เพราะโควิดจึงปลดล็อก เรื่องราวของผู้คนที่เปิดครัวทำธุรกิจที่บ้าน สู้วิกฤตโรคระบาด

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานซึ่งทุกคนต่างได้รับผลกระทบให้ต้องหาหนทางปรับตัวหรือแม้กระทั่งหาทางรอด สิ่งหนึ่งที่เราเห็นเป็นปรากฎการณ์ของยุคสมัย ก็คือการที่คนธรรมดาตัวเล็กๆ ต่างก็หันมา ‘ปลดล็อกความสามารถ’ ทำในสิ่งที่ตัวเองยังพอจะทำได้ โดยใช้ทั้งความถนัดและความหลงใหลเรียนรู้พัฒนาสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองกันออกมามากมาย ที่สำคัญพวกเขามีจุดเริ่มต้นจากพื้นที่เล็กๆ อย่างในครัวที่บ้าน และทำธุรกิจแบบเดลิเวอรีเป็นหลัก ผ่านการสื่อสารด้วยโซเชียลมีเดีย

        เช่นเดียวกับ 3 ผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ที่ต่างก็ทำด้วยความใส่ใจ ภายใต้ยุคของวิถีปกติใหม่ที่เศรษฐกิจยังคงซบเซา แต่เราเชื่อว่าเรื่องราวของเขาเหล่านี้อาจส่งต่อแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครอีกหลายคนลุกขึ้นมาปรับตัวทำอะไรสักอย่างตามหนทางของตัวเอง

__________

ไส้กรอกอีสาน ผลิตจากวัตถุดิบวิถียั่งยืน ‘ลูกอีสาน’ 
โดย ‘ปภาอร​ ​สุวรรณ​ธรรมา​’ 

__________

        ตอนที่วิกฤตโควิด-19 เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ๆ ผู้คนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับพนักงานประจำสายงานโรงแรม 5 ดาวแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ อย่าง ‘แยม’ – ปภาอร​ ​สุวรรณ​ธรรมา​ หญิงสาวเลือดอีสานจากจังหวัดอุดรธานีผู้ย้ายถิ่นฐานไปปักหลักที่เชียงใหม่ เธอได้หาทางปรับตัวฝ่าวิกฤตด้วยการใช้ความเป็นลูกอีสานของตัวเองพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งไส้กรอกอีสานแบรนด์ ‘ลูกอีสาน’ ออกมา

        • เมื่อโควิด-19 ระลอกแรกมาถึง… ใครจะนึกบ้างว่าเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งอย่างเชียงใหม่จะไม่มีนักท่องเที่ยวเลย เราเคยมั่นใจว่างานที่ทำอยู่มั่นคงมาก แต่พอโควิดเกิดทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด พนักงานโรงแรมโดนลดวันทำงานและลดเงินเดือนลง แต่โดยส่วนตัวเราไม่ได้เป็นคนฟูมฟายอยู่แล้ว เราไม่จมอยู่กับวิกฤต ไม่มัวแต่ตั้งคำถามว่าทำไมมันจึงเกิดขึ้น

        • เมื่อมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น… เราพยายามหาอะไรทำ ตั้งแต่ทำกับข้าว ทำขนม ปลูกต้นไม้ ดูแลบ้าน ทำหน้ากากผ้าขาย ฯลฯ ด้วยความที่มีไลฟ์สไตล์แบบนี้จึงไปเข้าตาของพี่แอน (นฤมล ชมดอก) จาก ‘Go2AskAnne’ สื่อออนไลน์ด้านอาหารและไลฟ์สไตล์ในจังหวัดเชียงใหม่) ที่ชวนให้เราไปเป็นพิธีกรรายการ ‘Home Living With Yam’ 

        • ตอนนั้นกระแสหม้อทอดไร้น้ำมันกำลังมาแรง… ด้วยความที่เราเป็นคนอีสาน ชอบกินไส้กรอกอีสานมาก ก็เลยทำไส้กรอกอบโชว์ในรายการเสียเลย และปิ๊งไอเดียว่าน่าจะทำไส้กรอกอีสานขาย เพราะโควิด-19 ทำให้คนเปลี่ยนวิถีชีวิต ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม อยู่บ้านกันมากขึ้น ออกไปซื้อหาสินค้ากันไม่ค่อยสะดวก เลยคิดว่าทำไส้กรอกเป็นอาหารแช่แข็งส่งเดลิเวอรีก็น่าจะมีโอกาส นี่เป็นที่มาของ ‘ลูกอีสาน’

        • เราอยากทำแบรนด์ที่สนับสนุนเกษตรอินทรีย์… แต่ไหนแต่ไรมาเราเองก็รู้สึกสนใจในเรื่องความยั่งยืนด้านอาหารอยู่แล้ว โชคดีช่วงทำรายการ เรามีโอกาสได้รู้จักธุรกิจอาหารท้องถิ่นค่อนข้างเยอะ 

        • เราเลือกวัตถุดิบจากคนตัวเล็กๆ ในชุมชน… อย่างเนื้อหมูจากฟาร์ม​หมูอนามัย เนื้อไก่ฮาลาลในท้องถิ่น ดอกเกลือ จากชาวนาเกลือเมืองเพชร กระเทียมไทยจากเกษตรกรที่ปลูกแบบไร้สารเคมี ข้าวเหนียวอินทรีย์จาก​ชาวนาในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน วัตถุดิบทุกอย่างเราเห็นจริงๆ ว่าเขาผลิตมันอย่างใส่ใจ เราอยากให้ลูกอีสานเป็นธุรกิจที่เราไม่ได้แค่ตัวเองคนเดียว และอยากให้คนกินได้รู้ว่าเงินที่เขาซื้อของมารับประทานนั้นยังส่งต่อไปถึงใครอีกหลายค

        • เพราะความฝันไม่ต้องเสียสตางค์… ตอนเริ่มทำลูกอีสาน เราเองก็มีเงินทุนอยู่ไม่กี่หมื่นหรอก แต่เราฝันไกลเอาไว้ก่อนเลยว่าอยากจะทำส่งขายต่างประเทศ ไหนๆ ก็จะลงมือทำทั้งทีแล้วก็อยากจะจริงจังไปเลย ไม่อยากจะให้มันเกิดขึ้นจากวิกฤตแล้วก็หายไป ก็คิดเลยว่าจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้พัฒนาไปได้ถึงขั้นนั้น 

        • ด้วยทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด… สิ่งหนึ่งที่เราพอจะทำได้ตอนนี้ก็คือพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดี จากคอนเซปต์ของลูกอีสาน เราคิดว่าน่าจะเหมาะกับซูเปอร์มาร์เกตชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่อย่างริมปิง ก็เลยติดต่อเข้าไปเพื่อขอนำเสนอสินค้า เมื่อเราพรีเซนต์เสร็จเขาก็ชอบ บอกว่าทั้งคอนเซปต์เรื่องราวและบรรจุภัณฑ์มีสัญญาณที่ดีแล้ว แต่ติดปัญหาตรงที่ตอนนั้นยังไม่มี อย. ก็เลยต้องกลับไปขอ อย. ก่อน 

        • จากที่ไม่เคยมีความรู้ในเรื่องพวกนี้มาก่อนเลย… เราเข้าไปปรึกษากับสาธารณสุขจังหวัด ทำให้รู้ว่าต้องไปต่อเติมครัวที่บ้าน จัดสรรพื้นที่ทำให้กระบวนการผลิตเป็นไปตามมาตรฐาน จนได้ อย. และวางขายในริมปิงฯ ในที่สุด

        • ใช้เวลาประมาณ 1 ปี… ตั้งแต่เริ่มพัฒนาสินค้าจนได้วางขายในริมปิงซูเปอร์มาร์เกต วันแรกที่เข้าไปส่งของวางขายสำเร็จ ดีใจเหมือนจะลอยได้ มันเป็นความภูมิใจที่เราได้เห็นสิ่งที่ตัวเองเริ่มต้นทำจากศูนย์เริ่มเห็นผล 

        • สิ่งหนึ่งที่เป็นบทเรียนสำหรับเรา… คือประสบการณ์อันมีค่าที่เราทำเอง ได้กับตัวเอง จากแต่ก่อนที่เราเป็นเพียงพนักงานประจำมนุษย์เงินเดือนมาโดยตลอด ความรู้สึกมันแตกต่างกันกับการรับเงินเดือนเป็นเดือนๆ มาก 

        • ตอนนี้ ‘ลูกอีสาน’ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น… ยอดขายยังไม่ได้มากมายเท่าไหร่ แต่ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยพอให้ได้ชื่นใจในทุกเดือน สิ่งที่เราพยายามทำอยู่คือการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาให้มากขึ้น และทำการตลาดออนไลน์ ยังมีอะไรอีกหลายอย่างให้เราได้เรียนรู้ในฐานะเจ้าของกิจการ 

        • มันจะสำเร็จไปไม่ได้เลย… ถ้าเราไม่ก้าวข้ามกรอบคิดเดิมๆ ของตัวเองแล้วลงมือทำ สิ่งหนึ่งที่เราคิดเกี่ยวกับโควิด คือเราต้องไม่มัวแต่นั่งจมและมองว่ามันเป็นวิกฤตที่หนักหนาสาหัส แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเดินต่อไปได้คือเราต้องพยายามมองให้เห็นว่าเรามีอะไรอยู่ และทำอะไรจากสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ได้บ้าง

 

Lesson Learned

        • “อย่ามีมายด์เซตแบบมนุษย์เงินเดือน”… ทีแรกเราเองก็ไม่เข้าใจคำพูดนี้หรอก เราคิดว่าเป็นมนุษย์เงินเดือนก็มั่นคงดีนี่ ได้เงินทุกเดือน แต่พอเจอกับวิกฤตโควิด และได้ลองมาทำลูกอีสาน เราถึงเข้าใจ เพราะมันไม่มีความมั่นคงใดๆ ที่จะคงอยู่ได้ตลอดไปหรอก สิ่งที่เราทำได้ก็คืออยู่กับปัจจุบัน 

        • ทุกๆ คนเวลาเริ่มต้นทำอะไรก็ย่อมรู้สึกกลัวกันทั้งนั้น… ไม่ว่าจะกลัวไม่ดี กลัวเสียหน้า กลัวขาดทุน กลัวล้มเหลว ฯลฯ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังต้องทำต่อไป เพราะถ้าไม่ลงมือทำมันก็จะไม่มีวันเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้หรอก 

        • เวลาจะเอาแผนธุรกิจไปเสนอ… ต้องทำออกมาให้ดีที่สุด คิดเสียว่านั่นเป็นครั้งเดียวที่เราอาจจะมีโอกาสนั้น อย่างเราเองตอนที่จะนำเสนอสินค้าก็เตรียมพร้อมอย่างดีที่สุดทั้งคอนเซปต์ผลิตภัณฑ์ กลุ่มเป้าหมาย การออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้า และแพลนที่คิดไว้ในอนาคต เมื่อเราเตรียมพร้อมอย่างดีที่สุดและความตั้งใจสื่อถึงผู้บริหารริมปิงฯ จึงได้รับโอกาส

__________

MJ Coffee X Home Cafe’ 
กาแฟคราฟต์บรรจุขวด โดย ‘นลินี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา’

__________

        แม้บางคนจะโชคดีไม่ได้ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยตรง แต่ถ้าคนที่เรารักไม่โชคดีอย่างนั้น สิ่งที่ครอบครัวพอจะสามารถทำเพื่อกันได้คือการอยู่เคียงข้างและคอยช่วยเหลือ เช่นเดียวกับพนักงานสาวของพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งอย่าง ‘จ๊อบ’ – นลินี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งเธอใช้ความหลงใหลในกาแฟ และการเป็น Cafe Hopper เริ่มต้นกิจการเล็กๆ ที่พอเหมาะกับตัว โดยใช้บ้านเป็น Home Cafe ทำเครื่องดื่มคราฟต์บรรจุขวดขายเดลิเวอรี

        • เมื่อเกิดโควิด… ตัวเราเองไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะแม้จะมีการปิดพิพิธภัณฑ์ แต่องค์กรของเราก็ยังดูแล เรายังไม่ได้โดนลดเงินเดือนหรือลดสวัสดิการอะไรเหมือนกับคนอื่นเขา แต่ครอบครัวทางฝั่งคุณพ่อคุณแม่ก็ได้รับผลกระทบทำให้รายได้ลดลง เราในฐานะลูกจึงต้องมีหน้าที่ช่วยเหลือ

        • ทีแรกเรากับสามี (คุณเอก) ขายอาหารในชื่อ ‘ครัวข้างวัง’… เป็นการขายอาหารแบบพรีออร์เดอร์ซึ่งคุณยายของเอกเป็นคนทำ แล้วเรากับเอกดูแลเรื่องการขายและจัดส่ง แต่ทีนี้พอสถาณการณ์โควิด-19 เริ่มน่าเป็นห่วงขึ้น เรารู้สึกเป็นห่วงผู้ใหญ่ที่บ้านซึ่งต้องออกไปตลาดซื้อวัตถุดิบ จึงตัดสินใจหยุดทำตรงนั้นดีกว่า แล้วดูว่าเรามีอะไรที่เราจะพอสามารถทำกันเองได้บ้าง 

        • พอดีว่าเราซื้อบ้านใหม่… และเอกทำงานเป็นช่างภาพ เราก็เลยทำบ้านให้เป็นสตูดิโอสำหรับถ่ายงาน และมีเคาน์เตอร์บาร์สำหรับชงกาแฟ เพราะเราเองเป็นคนชอบดื่มกาแฟและเป็น Cafe Hopper อยู่แล้ว เราชอบดื่มกาแฟดีๆ ความรู้สึกที่ได้ดื่มกาแฟดีๆ มันรื่นรมย์ ก็เลยไปลงเรียนคอร์สกาแฟ และเคยฝึกงานอยู่ที่ร้านของคนรู้จัก พอมาทำบ้านทีแรกคิดว่าจะเปิดเป็นหน้าร้านขายกาแฟให้คนในหมู่บ้าน และบริการคนที่มาถ่ายงานกับเอก แต่พอสถานการณ์โควิดเป็นแบบนี้ เราก็คิดว่า ถ้าอย่างนั้นก็อย่าเพิ่งเปิดให้ใครเข้ามาเลยดีกว่า ลองขายกาแฟบรรจุขวด ซึ่งจะมีอายุการเก็บรักษาที่ได้นานขึ้น และขายทางออนไลน์น่าจะปลอดภัยกว่า 

        • ชื่อ MJ Coffee X Home Cafe… มาจากคำว่า ‘Mini Job’ หมายถึงตัวเราเองที่เริ่มทำกิจการจากเล็กๆ ก่อน เราไม่อยากทำอะไรใหญ่เกินตัว อย่างการลงทุนเองก็ไม่ได้เริ่มจากการซื้อ Espresso Machine เครื่องละแพงเป็นแสน เราเริ่มจากเครื่อง Flair Espresso เสน่ห์ของเครื่องนี้คือการคราฟต์ชงเอสเพรสโซด้วยมืออย่างพิถีพิถันออกมาแก้วต่อแก้ว 

        • การทำกาแฟมีหลายปัจจัยที่จะทำให้รสชาติออกมาดี… ทั้งเมล็ดกาแฟ การคั่ว การบดเมล็ด ฯลฯ เรามองว่าถ้าเราทำทุกอย่างพิถีพิถันก็สามารถใช้เครื่องนี้ชงกาแฟดีๆ ออกมาได้ไม่แพ้ Espresso Machine ราคาแพง ดังนั้น เลยคิดว่าเราเริ่มต้นเล็กๆ จากเครื่องนี้ก่อนดีกว่า และความคราฟต์เองก็เป็นจุดขายอย่างหนึ่ง

        • เริ่มแรกเน้นขายคนรู้จักก่อน… จากนั้นจึงเปิดเพจ และขายผ่านแอปพลิเคชันเดลิเวอรี ซึ่งจะเน้นแอพฯ ที่ไม่เสียค่าจีพี และค่าส่งก็ไม่แพง ทำให้คนสั่งกันเยอะ 

        • เมล็ดกาแฟเฮาส์เบลนด์ของร้านเรา… เป็นเมล็ดกาแฟจากดอยช้าง ผสมกับเมล็ดกาแฟจากบราซิลคั่วกลาง ให้รสชาติหอมนัตตี้นุ่มละมุน บางทีถ้าไปเจอเมล็ดที่น่าสนใจมา ก็จะจัดเป็นเมล็ดกาแฟพิเศษแจ้งให้ลูกค้าทราบผ่านเพจ เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขาย 

        • หนึ่งในวิธีการทำให้เกิดยอดขาย… บางทีเราก็ทำเป็นพรีออเดอร์จัดเส้นทางจัดส่งเพื่อให้ลูกค้าประหยัดเงิน ลูกค้าประจำก็จะสั่งทีละเยอะๆ เพราะข้อดีของการทำเครื่องดื่มบรรจุขวดคือเก็บเอาไว้ได้หลายวัน 

        • ขายอย่างจริงจังมาไม่กี่เดือน… นอกจากกาแฟแล้ว เราก็ยังมีเครื่องดื่มอื่นๆ อย่างช็อกโกแลต และชาชนิดต่างๆ เครื่องดื่มทุกอย่างเราชงอย่างใส่ใจ พิถีพิถัน จนถึงตอนนี้ก็เริ่มมีลูกค้าสั่งประจำแล้ว และมีรายได้เพิ่มขึ้นให้เราพอยิ้มได้ในทุกๆ เดือน

 

Lesson Learned

        • การเริ่มทำกิจการ… ไม่ว่าจะเป็น Home Kitchen หรืออะไรก็ตามจากที่บ้านเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและต้นทุนให้กับเรา ซึ่งถ้าต้องลงทุนเช่าร้านโดยที่เราไม่มีเงินทุนมากนัก ยิ่งในภาวะแบบนี้ก็อาจจะไม่ปลอดภัย 

        • ข้อดีของการเปิดร้าน Home Kitchen Delivery… คือเราสามารถลองผิดลองถูกกับมันอย่างไรก่อนก็ได้ ยิ่งในตอนนี้บ้านเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับทุกคน 

        • ถ้าใครกำลังคิดจะทำอะไร… ก็อยากให้ลงมือทำเลยไม่ต้องรอ เพราะอย่างที่บอกว่าการใช้บ้านของตัวเองเริ่มต้นนั้นไม่ได้ทำให้เรามีต้นทุนอะไรมาก เราสามารถลองทำได้เลย ขอแค่เรามีความตั้งใจกับมันเท่านั้น

__________

‘Mixolocook’ อาหารที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Cocktail
โดย ‘กิติบดี ช่อทับทิม’ และ ‘สุชาดา โสภาจารี’

__________

        เมื่อบาร์ซึ่งถูกจัดอยู่ในสถานบันเทิงถูกสั่งปิดยาวอย่างไม่มีกำหนดในภาวะโควิด-19 ระบาด ทำให้อุตสาหกรรมบาร์ที่กำลังเฟื่องฟูของประเทศไทยมีอันต้องสะดุดซบเซาลงอย่างน่าเสียดาย และอาชีพบาร์เทนเดอร์ก็ได้รับผลกระทบเข้าอย่างจัง ทำให้เหล่าคนหน้าบาร์บ้างก็หาทางปรับตัวไปทำอย่างอื่นโดยจำเป็นต้องหันหลังให้กับอาชีพนี้กันชั่วคราว แต่สำหรับบาร์เทนเดอร์มือรางวัลระดับแถวหน้าของเมืองไทยอย่าง ‘กอฟ’ – กิติบดี ช่อทับทิม และ ‘ฝาเบียร์’ – สุชาดา โสภาจารี ความรักในอาชีพทำให้พวกเขาพยายามที่จะรักษาตัวตนเอาไว้ให้ได้มากที่สุด นี่จึงเป็นที่มาของ ‘Mixolocook’ อาหารที่ได้รับแรงบันดาลใจจากค็อกเทล

        • สำหรับโควิด-19 ทั้งสามระลอกที่ผ่านมา… มันเหมือนกับเราเสียทั้งบาร์และสถานที่ทำงานไปแล้ว การระบาดระลอกแรกเป็นช่วงที่ทุกคนยังตั้งตัวไม่ทัน ด้วยกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ของประเทศไทย เราโฆษณาขายออนไลน์ไม่ได้อยู่แล้ว สิ่งที่เราทำในตอนนั้นจึงคือการผสมเครื่องดื่ม แล้วให้คนอื่นๆ เอาของมาแลก มันเลยเป็นเหมือนโปรเจกต์เยียวยาตัวเอง ซึ่งมีเพื่อนๆ และคนรู้จักเอาทั้งอาหารและสินค้ามาแลกดร้ิงก์ ทำให้เรารู้สึกว่าได้รับกำลังใจกลับมามากมาย 

        • พอมาถึงระลอกที่สอง… เป็นช่วงที่เปิดบาร์ได้แต่ห้ามขายเหล้า ในช่วงนี้เราเริ่มแสวงหาหนทางอะไรหลายอย่างมาก อย่างลองขายชาและกาแฟก็ลองมาแล้ว แต่เนื่องจากเราเป็นบาร์เทนเดอร์ เราก็รู้ว่าสนามนี้มันไม่ใช่สนามของเรา เมื่อถึงจุดที่บาร์เทนเดอร์อย่างเราไม่สามารถประกอบสัมมาอาชีพของตัวเองได้ แต่เรายังไม่อยากเป็นบาริสต้า เรายังรักอาชีพนี้อยู่ เรายังอยากรักษาตัวตน ไม่อยากละทิ้งตัวเอง

        • เราได้รับโอกาสจากร้านโบ.ลาน…ให้เข้าไปใช้พื้นที่ทำบาร์ Wasteland โดยใช้วัตถุดิบที่เหลือจากครัวของโบ.ลาน การทำตรงนี้ทำให้เราทำเครื่องดื่ม Craft Soda ออกมา จนเมื่อร้านโบ.ลานต้องปิดตัวลง เราจึงต้องย้ายออก แต่กฎหมายก็ยังเป็นอุปสรรคสำหรับคนทำบาร์อย่างเรา ซึ่งไม่สามารถโฆษณาขายสุราแบบเดลิเวอรีหรือ Take Away ได้ 

        • มันทำให้เรานึกถึงความย้อนแย้ง… ของกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ถ้าเราเหล้าผสมใส่น้ำผลไม้เป็นเครื่องดื่ม ในเชิงโฆษณานี่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าเอาใส่อย่างอื่น เช่น ไก่แช่เหล้า หรืออบเป็นเค้ก แล้วบอกว่าใส่รัมหรือใส่บรั่นดีแบบนี้คือไม่ผิด สำหรับพวกเรามันคือความตลก เมื่อเอามาทำเป็นของเหลวไม่ได้ อย่างนั้นเราก็เอามาทำอย่างอื่นแล้วเรียกว่าเป็น ‘เครื่องปรุง’ ก็แล้วกัน นี่คือจุดเริ่มต้นของ ‘Mixolocook’ 

        • แม้ตอนเริ่มทำทีแรกความสามารถในการทำอาหารติดลบ… แต่โดยพื้นฐานของบาร์เทนเดอร์ เรามีทักษะในเรื่องของรสชาติ หรือ  ‘Flavour’ ทักษะในการใช้ของเหลวหมักดองอยู่แล้ว เมนูแรกที่ทำออกมาคือปลาซาบะดองแชมเปญกับส้มที่เรียกว่า ‘มิโมซาบะ’ (Mimosaba) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากค็อกเทลที่ชื่อ ‘มิโมซ่า’ (Mimosa)

        • ปลาซาบะดอง หรือ ‘ชิเมะซาบะ’…คือการทำปลาให้สุกโดยใช้กรด ซึ่งไม่ต้องใช้ความสามารถในการทำอาหารมากนัก เลยคิดว่าน่าจะเป็นไปได้สำหรับคนที่ไม่ได้มีทักษะการทำอาหารมากนักอย่างเรา แต่เราใช้ทักษะของบาร์เทนเดอร์ปรับส่วนผสมอย่างแชมเปญแทนน้ำส้มสายชู และเพิ่มกรดจากส้มเข้าไปจึงออกมาเป็นเมนูนี้ ซึ่งกว่าที่จะออกมาโอเคก็ลองผิดลองถูกมาเยอะเหมือนกัน แต่หลังจากที่ลองขายก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก คนสั่งจองกันเต็มทุกครั้งที่เราเปิดพรีออเดอร์ 

        • หลังจากนั้นจึงได้นำเมนูนี้มาต่อยอด… เป็นข้าวหน้าหน้ามิโมซาบะ และข้าวกดซาบะดอง (ซึ่งทางร้านเรียกแบบเล่นๆ ว่า ‘ข้าวกดโกรธมิโมซาบะ’)  เมื่อมีเมนูปลาแล้วเราได้พัฒนาเมนูอื่นออกมาอีกอย่างหมูแดงเนโกรนี จานนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากคลาสสิกค็อกเทลอย่าง ‘เนโกรนี’ (Negroni) ซึ่งมีส่วนผสมอย่างคัมปารี แทนการหมักหมูด้วยเครื่องเทศ แล้วก็ทำเครื่องเคียงเป็นผักดอง อย่างถั่วลิสงนัวเนโกรนี และแรดิชดอง Bianco Vermouth ฯลฯ 

        • ตอนนี้เรากำลังทดลองความเป็นไปได้หลายๆ อย่างอยู่… จะให้บอกว่าเป็นอาหารอะไรต่อไปก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกัน ต้องทดลองทำจนได้ที่โอเคออกมาก่อน แต่พื้นฐานของเราจะวางเหมือนเป็นดริงก์ลิสต์ อย่างรอบหน้าอาจจะเจออาหารที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโอลด์แฟชันด์, มาร์การิต้า หรือบลัดดี้แมรีก็ได้

        • สำหรับเรามันก็คือการเอาของเหลวมาเปลี่ยนสถานะ… เปลี่ยนจากเสิร์ฟค็อกเทลด้วยแก้วเป็นอาหารในจาน มันเป็นวิธีที่เราจะรักษาตัวตนของเราเอาไว้ 

        • เราต่อยอดจากสิ่งที่ตัวเองมี… เราปลดล็อกความสามารถเรียนรู้ให้มีความเข้าใจในเรื่องของอาหารมากขึ้น โดยที่ยังไม่ได้ทิ้งอาชีพและตัวตนของตัวเอง สิ่งที่ได้รับมาเพิ่มเติมคือความสามารถในการทำอาหารและปรับใช้วัตถุดิบ ซึ่งหมายความว่าถ้าสถานการณ์โควิดกลับมาปกติ เราก็สามารถนำตรงนี้ไปต่อยอดได้ต่อในอนาคตหลังจากโควิดผ่านไป… เราอาจจะทำ Batender Table เสิร์ฟอาหารที่ทำโดยบาร์เทนเดอร์ทั้งหมดออกมาก็ได้ 

 

Lesson Learned

        • สิ่งที่ได้จากตรงนี้คือการที่เริ่มคิดจากศูนย์… จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทุกคนถูกบังคับให้ต้องรีเซตจากศูนย์ใหม่ เพราะว่าบาร์ก็เปิดไม่ได้ตั้ง 8 เดือนแล้ว ขายเดลิเวอรีเราก็ทำไม่ได้เพราะข้อจำกัดของกฎหมาย แล้วเราจะสื่อสารออกไปยังไงว่าเรายังอยู่ตรงนี้ ยังทำในสิ่งที่เป็นตัวตนอยู่ เราไม่ได้ทิ้งตัวตนของเราออกไป แต่มันจะเปลี่ยนรูปแบบไป ถ้าเราไม่ยอมแพ้เราก็หาหนทางจนได้ 

        • ทดลองความเป็นไปได้… ถึงจะล้มเหลวในกระบวนการก็เป็นเรื่องปกติ อย่างการจะทำออกมาได้แต่ละเมนูก็ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้แต่แรก อย่างเวลาที่เราทดลองทำออกมาแล้วใช้ไม่ได้ ก็จะบังคับตัวเองให้กินของที่ทำเสียเพื่อเป็นการเตือนให้ตัวเองจดจำความผิดพลาด และไม่ยอมปล่อยให้พลาดซ้ำ ในที่สุดเราก็จะหาวิธีทำมันจนสำเร็จ


FYI

        • ไส้กรอกอีสาน ‘ลูกอีสาน’ มีวางจำหน่ายแบบแช่แข็งในริมปิงซูเปอร์มาร์เก็ต จ.เชียงใหม่ทั้ง  5 สาขา 1) สาขามีโชคพลาซ่า 2) สาขาสะพานนวรัฐ 3) สาขาพรอมเมนาดา 4) สาขานิมซิตี้ 5) สาขากาดฝรั่ง และเปิดรับพรีออร์เดอร์เดือนละครั้งที่เฟซบุ๊ก Look Isaan ลูกอีสาน อาหารจริงใจ, อินสตาแกรม @lookisaander ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่โทร. 09-6228-9142 หรืออีเมล [email protected] 
        • MJ Coffee x Home Cafe ดูเมนูและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก MJ Coffee x Home Cafe หรือโทร. 08-6405-4249 และสั่งซื้อผ่านแอพพลิเคชัน Robinhood
        • Mixolocook ดูเมนูและสั่งจองรอบพรีออเดอร์ได้ทางเฟซบุ๊ก: Mixolocook, อินสตาแกรม Mixolocook หรือโทร. 09-1151-5171
      
ภาพ: มาเรียม บุญมาลีรัตน์, อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา และ ทรรศน หาญเรืองเกียรติ