ถ้าให้ย้อนนึกไปถึงครั้งแรกที่เรารู้จัก ‘โขน’ คงมาจากการอ่านเรื่องราวที่อยู่ในหนังสือ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก (ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) โดยเล่าเรื่องราวของชีวิตคนไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งความบันเทิงของคนยุคนั้นคือการเดินทางไปดูมหรสพที่จัดขึ้นตามวาระสำคัญต่างๆ ประจำปี และการแสดงโขนก็คือมหรสพอันดับต้นๆ ที่ทุกคนต่างเฝ้ารอ
เวลาผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นตามยุคสมัย การแสดงมหรสพค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยวัฒนธรรมจากต่างชาติ ความเร้าใจ ความทันสมัยที่เข้ามาในสังคมไทยก็ค่อยๆ ผลักการแสดงที่เป็นรากเหง้าของเราให้ค่อยๆ ห่างออกไป เหมือนครั้งหนึ่งที่เรามองว่าดนตรีไทยคือของโบราณคร่ำครึ ไม่โก้เก๋เหมือนเครื่องดนตรีสากลอย่างในภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง
การแสดงโขนจึงค่อยๆ ซบเซาลงอย่างรวดเร็ว จนแทบจะกลายเป็นยาขมหม้อใหญ่สำหรับหลายๆ คนเวลาถามว่า ‘ไปดูโขนกันไหม’ เพราะแม้แต่เราเองเมื่อก่อนก็คิดแบบเดียวกันว่าต้องน่าเบื่อ ดูไปก็นั่งหลับ มีแต่คนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่สนใจ เพราะเรามัวแต่หลงใหลอยู่กับวัฒนธรรมที่เย้ายวนจากต่างประเทศ จนลืมไปว่าจารีตประเพณีของไทยที่มีแต่ช้านานนั้นก็มีเสน่ห์ไม่แพ้ใครเหมือนกัน
ความคิดแบบเก่าๆ ที่มีต่อการแสดงโขนของเราถูกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อมีโอกาสได้ดูการแสดงโขนกลางแปลงโดยบังเอิญจากความสนใจของคนรู้จัก จนกระทั่งได้มีโอกาสสัมผัสกับการแสดงโขนอย่างเต็มตัว เมื่อทางมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดแสดงโขนชุด นางลอย ขึ้นในปี 2553 ซึ่งความประทับใจในการแสดงครั้งนั้นทำให้เราเริ่มหันมาสนใจศิลปะประจำชาติแขนงนี้มากขึ้น
วันนี้ทางมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กำลังมีการแสดงโขนตอนใหม่ ชุด พิเภกสวามิภักดิ์ เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ขอถ่ายทอดความภูมิใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และเหล่าครูบาอาจารย์รุ่นใหญ่ ที่เข้ามาอุทิศตนช่วยกันสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยเอาไว้ให้คงอยู่ถึงวันนี้ ซึ่งเรื่องราวของพวกเขาจะทำให้คุณรู้ว่า การคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ที่งดงามแบบธรรมเนียมโบราณในยุคสมัยใหม่กันได้อย่างลงตัวนั้นกำลังส่งผลให้การแสดงโขนของบ้านเรา ยิ่งวิจิตรงดงามจนยากที่ใครจะมาลอกเลียนแบบได้
ความภูมิใจของคนรุ่นใหม่
สิ้นเสียงบทสวดของพิธีคำนับครูภายในสนามกีฬาในร่มของวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ศาลายา เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวเกือบๆ หนึ่งร้อยคนก็ค่อยๆ ทยอยนำพวงมาลัยในมือไปถวาย ณ แท่นพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคล และขอให้ตัวเองได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในตัวละครของการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี ๒๕๖๑ ตอน พิเภกสวามิภักดิ์ ที่จะจัดแสดงตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
“นาฏศิลป์เป็นสิ่งที่จับต้องได้ทุกคนอยู่แล้วเพราะอยู่ในสายเลือดของทุกคน อยู่ที่ใครจะมองเห็นอะไรจากนาฏศิลป์ สำหรับตัวเราสิ่งที่มองเห็นคือศาสตร์ที่รวมทุกอย่าง ไม่ใช่การร่ายรำอย่างเดียว มีทั้งการร้องและวรรณกรรมที่รวมไว้ด้วยกัน” ธันยธรณ์ ธูสรานนท์ จากวิทยาลัยนาฏศิลป ซึ่งรับบทเป็นนางเบญกาย บอกเรา เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงเลือกมาเรียนนาฏศิลป์ ทั้งๆ ที่ตอนนี้การแสดงสมัยใหม่น่าจะจับใจคนรุ่นใหม่ได้มากกว่า
“ตอนเรียนชั้นประถมผมอ่านเรื่อง รามเกียรติ์ ในวิชาภาษาไทย แล้วอยู่มาวันหนึ่งผมนั่งดูโทรทัศน์ เขาก็มีรายการที่ฉายการแสดงโขน ซึ่งมีตัวละครใน รามเกียรติ์ อยู่ในนั้น ก็เลยไปสมัครเรียนโขนที่ชมรมการแสดงของโรงเรียน ตอนแรกผมเลือกเรียนเป็นตัวลิง แต่การเป็นลิงมันใช้พลังมาก เหนื่อย เลยเปลี่ยนมาเป็นยักษ์แทน” วงษ์สมัตถ์ เล้าประเสริฐ จากวิทยาลัยนาฏศิลป ผู้รับบททศกัณฐ์ เล่าถึงที่มาของเขาให้เราฟังพร้อมกับหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
การเรียนนาฏศิลป์นี่เอาไปต่อยอดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้จริงใช่ไหม—เราถามกลับไป และหนุ่มวัย 24 ปีคนนี้ก็ตอบมาด้วยน้ำเสียงจริงจังทันที
“ได้ครับ อย่างพี่บอย (เจตนิพัทธ์ สาสิงห์) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง 400 นักรบ ขุนรองปลัดชู ก็เป็นนักเรียนโขนมาก่อน เขาก็นำประสบการณ์การแสดงของโขนไปใช้ในการทำหนังด้วย”
เมื่อโขนเข้ามาอยู่ในชีวิต การเรียนรู้ของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป โดยชายหนุ่มผู้รับบททศกัณฐ์คนนี้บอกว่าแม้จะเล่นเป็นยักษ์ที่มีความนิ่งกว่าตัวลิง แต่ก็ต้องฝึกฝนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน
“เรียนโขนนี่ได้สมาธิมากๆ ด้วยนะครับ เพราะเวลาใส่หัวโขนเราไม่สามารถมองเห็นภาพกว้างได้ ภาพที่เห็นคือเส้นตรงที่อยู่ข้างหน้า ต้องอาศัยไหวพริบและประสบการณ์ในการแสดงแต่ละครั้ง เพราะเราไม่สามารถเล่นได้เป๊ะทุกครั้ง ก็มีพลาดพลั้งบ้าง ตอนนั้นอยู่ที่เราแล้วว่าจะแก้ไขอย่างไรให้คนดูไม่รู้ว่าเราทำพลาด เช่น ตอนควงหอกแล้วทำหอกหลุดมือ ก็ต้องหาวิธีแก้ว่าจะเก็บหอกขึ้นมาอย่างไรให้ดูไม่น่าเกลียด”
ในอีกด้านหนึ่ง ปพน รัตนสิปปกร ก็เล่าว่า เขาเติบโตในครอบครัวของนักแสดงโขน โดยคุณพ่อของเขาก็เป็นครูโขนคนหนึ่ง แต่นั่นกลับทำให้ตอนแรกเรารู้สึกไม่ค่อยอยากเข้าสู่เส้นทางสายนี้สักเท่าไร
“พ่อผมดุครับ แล้วท่านคงกลัวว่าจะสอนผมได้ไม่ดี เลยส่งผมเข้าเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลปแทน” แต่ความคิดของปพนก็ได้เปลี่ยนไปเมื่อเขาได้ดูการแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ “ทางวิทยาลัยพาพวกผมไปดูโขน ซึ่งปีนั้นเป็นตอน ศึกมัยราพณ์ พอดูจบก็ชอบมาก จากเด็กที่เหมือนกับเด็กอื่นๆ ทั่วไป ชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ก็เกิดความฮึกเหิมขึ้นมาทันที และบอกตัวเองว่าอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตเราต้องขึ้นไปแสดงบนเวทีโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ให้ได้” ซึ่งฝันของเขาก็เป็นความจริงเพราะวันนี้เด็กหนุ่มวัย 19 จากจังหวัดร้อยเอ็ด ก็ได้รับเลือกให้รับบทเป็นพิเภก ตัวละครหลักในครั้งนี้
“ในทางโขนเราร้องไห้ออกมาจริงๆ ไม่ได้ เพราะการแสดงโขนต้องไม่มีน้ำตา เราต้องกลั้นความเสียใจไว้แล้วถ่ายทอดออกมาด้วยท่าทางสะอึกสะอื้น” สุภาพร เปี่ยมนงนุช รับบทนางตรีชฎา ภรรยาของพิเภก บอกเราถึงเคล็ดลับในการแสดงบทนี้ ที่ทำให้เราเข้าใจแล้วว่าทำไมตอนที่เห็นเธอกำลังแสดงอยู่นั้น ช่างรู้สึกเศร้าสร้อยตามไปด้วยเหลือเกิน เพราะเป็นความรู้สึกที่ถ่ายทอดออกมาจากข้างในนั่นเอง
หลังจากหมดเวลาพัก นักเรียนนาฏศิลป์ทุกคนก็กลับไปเข้าแถวอีกครั้ง และเริ่มทำการร่ายรำต่อหน้าครูนาฏศิลป์อีกครั้ง ทุกคนต่างแสดงด้วยความตั้งใจ แววตาที่มุ่งมั่น ท่าทางที่อ่อนช้อย ทำให้เราหยุดยืนมองเด็กๆ เหล่านี้จนจบการแสดง ซึ่งในระหว่างนั้นคุณครูก็จะเข้ามาช่วยแนะนำวิธีการตั้งมือหรือการรำที่ถูกต้อง ก่อนที่จะปล่อยให้เด็กๆ ได้พักกินข้าวเที่ยง
“สำหรับเรา จารีตของนาฏศิลป์ที่มีอยู่นั้นก็ดีอยู่แล้ว คำว่าทันสมัยหรือไม่ทันสมัยไม่มีหรอก” ธันยธรณ์บอกกับเราหลังจากที่เธอได้หยุดพักกินข้าว และตอบคำถามที่ว่ากรอบประเพณีที่เคร่งครัดบางอย่างของการเรียนนาฏศิลป์ทำให้เด็กรุ่นใหม่รู้สึกอึดอัดบ้างไหม “เราตั้งใจว่าจบไปก็จะไปเป็นครูสอนนาฏศิลป์ เพราะอยากปลูกฝังความเป็นไทยให้กับเด็กรุ่นต่อไป” เธอเล่าถึงเป้าหมายในอนาคตของตัวเอง “นอกจากจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กแล้ว ครูในอนาคตก็ต้องเข้าใจเด็กมากขึ้น เพราะเราก็ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับความคิดที่เปลี่ยนไปของเด็กรุ่นต่อไปเหมือนกัน”
“วัยรุ่นกับความหัวร้อนก็มีทุกคนอยู่แล้วค่ะ” สุภาพรบอกกับเราตรงๆ เมื่อถูกถามว่าเคยรู้สึกหงุดหงิดกับความเข้มงวดในการเรียนนาฏศิลป์บ้างไหม “เมื่อก่อนก็คิดว่าผิดพลาดแค่นี้เอง ไม่เห็นจะเป็นเรื่องใหญ่อะไร แต่ต่อมาก็เปลี่ยนความคิด เพราะพอเราได้มาเป็นคนช่วยฝึกสอนวิชานาฏศิลป์ กลับไปมองเด็กๆ ก็เข้าใจแล้วว่าวันที่ครูดุเรานั้นเพราะท่านหวังดี แต่ก่อนเราก็ไม่เข้าใจว่ามาเข้าเรียนสายนิดหน่อยทำไมต้องโมโห ต้องทำโทษ แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าเป็นเรื่องของระเบียบวินัย เพราะต่อไปเมื่อเราทำงานแล้วจะไม่มีใครมาคอยบ่นคอยเข้มงวดกับเราหรอก คุณจะมาสายก็เรื่องของคุณ แต่เมื่อถึงเส้นที่เขากำหนดไว้คุณก็อาจโดนตัดเงินเดือนหรือถูกเชิญให้ออกจากงานก็ได้ เพราะต่อไปนี้คือชีวิตจริงๆ ของเราแล้ว”
“ครูท่านดุก็เพื่อตัวเราเอง” ปพนเดินมาช่วยเสริม “ถ้าคุณทำตามแบบทำตามระบบที่เขาให้มา เราก็จะใช้ชีวิตไหลไปตามสังคมได้ เรื่องต่อต้านผมไม่เคยคิดเลย เพราะตัวเองเป็นคนที่มองถึงหลักของเหตุและผลอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้นักเรียนก็สามารถแสดงความคิดเห็นใหม่ๆ ของตัวเองได้แล้ว ครูเขาก็จะฟังเราแล้วเอาไปคุยกันอีกทีว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้แค่ไหน เมื่อก่อนการเรียนโขนจะอยู่แค่ในวัง แต่เดี๋ยวนี้โขนได้กระจายออกไป ทุกอย่างก็ถูกบิดออกไปตามเวลา ดังนั้น จารีตคือสิ่งที่ช่วยยึดความดั้งเดิมของโขนเอาไว้ โขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ทำให้เด็กได้กลับมาอยู่กับครูผู้ใหญ่ ได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียม สิ่งที่ถูกต้องจริงๆ ไปปรับใช้กับตัวเองและนำไปสอนให้กับรุ่นน้องของตัวเอง ทำให้รากวัฒนธรรมของเราหยั่งลึกลงกว่าเดิมและมั้นคงมากขึ้น”
ผสมผสานความร่วมสมัยกับการแสดงแบบจารีตนิยม
การแสดงโขนโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เกิดขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นทางการคือตอน ศึกพรหมาศ ในปี 2550 โดยมี ดอกเตอร์อนุชา ทีรคานนท์ เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้
“เราใช้เวลาเตรียมการกันเป็นปีกว่าจะสามารถจัดแสดงต่อหน้าพระที่นั่งได้ ซึ่งงานแรกของเราเป็นเหมือนกับการทดลอง พวกเราพบว่ามีข้อบกพร่องหลายอย่างในการแสดงโขนตอน ศึกพรหมาศ เพราะตอนนั้นการทำงานของแต่ละฝ่ายยังไม่เข้าที่เข้าทาง ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองกันอยู่
“ต่อมาก็เลยรวมตัวเป็นคณะกรรมการ แต่ละฝ่ายต้องเข้ามานั่งคุยกันทุกเดือนเพื่ออัพเดตข้อมูลว่าใครทำอะไร โดยเริ่มต้นจากฝ่ายทำบทพอได้บทมาแล้วก็มาตีความเป็นฉาก ได้ฉากแล้วก็คุยกับฝ่ายการแสดง การแสดงโขนนั้นไม่ใช่แค่ว่าเอาฉากมาตั้ง เอาคนขึ้นไปรำแล้วเสร็จ ต้องใช้ประโยชน์ของฉากให้สมเหตุสมผล ถ้าทำก้อนหินขึ้นมาสักก้อน แล้วให้ตัวละครขึ้นไปยืนพร้อมกันสี่คน เรื่องของโครงสร้างก็ต้องมา เราลองผิดลองถูกมาเยอะมาก ขนได้แนวทางที่เป็นองค์ความรู้สั่งสมมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้” นั่นคือเหตุผลที่ดอกเตอร์อนุชาอยากให้การแสดงโขนแบบจารีตกลับมาอยู่ในสังคมไทยอีกครั้ง
“เราต้องคำนึงว่าโขนคือการแสดงแบบจารีตนิยม มีประเพณีบางอย่างมีข้อจำกัดบางอย่างที่ต้องปฏิบัติตาม ถ้าไม่ทำตามก็จะเป็นการสลายจารีตซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องดี จารีตเหล่านี้มีเหตุผลในตัวเอง ผู้ใหญ่ในตอนนั้นคิดมาแล้วว่าต้องมีจารีตเหล่านี้อยู่ ทำให้โขน กลายเป็นการแสดงที่คลาสสิก ที่ยังคงรูปแบบเดิมแม้เวลาผ่านมาหลายร้อยปี”
แต่ก็ไม่ใช่ว่าโขนจะไม่มีการปรับตัวเอาเสียเลย เพราะที่ผ่านมาก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า แม้การแสดงโขนจะมีความเคร่งครัดในประเพณีบางอย่าง แต่โขนเองก็มีความยืดหยุ่นในตัวสูงไม่แพ้กัน และการแสดงในยุคหลังๆ ก็มีการผสมผสานความร่วมสมัยเข้าไว้ก็ทำให้คนดูประทับใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“โขนมีการเคลื่อนตัว มีการขยับ มีการปรับแต่งตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงรัตนโกสินทร์ โขนก็มีการขยับมาเรื่อยๆ แต่การปรับในอดีตนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้า ปัจจุบันเราปรับให้เห็นเลยว่ามีการปรับ คนดูก็รู้สึกได้ และพวกเขาก็ดูโขนโดยไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด แต่การทำงานทั้งหมดก็ต้องอยู่ในกรอบของจารีต มีเหตุมีผล การนำเอาเวทีแบบโมเดิร์นเข้ามาใช้ โดยหลักการไม่ได้ไปบดบัง หรือทำลายการแสดงแนวประเพณี เวลาเดียวกันกลับส่งเสริมให้การแสดงดูโดดเด่นยิ่งขึ้น แสงสีต่างๆ ทำให้นักแสดงโดดเด่นยิ่งขึ้น ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้โขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประสบความสำเร็จ”
หลายครั้งการหยิบเอาวัฒนธรรมที่เก่าแก่มาใช้ตีความใหม่ จะถูกห้ามโดยคนรุ่นก่อนว่าไม่เหมาะสม ซึ่งสวนทางกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เดินหน้าไปทุกวัน ซึ่งเรื่องนี้ ดอกเตอร์อนุชาบอกเราว่า ถ้าจะหยิบเอาไปใช้ก็ต้องทำความเข้าใจร่วมกันเสียก่อน
“วัฒนธรรมมีการเลื่อนไหลตลอดเวลา เราเองก็ต้องปรับตัวตลอดเวลา เราไม่เคยไปโวยวายว่าคุณเอาอันนี้ไปทำไม่ได้ เอาอันนี้ไปสร้างสรรค์อะไรไม่ได้ เราชื่นชมในการสร้างสรรค์งานที่เป็นศิลปะร่วมสมัย เมื่อไหร่ที่คุณใช้คำว่าโขน ก็ต้องอยู่ในกรอบจารีตของโขน แต่เมื่อไหร่ที่คุณบอกว่า inspired by รามเกียรติ์ นั่นคือการเอาไปใช้ในการแสดงแบบอื่น แต่ไม่ใช่โขน เราต้องแยกให้ออกว่างานสร้างสรรค์คืองานสร้างสรรค์ โขนก็คือโขน มีจารีตประเพณีกำกับอยู่ เมื่อไหร่ที่งานออกจากจารีตไปก็ไม่ใช่โขน แต่เป็นการแสดงอย่างอื่น ไม่ได้หมายความว่าการแสดงเหล่านั้นไม่ได้น่าชม ไม่สนุก งานนั้นอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ
“อุปกรณ์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะนักเรียนโขนเขาบูชาสิ่งเหล่านี้อยู่ คุณเอาหัวโขนไปทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำหรือเอาไปทำในเชิงดูถูกก็ย่อมก่อให้เกิดกระแส เพราะคุณเล่นกับสิ่งที่เขาบูชา ให้นึกถึงว่าถ้าใครเอารูปเคารพของความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งไปทำอะไรที่ไม่ดี ก็ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดีกับผู้ที่นับถือ เรื่องนี้เราต้องเคารพซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องของจริยธรรมและจรรยาบรรณร่วมกัน”
จารีตคือสิ่งที่กำกับให้วัฒนธรรมบางอย่างยังคงอยู่และฝังรากจนเป็นเอกลักษณ์ แต่สิ่งที่เรายังสงสัยก็คือความเป็นเอกลักษณ์หรือความเป็นต้นแบบที่แท้จริงนั้นคืออะไร เพราะที่ผ่านมาก็มีข่าวว่าใครๆ ต่างก็ออกมาอ้างสิทธิ์ของตัวเองว่าเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมกันทั้งนั้น
“วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เหมือนเราปลูกต้นไม้ต้นหนึ่ง พอต้นไม้ต้นนี้ออกลูกมาแล้วเพื่อนคุณมาขอผลไม้จากต้นคุณไป แล้วเขาเหวี่ยงเมล็ดลงไปตรงดินในบ้านเขา ผลไม้จากต้นไม้ที่งอกขึ้นมานั้นรสชาติก็จะไม่เหมือนเดิมหรอก ลักษณะของต้น ลักษณะของใบก็เพี้ยนไป วัฒนธรรมก็เหมือนกัน เมื่อมันหยั่งลงไปในพื้นดินของแผ่นดินไหน มันก็ซึมซับเอาดิน ซึมซับเอาเกลือแร่ ซึมซับเอารสของชนชาตินั้นเอาไว้ ดังนั้น ไม่มีใครเหมือนใคร และไม่ต้องไปสืบด้วยด้วยว่าใครเป็นเจ้าของ ใครเกิดก่อนใครมันเป็นเรื่องของใครของมัน และเป็นธรรมดาของประเทศที่มีพรมแดนใกล้เคียงกันที่จะมีการไหลของวัฒนธรรม ซึ่งเป็นมาตั้งแต่อดีต ก่อนที่ฝรั่งจะมาขีดเส้นพรมแดนให้เรา พรมแดนของความเป็นชาติเกิดมาทีหลังวัฒนธรรมเหล่านี้”
สิ่งเหล่านี้คือคุณค่าจากงานศิลปะระดับสูงที่ดอกเตอร์อนุชาให้ความกระจ่างกับเรา และอาจจะตอบคำถามที่ยังคาใจของใครอีกหลายคนด้วยว่า ทำไมเราถึงต้องลองไปชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กันสักครั้ง
คุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมและสมบัติอันล้ำค่าของชาติ
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดแสดงโขน ซึ่งถือเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงอันเก่าแก่ของไทย โดยหน้าที่สำคัญนี้ก็ตกอยู่ในการดูแลของ อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดง ที่ให้เกียรติมานั่งคุยกับเราถึงคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมนี้
“การแสดงโขนนั้นมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วก็สืบทอดต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งโขนที่เราดูกันอยู่ทุกวันนี้ก็ใช้รูปแบบการแสดงของสมัยรัตนโกสินทร์” อาจารย์ประเมษฐ์เริ่มเท้าความถึงที่มาที่ไปของการแสดงโขนให้ฟัง ก่อนที่จะตอบคำถามกับเราว่า โขนนั้นมีความหมายที่แท้จริงอย่างไร
“มีนักปราชญ์หลายท่านตีความคำว่าโขนไว้แตกต่างกัน บางคนบอกว่ามาจากสัญลักษณ์ของการแสดงที่ต้องสวมหัว เช่น หัวโขนเรือต่างๆ บางคนก็บอกว่าเป็นคำศัพท์ที่บัญญัติขึ้นมาเป็นคำเฉพาะ ไม่มีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน แต่เอกลักษณ์ของโขนอยู่ที่ นักแสดงส่วนใหญ่ต้องสวมหัวโขน ดำเนินเรื่องด้วยการพากย์-เจรจา เต้นให้เขากับจังหวะของดนตรี และเพลงหน้าพาทย์ จริงๆ โขนสามารถเล่นเรื่องอื่นได้ไม่จำเป็นต้องเล่นเรื่อง รามเกียรติ์ เท่านั้น”
ก่อนหน้านี้เราเข้าใจว่าเหตุผลที่โขนเลือกใช้เนื้อเรื่องของ รามเกียรติ์ มาแสดง เพราะเป็นประเพณีนิยมที่สืบต่อมาจากอดีต ไม่สามารถนำการแสดงชนิดนี้ไปใช้กับเนื้อหาอื่นๆ ได้ เพราะถูกตีกรอบเอาไว้ ซึ่งอาจารย์ประเมษฐ์ได้ไขความกระจ่างนี้ให้พร้อมกับเสริมด้วยว่าเพราะอะไร รามเกียรติ์ จึงเป็นเรื่องราวที่สอดคล้องกับศิลปะในแขนงนี้ได้อย่างลงตัวที่สุด
“โขนหนีไม่พ้นเรื่องของการทำศึกสงคราม ซึ่งเป็นไฮไลต์ของการแสดง และนั่นคือการเล่าถึงความดีที่กำลังต่อสู้กับความชั่ว ธรรมะกำลังต่อสู้กับอธรรม ฝั่งดีก็คือฝ่ายพระราม ส่วนยักษ์ก็เป็นตัวแทนของความชั่วร้าย ซึ่งไฮไลต์จะอยู่ตรงการแสดงที่เรียกว่า ‘การขึ้นลอย’ ซึ่งรับเอาวัฒนธรรมบางส่วนมาจากการแสดงของหนังใหญ่ ซึ่งเป็นการแปลงท่าทางมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทย โดยดูว่าสรีระของมนุษย์นั้นทำได้แค่ไหน การขึ้นลอยจึงมีหลายรูปแบบ เช่น จับหนึ่ง จับสอง ลอยหนึ่ง ลอยสอง ซึ่งจะมีท่าที่เป็นเอกลักษณ์ที่เราเห็นกัน”
ถึงแม้โขนจะเป็นการแสดงที่ให้ความเคร่งครัดต่อความเคารพในจารีตประเพณี เพราะเป็นการสะท้อนถึงวัฒนธรรมที่อยู่ในพระราชสำนัก แต่อาจารย์ประเมษฐ์ก็ยืนยันว่าโขนก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยด้วยเช่นกัน
“เราทำตามจารีตแบบโบราณทุกอย่างก็ไม่ได้หรอก เพราะสมัยก่อนโขนเขาเล่นกันทีครึ่งคืน อย่างต่ำก็ห้าชั่วโมง เพราะสมัยก่อนมหรสพไม่ได้มีให้ดูกันง่ายๆ พอมีการจัดมหรสพครั้งหนึ่ง คนก็ต้องออกจากบ้านเดินทางมาดู พอดูจบก็ดึกมาก รถโดยสารก็ไม่มี คนก็ต้องอยู่กันจนเช้า แต่พอเป็นปัจจุบัน ถ้าเราเล่นกันนานๆ แบบนั้นคนก็ไม่ดูแล้ว (หัวเราะ) ผู้ชมในปัจจุบันเขาจะมีความสนใจในระยะสั้น ดูนานๆ ไม่ได้ เราจึงต้องปรับให้การแสดงโขนมีระยะเวลาตามมาตรฐานสากล นั่นคือเล่นกันสามชั่วโมง มีช่วงพักครึ่งเวลา และจะสร้างสรรค์การแสดงอย่างไรให้คนดูสนุก”
เราถามกับอาจารย์ไปตรงๆ ว่า สภาพสังคมไทยตอนนี้แห้งแล้งไปด้วยการสนับสนุนทางศิลปะเหลือเกิน ในขณะที่กลุ่มศิลปินพยายามจะทำอะไรบางอย่างเพื่อให้คนทั่วไปได้เสพงานศิลปะมากขึ้น แต่อีกด้าน พื้นที่ของการแสดงงานศิลปะกับลดลงไปทุกที แล้วแบบนี้ต่อไปพวกเราจะเป็นอย่างไร
“ศิลปะจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจคน คนที่มีศิลปะในตัวจะเป็นคนที่อ่อนโยน” อาจารย์ประเมษฐ์นิ่งเงียบไปพักหนึ่ง ก่อนจะตอบด้วยน้ำเสียงที่มีความเศร้าเล็กๆ ออกมา “แต่พวกเราคงละเลยเรื่องนี้กันมานาน จนทำให้มองไม่เห็นความสำคัญของศิลปะ เรามัวแต่มุ่งไปที่เรื่องอื่นกัน ก็เลยเกิดภาวะต่างๆ ขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ คนสมัยนี้จิตใจกระด้างขึ้นกว่าเมื่อก่อน” เราพยักหน้าตามที่อาจารย์พูดมาอย่างช้าๆ
แต่เราก็ยังไม่ถึงกับสิ้นหวังไปเสียทีเดียว เพราะการแสดงโขนจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นี้ก็ทำให้เห็นว่ายังมีเด็กรุ่นใหม่อีกหลายร้อยคนที่มองเห็นคุณค่าของโขน และสนใจเข้ามาเรียนรู้การแสดงในศิลปะแขนงนี้เพิ่มขึ้นทุกวัน
“คนที่มาเรียนโขนเขาก็ไม่ได้มาเรียนแค่การรำโขนแบบที่คนนอกเข้าใจนะ เด็กเหล่านี้เขาก็เรียนวิชาสามัญตามปกติที่ตัวเองสนใจด้วย นักแสดงโขนหลายคนก็จบการศึกษาระดับปริญญาโทเลย ข้อดีของการเรียนโขนคือ คุณสามารถเอาศาสตร์ที่ได้ไปต่อยอดในชีวิตได้มากมาย อย่างน้อยๆ การเรียนโขนก็ได้เรื่องของระเบียบวินัย สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ได้คุณธรรม เพราะโขนจะแฝงไว้ด้วยปรัชญาในเรื่องต่างๆ เช่น ความซื่อสัตย์ต่อเพื่อนร่วมงาน ความรักต่อครอบครัว คนเป็นลูกต้องปฏิบัติตัวอย่างไร พ่อแม่ต้องดูแลอย่างไร หรือแม้แต่เป็นทหารต้องปฏิบัติตัวแบบไหน”
ได้รู้แบบนี้เราก็ยิ่งรู้สึกภูมิใจกับศิลปะแห่งชาติที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนานและจะถูกสืบสานโดยคนรุ่นใหม่ๆ ตลอดไป
การแสดงโขน ตอน พิเภกสวามิภักดิ์
การแสดงโขนครั้งนี้เป็นการนำบทพระราชนิพนธ์เรื่อง รามเกียรติ์ ฉบับต่างๆ อาทิ บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 2, รัชกาลที่ 6 มาผสมผสาน โดยคัดเอาจุดเด่นในแต่ละพระราชนิพนธ์มาใช้ เพื่อการดำเนินเรื่องที่สนุกมากยิ่งขึ้น โดยการแสดงจะแบ่งเป็น 2 องก์ องก์ที่ 1 สุบินนิมิต ประกอบด้วย ตอนที่ 1 พิเภกถูกขับ, ตอนที่ 2 พิเภกลาชายาและธิดา, ตอนที่ 3 เนรเทศ และองก์ที่ 2 ประกอบด้วย ตอนที่ 1 พบนิลเอก, ตอนที่ 2 สวามิภักดิ์, ตอนที่ 3 มณโฑทูล ตัดศึก, ตอนที่ 4 สนามรบ และตอนที่ 5 แก้หอกกบิลพัท ที่ยังคงความวิจิตรงดงาม กระบวนท่ารำตามแบบฉบับโขนหลวง พร้อมที่จะสร้างความสนุก ความประทับใจให้กับผู้ชมสมการรอยคอย
รอบการแสดง: 3 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2561 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
รายละเอียดเพิ่มเติม: Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ