ย้อนรอยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชประเพณีโบราณที่คงมนตร์ขลังต่อชาวไทยเสมอ

เมื่อครั้งที่ได้อ่านหนังสือเรื่อง สี่แผ่นดิน เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และบรรยากาศของประเทศไทยในอดีตจากคำบอกเล่าของ ‘แม่พลอย’ ซึ่งเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของพระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชสมัยที่เธอพบเห็นมาตลอดชีวิต ช่วงเวลานั้นช่างห่างไกลจากคนที่เกิดในยุคของเจนวาย (หรือแม้แต่เจนเอ็กซ์) ในปัจจุบันเหลือเกิน เนื่องจากพวกเรานั้นเป็นไพร่ฟ้าหน้าใสที่ใช้ชีวิตอย่างรื่นเริงภายใต้พระมหากษัตริย์พระองค์เดียว นั่นคือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือที่เรียกกันติดปากว่าในหลวง รัชกาลที่ ๙ พวกเราต่างคุ้นชินที่เห็นท่านทรงงานให้เห็นมาตลอด จนถึงคืนแห่งความวิปโยค วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ประชาชนจำนวนมากจึงได้เข้าใจความรู้สึกของแม่พลอยที่บรรยายเอาไว้ในนวนิยาย ถึงบรรยากาศเศร้าโศกของประชาชนต่อการสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเราในตอนนี้เลย หัวใจผู้คนอ่อนระโหย ถูกความเศร้ากัดกินกันทั่วหน้า แม้อากาศยังพลอยสลดหดหู่ไปด้วย เหมือนความโศกตรมเป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นเฉียบพลันภายในคืนเดียวแพร่กระจายไปทั้งแผ่นดิน พอรุ่งสางของวันถัดไป พวกเราก็กลายเป็นคนสองแผ่นดินไปเสียแล้ว เวลาแห่งความเศร้าโศกเหลือแค่รอยจางในความทรงจำ เราจำใจต้องยอมรับว่าในหลวง รัชกาลที่ ๙ ท่านกลับสู่แดนสรวงไปแล้ว เมื่อระลึกถึงครั้งใดน้ำตาก็เอ่อคลอ และประชาชนอย่างเราใช้เวลาเป็นปีเพื่อที่จะยอมรับว่าเราได้ก้าวเข้าสู่รัชสมัยใหม่กันแล้ว  

     วันนี้วาระมหามงคลของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ได้เริ่มขึ้น พร้อมกับเป็นปีที่น่าจดจำของประวัติศาสตร์ประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อพระราชประเพณีโบราณได้มาถึง เราได้เห็นงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเถลิงราชย์พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ที่คนไทยทั้งปวงตื่นเต้น คนทั้งโลกก็ใคร่รู้ใคร่เห็น รวมถึงคำราชาศัพท์ที่หลากหลาย และชื่อพิธีแปลกหูแปลกตาซึ่งล้วนแต่เป็นศัพท์เฉพาะทางที่เราได้ยินเป็นจำนวนมาก นั่นแสดงให้เห็นว่าพระราชประเพณีโบราณยังคงมนตร์ขลังต่อประชาชนชาวไทยเสมอ ดังนั้น เราจึงขอพาคุณย้อนเวลากลับไปดูเรื่องราวพิธีบรมราชาภิเษกที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ

 

น้ำมุรธาภิเษก

     พิธีบรมราชาภิเษกเถลิงถวัลย์ขึ้นครองราชย์สมบัติ ที่มีการใช้น้ำมุรธาภิเษกตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งคำว่า ‘ภิเษก’ เรามักจะคุ้นเคยกันในงานพระราชพิธีต่างๆ เช่น อภิเษกสมรส ‘อภิเษก’ ไม่ได้แปลว่ายิ่งใหญ่เป็นพิเศษ และคำว่า ‘ภิเษก’ ก็ได้แปลว่าพิเศษเช่นกัน แต่มาจากการสมาสของคำว่า ‘บรมราชาภิเษก’ ที่มาจากคำว่า บรม + ราชา + อภิเษก โดยอภิเษก แปลว่า รดน้ำ ถ้าเทียบกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของประเทศตะวันตก การขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์จะตรงกับคำว่า Coronation หมายถึง มงกุฎแห่งชัยชนะ ก็คือพิธีสวมมงกุฎราชานั่นเอง แต่ผิดกันตรงที่ราชวงศ์ฝรั่งนั้นไม่มีพิธีลงสรง, พิธีรดน้ำ อย่างทางเอเชียอาคเนย์

     นอกจากตัวงานพระราชพิธีแล้ว น้ำอภิเษกก็เป็นบทบาทสำคัญที่ของงานด้วย ซึ่งเรียกน้ำชนิดนี้ว่า ‘น้ำมุรธาภิเษก’ มุรธา หมายถึง หัว, ยอด โดยน้ำมุรธาภิเษกนี้จะใช้สำหรับรดพระเศียรพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ดังนั้น น้ำที่ใช้ในการนี้จะต้องเป็นน้ำที่นำมาจากแหล่งน้ำสำคัญทั่วประเทศ ทั้งจากสระหลวง แม่น้ำ แหล่งน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งในบันทึกทางประวัติศาสตร์นั้น พิธีบรมราชาภิเษกที่มีการใช้น้ำมุรธาภิเษกครั้งแรกบันทึกในประวัติศาสตร์ย่านอุษาคเนย์นั้นถูกบันทึกไว้ในศิลาจารึกเจ้าชายจิตรเสน  

 

 

     เจ้าชายจิตรเสน (พระเจ้ามเหนทรวรมัน) กษัตริย์แห่งอาณาจักรเจือนเลอ (เจนละ) ซึ่งศิลาจารึกนี้ถูกค้นพบที่จังหวัดอุบลราชธานี มีข้อความสลักเป็นภาษาปัลลวะ โดยทำการสลักขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 12 ซึ่งเป็นยุคที่ผู้คนบูชาพระศิวะป็นใหญ่ เจ้าชายจิตรเสนองค์นี้ทรงเป็นบุรุษที่ปรีชาสามารถ ทั้งเรื่องการศึก การค้า กว่าจะได้ขึ้นครองราชย์ต้องผ่านวิถีการเมืองมาไม่น้อย เรื่องราวของพระองค์จึงเป็นที่กล่าวขานถึงในฐานะมหาราชที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง

     ต่อมาในประวัติศาสตร์กษัตริย์ไทย ‘พ่อขุนศรีอินทราทิตย์’ จากจารึกวัดศรีชุม เล่าถึงยุคสุโขทัยเป็นราชธานี แสดงให้เห็นว่าเรารับวัฒนธรรมนี้มาจากขอมโบราณ รวมทั้งพิธีพราหมณ์ฮินดูต่างๆ ด้วยการเสกสมรสเชื่อมสัมพันธไมตรี พ่อขุนผาเมืองได้เสกสมรสกับนางสิงขรเทวี พระราชธิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์ขอมแห่งเมืองศรีโสธรปุระ (นครธม) และได้รับพระราชทานพระนามว่ากมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ หรือเรียกแบบไทยๆ ว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์

     พระนามนี้เป็นการอวยยศให้ราชบุตรเขย ที่ต่อไปในอนาคตจะทรงขึ้นครองเมืองสุโขทัยสืบต่อพ่อขุนศรีนาวนำถุม พระราชบิดา แต่บ้านเมืองในยามนั้นเพิ่งจะรบปราบกบฏขอมสบาดโขลญลำพงสำเร็จ พ่อขุนผาเมืองจึงตัดสินพระทัยให้ ‘พ่อขุนบางกลางหาว’ เจ้าเมืองราด ซึ่งเป็นพระสหายและเป็นพระขนิษฐภรรดา (น้องเขย) ให้ขึ้นครองราชย์แทน โดยยกพระนามพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ให้เพื่อจะได้ไม่ผิดราชโองการที่ว่าพระนามนี้สำหรับกษัตริย์สุโขทัยเท่านั้น พร้อมกับยกพระขรรค์ชัยศรีซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจที่ได้ประทานมา โดยมีสิ่งเดียวงดเว้นไม่พระราชทานให้คือนางสิงขรเทวีพระชายาเท่านั้น จากนั้นจึงเสด็จไปปกครองเมืองราดแทน

 

 

     ด้วยเหตุนี้พ่อขุนบางกลางหาวซึ่งเพิ่งได้พระนามใหม่ว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ต้องเข้าพิธีบรมราชาภิเษก และน้ำมุรธาภิเษกก็ได้ปรากฏขึ้นมา เริ่มจากสุโขทัยมาสู่อยุธยา ในจารึกวัดป่ามะม่วง มีศิลาจารึกสองภาษาทั้งภาษาไทย และภาษาเขมรกล่าวถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพิธีบรมราชาภิเษกพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ว่ามีมกุฎ พระขรรค์ชัยศรีและเศวตฉัตร และต่อมาในยุคกรุงธนบุรี ไม่มีจารึกหรือบันทึกหลักฐานใดว่ามีการใช้น้ำมุรธาภิเษกในพิธีพระบรมราชาภิเษก แต่ทำพระราชพิธีขึ้นครองราชสมบัติโดยไม่เน้นเต็มพระยศ เนื่องจากยามนั้นบ้านเมืองยังไม่สงบสุขจากสงครามยังมีศึกอยู่รอบด้าน  

     จนมาถึงยุครัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมวงศ์ราชวงศ์จักรี จึงได้ใช้ตำราหอหลวงว่าด้วยพิธีบรมราชาภิเษกที่ลิขิตไว้โดยเจ้าฟ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด (ขุนหลวงวัดประดู่) ซึ่งถือว่าเป็นตำรับที่ละเอียดที่สุดที่เหลือรอดมาในยุคปลายอยุธยา และใช้สืบทอดตามตำรานี้เป็นมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ ทั้งอัญเชิญน้ำจากเบญจสุทธคงคา แม่น้ำที่บริสุทธิ์ ๕ สาย อนุโลมว่าเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับปัญจมหานทีในประเทศอินเดีย มาเป็นน้ำมุรธาภิเษก โดยเป็นความเชื่อจากศาสนาพราหมณ์ที่จำลองมาจากการนำน้ำจากปัญจมหานทีในอินเดีย โดยการรวมแม่น้ำที่บริสุทธิ์ ๕ สาย ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี

     ในยุคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลง โดยมีนานาอารยะเข้ามาสู่สยาม งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงเปลี่ยนรูปแบบของการทำพิธีหลายอย่าง ตั้งแต่เพิ่มคำว่า ‘บรม’ ลงไปในพิธีราชาภิเษก ทั้งนี้ เพื่อให้แยกแยะพระราชพิธีออกจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และในการตั้งพิธีแต่เดิมใช้เพียงแค่พราหมณ์หลวงเท่านั้น แต่เนื่องจากพระองค์ท่านเคยผนวชเป็นพระถึง ๒๗ พรรษา จึงเพิ่มพิธีอย่างพุทธเข้ามาร่วมด้วย โดยให้พระสงฆ์ซึ่งเป็นพระครูพระปริตรไทย ๔ รูป สวดทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีสรงพระมุรธาภิเษก จึงมีน้ำพระพุทธมนต์เพิ่มขึ้นมา

     ในแท่นบรมพิธีมีการระบุไว้ว่า อัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จากชัยภูมิ คงคา ยมุนา สระแก้ว สระเกษ มาเพิ่มเติม และระหว่างที่ผนวชก็เสด็จไปจาริกบุญทั่วประเทศก็ได้พบสระ ๔ สระ จึงทรงตักน้ำจากสระ ๔ สระ และมีขวดจากการตักน้ำเหลืออยู่ โดยมีน้ำมันอีก ๔ ขวด เหตุที่เพิ่มเติมเพราะในสาแหรกวงศ์นั้น ราชวงศ์จักรีสืบสายมาจากสองราชวงศ์ คือ วงศ์ละโว้ และวงศ์สุพรรณภูมิ โดยวงศ์ละโว้นั้นอัญเชิญน้ำมาจากเขมร ส่วนวงศ์สุพรรณภูมินั้น สันนิษฐานว่าขุนหลวงพะงั่วนำน้ำมาจากสุวรรณเขต (ปัจจุบันคือ แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว) โดยมีจารึกไว้ว่าเป็นน้ำจากสระเกษ และสระแก้ว

 

เครื่องราชกกุธภัณฑ์

     ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ผนวชอยู่ที่วัดสมอราย (ปัจจุบันคือวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร) ซึ่งอยู่ใกล้วัดคอนเซ็ปชัญ (Conception Church โบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก) ท่านได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษและมีราชเลขาอยู่ต่างประเทศอีกด้วย จึงรับเอาพิธีบรมราชาภิเษกของอังกฤษมาปรับแต่งเสริมเข้ามา เช่น พระราชินีอังกฤษทรงคทา ก็โปรดให้นำธารพระกรมาใช้ในราชพิธี โดยธารพระกรที่ว่านี้ชื่อ ‘ธารพระกรชัยพฤกษ์’ ซึ่งรัชกาลที่ ๑ รับสั่งให้สร้างขึ้น ตัวธารพระกรนั้นทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ปิดทอง หัวและส้นเป็นเหล็ก คร่ำลายทอง ที่สุดส้นเป็นส้อมสามง่าม

     ในพระราชพิธีตามคติความเชื่อของอังกฤษนั้น พระราชินีจะสวมพระธำมรงค์ ๒ วง เรียกว่า Wedding England Grim เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพันธสัญญาว่าทรงอภิเษกสมรสกับประเทศอังกฤษแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงทรงพระธำมรงค์ ๒ วงเช่นกัน ชื่อ ‘รัตนวราวุธ’ กับ ‘วิเชียรจินดา’ และทรงให้ทุกคนสวมเสื้อผ้าเมื่อเข้าเฝ้า ไม่ต้องเปลื้องท่อนบนออกเหมือนเช่นธรรมเนียมเดิม และชาวต่างชาติก็ไม่ต้องหมอบคลานมาเข้าเฝ้า สามารถยืนถวายพระพรได้ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ชาวต่างประเทศมองว่าสยามป่าเถื่อน  

     เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ขึ้นครองราชย์ ท่านทรงเป็นพระองค์เดียวในราชวงศ์จักรีที่มีพิธีบรมราชาภิเษกถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์เพื่อพระชนมายุ ๑๕ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ได้ใช้น้ำได้ใช้เบญจสุทธคงคา และน้ำจากสระ ๔ สระ แขวงเมืองสุพรรณบุรี เช่นเดียวกับรัชกาลก่อนๆ และครั้งที่ ๒ เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๒๐ พรรษา จึงผนวชตามธรรมเนียนราชประเพณี หลังจากทรงลาสิกขาแล้วทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖ โดยก่อนเข้าพิธี พระองค์ได้เสด็จประพาสอินเดียในปี พ.ศ. ๒๔๑๕ และทรงนำน้ำมาจากปัญจมหานทีของแท้กลับมา โดยเก็บไว้ที่หอศาสตราคม และนำมาใช้ร่วมกับน้ำเบญจสุทธคงคา เสกเป็นน้ำมรุธาภิเษกประกอบในพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒

     ต่อมาโปรดให้พระปัญจวชิรสงครามมาทำพิธีเสกน้ำทุกวันอังคาร ซึ่งตรงกับวันประสูติ เพื่อถวายให้สรงและล้างพระพักตร์ให้เกิดศุภมงคลแก่พระองค์ จึงโปรดให้ไปตักน้ำจากทั้ง ๔ สระมาใช้ในพิธี แต่พบว่าสระทั้งสี่เต็มไปด้วยวัชพืชซ้ำยังมีจระเข้อยู่ในสระเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าไม่มีการดูแลรักษาหลังจากที่เสร็จพิธี จึงรับสั่งพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (รัชกาลที่ ๖) ดูแลแหล่งน้ำตลอดจนคูคลองให้สะอาด อย่าได้ปล่อยปละละเลย และทรงมีอุบายในการดูแลด้วยองค์เอง

 

 

     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่เสด็จประพาสต้นเยี่ยมเยือนราษฎรทั่วประเทศถึงในถิ่นทุรกันดาร ทรงเป็นมหาราชที่ปัดเป่าทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนอย่างแท้จริง และเสด็จทางชลมารคบ่อยๆ ดังนั้น จึงพบข้าราชการที่ละเลยดูแลคูคลอง ปล่อยให้แม่น้ำสกปรกและตื้นเขิน จึงต้องวางอุบายเสด็จบ่อยๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะข้าราชการ ช่วยกันดูแลทางสัญจรทางน้ำ รวมไปถึงให้แน่ใจว่าราษฎรจะมีน้ำดื่ม น้ำใช้ และน้ำเพื่อทำการเกษตรอย่างเพียงพอ ในจดหมายเหตุเล่าว่า หลายครั้งที่เรือติดหล่มเพราะแม่น้ำตลอดจนลำคลองนั้นตื้นเขินเกินไป ถึงขั้นต้องลงไปเข็นเรือด้วยพระองค์เอง ทำให้ข้าราชการหวาดหวั่นราชภัยจากความไม่สะดวกนี้มาก ดังนั้น เมื่อมีรับสั่งว่าจะเสด็จประพาสที่ใด คลองในบริเวณนั้นจะสะอาดปราศจากขยะและวัชพืช อีกทั้งมีการขุดลอกคลองให้สะดวกแก่การสัญจรเป็นอย่างดี เห็นได้ว่าการจะขึ้นครองราชย์ต้องเสด็จไปทอดพระเนตรดูน้ำเพื่อดูแลราษฎรนั่นเอง น้ำที่ใช้ในพิธีจะถูกละเลยการดูแลนั้นมิได้ ช่างเป็นกุศโลบายที่มีความหมายและคุณประโยชน์มากจริงๆ

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

     ในรัชสมัยถัดมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกใน พ.ศ. ๒๔๕๕ ท่านโปรดให้ทำพิธี และใช้น้ำมุรธาภิเษกเหมือนสมเด็จพระราชบิดาเมื่อครั้งเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ คือมีน้ำจากปัญจมหาทีของอินเดียร่วมด้วย และโปรดให้ทำพิธีพลีกรรมและตักน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญต่างๆ มาปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระมหาเจดีย์สถานที่มีมาแต่โบราณ ๗ แห่ง นั่นคือ

     ๑. พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ตักน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ณ ตำบลท่าราบ รวมทั้งใช้น้ำสรงรอยพระพุทธบาทด้วย

     ๒. พระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก น้ำตกจากทะเลแก้ว สระแก้ว และน้ำจากสระสองห้อง

     ๓. วัดพระมหาธาตุ เมืองสวรรคโลก ตักน้ำจากตระพังทอง ตระพังเงิน ตระพังช้างเผือก ตระพังโพยสีโซกชมพู่ น้ำบ่อแก้ว น้ำบ่อทอง แขวงเมืองสวรรคโลก

     ๔. พระปฐมเจดีย์จังหวัดนครปฐม ตักน้ำจากแม่น้ำนครชัยศรี ตำบลบางแก้ว น้ำกลางหาวบนองค์พระปฐมเจดีย์ น้ำสระพระปฐมเจดีย์ น้ำสระน้ำจันทร์

     ๕. วัดพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช น้ำที่บ่อวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง บ่อวัดประตูขาว ห้วยเขามหาชัย และบ่อปากนาคราช

     ๖. วัดพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน ตักน้ำที่บ่อทิพย์เมืองนครลำพูน

     ๗. พระธาตุพนม เมืองนครพนม ในมณฑลอุดรอันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในประเทศไทย เป็นโบราณราชธานีศรีโคตรบูรณ์หลวง

     จากรัชกาลที่ ๖ มาสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พิธีบรมราชาภิเษกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ น้ำสรงมรุธาภิเษกถูกตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกที่หัวเมือง มณฑลต่างๆ ๑๘ แห่ง ซึ่งสถานที่ในการประกอบพิธีทำน้ำอภิเษกในรัชกาลนี้ใช้สถานที่เดียวกับรัชกาลก่อน จะเปลี่ยนแค่จากวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มาที่วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ แทน และเพิ่มอีกหนึ่งแห่งที่วัดบึงพระลานชัย จังหวัดร้อยเอ็ด

 

 

     เมื่อผลัดแผ่นดินมายังรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ พระมหากษัตริย์ที่มีพระชนมายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นพระมหากษัตรย์พระองค์เดียวที่ไม่มีพิธีบรมราชาภิเษกตามราชประเพณีโบราณเช่นเดียวกับรัชกาลอื่นๆ ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเมือง ทำให้มีการเลื่อนงานพระราชพิธีถึง ๓ ครั้ง โดยสองครั้งแรกติดปัญหาพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ (พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๗๘) ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๗๙ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จึงเลื่อนพระราชพิธีออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนเมื่อทรงบรรลุนิติภาวะครบ ๒๑ พรรษา ท่านทรงปกครองประเทศได้เองโดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่ยังมิทันได้ผนวชหรือมีพระราชพิธีหลวงใดๆ ทั้งสิ้น ก็เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืน  

     เมื่อผลัดแผ่นดินอีกครั้ง มาสู่แผ่นดินทองของมหาราชผู้เสมือนเทวาจุติลงมาจากแดนสรวง ยุคแห่งความร่มเย็นเป็นสุขของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ น้ำที่ทรงใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓  มีการทำพิธีที่มหาเจดียสถาน ๑๘ แห่ง เช่นเดียวกับรัชกาลที่ ๗ แต่มีการเปลี่ยนสถานที่ทำพิธีจากวัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ เป็นวัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน แทน และไม่ได้ใช้น้ำจากสระสองห้อง เมืองพิษณุโลก เนื่องจากปีนั้นแห้งแล้งน้ำแห้งผาก

 

 

     ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในกษัตราธิราช พระราชพิธีในยุคโบราณ ที่เราเพียงแค่รับทราบแต่ไม่มีโอกาสได้เห็นงานพระราชพิธีเลยด้วยซ้ำ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทั้งกฎเกณฑ์หรือธรรมเนียมโบราณ และเทคโนโลยีที่ใช้เป็นสื่อในการถ่ายทอดสดยังไม่เกิดขึ้น สำหรับวันนี้นับว่าเป็นโอกาสที่ดี และเป็นความโชคดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งในชั่วชีวิตของคนคนหนึ่งอาจไม่มีโอกาสได้เห็นเลยด้วยซ้ำ ครั้งนี้จึงนับเป็นศุภมงคลยิ่งนักแก่ปวงชนชาวไทยและชาวโลกอย่างแท้จริง

 

เมธิยา ปรีดิยาธร : เขียน


ขอบคุณข้อมูลจาก

– อาจารย์บุหลง ศรีกนก นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ข้าราชการบำนาญ กรมศิลปากร และผู้เขียนบทรายการ จดหมายเหตุกรุงศรี 

– ภาพยนตร์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก กระทรวงวัฒนธรรม