ระนอง

รักนะ…ระนอง | ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ในบรรยากาศอบอุ่นเหมือนลูกหลานคนในพื้นที่

ตามเราไปเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ ระนอง จังหวัดเล็กๆ ที่มีชุมชนน้อยใหญ่ แฝงตัวอยู่ตามมุมต่างๆ ของจังหวัด บ่อน้ำแร่ที่มีแร่ธาตุดีๆ อยู่ในน้ำ หรือป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ทั้งหมดนี้อยู่ในจังหวัดระนองนี่เอง

ระนอง

 

     ระนองเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ทั้งหมดรวมส่วนที่เป็นทะเลประมาณ 189,431 ไร่ ส่วนพื้นที่แกนกลาง (Core Area) จำนวน 40,762 ไร่นั้นเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์และยังไม่ถูกรบกวนโดยมนุษย์ มีลำคลองคอบเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตของสัตว์ต่างๆ ซี่งถือว่าเป็นพื้นที่แห่งชีวิต สัตว์น้ำแต่ละชนิดจะถือกำเนิดจากพื้นที่ตรงนี้ก่อนลงไปขยายพันธุ์ต่อในทะเล และป่าชายเลนของระนองยังเป็นเหมือนกำแพงที่ป้องกันการพังทลายของชายฝั่งซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของคลื่นและลมในทะเลด้วย

     ระนองอาจจะดูเหมือนเป็นเมืองปิดหน่อยๆ ในสายตานักท่องเที่ยวทั่วไป แต่หลังจากเราใช้เวลาคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านไม่นานเราก็พบว่า จริงๆ แล้วพวกเขายินดีและอยากต้อนรับทุกคนที่เดินทางมาเมืองนี้ด้วยความเต็มใจ เพียงแต่ขอให้เป็นการมาเพื่อชื่นชม และอยากสัมผัสกับความเป็นเมืองระนองอย่างแท้จริง ไม่ได้หวังว่าจะมาเที่ยวเพื่อทำลายหรือตามหาความหวือหวาคึกคัก เพราะเมืองนี้อยู่กันแบบเรียบง่าย เงียบสงบ แต่ไม่เชื่องช้า

     เมื่อเรารู้แล้วว่าบุคลิกของระนองนั้นเป็นอย่างไร และถ้าอยากจะไปเยี่ยมเยือนจังหวัดนี้นั้นต้องมีเป้าหมายแบบไหน คุณก็จะได้พบกับความหมายของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในแบบที่ต่างออกไป และได้รับการต้อนรับเหมือนลูกเหมือนหลานของคนในพื้นที่ทุกครั้งที่มาถึง ซึ่งทั้งหมดนี้นอกจากจะทำให้หัวใจของเรานั้นพองโต เต็มอิ่ม มีความสุขกับที่นี่แล้ว เรายังสามารถพูดออกมาได้ดังๆ ว่า

     “รักนะ… ระนอง”

 

ระนอง

 

หาดส้มแป้น

     ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร ลัดเลาะผ่านเนินเขาที่มีต้นไม้เขียวชอุ่มตลอดทาง เป็นที่ตั้งของ ‘หาดส้มแป้น’ หมู่บ้านขนาดเล็กกลางสายหมอกที่ไม่มีหาด ไม่มีทะเล แต่ชื่อหาดส้มแป้นเนื่องจากในอดีตเคยมีคนจีนฮกเกี้ยนเข้ามาหาแร่ดีบุกที่นี่เป็นจำนวนมาก โดยพวกเขาเรียกบริเวณนี้ว่า ‘ห้วยซัมเปียน’ แปลว่าลึกเข้าไปในหุบเขา เมื่อเวลาผ่านไป คำนี้จึงค่อยๆ เพี้ยนเป็นคำว่า ‘หาดส้มแป้น’ ในปัจจุบัน

     รอบๆ หมู่บ้านมีลักษณะเป็นเนินเขาสลับสูงต่ำ สองข้างทางเป็นบ้านไม้ผสมผสานกับบ้านปูนสมัยใหม่ มีร้านขายของชำและร้านกาแฟเล็กๆ เหมาะแก่การไปนั่งชิลรับอากาศเย็นสบาย โดยเราจะเห็นทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ คนหนุ่มสาว และเด็กๆ ใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างสอดคล้องและกลมกลืน

 

ระนอง

 

     “ผู้คนในหาดส้มแป้นยังรักษาวิถีชีวิตเดิมๆ ไว้ได้อย่างดี” ‘จ๊ะจ๋า’ – สุรีย์พร สรรพกุล ประธานท่องเที่ยวชุมชนบ้านหาดส้มแป้น กล่าว พร้อมกับอาสาเป็นคนพาทัวร์บ้านเกิดของเธออย่างเป็นกันเอง

     “เนื่องจากมีเหมืองแร่ที่อุดมสมบูรณ์ระดับท็อปของเมืองไทย เราจะเห็นว่าทุกวันนี้ชาวบ้านก็ยังออกไปร่อนแร่ ทำเหมืองกันอยู่ตามแบบวิถีชีวิตดั้งเดิม อย่างตอนเช้าๆ สักตีสี่ตีห้า พวกเขาก็จะตื่นมาเริ่มต้นชีวิตกันแล้ว” เธอหยุดทักทายคุณลุงเจ้าของร้านน้ำชา ซึ่งเป็นที่ที่ผู้คนมักออกมารวมตัวกันตอนเช้าและดื่มชาร่วมกันก่อนออกไปร่อนแร่

     ความอุดมสมบูรณ์ของดินและแร่ธาตุ ทำให้เกิดเป็นภูมิปัญญาการปั้นเซรามิกที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น

     “ปกติถ้าพูดถึงเซรามิกคนมักจะนึกถึงภาคกลางหรือภาคเหนือเป็นอย่างแรก แต่จริงๆ แล้วจังหวัดระนอง โดยเฉพาะที่หาดส้มแป้นก็เป็นแหล่งทำเซรามิกชั้นดีเช่นกัน เพราะตัวดินเผาของเรามีคุณภาพมากๆ เป็นดินท้องถิ่นที่เผาออกมาแล้วจะได้เป็นถ้วยสีขาวเนียน โดยมักจะเคลือบด้วยสีเขียวของฮ็อปเปอร์ (ยี่ห้อผลิตภัณฑ์สีที่สกัดจากธรรมชาติ สำหรับใช้ในงานเครื่องปั้นดินเผาประเภทถ้วยชาม คล้ายๆ สีผสมอาหาร) ซึ่งสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติของจังหวัดระนอง” สุรีย์พรกล่าว

 

ระนอง

 

     หากแวะมาเที่ยวหาดส้มแป้นในวันอาทิตย์ จะได้พบกับตลาดเย็นขนาดกะทัดรัดที่ชาวบ้านมักนำของท้องถิ่นเล็กๆ น้อยๆ มาขายและแลกเปลี่ยนกัน

     “ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารและเสื้อผ้า แต่จะไม่ใช่เสื้อผ้าแฟชั่นนะ เป็นผ้าบาบ๋า-ย่าหยา หรือไม่ก็เป็นผ้าถุง ผ้าปาเต๊ะแบบพื้นเมืองจริงๆ” สุรีย์พรกล่าวปิดท้าย พร้อมกับชวนเรามาสัมผัสความชิลผ่านวิถีชีวิตชาวหาดส้มแป้นอีกครั้ง โดยเธอย้ำว่านักท่องเที่ยวที่สนใจมาพักค้างคืนและทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านควรจองเข้ามาก่อน เพราะทางหมู่บ้านจะได้มีเวลาในการเตรียมกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำให้แขกผู้มาเยือนได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวหาดส้มแป้นอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

 

ระนอง

 

ป่าชายเลน

     ป่าชายเลนของจังหวัดระนองแม้จะมีขนาดพื้นที่อยู่ในอันดับที่ 5 ของประเทศไทย แต่ปัจจุบันความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าชายเลนของที่นี่นั้นเป็นที่ยอมรับว่ามีสภาพที่สมบูรณ์เข้าขั้นเป็นหนึ่งในพื้นที่มรดกโลกกันแล้ว นั่นเป็นเพราะการอนุรักษ์ฟื้นฟูที่ทำกันอย่างจริงจังติดต่อกันมาหลายปี

     “ในอดีตไม้โกงกางถูกนำมาตัดเพื่อใช้ทำฟืน ถ่าน และไม้เสาเข็ม ซึ่งยังไม่รวมถึงการถางป่าเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่ต่อมาก็มีการยกเลิกสัมปทานการทำไม้ป่าชายเลน ทำให้ป่าได้ฟื้นตัวกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง” ดอกเตอร์สนใจ หะวานนท์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จากพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง (ศูนย์วิจัยป่าชายเลนระนอง) หรือ Ranong Biosphere Reserve พูดขึ้นมาระหว่างพาเดินดูป่าชายเลนที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่มากมายที่ยืนต้นชูตระหง่านกว่า 5 เมตร เกิดเป็นร่มเงาบังแสงแดดที่ร้อนแรงในตอนบ่ายให้กับเรา

     “ป่าชายเลนของที่นี่เป็นแหล่งพื้นที่อาหารที่สำคัญ ความหลากหลายทางชีวภาพของเราก็มีเยอะกว่าป่าชายเลนในประเทศเพื่อนบ้าน ถึงขั้นที่ว่าความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนในบังคลาเทศเองก็สู้เราไม่ได้” เขากำลังเล่าถึงเหตุผลว่าทำไมป่าชายเลนของจังหวัดระนองกำลังถูกแต่งตั้งให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก

 

ระนอง

 

     เมื่อพูดถึงความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ป่าชายเลนนี้ก็เต็มไปด้วยพรรณไม้ที่สำคัญอย่างโกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก พังกาหัวสุม โปรง ถั่ว แสม ตะบุน ฝาด และลำแพน เมื่อป่าอุดมสมบูรณ์ก็ส่งผลไปยังสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อาศัยอยู่ซึ่งมีกว่า 300 ชนิด หลักๆ ก็จะเป็นปลาเก๋า ปลากะพงแดง ปลากะพงขาว ปลากระบอก ปูดำ ปูแสม กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ และหมึก ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสัตว์เศรษฐกิจ และเป็นอาหารที่เลี้ยงทุกคนในประเทศ

     “ความมหัศจรรย์ของป่าชายเลนที่คนไม่รู้คือ ถ้าใครที่โสดอยู่แล้วลงไปเดินในป่า เขาจะได้พบกับรักแท้” ดอกเตอร์สนใจหันมาพูดพร้อมกับหัวเราะลั่นเมื่อเห็นประกายแห่งความหวังเกิดขึ้นในดวงตาของเรา

     “คุณดูสิ ป่าชายเลนที่เต็มไปด้วยต้นโกงกางแบบนี้ เดินก็ลำบาก ถ้าพลาดก็จะตกไปติดอยู่ในรากที่ระโยงระยางของต้นไม้ ใครก็ตามที่ยอมลงไปกับคุณ นั่นหมายความว่าเขาพร้อมที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขเป็นคู่แท้ของคุณแน่ๆ” พูดจบดอกเตอร์ก็ตบบ่าเราเบาๆ พร้อมกับชวนไปร่วมกิจกรรมปลูกป่าบนพื้นที่ที่ได้เวนคืนกลับมาบริเวณตำบลปากน้ำ ของจังหวัดระนอง

     เรามองไปที่ความเขียวชอุ่มที่อยู่รอบตัว คลอด้วยเสียงจิ้งหรีดและจักจั่นที่ร้องเพลงกันอย่างมีความสุข และเราก็ตอบรับคำชวนนี้อย่างเต็มใจ

 

ระนอง

 

เกาะพยาม

     หากพูดถึงจังหวัดระนอง สถานที่ท่องเที่ยวห้ามพลาดติดอันดับต้นๆ คงจะเป็นที่อื่นไปไม่ได้เลย นอกจาก ‘เกาะพยาม’ เกาะในทะเลอันดามันทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเมืองระนอง ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องความสงบ น้ำทะเลใส และความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ

     จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน เกาะพยาม มาจากคำว่า ‘พยายาม’ เพราะในสมัยก่อนการเดินทางมาเกาะพยามจะค่อนข้างลำบาก ต้องโดยสารมากับเรือประมงของชาวบ้าน ซึ่งคาดไม่ได้ว่าจะไปจะมาเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น ใครจะมาเกาะนี้ก็ต้องพยายามกันหน่อย แต่ในปัจจุบันการเดินทางมาเกาะพยามนั้นง่ายดายมาก โดยสามารถนั่งเรือสปีดโบ๊ตจากท่าเรือแหลมสนมายังเกาะภายในเวลาเพียง 40 นาทีเท่านั้น

 

ระนอง

 

     นอกจากการเดินเล่นชายหาด พายเรือคายัค และขับรถเที่ยวรอบเกาะแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถจองทริปออกไปดำน้ำตื้นและดำน้ำลึกเพื่อชมความสวยงามของปะการังและปลาทะเลที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศได้อีกด้วย

     “แนวปะการังของเกาะพยามยังถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก แต่หากเราไม่ช่วยกันรักษา วันหนึ่งความสวยงามนี้ก็จะค่อยๆ หายไป” จตุพจน์ ปิยัมปรุตระ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวขึ้น ในวันที่เขาและกลุ่มจิตอาสาจากชมรมนักดำน้ำจังหวัดระนอง กำลังจะออกเรือไปผูกทุ่นทางทะเลในบริเวณเกาะพยาม

     “ปัญหาในเกาะพยามที่เราพบอยู่ตอนนี้คือแนวปะการังกำลังถูกทำลายจากการทิ้งสมอเรือหรือผูกเชือกยึดติดไว้กับก้อนปะการัง จนสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติที่สร้างมาหลายสิบปี” ด้วยเหตุนี้ จตุพจน์และกลุ่มจิตอาสาจึงลงมือติดตั้งทุ่นผูกเรือใต้ทะเลจำนวน 25 ทุ่น เพื่อให้เรือชาวประมงและเรือนักท่องเที่ยวได้ใช้ทุ่นเหล่านี้ในการจอดเรือ แทนการทิ้งสมอลงไปสู่แนวปะการัง

 

ระนอง

 

     “ใครๆ ก็บอกว่าคนระนองโชคดีที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่เราก็ต้องมาคิดกันต่อด้วยว่าเราจะส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปให้รุ่นลูกหลานเราได้อย่างไรบ้าง” ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองเน้นย้ำ ก่อนที่จะพาพวกเราไปชื่นชมความงามของอ่าวเขาควาย และเดินทางกลับตัวเมืองระนอง

 

ระนอง

 


ขอขอบคุณ: มูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์, สายการบินนกแอร์, สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย, บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน), หอการค้าจังหวัดระนอง, ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และประชาชนจังหวัดระนอง ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลและอำนวยความสะดวก