bullying

SPEAK OUT, STAND TALL, STOP BULLYING | สร้างความเข้าใจ เรียนรู้ และช่วยกันป้องกันคนที่เรารักจากการโดนกลั่นแกล้ง

การเล่นกลั่นแกล้งกันของเด็กนั้นมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย และกำลังจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ได้หยุดอยู่แค่การแอบดึงผมเปีย หรือแกล้งล้อให้อับอายอีกต่อไป และความคึกคะนองของผู้กระทำก็จะส่งผลไปยังผู้โดนกระทำให้รู้สึกเจ็บปวดจนฝังลึกลงไปในหัวใจ ซึ่งจะทำลายทั้งชีวิตของคนคนนั้น และคนรอบข้าง เหมือนกับในเหตุการณ์ต่างๆ ที่น่าสลดใจ และไม่สามารถแก้ไขความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้

แต่เราสามารถช่วยกันป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนั้นเกิดขึ้นกับคนที่รักได้ ถ้าพวกเราร่วมมือกันสร้างความเข้าใจทั้งกับตัวเอง และเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นลูก หลาน หรือน้องๆ ที่รู้จัก เพื่อให้รู้ว่าการกลั่นแกล้งแม้แต่ทางวาจา หรือการโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดียนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำให้ใครเสียใจ และพร้อมรับมือกับความรุนแรงที่ถาโถมเข้ามาได้อย่างทันท่วงที

ิีbullying

 

Cyberbullying

     การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันมีการเติบโตอย่างมหาศาล ซึ่งจากข้อมูลของเว็บไซต์ WeAreSocial สำรวจมาพบว่า มีประชากรทั้งหมด 3,200 ล้านคนในตอนนี้ที่เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5.5% ต่อปี นั่นหมายถึงแรงขับเคลื่อนมหาศาลที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็จะง่ายดายขึ้นกว่าเมื่อก่อน

     จากแต่เดิมที่การใช้งานอินเทอร์เน็ตต้องซื้อแพ็กเกจรายชั่วโมงหรือแบบเหมาจ่าย และรับยูสเซอร์กับรหัสผ่านไปลงชื่อเข้าใช้งาน ผ่านการเชื่อมต่อทางโทรศัพท์บ้าน ต่อมาก็พัฒนาเป็นระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และเป็นการเชื่อมต่อแบบไร้สายผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออย่างที่เราใช้กันอยู่จนเคยชิน

     เมื่อการเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตง่ายและสะดวกขึ้น นั่นหมายความว่าใครก็สามารถท่องโลกไซเบอร์สเปซได้ทันที ไม่เว้นแต่เด็กๆ ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และการรับมือกับภัยมืดที่แฝงตัวอยู่ในโลกออนไลน์ อัตราเสี่ยงที่จะทำให้พวกเขาถูกกลั่นแกล้งจากผู้ไม่หวังดี รวมถึงจากคนใกล้ตัวที่โรงเรียนก็มากขึ้นตามไปด้วย

     “ที่ประเทศญี่ปุ่นเขาประสบความสำเร็จในการป้องกันลูกหลานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของ cyberbullying จากการที่พ่อแม่ช่วยกันสร้างความเข้มแข็งขึ้นในใจลูก โดยช่วงวัยของเด็กที่สำคัญที่สุดคือ ช่วงแรกเกิดถึง 12 ปี เขาใช้วิธีกอด บอกเด็กๆ ว่าพวกเขาน่ารัก มีตัวตน เป็นคนสำคัญของพ่อแม่ พยายามหาคุณค่าในตัวลูกแล้วเอ่ยคำชม เพราะเมื่อเด็กรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า เขาก็จะรักตัวเอง” ผศ. ดร. วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง cyberbullying สาขาวิชาสังคมศาสตร์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกถึงแนวทางในการเลี้ยงดูบุตรหลานในยุค 4.0 นี้

     ในโลกออนไลน์ที่ใครจะมีสิทธิ์โพสต์หรือแสดงความเห็นอะไรก็ได้ คำพูดเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจทำให้เกิดการกระทบกระทั่งและกลั่นแกล้งกันจนเป็นเรื่องราวใหญ่โต โดยเฉพาะในหมู่ของวัยรุ่นที่อาจใช้อินเทอร์เน็ตโดยขาดวิจารณญาณ จนเป็นภัยอันตรายต่อผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว

     รศ. นพ. ชาญวิทย์ พรนภดล ได้ให้ความหมายของคำว่า cyberbullying อย่างเข้าใจง่ายไว้ว่า “เป็นการกลั่นแกล้งกันอย่างรุนแรงในโลกไซเบอร์ มักพบในกลุ่มเด็กวัยเรียน โดยมีเจตนาต้องการให้เพื่อนอับอาย เสียหน้า เสียชื่อเสียง เสียเพื่อน และไม่ได้รับการยอมรับ”

     การกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์นั้นมีหลายวิธี เช่น สร้างเพจปลอม และใส่ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงของเพื่อนเพื่อให้คนอื่นเข้าใจผิด หรือตัดต่อภาพอย่างไม่เหมาะสม เป็นต้น

 

Ways to teach your kids about internet safety

     ตัวอย่างเหตุการณ์การกลั่นแกล้งกันในโลกไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและวิธีการแก้ไขที่น่าสนใจ เช่น การพูดคุยกันระหว่างพ่อแม่และลูกถึงเรื่องของการท่องโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป เราสามารถชวนลูกคุยตามปกติเหมือนที่คุยกันทุกวัน อาจชวนคุยตั้งแต่เรื่องทั่วๆ ไป เพื่อให้ลูกได้แบ่งปันเรื่องราว ยาวไปจนถึงการเข้าเว็บไซต์ต่างๆ ที่น่าสนใจ ทั้งดูหนัง ฟังเพลง หรือการท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจพร้อมอธิบายรายละเอียดต่างๆ ให้ฟัง

     เด็กที่กลั่นแกล้งคนอื่น: หากรู้ว่าลูกเป็นฝ่ายกระทำ ควรบอกลูกถึงผลลัพธ์ที่ตามมาจากการกลั่นแกล้งเพื่อน รวมถึงความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ และกฎหมายอื่นๆ ที่อาจมีโทษตั้งแต่ถูกปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจนถึงติดคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

     เด็กที่ถูกกลั่นแกล้ง: แนะนำลูกว่าอย่าเพิ่งโต้ตอบ เพราะเด็กจะเปลี่ยนสถานะจากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกลายเป็นคู่ต่อสู้ ซึ่งอาจทำให้ถูกตัดสินว่ามีความผิดทั้งคู่ได้ แต่ให้บอกลูกว่า อย่าไปยอมทนเก็บไว้คนเดียว ให้รีบบอกครูหรือพ่อแม่ และอธิบายเขาว่าไม่ใช่การฟ้อง แต่เป็นการช่วยหยุดเรื่องที่ไม่ดีนี้ด้วยกัน

     เด็กที่พบเห็นการกลั่นแกล้ง: พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นตั้งแต่เล็กๆ และไม่ไปซ้ำเติม หรือมีส่วนร่วมในการกลั่นแกล้งเพื่อนไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง และเมื่อเห็นว่าเพื่อนถูกแกล้งให้รีบบอกครู

 

bullying

 

Playground of Violence

     แต่เดิมมีความเชื่อว่า เด็กอันธพาลมักจะมีพ่อแม่หรือผู้ปกครองเป็นคนที่มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม เด็กมีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย หรือใช้วาจาหยาบคายผิดสังเกต เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองไร้อำนาจ ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว หรือเห็นแม่ตัวเองถูกพ่อกระทำ เขาจะมาโรงเรียนเพื่อแสดงอำนาจกับเพื่อนๆ และจะยิ่งเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น โดยวิธีการทำตัวเหลวไหล เลวร้าย หรือทำความรุนแรงมักจะเป็นการเรียกความสนใจจากครูได้ง่ายที่สุด

     ความเชื่อแบบใหม่เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งรังแก มองถึงอิทธิพลทางสังคมต่อเด็กมากกว่า โดยเด็กที่เป็นผู้กระทำอาจจะไม่ทันคิดว่าตัวเองทำผิดอะไร ในสภาพสังคมที่เด็กมาอยู่รวมกันเยอะๆ ตามธรรมชาติแล้วเด็กแต่ละคนจะพยายามแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของตัวเอง ยิ่งสังคมมีความรู้สึกต่อตำแหน่งและระดับชั้นมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เด็กต้องพยายามแสดงออก ยิ่งแตกต่าง และต้องมีความเหนือกว่า เขาจึงแสดงอำนาจของตนว่าเหนือกว่าคนอื่น

     เด็กส่วนใหญ่เมื่อต้องออกจากอ้อมอกของครอบครัว เข้าไปอยู่ในโรงเรียนตลอดวัน จะรู้สึกไม่มั่นคงทั้งทางอารมณ์และร่างกาย เด็กที่แข็งแรงจึงมีโอกาสจะมองหาเพื่อนที่ดูอ่อนแอกว่ามาเป็นเหยื่อในการแกล้ง โดยที่เขาคิดว่าเป็นการสวมบทบาทเล่นกัน เป็นพระเอกผู้ร้าย หรือหัวหน้าลูกน้อง โดยไม่ทันคิดถึงเรื่องการเหยียดสีผิว เหยียดเพศ หรือศาสนา

     มีแค่บางกรณีไม่เท่านั้นที่เด็กมีปัญหาจิตใจมาจากทางครอบครัว เด็กจดจำรูปแบบการใช้ความรุนแรงทั้งทางกายและวาจามาจากพ่อแม่ที่บ้าน เด็กกลุ่มนี้จึงจำเป็นจะต้องได้รับการสั่งสอนจากนักบำบัดหรือครูที่ปรึกษา ให้รู้จักควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม เพื่อจะได้รู้วิธีการเข้าสังคมกับเพื่อนอย่างถูกต้องเหมือนคนอื่น

 

Preventing Violence in Schools

     – ใส่ใจปัญหาการกลั่นแกล้งเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่มองว่าเด็กล้อเล่นกันสนุกๆ ตลกๆ แต่ในมุมมองของตัวเด็กเอง โดยเฉพาะตัวผู้ตกเป็นเหยื่อ จะเจ็บปวด วิตกกังวล และนำไปสู่ปมเจ็บป่วยทางจิตใจในระยะยาว

     – สอนให้เด็กปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างให้ความเคารพ ให้บทเรียนเกี่ยวกับการยอมรับความแตกต่างและเท่าเทียมของสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา เพศ ฐานะทางเศรษฐกิจ และระดับความสามารถ ฯลฯ

     – ชมเชยและส่งเสริมพฤติกรรมที่ถูกต้อง เมื่อพบเห็นเด็กที่ช่วยเหลือผู้อื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนจากการตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้ง

     – พยายามหลีกเลี่ยงการลงโทษด้วยกฎระเบียบและวิธีการรุนแรง เพราะนั่นจะยิ่งไปตอกย้ำและผลิตซ้ำความรุนแรงในกลุ่มเด็กเพิ่มขึ้น

 

ิีbullying

 

Stop Bullying at Work

     การแข่งขันชิงดีชิงเด่นในการทำงานเป็นผลดีในการผลักดันองค์กรให้คืบหน้าไป แต่ถ้ามันกลายเป็นการเมืองในออฟฟิศ และมีระดับความขัดแย้งที่มากเกินไป จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานหมดขวัญกำลังใจ เพราะรู้สึกว่าได้รับผลตอบแทนเป็นเงินหรือเลื่อนขั้นแบบไม่ยุติธรรม ทำให้รู้สึกเสียหน้าหรือพ่ายแพ้ งานที่คุณรักและออฟฟิศในอุดมคติ อาจจะกลายเป็นนรกสำหรับคุณได้เลย ถ้าบังเอิญไปเจอออฟฟิศที่เล่นการเมืองกันหนักๆ มีความขัดแย้งและความรุนแรงที่กระทำโดยหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงานของคุณ บูลลีในโรงเรียนอาจจะมีรูปแบบเหมือนการเล่นกันตอนพักเที่ยง แต่บูลลีในที่ทำงานจะแฝงเนียนๆ ไปในการทำงานและความสัมพันธ์ในที่ทำงานทุกด้าน

     พวกบูลลีในที่ทำงานจะไม่ได้ใช้กำลังทำร้าย แต่มุ่งไปที่การสร้างความอับอาย ความอายเป็นจุดอ่อนของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่ใช่ครอบครัวเดียวกัน แต่ต้องมาอยู่ร่วมกันในสังคมแบบที่ทำงาน เหยื่อจะถูกทำให้รู้สึกเสียหน้า โกรธ เครียด วิตกกังวล กลัว ต่อหน้าคนอื่น

 

Dealing With Difffiicult People at Work

     เมื่อถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน คุณจะต้องลุกขึ้นต่อสู้และต่อรองให้เร็วที่สุด อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปเนิ่นนาน เพราะจะยิ่งทำให้สถานะในการทำงานและผลงานของคุณย่ำแย่ตกลงไปจนถึงจุดที่ต่อสู้หรือต่อรองอะไรไม่ได้แล้ว

     ในที่ทำงาน กระแสอำนาจไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดคงที่ ส่วนใหญ่แล้วมันขึ้นอยู่กับสถานภาพของคุณเองต่อหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานคนอื่น ว่ามีผลงานดีแค่ไหน มีความสัมพันธ์ดีกับคนมากแค่ไหน ถ้าคุณสามารถแสดงผลงาน และสร้างพรรคพวกให้อยู่เข้าข้างได้ คุณจะปลอดภัยมากขึ้น

     เหตุการณ์สมมติ ถ้าคุณไปประชุมกับลูกค้าแล้วล้มเหลวกลับมา พวกบูลลีอาจจะจัดการประชุมในวันรุ่งขึ้น โดยนำความล้มเหลวของคุณมาเป็นประเด็นหลัก ขอให้คุณลุกขึ้นพูดด้วยความหนักแน่น โดยใช้ภาษากายและคำพูดที่ชัดเจน เพราะจะเสริมสร้างให้คุณมีความมั่นใจในตัวเอง และจะทำให้คนที่มาบูลลีคุณรู้สึกเกรงกลัว และไม่กล้าใช้คำที่รุนแรงกับคุณอีก

 

Self-Esteem and Bullying

     หยุดการกลั่นแกล้งรังแกกันด้วยความมั่นใจในตัวเอง ความกลัวเป็นพิษร้ายที่ฝังใจผู้ถูกแกล้ง และเป็นอาวุธสำคัญของผู้กระทำ ยาถอนพิษความกลัว ก็คือความมั่นใจในตัวเอง ความมั่นใจให้พลังงาน มันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความกล้าหาญ ราล์ฟ วัลโด อีเมอร์สัน ให้ทางออกกับเราว่า “ทำในสิ่งที่คุณกลัว แล้วความกลัวจะตายจากคุณไป”

     คนส่วนใหญ่ยอมตกอยู่ในสภาพโดนบูลลี เพราะความกลัวหลายด้าน ด้านหนึ่งคือกลัวที่จะต้องเผชิญหน้ากับอันธพาล การลุกขึ้นต่อสู้เพื่อตัวเอง ด้วยการพูดออกไปว่าคุณไม่พอใจ จะเป็นการหยุดอันธพาลได้ และอีกด้านหนึ่ง ก็คือความกลัวว่าจะโดนปฏิเสธจากกลุ่ม เราไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง จึงต้องเข้าไปเป็นส่วนร่วมของกลุ่มใหญ่ แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มใหญ่นั้นก็เบียดขับเราออกมา หรือลงมือกระทำรุนแรงกับเรา ความรู้สึกหวั่นไหวเกินไปต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่ม จะทำให้เรายอมจำนนกับความรุนแรง หลักการก็คือการมีความมั่นใจในตัวเอง

     น่าแปลกใจนักที่หลายคนยอมทนสถานการณ์ความรุนแรง เพียงเพราะว่าเขามัวห่วงกังวลว่าคนอื่นๆจะวิจารณ์กันอย่างไร เมื่อถึงที่สุดแล้ว เขารวบรวมความกล้าแล้วเดินออกมาจากกลุ่ม ออกจากเกมแห่งอำนาจนั้นมา เขามักจะแปลกใจว่าความรุนแรงได้หายไป และที่ผ่านมาเขาทนอยู่กับความรุนแรงนั้นได้อย่างไร

     การกลั่นแกล้งรังแกกลายเป็นจริงเป็นจังระหว่างเหยื่อและผู้ถูกกระทำ เพราะทั้งสองฝ่ายมองว่ามันจริงจัง แต่ถ้าเราคิดเสียว่าเป็นเกม ทุกคนเลิกได้ และเดินออกจากความรุนแรงนั้น เงื่อนไขทุกอย่างก็จบสิ้นลงทันที ไม่ว่าจะในโรงเรียน ในที่ทำงาน ในชีวิตประจำวัน และถึงแม้จะเป็นเพียงในโลกเสมือน