ย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน ศิลปะบนกำแพงอย่างกราฟฟิตีและสตรีทอาร์ตยังไม่เป็นที่เข้าใจของคนไทยมากเท่าไรนัก อาจเป็นเพราะข้อความหรือรูปวาดจากใครสักคนนั้นไม่สามารถสร้างความเข้าใจใดๆ ให้กับผู้พบเห็นได้ สุดท้ายสิ่งที่เหลือไว้กลายเป็นร่องรอยความเปรอะเปื้อนที่เต็มไปด้วยความขบถติดค้างอยู่บนผนังหรือกำแพงเก่าตามที่ต่างๆ
Grafffiiti เป็นคำศัพท์ที่มาจากภาษากรีก คือ Graphein แปลว่าการเขียน ดังนั้น กราฟฟิตีก็คือ การเขียนตัวอักษรลงบนผนัง และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฮิปฮอป จนเมื่อปี ค.ศ. 1969 มีเด็กหนุ่มชาวกรีกคนหนึ่งได้เซ็นชื่อแท็กของตัวเอง Taki 183 ลงไปตามรถไฟใต้ดินแถบแมนฮัตตันพร้อมตัวเลข ก่อนจะกลายเป็นประเพณีที่ทำต่อๆ กันมา แต่ก็ถือว่าผิดกฎหมายอยู่ดี
ส่วนสตรีทอาร์ต คือการสร้างสรรค์งานศิลปะลงบนผนังหรือกำแพงในพื้นที่สาธารณะ เน้นความสวยงามมากกว่าการเสียดสี แต่จริงๆ ก็มีความแสบสอดแทรกไว้เสมอ อย่างงานที่คุ้นตาพวกเราก็คือผลงานของ Alex Face กับคาแร็กเตอร์หน้าเด็กสามตาที่ผสานเนื้อหาเสียดสีสังคมนิดๆ ใส่มุกขบขันเข้าไปหน่อยๆ ทำให้งานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะนี้ไม่รุนแรง แถมยังน่ารักอีกด้วย
ปัจจุบันสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีเข้ามามีบทบาททางด้านการสื่อสารต่อผู้คนมากขึ้น ก่อนจะมีสถานะเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งของเมือง ที่เชื่อมโยงวัฒนธรรม สังคม ศาสนา การเมืองของท้องถิ่นได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับศาสตร์แขนงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนอดีต บอกเล่าปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งบทบาทในการชี้นำทิศทางของผู้คนในอนาคต เราจึงขอเสนองานสตรีทอาร์ตจาก 7 ประเทศ 2 เมือง 1 ดินแดน ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและเรื่องเล่าของสตรีทอาร์ตสุดเข้มข้น เพื่อยืนยันให้เห็นว่า ศิลปะแขนงนี้ได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ บางอย่างให้กับสังคมได้ไม่มากก็น้อย
Egypt
อียิปต์เป็นหนึ่งในประเทศที่เก็บเกี่ยวความทรงจำผ่านสตรีทอาร์ต โดยเฉพาะช่วงปี ค.ศ. 2011 หลังเหตุการณ์ Arab Spring ปรากฏการณ์ปฏิวัติครั้งใหญ่แห่งโลกอาหรับ ที่ประชาชนจำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วง ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย โค่นล้มผู้นำเผด็จการในหลายประเทศ แต่กลับเกิดอาการที่เรียกว่าแสร้งลืมของชาวอียิปต์ เพราะคิดว่านี่คือหนทางที่ง่ายที่สุดต่อการรับมือกับสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น แต่แล้วคลื่นลูกใหม่หลังยุคอาหรับสปริงต่างพยายามต่อต้านการลืมเหล่านั้น โดยเก็บบันทึกทุกสิ่งอย่างไว้ในทุกพื้นที่ อาศัยเครื่องมือสำคัญก็คือ ‘โซเชียลมีเดียและกราฟฟิตี’
ขบถเล็กๆ เหล่านี้กลายเป็นตัวจุดประกายให้สตรีทอาร์ตในอียิปต์เติบโตขึ้นชนิดที่ชาวเมืองไม่เคยพบเห็นมาก่อน ซึ่งเห็นได้จากภาพสเตนซิลแสดงการล้มตายของนักกิจกรรม ภาพเขียนเกี่ยวกับกลุ่มเผด็จการบนพื้นผิวผนังรอบจัตุรัสทาห์รีร์
ต่อมามีการกวาดล้างผู้ประท้วงอย่างรุนแรง เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้งานศิลปะที่ถูกปลุกกระแสขึ้นมาเงียบลงไประยะหนึ่ง ในขณะที่กำแพงมหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งไคโรถูกทาสีทับ และบางส่วนถูกทำลาย เหลือแค่ไม่กี่ภาพเท่านั้นที่ยังอยู่ เช่น ภาพพอร์เทรตของ Ammar Abo Bakr นักกราฟฟิตีชื่อดังชาวอียิปต์ ถึงจะลบศิลปะไปจนหมด แต่ก็ไม่สามารถลบล้างความตั้งใจที่จะสร้างงานเพื่อเก็บและส่งต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงออกไปสู่โลกภายนอกได้
Colombia
เช่นเดียวกับความขัดแย้งที่สะสมมานานหลายทศวรรษในประเทศโคลอมเบีย ประวัติศาสตร์ชาติซึ่งเต็มไปด้วยวิกฤตการเมือง คอร์รัปชัน ถูกบันทึกไว้ในรูปแบบของสตรีทอาร์ตอย่างเข้มข้น ยิ่งทางเมืองโบโกตายื่นเรื่องนิรโทษกรรมงานสตรีทอาร์ตที่เคยผิดกฎหมายแบบสุดซอยชุดใหญ่ ทำให้ประชาชนและชาวต่างชาติมีโอกาสได้เห็นงานดีๆ มากขึ้น
ทั้งงานสเตนซิลของ Toxicomano กลุ่มศิลปินที่มีผลงานแสดงออกถึงการต่อต้านลัทธิทุนนิยมและจักรวรรดินิยม ที่ทำร่วมกับ Lesivo, DJ Lu และ Guache สื่อถึงใบหน้าของคนไร้บ้านจากกรณีอื้อฉาวไม่กี่ปีก่อน เมื่อทหารล่อลวงประชาชนยากจนออกไปนอกเมืองด้วยข้ออ้างว่าจะหางานให้ทำ แต่กลับกลายเป็นเหตุฆาตกรรมหมู่ครั้งใหญ่ มีการจับเหยื่อแต่งตัวใหม่ด้วยชุดเสื้อผ้าแบบกลุ่มกบฏ และเสนอข่าวว่าเป็นกองโจรที่เสียชีวิตขณะปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ ภาพระเบิดมือที่ทิ้งในชนบทของโคลอมเบีย ภาพถุงเงินและหมวกคนทำเหมือง เล่าถึงการผูกขาดของนายทุนที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง
ธรรมชาติของศิลปะบนผนังไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ประทับใจทุกคน ข้อความที่แฝงอยู่อาจถูกจริตคนกลุ่มหนึ่ง แต่กลับทิ่มแทงใจสำหรับผู้ที่อยากให้ลืม ไม่ต้องการให้ขุดคุ้ยรื้อฟื้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะได้เห็นการต่อสู้ระหว่างคนสองฝ่ายผ่านงานสตรีทอาร์ต ระหว่างฝ่ายผลิต จดเก็บเป็นประวัติศาสตร์ลงผิวคอนกรีต ผลักดันให้ศิลปะกลายเป็นกระบอกเสียง เรียกร้องความยุติธรรม และฝ่ายตามลบ กลบทุกอย่างให้สิ้น แต่ดูเหมือนยิ่งถูกทำลายไปมากแค่ไหน ก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ผลิตงานใหม่ขึ้นมาสู้อยู่เรื่อยๆ
Puerto Rico
เปอร์โตริโก ดินแดนเกาะในเครือรัฐของสหรัฐอเมริกา มีการนำเสนอประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้บนกำแพงผ่านซานฮวน เมืองหลวง โดยเฉพาะในย่านที่ครั้งหนึ่งเคยถูกปล่อยรกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่าง Santurce ในสมัยที่กระแสกราฟฟิตียังไม่ได้รับความนิยม จนเมื่อปี ค.ศ. 2010 ได้มีการจัดเทศกาลสตรีทอาร์ต Santurce es Ley (Santurce is law) ขึ้นในซานฮวน และที่แห่งนั้นได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางใหม่สำหรับแฟนงานอาร์ตและนักพ่นจากทั่วทุกมุมโลก
ผลงานที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเมืองอย่างภาพของ El Basta ชื่อว่า A Journey with More Shipwrecked than Sailors เป็นชื่อที่ได้จากหนังสือ Open Veins of Latin America เขียนโดย Eduardo Galeano แสดงถึงเรือสามลำของนักสำรวจชาวอิตาเลียน คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส อันได้แก่ Nina, Pinta, Santa Maria ที่ออกเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในปี ค.ศ. 1492 พร้อมลูกเรือเก้าสิบคน จนค้นพบดินแดนซึ่งเป็นเปอร์โตริโก จาเมกา ตรินิแดด และเวเนซุเอลา ในปัจจุบัน รวมทั้งลายเส้นรูปศพที่ก่ายกองและภาพทะเลสีเลือดกว้างไกลเล่าถึงยุคสมัยอันรุ่งเรืองแห่งการล่าอาณานิคม นำมาสู่การตักตวงผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นมากมาย ว่ากันว่าหลังจากเทศกาลสตรีทอาร์ต ราวปี ค.ศ. 2014 เป็นต้นมา สตรีทอาร์ตเปอร์โตริกันได้ซ่อนความหมายด้านการเมืองไว้อย่างหนักหน่วง
Taiwan
ไต้หวันเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในวงการศิลปะที่ได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นระบบจนเฟื่องฟู แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเก็บรักษาเรื่องราวของบ้านเมืองไว้ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะที่ Treasure Hill Artist Village
เดิมเป็นหมู่บ้านที่อยู่กันอย่างแออัด ก่อนที่จะค่อยๆ ถูกตัดขาดจากส่วนอื่นของเมือง สู่ปัญหาตั้งบ้านเรือนผิดกฎหมาย ถึงอย่างนั้นการแก้ปัญหาระหว่างคนท้องถิ่น กลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ กับรัฐบาลนั้นน่าสนใจและเต็มไปด้วยความน่ารัก คือการใช้ศิลปะกราฟฟิตีมาช่วยพัฒนาย่านเสื่อมโทรมให้กลายเป็นแหล่งสร้างสรรค์ผลงาน แทนที่จะทุบทำลาย รื้อไล่ทิ้งไปเฉยๆ เหมือนที่เคยเห็นในหลายเมือง สิ่งนี้กลับเพิ่มคุณค่ากลายเป็นบทบันทึกที่มีชีวิตร่วมสมัยของสังคม ด้วยการส่งเสริมให้แหล่งการเรียนรู้เชิงศิลปะและประวัติศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำซินเตี้ยน ดัดแปลงมาจากหมู่บ้านทหารจีนก๊กมินตั๋งที่ย้ายข้ามช่องแคบเข้ามาหลังแพ้สงครามกลางเมืองบนแผ่นดินใหญ่เมื่อเจ็ดสิบปีก่อน
ท้ายสุดเป็นกลายมาเป็นหมู่บ้านศิลปิน ชุมชนเล็กๆ ศูนย์รวมของคนสร้างงาน คนดูงาน และผลงานไว้ด้วยกัน มีงานกราฟฟิตี เวิร์กช็อปต่างๆ ทั้งเกี่ยวและไม่เกี่ยวกับสตรีทอาร์ตมากมายจากหลายศิลปินหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันตลอดปี บ้านหลายหลังถูกแบ่งให้ศิลปินมาเช่าอยู่เพื่อหาแรงบันดาลใจสร้างงาน บางบ้านเปิดเป็นร้านอาหารโฮมเมด ร้านกาแฟ โฮสเทล โดยคงเอกลักษณ์เป็นตัวอาคารปูนเปลือยฉบับดั้งเดิมลดหลั่นตามระดับเขา
Williamsburg, America
ศิลปะข้างถนนนี้มีไว้เพื่อสะท้อนตัวตนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของผู้คน ทั้งยังเป็นตัวกลางที่ช่วยสืบสานและเชื่อมโยงอดีตที่อาจจะตกค้างอยู่ในรูปของทัศนคติ ธรรมเนียมปฏิบัติ ค่านิยมต่างๆ ของชาวเมืองอย่างชุดภาพวาดจากโครงการ Human Tribe Series ที่กระจายอยู่ทั่วไปในย่านวิลเลียมเบิร์ก เมืองนิวยอร์ก เป็นผลงานของศิลปิน Jorit Agoch ชาวอิตาเลียนวัย 27 ปี กับภาพใบหน้าผู้คนมากมายหลายเชื้อชาติทั้งหญิงชาย เขาตั้งใจสื่อให้เห็นถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของมนุษยชาติที่ก่อเกิดขึ้นเป็นนิวยอร์ก เป็นสหรัฐอเมริกาอยู่ทุกวันนี้
ส่วนรูปที่เป็นที่รู้จักมากสุดในหมู่นักท่องเที่ยว คือภาพเด็กชายลูกครึ่งอิตาเลียนจาเมกานามว่า ‘คามิโล’ วาดในปี 2015 รวมไปถึงภาพแก๊งเด็กที่ยืนเงยหน้ามองสายรุ้งแถวย่านบรูคลิน จากศิลปินสเตนซิลสองพี่น้องชาวอิหร่านชื่อ Icy & Sot เพื่อสื่อถึงความสุขของคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเสรีภาพ เหมือนกับที่เขาทั้งสองได้รับเมื่อมาอยู่ดินแดนแห่งนี้
Stavanger, Norway
ข้ามไปสำรวจโซนยุโรป กับพลังของสตรีทอาร์ตกันที่ประเทศนอร์เวย์ ณ สตาวังเงร์ เมืองท่าเก่าแก่ริมทะเลและศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเลียมขุดเจาะน้ำมัน อู่ต่อเรือ รวมทั้งธุรกิจผลิตปลากระป๋องรายใหญ่
โดยในปี ค.ศ. 2001 ชาวเมืองจะยกกำแพงบ้านของตัวเองให้แก่ศิลปิน ไม่มีใครรู้ว่านักพ่นจะสร้างรูปอะไร หรือมีแนวคิดแบบไหน แต่ไม่ว่าผลงานจะออกมาเป็นอย่างไร ทุกภาคส่วนล้วนเห็นพ้องต้องกันให้จัดแสดงภาพนั้นไว้หนึ่งปี ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นในท้องถิ่น จนกลายมาเป็นงาน NUART Festival เทศกาลศิลปะนานาชาติประจำปีที่จัดขึ้นทุกเดือนกันยายน
นอกจากนี้บริเวณหลังโรงแรม Scandic Stavanger City มีงานเด่นๆ อยู่เพื่อสื่อถึงเรื่องราวในปัจจุบัน อย่างภาพวาฬสีขาวดำที่ถูกเฉือนเป็นชิ้นๆ เห็นเลือดแดงฉาน ผลงานของ ROA ซึ่งเล่าถึงประเพณีการล่าวาฬของนอร์เวย์ที่มีมาเนิ่นนาน ท่ามกลางกระแสต่อต้านรุนแรงจากกลุ่มอนุรักษ์ทั่วโลก
ส่วนอีกรูปที่น่าสนใจอยู่ในย่าน Storhaug กับภาพ Monument to a Disappearing Monument ที่วาดอยู่บนไซโลสูง 36 เมตร ของ Fintan Magee เป็นรูปวาดคนงานในแท่นขุดเจาะน้ำมัน เชื่อมโยงถึงการพึ่งพาธุรกิจน้ำมันเป็นหลักของสตาวังเงร์ และราคาน้ำมันโลกที่ตกลงจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเมืองไปช่วงหนึ่ง ในขณะที่ข้างๆ กันเป็นรูปของชายคนเดิมค่อยๆ แตกเป็นเสี่ยงๆ เพื่อสื่อถึงความผันผวนไม่แน่นอน
Japan
ญี่ปุ่น ประเทศแห่งความเจ้าระเบียบและความเคร่งครัดที่ดูแล้วไม่น่าจะมีกราฟฟิตีที่แพร่หลายเท่าไร แต่เอาเข้าจริงกลับเป็นเวทีประชันฝีมือของศิลปินมากมาย ด้วยระบบการดูแลให้ความร่วมมือที่ดีจากภาครัฐ ย่านวัยรุ่นและศูนย์กลางธุรกิจอย่างชิบุยะหรือฮาราจูกุเอง ก็มีรูปที่สะท้อนรากเหง้าและสื่อถึงความผสมผสานทางวัฒนธรรมซุกซ่อนตัวอยู่หลายแห่ง
รูปยักษ์ญี่ปุ่นกำลังย่างโอโคโนมิยากิ ข้างๆ เป็นเบียร์เหยือกใหญ่ โดยยักษ์นี้เป็นเหมือนตัวแทนจากยุคเก่าที่อยู่ในความเชื่อของคนญี่ปุ่นมาแต่โบราณว่าช่วยพิทักษ์ความดี ป้องกันสิ่งชั่วร้าย พอเอามาบวกกับพิซซ่าญี่ปุ่น อาหารยอดนิยมแห่งชาติที่รับอารยธรรมมาจากอเมริกัน เรียกว่าเป็นการฟีเจอริงทางวัฒนธรรม หรืองานสตรีทอาร์ตสเกลใหญ่ที่มองเห็นจากระยะไกลอย่างภาพเด็กหญิง Kitty Riot งานหายากของ DOLK ศิลปินแนวสเตนซิลชาวนอร์เวย์ ไปจนถึงงานที่อยู่บริเวณ Cat Street กับรูปเด็กสาวยืนคลุมหน้าตามสไตล์ของวงพังก์ร็อกหญิง Pussy Riot จากรัสเซีย วงดนตรีที่มีอุดมการณ์เรื่องเสรีภาพ และเพิ่มความลูกเล่นที่มีกลิ่นอายญี่ปุ่นลงไปด้วยลายแมวคิตตี้บนผ้าคลุมหน้า เรียกว่าเป็นการแมตช์วัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตกได้อย่างครบเครื่องของแท้
Penang, Malaysia
หนึ่งในคุณสมบัติของสตรีทอาร์ตที่เราเจอคือ มีบางอย่างคล้ายกับละครโทรทัศน์ที่สามารถสะท้อนสังคม และเป็นผู้ชี้นำสังคมได้ ผ่านสิ่งที่ผู้สร้างเลือกจะนำเสนอ อาจจะเริ่มจากการตีแผ่เรื่องจริงที่เกิดขึ้น หรือค่อยๆ กำหนดทิศทางใหม่เพื่อให้กลายเป็นค่านิยมที่พึงประสงค์ สตรีทอาร์ตก็เช่นกัน อิทธิพลของศิลปะต่อมนุษยชาติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกัน ตั้งแต่อดีต เกี่ยวข้องกับปัจจุบัน และเกี่ยวพันถึงอนาคต กราฟฟิตีมีความสามารถทำได้มากกว่าเป็นแค่กระจกสะท้อนเฉยๆ แต่ยังชี้นำความความคิดของผู้คนให้เป็นหรือเปลี่ยนไปสู่ทางที่ต้องการได้
ปีนังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนิยามนี้ แม้วัฒนธรรมกราฟฟิตี พ่นสีบนกำแพงจะเพิ่งเข้ามาในปีนังได้เพียงไม่กี่ปีก็ตาม โดยที่หลายคนหลงเข้าใจผิดคิดว่าสตรีทอาร์ตในปีนังคงเกิดมาตั้งแต่ยุคสร้างเมือง แต่ความจริงแล้วผลงานฮิตๆ ที่เห็นในปีนังนั้น กว่าครึ่งเป็นไอเดียและฝีมือของศิลปินชาวลิทัวเนียชื่อ Ernest Zacharevic ได้เดินทางมาปีนังในช่วงกำลังมีงาน George Town Festival จึงเสนอกับคณะกรรมการประจำงานว่าควรมีภาพวาดบนกำแพงที่แสดงถึงวิถีชีวิตคนท้องถิ่น น่าจะสร้างเอกลักษณ์ของเมืองได้ไม่ยาก จนปี ค.ศ. 2012 นิทรรศการ Mirror Georgetown ของเขาก็ได้เกิดขึ้น พร้อม 8 ภาพแรกที่ออกสู่สาธารณะก็กลายเป็นที่จดจำในสายตาคนทั่วโลกเพียงชั่วข้ามคืน
ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการของเมืองก่อนลงมือจริง เพื่อควบคุมให้รูปที่ออกมาอยู่ในโทนเดียวกันหมด ไม่ผิดแผกแปลกตามากเกินไป คงความเป็นเอกลักษณ์ไว้ให้มากสุด เพราะสตรีทอาร์ตสำหรับปีนังแล้วเป็นเครื่องมือในทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ดึงดูดผู้คนทั้งนักท่องเที่ยว นักลงทุน ธุรกิจหลายแขนงต่อยอดได้จากสตรีทอาร์ต เกิดการจ้างงานมากขึ้นกว่าก่อนที่จะมีกราฟฟิตีหลายเท่า
แต่ในมุมของคนเป็นศิลปิน อาจรู้สึกว่าอิสระทางความคิดสร้างสรรค์จะลดน้อยลงหากเทียบกับที่อื่น เพราะติดกับกฎเกณฑ์เฉพาะบางอย่าง ไม่สามารถปล่อยของได้เต็มที่ตามใจชอบ แต่นั่นก็เป็นวิถีทางหนึ่งของศิลปะที่จะอยู่ร่วมกับชุมชนได้ในแบบฉบับของตัวมันเอง
Philadelphia, America
หมุนโลกกลับไปที่อเมริกา สตรีทอาร์ตสามารถเปลี่ยนสังคมได้ในแง่ของการช่วยลดปริมาณอาชญากรรม อย่างในโครงการ Electric street ได้เป็นคำตอบของแนวคิดนี้ ด้วยความคิดริเริ่มของนักวางผังเมือง เจน จาคอบส์ แห่งฟิลาเดลเฟีย ที่ต้องการเปลี่ยนซอยเล็กแคบบนถนนเพอร์ซีย์ ที่เป็นแหล่งมั่วสุมของพวกค้ายา จุดอับสายตาที่เกิดอาชญากรรมบ่อยๆ ให้เป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคนในชุมชน และใช้ศิลปะมาช่วยเป็นหูเป็นตา สร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่แถวนั้น
งานนี้ได้รับความมือจาก David Guinn ศิลปินท้องถิ่น และนักออกแบบแสง Drew Billiau มาร่วมกันออกแบบหลอดไฟ LED ทั้งรูปทรงเรขาคณิตบ้าง เส้นตรงบ้าง หรือดัดโค้ง เพื่อติดกำแพง มีระบบหมุนเวียนเปลี่ยนสีทุกๆ สิบนาที เพิ่มความสว่างและสวยงาม จนสามารถเปลี่ยนจากซอยแคบวังเวงให้กลายเป็นสถานที่เช็กอินใหม่ของนักท่องเที่ยวภายในเวลาไม่นาน ดึงดูดผู้คนที่สัญจรผ่านให้มาดู บอกต่อกันผ่านโซเชียลมีเดีย ระดับความปลอดภัยเพิ่มขึ้น คนในเมืองก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โปรเจ็กต์นี้ได้รับแรงบันดาลใจบางส่วนมาจาก Balmy Alley ตรอกเล็กๆ ใจกลางเมืองซานฟรานซิสโกที่เคยรกร้าง ก่อนถูกพัฒนาจนเต็มไปด้วยงานศิลปะบนกำแพง ทำให้สองข้างทางกลายเป็นแผงผ้าใบสาธารณะของศิลปินสตรีทอาร์ตมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 ทั้ง Juana Alicia, Brooke Francher, Carlos Loarca โดยช่วงแรกๆ แนวคิดหลักยังเป็นเรื่องจุดยืนทางสังคม สิทธิมนุษยชน ต่อต้านการคุกคามทางเสรีภาพต่างๆ ตามสมัยนิยม กระทั่งปัจจุบันดัดแปลงสู่พื้นที่ของคนรุ่นใหม่ เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาแสดงฝีมือที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ และเป็นปลายทางใหม่ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลก
สิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นด้วยตา แต่รับรู้ได้ด้วยใจ
สตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีจากทั่วทุกมุมโลก ทำให้นึกถึงวลีฮิตจากหนังสือ เจ้าชายน้อย ว่า “สิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นด้วยตา แต่รับรู้ได้ด้วยใจ” นั่นหมายถึงศิลปะทุกแขนง เพราะนอกจากจะมองเห็นได้ด้วยตาแล้ว ยังช่วยยกระดับอารมณ์และจิตใจผู้คนได้ ถึงแม้จะไม่สามารถตีความจากภาพที่เห็นได้ลึกซึ้งซับซ้อนตรงตามที่ใจคนวาดต้องการจะสื่อสารก็ตาม แต่ความสวยงามก็เป็นสิ่งสากลที่ทุกคนสัมผัสได้จริง และสิ่งนั้นเอง ก็ช่วยผลักดันสังคมเสมอมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
Wall Street Journey
ผลงานของ บุญมนัสสวัสดี ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา หรือ ‘เนิฟ’ หญิงสาวผู้ลุ่มหลงศิลปะบนกำแพง ก่อนจะดั้นด้นออกเดินทางเพื่อตามหาหมุดหมายที่น่าสนใจ โดยเริ่มตั้งแต่กรุงเทพฯ ไทเป กูชิง บอร์เนียว โตเกียว และจบที่ปีนัง ด้วยการเดินและเดิน พร้อมๆ กับความสนุกระหว่างทางที่เกิดขึ้นกับคุณนายดวงเดือน คุณแม่ที่ยอมหลวมตัวเป็นสมาชิก ‘บังเกิดเกล้าทัวร์’ ออกตามหากราฟฟิตีร่วมกัน สามารถสั่งซื้อได้ที่ http://godaypoets.com (สำนักพิมพ์ a book / ราคา 395 บาท)
เรื่องและภาพ: บุญมนัสสวัสดี ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา