“เรียนจบแล้วจะคิดจะทำอะไรหรือ”
สองปีที่แล้ว สามเณรหญิงจากหมู่บ้านพลัมเขียนจดหมายถามเราอย่างนั้น เราอายุห่างกันแค่หนึ่งปี หมายความว่า ในขณะที่เราร่ำเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย สามเณรก็กำลังเรียนรู้จิตใจของตนและธรรมะในร่มเงาของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
“ฉันถามเช่นนั้นก็เพราะครั้งหนึ่งในอดีต ฉันเคยอยากเป็นหมอ เป็นครู แต่ตอนนี้ฉันอยากเป็นเพียงนักบวชที่ดี เพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้”
ตอนนั้นเรายังไม่ได้คิดอะไร ยิ้มขำเมื่อนึกภาพตัวเองโกนผม ใส่ชุดนักบวชสีน้ำตาล แต่สักพักรอยยิ้มก็หดหายแล้วกลับมากังวลเรื่องเดิมคือ อาชีพการงานในอนาคต
มองไปรอบๆ ภาพเดียวกันก็ปรากฏให้เห็นดาษดื่น คนหนุ่มสาววัยยี่สิบตอนต้นนั่งขมวดคิ้วครุ่นคิดหนทางในอนาคต หนทางที่จะกำหนดตัวตน บอกกับใครๆ ได้ว่าเราเป็นใคร ทำอะไร มีคุณค่าในตัวเองมากแค่ไหน
เราเองเป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มหนุ่มสาวเหล่านั้น
นิตยสาร ไทม์ ฉบับ Generation Me ชวนถกประเด็นว่าด้วยเรื่องเจเนอเรชันวาย หรือเจเนอเรชันมิลเลนเนียลส์ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1980-2000 ซึ่งหากมองในปัจจุบัน พวกเราก็อายุ 16-36 ปี เป็นวัยตั้งแต่เพิ่งเริ่มมีความรักครั้งแรก อกหัก มีความฝัน วัยเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย วัยทำงานตอนต้น วัยแสวงหา ตั้งคำถาม และสะสมความมั่งคั่งทั้งรูปธรรมและนามธรรม
พวกเขาต้องการการยอมรับ มั่นใจในตัวเองสูง เรียกร้องความสนใจ สมาธิสั้น และไม่ค่อยเข้าอกเข้าใจคนอื่น เหล่านี้เป็นข้อความที่สรุปได้จากข้อมูลที่ผู้เขียนบทความค้นคว้ามานำเสนอในตอนต้นเพื่อมองภาพรวมของคนรุ่นเรา แต่แม้จะมีข้อเสียมากมายอย่างนั้นจนมนุษยชาติก้มหน้าผิดหวัง แต่ผู้เขียนก็ยังตั้งชื่อบทความของเขาว่า ‘The New Greatest Generation’
ต้องการการยอมรับ—วลีนี้วนเวียนอยู่ในหัวของเราเสมอ คนวัยนี้ต้องการอะไรบ้าง และเพื่ออะไร ท้ายที่สุดไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอาชีพ การเรียน เงินทอง หรือคู่รัก ไม่แน่ว่าทั้งหมดนี้อาจไม่พ้นเป้าหมายหลัก นั่นคือการยอมรับจากคนอื่น
อาจไม่ใช่ทุกคน แต่ความทุกข์ของหลายคนก็อาจมาจากสิ่งเดียวกันนี้
กลับสู่บ้านอันแท้จริง
ในภาพยนตร์ ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ กำกับโดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับที่อาจจัดอยู่ในเจนวายอีกคนหนึ่ง ตัวละครเอกชื่อยุ่น คือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ทำหน้าที่ตัดต่อรูปภาพ เราอาจมองไม่เห็นว่าความภาคภูมิใจของเขามาจากไหน ในเมื่อเขาทำหน้าที่ที่อาจไม่มีใครมองเห็นหรือตระหนักถึงการมีอยู่ของตำแหน่งนี้เลยด้วยซ้ำเมื่อมองดูภาพภาพหนึ่ง (นอกจากจะตัดต่อผิดพลาดจนสะดือนางแบบหาย หรือรอบเอวบิดเบี้ยวผิดสัดส่วน) แต่เราก็เข้าใจทันทีว่าอะไรสำคัญสำหรับยุ่น
เปล่า… ไม่ใช่สุขภาพ ไม่ใช่ความรัก เขายินดีขัดคำสั่งหมอเพื่อให้งานเสร็จ
แต่เป็นความกลัวต่างหาก ความกลัวว่าจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนที่เคยยอมรับในตัวเขา กลัวการสับเปลี่ยนแทนที่ เมื่อประสิทธิภาพของตัวเองไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ดังเก่า
‘รักษามาตรฐานหน่อยนะคุณ เดี๋ยวจะตกงานไม่รู้ตัว’ พี่เป้ง ตัวละครที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารของอัตตาให้ยุ่นพูดเช่นนั้น ทั้งที่คนเดียวกันนี้ในอดีตป้อยอฝีมือการทำงานของยุ่นจนเขายิ้มร่า
เรานิ่งอีกครั้ง …คิดออกหรือยังว่าจะทำอาชีพอะไร
เราอีกคนส่ายหัว ได้แต่เปิดดูกระทู้พันทิปเพื่อหาสถานที่ท่องเที่ยวหลบหนีหลีกเร้นจากความวุ่นวายใจตรงหน้า
“อดีตมักดึงเราไปให้เศร้ากับเรื่องที่เคยเกิด อนาคตนำพาเราไปสู่ความกังวล เช่น เราจะทำอาชีพอะไรนะ แล้วเราจะได้แต่งงานกับใครกันในอนาคต”
หลวงพี่ผู้ชายท่านหนึ่งกล่าวด้วยรอยยิ้มในช่วงปฐมนิเทศของโครงการ ‘Wake Up อิสระในใจเธอ’ งานภาวนาสำหรับคนรุ่นใหม่ของหมู่บ้านพลัมซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี งานภาวนาที่เน้นเนื้อหาที่คนรุ่นเราๆ สนใจ เพื่อชักชวนคนรุ่นใหม่ให้ตื่นรู้อยู่กับปัจจุบัน การอยู่กับลมหายใจของตัวเองที่นี่และเดี๋ยวนี้ ซึ่งนับว่าท้าทายมาก อาจจะมากกว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเสียอีก
แต่หลวงพี่ไม่ได้มองว่าความเยาว์วัยนั้นเป็นอุปสรรค พลังงานแห่งความเยาว์นี้เองจะนำพาเรากลับสู่บ้านอันแท้จริง นั่นคือการพาใจของตัวเองให้กลับมาอยู่กับร่างกาย
‘To be Alive’ อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงมีลมหายใจ แต่การอยู่กับลมหายใจเข้าออกของตัวเอง และดื่มด่ำปัจจุบันอย่างเต็มเปี่ยม หลวงแม่กล่าวเช่นนั้น และนั่นเองที่จะทำให้เราเป็นอิสระ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
“เราเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยตัวเองออกจากการยึดติดกับสิ่งใดๆ” ทั้งจากความคิด ความเสน่หา ฯลฯ และนั่นเอง อิสระ
ในวงสนทนาธรรมยามบ่าย หนุ่มสาววัยยี่สิบตอนต้นนั่งล้อมวงกันฟังเสียงระฆังใบจิ๋วของหลวงพี่ดาวเรือง ทิ้งบรรยากาศให้อยู่ในความเงียบ กลับมาตามดูลมหายใจตัวเอง กิจกรรมที่ปกติแล้วเราไม่ได้ทำกันบ่อยนัก
“ทำไมคนเราต้องฝึกสติครับ” หนุ่มนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ ปี 4 พนมมือ เอ่ยถามขึ้น ทุกคนพยักหน้าคิดตาม ต่างคนต่างนำเสนอไอเดียของตัวเอง นั่นอาจเป็นข้อดีของงานภาวนาสำหรับคนหนุ่มสาว วัยที่พวกเขาสนใจตั้งคำถามมากกว่าการถูกป้อนคำตอบสำเร็จรูป และนั่นอาจนำความเข้าใจมาให้เราได้อย่างไม่ถูกปิดกั้นด้วยอคติของวัยเยาว์
เสียงระฆังกล้องท่ามกลางความเงียบ
เมื่อการสนทนาเวียนไปจนเกือบครบวง หลวงพี่นิรามิสาพนมมือขึ้น ยิ้มน้อยๆ มองตาหนุ่มสาวทีละคนอย่างตั้งใจ
“แต่ก่อนหลวงพี่ก็คิดว่าธรรมะน่าจะเป็นเรื่องคนแก่ที่เข้าวัด ไม่เอาอะไรแล้ว จะเอานิพพาน”
หลวงพี่หัวเราะไปพร้อมๆ กับพวกเรา แล้วเล่าต่อว่า ตอนนี้หลวงพี่เห็นความเบิกบานในวัยหนุ่มสาวและหวังว่าพวกเราจะเห็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้ตัวเอง สร้างความเป็นพุทธะในตัวเองซึ่งเป็นศักยภาพที่มีอยู่ในตัวทุกคน เรียนรู้วิธีที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเบิกบาน และใช้สตินำทางไปสู่อิสระในทุกลมหายใจ
“แต่พวกเราเป็นวัยรุ่น ถ้าทำอะไรแล้วไม่สนุก ก็คงจะไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นก็มาร่วมกันหาวิธีที่จะฝึกสติได้โดยไม่เบื่อดีกว่า”
หลังสนทนาธรรมเสร็จสิ้น หลวงพี่ดาวเรืองชวนหนุ่มสาวปรึกษาหารือเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานล้างอุปกรณ์ครัว ซึ่งครอบครัวทางธรรมของเราต้องรับผิดชอบหน้าที่ตลอด 5 วันของงานภาวนา
เราจะกินข้าวกันตอนไหน ต้องเสร็จเมื่อไหร่ ต้องตั้งกะละมังเตรียมน้ำเมื่อไหร่ ฯลฯ
แต่เมื่อสถานการณ์ตรงหน้ายังคลุมเครือและไม่แน่นอน หลวงพี่ดาวเรืองจึงสรุปการประชุมเพียงว่า นั้นเราค่อยมาดูกันหลังมือเย็นนี้ว่าการทำงานควรจะเป็นอย่างไร
“ถ้าทำแล้วไม่มีความสุข เราก็ค่อยเปลี่ยนวิธีกัน” หลวงพี่ดาวเรืองพูดยิ้มๆ “แต่ตอนนี้ ขอให้เรามาฟังเสียงระฆังกันอีกนะครับ” หลวงพี่ดาวเรืองประคองระฆังไว้ตรงหน้า กำหนดลมหายใจ แล้วค่อยบรรจงเคาะ
มีเพียงความเงียบ และเสียงระฆังที่กังวานก้องแล้วค่อยๆ แผ่วเบาลง
เส้นทางที่เลือก …ตลอดชีวิต
“เย็นนี้ไปเล่นบาสกันไหม” หลวงพี่แถ่งตุพูดด้วยแววตาตื่นเต้น พยักหน้าเชิญชวน
หลวงพี่เป็นทางธรรมที่เราได้ติดต่อด้วยอยู่เนืองๆ แต่เมื่อมีโอกาสได้เจอกันอีกครั้ง เราไม่ได้ไปทำสมาธิ แต่จะไปเล่นบาสเกตบอลช่วงมื้อเย็น โดยมีหลวงพี่อีกคนถือชามข้าวเดินนำไปด้วย
หลวงพี่แถ่งตุอายุ 23 ปี ส่วนหลวงพี่เฮืองยางอายุ 20 ปี บ้านเกิดอยู่ที่เว้ ประเทศเวียดนาม ทั้งคู่บวชมาได้ 3-4 ปีแล้ว นั่นหมายความว่าช่วงเวลาที่หลวงพี่ออกผนวชเพื่อก้าวสู่เส้นทางธรรมตามพระพุทธเจ้า พวกเขาเพิ่งย่างเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเท่านั้น และทั้งสองก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคนหนุ่มสาวมากมายที่ตัดสินใจออกผนวชอยู่ในหมู่บ้านพลัม
มีอนาคตหลายเส้นทางให้เลือก แต่พวกเขาเลือกทางนี้ …ตลอดชีวิต
ฝนเริ่มลงเม็ดปรอยพร้อมพระอาทิตย์ที่ค่อยอ่อนแสงลง เราเคี้ยวอาหารอย่างช้าๆ และเดินไปที่สนามบาสอย่างไม่เร่งรีบเมื่อฝนขาดเม็ด
เสียงหัวเราะ เสียงลูกบาสกระทบแป้น การวิ่งและตะโกนเรียกชื่อกัน
“หยอยกว๊า!” หลวงพี่ตะโกนชมเมื่อใครคนหนึ่งชู้ตลงกลางห่วงอย่างสวยงาม ขอโทษกันเมื่อเผลอกระแทกอีกฝ่าย รอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าเสมอไม่ว่าแต้มจะเป็นเท่าไหร่ เพราะอันที่จริง ในท้ายที่สุด พวกเขาลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าฝ่ายใดนำ
การฝึกสติของคนหนุ่มสาวอาจไม่ได้มีเพียงการนั่งสมาธิหนึ่งชั่วโมงในยามเช้าเพียงเท่านั้น แต่คือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ทำอย่างเป็นธรรมชาติ โดยที่ไม่ลืมว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่
และที่สำคัญ มันสนุกเอามากๆ
หลวงพี่โอบลูกบาส เดินนำไปเก็บในกุฏิ เสียงระฆังทำวัตรเย็นดังขึ้น ทุกคนยืนนั่งงันในความเงียบ ตามลมหายใจของตัวเอง พร้อมกับที่แสงสุดท้ายของวันได้หมดลง
“พรุ่งนี้มาเล่นกันอีกนะ”
ความรักของนักบวช
ขณะเดินสมาธิในความเงียบตอนเช้าอยู่ข้างๆ หลวงพี่ไท้บิ่งผ่านต้นไม้เขียวชอุ่มร่มรื่น หลวงพี่ก็เลิกคิ้วพเยิดหน้าขึ้นข้างบน ชักชวนให้ดูมะม่วงลูกใหญ่ๆ ที่ห้อยลงมาตามกิ่งก้าน หลวงพี่วัย 21 ปียิ้มมุมปากอย่างขี้เล่น
เย็นวันนั้นเรา หลวงพี่แถ่งตุ หลวงพี่ลี้เตื่อง และหลวงพี่ไท้บิ่งเดินผ่านลานพระพุทธรูปไปกินมะม่วงกันในสวน แรกเริ่มเดิมทีเราเข้าใจว่าเพียงแต่มาเด็ดเก็บเอาไว้เท่านั้น แต่กลายเป็นว่าหลวงพี่นั่งลงบนพื้นหญ้า กลายเป็นวงปิกนิกย่อมๆ
“หลวงพี่เอามีดมาหรือ” เราถาม จ้องมองมะม่วงในมือ เพราะในชีวิตไม่เคยใช้ฟันแทะมะม่วงกินแบบแอปเปิลมาก่อน
หลวงพี่แถ่งตุหันไปพูดภาษาเวียดนามสองสามประโยคกับหลวงพี่ลี้เตื่อง หลวงพี่ยื่นมือมารับมะม่วงจากเรา เดินกลับไปที่ต้นมะม่วง แล้วเหนี่ยวแขนปามะม่วงใส่ต้นอย่างแรง
เราทุกคนในวงหัวเราะ
ผลด้านหนึ่งแบะออก สามารถใช้ฟันแทะต่อเข้าไปได้ …นั่นแหละ วิธีปอกมะม่วงของหลวงพี่
“นักบวชเองก็มีความรักนะ” หลวงพี่นิรามิสาพูดขึ้นในวงสนทนาธรรมตอนบ่าย เมื่อเราพูดกันถึงธรรมบรรยายหัวข้อ ‘รักแท้’ เมื่อเช้าวันเดียวกัน
“แต่เรารู้จักการดูแลและแปรเปลี่ยนพลังงานนั้น”
ในการบรรยายธรรม หลวงพ่อจรุงไห่กล่าวว่า ‘I love you’ คือคาถาสากลของคนทั้งโลก แต่ความรักที่มีให้แก่คนคนเดียวนั้นเป็นความรักที่จำกัดมาก และเมื่อจำกัดมากก็เป็นทุกข์มาก รักที่เราในวัยหนุ่มสาวควรต้องเรียนรู้ คือความรักต่อทุกสรรพสิ่งและการรักตัวเองอย่างถูกวิธี
นี่เองจุดประกายให้บทสนทนายามบ่ายคักคึกเป็นพิเศษ ต่างคนต่างแลกเปลี่ยนปัญหาความรัก เช่น ความไม่เข้าใจกัน ไม่ให้เกียรติกัน ความเปลี่ยนแปลงของคู่รัก ฯลฯ ความรักเป็นสิ่งสากลและเป็นพลังงานของวัยหนุ่มสาวที่ใครต่างก็ต้องพบเจอ นั่นอาจเป็นเหตุผลที่หัวข้อธรรมบรรยายนี้บรรจุอยู่ในงานภาวนา Wake Up อย่างขาดไปไม่ได้ นี่คือเรื่องที่พวกเราสนใจ แต่อาจจะสนใจอย่างไม่ตรงประเด็นกันนัก
เช่นเดียวกับหลวงพี่นิรามิสา หลวงพ่อจรุงไห่เองก็กล่าวว่า แม้นักบวชจะปลงผมและใช้ชีวิตในทางธรรม แต่พวกเขาก็มีอารมณ์ความรู้สึกและมีความรักเกิดขึ้นได้ เป็นอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นไม่ยากนัก
“ในภาษาอังกฤษ เขาใช้คำว่า ตกลงไปในความรัก ทั้งสองคนตกลงไปในนี้” หลวงพ่อเขียนอักษร I และ U ลงไปในรูปหัวใจ มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเราอธิบายจุดเริ่มต้นไม่ได้ เมื่อคนธรรมดาตกหลุมรักได้ นักบวชโดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาว ก็ไม่มีข้อยกเว้น
“แต่พวกเขารู้ว่าตนมีความรักที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น รักต้นไม้ รักเสียงนกร้อง รักธรรมชาติ พวกเขารู้จักวิธีดูแลพลังงานความรักเหล่านั้น” เราหันหน้าออกไปมองภูเขาผ่านหน้าหน้าของหอสมาธิ นึกถึงรอยยิ้มของหลวงพี่ทั้งสามเมื่อได้แทะมะม่วงเนื้อหวานฉ่ำจิ้มกับเกลือปรุงรสของเวียดนาม อยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใบเขียว เหมือนว่าไม่มีอะไรจะสุขไปกว่านั้นได้อีกแล้ว
เรามีความฝันและความคาดหวังในตัวเองมากมาย แต่หลวงพี่เหล่านี้ในวัยไล่เลี่ยกันกับเรา พอใจแล้วกับการได้กินมะม่วงและร่วมทางเดินไปกับบรรดาสังฆะในทุกๆ วัน
หนทางแห่งการตื่นรู้
เดือนเมษายน พ.ศ. 2551 หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ กล่าวในงานภาวนาเยาวชน Wake up ว่า “ฉันมีความคิดจะสร้างกลุ่มคนหนุ่มสาว ผู้ที่สามารถนำคำสอนและการฝึกปฏิบัติของพุทธศาสนาเข้าไปใช้ในชีวิตประจำวัน… กลุ่มคนหนุ่มสาวนี้มีความรักและความกรุณาในอุดมคติ เราจำเป็นต้องดำเนินชีวิตบนหนทางที่จะดำรงสุขภาวะที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจเพื่อแปรเปลี่ยนความทุกข์ในตัวเรา และความปั่นป่วนทางอารมณ์ เช่น ความรุนแรง ความโกรธ ความสิ้นหวัง และความปรารถนา บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเข้าใจ ความรัก ความเบิกบาน และความสุข”
เป็นเวลา 8 ปีที่กลุ่ม Wake Uppers ได้เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ กระจายทุกทวีป และเกิดการเชื่อมโยงกันด้วยเว็บไซต์ www.wkup.org ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการค้นหากลุ่ม Wake Up ในพื้นที่ใกล้เคียงและแลกเปลี่ยนบทความที่น่าสนใจจากกลุ่มผู้ปฏิบัติหนุ่มสาวด้วยกัน ซึ่งในเว็บไซต์ระบุว่าพวกเขาคือกลุ่มผู้สนใจการปฏิบัติเพื่อเจริญสติระดับโลกซึ่งมีอายุระหว่าง 18-35 ปี
“เราต้องการช่วยเหลือโลกซึ่งเต็มไปด้วยการแบ่งแยก การไม่ยอมรับความแตกต่าง ความโลภ ความโกรธ และความสิ้นหวัง ซึ่งมีอยู่อย่างล้นเกิน เมื่อได้เห็นสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงเพราะสังคมของเราเอง เราจึงต้องการใช้ชีวิตในรูปแบบที่จะทำให้โลกใบนี้สามารถอยู่รอดต่อไปได้อย่างยาวนาน
“การฝึกปฏิบัติเพื่อเจริญสติ สมาธิ และปัญญา จะสามารถทำให้เราเสริมสร้างความไม่แบ่งแยก ความเข้าใจ และความเมตตาภายในตัวเราและภายในโลก”
นั่นคือคำอธิบายปณิธานของกลุ่ม Wake Up ในระดับโลก ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ประสานความเป็นพลเมืองโลกเข้ากับแนวทางการใช้ชีวิตสู่การตื่นรู้ แม้ไม่ได้เป็นนักบวช แต่พวกเขาเชื่อว่าการปฏิบัติในฐานะฆราวาสจะช่วยเหลือโลกใบนี้ได้
กลุ่ม Wake Up ประเทศไทยก็เป็นกำลังสำคัญในการจัดงานภาวนาในครั้งนี้ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้านพลัมประเทศไทย เช่น วันแห่งสติซึ่งจัดทุกสองเดือนที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ
เสื้อยืดสกรีนลาย Wake Up และกราฟิกวงกลมคล้ายลายตวัดพู่กันปรากฏอยู่ให้เห็นในงานภาวนา พวกเขาเหล่านี้คือคนหนุ่มสาวที่มีชีวิตการเรียนและการทำงานภายนอกพื้นที่หมู่บ้านพลัม แต่แบ่งปันเวลาส่วนหนึ่งมาทำงานอาสาเพื่อสนับสนุนการค้นหาหนทางแห่งความสุขและสันติของเพื่อนในวัยเดียวกัน และเป็นตัวกลางเชื่อมโยงกับกลุ่ม OI หรือ Order of Interbeing กลุ่มผู้รับศีล 14 ของหมู่บ้านพลัม
“เวกอัพหมายถึงกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อสนับสนุนการฝึกปฏิบัติการ ‘ตื่นรู้’ ซึ่งกันและกัน เวกอัพหรือตื่นรู้ยังเป็นความหมายหนึ่งของพุทธะ ซึ่งก็คือการตื่นและเบิกบานภายในตนเอง ด้วยแนวทางที่เข้าถึงการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ได้ดี”
สมาชิกกลุ่ม Wake Uppers อธิบายความหมายอย่างคร่าวๆ ที่ทำให้เราเข้าใจที่มาของชื่อเท่ๆ อย่าง Wake Up มีสัญลักษณ์มือคล้ายท่าชาวร็อกสองข้างมาต่อกันเป็นตัว W สะท้อนความเป็นวัยรุ่นของพวกเขาได้ดี
“พวกเราไม่ได้นับถือศาสนาพุทธทุกคน เรามีเพื่อนๆ ศาสนาคริสต์และอื่นๆ ที่ไม่ได้เจาะจงศาสนาใดด้วย”
ภายใต้นิยามของพลเมืองโลกรุ่นใหม่หรือเจเนอเรชันมี บทความมากมายได้อธิบายว่าพวกเราคือวัยที่กล้าทดลอง และตั้งคำถามกับมาตรฐาน วัฒนธรรม หลักปฏิบัติเดิมที่อยู่ในสังคม มองในแง่หนึ่งคือผู้ไร้ศรัทธาที่น่าอันตรายสำหรับคนรุ่นก่อน แต่มองในมุมกลับกัน พวกเราคือนักตั้งคำถามและพยายามทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ด้วยหัวใจที่ไม่ปิดกั้น ด้วยชาติ ศาสนา หรืออุดมการณ์ใด หลังจากโลกได้ผ่านโศกนาฏกรรมมากมายจากการแบ่งแยกนั้น
และอาจเป็นโชคดีของพวกเขา ท่ามกลางวันวัยแห่งการแสดงออกตัวตน การพูด การโพสต์ระบายสิ่งต่างๆ ในโลกออนไลน์ พวกเขาได้มีโอกาสสร้างพื้นที่เล็กๆ สำหรับการเรียนรู้ ‘การฟังอย่างลึกซึ้ง’ ซึ่งเป็นแนวทางการเข้าใจผู้อื่น และตระหนักว่าผู้อื่นก็อยู่ในตัวเราเอง และการฟังก็กลายเป็นอะไรที่มากกว่าการฟัง แต่คือการที่มนุษย์คนหนึ่งเยียวยามนุษย์อีกคนหนึ่ง
“มากกว่าการได้เพื่อนแท้และความสนิทสนมไว้วางใจ เราได้พบความสุขที่อยู่ภายใน มีพื้นที่ว่างส่วนตัว มีกลุ่มคนที่คอยรับฟังอย่างลึกซึ้งถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในใจ เพราะเรารู้ดีว่ายังมีเพื่อนที่พร้อมจะอยู่ตรงนั้นอย่างเต็มเปี่ยมเพื่อรับฟังและสนับสนุน และการได้ทำงานอาสาฯ เป็นการสืบเนื่องและเกื้อกูลการปฏิบัติของพวกเราได้เป็นอย่างดี มันทำให้เราได้เข้าถึงธรรมะอย่างลึกซึ้งขึ้นไปอีกขั้น”
ร่างกายไม่ได้เป็นของเรา
“ฉันรักยามฝนตกในตอนบ่าย มีต้นไม้ใบเขียวและปุยนุ่นพัดมาจากที่ไกล”
หลวงพี่แถ่งตุค่อยๆ แปลกลอนข้างฝาให้เราฟังทีละท่อน กลอนบรรยายความรักที่มีต่อธรรมชาติ ทั้งในยามฝนตก แดดออก เสียงนกร้อง และความเงียบ ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูยิ่งใหญ่เมื่อประกอบรวมกัน
“เป็นกลอนที่เพราะมากเลย ว่าไหม” หลวงพี่แถ่งตุแปลจนจบแล้วหันมายิ้ม เรารู้ว่านั่นคือชีวิตประจำวันของพวกเขา เหล่านักบวชที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ทำให้เรานึกถึงบทเพลงภาวนาเพลงหนึ่งที่ฟังแล้วรู้สึกจับใจทุกครั้ง
เราเป็นเมฆขาว เราเป็นดังท้องฟ้า เราเป็นดังวิหค โผกางปีกบิน เราเป็นดอกไม้สวย เราเป็นตะวันฉาย เราเป็นพื้นดินใหญ่ บ่มเพาะพืชพันธุ์
เมื่อเรามองอย่างแบ่งแยก เราจึงรู้สึกโดดเดี่ยว หลวงปู่ได้ประดิษฐ์คำคำหนึ่งขึ้นมาใหม่ นั่นคือคำว่าอินเทอร์บีอิ้ง (interbeing) หรือการเป็นดังกันและกัน ซึ่งเราอาจหลงลืมไปในห้วงคำนึงถึงความมีตัวตนของตัวเอง การแบรนดิ้งตัวเองอย่างไม่ลดละ เพื่อสร้างความหมายบางอย่างให้กับชีวิตระหว่างการเติบโต
“ร่างกายเธอไม่ได้เป็นของเธอแต่เพียงผู้เดียว ร่างกายเธอเป็นของบรรพบุรุษของเธอ เป็นของพ่อแม่เธอ และเป็นของลูกหลานเธอในอนาคต ร่างกายเธอยังเป็นของสังคมที่เธออาศัยอยู่ และเป็นของสรรพสิ่งอื่นๆ ด้วย ต้นไม้ หมู่เมฆ ผืนดิน และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ล้วนมีส่วนทำให้ร่างกายของเธอดำรงอยู่”
โมงยามที่จิตใจเติบโต
วันเกือบสุดท้ายของงานภาวนา พวกเรารู้ดีว่าจะต้องกลับไปเจออะไร
‘ชีวิตจริง’ ใครบางคนอาจเรียกแบบนั้น แม้ไม่แน่ใจว่าชีวิตจริงที่ว่านั้นจริงแค่ไหน แต่ในเมื่อนั่นเป็นเส้นทางที่เราเลือกเดินและยังต้องเจอความท้าทายในการฝึกสติอยู่เรื่อยไป สิ่งที่ทำได้คือการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดี และการสร้างกลุ่มสังฆะหรือผู้ร่วมฝึกปฏิบัติเพื่อเป็นแรงสนับสนุนเราในโลกข้างนอกนั้น
“หากเราต้องกลับไปเจอเพื่อนร่วมงานที่เราไม่ชอบในที่ทำงาน เราจะมีวิธีจัดการรับมืออย่างไร” หนึ่งในผู้เข้าร่วมงานภาวนาถามคำถามที่ใครหลายคนคงสงสัยอยู่ หลวงพี่นิรามิสาตอบอย่างนิ่มนวลว่า
“ดูแลตัวเขาที่อยู่ในตัวเธอก่อน” นั่นเป็นคำตอบที่ทำเราชะงัก
นานมาแล้ว เราคิดว่าการใช้ธรรมะแก้ปัญหานั้นคือการกระทำออกไปหรือการงดการกระทำ อย่างที่ศีล 5 ได้ห้ามไว้ แต่สิ่งที่เราลืมทำมาตลอดคือการจัดการสิ่งที่อยู่ภายในตัวเอง ทัศนคติที่มีต่อเพื่อนร่วมโลกและต่อชีวิต ในเมื่อทุกสิ่งเป็นดังกันและกัน เราไม่ใช่แค่ผู้กำลังเติบโต แต่เป็นหนึ่งสิ่งที่เติบโตไปพร้อมๆ กับสิ่งต่างๆ สิ่งที่เราทำได้เมื่อไม่ได้เลือกใช้ชีวิตแบบนักบวชก็คือ การดูแลพลังในทางลบอย่างเข้าอกเข้าใจ และไม่ปล่อยให้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดีเติบโตในใจไปมากกว่านี้
และนั่นคือการเติบโตที่เราเลือก เติบโตเพื่อจะได้ไม่ต้องยึดติดกับตัวตนจนไม่เห็นความสุขที่อยู่ตรงหน้า