ภาษี

‘ชำแหละภาษี’ เมื่อคุณภาพชีวิตสวนทางกับเงินที่ประชาชนจ่าย

นอกจากความ ‘ตาย’ คุณคิดว่าอีกสิ่งหนึ่งที่มนุษย์เราหลีกเลี่ยงไม่ได้คืออะไร?   

        เบนจามิน แฟรงคลิน ให้คำตอบว่าสิ่งนั้นคือ ‘ภาษี’ 

        ระยะหลังมานี้ ภาษีกลายเป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยขึ้น ไม่ใช่เพราะฤดูกาลจ่ายภาษีเพิ่งผ่านพ้นไป แต่เป็นเพราะอะไรหลายๆ อย่างในบ้านเมืองนี้ ชวนให้ตั้งคำถามว่าภาษีที่เราจ่ายไปนั้นถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่าหรือไม่? 

        หากอิงกันตามหลักการประชาชนทุกคนต้องจ่ายภาษี เพื่อให้รัฐบาลนำเงินส่วนนั้นไปใช้บริหารและพัฒนาประเทศเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ภาษีจึงไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลข แต่ยังเป็นภาพสะท้อนการดำเนินงานของรัฐบาลที่มีความเชื่อมโยงต่อสภาพของสังคมนั้น ถ้าระบบภาษีดีก็จะช่วยพัฒนาประเทศได้อีกหลากหลายด้าน แต่กลไกการจัดเก็บของไทยยังคงมีปัญหาหลายจุด แถมน้อยคนจะรู้ว่าฐานภาษีของคนไทยนั้น มีอัตราการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแพงกว่าสิงคโปร์เสียอีก

        ภาษีที่จ่ายออกจากกระเป๋าจึงมีอีกหลายแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความเป็นอยู่ของเรา จนอาจเรียกกว่าได้ว่า ‘ภาษี’ เป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราทุกคนมากที่สุด แต่เรากลับรู้จักมันน้อยที่สุด

 

ภาษี

คนไทยเสียภาษีแพงไม่แพ้ชาติใดในโลก 

        ในแต่ละปี ภาษีที่ถือเป็นเงินของประชาชนทุกคนนั้นสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลเป็นตัวเลขจำนวนมหาศาลจนเรียกว่าเป็นรายได้หลักเลยก็ว่าได้ อย่างปีที่มาผ่านมานั้น รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีทั้งหมด 2.5 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มมากกว่า 7.9 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล 6.9 แสนล้านบาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3.3 แสนล้านบาท 

        ภาษีมูลค่าเพิ่มน่าจะเป็นภาษีที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพราะรวมอยู่ในสินค้าและบริการที่ซื้อหากันอยู่ทุกวัน ส่วนภาษีที่มีความเกี่ยวข้องรองลงมาอย่างภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น มีอีกหลายอย่างที่ต้องทำความเข้าใจมากขึ้นไม่ว่าจะเรื่องของการยื่น การลดหย่อน รวมถึงข้อเท็จจริงที่อัตราภาษีของไทยสูงกว่าหลายประเทศ 

        itax เคยวิเคราะห์ไว้ว่าคนไทยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแพงกว่าอเมริกา เพราะแม้ในอเมริกาจะมีอัตราการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด 37% และไทย 35% แต่หากคนไทยมีรายได้ต่อปีมากกว่า 5 ล้าน จะเสียภาษีในอัตรา 35% ขณะที่คนอเมริกาที่มีรายได้ 5 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 6.45 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรา 32% เท่านั้น 

         นอกจากอเมริกาแล้ว เราลองไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ขึ้นชื่อว่าคุณภาพชีวิตดีอย่างสิงคโปร์ โดยเทียบกับรายได้ต่อปีไม่เกิน 6.44 ล้านบาท ก็พบว่าคนสิงคโปร์เสียภาษีในอัตราไม่เกิน 20% เท่านั้น โดยอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของสิงคโปร์สูงสุดอยู่ที่ 22% และการที่จะเสียภาษีในอัตราที่สูงที่สุดได้ก็ต้องมีรายได้ต่อปีมากกว่า 320,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 7.3 ล้านบาท 

        ส่วนสวีเดนที่ขึ้นชื่อว่าอัตราสูงสุดของภาษีเงินได้บุคคลสูงลิ่วเป็นอันดับหนึ่งของโลกนั้น หากมีรายได้สุทธิต่อปีตั้งแต่ 0-490,700 โครนสวีเดน หรือไม่เกิน 17 ล้านบาท จะเสียภาษีให้ท้องถิ่น 32% ซึ่งน้อยกว่าไทยเช่นกัน แต่ถ้าหากมีรายได้ต่อปีมากกว่า 509,300 โครนสวีเดน นอกจากจะต้องเสียภาษีให้กับท้องถิ่น 32% แล้ว ยังต้องจ่ายภาษีระดับประเทศอีก 20% ยิ่งกว่านั้นคือถ้ารายได้ต่อปี 689,300 โครนสวีเดนขึ้นไป ต้องจ่ายภาษีระดับประเทศ 25% รวมกับภาษีท้องถิ่นด้วยก็เท่ากับว่าต้องเสียภาษี 57% เลยทีเดียว

        หากเปรียบเทียบในลักษณะนี้ จะเห็นได้เลยว่า มายาคติที่ว่าคนไทยเสียภาษีน้อยนั้นไม่จริง เพราะเอาเข้าจริง คนไทยอาจเสียภาษีแพงกว่าอเมริกาและสิงคโปร์เสียอีก 

        บางคนอาจจะบอกว่า ต่อให้มีรายได้สุทธิต่อปี 10 ล้านบาท คนไทยก็เสียภาษีแค่ 35% แต่ในความเป็นจริงการจะมีรายได้ต่อปีสูงถึงหลักสิบล้านต้องมีเงินเดือนโดยเฉลี่ยเหยียบล้าน ซึ่งในบ้านเรามีไม่กี่อาชีพหรอกที่สามารถทำเงินได้ระดับนั้น 

        นอกจากเรื่องของรายได้ต่อปีที่เรานำมาเปรียบเทียบแล้วจึงต้องดูบริบทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นรายได้ต่อหัว ค่าเงิน ตลอดจนค่าครองชีพของแต่ละประเทศ

คนรวยไม่ได้เสียภาษีมากกว่าเสมอไป 

        แม้หลายประเทศจะมีการเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้า ทำให้คนรวยจ่ายมาก คนจนจ่ายน้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนรวยจะจ่ายภาษีมากกว่าคนจนเสมอไป 

        ในอเมริกาเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่าผู้ที่ร่ำรวยที่สุด 0.1% ถือครองสินทรัพย์ราว 20% หรือเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าหากเทียบกับราว 20 ปีที่ผ่านมา พร้อมพบโครงสร้างที่บิดเบี้ยวของภาษี โดยผู้มีเงินได้ส่วนใหญ่จะเสียภาษีในอัตราราว 28% แต่ที่อเมริกา คนที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ 400 ครอบครัว เสียภาษีเงินได้ในอัตรา 23% ขณะที่ครอบครัวยากจนที่สุดในประเทศเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 24% 

        เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมาทันที จนวุฒิสมาชิก เอลิซาเบธ วอร์เรน อดีตผู้ท้าชิงเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ได้เสนอให้มีการเรียกเก็บ ‘ภาษีความมั่งคั่ง’ ต่อครอบครัวที่มีทรัพย์สิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะช่วยนำเงินเข้ารัฐได้ถึง 2.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 10 ปี 

        อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีมั่งคั่งเคยล้มเหลวมาแล้วในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เพราะบางครั้งทรัพย์สินของมหาเศรษฐีไม่ได้อยู่ในธนาคารหรือตราสารทางการเงิน แต่อยู่ในรูปของของสะสมต่างๆ จึงสร้างความยุ่งยากในการประเมินมูลค่า รวมถึงมหาเศรษฐีบางคนยังอาศัยกลไกต่างๆ เพื่อให้ได้รับการลดหย่อนภาษี ตลอดจนมีการเลี่ยงภาษีด้วยการโยกย้ายเงินไปไว้ใน tax haven ที่มีการเรียกเก็บภาษีในอัตราต่ำหรือไม่มีเลย เช่น หมู่เกาะเคย์แมนในทะเลแคริบเบียน อันมีชื่อเสียงในฐานะแหล่งหลบเลี่ยงภาษีของคนรวย

        กรณีของอเมริกานั้นน่าสนใจในแง่ที่ว่า บ้านเราเองก็มีคนกลุ่ม Top 1% ที่ครองทรัพย์สินมหาศาลอยู่เช่นกัน โดยการสำรวจข้อมูลความร่ำรวยจาก Forbes พบว่า จากปี 2551-2561 เศรษฐีไทยรวยขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 15% จนช่องว่างของความมั่งคั่งห่างถ่างออกเรื่อยๆ และการสะสมทุนของกลุ่ม Top 1% ของประเทศล้วนได้รับการสนับสนุนจากรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม

        ในงานวิจัย ‘แนวทางการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและวิเคราะห์การกระจายรายได้ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน’ เคยศึกษาเกี่ยวกับประเด็นนี้เอาไว้ผ่านการวิเคราะห์ฐานข้อมูลผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2555 กว่า 600 ตัวอย่าง ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า คนกลุ่ม Top 1% มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 308,000 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 3.7 ล้านบาทต่อปี 

        ใช่ ตัวเลขนี้ฟังดูเยอะสำหรับคนธรรมดาทั่วไป แต่ถ้าวิเคราะห์ให้ดี เราจะเห็นเลยว่าในความเป็นจริงรายได้ของมหาเศรษฐีไม่ควรจะต่ำเท่านั้น ทางคณะวิจัยจึงตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลตัวอย่างที่กรมสรรพากรให้มานั้นอาจไม่ได้สะท้อนกลุ่ม Top 1% ของประเทศจริงๆ เพราะรายได้เฉลี่ย 3.7 ล้านบาทต่อปี ถือว่ายังห่างไกลกับกลุ่ม CEO ของบริษัทเอกชนชั้นนำที่น่าจะมีรายได้สูงถึง 20-30 ล้านบาทต่อปี หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 220 คน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการทหารและพลเรือนระดับสูง ตลอดจนผู้บริหารภาคเอกชนก็มีรายได้เฉลี่ยที่ 5.5 ล้านบาทต่อปี 

        ทั้งยังพบด้วยว่ากลุ่ม Top 1% เสียภาษีอัตราภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ 20.2% เท่านั้น เนื่องจากปัญหาเรื่องการให้ค่าลดหย่อนของระบบภาษีไทย

        สำหรับรายได้ส่วนที่หายไปของกลุ่ม Top 1% นั้น ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าคณะงานวิจัยดังกล่าว เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เป็นปัญหาในแง่ที่ว่ามีผู้ไม่ได้รับรายได้จากการทำงานกับนิติบุคคลใดๆ แม้จะมีรายได้สูงมากๆ ด้วย หลายคนไม่ได้ยื่นแบบภาษีเพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องยื่น เช่น คนกลุ่มที่มีเงินออมสูงและมีรายได้จากดอกเบี้ย เงินปันผล รายได้จากทรัพย์สินที่ได้จากปัจเจกบุคคล รายได้จากต่างประเทศที่ไม่ได้เอาเข้ามาในปีที่เสียภาษี รวมถึงรายได้ที่ไม่ต้องการรับคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย 

        ระบบภาษีของไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาหลายครั้งว่ากลไกการจัดเก็บมีความเหลื่อมล้ำระหว่างมนุษย์เงินเดือนและกลุ่มธุรกิจ เพราะตัวเลขของคนที่จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่แค่ประมาณ 10% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นมนุษย์เงินเดือนกว่า 80% ธุรกิจและวิชาชีพเฉพาะ 14% และการลงทุนและทรัพย์สิน 6% (ข้อมูลเมื่อปี 2561)

        นอกจากนี้ระบบภาษีของไทยยังมีข้อกำหนดเรื่องการลดหย่อนจำนวนมากและสลับซับซ้อน รวมถึงไม่มีการเสียภาษีส่วนต่างของราคาทรัพย์สิน (Capital-gain Tax) ภาษีมรดกก็จัดเก็บไม่ค่อยได้ ฐานข้อมูลการถือครองทรัพย์สินไม่สมบูรณ์และไม่สามารถบูรณาการข้อมูลทรัพย์สินได้ทั้งระบบ 

ภาษีที่จ่ายไป ถูกจ่ายคืนด้วยสิ่งที่ประชาชนไม่ต้องการ 

        ตามกระบวนการหลังจากรัฐบาลได้รับเงินภาษีทั้งหมดมาจากประชาชน เงินเหล่านั้นจะถูกจัดสรรไปให้กระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ ตาม พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งยังใช้ในการบริการทั่วไปของรัฐที่เป็นรายจ่ายประจำ เช่น ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานบุคคล ค่าดำเนินกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการชำระหนี้เงินกู้และเงินโอนให้ท้องถิ่น 

        ถึงแม้ว่าเงินภาษีจะเป็นรายได้สำคัญให้รัฐบาลนำไปใช้บริหารและพัฒนาประเทศเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน แต่หลายครั้งก็ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนเท่าไหร่นัก เห็นได้จากกรณีข้อพิพาทเหมืองทองอัคราที่ถูกสังคมวิพากวิจารณ์อย่างหนักเมื่อในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2564 ตั้งงบกว่า 1.1 แสนล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับบริษัท คิงส์เกต จากประเทศออสเตรเลีย 

        ส่วนอีกประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่แพ้กันก็คือกรณีจัดซื้อเรือดำนำที่ตั้งงบไว้ถึง 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าในสภาวะที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยเช่นนี้ การซื้อเรือดำน้ำไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม ทำให้รัฐบาลตัดสินใจพับโครงการนี้เก็บไปก่อน 

        แผนการใช้จ่ายของรัฐบาลในสองกรณีข้างต้นเป็นเพียงการดำเนินงานส่วนหนึ่งที่ประชาชนมองว่า ‘สิ้นเปลืองภาษี’ แต่ความเป็นจริงงบประมาณหลายส่วนที่รัฐใช้จ่ายเป็นประจำทุกปีก็ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจเหมือนกัน

        ตัวอย่างเช่น กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศมาโดยตลอด แต่คุณภาพการศึกษาไทยต่ำกว่านานาชาติและต่ำกว่าเพื่อนบ้านด้วยกันในหลายด้าน การเรียนการสอนยังคงเน้นบรรยายเนื้อหาให้นักเรียนท่องจำไปสอบ โรงเรียนที่มีคุณภาพกระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองใหญ่ จึงเป็นปัญหาขาดทรัพยากรและการกระจายบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถไปสู่ท้องถิ่น 

 

ภาษี

 

        นอกจากนี้ยังมีเด็กวัยเรียนอายุ 3-17 ปี อยู่นอกระบบการศึกษามากกว่า 670,000 คนทั่วประเทศ เพราะปัญหาความยากจน ความด้อยโอกาสทางสังคม ความพิการและปัญหาครอบครัว แม้รัฐจะมีการจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อนักเรียนยากจน แต่ก็เพียงร้อยละ 0.5 ของงบประมาณด้านการศึกษาเท่านั้น ทั้งยังขาดเครื่องมือในการคัดกรองความยากจนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เด็กเยาวชนยากจนในระบบการศึกษาซึ่งสมัครรับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานอีกกว่า 4 ล้านคนไม่ได้รับเงินอุดหนุน ยังไม่รวมถึงระบบโครงสร้างที่ผลักภาระงานอื่นนอกจากการสอนให้ครูไทย

        ‘ขนส่งสาธารณะ’ ก็สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้การศึกษาและเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำของทุกคน กระทรวงคมนาคมเองได้งบประมาณต่อปีอยู่ในอันดับต้นๆ เช่นกัน แต่พูดได้เลยว่า คุณภาพของถนนไทยนั้นไม่ได้ดีที่สุดในโลกอย่างที่นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวไว้ ทุกคนน่าจะเคยมีประสบการณ์เจอถนนเส้นดาวอังคารที่เต็มไปด้วยบ่อหลุม หากใช้รถโดยสารสาธารณะก็คงต้องต่อรถหลายต่อกว่าจะถึงที่ทำงาน และรถไฟฟ้าก็ราคาแพงแสนแพงจนจ่ายไม่ไหว ประชากรชาวกรุงจึงหมดเวลาไปกับท้องถนนหลายชั่วโมง

 

ภาษี

 

        จากรายงานการประเมินสภาพจราจรทั่วโลกประจำปี 2019 โดย INRIX พบว่ากรุงเทพฯ ติดอันดับ 33 เมืองที่มีการจราจรแออัดมากที่สุดในโลกและเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย ซึ่งเฉลี่ยแล้วเราต้องเสียเวลาราว 90 ชั่วโมงต่อปีไปบนท้องถนน 

        หากเลือกได้ใครจะอยากเสียเวลาไปบนท้องถนนที่มีแต่ความเสี่ยงต่อชีวิตแทนที่จะได้เอาเวลาไปพัฒนาตัวเองหรืออยู่กับครอบครัว ซึ่งในประเทศที่มีขนส่งสาธารณะที่ดีได้นั้น ต่างก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล เช่น สิงคโปร์และญี่ปุ่น ที่ออกแบบเมืองสนับสนุนให้คนใช้บริการขนส่งสาธารณะ และเงินเหล่านี้ก็มาจาก ‘ภาษี’ นั่นเอง

        ส่วนรัฐบาลไทย เราจะเห็นว่าเน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ ขณะที่การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมและได้มาตรฐานกลับเป็นรองลงมา นโยบายลักษณะนี้เลยมีส่วนสนับสนุนให้คนหันไปใช้รถยนต์ส่วนตัว สุดท้ายจึงวนกลับไปที่ปัญหารถติดที่แก้อย่างไรก็ไม่สำเร็จ เพราะรัฐขาดนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งที่สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองตั้งแต่เริ่มต้น

        ไม่เพียงเท่านั้น รัฐยังให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนารถไฟความเร็วสูง การขยายเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และการขยายท่าอากาศยาน ซึ่งผู้ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่คือผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง แต่การลงทุนพัฒนาระบบขนส่งของผู้มีรายได้น้อยอย่าง รถเมล์ รถไฟดั้งเดิม รถมอเตอร์ไซค์ รถจักรยาน รวมถึงคนเดินเท้า กลับถูกละเลย ทั้งที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ 

        สองกระทรวงที่กล่าวถึงข้างต้นล้วนเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง แต่อีกกระทรวงหนึ่งที่ประชาชนตั้งข้อกังขาไม่น้อยก็คือ กระทรวงกลาโหม เพราะหลังการรัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมา กระทรวงนี้ได้รับงบประมาณเพิ่มอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับงบกระทรวงสาธารณสุขที่ตัวเลขหยุดคงที่มาหลายปี แม้จะมีข่าวออกมาว่าโรงพยาบาลขาดงบอุปกรณ์การแพทย์จนพี่ตูนต้องออกไปวิ่งช่วยหาทุนให้ก็ตาม 

        จนกระทั่ง COVID-19 มาถึง รัฐบาลถึงหันมาเพิ่มงบกระทรวงสาธารณสุข แต่หลายคนคงยังไม่ลืมช่วงการระบาดของไวรัส ที่ในประเทศขาดแคลนหน้ากากอนามัย รวมถึงการกระจายเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่มีข้อสงสัยว่ามีเกณฑ์อย่างไร

 

ภาษี

การใช้ภาษีที่คุ้มค่าหน้าตาเป็นอย่างไร? 

        ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก (Nordic Region) หรือเดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และไอซ์แลนด์ นั้นขึ้นชื่อเรื่องเรื่องการเสียภาษีที่สูงมาก แต่ก็ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีมากเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา ความเท่าเทียม และรัฐสวัสดิการ หากจัดอันดับอะไรในแง่บวก ประเทศกลุ่มนี้มักติดโพลเสมอ 

        ปกติเรามักจะมองกันว่าระบบรัฐสวัสดิการที่กว้างขวางเป็นโมเดลหนึ่งที่สำคัญของกลุ่มประเทศนี้ แต่จริงๆ แล้วยังมีเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและการสร้างทัศนคติต่อผู้คนที่ให้ความสำคัญด้วย 

        ในด้านเศรษฐกิจและสังคมนั้น นโยบายของรัฐจะเน้นการเข้าถึงระบบรักษาสุขภาพฟรีถ้วนหน้า การศึกษาฟรีและมีคุณภาพ สุดท้ายเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัย 3 สิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญ เพราะเป็นหลักประกันว่าประชาชนทุกคนจะได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน ในประเทศสิงคโปร์เองก็มี 3 ยุทธศาสตร์พื้นฐานเป็นประเด็นนี้เหมือนกัน 

        ส่วนนโยบายด้านแรงงานของกลุ่มประเทศนอร์ดิกจะเน้นสร้างความยืดหยุ่นและมีหลักประกัน โดยนายจ้างสามารถปรับลดคนงานได้อย่างรวดเร็วตามสภาพตลาดธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ฝั่งลูกจ้างเองก็ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมเพราะรัฐมีหลักประกันจากการว่างงาน ซึ่งประเทศเดนมาร์กเป็นผู้นำในการปฏิรูประบบการจ้างงานในลักษณะนี้ แต่ที่น่าสนใจคือแรงงานในกลุ่มประเทศนอร์ดิกมีการศึกษาดีที่สุดและได้รับค่าตอบแทนดีที่สุดในโลก ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จึงต่ำมาก

        ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยิ่งความไม่เท่าเทียมสูงมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งส่งผลลบมากขึ้นเท่านั้น ประเทศเหล่านี้จึงเข้ามาแทรกแซงให้ช่องว่างในสังคมไม่ถ่างกว้างเกินไปด้วยการใช้กลไกภาษี

 

ภาษี

 

        นอกจากนี้นโยบายทางเศรษฐกิจของนอร์ดิกยังเป็นรูปแบบการค้าเสรี ที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และส่งเสริมการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม ออสโลเมืองหลวงของนอร์เวย์พัฒนาตนเองให้กลายเป็นเมืองสีเขียวจนได้รับเลือกให้เป็นเมืองสีเขียวของภูมิภาคยุโรปในปี 2019 (European Green Capital 2019) สวีเดนยังเป็นประเทศที่นำขยะมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า จนมีข่าวขาดแคลนขยะอยู่ช่วงหนึ่งด้วย

        ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศกลุ่มนี้คือ ความคิดชาตินิยมที่สร้างสรรค์ (Constructive Nationalism) หมายถึงการสร้างทัศนคติในเชิงบวก ความรักชาติของนอร์ดิกจึงอยู่ในรูปของการมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อโมเดลทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งเสริมให้เกิดความไว้วางใจระหว่างภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และรัฐบาล พร้อมกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นทางการเงิน การเลือกอาชีพ ตลอดจนงานอาสาสมัครเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมโดยรวม

        ข้อมูลทั้งหมดนี้ของกลุ่มประเทศนอร์ดิกมีความเกี่ยวข้องกับภาษีในแง่ที่ว่ารัฐบาลไม่ได้จัดเก็บภาษีสูงโดยไม่ได้ดูบริบทของประเทศ แต่มีการวางรากฐานทางนโยบายในด้านต่างๆ ให้ประชาชนมีความสามารถที่จะจ่ายภาษีได้และรู้สึกคุ้มค่าที่จะจ่ายเพราะได้รับรัฐสวัสดิการที่ดีตอบแทนกลับมา 

        นอกจากนี้ การทำงานของรัฐที่โปร่งใสก็ก่อให้เกิดความเชื่อใจระหว่างกัน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และสวีเดน อยู่ใน Top 5 ประเทศที่มีการคอร์รัปชันต่ำที่สุด ซึ่งความเชื่อใจถือเป็นปัจจัยเชิงสังคมอย่างหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับการเสียภาษีโดยตรง มีข้อมูลว่า ประเทศที่คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มเชื่อใจกันจะมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP สูงกว่าประเทศอื่นๆ แน่นอนว่าเป็นประเทศในกลุ่มนอร์ดิกนี่เอง

        ฟินแลนด์ยังยกระดับการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจไปอีกขั้น ด้วยการกำหนดให้วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันเปิดเผยข้อมูลการจ่ายภาษีต่อสาธารณะ ทุกคนจึงสามารถเห็นรายได้และภาษีที่แต่ละคนจ่ายได้ ใครที่รวยมาก แต่จ่ายภาษีน้อยมาก ก็จะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ถือเป็นนโยบายหนึ่งที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย 

        เมื่อย้อนกลับมามองประเทศไทย จะพบว่าเราไม่ได้มีแค่ปัญหาการจัดเก็บภาษีอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องรื้อกันทั้งระบบ อำนาจในมือของประชาชนที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ก็คือการเลือก ‘รัฐบาล’ หากรัฐบาลที่เราไม่ได้เลือกขึ้นมารับหน้าที่ ก็เป็นไปได้ที่การใช้จ่ายภาษีจะไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนทั่วไป

        แต่จะตอบสนองความต้องการของใครเป็นหลัก

        น่าจะเป็นเรื่องที่เห็นๆ กันอยู่

 


ที่มา:

www.the101.world/one-on-one-atipat

https://workpointtoday.com/sweden-welfare-tax

https://taxsummaries.pwc.com/sweden/individual/taxes-on-personal-income

www.iras.gov.sg/irashome/Individuals/Locals/Working-Out-Your-Taxes/Income-Tax-Rates/#title2

www.skatteverket.se/funktioner/svarpavanligafragor/privat/beloppochprocent/privatbeloppfaq/narska—manbetalastatliginkomstskattochhurhogarden.5.10010ec103545f243e8000166.html

https://themomentum.co/wealth-tax-us

https://inrix.com/scorecard

www.knowledgefarm.in.th/top1-pit

www.the101.world/tax-reform-proposal

www.bangkokbiznews.com/news/detail/862305

https://thestandard.co/masstransitsystem-inequality-van-lessonslearned

www.foreignaffairs.com/articles/europe/2020-01-02/new-nordic-model

https://thaipublica.org/2020/01/pridi176

https://themomentum.co/why-do-we-pay-taxes

www.fpo.go.th/main/getattachment/General-information-public-service/Tax-Policy-Journal/5305/CNT0017865-1.pdf.aspx

https://waymagazine.org/singapores-strategy

www.the101.world/thai-report-education