Superstitions 4.0

Superstitions 4.0 เรื่องลี้ลับในยุคสมัยใหม่ เส้นบางๆ ของความงมงายหรือสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ

ทวีปเอเชีย อาจเรียกได้ว่าเป็นดินแดนของผู้คนที่มีความผูกพันกับเรื่องลี้ลับที่สุด นั่นเพราะความเชื่อในแบบวิญญาณนิยม (Animism) หรือเรื่องของผีสางนางไม้ เทวดาเจ้าที่ ถูกถ่ายทอดผ่านศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาที่มีอายุมากกว่า 5,000 ปี ดังนั้น ศาสนาในบ้านเราจึงรวมเอาศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนาเข้าด้วยกัน โดยมีเรื่องของโชคลาง อภินิหาร และพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งล้วนแต่มีอิทธิพลต่อความเชื่อของผู้คนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

        คำว่า ‘ไม่เชื่ออย่าลบหลู่’ จึงไม่ใช่ประโยคตัดบทสำหรับคนที่มีความเชื่ออย่างเหนียวแน่นต่อเรื่องที่ยังหาทฤษฎีมาอธิบายอย่างชัดเจนไม่ได้ แต่มันทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการสืบสานวัฒนธรรม และกล่อมให้คนรุ่นใหม่คล้อยตามหรือคลายความขัดขืนในใจลงได้ จนสุดท้ายเราก็เผลอยอมเออออต่อความเชื่อเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว เพราะบางครั้งสิ่งที่ยึดเหนี่ยวใจของผู้คนทั้งโลกตลอดมาก็คือเรื่องที่เราพูดกันว่า ‘งมงาย’ เหล่านี้นี่แหละ

 

Superstitions 4.0
ผู้กำกับหัวก้าวหน้าขวัญใจนักเรียนภาพยนตร์ในยุคนี้อย่าง เต๋อ นวพล ก็ใช้บริการของ ‘อี้เกียว ไล่ฝน’ บุคคลลึกลับที่เจ้าตัวยังไม่เคยเจอตัว แต่ถ้าคุณโทร.ไปหาเขา เขาจะร่ายคาถาไล่ฝนจากที่บ้านและส่งจิตมาถึงกองถ่าย ถ้าฝนหยุดจริงๆ ค่อยจ่ายเงิน แต่ถ้าฝนไม่หยุดก็ไม่ต้องจ่าย 

 

อิทธิพลความเชื่อต่อผู้คน

        “จริงๆ ศาสนามาหลังความเชื่อด้วยซ้ำ”

        รศ. ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิทยาศาสตร์และอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกอย่างนั้น เป็นการยืนยันว่าความเชื่อและพิธีกรรมที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาในช่วงไม่กี่ร้อยปีตามความเข้าใจเดิมๆ ยิ่งถ้าเทียบจากศาสนาพราหมณ์ที่กล่าวไว้ข้างต้น นั่นแปลว่าจริงๆ แล้วความเชื่อในเรื่องของโชคลางทั้งหลาย เกิดขึ้นจากมนุษย์ด้วยกันเองทั้งนั้นที่เป็นฝ่ายกำหนดขึ้นมา

        “ถ้าเราจะมองโลกแบบย้อนอดีตไปไกลๆ การที่มนุษย์มาอยู่รวมกันได้ ต้องอาศัยการปกครองของคนที่มีภาวะผู้นำในกลุ่มนั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะได้มาโดยการต่อสู้หรือรบรา แล้วเขาก็จะได้รับความนับถือ ได้รับความเชื่อถือ โดยเราจะเรียกสิ่งนี้ว่าการอุปโลกน์ของมนุษย์ สามารถเชื่อมโยงกับพลังเหนือมนุษย์ทั่วไป ซึ่งตรงนี้คือ ‘กระบวนการที่เริ่มสร้างความเชื่อ’ ที่ตอนนั้นคนในสังคมจะถูกหล่อหลอมให้ต้องเชื่อฟังผู้นำในกลุ่ม 

        “ต่อมาเมื่อสังคมวิวัฒนาการขึ้น ก็เกิดศาสนา ที่ช่วยทำให้ความเชื่อเป็นระเบียบแบบแผนมากขึ้น เริ่มมีพิธีกรรม มีศาสดาอย่างเป็นทางการ แต่สุดท้ายทั้งศาสนาก็ยังคงอาศัยกลไกลเดิมของระบบสังคมในสมัยก่อน นั่นก็คือการใช้ความเชื่อมาเป็นตัวตั้งอยู่ดี”

 

Superstitions 4.0
ราฟาเอล นาดาล นักเทนนิสชื่อก้องโลก ก่อนจะทำการเสิร์ฟลูก เขาจะดึงกางเกงในให้เข้าวินก่อนทุกครั้ง หรือเพื่อนร่วมอาชีพอย่าง เซเรนา วิลเลียมส์ ก็เชื่อว่าการเดาะลูกเทนนิสติดกัน 5 ครั้ง ก่อนเสิร์ฟ จะทำให้เธอได้รับชัยชนะในเกมนั้น

 

เชื่อเพราะต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวหัวใจ 

        ในแง่ของวิทยาศาสตร์ เรายึดถือพิธีกรรมบางอย่างก็เพื่อเรียกความมั่นใจในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่ตัดผมวันพุธ ห้ามพูดจาหยาบคายในวันตรุษจีน ไม่ปักตะเกียบเป็นแนวตั้งลงในชามข้าว หรือการปลูกต้นไม้มงคลไว้ในบ้านจะทำให้เงินทองไหลมาเทมา ซึ่ง ศ. ดร. อานันท์ กาญจนพันธุ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยตอบข้อสงสัยนี้ไว้ว่า มนุษย์มีความกังวลต่ออนาคตของตัวเอง เพราะคนเราต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอน ทั้งเรื่องของความเชื่อเองก็อยู่นอกเหนือการควบคุมจากอำนาจรัฐและอำนาจอื่นๆ เราเป็นคนเดียวที่มีสิทธิ์จะเลือกว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ รวมถึงเลือกที่จะใช้ความเชื่อนั้นบรรเทาความทุกข์ในใจ

        ยกตัวอย่างที่เราเห็นเพื่อนตัวเองเลือกซื้อแต่กระเป๋าสตางค์สีเทอร์ควอยส์ เพราะบอกว่าถ้าใช้กระเป๋าสีนี้แล้วเงินจะไม่ไหลออกไป ทั้งๆ ที่ว่ากันด้วยเหตุและผลกันจริงๆ ถ้าไม่อยากใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายก็ต้องปรับนิสัยของตัวเอง หรือฝากเงินไว้ในบัญชีที่ถอนออกมาได้ยากจะเห็นผลมากกว่า หรือนักแสดงหญิงที่ผันตัวมาเป็นนักเขียนอย่าง คาเมรอน ดิแอซ ก็จะมีสร้อยคอนำโชคของตัวเอง และ ไทเกอร์ วูดส์ ที่สวมเสื้อสีแดงเป็นประจำ เพราะเป็นความเชื่อจากแม่ของเขาว่าสีแดงจะส่งพลังของความโชคดีมาให้

        “ไม่ใช่เรื่องผิดเลยที่คุณจะหาอะไรบางสิ่งมาเยียวยาจิตใจ” รศ. ดร. เจษฎา กล่าวพร้อมกับย้ำว่า การเลือกที่จะเชื่ออะไรสักอย่างควรจะคิดโดยอาศัยหลักเหตุและผล ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาอยากเห็นคนในสังคมเป็นแบบนี้

        “ตรรกะทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของการตั้งคำถาม การไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ซึ่งการคิดแบบนี้สามารถใช้ได้กับทุกอย่างในชีวิตประจำวัน เวลาหกล้ม แทนที่คุณจะโทษว่าผีผลัก ผมอยากให้คุณมานั่งคิดดีกว่าว่าที่เราหกล้มเป็นเพราะอะไร แล้วเราสามารถแก้ไขได้ไหม ซึ่งวิธีแบบนี้จะทำให้เราอยู่ในโลกที่ยั่งยืนยิ่งกว่าการแก้ปัญหาโดยใช้คำตอบคือความเชื่อเพียงอย่างเดียว ซึ่งถ้าเราเข้าใจกระบวนการนี้ ก็จะสามารถพัฒนาวิทยาศาสตร์และความเชื่อไปพร้อมกันได้”

        แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ความเชื่อนั้นมีพลังและเสน่ห์บางอย่างที่ทำให้เราหลงใหล คล้อยตาม ซึ่งนั่นมาจากจิตใต้สำนึกของเราที่ต้องการความตื่นเต้น ท้าทาย ซึ่งการตกอยู่ในสภาวะ ‘ต้องมนตร์’ ก็เป็นกลไกหนึ่งของสมองที่ทำให้เรามีความสุขโดยไม่รู้ตัว 

 

Superstitions 4.0

 

        “ผมเชื่อว่าศาสนาและความเชื่อจะผูกมนุษย์เอาไว้ 2 ทิศทาง คือทั้งด้านบวกและด้านลบ” รศ. ดร. เจษฎา อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

        “ด้านบวกในที่นี้ คือการเอาความเชื่อไปผูกกับสิ่งที่มนุษย์ได้มา เช่น การขอพร บนบานศาลกล่าว แล้วได้สิ่งที่หวังเป็นการตอบแทน มนุษย์ก็จะเอาผลลัพธ์นี้ไปผูกกับความเชื่อว่าเป็นเพราะพระเจ้า เป็นเพราะภูตผีที่ให้โชคลาภ แบบนี้เป็นการผูกพันในเชิงบวก ส่วนในเชิงลบคือการได้รับโทษ เช่น เรื่องภพชาติ บาปกรรม ชีวิตหลังความตาย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรารู้สึกตามไปด้วยว่าถ้าทำไม่ทำตามความเชื่อก็จะส่งผลต่อชีวิต

        “พอทั้งคู่ผูกรวมกับสังคมและการปกครอง บอกว่าเราต้องมีศาสนา ต้องรักศาสนา ต้องเชิดชูศาสนา ความเชื่อจะกลายเป็นส่วนหนึ่งมนุษย์ทันที”

 

Superstitions 4.0
ในความเชื่อของคนตะวันตก เลข 13 นั้นถือเป็นเลขที่ไม่มงคล แต่สำหรับ เทย์เลอร์ สวิฟต์ เลข 13 นั้นกลับมีอิทธิพลในชีวิตเธอในทางบวกทั้งนั้น เช่น เธอเกิดวันที่ 13 ธันวาคม ตอนอายุ 13 วันเกิดของเธอก็ตรงกับวันศุกร์ที่ 13 พอดี อัลบั้มแรกชื่อ Taylor Swift ก็ได้รางวัลแผ่นเสียงทองคำหลังจากวางขายไป 13 สัปดาห์ เธอจะนั่งเก้าอี้ลำดับที่ 13 หรือแถวที่ 13 ไปจนถึงเวลาขึ้นแสดงโชว์ก็จะเขียนเลข 13 ไว้ที่มือเพราะเชื่อว่าจะบันดาลให้ทุกอย่างราบรื่น

การเดินทางแบบคู่ขนานในเรื่องของความเชื่อ

        แต่ไม่ใช่ว่านักวิทยาศาสตร์ทุกคนจะปฏิเสธความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ เพราะแม้แต่นักฟิสิกส์หลายคนก็ใช้ความเชื่อในเรื่องของภูตผีวิญญาณ เป็นแรงผลักดันการในค้นคว้า และหาข้อสรุปเพื่อมาตอบคำถามในเรื่องลี้ลับนี้มาตลอด ดังนั้น การควบคู่ของความเชื่อและวิทยาศาสตร์ยังเป็นสิ่งที่มีอยูจริงในปัจจุบัน และในอนาคตก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ โดย รศ. ดร. เจษฎา ขยายความว่า เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าความเชื่อไม่ใช่สิ่งที่แปลกและไม่ดี แต่ถ้าหากความเชื่อสามารถพัฒนาควบคู่ไปกับวิทยาศาสตร์ได้ ความเชื่อก็จะเข้มแข็งมากขึ้น หากความเชื่อถูกตั้งคำถามเพื่อหาเหตุผลและคำตอบให้กับความเชื่อ สุดท้ายเราจะได้ความเชื่อที่ผ่านความรู้ ผ่านข้อมูล มากกว่าเรื่องเล่าหรือเรื่องพิธีกรรม 

        ดังนั้น ความเชื่อที่ปัจจุบันยังอยู่ได้ในสังคมที่วิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าเช่นนี้ เป็นเพราะมันเริ่มปรับตัวและได้รับการพัฒนาตลอด เช่น เรื่องฮวงจุ้ย ที่ในหลายอย่างก็มีหลักเหตุและผลทางด้านการออกแบบมารองรับมากขึ้นแล้ว ส่วนความเชื่อแบบไหนที่ยังอาศัยเพียงความเชื่ออย่างเดียว ในอนาคตก็ต้องพึ่งพาวิธีการคิดโดยอาศัยหลักเหตุและผลแบบวิทยาศาสตร์เพื่อหาคำตอบให้กับมันต่อไป ซึ่งจริงๆ แล้ววิทยาศาสตร์ไม่ใช่ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แต่มันคือกระบวนการคิด การใช้ตรรกะในการไตร่ตรอง ตัวอย่างที่ดีในการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้คือวิชาประวัติศาสตร์ จากเดิมทีพวกเราเคยเรียนกันแบบท่องจำในตำราแล้วตอบตามนั้น โดยไม่มีใครตั้งคำถามเลยว่าจริงไหมมาตลอด

        “แต่ถ้าเราเอากระบวนการวิทยาศาสตร์ไปตั้งคำถาม เพื่อหาความจริงมากขึ้น กระบวนการนี้จะทำให้เพดานของความเชื่อสูงขึ้นมาอีกมาก และจะทำให้ ‘ความเชื่อ’ มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น”

 

Superstitions 4.0
วงดนตรีที่สมาชิกเป็นนักเรียนนอกอย่าง Getsunova ก่อนเล่นคอนเสิร์ต พวกเขาจะมีการยกมือไหว้และสวดมนต์เพื่อขอพรให้การแสดงวันนั้นไม่มีอุปสรรค

จาก ‘องค์พระจตุคามรามเทพ’ สู่ปรากฏการณ์ ‘ไอ้ไข่’ ในสังคมไทย

        “ศาสนาจะอาศัยความเชื่อ เชื่อไปเรื่อยๆ เถียงไปไม่ได้ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณบอกว่าไม่จริง แสดงว่าคุณกำลังไม่เชื่อศาสนานั้น” คำตอบจากประเด็นสำคัญที่เราสงสัย ว่าทำไมความเชื่อบางครั้งก็ไม่ได้เข้มแข็ง และมีการเปลี่ยนแปลงตลอด วันนี้ผู้คนพร้อมจะเชื่อในสิ่งหนึ่ง แต่ผ่านไปไม่นานสิ่งนั้นกลับถูกมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระไปแล้ว 

        “เรื่องของกระแสความนิยมและศรัทธา ไม่ได้ผูกอยู่แค่ความเชื่อและวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องธุรกิจที่ค่อนข้างชัดเจนมาก ตั้งแต่อดีต ในธุรกิจที่มีความเชื่อมาเกี่ยวพัน จะมีอะไรบางอย่างถูกปั่นกระแสเข้ามาเสมอ โดยเฉพาะพระเครื่องหรือเครื่องรางสิริมงคลก็ถูกใส่เรื่องราวเพื่อให้เกิดความเชื่อเช่นกัน

        “ซึ่งพระจตุคามรามเทพเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ที่เริ่มจากการโด่งดังในท้องถิ่นก่อนจะถูกปั่นราคาจนดังมาทั่วประเทศ จนถึงจุดหนึ่งที่กระแสตกก็ถูกเททิ้งตามท้องถนน สิ่งเหล่านี้สะท้อนเรื่องของความเชื่อและธุรกิจได้ดี และที่น่าสนใจคือเหตุการณ์แบบนี้ก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนถึงไอ้ไข่ กุมารเทพที่เกิดขึ้นในตอนนี้” 

        ทำไมถึงมีความเชื่อใหม่ๆ เกิดเป็นกระแสแบบงงๆ ขึ้นมา เราไม่ได้ลบหลู่ไอ้ไข่ เพียงแค่ตั้งข้อสงสัยว่าเพราะอะไรเด็กน้อยที่เคยติดตามหลวงปู่ทวดเมื่อนานมาแล้ว จู่ๆ ถึงถูกจุดติดขึ้นมาในตอนนี้ได้  

        “นี่เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเราเห็นความแตกต่างระหว่างวิทยาศาสตร์และศาสนา ที่เข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น” เขาตอบ

        “วิทยาศาสตร์คืออีกด้านหนึ่ง เป็นศาสตร์ที่อยู่พื้นฐานของการที่เชื่อไว้ก่อนว่า สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่จริงก็ได้ ในวิทยาศาสตร์เรามีสิทธิเถียงว่าการสรุปเช่นนี้จริงไม่หรือไม่จริง ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดขึ้นทฤษฎีใหม่ หรือองค์ความรู้ใหม่ มาหักล้างทฤษฎีเก่า จนทำให้วิทยาศาสตร์ต่อยอดมาได้ แต่ถ้าหากวันใดที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถตั้งคำถามได้ ไม่สามารถแก้ไขได้ สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นความเชื่อทันที”

        แล้วประเทศเราจะกลายเป็นประเทศที่มีแต่ความเชื่อ ไม่เอาวิทยาศาสตร์เลยได้ไหม – เสียงหัวเราะจากนักวิทยาศาสตร์คนนี้ดังขึ้น พร้อมกับยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัดๆ จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่ผ่านมา

        “เราใช้มาตรการที่ค่อนข้างเข้มงวดมากในการปิดประเทศ เรามีความเชื่อว่าตัวเองอยู่ได้ด้วยตัวเอง เรามีความเชื่อว่ามีความสุข ไม่มีใครติดโรค แต่ถามว่าจะอยู่แบบนี้ได้อีกนานแค่ไหน จนถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องเปิดประเทศ เพราะมีเราก็ต้องทำงานค้าขายระหว่างประเทศ ต้องหารายได้ที่เกิดเข้ามา

        “ดังนั้น โลกทุกวันนี้จึงขับเคลื่อนกันด้วยความจริง ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับจากสากลมากกว่า มันเลยหมดยุคที่จะเราจะอยู่ในประเทศตัดขาดจากวิทยาศาสตร์เลย ถ้าจะเชื่อแต่ในสิ่งที่เคยเชื่อมาเป็น 100 ปี คงไม่สามารถทำได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงได้”

        “ความเชื่อเป็นสิ่งที่เชื่อได้ แต่อย่าให้มาทำลายหลักเหตุและผลของคุณ” รศ. ดร.เจษฎา ย้ำอีกครั้ง หลังจากที่เราบอกเขาว่ากำลังอยากได้ตี่จู้เอี๊ยะสมัยใหม่ที่มีดีไซน์แบบมินิมอลมาตั้งไว้ที่บ้าน

 


อ้างอิง:
– People.com
– Bangkokbiznews.com
– Elle.com