Farm Hoo DIY

ชีวิตและความฝันที่ต้องออกแบบและลงมือทำเองของ ณฤต เลิศอุตสาหกูล ผู้ก่อตั้งเพจ HOO DIY

ถึงช่วงจังหวะหนึ่ง ไม่ว่าใครก็คงอยากเลือกออกแบบชีวิตในฝันของตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำได้ เพราะฝันของบางคนอาจติดอยู่กับภาระหน้าที่ วิ่งวนเวียนหาความหมายของชีวิตอยู่ในระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม สถานที่ที่เรียกว่าบ้านไม่ต่างจากกรงขังในห้องแคบๆ ที่ไม่ปล่อยให้เราซึมซับอะไรไปมากกว่าการใช้ประโยชน์เป็นที่หลับนอนก่อนออกไปทำงานเท่านั้น

        ชีวิตที่วิ่งวนอยู่ในรูปแบบเดิมๆ อย่างนั้นทำให้การตัดสินใจ การให้คุณค่าและความหมายไปขึ้นอยู่กับผู้อื่นมากกว่าตัวเอง แต่สำหรับ ‘เต้าหู้’ – ณฤต เลิศอุตสาหกูล เจ้าของแฟนเพจเฟซบุ๊ก HOO DIY กับภรรยาสาว ‘เดียร์’ – ธารนิธิ พยัคฆราชศักดิ์ ซึ่งทั้งสองทำงานเป็นนักเขียน นักออกแบบ และสอนศิลปะ DIY มากว่า 10 ปี พวกเขาชวนเรามามองหาคุณค่าชีวิตรูปแบบใหม่ ทั้งเรื่องความหมายของ ‘ทุน’ ที่ไม่ได้แปลว่าเงินเพียงอย่างเดียว หรือเรื่องของคุณค่าการส่งต่อสิ่งดีๆ และความรู้ให้กับคนอื่น ไปจนถึงเรื่องความสุขของการได้ลงมือปั้นฝันของตัวเองแบบ DIY

        ซึ่งทั้งสองได้ผสมผสานความถนัดและริเริ่มต้นโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า Farm Hoo DIY ฟาร์มเรียนศิลปะและกสิกรรมธรรมชาติ ที่ซึ่งพวกเขาได้ออกเดินทางจากเมืองใหญ่มายังจังหวัดชัยภูมิบ้านเกิดของเดียร์ เพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่มีทั้งกิจกรรมเวิร์กช็อปงาน DIY แคมป์ศิลปะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่นำของดีพื้นถิ่นมาให้ผู้คนได้รับรู้ ผสมผสานภูมิปัญญาและศิลปะได้อย่างยั่งยืน

        ซึ่งวันนี้เราพาคุณมาพูดคุยกับพวกเขา พร้อมกับเยี่ยมชมบ้านลอฟท์เถียงนา สไตล์ไทยอีสาน ซึ่งเต้าหู้บอกกับเราว่านี่เป็นหนึ่งในความฝันของคนกรุงเทพฯ อย่างเขา ที่อยากมีพื้นที่สีเขียวเป็นของตัวเอง และอยากอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ โดยเขาตัดสินใจออกแบบบ้านเถียงนาในสไตล์ตัวเอง และใช้สี TOA Loft มาเป็นตัวช่วยสำคัญในคอนเซ็ปต์หลักครั้งนี้ 

        ลองไปฟังกันว่าช่วงชีวิตในฝันของพวกเขาวันนี้ พวกเขาออกแบบและลงมือทำมันอย่างไร

 

Farm Hoo DIY

คนกรุงเทพฯ หรือคนในตัวเมืองใหญ่ๆ อาจจะอิจฉาคนต่างจังหวัดหรือนอกเมืองที่มีบ้านที่มีพื้นที่สีเขียว มีธรรมชาติ มีชุมชนที่อบอุ่นเป็นของตนเอง ในขณะเดียวกันคนต่างจังหวัดก็อาจจะอิจฉาคนในเมือง ที่มีห้าง มีความทันสมัย มีอะไรที่เขาไม่มี เราเลยมองว่าจะทำอย่างไรให้ทั้งสองฝ่ายต่างมองเห็นข้อดีและภูมิใจในบ้านเกิดของตัวเอง

จุดเริ่มต้นเส้นทาง DIY

        ย้อนไปถึงช่วงเริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักเขียนและกูรูเรื่อง DIY เต้าหู้เล่าให้เราฟังว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเด็กๆ ที่ตัวเขาเองเป็นเด็กน้อยที่ชื่นชอบงานประดิษฐ์ ชอบทำอะไรเล่นเอง และได้สะสมความสุขในวันนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจในการเลือกเส้นทางชีวิตวันนี้ 

        “จริงๆ การทำ DIY มันไม่มีอาชีพหรือมีคณะที่สอนนะว่าเรียนจบมาเป็นอันนั้นอันนี้ แต่มันเป็นแบ็กกราวนด์ของเราทั้งสองคน อย่างเราเองแบ็กกราวนด์เป็นเด็กน้อยที่ชอบประดิษฐ์ ชอบทำอะไรเล่นเอง แล้วก็เอาแรงบันดาลใจเหล่านั้นสะสมทำมาเรื่อยๆ จนมาถึงจุดหนึ่งที่เราต้องเข้ามหาวิทยาลัย เราเป็นคนที่ค่อนข้างสนใจเรื่องของศิลปะก็เลยเลือกคณะที่เกี่ยวกับการออกแบบ ก็เอนทรานซ์ติดคณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากร ด้านอินทีเรียร์ดีไซน์ ระหว่างที่เรียนเราก็ประยุกต์เข้ากับความสนใจด้าน DIY หยิบของเหลือใช้มาดีไซน์เป็นงานของเรา จนจบออกมาก็เริ่มทำงานในบริษัทออกแบบ”

        แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เส้นทางของเต้าหู้ชัดเจนในงาน DIY มากขึ้น คือวันที่เขาเริ่มต้นอยากแบ่งปันความรู้เรื่องงานดีไซน์ของตัวเอง จึงได้หันเหทิศทางอาชีพของตัวเอง

        “ถึงจุดหนึ่งที่เราทำงานออกแบบมาพอสมควรแล้ว เรารู้สึกอยากถ่ายทอดความรู้ในสิ่งที่เราสนใจให้กับคนอื่นๆ ที่คิดเหมือนเรา เพราะว่าก่อนหน้านี้งาน DIY คนจะรู้จักน้อย เราเลยเริ่มเอาเรื่องงาน DIY มาเขียน ก็ขยับตัวเองมาเป็นนักเขียนที่นิตยสาร Room เล่าเรื่องผ่านการทำเวิร์กช็อป ทำอีเวนต์ จนไปถึงจุดที่เรามีรายการทีวีของตัวเองเกี่ยวกับการทำงาน DIY ที่รายการบ้านและสวนทีวี ช่องอมรินทร์ทีวี และเราก็ทำแฟนเพจ HOO DIY ขึ้นมาจนถึงวันนี้”

 

Farm Hoo DIY

 

        ในส่วนชีวิตของเดียร์แฟนสาว เธอเองก็อยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชน ทำงานเป็นนักเขียนและบรรณาธิการนิตยสารแห่งหนึ่ง และสนใจเรื่องการทำค่ายเรียนรู้ ศิลปะ ภาษา และวัฒนธรรมให้กับเยาวชน ทั้งสองจึงนำความสนใจของกันและกันมาผสม แล้วเริ่มต้นจัดเวิร์กช็อปสอนงาน DIY มาเรื่อยๆ เพื่อส่งต่อความรู้ด้านดีไซน์ตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้ว

        “พอเราทั้งสองคนทำงานมาสักระยะหนึ่ง ก็อยากขยายความรู้เรื่องงาน DIY ออกไปมากกว่าแค่อีเวนต์ในกรุงเทพฯ อยากขยายออกไปตามจุดต่างๆ เลยเริ่มมองในเรื่องของชุมชนต่างๆ ที่เขามีความเป็น DIY ในการทำหัตถกรรมจักสานต่างๆ ของเขาอยู่แล้ว อันนั้นแหละคือ DIY แบบไทยๆ เราสองคนเลยคิดว่าจะเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ ได้ไหม

       “เราเริ่มออกแบบเกี่ยวกับการทำเวิร์กช็อป จัดกิจกรรมให้กับเยาวชน ให้กับผู้สูงอายุในการนำเรื่อง DIY เรื่องความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงศิลปะมาทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ เราทำงานด้านนี้มาเป็นสิบปี ซึ่งแฟนเพจก็ทำขึ้นมาเพื่อสอนคนให้นำความรู้เรื่อง DIY เรื่องศิลปะใกล้ๆ ตัว มาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันในเรื่องการตกแต่งบ้าน ในเรื่องการทำงานศิลปะเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง”

        หลังจากออกเดินทางไปแบ่งปันความรู้ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มาถึงวันหนึ่งพวกเขาก็มีความท้าทายใหม่ ด้วยการกลับมายังจังหวัดชัยภูมิ ที่ชุมชนบ้านขี้เหล็กใหญ่ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง เพื่อเริ่มต้นโปรเจ็กต์ Farm Hoo DIY ฟาร์มเรียนรู้ศิลปะและกสิกรรมธรรมชาติ ที่เปลี่ยนพื้นที่นา 13 ไร่ ให้กลายเป็นห้องเรียนธรรมชาติ แหล่งเรียนรู้รูปแบบใหม่กลางนาที่ออกแบบพื้นที่ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติและภูมิสังคม 

        โดยเดียร์เสริมว่า “พี่เต้าหู้เขาเห็นของดีที่นี่เยอะ อย่างศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อวิถีชุมชน ที่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ประกอบกับโอกาสที่มีค่ายต่างๆ เขารู้ว่าพี่หู้กับเราเคยทำค่ายกิจกรรมเวิร์กช็อปมาก่อนที่กรุงเทพฯ ก็เลยมาชวนว่า เฮ้ย จัดค่ายให้หน่อย เป็นค่ายแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ให้เด็กแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศมาร่วม และเราก็มองว่าน่าจะเอาของดีของชุมชนเรามาให้ชาวต่างชาติได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนกับคนในชุมชนกัน 

        “จนพอได้จัดจริงๆ จากความรู้เรื่องพิณ แคน อาหารพื้นเมือง ที่ชาวบ้านมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาเราเล่น เรากินกันอยู่ทุกวัน แต่พอมีคนมาชื่นชม ก็ทำให้ชาวบ้านรู้สึกภูมิใจในการที่ตัวเองเล่นแคนเล่นพิณเป็น ตัวเองขุดไม้ทำพิณเองนะ เขาก็เริ่มรู้สึกอยากจะถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ไปให้คนต่างถิ่นรู้มากขึ้น สิ่งที่เราทำมันเป็นการปลุกกระแสความภูมิใจในตัวตนของตัวเองให้มากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าคนอีสานบางทีเขาจะไม่ค่อยภูมิใจในความเป็นอีสาน แต่พอเขาได้ทำอะไรแบบนี้เขาก็รู้สึกมีพลัง”

 

Farm Hoo DIY

สร้างพื้นที่เพื่อเติบโตและเรียนรู้ไปพร้อมกัน

        สำหรับเดียร์ เราไม่แปลกใจที่เธออยากกลับมาสร้างสิ่งต่างๆ ที่ชัยภูมิ เพราะว่าที่นี่เป็นบ้านเกิดของเธอเอง แต่สำหรับเต้าหู้ เราสงสัยว่าทำไมคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิดแบบเขาถึงอยากออกจากเมืองใหญ่มาปลูกฝันของตัวเองที่นี่แบบนี้

        “เราเองเป็นคนกรุงเทพฯ แต่กำเนิด ถามว่าทำไมเราไม่เอาแนวคิดพวกนี้ทำแค่ในกรุงเทพฯ เพราะอยู่ในเมืองก็น่าจะสะดวกดี เมืองศิวิไลซ์ดี มีความสุขดี แต่เราว่าเมืองกรุงก็มีข้อจำกัดตามบริบทของมัน วิถีชีวิตแบบคนเมืองกับต่างจังหวัดก็มีมิติที่น่าสนใจแตกต่างออกไป ในเชิงวัฒนธรรม ในเชิงของผู้คนวิถีชุมชน แล้วอีกอย่างผมมองว่าคนเมืองก็แอบอิจฉาคนต่างจังหวัดนะที่เขามีต้นทุนในชุมชน ในเรื่องของพื้นที่ทำกิน ต้นทุน ภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม และมิตรสหายเครือข่ายที่คอยช่วยเหลือกันที่ไม่ใช่ว่าใครๆ นึกจะมีก็มีได้ 

        “แล้วอีกอย่างหนึ่ง เราคิดว่าตัวเองก็เป็นเหมือนคนกรุงเทพฯ หลายๆ คนที่มีความฝัน เกิดมาไม่เคยมีพื้นที่สีเขียวของตัวเองเลย ก็อยากมีพื้นที่ธรรมชาติ ไปอยู่บนเขาไกลๆ หลีกหนีผู้คน คนกรุงก็จะฝันแบบนั้น แต่พอเอาเข้าจริงๆ ได้เริ่มตามความฝันของตัวเอง ย้ายตัวเองมาอยู่ในพื้นที่ใหม่ มันก็ไม่ได้เป็นภาพเหมือนในความฝันทั้งหมด เพราะการที่จะไปอยู่ไหนเราต้องปรับตัว เรียนรู้บริบทพื้นที่ของเขา เรียนรู้ไปกับเขาเพื่อที่เราอยู่จะได้ไม่แปลกแยก อันนี้คือสิ่งที่เราเรียนรู้อยู่ ปรับตัวเองให้เข้ากับชุมชน และก็ปรับชุมชนให้รู้จักค้นพบตัวเองว่าเขามีดีอะไร เพราะคนในต่างจังหวัดเองก็อิจฉาคนกรุงเทพฯ และอยากจะมีอย่างเขา ในขณะที่ตัวเองก็มีของดีที่คนอื่นไม่มีเหมือนกัน เพียงแต่ว่าแค่มองไม่เห็น” 

        ทุนในความหมายที่หลายคนเข้าใจ อาจมองว่าหมายถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ เพียงอย่างเดียว แต่สำหรับพวกเขา ทุนมีความหมายที่มากกว่านั้นและสะท้อนออกมาได้ในหลายๆ มิติด้วยกัน 

        “คนต่างจังหวัดเขาจะมีที่ของตัวเองตกทอดมาจากบรรพบุรุษอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเทียบกับกรุงเทพฯ ที่มันแพงมาก และหมู่บ้านของเราที่ชัยภูมิเป็นหมู่บ้านที่รวมองค์ความรู้เรื่องพิณ แคน เครื่องจักสาน ขนมอาหารไทยพื้นถิ่น เป็นชุมชนที่ค่อนข้างมีครบอยู่แล้ว มาผสมกับที่พี่เต้าหู้เขาเป็นคนกรุง แต่มาเจออะไรที่มันครบรส เลยเกิดอาการคันมือ อยากเอาความเป็น DIY ของตัวเองมาทำร่วมบูรณาการกับภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน

        “ซึ่งคำว่าทุนในมุมมองของพวกเราไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่ทุนคือสิ่งที่เรามีอยู่ เหมือนงาน DIY ที่เราทำ มันคือการนำของที่เรามีอยู่รอบตัวทำให้เกิดมูลค่าขึ้นมา ทุนของเราที่นี่มีแค่พื้นที่นาอยู่หลังวัด อยู่ในชุมชม ใกล้โรงเรียนของหมู่บ้าน จึงสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ง่าย เราก็มองว่าสิ่งเหล่านี้แหละคือต้นทุนของเราที่มีค่ามากที่จะสร้างความสัมพันธ์ตามอย่าง บ ว ร คือ บ้าน วัด โรงเรียน อย่างที่เคยเป็นมาในอดีตให้กลับมาในชุมชนของเราอีกครั้ง เราและผู้หลักผู้ใหญ่ก็กำลังพยายามสร้างวัฒนธรรมนี้ให้เกิดขึ้นที่ชัยภูมิ เป็นกลุ่มคนที่มาขับเคลื่อน ช่วยกันโดยที่ไม่ใช้เงินเป็นที่ตั้ง แต่ใช้ ‘ใจ’ เป็นทุน” 

 

Farm Hoo DIY

 

        เต้าหู้บอกอีกว่าความตั้งใจของเขาในการสร้างพื้นที่แห่งนี้ขึ้นมา เพราะอยากให้คนทั้งสองฝั่งมาเจอกัน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และตระหนักถึงคุณค่าและข้อดีของตัวเอง ที่ต่างคนไม่เหมือนกัน

        “คนกรุงเทพฯ อาจจะอิจฉาคนต่างจังหวัดที่มีพื้นที่ มีบ้านให้กลับ มีพื้นที่สีเขียว มีธรรมชาติ ในขณะเดียวกันคนต่างจังหวัดก็อาจจะอิจฉาคนกรุงเทพฯ ที่มีห้าง มีอะไรที่เขาไม่มี เราเลยเอาเวิร์กช็อปเกี่ยวกับงาน DIY นี่แหละมาเป็นตัวเชื่อมให้ทั้งสองฝั่งได้เรียนรู้โลกด้วยกัน ทุกวันนี้เราก็จัดกิจกรรมหลายๆ อย่างที่พานักเรียนในเมืองหรือว่านักเรียนในต่างจังหวัดเข้ามาเรียนรู้ร่วมกับชุมชนในเรื่องของวิถีชนบท อย่างการเกษตร การย้อมทอผ้า การกินอยู่อย่างพอเพียงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ”

        ผลลัพธ์ของการกลับมาลงมือปลูกฝันที่ชัยภูมิครั้งนี้ ทั้งสองบอกว่าพวกเขาไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการเห็นทุกคนได้ค้นหาคุณค่าในชีวิตตัวเอง ซึ่งนิยามความหมายอาจไม่ต้องมีหน้าตาเหมือนกันก็ได้

        “คือเราอยากเห็นทุกคนภูมิใจในความเป็นตัวเอง เพราะมันเกิดมาจากเวลาที่เราไปสอนศิลปะหรืองาน DIY เราเห็นทุกคนมีของดีหมด จะวาดรูปสวยไม่สวยแต่ทุกคนมีความเป็นตัวของตัวเอง ชุมชนหรือว่าประเทศก็มีเอกลักษณ์ มีอัตลักษณ์ของตัวเองเหมือนกัน ทำอย่างไรให้เขารู้จักและภูมิใจกับความเป็นตัวเอง ซึ่งคุณค่าที่แท้จริงไม่ได้เกิดขึ้นจากการไปชี้วัดด้วยตัวเลข เงินทอง มูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่คุณค่าเกิดจากความคิดของผู้ทำและคุณค่าต่อผู้อื่นต่อคนรุ่นหลังต่างหาก อันนั้นแหละคือคุณค่าที่ยั่งยืน” 

 

Farm Hoo DIY

ผมว่าทุกคนมีจุดเล็กๆ แบบนี้ที่คุณสามารถจะต่อยอดสิ่งที่คุณรักสิ่งที่คุณทำ ให้ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความตั้งใจและคิดดีทำดีของคุณ

ค้นพบเสน่ห์ลอฟท์ในสไตล์ตัวเอง

        ในวันที่สัมภาษณ์ เรานั่งกันอยู่บนบ้านเถียงนาของเต้าหู้ ซึ่งเขาเป็นเจ้าของไอเดียที่อยากเติมเต็มความฝันในการมีพื้นที่ของตัวเองที่อยู่ใกล้และกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ซึ่งเขาเล่าไอเดียตั้งต้นในการทำบ้านหลังนี้ โดยใช้สี TOA Loft มาเป็นตัวช่วยหลักของไอเดียครั้งนี้

        “ตรงพื้นที่นี้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่เราออกแบบไว้ ตัวอาคารเรียนสร้างจากเรือนอีสานเก่าอายุประมาณ 70 ปี ย้ายมาสร้างตามแบบเดิมในอดีตเพื่ออนุรักษ์ไว้ มีดัดแปลงการใช้งานให้เหมาะกับพื้นที่และการใช้งานบ้างบางส่วน ประกอบกับเรามีความฝันที่อยากจะสร้างบ้านที่มีลักษณะกลมกลืนกับธรรมชาติ เลยมาดูสีของดินในพื้นที่ที่เราอยู่ เป็นดินเหนียวออกสีเหลืองๆ มีความใกล้เคียงกับเฉดสี TOA Loft เบอร์ 4 เราเลยเลือกสีนี้มาเป็นลูกเล่นของบ้าน”

        อีกข้อดีหนึ่งที่เต้าหู้เล่าให้ฟัง คือความสะดวกในการใช้งาน ซึ่งไม่ต้องอาศัยเทคนิคซับซ้อนและทุกคนสามารถทำเองได้ ต่างจากเทคนิคการทำผนังลอฟท์ในอดีตที่ต้องพึ่งพาฝีมือช่างเท่านั้น บวกกับคุณสมบัติของตัวเคลือบ TOA Loft Clear ที่ใช้เทคโนโลยี Crystal Tech ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษเหมือนการเคลือบแก้ว ช่วยปกป้องผนังลอฟท์ให้มีความทนทาน ไม่ล่อนและไม่อมฝุ่น ไม่เหมือนตัวเคลือบที่เป็นแวกซ์ที่ในเวลาไม่นานจะหลุดล่อนออกไป

 

Farm Hoo DIY

 

        “การทำสไตล์ลอฟท์สมัยก่อนจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากๆ คุณต้องก่อผนังด้วยปูนและใช้เกรียงขัดวนบนผิวหน้าของปูนให้เป็นเงามัน หรือพอขยับมายุคหนึ่ง เขาก็จะมีเนื้อปูนชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับขัดมัน ไปขัดบนผนังที่ฉาบเรียบเสร็จแล้ว จนกลายเป็นพื้นผิวปูนขัดมัน วิธีแบบเมื่อก่อนต้องพึ่งช่างอย่างเดียว ผมเองยังรู้สึกว่ายุ่งยากเลย

        “แต่จากการใช้งานสี TOA Loft ซึ่งเป็นปูนฉาบขัดมันสำเร็จรูป มีขั้นตอนการทำไม่ได้ยุ่งยากเลย และเสน่ห์ของมันคือเท็กซ์เจอร์ที่ให้ความรู้สึกดิบ คุณแค่ใช้เกรียงปัดๆ ทาสีสองขั้นตอน ทาทับเคลือบสุดท้าย และรอสีแห้งแค่สี่ถึงห้าชั่วโมงตามขั้นตอนของเขาคุณก็สามารถได้ผนังลอฟท์ DIY ของคุณแล้ว ซึ่งในบ้านหลังนี้เราลองประยุกต์ปรับมาใช้อีกลักษณะหนึ่งคือใช้มือเรานี่แหละลูบตัวเนื้อสีไปบนพื้นผิวของผนังแทนการใช้เกรียง แล้วก็จะได้เท็กซ์เจอร์ของมือที่ไม่เรียบเท่าไหร่”

        ในเย็นวันนั้น เต้าหู้กับเดียร์ก็ตอกย้ำความง่ายให้เราเห็นด้วยการชวนเด็กๆ ลูกศิษย์แถวบ้านมาช่วยละเลง TOA Loft ลงบนผนังบ้านของเขา ซึ่งตัวเนื้อสีลอฟท์เองก็มีความปลอดภัยในการใช้งาน เพราะว่าเป็นสูตรน้ำที่ไม่ใส่สารระเหย ซึ่งถ้าคุณอยาก DIY มุมโปรดของบ้าน ก็สามารถชวนสมาชิกทุกคนมาร่วมกันออกไอเดียและลงมือทำแบบนี้ได้ด้วยเช่นกัน

 

Farm Hoo DIY

 

        เราชวนเขาพูดคุยถึงสไตล์ลอฟท์ เพราะเมื่อพูดถึงสไตล์ลอฟท์ หลายคนอาจคิดว่าเป็นสไตล์ที่ต้องอยู่ในคาเฟ่ โรงแรม หรือสตูดิโอศิลปะเท่านั้น แต่สำหรับเต้าหู้ เขามีความเชื่ออีกแบบและมองว่าสไตล์ลอฟท์แบบนี้สามารถไปอยู่ที่ไหนก็ได้

        “การตกแต่งสไตล์ลอฟท์เป็นสไตล์ที่มีกำเนิดมาจากทางยุโรปที่ตกแต่งในพื้นที่ของโกดังเก่า ก็จะตกแต่งด้วยผนังปูนดิบๆ ขัดมัน โชว์โครงสร้างเปลือยๆ ของเสา หลังคา หลายคนมักจะคิดว่าสไตล์ลอฟท์เหมาะกับงานตกแต่งสไตล์โมเดิร์นเท่านั้น ต้องอยู่แต่ในโกดัง อยู่ในสตูดิโอของศิลปิน แต่จริงๆ มันสามารถประยุกต์ไปใช้กับสไตล์ไหนก็เข้ากันได้ดี อย่างสไตล์มินิมอล สไตล์รีสอร์ต สไตล์โมเดิร์นต่างๆ ซึ่งคุณจะประยุกต์การใช้ให้กลายเป็นสไตล์ของคุณเองยังไงก็ได้ ส่วนสไตล์ลอฟท์ที่ผมทำอยู่ เน้นการโชว์โครงสร้างเสาไม้เปลือย โครงสร้างหลังคาสังกะสี กลายเป็นบ้านลอฟท์เถียงนาสไตล์ไทยอีสานในสไตล์ของผมเอง”

        คนที่หลงใหลความไม่สมบูรณ์แบบ สไตล์ลอฟท์เป็นคำตอบของสิ่งนั้น

       “เสน่ห์ของลอฟท์คือความดิบครับ เพราะพื้นผิวจะไม่เหมือนการกลิ้งสีให้เรียบ และมันสนุกตรงที่ว่าคุณไม่ต้องทาสีเก่งก็ได้ การทาให้ไม่เรียบนี่แหละก็เป็นเสน่ห์ของลอฟท์อย่างหนึ่ง ซึ่งในมุมมองเรื่องความงามทางศิลปะมีทฤษฎีความงามหนึ่งที่ผมชื่นชอบ นั่นคือ wabi-sabi ความงามในความไม่สมบูรณ์แบบที่เกิดจากเนื้อแท้ของวัสดุที่ไม่ถูกปรุงแต่ง สไตล์ลอฟท์นี่แหละคือคำตอบของสิ่งนั้น”

 

Farm Hoo DIY

ความหมายของความสุข..

        สำหรับทั้งสองคน การเริ่มต้นปลูกสร้างความฝันด้วยสองมือของตนเองเป็นสิ่งที่มีความหมายในชีวิตวันนี้ ทั้งความพยายามสร้างพื้นที่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่บ้านเกิดของเดียร์ การสร้างบ้านในฝันของตัวเอง การแบ่งปันความรู้ช่วยให้คนอื่นค้นพบคุณค่าในชีวิต และแน่นอนว่าทั้งหมดก็ได้ทำให้พวกเขาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

        “ที่ผ่านมาเราคิดเสมอว่าการที่เราทำคนเดียวมันไม่สนุกหรอก เพราะสุดท้ายก็จะมีแค่สิ่งที่เราคิดอยู่คนเดียว และถ้าถามว่าทำไมเราถึงทำงานตรงนี้ได้โดยไม่เบื่อถึง 10 ปี เราคิดว่าเพราะมันเป็นอินเนอร์ของเราจริงๆ อย่างที่เล่าให้ฟังว่าเราทำงาน DIY มาตั้งแต่เด็กๆ จำความได้ก็เอากล่องมาทำของเล่นสร้างบ้านจำลองด้วยตัวเอง มันก็เป็นสิ่งที่เราชอบและสนุกมาตั้งแต่เด็ก ถึงวันนี้เราก็ยังไม่เบื่อและเราสองคนก็พยายามผสมสิ่งที่ชอบให้ไปด้วยกันได้ ทั้งความชอบเรื่อง DIY ของเรา และความชอบในการสอนเด็กๆ ของเดียร์ เราก็พยายามทำกิจกรรม ทำค่าย และนำแคมป์ศิลปะกับงาน DIY มาผสมผสานกัน และวันนี้เราก็ยังสนุกทุกครั้งที่ได้ทำ และพยายามคิดสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆไม่ให้ซ้ำเดิม”

 

Farm Hoo DIY

 

        ในความคิดของเต้าหู้ สิ่งที่พวกเขาทำเป็นการทดลองในโลกใบใหญ่ ซึ่งสุดท้ายคำตอบที่ได้อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุดก็ได้ แต่ระหว่างเส้นทางที่ได้ทดลองลงมือทำ นั่นต่างหากคือคำตอบที่แท้จริง เพราะการได้ลงมือทำด้วยตัวเองจะพาเราไปเจอเส้นทางใหม่ๆ ในชีวิตอยู่เสมอ

        “ในการทำงาน DIY ของเรา มันคือการคิดจินตนาการสิ่งที่ต้องการและมองสิ่งที่มีอยู่และใช้ได้ อันนี้คือความสนุกที่เราได้ทดลอง แม้ว่าสิ่งที่เราทำจะไม่เหมือนสิ่งที่คิดตอนแรก แต่มันภูมิใจนะ และสิ่งที่เราทำจากการทดลองมันเกิดการเรียนรู้ใหม่ เกิดการสร้างงานใหม่ และก็ต่อยอดไปสู่สไตล์ใหม่ๆ ที่เป็นตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ แล้วการที่เราทำอะไรด้วยตัวเองมันมีคุณค่าแน่นอนอยู่แล้ว”

 

Farm Hoo DIY

 

        “ความสุขในวันนี้ของพวกคุณคืออะไร?” เราถามพวกเขาปิดท้าย

        “อืม ความสุขในวันนี้ของเราคือการได้เห็นความสุขจากการทำสิ่งที่รัก คืองาน DIY และสามารถต่อยอดความสุขนั้นให้กับคนรอบข้างและนักเรียนได้ค้นพบตัวเองและสิ่งที่ถนัดผ่านการทำงาน ศิลปะ และงาน DIY การสอนของเราจะเปิดโอกาสให้เขาคิดเองทำเอง ไม่ปิดกั้นความคิด จากนั้นนักเรียนเหล่านั้นก็จะมีความสุขในสิ่งที่ทำ สิ่งที่รัก และเติบโตเป็นครูอาสาด้านต่างๆ ที่เขาถนัดอย่างมีความสุข รักในงานที่ทำ นั่นก็จะช่วยกันขับเคลื่อน สร้างชุมชนและเครือข่ายของตัวเองให้ค้นพบกับความสุขในการใช้ชีวิต สุดท้ายมันจะขยายความสุขเป็นวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ เราเชื่อแบบนั้น

        “ที่มาจากจุดเล็กๆ ของเด็กน้อยคนหนึ่งที่แค่ชอบต่อกล่องกระดาษทำของเล่นเล่นเองอย่างผม ผมว่าทุกคนมีจุดเล็กๆ แบบนี้ที่คุณสามารถจะต่อยอดสิ่งที่คุณรัก สิ่งที่คุณทำ ให้ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความตั้งใจและคิดดีทำดีของคุณ”

 

Farm Hoo DIY

 

How to use TOA Loft

       ขั้นตอนที่ 1: ใช้เกรียงปาด TAO Loft จำนวน 2 เที่ยว โดยทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ 4-6 ชั่วโมง ต่อเที่ยว

        ขั้นตอนที่ 2: ทาสีเคลือบใส TOA Loft Clear จำนวน 2 เที่ยว โดยทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ 2-4 ชั่วโมง ต่อเที่ยว