20 BIG CHANGES 20 การเปลี่ยนเเปลงสำคัญด้านสุขภาพของสังคมไทย

ตลอดการเดินทางเพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้กับประเทศไทย การทำงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทยในหลากหลายมิติ หลายคนสามารถจดจำประเด็นใหญ่อย่างการรณรงค์งดดื่มเหล้า งดสูบบุหรี่ หรือแม้กระทั่ง เรื่องอุบัติเหตุ ฯลฯ ดังนั้น ในช่วงเวลาของการครบรอบ 20 ปีแบบนี้ เราอยากชวนคุณไปทบทวนความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ 20 ประเด็น ที่ สสส. สร้างให้กับสังคมไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมากับ 20 BIG CHANGES 20 การเปลี่ยนเเปลงสำคัญด้านสุขภาพของสังคมไทย

BIG CHANGE 01
จุดเริ่มต้น สสส. เส้นทางการเปลี่ยนภาษีบาป สู่การสร้างเสริมสุขภาพของไทย

        IMPACT: จุดเริ่มต้นการเกิดขึ้นของ สสส. เมื่อย้อนไป 20 ปีที่แล้ว ประเทศไทยได้มีการระดมพลังความคิดจากทุกภาคส่วน เพื่อเป้าหมายในการทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยเริ่มจากความพยายามเปลี่ยนค่านิยมเรื่องการสูบบุหรี่ ซึ่งมี ศ. เกียรติคุณ นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในสมัยนั้น เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันความสำเร็จในจุดนั้น ทำให้บุคลากรในแวดวงสุขภาพได้เริ่มศึกษาตัวอย่างองค์กรสุขภาพในประเทศออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาที่มีการเก็บภาษียาสูบ หรือที่เรียกกันว่า ‘ภาษีบาป’ (Sin Tax) และใช้มาเป็นแหล่งงบประมาณนวัตกรรม (Innovative Financing) ในการสนับสนุนและควบคุมโรค เมื่อได้ไอเดียดังกล่าวจึงมีการเสนอให้รัฐบาลไทยเรียกเก็บเงินภาษีบาป และต่อยอดกลายมาเป็น สสส. ตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ในที่สุด

        FUTURE FORWARD: ความยั่งยืนคือหัวใจสำคัญในการดำเนินงานของ สสส. ในอนาคต การจัดเก็บภาษีบาปจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งถือว่าเป็นเชื้อเพลิงในการทำงานหลักมาตลอด 20 ปี ในทิศทางข้างหน้า สสส. ยังคงมุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนไทย เพื่อเป็นการเติมช่องว่างในการจัดการกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนงบประมาณด้านสร้างเสริมสุขภาพให้ลดลง เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

BIG CHANGE 02 
สร้างสังคมไทยสู่การรวมพลังสร้างสรรค์สุขภาวะ

        IMPACT: หัวใจสำคัญของความสำเร็จในการทำงานของ สสส. คือการขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพ ผ่านการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนแบบ Multi-sectoral ทั้งภาคประชาชน ภาควิชาการ ไปจนถึงภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่สร้างให้เกิดความเข้มแข็งในการทำงานขึ้น เกิดการเชื่อมโยงสานพลังภาคีเครือข่าย จนทำให้เกิดการเชื่อมโยง สานพลังภาคีเครือข่าย จนทำให้เกิดการขับเคลื่อนสุขภาวะมาอย่างยั่งยืนกว่า 20 ปี โดยที่ผ่านมา สสส. ทำหน้าที่เป็นดั่ง Innovative Enabler เหมือนกับน้ำมันหล่อลื่นที่ช่วยให้ฟันเฟืองต่างๆ ทำงานได้อย่างลื่นไหล รวมทั้งยังวางบทบาทในการเป็น Incubator ที่ทำหน้าที่บ่มเพาะและสนับสนุนภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ อย่างเข้มแข็ง ขยายผลขับเคลื่อนการทำงานด้านสุขภาพได้ไกลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สสส. ยังทำหน้าที่สานพลังร่วมสร้างนวัตกรรมสุขภาวะ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องถือว่า สสส. เป็นองค์กรต้นแบบที่ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายได้อย่างดีเยี่ยม

        FUTURE FORWARD: การทำงานสนับสนุนร่วมกับภาคีเครือข่ายยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่ สสส. ยึดถือเอาไว้เป็นสำคัญ การสนับสนุน บ่มเพาะ เชื่อมโยง ยังคงเป็นรูปแบบการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นต้นทุนสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า 

BIG CHANGE 03 
สร้างองค์กรให้ยืดหยุ่น คล่องตัว สามารถขับเคลื่อนสุขภาวะในทุกวิกฤต

         IMPACT: สสส. เป็นองค์กรที่ผ่านอุปสรรคและวิกฤตใหญ่ๆ มาพร้อมกับประเทศไทยหลายครั้งหลายครา ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิปลายปี 2547 การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกระหว่างปี 2546-2549 วิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยในช่วงปี 2548-2553 มหาอุทกภัยในปี 2554 รวมถึงช่วงเวลาปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ตลอดเวลาที่ผ่านมา สสส. มีความเชื่อว่าวิกฤตที่อุบัติขึ้นใหม่ทุกครั้งไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยวิธีคิดและรูปแบบการทำงานแบบเดิมๆ ที่ผ่านมาองค์กรแห่งนี้จึงได้มีการออกแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้อย่างรวดเร็ว พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผลักดันการสร้างเสริมสุขภาวะในเมืองไทยให้สามารถเดินต่อไปได้โดยไม่สะดุด 

        FUTURE FORWARD: การเรียนรู้ในวิกฤตเพื่อปรับตัวเป็นคุณสมบัติสำคัญที่องค์กรอย่าง สสส. ยังคงรักษาไว้ การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จากการร่วมมือทำงานกับภาคีเครือข่ายที่แข็งแรงจะทำให้ สสส. สามารถเดินทางต่อไปในเส้นทางสร้างเสริมสุขภาวะในอนาคตได้อย่างมั่นคง 

BIG CHANGE 04
พิสูจน์ความสำเร็จ สู่การเป็นองค์กรสร้างเสริมสุขภาพชั้นนำระดับโลก    

         IMPACT: ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จในการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. ได้รับการยอมรับในระดับโลก ผ่านการร่วมมือทำงานร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ระดับนานาชาติมาโดยตลอด ทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ระดมความคิดต่อยอดการพัฒนางานให้กับนานาชาติพันธมิตร ซึ่งสร้างผลดีกับทั้งคนไทยและผู้คนทั่วโลก ซึ่งโมเดลการทำงานที่ สสส. ได้รับการยอมรับ ตัวอย่างเช่น สสส. คือองค์กรแรกในเอเชีย ที่เปลี่ยนภาษีบาป นำมาสร้างนวัตกรรมทางการเงินการคลังที่ยั่งยืนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (Innovative and Sustainable Financing Mechanism for Health Promotion) และได้ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกเป็นองค์กรพี่เลี้ยงแก่ประเทศอื่นๆ ที่สนใจโมเดลดังกล่าวอีกด้วย รวมถึงในปี 2564 สสส. ได้รับรางวัลเนลสันแมนเดลาด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (WHO – Nelson Mandela Award for Health Promotion) จากการสนับสนุนโครงการส่งเสริมสุขภาพกว่า 3,000 โครงการต่อปี ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ยืนยันการเป็นองค์กรสร้างเสริมสุขภาพชั้นนำระดับโลกของ สสส.

        FUTURE FORWARD: สสส. คาดหวังว่าโมเดลการดำเนินงานตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจ และส่งต่อไอเดียการทำงานให้กับนานาประเทศ ที่สนใจอยากสร้างองค์กรนวัตกรรมเพื่อสุขภาพขึ้นมาเช่นเดียวกัน เพราะในโลกอนาคต เส้นแบ่งของภาษาและดินแดนจะพร่าเลือนไปเรื่อยๆ การส่งต่อความรู้และแรงบันดาลใจให้กันไปมาเช่นนี้ จะสร้างโลกที่ผู้คนมีสุขภาพดียิ่งขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

BIG CHANGE 05
เปลี่ยนแปลงสังคมไทย สร้างวัฒนธรรมต่อต้านภัยบุหรี่

        IMPACT: สสส. เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ MPOWER ขององค์การอนามัยโลก ที่เป็นเหมือนเครื่องมือชี้วัดการควบคุมยาสูบในประเทศต่างๆ ซึ่ง สสส. ร่วมกับคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ (คบยช.) และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อออกยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ มาถึง 3 ฉบับ ตลอด 20 ปี ซึ่งมีมาตรการควบคุมยาสูบที่ครอบคลุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ รวมทั้งส่งเสริมการเลิกใช้ ปรับปรุงกฎหมายกำหนดให้ที่สาธารณะและที่ทำงานทุกแห่งปลอดควันบุหรี่ 100% จากการผลักดันอย่างต่อเนื่องในที่สุดก็เกิด ‘พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560’ ที่ปรับปรุงกฎหมายฉบับเดิมให้ตอบโจทย์ปัญหาในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เป็น พ.ร.บ. ใหม่ที่มีความเข้มข้นในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดบุหรี่มากยิ่งขึ้น และครอบคลุมถึงการรับมือกลยุทธ์ทางการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบอีกด้วย 

        FUTURE FORWARD: เป้าหมายในอนาคตของ สสส. คือการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ไม่เกิน 15% ภายในปี 2568 เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565-2570 ซึ่งต้องผ่านการทำงานบนความท้าทายในหลากหลายด้านไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการนโยบาย การสร้างกระบวนการที่เข้มแข็งในการควบคุมยาสูบทั้งในระดับท้องถิ่นไปจนระดับชาติ ผ่านการสร้างเครื่องมือและเครือข่ายภาคีรุ่นใหม่ เพื่อสร้างสุขภาพคนไทยให้แข็งแรงยิ่งขึ้นในอนาคต

BIG CHANGE 06
สร้างค่านิยมใหม่ในสังคมไทย ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

        IMPACT: นับตั้งแต่จัดตั้ง สสส. ทำให้เกิดการขับเคลื่อนด้านการศึกษาวิจัยสภาพปัญหา และผลักดันนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้อง อย่างการห้ามโฆษณาแอลกอฮอล์ การผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 สนับสนุนการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายและทางสังคมต่างๆ เพื่อลดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรณรงค์สร้างกระแสสังคมโดยเฉพาะบทบาทของภาคประชาสังคม เช่น สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายเยาวชน มูลนิธิเมาไม่ขับ เครือข่ายลดอุบัติเหตุ เครือข่ายด้านศาสนา เครือข่ายด้านสุขภาพต่างๆ รวมไปถึงการสร้างค่านิยมใหม่ งานบุญประเพณีและเทศกาลปลอดเหล้า จากการร่วมผลักดันของ สสส. และภาคีเครือข่าย ส่งผลให้ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยมีแนวโน้มลดลง

        FUTURE FORWARD: การผลักดันในประเด็นปัญหาสุขภาพจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังคงเป็นงานระยะยาว ที่ สสส. ยังต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ค่านิยมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยลดลงมากยิ่งขึ้น มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างยั่งยืน เดินหน้าประเทศไทยสู่การมีพื้นที่ปลอดเหล้า และเป็นสังคมไร้แอลกอฮอล์ที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

BIG CHANGE 07
รณรงค์สร้างความปลอดภัยบนท้องถนน 

        IMPACT: สสส. รณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนนมาอย่างยาวนาน ซึ่งจากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ในปี 2561 คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปีละกว่า 22,491 คน และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รายงานว่าในปี 2554-2556 มูลค่าเสียหายทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุสูงถึง 545,435 ล้านบาทต่อปี ทำให้ประเทศไทยมีอัตราเสียชีวิตทางถนนสูงติดอันดับโลก จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของ สสส. ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยทางถนน และมุ่งลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุผ่านยุทธศาสตร์ 5E คือการบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement) การให้ข้อมูลความรู้ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ (Education) วิศวกรรมจราจร (Engineering) การจัดระบบบริการฉุกเฉิน (EMS) และการประเมินผล (Evaluation) โดย สสส. ร่วมสร้างความร่วมมือในการลดอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ระดับชาติถึงท้องถิ่น อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาฐานข้อมูลที่สำคัญด้านสถิติและป้องกันอุบัติเหตุทางถนน

        FUTURE FORWARD: ความท้าทายในอนาคตของ สสส. คือการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน และสามารถลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศได้มากยิ่งขึ้นโดยการทำงานซึ่งอาศัยงานวิจัยมาปรับใช้เพื่อสร้างนวัตกรรม นำเทคโนโลยีมาผสมเข้ากับการบังคับใช้กฎหมาย รวมไปถึงการรณรงค์ผ่านโครงการ ‘ตำบลรวมพลัง’ ที่หากทุกตำบลสามารถลดการเสียชีวิตได้แค่หนึ่งราย จะสามารถช่วยลดตัวเลขผู้เสียชีวิตได้ถึง 7,000 รายต่อปี และทำให้ภาพรวมของปัญหาทางถนนของประเทศไทยดีขึ้นในอนาคต 

BIG CHANGE 08
พัฒนาระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ เพื่อสุขภาพดีที่ยั่งยืน

        IMPACT: ปัญหาด้านระบบอาหารและเกษตรกรรมของประเทศไทยมีความซับซ้อนอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจนและหนี้สินของเกษตรกร ปัญหาทรัพยากร ธรรมชาติที่เสื่อมโทรมลง ไปจนถึงการใช้สารเคมีปริมาณมากที่เรียกว่าติดอันดับ 5-6 ของโลก ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาพของคนไทยที่บริโภคอาหารทุกๆ วัน ซึ่งปัญหาสารเคมีตกค้างในอาหารเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง เนื้องอก โรคหัวใจ ซึ่งทำให้คนไทยเสียชีวิตจากโรคกลุ่มดังกล่าวซึ่งมีสาเหตุจากสารเคมีมากขึ้นเป็น 2 เท่า ในช่วงปี 2537-2559 ยังไม่รวมถึงพฤติกรรมของผู้คนในปัจจุบันที่นิยมการบริโภคอาหารสำเร็จรูปและอาหารจานด่วนมากขึ้นเรื่อยๆ สสส. จึงได้สนับสนุนการศึกษาวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ การรณรงค์สื่อสารให้เข้าใจได้ง่ายและชัดเจนในเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) และทักษะในการบริโภคอาหารสุขภาวะ (Life Skills) และการใช้วิถีชีวิตที่มีสุขภาวะ (Well-being) รวมทั้งการร่วมมือทำงานกับภาคีเครือข่ายจำนวนมากเพื่อพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืน

        FUTURE FORWARD: การเปลี่ยนแปลงระบบอาหารเพื่อสุขภาวะให้เป็นผลสำเร็จ ย่อมมีความท้าทายในหลากหลายประเด็นที่ต้องจัดการ สสส. มีความเข้าใจความท้าทายและข้อจำกัดในแต่ละบริบทพื้นที่ มีการวางแผนดำเนินงานขับเคลื่อนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยคาดหวังให้เกิดระบบอาหารเพื่อสุขภาวะให้เกิดขึ้นได้จริง

BIG CHANGE 09 
จุดกระแสกิจกรรมทางกาย เพื่อวิถีชีวิตสุขภาวะคนไทย

        IMPACT: ประเทศไทยเริ่มมีการเสริมสร้างกิจกรรมทางกายมาตั้งแต่ปี 2542 และมีการจัดตั้งกองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เวลานั้น แต่ว่าความหมายของการดูแลสุขภาพทางกายได้เปลี่ยนไป หลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้ให้นิยามกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา รวมเข้าไปอยู่กับการออกกำลังกาย ซึ่งเรียกว่า ‘กิจกรรมทางกาย (Physical Activity)’ สสส. จึงได้มีการผลักดันการสื่อสารให้ประชาชนได้เข้าใจคำนี้มากยิ่งขึ้น โดยรณรงค์ผ่านวิธีคิดแบบการตลาดเพื่อให้ข้อมูลต่างๆ ไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลดีที่เกิดขึ้นคือคนไทยหันมาดูแลสุขภาพผ่านการขยับร่างกายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน ทำให้ประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล สามารถช่วยลดมลภาวะจากการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงการตื่นตัวเรื่องพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะมากยิ่งขึ้น

        FUTURE FORWARD: ความสำเร็จในการผลักดันการเข้าใจความหมายของ ‘กิจกรรมทางกาย’ ที่มีนิยามกว้างกว่าแค่เรื่องการออกกำลังกายของ สสส. และเครือข่าย ยังอยู่ในระหว่างเส้นทางเท่านั้น เพราะปลายทางที่ สสส. คาดหวังไว้ คือการคนไทยทุกคนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เพื่อทำให้ทั้งสุขภาวะทางกาย ใจ สังคม และปัญญาของคนไทยยั่งยืน

BIG CHANGE 10
เปิดใจ รับรู้ ป้องกัน แก้ไข ปัญหาสุขภาวะทางเพศ

        IMPACT: แม้ในอดีตเรื่องเพศจะเป็นเรื่องที่คนไทยไม่กล้าพูด และให้ความรู้กันอย่างตรงๆ มากสักเท่าไหร่ แต่ปัญหาทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม การติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การใช้ความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ ไปจนถึงการยุติการตั้งครรภ์ ที่ผ่านมา สสส. ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เชี่ยวชาญด้านสุขภาวะทางเพศ สนับสนุนการพัฒนา เผยแพร่ความรู้ รวมไปถึงการพัฒนาระบบช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประสบปัญหาทางเพศ ซึ่งมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน และร่วมผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 เพื่อให้วัยรุ่นมีความรู้ด้านเพศวิถีศึกษา มีทักษะชีวิตที่ดี สามารถเข้าถึงบริกาอนามัยเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตร เป็นส่วนตัว รักษาความลับ และได้รับสวัสดิการสังคมอย่างเสมอภาค

        FUTURE FORWARD: สสส. ยังคงมุ่งมั่นสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศในอนาคตให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม เช่น กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) รวมทั้งมีการทำงานพัฒนาระบบ e-Learning เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตให้มากขึ้น ปัจจุบัน มีคุณครูที่เข้ามาลงทะเบียนเรียนแบบออนไลน์แล้วเกือบ 40,000 คน และในอนาคตจะมีการนำหลักสูตรไปเผยแพร่ให้บุคลากรครูในสังกัดอื่นๆ ของกระทรวงศึกษาธิการด้วย

BIG CHANGE 11
ตำบลสายพันธุ์ใหม่ ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งทั่วไทย สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  

        IMPACT: ภารกิจหลักอย่างหนึ่งของ สสส. ที่ผ่านมา และเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จที่เกิดขึ้นในการทำงานด้านสุขภาพ คือการสานพลังเครือข่ายภาคีจากทั่วประเทศ โดยเจตนารมณ์ที่ สสส. ยึดถือมาตลอดคือ ‘การมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่ไม่ใช่สุขภาพโดยตรงเข้ามาจัดการกับสุขภาพ’ (Engage non health sectors to address health) เพื่อพัฒนาความสามารถของชุมชนในการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีเป้าหมายในการสร้าง ‘ตำบลสายพันธุ์ใหม่’ ซึ่งมีองค์ประกอบคือชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง และชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ซึ่งเป็นเหมือนการสร้างฐานพีระมิดของประเทศไทยให้แข็งแรง ซึ่งเมื่อฐานล่างแข็งแรงก็จะสามารถต่อเติมให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างแข็งแรงได้ เช่น การสร้างกลไกการพัฒนาพื้นที่ สนับสนุนการพัฒนาระบบฐานข้อมูลตำบลสุขภาวะ หรือแม้แต่พัฒนารูปแบบการทำงานในลักษณะเครือข่ายร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ องค์กรชุมชน และหน่วยงานรัฐในท้องที่

        FUTURE FORWARD: จุดแข็งสำคัญของ ‘ตำบลสายพันธุ์ใหม่’ คือความสามารถในการปรับตัวเตรียมพร้อม เพื่อรับมือกับวิกฤตและความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในอนาคต สสส. ยังคงมุ่งเป้าในการพัฒนาชุมชนให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า ‘วิถีใหม่ของชุมชนท้องถิ่น’ (Transformative Community) ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนการปฏิรูปประเทศ​ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขอประเทศไทยในอนาคต

BIG CHANGE 12
องค์กรแห่งความสุข ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยในที่ทำงาน

        IMPACT: คนไทยส่วนใหญ่ใช้เวลากับการทำงานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน สถานที่ทำงานหรือออฟฟิศ เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของผู้คน คุณภาพชีวิตในช่วงเวลาที่เราอยู่ในที่ทำงาน เรียกว่าเป็นครึ่งหนึ่งของชีวิตที่กำหนดความสุขของผู้คนเลยก็ว่าได้ สสส. เล็งเห็นความสำคัญตรงจุดนี้ และให้ความสำคัญในการรณรงค์สร้างให้ที่ทำงานเป็น ‘องค์กรสุขภาวะ’ (Happy Workplace) ที่มีผลดีต่อสุขภาพของคนวัยทำงาน ผ่านแนวทาง Healthy Workplace Framework ขององค์การอนามัยโลก ใน 8 มิติ (Happy 8) อย่าง Happy Body สร้างสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ Happy Heart สร้างสัมพันธ์ที่ดีในการทำงาน Happy Brain พัฒนาความรู้ในการใช้ชีวิตและทำงาน Happy Relaxation ลดความเครียดในการทำงานและการดำเนินชีวิต Happy Soul ใช้หลักคุณธรรม จริยธรรม ในการทำงานและการใช้ชีวิต Happy Money บริหารจัดการการเงินของตนเองและครอบครัว Happy Family มีครอบครัวที่อบอุ่นและมั่นคง Happy Society ร่วมกันสร้างสังคมที่ดีในและนอกที่ทำงาน ซึ่งสร้างความตื่นตัวให้สังคมหันมาให้ความใส่ใจสุขภาวะในที่ทำงานอย่างมาก

        FUTURE FORWARD: การผลักดันสร้างองค์กรสุขภาวะยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญต่อไปในการทำงานของ สสส. เพื่อขับเคลื่อนประเทศ ให้พร้อมรับความท้าทายทางเศรษฐกิจในอนาคต ความสุขและสุขภาพที่ดีของคนทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้ความใส่ใจ  

BIG CHANGE 13
ใส่ใจสุขภาวะเด็กและเยาวชน สร้างการเรียนรู้และพัฒนาการที่สมวัย

        IMPACT: เด็กคือทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาและการดูแลสุขภาพ งานวิจัยระบุว่า การลงทุนในเด็กเล็กจะได้ผลกลับคืนมาถึง 7 เท่า รวมถึงในเรื่องของสุขภาพ ถ้าดูแลแต่เนิ่นๆ ก็สามารถลดภาระค่ารักษาพยาบาลได้มหาศาล ซึ่งหัวใจสำคัญในการพัฒนาเด็ก คือเรื่องของการสร้างเสริมศักยภาพของครอบครัวและชุมชน สสส. ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวผ่านการสนับสนุนโครงการต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ การสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง การผลักดันนโยบาย ไปจนถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อต้องการสร้างให้เด็กไทยแข็งแรงทั้งร่างกาย จิตใจ และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต

        FUTURE FORWARD: สสส. และภาคีเครือข่ายยังคงเดินหน้าผลักดัน การเสริมสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหัวใจสำคัญในการทำงานตรงหน้าให้เข้มแข็งมากขึ้น คือต้องสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายจากทั่วประเทศ เพื่อส่งต่อองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสุขภาพยุคใหม่ ให้เข้าถึงเด็กและเยาวชน ไปจนถึงครอบครัวและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น

BIG CHANGE 14
ยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางในสังคมไทย

        IMPACT: ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาหลักของประเทศไทย ที่มีโจทย์มากมายให้ต้องจัดการในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา วิถีชีวิตทางเพศ สสส. ทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะให้กลุ่มเปราะบางของสังคมเหล่านี้ ผ่านการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายและภาครัฐ เช่น การลงทะเบียนเพื่อพิสูจน์และพัฒนาสถานะบุคคล การสร้างกระบวนการเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน การจัดตั้งและพัฒนาล่ามชุมชน การสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อคนไร้บ้านผ่านการสื่อสารหลายช่องทางเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายคนไร้บ้านและการสร้างอาชีพ ซึ่งอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ในการพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

        FUTURE FORWARD: ตลอดการทำงานของ สสส. ที่ผ่านมา ประชากรกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ต้นแบบ ได้รับการช่วยเหลือและได้โอกาสจำนวนมากจากการร่วมผลักดันของภาคีเครือข่ายที่ทำงาน จนสามารถได้รับการพิสูจน์สิทธิ ทำให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ ได้มากขึ้น แต่ยังคงมีช่องว่างในการทำงานที่ต้องเติมเต็มจากการทำงานหนักอย่างต่อเนื่องสืบไป เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสและมีชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน 

BIG CHANGE 15
รองรับสังคมสูงอายุและยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ

        IMPACT: ผู้สูงอายุและคนพิการมักเป็นกลุ่มประชากรที่ถูกละเลยจากสังคมอยู่เสมอ นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมในประเทศไทยยังไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงวัยและคนพิการ ไม่ว่าจะเป็นผังเมือง ที่อยู่อาศัย หรือระบบคมนาคม สสส. ได้มีการผลักดันทั้งในเชิงสร้างความตระหนักรู้ถึงศักยภาพของผู้สูงอายุและคนพิการ รวมทั้งผลักดันนโยบายที่ช่วยให้กลุ่มประชากรกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น เช่น ผลักดันการพัฒนารูปแบบการจ้างงานคนพิการร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ให้เกิดการ ‘จ้างงานเชิงสังคม’ หรือการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย โดยร่วมกับเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ขับเคลื่อน พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อสร้างหลักประกันทางรายได้ยามสูงวัย ซึ่งเป็นการทำงานที่มองสุขภาวะองค์รวมของสังคมที่คนทุกวัยและทุกกลุ่มควรจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง

        FUTURE FORWARD: การขับเคลื่อนผลักดันพัฒนาการสร้างเสริม สุขภาพของกลุ่มผู้สูงวัยและผู้พิการ เป็นบทเรียนสำคัญที่ยืนยันว่าเราสามารถดูแลประชากรทุกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีการออกแบบและวางแผนให้ดี สสส. คาดหวังว่าในอนาคต ความสำเร็จจากการทำงานที่เกิดขึ้นจะขยายผลไปสู่การทำงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มเปราะบางหลายๆ กลุ่มได้ 

BIG CHANGE 16
สร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภค

        IMPACT: พฤติกรรมการบริโภคของผู้คนในยุคปัจจุบัน มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจากอิทธิพลของยุคดิจิทัล มีสินค้าและบริการจำนวนมากในตลาดและตลาดออนไลน์ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก มีผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องถูกเอารัดเอาเปรียบจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และร่วมมือกับภาคีจัดทำแผนคุ้มครองผู้บริโภคใน 3 ด้านด้วยกัน คือการสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการ การเพิ่มศักยภาพกลไกคุ้มครองผู้บริโภคจากภาครัฐ และการเพิ่มความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ซึ่งช่วยให้กลไกคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สร้างความตระหนักรู้ในสิทธิ และเท่าทันความเสี่ยงในสังคมปัจจุบันมากขึ้น

        FUTURE FORWARD: สสส. มีความมุ่งมั่นในการอุดช่องว่างของการคุ้มครองผู้บริโภคในอนาคตให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งพร้อมปรับตัวเพื่อรองรับรูปแบบพฤติกรรมของผู้บริโภคในอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงไป โดยมุ่งให้มีระบบคุ้มครอง และให้ประชาชนได้เข้าใจสิทธิผู้บริโภคของตัวเอง 

BIG CHANGE 17
ระบบสุขภาพอำเภอ สร้างสุขภาวะระดับพื้นที่ทั่วประเทศไทย

         IMPACT: การผลักดัน ‘สุขภาพดีถ้วนหน้า’  (Health for All) ให้เกิดขึ้นจริง เป็นภารกิจใหญ่ที่ สสส. มุ่งเป้าพาประเทศไทยเดินทางไปให้ถึง หนึ่งในความพยายามสำคัญคือการริเริ่มระบบสุขภาพระดับอำเภอ โดยในปี 2555 สสส. ได้เริ่มต้นการสร้าง ‘ระบบสุขภาพอำเภอ’ ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ริเริ่มโครงการ ‘สารภีโมเดล’ (Saraphi Health Model) ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ จนได้ข้อมูลสุขภาวะกว่า 26,000 ครัวเรือน ใน 12 ตำบล และทำให้โรงพยาบาลสารภีและ รพ. สต. สามารถวางแผนจัดการการรักษา การทำงานเชิงรุกต่าง ๆ ที่เหมาะกับบริบทชุมชนได้ ซึ่งเป็นตัวอย่างโมเดลสำคัญ แผนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพผ่านระบบบริการสุขภาพ สสส. จึงเป็นการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพที่เปลี่ยนจาก ‘เชิงรับ’ เป็น ‘เชิงรุก’ สร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้การรักษาสุขภาพของคนไทย

        FUTURE FORWARD: สสส. ยังคงมองเป้าหมายในการสร้างระบบสุขภาวะถ้วนหน้า เป็นเป้าหมายใหญ่ที่ต้องพาประเทศไทยไปให้ถึง การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ จะยังคงทำงานผ่านการสนับสนุนระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการสร้างระบบข้อมูลสุขภาพ เพิ่มองค์ความรู้ การสร้างนวัตกรรมสุขภาพใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น รวมไปถึงนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์มากที่สุด  

BIG CHANGE 18 
ปลูกพลังปัญญาสร้างจิตสำนึกใหม่สู่สังคม

        IMPACT: การทำงานด้านเพื่อสร้างเสริม ‘สุขภาวะทางปัญญา’ ในสังคมไทย เป็นงานสำคัญที่ สสส. และภาคีเครือข่ายให้น้ำหนักในการทำงานอย่างเข้มข้นเสมอมา มีการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างระบบข้อมูล ข่าวสาร เพื่อเผยแพร่ทัศนคติ และค่านิยมในสังคมเกี่ยวกับงานด้านสุขภาวะทางปัญญา ผ่านกระบวนการ RCN คือการวิจัย (Research) การสื่อสาร (Communication) และการเชื่อมประสาน (Networking) ส่งต่อเนื้อหาที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งสร้างสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่เรียนรู้สุขภาวะทางปัญญา สร้างสรรค์กิจกรรมพัฒนาจิตใจ ทั้งการสวดมนต์ทำสมาธิ งานศิลปะ ศึกษาธรรมชาติ สุขภาพองค์รวม รวมไปถึงกระบวนการจิตอาสา ซึ่ง สสส. ได้เสนอวาทกรรมใหม่ในเรื่องงานอาสาสมัครให้เป็นเรื่อง ‘จิตอาสา’ อีกด้วย

        FUTURE FORWARD: ความท้าทายในอนาคตของงานสร้างสุขภาวะทางปัญญาของ สสส. คือการขยายการตระหนักรู้ และความเข้าใจให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทุกส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน อีกทั้งเรื่องของสุขภาวะทางปัญญา ยังเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในโลกยุคใหม่ ที่จะช่วยสร้างจิตสำนึกให้คนในสังคม ในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนเช่นวันนี้

BIG CHANGE 19
สร้างสำนึกที่เท่าทันโลกด้วยระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ

        IMPACT: บทบาทของสื่อยังมีผลกระทบต่อสังคมในทุกยุคทุกสมัย ทั้งในโลกของสื่อเก่าหรือสื่อยุคใหม่ของโลกดิจิทัล ซึ่งบางมิติที่ส่งผลกระทบอาจจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ในปัจจุบันถือเป็นปรากฏการณ์ ‘เทคโนโลยีเปลี่ยนวิถีชีวิต’ (Disruptive Technology) ที่ทุกคนเป็นทั้งผู้เสพและผู้ผลิตสื่อส่งต่อไปในเวลาเดียวกันด้วย ทำให้ทุกๆ คนในโลกออนไลน์มีโอกาสพบเจอเนื้อหาที่ทำลายสุขภาพจิตตลอดเวลา ทั้งข่าวปลอม/ข่าวลวง (Fake News) เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) เนื้อหาด้านเพศ ลามก อนาจาร สสส. และภาคีเครือข่าย จึงมีความพยายามสร้าง ‘ระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ’ (Healthy Media Ecosystem) ทั้งการให้ความตระหนักรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เสพสื่อ ไปจนถึงการผลักดันนโยบายให้ประชาชนไทยก้าวสู่การเป็น ‘พลเมืองดิจิทัล’ ที่มีความเท่าทันสื่อ และมีความรับผิดชอบต่อสังคมในเวลาเดียวกัน

        FUTURE FORWARD: กลไกสำคัญที่จะช่วยให้คนไทยก้าวสู่การเป็น ‘พลเมืองดิจิทัล’ ได้ คือการปลูกฝังสร้างเสริมทักษะ ‘รอบรู้ด้านสุขภาพ’ เพื่อที่ประชาชนจะได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสื่อในปัจจุบัน บทบาทของ สสส. จะยังคงร่วมมือทำงานกับภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างความรู้ และพัฒนานโยบายที่จะช่วยให้คนไทยเท่าทันสื่อมากยิ่งขึ้น 

BIG CHANGE 20
งานสื่อสารสุขภาพยุคใหม่ เปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนในวงกว้าง

        IMPACT: กลไกการตลาดเพื่อสังคม’ (Social Marketing) คือเครื่องมือสำคัญที่ สสส. ใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพให้กับผู้คนในสังคมไทยมาตลอด 20 ปี  ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความตระหนักถึงภัยปัญหาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การบริโภคอาหารที่ไม่สมดุล ความปลอดภัยบนท้องถนน ไปจนถึงการจุดกระแสการออกกำลังกาย ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนทำงานผ่านแนวคิด ‘การสื่อสารงานสร้างเสริมสุขภาพ’ ที่มุ่งสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ให้ผู้คนตระหนักและเริ่มปรับพฤติกรรมของตัวเอง ซึ่งจากบทเรียนการทำงานที่ผ่านมา หัวใจการสื่อสารของ สสส. คือการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน พร้อมกับการทำงานควบคู่ไปกับภาคีเครือข่ายที่ช่วยผลักดันนโยบายและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม 

        FUTURE FORWARD: ความท้าทายเรื่อง ‘การสื่อสาร’ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ สสส. ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้น จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้เกิดการสื่อสารและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ดีและไม่ดี การพัฒนาตัวเองในทุกๆ วันคือทัศนคติสำคัญที่จะทำให้ สสส. สามารถเพิ่มองค์ความรู้และพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาพใหม่ๆ เพื่อผลักดันประเด็นสุขภาพของประเทศไทย ต่อไปในอนาคตได้