพราะว่าเราต้องสร้างตัวตนของเราใหม่หมดจากศูนย์ เพราะไม่อาจฝากความหวังกับฐานลูกค้าเดิมได้ บางคนที่บอกว่าอยากสร้างแต่ผลงานอย่างเดียว ไม่อยากทำการตลาด ก็มักจะเลือกใช้พาร์ตเนอร์ เพราะทุ่นแรงลงไปได้เยอะ

        “สามสิ่งสำคัญของคนที่จะเข้ามาในตลาด NFT ข้อแรกคือความขาดแคลน (Scarcity) คุณต้องทำอย่างไรก็ได้ให้งานของตัวเองดูหายาก มีคุณค่า และเด่นชัดในตัวตนของเราเอง ข้อที่สองคือ เวลาติดต่อซื้อขายกับผู้คนต้องจริงใจ และไม่พยายามขายงานมากจนเกินไป และสาม don’t sell yourself short อย่าขายตัวเองในระยะเวลาอันสั้นๆ จงไปอย่างช้าๆ มั่นคง ทีละสเต็ป แล้วก็มีสติในทีละก้าว คิดก่อน ค่อยๆ เลือกที่จะเดิน และมุ่งไปอย่างมั่นคง

        “หากคิดแค่ว่า NFT เป็นโอกาสในการทำเงิน (grab money opportunity) เพียงเพราะมูลค่าจากการขายผลงานนั้นสูง อย่าเพิ่งรีบเข้ามา เพราะคุณจะไม่ได้สิ่งนั้นในทันที ความโลภจะทำให้คุณไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะกุญแจของความสำเร็จคือการทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสุข โดยไม่ต้องคาดหวังจนเกินไปหรือต้องเสียความรู้สึกกับตัวเอง คุณอาจไม่ต้องคิดว่าตนเองจะประสบความสำเร็จแบบรวยล้นฟ้า ถ้าได้มันจะได้ของมันเอง หน้าที่ของเราคือ ทำให้เต็มที่แล้วปล่อยวาง”

MEISANMUI

‘มุ่ย’ – ศศิ ธนาดีโรจน์กุล

        ซึ่ง PUCK ก็คิดเช่นนั้น เมื่อศิลปินหลายคนดูเหมือนจะไปได้ดีในตลาดใหญ่แห่งนี้ จึงอาจทำให้ศิลปินที่กำลังจะเริ่ม NFT ให้ความสำคัญกับมูลค่าที่ได้จากผลงาน มากกว่าการตั้งใจทำผลงานให้ดีที่สุดก็ได้ 

        “ผมจึงไม่แน่ใจว่านี่จะเป็นการดึงดูดคนโดยใช้ความโลภเป็นตัวกระตุ้นหรือเปล่า เพราะว่าผมเองเวลาทำงานผมก็จะนึกถึงว่างานนี้เราต้องการจะบอกเล่าอะไรกับผู้คน หรือบอกเล่าบอกอะไรที่เกี่ยวกับความคิดตัวเองในช่วงนั้น แต่ถ้าเกิดเราทำงานโดยที่มองว่าตลาดชอบอะไร ลองมาทำตรงนี้ดีกว่า จุดนี้อาจทำให้คนหลงลืมประเด็น หรือจิตวิญญาณของศิลปินไปได้”

        แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดที่จะหลงลืมวิญญาณของศิลปินได้ เรามองว่าสิ่งแรกที่ศิลปินที่กำลังศึกษา หรือกำลังจะเข้ามายังตลาด NFT ควรคำนึงเอาไว้เลยก็คือ ‘ต้นทุน’ ที่ไม่เกินกำลังของตัวเอง เพราะการลงผลงานในแพลตฟอร์มหนึ่งนั้น ศิลปินจะต้องเสียค่า Mint งาน หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสร้างผลงานให้เป็น NFT ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มก็มีเงื่อนไขที่ต่างกัน 

        ดังนั้น ศิลปินจึงต้องศึกษาให้ดี ต้องดูว่าตัวเองมีทุนอยู่เท่าไหร่ แล้วแพลตฟอร์มไหนที่เหมาะกับเรา รวมถึงการติดตามความผันผวนของค่าแก๊สในตลาดอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้รู้ช่วงไหนที่เหมาะจะขายงานของเรา แล้วระหว่างนั้นก็ค่อยๆ สร้างตัวตนด้วยการผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง สร้างฐานแฟนคลับของเราให้ได้กว้างที่สุด เพื่อที่จะทำให้ตัวเองได้รับการมองเห็นจากนักสะสม และมีโอกาสขายงานได้มากขึ้นดั่งเช่นศิลปินทั้ง 6 คนนี้