ดาราศาสตร์

แม้ (ยัง) ไม่ได้ไปดวงจันทร์ แต่ยังอยู่ท่ามกลางดวงดาว ทุกครั้งที่แหงนมองฟ้าพราว ดาราศาสตร์ ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้ว

อดีต มนุษย์เงยหน้ามองท้องฟ้าในยามค่ำคืนเพื่อใช้ดวงดาวเป็นเครื่องมือในการนำทาง และเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้าเพื่อพยากรณ์การเปลี่ยนฤดู ในวันที่เรายังไร้เครื่องมือหรือปฏิทินคอยอำนวยความสะดวกอย่างทุกวันนี้ เช่น หนังเรื่อง Return to the Blue Lagoon (1991) ซึ่งเล่าเรื่องมนุษย์สองคนที่ไปติดเกาะตั้งแต่ยังเด็ก และต้องเอาตัวรอดให้ได้ในแต่ละวัน พวกเขาก็ใช้วิธีนับจำนวนของดวงจันทร์ที่เข้าสู่วันเพ็ญในแต่ละเดือนเพื่อให้รู้ว่าวันเวลาผ่านไปแล้วกี่ปี

     ดาราศาสตร์นอกจากจะเปิดเผยความจริงและเปลี่ยนความเชื่อเก่าแก่ที่ว่าโลกของเราแบนเป็นระนาบแล้ว ยังสร้างแรงกระเพื่อมให้กับประวัติศาสตร์โลกด้วย นั่นคือการแย่งชิงกันเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีในการส่งยานอวกาศขึ้นไปเหนือชั้นบรรยากาศระหว่างสองประเทศมหาอำนาจในตอนนั้น นั่นคือสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ในยุคสงครามเย็น อันนำไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้

     ในแง่ของชีวิต การศึกษาดวงดาวก็ช่วยให้คำตอบแก่เราว่าโลกและดวงดาวต่างๆ ในกาแล็กซีนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำให้เกิดปฏิทินและนาฬิกาขึ้นมาใช้งาน บอกให้รู้ถึงที่มาของอารยธรรมโบราณที่ถูกค้นพบ แม้กระทั่งบอกถึงการเกิดขึ้นและดับสูญของวัตถุที่อยู่เหนือท้องฟ้า

     ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะคิดว่าดาราศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว ไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องไปคอยนั่งจดจำชื่อดวงดาวยากๆ เพราะแค่เปิดแอพพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนขึ้นมา แล้วยกกล้องส่องไปบนท้องฟ้า ระบบของโทรศัพท์มือถือก็จะทำการเชื่อมต่อข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตแล้วส่งผลออกมาแสดงให้เห็นว่ากลุ่มดาวที่เรากำลังส่องอยู่ชื่ออะไร คุณอาจจะนึกไม่ถึงว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ ต้นทางที่ถือกำเนิดขึ้นมาก็มาจากข้อมูลของวิชาดาราศาสตร์

     ด้วยเหตุนี้เราจึงขอพาคุณไปมองดาราศาสตร์ไทยผ่านเรื่องราวที่อยู่ในสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ NARIT เพื่อให้รู้ว่าดาราศาสตร์ในบ้านเราอยู่ในอันดับต้นๆ ของเอเชียเลยนะ และตอบข้อสงสัยในใจว่าดาราศาสตร์นั้นสำคัญกับมนุษย์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตแค่ไหน

     อนาคตแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่คาดคะเนอะไรได้ยากก็ตาม แต่โครงการสำคัญๆ ของวงการดาราศาสตร์นั้น จะเป็นตัวช่วยในการทำให้เรามองเห็นภาพลางๆ ในวันข้างหน้าของมนุษยชาติได้

     เพราะเพียงแค่เงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้าโดยที่ยังไม่ต้องคิดว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่ลอยอยู่ในเอกภพหรือเปล่า แค่นี้คุณก็พาตัวเองไปสัมผัสกับดาราศาสตร์แล้ว

 

ดาราศาสตร์

 

จักรวาลผ่านดวงตา

     มนุษย์แหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้ามาแล้วเป็นพันๆ ปี ดาราศาสตร์จึงถือได้ว่าเป็นวิชาที่เก่าแก่ที่สุดวิชาหนึ่ง เหมือนอย่างที่เรารู้กันว่าสมัยก่อนมนุษย์เชื่อว่าโลกแบน เมื่อล่องเรือไปในทะเลเรื่อยๆ เราจะไปถึงสุดขอบโลกและตกลงไปในห้วงอวกาศในที่สุด ในยุคแรกมีหลักฐานทางด้านดาราศาสตร์ไม่มากนัก โดยหลักๆ จะค้นพบว่า ชาวจีนเมื่อราวหนึ่งพันปีก่อนคริสตกาลสามารถประเมินความเอียงของแกนโลกได้ ชาวบาบิโลนเองก็ค้นพบว่าจันทรคราสจะมีช่วงเวลาในการเกิดของมันซ้ำๆ และตั้งชื่อว่า วงรอบซารอส หรือเขยิบมาใกล้ๆ หน่อย ฮิปปาร์คอส นักดาราศาสตร์ชาวกรีก ที่อยู่ในช่วงสองร้อยปีก่อนคริสตกาล ก็เป็นคนที่คำนวณขนาดและระยะห่างของดวงจันทร์กับโลกได้

     ดาราศาสตร์เริ่มมีการค้นพบใหม่ๆ อย่างน่าตื่นเต้นตั้งแต่เข้ายุคคริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งมีนักดาราศาสตร์ชาวอาหรับหลายคนที่เกิดขึ้นมา และเป็นผู้ตั้งชื่อให้แก่ดวงดาวด้วยภาษาอารบิก ซึ่งกลายเป็นชื่อสามัญของดาวแต่ละดวงที่ได้ยินกันมาจนถึงปัจจุบัน ในช่วงแรกๆ นักดาราศาสตร์จะนำกล้องโทรทรรศน์มาใช้ศึกษาเรื่องของดวงดาว โดยวิทยาการในสมัยนั้นทำได้แค่เพียงวัดตำแหน่งของวัตถุบนท้องฟ้าเพื่อทำแผนที่ดาวและปฏิทิน ศึกษาด้านกฎของฟิสิกส์อย่างการโคจรของดาวเคราะห์ การวัดขนาดของโลก บันทึกปรากฏการณ์อย่างน้ำขึ้น น้ำลง สุริยุปราคา จันทรุปราคา หรือการระเบิดของดาวฤกษ์จำนวนมากที่เรียกกันว่า ซูเปอร์โนวา

     ยุคอวกาศเริ่มต้นอย่างแท้จริงใน ค.ศ.1957 ด้วยการส่งดาวเทียมดวงแรก (สปุตนิก 1) ขึ้นไปโคจรรอบโลกได้สำเร็จ และดาวเทียมดวงนี้ก็ลอยอยู่เหนือชั้นบรรยากาศโลกเป็นเวลา 92 วัน ก่อนที่จะลดวงโคจรลงเรื่อยๆ จนตกลงมา ภารกิจของสปุตนิก 1 คือการขึ้นไปทดสอบการโคจรรอบโลก ตรวจวัดความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศโลกจากการคำนวณการเปลี่ยนแปลงวงโคจร ทดสอบเรื่องของการส่งข้อมูลข่าวสารเป็นสัญญาณวิทยุผ่านชั้นบรรยากาศโลก และทดสอบหลักการของความดันในอวกาศว่าตรงกับที่นักวิทยาศาสตร์เคยสังเกตการณ์ไว้หรือไม่ ซึ่งดาวเทียมสปุตนิก 1 นั้นเป็นของสหภาพโซเวียต เหตุการณ์นี้จึงเป็นชนวนสำคัญของโลกที่ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องผลักดันตัวเองขึ้นมาเพื่อแข่งขันในเรื่องอวกาศ เพราะในตอนนั้นอเมริกาเชื่อว่าถ้าโซเวียตประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศ ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่ต่อไปโซเวียตจะส่งขีปนาวุธมาที่อเมริกา

     ดาราศาสตร์ไทยเริ่มต้นขึ้นในช่วงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงนำเรื่องดาราศาสตร์มาพัฒนาในเรื่องของการทำแผนที่และด้านการเดินเรือ เพื่อเปิดการค้าขายกับต่างประเทศ ต่อมาในกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาเรื่องราวของดาราศาสตร์ทั้งของจากต่างประเทศและศึกษาด้วยพระองค์เอง โดยการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม 2411 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของดาราศาสตร์ไทยที่สำคัญ จนมาถึงการก่อตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในวันที่ 1 มกราคม 2552

 

ดาราศาสตร์

Did you Know? — มองท้องฟ้าทีไรไม่เคยเห็นว่ามืดสนิทสักที

     แม้ในคืนที่มืดมิดที่สุดท้องฟ้าก็ยังสว่างเสมอ ท้องฟ้าบนโลกของเราไม่เคยมืดสนิทเลย (ต่อให้ไปยืนอยู่บนดวงจันทร์หรือแม้แต่ดาวอังคาร ท้องฟ้าก็ยังไม่มืดสนิทอยู่ดี) ซึ่งปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ท้องฟ้าไม่เคยมืดมิดคือแสงจากดวงดาวต่างๆ แสงจักรราศี (zodiacal light) ซึ่งเกิดจากการสะท้อนของแสงจากดวงอาทิตย์กับฝุ่นของดาวหางและดาวเคราะห์น้อยที่โคจรอยู่รอบระบบสุริยะ สุดท้ายคือแสงเรืองในอวกาศ (air glow) ซึ่งเป็นแสงสีเขียวที่กระจายไปทั่วทั้งบริเวณเส้นศูนย์สูตรและขั้วโลก

 

ดาราศาสตร์

 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

     ดาราศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เข้าใจยากมาก มันคือความท้าทายในการสร้างคนกับสร้างเทคโนโลยี เพราะประเทศเราแทบจะไม่มีงานวิศวกรรมที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ขั้นสูงเลย ดอกเตอร์ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ บอกกับเราถึงหัวใจสำคัญของ NARIT ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อความเป็นเลิศด้านดาราศาสตร์ในระดับสากล

     “นวัตกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าคุณภาพของคนไปไม่ถึงขั้น เขากล่าวขึ้นมาระหว่างพาเราชมห้องปฏิบัติการต่างๆ ที่อยู่ในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (Princess Sirindhorn AstroPark) ซึ่งประกอบไปด้วยอาคารศูนย์วิจัยและบริการทางด้านดาราศาสตร์ อาคารศูนย์ปฏิบัติการหอดูดาวแห่งชาติและวิศวกรรม อาคารเคลือบกระจก อาคารฉายดาว นิทรรศการ และพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์ อาคารหอดูดาว และส่วนที่เป็นลานกิจกรรมอเนกประสงค์กลางแจ้ง

 

ดาราศาสตร์

ดาราศาสตร์

 

     “ดาราศาสตร์จะมีส่วนสำคัญมากในการพัฒนาศักยภาพของคนทุกระดับไม่ได้เป็นแค่เรื่องดูดาว ดอกเตอร์ศรัณย์ไขข้อข้องใจให้เรากับความสงสัยที่ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้พัฒนาไปไกลมาก มนุษย์ไม่จำเป็นต้องมองท้องฟ้ายามค่ำคืนเพื่อหาทิศเหนือ หรือคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงของฤดูอีกต่อไป แล้วอะไรคือสิ่งสำคัญที่เราต้องรู้จักพื้นฐานเบื้องต้นของดาราศาสตร์

     “คนมักจะพูดว่าโหราศาสตร์เป็นเรื่องของสถิติ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องสถิติหรอก โหราศาสตร์กับดาราศาสตร์เคยเป็นสิ่งเดียวกัน แต่พอเข้าสู่ยุคของกาลิเลโอเป็นต้นมา ดาราศาสตร์กับโหราศาสตร์ก็ค่อยๆ ถูกแยกออกจากกัน ดาราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ โหราศาสตร์ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ และไม่ใช่สถิติด้วย ถ้าเป็นสถิติก็ต้องเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ไม่ได้มีอะไรพิสดาร คำว่า science นั้นมาจากภาษาละตินแปลว่าความรู้ ถ้าพูดคำว่า science เฉยๆ แปลว่าความรู้ของมนุษย์ที่มาจากธรรมชาติ แล้วเราก็ไปแยกออกมาเป็นวิชาดาราศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ชีวะ แต่ทั้งหมดคือความรู้ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เพราะเป็นวิทยาศาสตร์มันพิสูจน์ได้ แต่พอเป็นเรื่องความเชื่อแล้วเราจะพิสูจน์ว่าถูกหรือผิดไม่ได้ คุณเองก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าโหราศาสตร์นั้นไม่มีจริง คุณไปพิสูจน์ความเชื่อของมนุษย์ไม่ได้หรอก นี่คือความกระจ่างที่คนมักเข้าใจผิดว่าดาราศาสตร์กับโหราศาสตร์นั้นเป็นเรื่องเดียวกัน

     “ผมก็คาดหวังว่าเราจะไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวในจักรวาล เรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจน เพียงแต่ว่าเราจะติดต่อกันได้หรือเปล่าเท่านั้น” ดอกเตอร์ศรัณย์ตอบเราถึงข้อสงสัยที่ว่า ในจักรวาลจะเป็นไปได้ไหมที่มีสิ่งมีชีวิตอื่นอยู่ด้วยเหมือนกัน “เราเล็กมาก เรากระจอกมากเลย ในทางช้างเผือกมีดาวฤกษ์อยู่ประมาณ 2 แสนล้านดวง อาจจะมีดาวเคราะห์ที่คล้ายๆ กับโลกมากกว่าดาวฤกษ์อยู่อีกเป็นหมื่นล้านดวง แล้วจะไม่มีที่ไหนเลยเหรอที่จะไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นนอกจากที่เชื่อกันว่าพระเจ้าสร้างเรามาและสร้างที่โลกที่เดียว แต่เมื่อดาวดวงอื่นมีองค์ประกอบทางด้านเคมีที่เหมือนกัน ก็ต้องมีโอกาสที่ดาวดวงอื่นจะเกิดสิ่งมีชีวิตได้เหมือนกัน เพียงแต่พวกนั้นจะเกิดในช่วงเวลาเดียวกันกับเราหรือเปล่า แล้วจะติดต่อกันได้หรือเปล่า

 

ดาราศาสตร์

 

Did you Know? — ทางช้างเผือก

     กาแล็กซีทางช้างเผือกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 100,000 ปีแสง อัดแน่นไปด้วยดาวฤกษ์เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์อยู่ประมาณ 400,000 ล้านดวง มีความหนาประมาณ 1,000-2,000 ปีแสง ระบบสุริยะของเราอยู่ห่างจากศูนย์กลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกประมาณ 30,000 ปีแสง เมื่อเทียบกับโลกของเราแล้ว ระบบสุริยะของเรามีขนาดใหญ่โตมาก แต่ก็มีขนาดเล็กอย่างมหาศาลเมื่อเทียบกับกาแล็กซีทางช้างเผือก ดังนั้น ถึงเราจะสร้างยานอวกาศที่พาเราไปสุดขอบของระบบสุริยะได้ นั่นก็หมายความว่าเราเหมือนกับเพิ่งก้าวพ้นออกจากประตูบ้านของตัวเองเท่านั้น

 

ดาราศาสตร์

 

เทคโนโลยีเพื่ออนาคตจากดาราศาสตร์

     เมื่อเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์ได้ถูกโอนถ่ายไปยังภาคอุตสาหกรรม ของใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ของเราอย่างกล้องดิจิตอล เตาไมโครเวฟ เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือของคุณในตอนนี้ ทั้งหมดล้วนแล้วที่มาจากดาราศาสตร์ทั้งสิ้น

     “ระบบ Wi-Fi ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราก็มาจากดาราศาสตร์ ดอกเตอร์ศรัณย์บอกพร้อมกับอมยิ้ม

     เมื่อผลการทดลองที่ผิดพลาดในโครงการวิจัย CSIRO ของ จอห์น โอ ซัลลิแวน นักวิทยุ-ดาราศาสตร์ชาวออสเตรเลีย ทำให้เขาค้นพบสัญญาณนี้ขึ้นมา และกลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลกในทุกวันนี้

     “เมื่อก่อนคนอเมริกันจะด่าว่าทำไมต้องเอางบไปล้างผลาญกับโครงการอะพอลโล แต่สุดท้ายเราก็เห็นว่าโปรดักต์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุค 1960 ผ่านมา 50 ปี ตอนนี้ของแต่ละอย่างพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ดอกเตอร์ศรัณย์กล่าวขึ้นมาก่อนจะชี้ให้เราดูแบบแปลนของข้อสะโพกเทียมที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์

     “มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ก็ให้เราช่วยทำข้อสะโพกเทียม ข้อเข่าเทียม ที่มีความทนทานและให้เราขึ้นรูปชิ้นงานให้ เพราะที่นี่สามารถทำชิ้นงานที่มีความละเอียดสูงมากๆ ระดับที่โรงกลึงทั่วไปไม่สามารถทำได้ เพราะอะไหล่ต่างๆ ที่อยู่ในกล้องโทรทรรศน์ทางไกลในหอดูดาวนั้นต้องมีความแม่นยำและความผิดพลาดในระดับไมครอน ดังนั้น เราจึงกล้าพูดได้ว่า NARIT คือสถานที่ขึ้นงานที่เก่งที่สุดในประเทศไทย”

     ดาราศาสตร์

ดาราศาสตร์

 

     ภายในหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา (หอดูดาวแห่งชาติ) ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร บนแขนจับรูปส้อมพร้อมทั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพสำหรับทำวิจัยทางดาราศาสตร์ทั้งหมด 4 ตัว ซึ่งอุปกรณ์ที่สำคัญหลายๆ ชิ้นก็มาจากการคิดค้น ทดลอง และขึ้นรูปจากการพัฒนาของ NARIT เอง

     “Control System ของกล้องทุกตัวก็เป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้น อะไรที่เราทำอะไรเองได้ก็จะพยายามทำให้ได้มากที่สุด เพราะนั่นคือการเรียนรู้” ซึ่งนั่นรวมไปถึงห้องเคลือบผิวหน้ากระจกสำหรับเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์ และยังบริการให้กับหน่วยงานอื่นๆ และระบบคอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่ตอนนี้เรียกว่าเร็วที่สุดของประเทศไทย

     “กระจกของกล้องโทรทรรศน์ที่หอดูดาวแห่งชาติมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวกระจกเคลือบผิวด้วยอะลูมิเนียม การเคลือบจะทำให้ตัวกระจกมีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงได้ดีเท่าไหร่ ก็จะสามารถบันทึกภาพวัตถุท้องฟ้าที่อยู่ไกลมากๆ และมีความสว่างน้อยได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่เมื่อเราใช้งานไประยะหนึ่ง อะลูมิเนียมที่เคลือบอยู่บริเวณผิวกระจกจะเสื่อมสภาพลงไป ทำให้ประสิทธิภาพการสะท้อนแสงของกระจกลดลง ภาพที่ได้ก็จะมีคุณภาพลดลงตามไปด้วย เราจึงต้องทำความสะอาดด้วยการเคลือบผิวกระจกทุกๆ 2 ปี ถ้าสั่งซื้อเครื่องเคลือบกระจกมาจากต่างประเทศก็ต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 35 ล้านบาท เราจึงพัฒนาเครื่องเคลือบกระจกที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับต่างประเทศขึ้นมา ซึ่งระบบการเคลือบกระจกนี้ก็จะนำไปใช้ในการเคลือบเลนส์กล้องถ่ายรูป ฟิล์มกันรอยหน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรืองานที่เกี่ยวข้องกับตัวออปติกประเภทต่างๆ

 

ดาราศาสตร์

 

Did you Know? — ดาราศาสตร์ในงานสถาปัตยกรรม

     นอกจากเทคโนโลยีแล้ว ดาราศาสตร์ยังเชื่อมโยงกับชีวิตของมนุษย์ในเรื่องของสถาปัตยกรรมด้วย โดยจะเห็นได้ตั้งแต่โบราณสถานหลายแห่งที่สร้างโดยอ้างอิงจากเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์ ซึ่งถ้าเราเข้าใจเรื่องของการเคลื่อนตัวของดวงดาว ก็จะประหยัดงบประมาณในการสร้างบ้านไปได้เยอะมาก เช่น ช่วงบ่ายแสงจากดวงอาทิตย์จะส่องมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ดังนั้น ห้องที่อยู่ทางทิศนี้ไม่ควรเป็นห้องที่ใช้ทำงานหรือทำกิจกรรมตอนกลางวัน เพราะตัวห้องเองจะสะสมความร้อนไว้ตั้งแต่เช้า แต่จะเหมาะมากหากทำเป็นห้องครัว ห้องซักล้าง หรือเป็นที่ตากผ้า

 

ดาราศาสตร์

 

มองอนาคตผ่านดาราศาสตร์

     ปัจจุบัน NARIT เป็นผู้นำทางด้านดาราศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเครือข่ายกล้องดูดาวในชิลี สหรัฐอเมริกา จีน และออสเตรเลีย และได้รับแต่งตั้งจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก และเข้าร่วมโครงการพัฒนาเครื่องมือด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาค Cherenkov Telescope Array (CTA) เพื่อสนับสนุนการเคลือบกระจก ซึ่งจะติดตั้งที่สาธารณรัฐชิลี โดยจะทำการช่วยเคลือบกระจกสะท้อนแสงจำนวน 6,400 ชิ้น เพื่อรักษาประสิทธิภาพในการรับรังสีเชเรนคอฟจากอวกาศ และยังวางแผนในการส่งบุคลากรไทยเข้าร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อควบคุมการทำงานของกล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ (Cherenkov Telescope) ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพของนักดาราศาสตร์ไทยในอีกทางหนึ่งด้วย

     “เมื่อมีคนที่เก่งแล้ว เราก็สามารถส่งเขาไปช่วยงานทางด้านอื่นได้ เช่น การสร้างดาวเทียมโดยคนไทยด้วยเทคโนโลยีที่เรามี ตอนนี้เราโฟกัสไปที่งานด้านออปติกเป็นหลัก แต่ก็มีงานวิจัยอีกหลายอย่างที่กำลังพัฒนา เพราะงานวิจัยขั้นสูงเกิดมาจากความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ทั้งนั้น เรามั่นใจว่าจะมีผลงานออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน ที่ในอนาคตสามารถไปร่วมงานกับอุตสาหกรรมจริงจังได้ ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเหมือนทุกวันนี้ที่ในโทรศัพท์มือถือของพวกเรามีสิทธิบัตรด้านออปติกอยู่เป็นร้อยๆ แต่กลายเป็นว่าคนไทยนั้นแทบไม่มีส่วนร่วมอะไรด้วยเลย” 

      เรียกว่าความท้าทายของ NARIT ในวันนี้ไม่ใช่เพียงแต่เฝ้าจับตามองท้องฟ้าอีกต่อไป แต่คือเรื่องของการสร้างคนและสร้างเทคโนโลยี