พิมาลัย รีสอร์ต แอนด์ สปา

‘เพื่อธรรมชาติที่ยั่งยืน’ ปณิธานแรงกล้าจากทีมที่เป็นลมใต้ปีกของ ‘พิมาลัย รีสอร์ต’

การทำธุรกิจนั้นจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อชุมชนโดยรอบนั้นแข็งแรง ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกคนบนเกาะลันตา นั่นจึงทำให้เราสนใจว่าทาง Pimalai Resort & Spa ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร และสิ่งที่ทำนั้นส่งผลถึงความยั่งยืนทางธรรมชาติของท้องทะเลของกระบี่อย่างไร ลองมาดูความสมัครสามัคคีของเหล่าทีมงานที่ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยความตั้งใจ โดยหวังว่าเกาะลันตาจะสวยงามสดใสได้อย่างยั่งยืนตลอดไป 

พิมาลัย รีสอร์ต แอนด์ สปา

Sustainable Development

        ในช่วงบ่ายคล้อย หลังจากจิบน้ำตะไคร้ที่เย็นสดชื่น เรานั่งอยู่บริเวณล็อบบี้ที่เปิดโล่งพร้อมลมเย็นๆ ความร่มรื่นที่ห้อมล้อมพิมาลัย รีสอร์ต แอนด์ สปา และนั่งฟัง Patrice Landrein ผู้จัดการโรงแรม และ เสาวณี สิงห์แก้ว ผู้จัดการแผนกบุคคล เล่าถึงกิจกรรมที่ทางรีสอร์ตมีส่วนร่วมกับชุมชน ทั้งโครงการแยกขยะ แยกกระดาษ โครงการที่ร่วมมือกับทาง TH B.Grimm Group ในการมองถังขยะวางแผนเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน รวมถึงสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับโรงเรียนบนเกาะลันตาในหลายๆ กิจกรรม

        “พิมาลัยกับทางบีกริมมอบชุดถังขยะสำหรับการแยกประเภทขยะให้กับ 15 โรงเรียนทั้งเกาะลันตาใหญ่และเกาะลันตาน้อย โรงเรียนละ 5 ชุด จากนั้นเราทำการเก็บข้อมูลในการแยกขยะของแต่ละโรงเรียนว่ามีระบบจัดการอย่างไร  ซึ่งแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ธนาคารขยะและธนาคารกระดาษ  และจะมีทางเอกชนมารับซื้อไป โรงเรียนก็จะได้รับรายได้ตรงนั้น และยังมีการมอบให้กับทางชุมชนจำนวน 6 ชุด โดยเราจะให้ผู้นำชุมชนเป็นผู้รับเรื่อง เพื่อดูแลรักษาความสะอาดของหาดต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมหาดมีที่ทิ้งขยะ” เสาวณีเริ่มต้นเล่าสิ่งที่พวกเธอได้ทำให้ฟัง

พิมาลัย รีสอร์ต แอนด์ สปา

        “เรามีการจัดกิจกรรมสิ่งประดิษฐ์จากขยะในทะเล ให้นักเรียนส่งประกวด เช่น โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ท่านก็สนับสนุนอุปกรณ์ด้านวิทยาศาสตร์ หรือการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนเก็บขยะทำความสะอาดหาดร่วมกัน ร่วมกิจกรรมปลูกป่าร่วมกับอุทยาน เก็บขยะใต้ทะเลที่เกาะรอก และทุกวันพุธที่ 2 ของเดือน เราก็มีกิจกรรมเก็บขยะที่หาดคลองหิน และบริเวณของหาดบากันเตียงที่โรงแรมตั้งอยู่” มิสเตอร์แพทริซกล่าวเสริม

พิมาลัย รีสอร์ต แอนด์ สปา

Zero Waste Program

        จากเรื่องภายนอกเราก็เข้ามาสู่เรื่องภายในกันบ้าง นั่นคืออาหารการกินและการจัดการองค์กร เล่าโดย วัชรวีร์ รุจีร์โชติภัทร์ Executive Chef และ ราเชนทร์ ระวัง ผู้จัดการแผนกสวน โดยทางรีสอร์ตนั้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เลือกใช้วัตถุดิบจากชุมชน รวมถึงระบบการขนส่งที่คำนึงถึงการใช้พลังงานให้อย่างมีประสิทธิภาพ และการคำนึงถึงระบบบำบัดน้ำเสียรวมทั้งปลูกฝังแนวคิดนี้ส่งต่อให้กับคนในชุมชน 

        “เราเน้นการลดขยะจากเศษอาหารในหลายมิติ ทั้งการใช้วัตถุดิบที่ได้จากชุมชน พืชผักพื้นบ้านที่เป็นออร์แกนิก ถ้าต้องสั่งสินค้าจากพื้นที่ข้างนอกก็ต้องลดกระบวนการเกิดคาร์บอนฟุตพรินต์ให้น้อยที่สุด แม้ว่านั่นจะทำให้ต้นทุนของวัตถุดิบแพงขึ้นก็ตาม และพยายามสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรและชาวประมงไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้ารายใหญ่ ส่วนการจัดการครัวของทางโรงแรมก็จะพยายามไม่ทิ้งส่วนเหลือของวัตถุดิบ เช่น ปลา ส่วนหัว ส่วนท้อง เราจะนำมาทำเป็นอาหารเลี้ยงพนักงาน หรือส่งไปที่กระบวนการหมักขยะ ผัก ผลไม้ จะเลือกที่ตรงตามฤดูการ สนับสนุน Local Community อย่างเช่นไก่ ก็จะเป็นสัตว์เลี้ยงที่มาจากชุมชนในมีระบบการดูแลอย่างดี จากนั้นเราจะเอาเรื่องนี้ไปบอกต่อปลูกฝังให้กับชุมชน เพราะเราทั้งคู่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน” นั่นคือความยั่งยืนที่เชฟคนนี้บอกเรา

        ขั้นตอนของการผลิตได้ถูกอธิบายให้ฟังจนเข้าใจแล้ว ต่อมาคงเป็นเรื่องของการกำจัดขยะเหลือทิ้งภายในรีสอร์ต โดยราเชนทร์เล่าว่าพื้นเพนั้นเขาเป็นคนกรุงเทพฯ​ แต่ก็เข้ามาทำงานที่นี่เป็นเวลานับสิบปีได้แล้ว และเขาก็มุ่งมั่นในเรื่องของการปล่อยมลพิษออกมาสู่เกาะลันตาใหญ่ให้น้อยที่สุดและน้อยลงต่อไปเรื่อยๆ

        “เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม โครงการของเราเริ่มต้นตั้งแต่ 2 กรกฎาคม 2555 รวมๆ ก็ 9 ปีแล้ว ที่เราเริ่มแยกขยะภายในโรงแรมทั้งหมด ทั้งขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิล เรามีระบบการจัดการแยกถัง แยกสัดส่วน โดยต้นทางสำคัญเริ่มจากในครัว แม้กระทั่งหอพักพนักงานทั้งหมด  โดยขยะเปียกคือขยะที่มาจากในครัว ก็นำมาทำปุ๋ย ด้วยกรรมวิธีที่เราทำเองทั้งหมด ตั้งแต่ที่เราเริ่มทำมาตอนนี้ขยะเปียกของเรามีจำนวนประมาณ 1,600 ตัน โดยส่วนของขยะเปียกเราได้ทำการแยกชนิดของขยะอีกที เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ หรือสิ่งที่ย่อยยาก แล้วนำไปใส่ในถัง ประมาณ 50 กิโลกรัมต่อถัง ใช้เวลา 15 วัน เพื่อทำการกวนแบบวันเว้นวัน จากนั้นหมักไว้ 4-6 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยที่นำไปใช้กับต้นไม้ในแต่ละชนิด ปุ๋ยหมักของเรานั้นถูกนำมาใช้ดูแลพืชหรือต้นไม้ในโรงแรมทั้งหมด

พิมาลัย รีสอร์ต แอนด์ สปา

        “จากนั้นคือเรื่องน้ำ ที่นี่จะใช้น้ำเสียที่รีไซเคิลแล้วมารดต้นไม้ทั้งหมด โดยมีการแยกขั้นตอนประมาณ 3 ขั้นตอน คือน้ำจากห้องพักแขก น้ำจากห้องครัวไปยังถังพักน้ำ ผ่านระบบบำบัดแล้วนำมาใช้ และก่อนที่จะใช้น้ำจากถังบำบัดเราจะทำการส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อความปลอดภัยทั้งกับคนและพืช แต่ในช่วงนี้เศษอาหาร น้ำ และขยะเรามีน้อยลง เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้แขกที่มาพักก็น้อยลง ตอนนี้ทางโรงแรมแทบไม่มีน้ำที่เหลือทิ้งมารีไซเคิล ตอนนี้จึงเป็นการประยุกต์เรื่องของการนำน้ำมาใช้ให้คุ้มค่าที่สุด และส่วนของสวนพืชผัก เราจะใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็นจริงๆ พยายามใช้ให้น้อยที่สุด และเน้นไปที่วิธีธรรมชาติให้มากที่สุด” 

Conservation of Love

        การอนุรักษ์ท้องทะเลเป็นการลงทุนสูงแต่ก็คุ้มค่าที่เราได้รักษ์ธรรมชาติไว้ ถึงแม้ผลจะออกมาน้อยก็ตาม การที่เราเอาอะไรมาจากธรรมชาติง่ายมาก แต่การนำกลับคืนยากกว่าร้อยพันเท่า นั่นคือสิ่งที่ ยุทธนา ขุนวิสูตร ผู้จัดการแผนกเรือ ที่เป็นคนดูแลโครงการปล่อยปลาการ์ตูน และการอนุรักษ์ท้องทะเลที่ทำมาต่อเนื่องกว่า 4 ปี โดยตอนนี้ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญชาวอินโดนีเซีย ในการปลูกปะการังร่วมกับนักดำน้ำ และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งขาติอย่างต่อเนื่องทั้งการเก็บขยะใต้น้ำ ผูกทุ่นลดการทิ้งสมอ ทั้งที่เกาะห้าและเกาะรอก

        “เมื่อก่อนทะเลมีปลาสวยงามจำนวนมาก แต่พอมีธุรกิจจับปลาสวยงามไปขาย ปลาเหล่านี้ก็เริ่มหายไป แม้เราจะทำโครงการนี้มากว่าสิบปี แต่จำนวนปลาการ์ตูนก็ยังไม่เพิ่มขึ้น เพราะปัจจัยจากธรรมชาติ ศัตรูทางธรรมชาติของปลาเองก็ตาม แต่ตอนนี้การทำโครงการปลูกป่าปะการังก็ช่วยเพิ่มจำนวนปลาในทะเลได้มากขึ้น หรือการนำเศษปะการังมาทำการอนุบาล และนำไปคืนสู่ธรรมชาติกระจายตามจุดต่างๆ ของเกาะ

พิมาลัย รีสอร์ต แอนด์ สปา

        “ทั้งหมดนี้เราพยายามทำให้กิจกรรมกระจายสู่ชุมชนได้มากที่สุด ไม่ใช่เพียงเพื่อรายได้อย่างเดียว โดยเฉพาะเรื่องขยะ ไม่ว่าจะเป็นเป็นการจัดการขยะให้น้อยลง ซึ่งต้องช่วยเหลือกันทั้งหน้าที่ของตัวเองและชุมชนควบคู่กันไป หรือกระทั่งในส่วนของโรงพยาบาล ทางเราก็ช่วยทำห้องพักผู้ป่วยทั้งหมด 4 ห้องพัก เนื่องจากห้องพักผู้ป่วยของทางโรงพยาบาลของเกาะลันตาใหญ่นั้นยังขาดแคลนอยู่ แม้แต่เรือเราก็พยายามใช้เรือที่มีเครื่องยนต์ที่ทำให้เกิดควันได้น้อยที่สุด

        “แม้ในช่วงแรกทางชุมชนอาจจะยังไม่เข้าใจ ชาวบ้านเขายังกล้าๆ กลัวๆ แต่เราเริ่มจากโรงเรียนก่อน เมื่อเด็กๆ ได้ทำกิจกรรมที่โรงเรียน ก็จะทำให้พ่อแม่ได้ทำกิจกรรมด้วย นอกจากนั้ ยังทำให้หลายๆ โรงแรมที่บริเวณใกล้ๆ มีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านการอนุรักษ์นี้ด้วย มีขอมาดูงานจากทางเราบ้าง เราก็จะแนะนำกรรมวิธีการทำปุ๋ย การแยกขยะให้ เพราะเรายินดีที่จะแบ่งปันความรู้ที่เป็นเชิงอนุรักษ์แบบนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโครงการที่เรายังคงทำต่อเนื่องไม่หยุด ในอนาคตคาดว่าจะมีโครงการเพิ่มขึ้นอีกที่เป็นเชิงอนุรักษ์ แม้ว่าเราจะขาดแคลนเรื่องทุนทรัพย์แต่เราก็หยุดไม่ได้” เขากล่าวทิ้งท้าย 

        การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีใครเป็นตัวตั้งตัวตี นั่นคือคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของ ชรินทิพย์ ตียาภรณ์ ทายาทรุ่นที่สองและผู้จัดการฝ่ายการเงินของโรงแรมพิมาลัย รีสอร์ต แอนด์ สปา ที่ปูทางเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรที่สำคัญของโลกนี้ไว้

พิมาลัย รีสอร์ต แอนด์ สปา

        “เพราะการคำนึงถึงเรื่องเราจึงคิดไปถึงการลดพลาสติก ซึ่งเราพยายามใช้แขกที่มาพักกระเป๋าผ้า และมีสินค้าที่เป็นการช่วยลดโลกร้อน เช่น ถุงผ้า กระเป๋าสาน แม้ว่าจะเราจำจำหน่ายด้วย แต่เราขายในราคาถูก และนำค่าใช้จ่ายมาใช้ในโครงการการจัดการสิ่งเหลือใช้ นำมาใช้ในกระบวนการบำบัดของเสีย หรือโครงการ Waste Management Project ซึ่งเราไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะในฐานะที่กระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยว เราจึงรู้สึกว่าต้องดูแลให้เป็นพิเศษกว่าที่อื่นๆ เราเป็นเจ้าบ้านเราจึงต้องรับผิดชอบให้มาก แม้ว่าพนักงานโดยส่วนใหญ่เราก็ไม่ใช่คนพื้นถิ่น แต่ทุกคนรู้สึกรักและรู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้านหลังที่สอง เราจึงจัดการในส่วนที่เป็นพื้นที่ของเราให้ดีที่สุด ส่วนไหนที่เป็นความรับผิดชอบจากทางรัฐ เราก็มีส่วนช่วยบ้างในบางส่วน แต่พวกเราทุกคนทุ่มเทมาก เช่น การเก็บขยะ เรางดใช้แม้กระทั่งถุงดำ เราจะใช้เข่งแทนเพราะถ้าเลิกใช้ของพวกนี้ยังย่อยสลายได้ และเข่งจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า ทีมงานที่นี่ทุกคนคิดและประชุมกันหนักมาก เราทุ่มเท คิดค้นกลยุทธ์ให้เกิดขยะที่ไม่สามารถจัดการได้น้อยที่สุด เพราะถ้าเมืองไม่มีขยะสัตว์ป่าก็จะดำรงชีพอยู่ได้ และพวกเราก็จะไม่นำขยะจากภายนอกเข้ามาทำให้ระบบนิเวศน์เสียหาน เราใส่ใจทุกรายละเอียดจริงๆ”

        การเข้ามาพักที่พิมาลัย รีสอร์ต แอนด์ สปา เราจึงไมได้เพียงแค่การพักผ่อนเท่านั้น แต่ยังได้รู้ถึงวิถีชีวิตของคนบนเกาะลันตา และสัมผัสถึงความใส่ใจและการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างมุ่งมั่น ส่งผ่านจนเป็นการบริการที่เอาใจใส่ต่อแขกผู้มาเยือนเต็มที่ และได้รับความสุขกลับไปอย่างเต็มหัวใจ


พิมาลัย รีสอร์ต แอนด์ สปา

รายชื่อทีมงานเรียกจากซ้ายไปขวา

ฐิติชญาน์ เล่งศิริวัฒนกุล  Sales Revenue Manager
อำภา สังข์สุวรรณ  เลขาฯ ผู้จัดการโรงแรม
ยุทธนา ขุนวิสูตร  ผู้จัดการแผนกเรือ
Patrice Landrein  General Manager
เสาวณี สิงห์แก้ว  ผู้จัดการแผนกบุคคล
วัชรวีร์ รุจีร์โชติภัทร์  Executive Chef