ชีวิตดี เริ่มที่เรา

8 ขั้นตอนง่ายๆ ในการสร้างชีวิตที่ดี ที่เริ่มต้นที่เรา

‘Better Tomorrow Starts Today’ พรุ่งนี้ที่ดีกว่า ย่อมเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้ สำนวนภาษาอังกฤษสำนวนนี้บ่งบอกให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ของการกระทำและผลของการกระทำนั้นคือ ‘การเริ่มต้น’ และองค์กรด้านสุขภาวะที่ดีเพื่อคนไทยอย่าง สสส. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ก็เน้นย้ำว่า พรุ่งนี้ที่ดีกว่า สามารถ ‘เริ่มต้นได้ด้วยจากเราเอง’

        แต่พรุ่งนี้ที่ดีนั้นก็ไม่ได้มีแค่เรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจที่เข้มแข็ง มันยังรวมไปถึงการสร้างชุมชนและสังคมที่เข้มแข็งร่วมกัน แน่นอนว่ามันมีหลายครั้งเหลือเกินที่เราพ่ายแพ้ ข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs 75% ต่อปี (2560) สาเหตุการเกิดโรค 1. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์: 34.0% (2558) 2. สูบบุหรี่: ​19.9% (2558) 3. ขาดการออกกำลังกาย: มีกิจกรรมทางกาย 72.5% (2560) 4. รับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม จัด: บริโภคผักและผลไม้ที่เพียงพอตามข้อแนะนำ 25.9% (2557) 5. ความเครียด: คะแนนสุขภาพจิตเฉลี่ย 31.44 คะแนน (2558), โทร.ปรึกษาเรื่องความเครียดกับสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เป็นอันดับ 1 (2560), สถิติฆ่าตัวตาย 6.5% (2558) 

         แต่สิ่งเหล่านี้ใช่ว่าเราจะเอาชนะมันไม่ได้ บทความนี้กำลังชักชวนให้คุณเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ตั้งต้นจากประโยคสั้นๆ ที่เราอยากให้เก็บไว้ในใจที่ว่า ‘ชนะในความแพ้’ ที่หมายถึงขอเพียงเราลุกขึ้นมา ‘เริ่มต้นลงมือทำ’ จะแพ้กี่ครั้งไม่สำคัญ เราเอาชนะใจตัวเองใหม่ได้เสมอ และนี่คือ ‘8 เรื่องใกล้ตัว’ ง่ายๆ ที่จะเป็นไกด์ไลน์นำคุณไปสู่ชัยชนะ เพราะ ‘ชีวิตดี เริ่มที่เรา’

 

ชีวิตดี เริ่มที่เรา
ดร. ประกาศิต กายะสิทธิ์, ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

        “Better Tomorrow Starts Today ทำให้เห็นความสัมพันธ์ของการกระทำและผลของการกระทำ ที่ให้ความสำคัญกับการเริ่มต้นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยตัวเราเอง เพื่อให้ได้ชีวิตที่ดีขึ้นในวันข้างหน้า 

         “การมีพฤติกรรมสุขภาพ (การใช้ชีวิต) ที่ดี ไม่สามารถส่งมอบ โอนสิทธิ หรือทำแทนกันได้ คนอื่นอาจช่วยกระตุ้น สนับสนุน ช่วยเหลือเราให้ทำในสิ่งต่างๆ แต่ท้ายที่สุดถ้าเราไม่เริ่มต้นการเดินทาง (ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม) ด้วยตัวเราเอง เราก็จะไม่มีทางไปถึงเส้นชัยสุดท้ายของการมีสุขภาพที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่เราต้องการได้”

 

ชีวิตดี เริ่มที่เรา

1. Eat Healthily

        การกินที่ดีต่อสุขภาพนั้น นอกจากการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว การกินในปริมาณที่พอเหมาะ ในรสชาติที่พอดี ก็สําคัญไม่แพ้กัน โดย สสส. ได้แนะนำสูตรที่เหมาะสมไว้สองสูตร ดังนี้ 

        2:1:1 สูตรเด็ดพิชิตพุง 

        การกินแบบ 2:1:1 คือสูตรกําหนดปริมาณอาหารที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ ที่ช่วยลดพุงและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ ทําได้ง่าย ๆ ด้วยการกะจากสายตา แบ่งสัดส่วนของจาน (เส้นผ่านศูนย์กลาง 9 นิ้ว) ออกเป็น 4 ส่วน เลือกจัดประเภทอาหารในจานแต่ละส่วน เป็นผัก 2 แป้ง 1 และเนื้อสัตว์ 1 

        6:6:1 สูตรรสกลมกล่อมห่างไกลโรค 

        รสชาติของอาหารก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพได้ หากปรุงมากเกินพอดีก็อาจเสี่ยงต่อโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต เป็นต้น ปริมาณการปรุงที่เหมาะสมจำง่ายๆ คือน้ำตาล 6 ช้อนชาต่อวัน ไขมัน 6 ช้อนชาต่อวัน และเกลือ 1 ช้อนชาต่อวัน

 

ชีวิตดี เริ่มที่เรา

2. Be Happy All The Time

        สุขภาพจิตที่ดีคือการรู้สึกดีและภูมิใจในตัวเอง (Self Esteem) ซึ่งทำให้เรามีพลังในการทำสิ่งอื่นๆ โดยสามารถควานหาเกณฑ์ชี้วัดสุขภาพจิตที่ดีง่ายๆ ได้จากคำถามเหล่านี้

        1. เรารู้สึกสบายๆ เมื่ออยู่กับตัวเอง และไม่ต้องพึ่งพาความรู้สึกจากคนอื่นมากเกินไปหรือไม่

        2. เรายอมรับตัวเองได้เมื่อทําสิ่งผิดพลาด และนํามาเป็นบทเรียนได้หรือเปล่า 

        3. เราสามารถเป็นเพื่อนที่ดีกับตัวเองได้ไหม 

        ทุกคนสามารถสัมผัสความสุขทางใจตามแต่เส้นทางที่ตนเองสนใจได้ที่ www.happinessisthailand.com หรือโทร.หาสายด่วยสุขภาพจิต 1323

 

ชีวิตดี เริ่มที่เรา
นายชาติวุฒิ วังวล, ผอ. สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.

 

        “เวลามีใครถามว่าชีวิตที่ดีคืออะไร ผมมักจะตอบไปว่า คือการเท่าทันความรู้สึกว่าขณะนี้ตัวเองกำลังสุข เวลานี้กำลังทุกข์ เท่าทันว่ามันไม่มีอะไรที่ยั่งยืน ชีวิตดีๆ คือการยิ้มให้ตัวเองในวันพังๆ การกอดตัวเองให้เป็นในวันที่ใจหม่น การออกไปเดินรับแสงแดดให้ผิวหนังสัมผัสสายลม การเคลื่อนไหวต้านบ้างและลู่บ้างไปกับจังหวะของลม หรือแม้แต่ใช้ทางสายกลางในการบริหารชีวิต (Engagement) กับตนเองและสรรพสิ่งรอบข้าง (Relationship)”

 

ชีวิตดี เริ่มที่เรา
นางสาวณัฐยา บุญภักดี, ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.

 

        “ชีวิตดีมีสุขภาวะ เป็นเรื่องไม่ยากถ้าเริ่มตั้งแต่เด็กๆ เริ่มจากคุณแม่คุณพ่อหรือผู้ดูแลเด็กในครอบครัวช่วยสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้เด็กๆ ให้เล่นเยอะๆ สนับสนุนให้เด็กเล็กได้ช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวัน ค่อยๆ ฝึกวินัยในเรื่องต่างๆ เพราะช่วงวัยเด็กเป็นช่วงที่เหมาะที่สุดในการปลูกฝังนิสัยให้ติดตัว”

 

ชีวิตดี เริ่มที่เรา

3. Love Actually

        “หลั่งนอกจะท้องไหม?”, “ไม่รู้วิธีใส่ถุงยางครับ”, “กำลังท้องขณะที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย ทำอย่างไรดี?” นี่คือส่วนหนึ่งของคําถามที่วัยรุ่นมักถามบนโลกออนไลน์ ซึ่งไม่มีใครการันตีได้ว่าคําตอบที่พวกเขาได้รับจะเป็นคําตอบจากใคร และมีความถูกต้องหรือไม่               

        จากผลการศึกษาวิจัยเรื่อง ‘การศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (แม่วัยรุ่น)’ โดย ศ.ดร. ศิริพร จิรวัฒน์กุล เมื่อปี 2554 พบว่า วัยรุ่นทั้งหญิงและชายต่างคาดหวังให้พ่อแม่เป็นที่พึ่งเรื่องเพศสําหรับพวกเขา แต่ด้วยช่องว่างของความไม่เข้าใจกัน และการรับรู้เรื่องเพศที่ต่างกันระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ทําให้วัยรุ่นทั้งหญิงและชายเลือกที่จะคุยกับเพื่อนมากกว่า แต่เมื่อถึงที่สุดหากวัยรุ่นเกิดตั้งครรภ์ พวกเขาจะต้องกลับมาหาที่ปรึกษาซึ่งก็คือพ่อ-แม่ อยู่ดี

        โดยมีเทคนิคในการพูดคุยเรื่องเพศกับลูก ดังนี้

        1. รับฟังอย่างไม่ตัดสิน

        2. ตั้งคำถาม

        3. ชื่นชมในสิ่งที่ดี

        4. ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

        5. แสดงความเชื่อมั่นในตัวลูก

        6. เป็นที่พึ่งเมื่อมีปัญหา

        โดยคุณสามารถวัดความพร้อมในการคุยเรื่องเพศกับลูกด้วยแบบวัดระดับในเว็บไซต์ www.คุยเรื่องเพศ.com เพื่อจะได้รู้ว่าตัวเองยังขาดข้อมูลหรือความรู้อะไรหรือไม่ก่อนไปคุยกับลูก

 

ชีวิตดี เริ่มที่เรา

4. Happy Society

        ความสัมพันธ์ที่ดีคือสายใยที่ถักทอเป็นรากฐานที่ช่วยให้สังคมมีความสุข ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วม โดยเฉพาะในที่ทำงาน โดยอาศัยแนวคิด Happy Workplace 8 ประการ ดังนี้ 

        1. Happy Body: สร้างให้คนในองค์กรมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและมีจิตใจที่ดี พร้อมรับมือกับทุกปัญหา

        2. Happy Heart: สร้างให้คนในองค์กรมีน้ำใจเอื้ออาทรต่อกันและกัน 

        3. Happy Society: สังคมดีเกิดขึ้นจากความรัก สามัคคี เอื้อเฟื้อต่อกัน มีสังคมและสภาพแวดล้อมที่ดี

        4. Happy Relax: คนในองค์กรควรรู้จักการผ่อนคลายต่อสิ่งต่างๆ เพราะมันจะส่งต่อความเครียดและกระทบต่อหน้าที่การทําางาน 

         5. Happy Brain: คนในองค์กรต้องหมั่นพัฒนาตนเองตลอดเวลา 

         6. Happy Soul: คนในองค์กรต้องมีความศรัทธาในความเชื่อและศีลธรรมที่ถูกต้อง เพราะมันจะกำหนดเส้นทางและพฤติกรรมการใช้ชีวิต

        7. Happy Money: คนในองค์กรต้องรู้จักเก็บรู้จักใช้เงิน ไม่เป็นหนี้ ปลูกฝังนิสัยอดออมและประหยัด

        8. Happy Family: คนในองค์กรต้องมีครอบครัวที่ อบอุ่นและมั่นคง ปลูกฝังนิสัยรักครอบครัว เพื่อนําไปเป็นหลักการใช้ชีวิต

 

ชีวิตดี เริ่มที่เรา
นางภรณี ภู่ประเสริฐ, ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.

 

        “ทุกชีวิตล้วนมีความหมายและมีคุณค่า หากเราได้เริ่มทำความเข้าใจและรู้จักตัวเองไปพร้อมๆ กับมองเห็นคนอื่นรอบข้างด้วยความเข้าใจ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งต่อเชื่อมโยงโอกาสให้อีกหลายชีวิตได้รับรู้และสัมผัสกับตัวตนที่มีคุณค่า และเริ่มต้นชีวิตดีจากคุณค่าที่มีในตัวเอง”

 

ชีวิตดี เริ่มที่เรา
นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์, ผอ. สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.

 

        “ ‘การทำความดี’ เป็นกิจกรรมธรรมดาที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบสูงต่อการสร้าง ‘วิถีของการไม่ทอดทิ้งกัน’ ในยามที่เกิดวิกฤตในสังคมที่ส่งผลให้เพื่อนในชุมชนท้องถิ่นมีความยากลำบาก เครือข่ายจะสานพลังเป็น ‘พลังจิตอาสา’ ในการระดมสรรพกำลังเข้าไปช่วยเหลือและสานพลังกับหน่วยงานอย่างเต็มกำลัง”

5. More Be Kind, More Be Happy

        ความสุขจากการต้องมีต้องได้ หรือทําเพื่อตัวเอง อาจไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงเสมอไป ขณะที่ความสุขจากการทําเพื่อผู้อื่น ช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทนกลับเป็นความสุขที่ยั่งยืนมากกว่า

        จากการทดลอง ‘Spending Money on Others Promotes Happiness’ ที่ใช้คนเข้าร่วม 46 คน ทดลองให้คะแนนความสุขของตัวเอง ก่อนแบ่งคนเหล่านี้ออกเป็น 2 กลุ่ม และแต่ละคนจะได้รับเงินคนละ 5 หรือ 20 USD เพื่อเอาไปใช้ตามเงื่อนไข 2 ประเภท 1. ใช้จ่ายส่วนตัว และ 2. บริจาคเพื่อการกุศล ผลการวิจัยพบว่า เมื่อครบ 5 วัน คนที่ใช้เงินเพื่อคนอื่นจะมีความสุขจากการได้เงินเท่าวันแรก ขณะที่คนที่ใช้เงินเพื่อตนเองจะมีความสุขจากการได้เงินลดน้อยลง ยังไม่ต้องเชื่อทันทีก็ได้ แต่ลองมาพิสูจน์ด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์ธนาคารจิตอาสา www.jitarsabank.com พื้นที่ที่ให้ทุกคนได้มาประกาศความตั้งใจในการแบ่งปันเวลาเพื่อสังคม

6. Drive Safe

        ปี 2561 องค์การอนามัยโลกยกให้ไทยเป็นแชมป์ของประเทศที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติมากที่สุดในอาเซียน โดยมีอัตราเสียชีวิตถึงประมาณ 55 รายต่อวัน แต่เราก็สามารถหยุดความเสียหายที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าได้โดยเริ่มต้นจากตัวเองง่ายๆ ดังนี้

        1. ไม่ขับรถเร็วเกินกำหนด ที่ความเร็ว 80 กม./ชม. ตามกฎหมาย เพราะมันมีอัตราเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่า 15 เท่า เมื่อเทียบกับอัตรา 40 กม./ชม.

        2. ดื่มไม่ขับ การดื่มแล้วขับเพิ่มความเสี่ยงในการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 6.6 เท่า และเสียชีวิตที่ 9.6 เท่า

        3. งดใช้โทรศัพท์ การส่งข้อความขณะขับขี่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูงมากกว่าผู้ขับขี่ที่ไม่ต้องเสียสมาธิถึง 20 เท่า

        4. คาดเข็มขัด การคาดเข็มขัดนิรภัยช่วยลดการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 40-60 

        5. สวมหมวกนิรภัย ซึ่งช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ศีรษะที่ได้ถึง 43%

 

ชีวิตดี เริ่มที่เรา
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ, ผอ. สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส.

 

        “เวลาเราเห็นรถขับไม่ดี เบียดกัน แซงกัน เรารู้สึกโมโห แต่ก็ได้แค่นั้น เราบังคับให้คนอื่นปรับพฤติกรรมไม่ได้ แต่เราบังคับตัวเองได้ เริ่มจากตัวเอง เห็นตัวอย่างไม่ดีก็อย่าเอามาเป็นตัวอย่าง เริ่มปรับพฤติกรรมให้สม่ำเสมอ ใช้หมวกกันน็อก คาดเข็มขัด ไม่ขับเร็ว ไม่ดื่มแล้วขับ แค่นี้ก็เริ่มต้นลดความเสี่ยงบนท้องถนนได้แล้ว ชีวิตดี เริ่มที่เรา”

 

ชีวิตดี เริ่มที่เรา
นางเข็มเพชร เลนะพันธ์, ผอ. สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.

 

        “หลายคนมองเห็นปัญหา หลายคนนั่งบ่นกับปัญหา และหลายครั้งที่เรารอให้คนอื่นมาแก้ปัญหาให้…อยากชวนเปลี่ยนมุมมองว่าเราทุกคน ทุกชุมชน มองเห็นปัญหาของตัวเอง ต้องร่วมมือกันลงมือแก้ปัญหา ทำด้วยวิธีง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ด้วยตัวเอง เช่น ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ จัดการกับสิ่งแวดล้อมในชุมชมให้เหมาะสมปลอดภัย รวมถึงการให้เกียรติซึ่งกันและกันของคนในชุมชน เพราะสังคมหรือชุมชนที่น่าอยู่สามารถเกิดขึ้นได้จริงจากตัวเราทุกคน ‘ชีวิตดี เริ่มที่เรา’ ”

 

ชีวิตดี เริ่มที่เรา

7. Let’s Say No

         เหล้าคือเครื่องดื่มที่ส่งผลต่อชีวิตหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นนิสัยที่เปลี่ยนไป เมื่อเมามาย สุขภาพที่ค่อยๆ ถูกบ่อนทําลาย หรือความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง หากคุณอยากเลิกเหล้าเพื่อคนที่รัก ตรงนี้มีวิธี

        1. ปรับสิ่งแวดล้อม การเลิกเหล้าให้สำเร็จถาวรเริ่มต้นจากเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้อยากดื่ม เช่น กลุ่มเพื่อนนักดื่ม 

        2. ปรับร่างกาย ดูแลร่างกายเป็นพิเศษ ทานอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ

         3. ฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง กําลังใจจากคนในครอบครัวมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เริ่มต้นจากคุยกับคนในครอบครัวเพื่อขอกำลังใจ

         4. หาแรงจูงใจ การเลิกเหล้าดีหลายอย่าง ไม่ว่าจะมีเงินเก็บมากขึ้น มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น สิ่งเหล่านี้คือแรงจูงใจสําาคัญ 

8. Let’s Say No More

        บุหรี่เลิกยาก แต่ทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มต้นจากตัวเอง เพราะพิษบุหรี่นั้นมีภัยร้ายทั้งแต่หัวจดเท้าทั้งต่อร่างกายผู้สูบและผู้รับควัน และนี่คือเคล็ดลับจากสิ่งใกล้ตัว

        1. ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะนาว วิตามินซีในมะนาว จะช่วยเปลี่ยนรสชาติของบุหรี่ให้เฝื่อน ทําให้ไม่อยากสูบและลดอาการอยากนิโคตินได้

        2. หญ้าดอกขาว มีฤทธิ์ทําให้ลิ้นฝาดจนไม่นึกอยากสูบบุหรี่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) พบว่า หากใช้สมุนไพรหญ้าดอกขาวติดต่อกันนาน 2 เดือน สามารถช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์

        3. การนวดกดจุดสะท้อนเท้า การนวดกดจุดสะท้อนเท้าช่วยกระตุ้นสมองให้หลั่งสารเคมีที่ทําให้รสชาติบุหรี่ผิดปกติ ทําให้ไม่อยากสูบบุหรี่ สามารถทําได้ด้วยตนเอง 

         4. สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 บริการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ ที่นับถึงวันนี้ช่วยให้คนที่ติดต่อเข้ามาสามารถเลิกบุหรี่ได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ 

 

ชีวิตดี เริ่มที่เรา
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา, รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส.

 

        “เพียงเริ่มลงมือปรับพฤติกรรมเพื่อรักษาสมดุลการใช้ชีวิตของเรา รู้จักธรรมชาติตนเอง, ตั้งสติให้เอาชนะใจตัวเองได้, มองหาความสุขอย่างง่ายๆ, หมั่นหาความรู้และพัฒนาทักษะการดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อชีวิตที่ดีและมีความสุขในวิถีของตัวเราเอง”

 

ชีวิตดี เริ่มที่เรา
ดร. นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม, ผอ. สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.

 

         “ชีวิตดีเริ่มที่เรา ชีวิตจะดีได้ สุขภาพตัวเราต้องดีด้วย  เริ่มต้นการมี ‘สุขภาพดี’ ได้ด้วยการใส่ใจในวิถีชีวิต โดยเฉพาะการดูแลการกิน การนอน การออกกำลังกายให้เหมาะสม  เเละไม่ลืมให้ความสำคัญกับทุกๆ คนในครอบครัว”

 


ภาพ: Erdy