สุรินทร์

สุรินทร์ | งานฝีมือโบราณชั้นครูถิ่นอีสานใต้แห่งวัฒนธรรมไทย-เขมร ผ่านคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่

ทันทีที่เท้าสัมผัสผืนดินถิ่นอีสานใต้ ไอร้อนและแสงแดดระอุจากฟ้าก็สาดลงมาเหมือนเป็นการต้อนรับ ราวกับว่าจังหวัดสุรินทร์กำลังรอคอยการมาเยือนของชาวกรุงอย่างเรามาโดยตลอด แต่แล้วไอร้อนก็อยู่กับเราเพียงครู่ เพราะฝนเริ่มตั้งเค้า เมฆสีดำค่อยๆ คืบคลานเข้ามา หอบสายลมชื้นๆ มากระทบผิวกาย สัญญาณธรรมชาติกำลังเตือนเราว่า อีกไม่นานฝนจะตก และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เม็ดฝนเล็กๆ ค่อยๆ โปรยลงดิน ก่อนจะกลายเป็นเม็ดฝนขนาดใหญ่ พัดพาสายลมแรงจนต้นไม้ขนาดใหญ่และต้นข้าวที่กำลังจะตั้งท้องเอนลู่ไปตามแรงลม

     เราเฝ้ามองภาพแห่งความชุ่มฉ่ำอยู่พักใหญ่ แต่ในใจก็นึกหวั่นว่าการทำงานของเราในวันนี้จะลุล่วงไปด้วยดีหรือไม่ ก่อนที่เสียงของใครสักคนจะตะโกนบอกให้เราใจชื้นว่า “รอสักพัก เดี๋ยวฝนก็ซา” ด้วยสำเนียงท้องถิ่นที่เรียกกันว่า ‘เขมรสุรินทร์’ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาพูดของชาวไทยเชื้อสายเขมรในแถบอีสานใต้ ช่างแตกต่างจากสำเนียงอีสานที่เราเคยได้ยินจนคุ้นหูกันอยู่บ่อยๆ

     เหตุที่ชาวสุรินทร์ใช้สำเนียงเขมรนั้น เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา และชาวเขมรสูงได้เข้าอพยพและมาตั้งถิ่นฐานในเขตภาคอีสานใต้ เมื่อราวๆ ช่วง พ.ศ. 2324-2325 รวมทั้งชาติพันธุ์อื่นๆ ที่เข้ามาผสมอยู่ด้วย ซึ่งนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีได้สันนิษฐานโดยดูจากกลุ่มปราสาทโบราณ ศิลาจารึก ร่องรอยจากวัฒนธรรมต่างๆ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน และงานหัตถกรรมต่างๆ อย่างการทอผ้าที่มีลวดลายอันแตกต่างและโดดเด่นจนเป็นเอกลักษณ์ รวมไปถึงเครื่องเงินโบราณที่นับวันจะค่อยๆ สูญหายไปตามกาลเวลา

     ปัจจุบันสายเลือดชาวเขมรได้ผสมผสานสายเลือดชาวไทย เกิดเป็นสองวัฒนธรรมในหนึ่งเดียวได้อย่างน่ารักมากกว่าที่เราเคยคาดคิด เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่เราพบเจอระหว่างทาง และบทสัมภาษณ์ที่เรียบง่ายแต่เจาะลึกถึงวิถีชีวิต อุปนิสัยใจคอ และประวัติศาสตร์จากผู้เฒ่าผู้แก่ ทำให้ภาพจังหวัดสุรินทร์ที่มีแต่ช้างและผ้าไหม แปรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

 

สุรินทร์

 

หมอช้างรุ่นสุดท้ายในบ้านของช้างที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในโลก

     สุรินทร์เป็นจังหวัดที่เลี้ยงช้างมากที่สุดในประเทศไทย และมีประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ที่มีช้างมาเกี่ยวข้องอยู่แทบทั้งสิ้น เมื่อปี พ.ศ. 2544 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ได้จัดทำโครงการนำช้างสุรินทร์กลับมาสู่ภูมิลำเนา โดยไม่ต้องออกไปเร่ร่อนต่างจังหวัดและชุมชนเมือง ก่อนจัดตั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวควบแหล่งเรียนรู้เรื่องช้างและวิถีชีวิตของชาวกูยเลี้ยงช้างที่มีคุณภาพ

     ซึ่งแห่งนั้นคือ ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง บ้านของเหล่าช้างที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และที่สุดในโลก ภายในศูนย์คชศึกษา บรรยากาศเต็มไปด้วยความน่ารักของช้าง และอบอวลไปด้วยความผูกพันของคนเลี้ยงและช้าง ไม่ต่างจากคนในครอบครัว และเราก็ได้พบกับ พ่อบุญมา แสนดี หมอสะเดียงอาวุโส วัย 92 ปี หมอช้างรุ่นสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ในหมู่บ้านตากลาง อาจเรียกได้ว่าเป็นหมอช้างยุคสุดท้ายแล้วก็เป็นได้

     ชายชราผู้ผ่านประสบการณ์ในการคล้องช้างมาอย่างโชกโชนตั้งแต่อดีต ได้เท้าความเล่าเรื่องราวความผูกพันที่มีต่อช้างจนกลายเป็นชีวิตประจำวันให้ฟังว่า

     “ตั้งแต่เกิดผมก็เห็นช้างแล้ว เพราะครอบครัวของผมเป็นหมอช้างมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด เมื่อโตขึ้นหน่อยก็ได้ติดสอยห้อยตามพวกท่านอยู่บ่อยๆ จำได้ว่าตอนนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และสืบทอดส่งมาเรื่อยๆ ไม่นานพวกท่านก็ถ่ายทอดวิชาช้าง เพราะการเป็นหมอช้างต้องทำทุกอย่างเกี่ยวกับช้าง วิธีการจับช้าง พันหนังปะกำสำหรับทำพิธี ปลุกเสก มีอีกหลายเรื่องที่ต้องจดจำและเรียนรู้ไปทั้งชีวิต”

 

สุรินทร์

 

     พ่อบุญมาพยักหน้าให้กับตัวเองพร้อมกระชับเครื่องแต่งกายของหมอช้าง อย่างผ้าคล้องตัวที่ทำจากผ้าขาวม้าเส้นไหม และขยับชนักห้อยคอสีเงินสำหรับบ่งบอกตำแหน่งของหมอช้างให้เข้าที่ สำหรับตำแหน่งของหมอช้างนั้น พ่อบุญมาได้อธิบายไว้ว่า ลำดับหมอช้างแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ครูบาใหญ่ ซึ่งต้องมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับป่าแถบกัมพูชาทั้งหมด จับช้างได้ 15 ตัวขึ้นไป ต่อมาคือ หมอสะดำ ต้องจับช้างป่าได้อย่างน้อย 10 ตัวขึ้นไป และหมอสะเดียง ต้องจับช้างป่าได้อย่างน้อย 5 ตัวขึ้นไป ส่วนควาญจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ควาญจา และควาญมะ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหมอช้าง

     “ตอนนี้หมอช้างในสุรินทร์เหลือแค่ 4-5 คน คนเก่าแก่เสียไปหมดแล้ว คนใหม่ๆ ก็มีอยู่ แต่ยังไม่มีประสบการณ์ ยังไม่เคยผ่านป่าผ่านดงมา” พ่อบุญมาสีหน้าเจื่อนลงเล็กน้อย แต่ยังคงมุ่งมั่นที่จะอธิบายให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจถึงที่มาที่ไป

 

สุรินทร์

 

     ชาวบ้านตากลางดั้งเดิมเป็นชาวส่วย (กูย) หรือ กวย มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัดช้าง และเลี้ยงช้าง ส่วนมากต้องเดินทางไปคล้องช้างบริเวณชายแดนต่อเขตประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ก่อนส่งช้างป่าที่ฝึกแล้วให้กับกรุงศรีอยุธยาเพื่อไปทำศึกสงคราม แต่ในปัจจุบันสภาวะการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งเรื่องกฎหมายต่างๆ ทำให้ไม่สามารถออกไปจับช้างป่าได้อีก

     แม้ชาวบ้านไม่สามารถไปคล้องช้างเหมือนที่ผ่านมาได้ แต่ก็ยังมีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ยังคงเลี้ยงช้าง และฝึกช้างเพื่อไปร่วมแสดงในงานที่เกี่ยวกับช้างอยู่

     “ช้างทุกวันนี้ทั้งหมดคือช้างเพาะเลี้ยง ไม่ใช่ช้างป่า เราจะไปจับช้างป่าย่อมทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย ทำให้วิชาหมอช้างและตัวหมอช้างเองค่อยๆ หายไป เพราะไม่ต้องเรียนรู้เรื่องการจับช้างอีกต่อไปแล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่ก็มีน้อยคนนักที่จะสนใจอย่างแท้จริง” พ่อบุญมาเน้นย้ำ

     แต่ก่อนที่เราจะลาหมอช้างกลับ เราสังเกตเห็นสถานที่บางอย่าง ต่อมาพ่อบุญมาอธิบายให้ฟังว่า สิ่งที่เราเห็นก็คือ ศาลปะกำ เป็นเสมือนเทวาลัยสิงสถิตของวิญญาณช้าง บรรพบุรุษ และผีปะกำ ตามความเชื่อของชาวกูย สร้างไว้ในชุมชน ตามบ้านคนที่บรรพบุรุษเคยมีช้าง ทั้งยังเป็นที่สำหรับประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับช้างในอดีตเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

 

สุรินทร์

 

ภูมิปัญญาแต่อดีตที่ยังคงความงดงามของผ้ามัดหมี่ไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก

     เราออกจากหมู่บ้านตากลาง มุ่งหน้าสู่ ‘ชุมชนบ้านสวาย’ ชุมชนที่มีชื่อเสียงเรื่องผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งเป็นผ้าทอพื้นเมืองสุรินทร์ที่ยังคงใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมตั้งแต่อดีต สืบทอดจากบรรพบุรุษมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ที่ยังคงคุณภาพ ความงดงาม ประณีต และคงเอกลักษณ์ทางด้านสีสันและลวดลาย ที่ทำให้ผ้ามัดหมี่ไทยโด่งดังไปทั่วโลก

     ความภาคภูมิใจในงานหัตถกรรมดั้งเดิมยังคงคุกรุ่นอยู่ในใจของ แม่สำเนียง บุญโสดากร ประธานกลุ่มแม่บ้านหัตถกรรมสตรีทอผ้าไหมบ้านสวาย ผู้เรียนรู้การเก็บหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้ามาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ก่อนที่จะตั้งใจเรียนการทอผ้าไหมมัดหมี่เพิ่มในวัยสาวแรกรุ่นอายุ 15 ปี นำออกจำหน่ายและส่งเข้าประกวดด้วยวัยเพียง 20 ปี

     “เราภูมิใจมากว่าการทอผ้าที่เราสืบทอดมาทำให้ส่งผ้าเข้าประกวดจนได้รับรางวัล”

     วันเวลาผ่านไปกว่า 40 ปี แม่สำเนียงยังไม่หยุดการพัฒนาและสร้างสรรค์การทอผ้า ต่อมาแม่สำเนียงได้กลายมาเป็นผู้คิดค้นและผสมผสานผ้ามัดหมี่กับลายลูกแก้วอันเป็นเอกลักษณ์ จนได้รับรางวัลการประกวดมากมาย พร้อมกับส่งต่อภูมิความรู้ให้กับสมาชิกในกลุ่ม รวมถึงเด็กๆ ที่สนใจ

     “สำหรับลายลูกแก้วเป็นเอกลักษณ์ของบ้านสวาย ตอนแรกๆ ตั้งใจจะทำแค่ผ้าพื้น แต่เมื่อมาคิดๆ ดูแล้วน่าจะลองทำอะไรใหม่ๆ เราจึงดึงเอกลักษณ์ของลายลูกแก้ว ซึ่งเป็นลายโบราณดั้งเดิมของหมู่บ้าน ใช้เมื่อบวชนาค โกนจุก หรือแต่งงาน ที่สำคัญ ผู้หญิงทุกคนต้องทำเป็น ส่วนผู้ชายถ้าหมั้นหมายแล้วก็ต้องสร้างกี่ทอผ้า และผู้หญิงจะมีหน้าที่ทอผ้า เมื่อเสร็จแล้วจึงทำไปไหว้ผู้ใหญ่ เราจึงทำเรื่องราวนี้ทอผ้าแบบมัดหมี่ด้วยการพุ่งเส้นไหม เพิ่มตะกอไปผสมผสานกับลายลูกแก้ว เกิดเป็นลวดลายซับซ้อน แต่เต็มไปด้วยความงดงามอย่างที่เห็น”

 

สุรินทร์

 

     กระบวนการทำผ้าไหมเส้นยืนแบบดั้งเดิม เป็นกระบวนการที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณมีวิธีการดังนี้ เริ่มด้วยการนำไจเส้นไหมยืนมาสวมใส่เข้ากงเพื่อใช้กรอเส้นไหมเข้าอัก นำอักที่กรอเส้นไหมแล้วไปทำการค้นเครือเส้นยืน หรือที่เรียกว่า การเดินเส้นยืน ขั้นตอนนี้ต้องใช้พื้นที่ที่มีความยาวมากกว่า 10 เมตร จึงทำบนถนน การเดินเส้นยืนถือเป็นขั้นตอนที่ยากและต้องใช้ความละเอียดอย่างมาก ผู้เตรียมเส้นยืนจะต้องใช้ประสบการณ์และความละเอียดในการม้วนเส้นไหม เพื่อป้องกันความเสียหายจากเส้นที่พันกันจนแน่น เวลาเตรียมเส้นยืน มักจะเตรียมในช่วงเวลาประมาณประมาณ 6 โมงเช้าถึง 9 โมง หลังจากนี้แสงแดดจะทำให้เส้นไหมกรอบจนเสียคุณภาพ ระยะเวลาการม้วนเส้นไหม ภายในหนึ่งวัน ม้วนได้ประมาณ 6 ฟืม ถึง 7 ฟืม แล้วแต่ความยาวของฟืม โดยเผื่อไว้อีก 1 เมตรสำหรับตัด หลังเสร็จสิ้นกระบวนการม้วน จึงทำไปส่งต่อให้คนทอนำเข้ากี่ทอต่อได้เลย

 

สุรินทร์

 

     นอกจากชุมชนบ้านสวายที่ยังคงการทอผ้าแบบดั้งเดิม ในจังหวัดสุรินทร์ยังมีการทอผ้าเพื่อตอบสนองความต้องการผ้าไหมให้มากขึ้น ชาวบ้านจึงมีการพัฒนาวิธีการทำผ้าไหมให้รวดเร็วขึ้น โดยใช้เครื่องจักรเข้ามาเสริมแรง สร้างงานที่ประณีตขึ้น ได้เส้นยืนที่ไวขึ้น อย่างที่ สมบัติ อุตมะ เจ้าของโรงงานทอผ้าอุตมะไหมไทย ได้สร้างขึ้นพร้อมๆ กับการช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกทาง

     “ที่นี่ทำกันแบบอุตสาหกรรมครัวเรือน เราจะแบ่งแผนกกันทำงานแบบง่ายๆ ตัวผมจะดูแลทางช่างมัดลาย กับกระบวนการรับงาน-ส่งงาน ส่วนชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านจะอยู่แผนกไหมยืน เราจะมีห้องทำงานให้ทำโดยเฉพาะ ดังนั้น เราจะได้เส้นยืนประณีต ที่ผ่านการกระบวนการทำแบบดั้งเดิม แต่มีเครื่องจักรเข้ามาช่วยเสริมแรงให้กับกลุ่มชาวบ้านที่ทำงานกับเรา จากนั้นก็ส่งไปต่อไปให้ชาวบ้านกลุ่มช่างทอ เพื่อทอเป็นผืนผ้าไหมสวยๆ ต่อไป จนได้นำไปใช้เป็นเครื่องแต่งกายให้กับนางเอกในละครเรื่องนาคี จนผ้าไหมอุตมะมีชื่อเสียงมากขึ้น ทำให้ผมและชาวบ้านทุกคนต่างก็ดีใจ ยิ้มแก้มปริไปตามๆ กัน”

 

สุรินทร์

สุรินทร์

 

สัมผัสงานช่างเครื่องเงินฝีมือชั้นครูที่สืบทอดการทำเครื่องเงินโบราณมาเป็นรุ่นที่ 6

     หมุดหมายสุดท้ายของเราอยู่ที่เขวาสินรินทร์ อำเภอเล็กๆ ที่รุ่มรวยไปด้วยมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มช่างเครื่องเงินฝีมือชั้นครู ที่ยังคงสืบทอดความประณีตและสวยงามของเครื่องเงิน ที่แห่งนี้ทำให้เรามีโอกาสพบกับปราชญ์ชาวบ้าน ลุงป่วน เจียวทอง แห่งกลุ่มหัตถกรรมเครื่องบ้านโชค ช่างชำนาญการทำเครื่องเงินในวัย 78 ปี ผู้สืบทอดการทำเครื่องเงินโบราณมาเป็นรุ่นที่ 6 ที่ยังคงฝีมือความประณีต และความคล่องแคล่วในการทำลวดลายบนเครื่องเงินที่สวยงาม หลังจากคำทักทาย ลุงป่วนได้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์แบบย่นย่อให้เราฟัง

     “ย้อนกลับไปในอดีตกว่าสองร้อยปีก่อน กลุ่มครอบครัวช่างทองชาวเขมรหนีภัยสงครามและโยกย้ายถิ่นฐานมาจนถึงจังหวัดสุรินทร์ และได้นำพาทักษะความรู้ในการทำเครื่องทองศิลปะเขมรติดตัวมาด้วย และสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น หรือที่เรียกเครื่องเงินเหล่านี้ว่า ลูกประคำเงิน คนพื้นเมืองจะเรียกว่า ‘ลูกประเกือมเงิน’ และ ‘ตะเกาเงิน’ ซึ่งเป็นลวดลายที่ได้แรงบันดาลใจจากดอกไม้และธรรมชาติ เช่น ลายตั้งโอ๋ รังผึ้ง รังแตน รังหอก ดอกทานตะวัน และดอกมะลิ”

     ภายใต้ความโดดเด่นของเครื่องเงินที่มีความสวยงามนั้นสะท้อนให้เห็นถึงกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อน เรียกร้องความอดทน และความละเอียดลออในการทำที่สูงมาก ระหว่างพูดคุย เราจึงเห็นลุงป่วนค่อยๆ บรรจงคีบและจัดเรียงเส้นเงินขนาดเล็กให้เป็นลวดลายต่างๆ อย่างชำนิชำนาญ

     “เริ่มจากการนำเม็ดเงินบริสุทธิ์ชั่งน้ำหนัก และนำไปหลอมละลาย แล้วเทใส่ในรางเพื่อหล่อเป็นแท่ง นำเข้าเครื่องรีดให้แบนจนมีความบางประมาณ 4 มิลลิเมตร จากนั้นนำมาตัดตามขนาดที่ต้องการ และนำไปม้วนเชื่อมเป็นเม็ด ตกแต่งริมขอบด้วยการปิดฝาด้วยแผ่นเงินเล็กๆ ลักษณะโค้งนูน และปิดขอบด้วยเส้นลวดเงินให้เรียบร้อย แกะลายให้งดงาม เสร็จแล้วใช้เหล็กแหลมเผาไฟให้ร้อนแทงทะลุชันให้เป็นรู ขัดล้างให้สะอาด รวมถึงรมดำเพื่อให้เห็นลวดลายชัดเจนยิ่งขึ้น แล้วจึงนำไปร้อยต่อกันเป็นเครื่องประดับ”

 

สุรินทร์

 

     จากนั้นลุงป่วนก็ได้ย้อนความหลังถึงที่มาของการอนุรักษ์เครื่องเงินโบราณว่า “ลุงสนใจการทำเครื่องเงินตั้งแต่อายุ 13 ปี ตอนนั้นเรามักจะเห็นปู่ย่าตาทวดนั่งทำ เราก็อยากทำบ้าง แต่ยังไม่ได้ทันได้เรียนรู้อะไรปู่ย่าตาทวดก็จากไปเสียก่อน โชคดีที่เราได้มีโอกาสเรียนกับพี่เขยที่มาสอนช่วงหลังเลิกเรียน ลุงเรียนอยู่สามปี ตอนนั้นสตางค์ก็หายาก ไปเรียนบางทีได้ไปสลึงหนึ่ง ไปงานบุญก็ได้บาทหนึ่ง ก็เลยอยากได้อาชีพเสริมที่จะทำให้เราได้เงินมา แต่ตอนแรกเริ่มทำจากการเป็นช่างทองมาก่อน จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นทำเครื่องเงินตอนปี พ.ศ. 2520 ตอนนั้นราคาทองขึ้น เศรษฐกิจไม่ดี ขายไม่ออก ได้แค่พอกิน แต่ไม่ได้กำไร ลุงมีลูกด้วย ต้องส่งเขาเรียน ก็เลยเปลี่ยนมาทำเครื่องเงินซึ่งราคาถูกกว่า เป็นที่นิยมมากกว่า แล้วก็มีลวดลายและรูปทรงที่ประณีตสวยงามกว่า ซึ่งลุงก็ยึดอาชีพนี้มาตั้งแต่นั้นจนถึงทุกวันนี้”

     แม้งานฝีมือที่ปรากฏตรงหน้าของเราจะเป็นเครื่องยืนยันถึงความรักและทุ่มเทที่มีต่อเครื่องเงินเหล่านี้ แต่สิ่งที่ทำให้เราแอบใจหายเมื่อได้มาพูดคุยกับลุงป่วนต่อก็คือ ปัจจุบันการผลิตเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ค่อนข้างมีอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นจำนวนช่างฝีมือที่มีอยู่อย่างจำกัด และต้นทุนของสินค้าที่เพิ่มขึ้น แต่ด้วยใจรักในภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ไม่ต้องการให้สูญหายไป ชาวเขวาสินรินทร์จึงยังคงผลิตและพัฒนาเครื่องประดับจากภูมิปัญญาของพวกเขาต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง

 

สุรินทร์

 

     “ลุงเคยคิดว่าคงมีแต่ลูกสาวกับลูกชายที่เรียนทำเครื่องเงินกับลุงเท่านั้น และคิดว่าคงจะหมดที่รุ่นลุงแน่ๆ แต่ยังโชคดีที่ชาวบ้านบางส่วนสนใจจะทำ และมาเรียนกับลุงอยู่บ้าง ถึงตอนนี้สิ่งที่ลุงทำได้คือพยายามที่จะสร้างสรรค์ผลงานให้แปลกใหม่ แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมเอาไว้ เพื่อคงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาให้อยู่คู่สุรินทร์ต่อไป”

     ลุงป่วนกล่าวขณะที่จรดสายตาและสมาธิลงบนลวดลายเครื่องเงินที่กำลังทำอยู่ เบื้องหน้าเราคือชายชราผู้ทุ่มเทจิตวิญญาณให้กับเครื่องเงินโบราณและยังคงรักษารากเหง้าแห่งงานฝีมือเอาไว้จวบจนปัจจุบัน

     ตลอดเวลาเพียง 3 วัน 2 คืน กับเรื่องราวที่น่าสนใจของวัฒนธรรมไทย-เขมร ภาพจำที่เราเคยรู้ เคยได้ยิน บัดนี้ทุกอย่างกระจ่างชัด เราหวังว่าจะมีโอกาสได้มาเยี่ยมเยียนและเพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจในพื้นถิ่นอีสานใต้กันอีกครั้ง

 


ขอบคุณภาพ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุรินทร์