Road Trip

ซึมซับประสบการณ์ชวนประทับใจที่ทอดยาวเท่าทางถนนของนักเดินทางแบบ Road Trip

หลายครั้งหลายคราที่เราได้ยินการเดินทางของผู้คนที่พิชิตเป้าหมายอันน่าทึ่ง และได้แต่หวังว่าชั่วชีวิตนี้เราจะได้มีทริปที่น่าจดจำอย่างนั้นบ้าง ซึ่งถ้าลองสังเกตดูดีๆ เรามักจะพบว่านักเดินทางเหล่านี้มักจะมีจุดเริ่มต้นง่ายๆ จากการตั้งคำถามยากๆ ให้กับตนเอง เป็นต้นว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะเที่ยวรอบโลกด้วยรถไฟ หรือเป็นไปได้ไหมที่เราจะไปเหยียบพื้นดินที่สูงที่สุดในโลกสักครั้งในชีวิต และเป็นเพราะคนเหล่านี้ไม่เพียงตั้งคำถามขึ้นมาแบบลอยๆ แต่ยังหาวิธีจัดการให้มันเป็นจริง เขาถึงได้ครอบครองประสบการณ์อันน่าอิจฉาไว้ด้วยตัวเอง

เช่นเดียวกับนักเดินทางแบบ Road Trip ทั้งสามคนที่เราเชื้อเชิญคุณมาซึมซับเรื่องราวของพวกเขา ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าบทสัมภาษณ์และภาพถ่ายต่อไปนี้จะเป็นแรงกระตุ้นชั้นดีให้คุณได้ตั้งคำถามกับตัวเองสักครั้งว่า แล้วเส้นทางที่น่าจดจำในชีวิตของเราล่ะ มันน่าจะเริ่มต้นและสิ้นสุด ณ ที่แห่งใดบนโลกนี้

road trip

 

ชีวิตนักขับบิ๊กไบค์กับเส้นทางลอนดอนสู่กรุงเทพฯ

     หลายคนคงพอจะรู้ว่า 14 ชั่วโมงเศษๆ คือระยะเวลาเดินทางด้วยเครื่องบินจากลอนดอนกลับมายังกรุงเทพฯ แต่จะมีสักกี่คนที่ตั้งคำถามว่า ถ้าเปลี่ยนจากเครื่องบินเป็นมอเตอร์ไซค์ เราจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่เพื่อพิชิตเส้นทางนี้ หนึ่งในนั้นคือ ‘ไก๋’ – ปฏิมา กองเพชร ครูสอนขี่มอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์แห่ง Storm Riding Academy ผู้ไม่เพียงตั้งคำถามเท่านั้น แต่ยังใช้เส้นทางนี้เป็นสนามพิสูจน์ความแข็งแกร่งของร่างกายและจิตใจตนเอง

 

เมื่อครั้งที่ได้สัมผัสกับมอเตอร์ไซค์

     “ถ้าขี่ครั้งแรกก็ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย แต่เรามีรถคันแรกของตัวเองตอนทำงาน พอมีรถของตัวเอง เมื่อถึงวันหยุดก็ขี่รถเที่ยวตลอด เรื่องของเรากับมอเตอร์ไซค์มันเกินคำว่าชอบ กลายเป็นความบ้าไปแล้ว เวลาผ่านไปเราก็หมกมุ่นกับมันมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นไปเรียนศาสตร์ของมันที่ต้นตอเลย ทั้งที่ญี่ปุ่น เยอรมนี มาเลเซีย และนำความรู้มาเปิดสอน และวางเส้นทางให้กับกรุ๊ปนักขี่บิ๊กไบค์ เช่น ปี 2010 ผมทำเส้นทางภายในไทยและประเทศเพื่อนบ้านให้กับทีมนักขี่มอเตอร์ไซค์รอบโลก”

 

Road trip

road trip

 

ริปแห่งความประทับใจ

     “ทริปขี่มอเตอร์ไซค์จากลอนดอนกลับมากรุงเทพฯ คือการเดินทางครั้งสำคัญในชีวิต เพราะผมคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับตนเอง เพราะมันนานและไกลเกินไป แต่วันหนึ่งก็มาเจอฝรั่งคนหนึ่งขี่มอเตอร์ไซค์รอบโลกด้วยมอเตอร์ไซค์เก่าๆ เราจึงกลับมาคิดว่าแล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ ร่างกายก็โอเค รถก็ดีกว่าเขา ที่สุดผมจึงติดต่อไปหาเพื่อนที่เคยทำทริปขี่มอเตอร์ไซค์รอบโลก จนได้ร่วมทริปลอนดอน-กรุงเทพฯ กับเขาพร้อมกับรุ่นพี่คนไทยอีกคนหนึ่ง

     “ก่อนไปลุ้นเรื่องขอวีซ่ามาก เพราะผมมีแค่ตั๋วเครื่องบินขาไป บอกว่าขี่มอเตอร์ไซค์กลับ เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเป็นเคสแรกของสถานทูตอังกฤษเลย เราก็บอกใช่ ผมนี่แหละคนแรก (หัวเราะ) พอไปถึงอังกฤษ ผมก็ต้องไปรับรถที่บริษัทขนส่งก่อนแล้วก็ขี่กลับโรงแรมเป็นสิบกิโล เจออากาศ 10 องศา ที่มีฝนตกและลมแรงตลอดทาง ยังไม่ทันเริ่มทริปผมก็อยากจะทิ้งรถกลับบ้านเลย มันหนาวจนมือแข็ง ท้อแท้ใจอยู่สักพักเลยโทร.ไปหาครอบครัว ขอกำลังใจจนฮึดได้อีกครั้ง พอวันรุ่งขึ้นการเดินทางก็เริ่มต้น โดยจุดสตาร์ทของเราคือ Ace Cafe ศูนย์รวมของคนรักมอเตอร์ไซค์ที่ลอนดอน ขี่ต่อมาเรื่อยๆ ผ่านฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย โครเอเชีย บอสเนีย มอนเตเนโกร กรีซ ตุรกี จอร์เจีย อาร์เซอร์ไบจาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน จีน ลาว และมาถึงไทย ใช้เวลา 3 เดือน ระยะทางประมาณ 22,000 กิโลเมตร”

 

roadtrip

 

อุปสรรคสำคัญ

     “ส่วนเรื่องที่เป็นอุปสรรคคือเรื่องอาหารครับ แย่ที่สุดคือช่วงอยู่เอเชียกลาง สิ่งที่ผมโหยหาที่สุดคือแกงส้มปูไข่หน่อไม้ดอง ขนมจีนน้ำยาใต้ (หัวเราะ) เพราะผมเป็นคนใต้ กินอาหารรสจัดมาตลอด พอไปเจอชีสเหม็นๆ เราก็ไม่เข้าใจว่าเขากินไปได้ยังไงทุกวัน (หัวเราะ) แต่สุดท้ายเราก็กินนะ บอกตัวเองว่ากินให้มีพลังไปต่อ”

 


ชีวิตของผมคือมอเตอร์ไซค์

     “ผมพยายามทำให้ทุกคนเห็นว่ามอเตอร์ไซค์ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม คุณสามารถอยู่กับมันและหาความสุขจากมันได้ แต่ผมเองก็เตือนตัวเองอยู่ตลอดว่าเราเป็นคนขี่มอเตอร์ไซค์ อย่าให้มันมาขี่เรา เราต้องควบคุมมันให้ได้ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน อย่างผมเองก็ใช้มันเป็นเพียงเครื่องมือในการเดินทางพาเราไปหาความสุขในอีกรูปแบบหนึ่งที่อาจไม่เจอเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ผมคิดว่าการเดินทางมันคล้ายกับยาเสพติดนะ คุณใช้มันวันนี้เท่าไหร่ พรุ่งนี้ก็อยากได้เพิ่ม เพราะสุดท้ายคนขี่มอเตอร์ไซค์ก็มีความฝันอยากขี่รอบโลก ผมก็ฝันแบบนั้น ซึ่งมันคงเป็นไปได้ในวันหนึ่งเมื่อเราพร้อม”

 

road trip

 

ผู้ร่วมคาราวานรถออฟโรดจากไทยไปแชงกรีลา

     การได้พบเจอกับประสบการณ์การท่องเที่ยวเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้ใครหลายคนเก็บกระเป๋าออกเดินทาง โดยหวังว่าจะได้ค้นพบพื้นที่อันลึกลับหรือประสบการณ์ที่แตกต่างจากคนอื่นๆ นั่นเป็นความคิดที่ทำให้ ‘เก้ง’ – สมพล จรัสโรจนพร เลือกเดินไปหาสิ่งพิเศษเหล่านั้นด้วยการขับรถยนต์ออฟโรดออกตระเวนไปในเมืองที่มีเส้นทางอันแสนโหด จากกรุงเทพฯ ไปถึงประเทศจีน ถึงแม้ว่าประสบการณ์ 14 วันนั้นจะผ่านไปแล้ว แต่ความรู้สึกและความสุขยังคงอยู่ในใจเขา แม้กระทั่ง ณ ขณะที่เรากำลังฟังเรื่องเล่าของเขาอยู่ในตอนนี้

 

หันมาขับรถยนต์ออฟโรดไปเที่ยว

     “เมื่อก่อนเราเที่ยวด้วยรถเก๋ง พอเปลี่ยนมาใช้รถที่แข็งแรงขึ้น เรารู้สึกว่าเราไปได้ไกลกว่า อย่างในเมืองไทยผมจะเที่ยวในที่ที่ทุรกันดารมาก ไม่มีถนนหนทางดีๆ พอเราเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ออฟโรด มันก็ทำให้เราสามารถไปในเส้นทางที่ไม่มีใครไปกัน คำว่า ‘off-road’ แปลว่า ไม่มีทางหรือนอกเส้นทาง ดังนั้น รถต้องแข็งแรงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับรถเก๋งหรือรถกระบะ สมรรถภาพของรถต้องมากกว่าแค่การขับเคลื่อน มันต้องให้การทรงตัวที่ดี แข็งแรง แล้วก็สามารถไปในเส้นทางที่วิบากได้

     “ผมไม่ได้มองว่าการขับรถไปเที่ยวนั้นดีกว่าการไปเที่ยวแบบอื่นๆ เพราะผมคิดว่าการเที่ยวแต่ละแบบมันก็มีประสบการณ์เฉพาะตัวของมัน อย่างเรื่องของการขับรถไปเที่ยว เราสามารถขนสัมภาระอะไรก็ได้ เราสามารถไปในที่ที่รถทั่วไปเข้าไปไม่ได้ ซึ่งเราก็จะได้ประสบการณ์ที่แตกต่างจากคนอื่นๆ เราจะจอดรถตรงไหนก็ได้ ดูวิวนานแค่ไหนก็ได้ เราจะได้เห็นระหว่างทางในที่ที่ป้ายรถเมล์ไม่ได้จอด คือเราสามารถเลือกระหว่างทางของเราได้เอง

 

road trip

road trip

 

ประสบการณ์ระหว่างการเดินทาง

     “จุดหมายปลายทางของผมคือเมืองแชงกรีลา-เต๋อชิง ประเทศจีน ใช้เวลาประมาณ 14 วัน ช่วงเดือนเมษายนเป็นช่วงปลายหนาวจะเข้าร้อน ซึ่งก็ยังมีหิมะตกอยู่บ้าง มันเริ่มจากมีเพื่อนผมจัดทริปขึ้นมา แต่กลายเป็นว่ามีคนอยากไปเยอะมาก ผมก็เลยเป็นคนที่คอยดูแลและคุมรถทั้งคณะนี้ ทริปนี้เราขับไป-กลับประมาณ 6,000 กิโลเมตร เราเจอกันที่เชียงของ แล้วขับเข้าประเทศลาว ด่านห้วยทราย แล้วก็เข้าประเทศ ช่วงที่เราขึ้นไปถึงชายขอบของทิเบต ซึ่งมันก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ จากสูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ก็ไต่ไปเรื่อยๆ ซึ่งมันก็ทำให้เราได้ปรับตัวทั้งเรื่องความสูง ความดัน และอากาศหนาว”

 


เหตุการณ์ที่น่าประทับใจ

     “เมื่อตอนที่ผมไปเที่ยวแชงกรีลา มันเกิดพายุหิมะพอดี เราก็ต้องคอยช่วยดูแลคันอื่นๆ ด้วย ระหว่างที่ท่องเที่ยวกันเป็นคาราวาน ซึ่งเราก็ต้องขับรถเพื่อลากคันอื่นๆ ด้วย ทำให้พอลงมาถึงเมืองลี่เจียงแล้วเกียร์พัง ก็เลยต้องเอารถเข้าซ่อมที่อู่ อู่แรกบอกว่าไม่มีอะไหล่เลย ก็เลยลากไปอู่ใหม่ตอนตีหนึ่ง ช่างคนจีนเขาก็นั่งประชุมบนโต๊ะกลมเลยนะ ประมาณว่าจะแก้ปัญหากันยังไง ปรากฏว่ามันไม่มีอะไหล่จริงๆ แต่ผมต้องเดินทางต่อพรุ่งนี้เช้าแล้ว ตอนนั้นช่างซ่อมก็เลยให้โรงกลึงทำอะไหล่ขึ้นมาใหม่ให้เรา แล้วสรุปว่า 6 โมงเช้า เราก็มารับรถไปเดินทางต่อได้จริงๆ ซึ่งก็บังเอิญมากว่าเมื่อผมกลับไปที่ลี่เจียงอีกครั้งก็ได้ไปซ่อมกับอู่นี้อีก มันเหมือนวาสนาเลยนะ

     “การไปเที่ยวแต่ละครั้ง ถามว่าได้อะไรกลับมาบ้าง อันดับแรกคือสุขภาพ อากาศดีเมื่อเรามีเวลามากขึ้น เราไม่ต้องเร่งรีบ มันก็จะทำให้เราผ่อนคลายกว่า ความช้าตรงนั้นมันทำให้เรามองเห็นรายละเอียด ใส่ใจเรื่องต่างๆ มากขึ้น อีกอย่างคือพอเราไปเที่ยว เหมือนได้เติมน้ำให้เต็มแก้ว เติมความคิดให้สมอง พอระหว่างที่ทำงานเราก็เทวัตถุดิบเหล่านั้นออกไปแล้ว ซึ่งเราก็มีช่องว่างเพื่อที่จะเติมน้ำให้เต็มได้อยู่เสมอ แม้ว่าเราจะไปเที่ยวที่เดิมๆ แต่เราจะเจอเรื่องราวใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำกันเลย”

 

road trip

 

พิชิตเส้นทางกรุงเทพฯ-มาเลเซีย ด้วยมอเตอร์ไซค์

     สิ่งหนึ่งที่คนเราต่างตามหาคือความอิสระ และนี่คือเรื่องราวของ ‘โจ’ – นิกสิทธ์ วงศ์สวัสดิ์ ช่างภาพผู้หลงใหลในความอิสระที่ได้จากยานพาหนะที่เรียกว่ามอเตอร์ไซค์ เขาเดินทางทั้งในและต่างประเทศกับยานพาหะคู่ใจชนิดนี้มาตลอด จนมันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและส่วนสำคัญของงานที่เรียกกันว่า ‘ขับ-ถ่าย’ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากทริปกรุงเทพฯ ไปมาเลเซียในยุคลองผิดลองถูก ยุคที่เขาให้จิตวิญญาณของนักเดินทางนำทาง ในยุคที่เขาเองก็ยังไม่เข้าใจการขับขี่แล้วถ่ายภาพไปด้วยอย่างแท้จริง แต่วันนี้เขาได้เข้าใจแล้วว่า การเดินทางด้วยสองล้อคู่ใจแล้วเก็บความประทับใจระหว่างทางนั้น เป็นสิ่งที่เขาหลงใหลและจะทำมันต่อไป

 

จุดเริ่มต้นของการ ‘ขับ-ถ่าย’

     “ต้องอธิบายก่อนว่าทริปขับ-ถ่าย คือการขับไป ถ่ายรูปไป ซึ่งคุณสมบัติตรงนี้อยู่ในตัวของคนที่ชอบขี่มอเตอร์ไซค์อยู่แล้ว ตอนนั้นมีทริปมาเลเซียของ Ducati Thailand จัดให้ลูกค้าขี่ไปดูการแข่งขัน MotoGP เราก็ถือว่าเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้ขี่รถข้ามประเทศด้วย ตอนนั้นยังไม่มีใครทำงานประเภทที่ต้องขี่รถไปด้วย ถ่ายรูปไปด้วย ความรู้สึกมันไม่เหมือนกับนั่งรถแล้วไปจอดถ่ายรูป การที่เราขี่ไปด้วยเราจะรู้เลยว่าความรู้สึกมันเป็นอย่างไร การเริ่มต้นตรงนั้นเป็นจุดประกายที่ทำให้เกิด ‘ขับ-ถ่าย’ ทริปนั้นทำให้เรารู้สึกว่าเราทำได้ และไม่จำเป็นต้องใช้ทีมงานมากมาย คือพยายามไม่ทำให้ขบวนของเราเป็นขบวนที่พิเศษ นี่คือสิ่งที่อยู่ในความเป็นขับ-ถ่าย ไม่ต้องมีทีมงานนั่งปิ๊กอัพหรือขับรถมาขนาบข้าง เพราะนั่นจะทำให้คนขี่รถรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มาท่องเที่ยว อาจรู้สึกว่ามาถ่ายทำรายการอะไรสักอย่าง ขับ-ถ่ายมันคือการขับอารมณ์ที่เกิดขึ้นในวินาทีนั้นๆ เก็บมันไว้ แล้วถ่ายทอดมันออกมา”

 

road trip

 

เสน่ห์ของระหว่างทางในทริปไปมาเลเซีย

     “ถ้าเราวิ่งจากกรุงเทพฯ จะผ่านถนนเส้นที่ตัดเข้าจังหวัดระนองซึ่งสวยงามมาก ผ่านภูเขา ผ่านอุทยาน เราได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่อยู่ที่นั่น เห็นชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น อีกเส้นคือถนนที่วิ่งตรงไปอำเภอเขาหลัก จังหวังพังงา ผ่านเข้าไปจังหวัดภูเก็ต หรือที่เรียกกันว่าถนนสายโรแมนติก ผมแทบจะไม่เจอรถบรรทุกบนถนนเส้นนี้ ถ้ามีรถเปิดประทุนคุณเอามาขับได้เลย เป็นซุ้มต้นไม้ตลอดทาง มองออกไปข้างทางก็เป็นทะเลบ้าง ภูเขาบ้าง ถ้าเราไม่เร่งรีบมาก อยากให้ลองวิ่งผ่านถนนเหล่านี้”

 

ปัญหาที่เกิดระหว่างทริป

     “ผมว่าปัญหาที่น่ากลัวที่สุดคือความห้าวหาญของผู้ร่วมถนน รวมถึงตัวผมด้วย ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งเราเจอโค้งสวยๆ สำหรับนักขี่ มันยากที่เราจะมองข้ามไป ยิ่งรู้ว่ามีคนรอถ่ายรูปเราอยู่ด้วย ซึ่งถือว่าเสี่ยงมาก เพราะถ้าไม่มีการสื่อสารกัน จังหวะเหลื่อมล้ำกันนิดเดียวอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุอันตรายถึงชีวิตได้เลย เราต้องจำไว้เสมอว่าเราเผลอไม่ได้ วินาทีเดียวก็ไม่ได้”

 

road trip

road trip

 

การเดินทางในฝัน

     “ผมมีความฝันว่าอยากเดินทางไปต่างประเทศเหมือนทุกๆ คนที่ขี่มอเตอร์ไซค์นั่นแหละ พอขี่ในบ้านเราเสร็จก็อยากจะขี่ไปเมืองนอก อยากจะไปเมืองแชงกรีลา เมืองมะละกา หรือกัมพูชา เวียดนาม อินเดีย วันที่ไปมาเลเซีย ทันทีที่ข้ามชายแดนไปแล้ว สิ่งเดียวที่ผมคิดถึงคือบ้าน เราเริ่มคิดว่าเรายังเที่ยวในเมืองไทยไม่พอ ยังมีอีกหลายๆ มุมที่เราไม่รู้จัก เลยกลายเป็นความตั้งใจของกลุ่ม ‘ขับ-ถ่าย’ ว่าอยากจะไปเก็บในเมืองไทยให้หมดก่อน เราเลยไม่ค่อยสนใจต่างประเทศ

     ผมว่าการขี่มอเตอร์ไซค์มันเป็นการตอบโจทย์ความรู้สึกที่อยากค้นพบความอิสระ สำหรับผม การขี่มอเตอร์ไซค์มันคล้ายกับการธุดงค์ ถ้าคนเคยบวชจะรู้ว่าการธุดงค์คือการท่องไปในดินแดนที่เราไม่เคยไปหรืออาจเคยไป แต่ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ที่จิตของเรา เราจะจดจ่ออยู่กับตัวเอง การขี่มอเตอร์ไซค์ก็เหมือนกัน บางทีมากันเป็นร้อยคัน แรกๆ ก็สนุก เฮฮา แต่ผ่านไปสักพักเราจะอยู่กับตัวเอง เราต้องมีสมาธิ เพราะเราต้องดูแลตัวเอง เมื่อเราดูแลตัวเองได้ เราจะเห็นว่าเราจะดูแลคนอื่นด้วยได้อย่างไร”