ทอม โพธิสิทธิ์

ทอม โพธิสิทธิ์: 12 ปี กับความพยายามเติมความรักเพื่อต่อชีวิตให้สัตว์ในท้องทะเลไทย

ทอม โพธิสิทธิ์ ช่างภาพมืออาชีพที่ร่วมงานกับเรามาแล้วหลายครั้ง งานของเขามีหลายรูปแบบ ทั้งภาพบุคคล ภาพแฟชั่น และภาพเชิงสารคดี จนยากที่จะจำแนกชายคนนี้ได้ว่าเป็นช่างภาพแนวไหน ซึ่งเขาก็หัวเราะกับเราเบาๆ แล้วบอกว่าตัวเองคงเป็นผู้ซึ่งมีภาวะกลัวการบิน แต่เยียวยาตัวเองด้วยการถ่ายภาพจากทางอากาศจนกลายมาเป็นช่างภาพถึงทุกวันนี้

        ทอมเริ่มทำความรู้จักทะเลไทยและครอบครัวของสัตว์ทะเลหายากหลากหลายชนิดครั้งแรกเมื่อ 12 ปีก่อน จากการอาสาถ่ายภาพสัตว์ทะเลหายากทางอากาศเพื่อศึกษาจำนวนประชากรของพะยูนในท้องทะเลอันดามันในบริเวณจังหวัดตรังและพื้นที่ใกล้เคียง เขายังจำความรู้สึกแรกที่เห็นพะยูนแม่ลูกว่ายน้ำคู่กันไม่ห่างจากเครื่องบินเทคนัมขนาดเล็ก 2 ที่นั่งที่ถูกถอดประตูออกเพื่อความคล่องตัวในการมองด้วยตาเปล่า บันทึกด้วยภาพถ่าย เก็บสถิติจำนวนและพฤติกรรมที่ตามองเห็นด้วยเสียงในเครื่องบันทึกเสียง และปักหมุดโลเกชันจุดที่พบสัตว์ด้วยเครื่อง GPS สี่สิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญของการเก็บข้อมูลด้วยภาพ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ส่งต่อให้นักวิจัยเพื่อประเมินจำนวนประชากรพะยูนในท้องทะเลไทยอีกที 

        “การอนุรักษ์จะต้องทำไปพร้อมให้กับความรู้ด้วย”

        ประโยคสั้นๆ ได้ใจความที่ ดอกเตอร์กาญจนา อดุลยานุโกศล เสาหลักที่คอยผลักดันการอนุรักษ์และวิจัยงานอนุรักษ์และศึกษาสัตว์ทะเลหายากของไทย เคยสอนเขาก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต และเป็นเจตจำนงที่ทำให้เขานำเรื่องราวและความรู้ที่ได้จากการออกไปคลุกคลีกับสัตว์ทะเลมาบอกกับเรา

 

ทอม โพธิสิทธิ์

ประชากรของพะยูนในท้องทะเลไทย

        หลายปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรสัตว์ทะเลในประเทศไทยมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง ข้อมูลล่าสุดของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุว่า มีพะยูนในน่านน้ำไทยประมาณ 200-250 ตัว แต่อย่างไรก็ตาม พะยูนยังคงมีอัตราการตายเฉลี่ยต่อปีสูงมาก โดยข้อมูลย้อนหลังพบว่ามีพะยูนตายไม่ต่ำกว่า 12 ตัวต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละหนึ่งตัว ซึ่งสาเหตุหลักของการตายส่วนใหญ่เกิดจากการติดเครื่องมือประมง หรือได้รับบาดเจ็บจากเครื่องมือประมงมาจนเกยตื้นที่ชายหาด ซึ่งจะพบว่าพะยูนมาติดและตายอยู่ที่เครื่องมือประมงมากที่สุด 

 

ทอม โพธิสิทธิ์

 

        ในประเทศไทย เราสามารถพบพะยูนได้ทั้งในอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน ส่วนทางฝั่งอันดามันมีพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดอยู่บริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรัง และพะยูนกลุ่มเล็กๆ แพร่กระจายตั้งแต่ระนองลงไปถึงสตูล สำหรับฝั่งอ่าวไทย ยังพบพะยูนกลุ่มเล็กๆ กระจัดกระจายในจังหวัดระยอง ตราด ชุมพร และสุราษฎร์ธานี แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนประชากรพะยูนในประเทศไทยโดยรวมเหลืออยู่ไม่มากนัก 

        ช่วงต้นปีที่ผ่านมาจากข้อมูลจากการบินสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำโดย ดอกเตอร์ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ พบว่ามีจำนวนประชากรพะยูนราว 185 ตัว หรือร้อยละ 70 ของพะยูนทั้งประเทศ และประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหกปีที่ผ่านมา หลังจากลดลงเหลือราว 125 ตัว เมื่อปี พ.ศ. 2556

 

ทอม โพธิสิทธิ์

ทอม โพธิสิทธิ์
ภาพ: ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน

ร่องรอยของถิ่นที่อยู่อาศัย

        หลายคนคงสงสัยว่าทะเลไทยออกจะกว้างใหญ่ รู้ได้อย่างไรว่าพวกมันไปอยู่ตรงไหนบ้าง แหล่งหญ้าทะเลคือสิ่งที่นักวิจัยใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการวางแผนการสำรวจประชากรพะยูน เรียกง่ายๆ ว่าตรงไหนมีหญ้าทะเลที่พะยูนกินเป็นอาหารตรงนั้นก็มักจะพบพะยูน หญ้าทะเลในเมืองไทยทั้งอ่าวไทยและอันดามันมีทั้งหมด 11 ชนิด แต่ชนิดที่พะยูนเลือกกินนั้นจะมีลักษณะอ่อนนิ่ม เช่น หญ้าใบมะกรูด หญ้าผมนาง หญ้าเต่า หญ้าชะเงาใบมน และหญ้าชะเงาใบยาว เป็นต้น โดยเฉพาะในบริเวณเกาะตะลิบง และเกาะมุก จ.ตรัง เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่สำคัญของทะเลไทย เราจึงพบพะยูนอาศัยเป็นจำนวนมากในบริเวณนี้ 

        เมื่อเรารู้แหล่งหญ้าทะเล นักบิน นักสำรวจ และนักวิจัย จะวางแผนการบินร่วมกัน โดยปัจจัยหลักคือเรื่องของสภาพอากาศและสภาพน้ำ การบินด้วยเครื่องบินเล็กที่ความสูงประมาณ 150 เมตร ลมคือศัตรูที่อันตรายที่สุดสำหรับนักบินและนักสำรวจ การบินแต่ละครั้งใช้เวลาตั้งแต่ 45 นาที ถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง และช่วงน้ำทะเลสูงสุดเราจะพบพวกมันว่ายน้ำเข้ามากินหญ้าทะเลเป็นจำนวนมาก ถ้าโชคดีน้ำทะเลใส พวกเราจะสามารถเก็บภาพพวกมันได้ชัดเจนขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยในการศึกษาพฤติกรรมของพวกมันมากขึ้น 

 

ทอม โพธิสิทธิ์

ทอม โพธิสิทธิ์

ต่ออายุให้สัตว์ในทะเล

        ตลอด 12 ปีของการบินสำรวจสัตว์ทะเลหายากในไทย เรามีนักบินอาสาสมัครหลักเป็นชาวต่างชาติชื่อ Captain Eduardo Loigorri จากประเทศอังกฤษ และ Captain Mike Wilson จากอเมริกา นำเครื่องบินและความสามารถในการบินมาช่วยบินสำรวจ มาถึงตรงนี้ หลายคนคงจะสงสัยว่ารู้ได้อย่างไรว่าพะยูนที่พบมันไม่ใช่ตัวเดียวกัน หรือเป็นตัวที่ได้นับหรือทำการสำรวจไปแล้ว วิธีการบินสำรวจเราใช้การบินแบบ Transect คือการบินเป็นเส้นตรงจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง และบินเป็นลักษณะซิกแซ็กในพื้นที่ที่ได้วางแผนไว้ เมื่อทำแบบนี้เป็นเวลาหลายวัน การบินสำรวจครั้งหนึ่งใช้เวลาตั้งแต่ 7-10 วัน ดังนั้น เราจะได้ก้อนข้อมูลเพื่อนำมาประเมินผลหาค่าเฉลี่ยโดยทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) และข้อมูลที่ได้จากภาพถ่ายยังช่วยทำให้นักวิจัยสามารถศึกษาพฤติกรรมต่างๆ ของพะยูนเพิ่มได้ เช่น การกินหญ้าทะล การผสมพันธุ์ การเลี้ยงลูก ซึ่งเป็นข้อมูลที่เราไม่สามารถมองเห็นได้จากการสำรวจทางเรือ เป็นต้น

 

ทอม โพธิสิทธิ์
ภาพ: Eduardo Loigorri

 

        ปัจจุบันมีการตื่นตัวเรื่องของการอนุรักษ์และดูแลสัตว์ทะเลหายากในไทยเพิ่มสูงขึ้น ประเทศไทยมีอาณาเขตทางทะเล (Maritime Zone) ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 มีพื้นที่ทางทะเลเท่ากับ 323,488.32 ตารางกิโลเมตร โดยประเทศไทยมีสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสัตว์ทะเลหายากอีกจำนวน 12 คน เท่ากับว่าสัตวแพทย์หนึ่งคนจะต้องดูแลสัตว์ทะเลในพื้นที่ 26,957.33 ตารางกิโลเมตรโดยเฉลี่ย ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่ไม่น้อยเลย สัตว์ทะเลหายากในน่านน้ำไทยประกอบด้วยกลุ่มสัตว์ทะเล 3 กลุ่ม ได้แก่ เต่าทะเล (พบ 5 ชนิด) โลมาและวาฬ (พบ 27 ชนิด) และพะยูน (พบ 1 ชนิด) ซึ่งสัตวแพทย์ทุกคนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจสัตว์เหล่านี้ทุกชนิดด้วยเช่นเดียวกัน นับเป็นงานหนักหนาสาหัสมาก  

        จากการได้เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือทีมสัตวแพทย์ตามกำลังและความสามารถที่มี เราสัมผัสได้ถึงความตั้งใจ เสียสละ และความพยายามของทีมหมอที่พยายามช่วยให้การรักษาสัตว์ทะเลเหล่านี้ให้อยู่คู่ทะเลไทยได้นานขึ้น ปัญหาที่สังเกตเห็น และคิดว่าถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างตรงจุดน่าจะมีส่วนช่วยให้ทีมหมอสามารถช่วยชีวิตสัตว์เหล่านี้ได้จำนวนมากขึ้นกว่านี้ เพราะงานอนุรักษ์จะต้องใช้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ เทคโลโลยี และอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่มีความพร้อม เพื่อให้ทีมสามารถช่วยชีวิตหรือขนย้ายสัตว์ที่เจ็บป่วยไปถึงมือหมอได้เร็วขึ้น และจะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ 

 

ทอม โพธิสิทธิ์
ภาพ: ThaiWhales

เติมความรักให้ท้องทะเล

        ประเทศไทยมีหลายองค์กรและกลุ่มอาสาสมัครเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากหลายกลุ่ม ที่พยายามใช้ความสามารถและกำลังที่มีช่วยสนับสนุนทีมสัตวแพทย์ อาทิ กลุ่ม ThaiWhales ที่ช่วยออกสำรวจเก็บข้อมูลจำแนกชนิดวาฬบรูด้าทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องวาฬและพะยูนในไทยผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งเป็นกลุ่มที่ช่วยทีมสัตวแพทย์คัดกรองอาสาสมัครไปช่วยดูแลมาเรียมและยามีลในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยพวกเขายังช่วยเก็บตัวอย่างลมหายใจของวาฬจากการบินโดรน

 

ทอม โพธิสิทธิ์

 

        กลุ่ม Mahasamut Patrols ที่เป็นการรวมตัวของคนที่มีความสนใจในเรื่องสัตว์ทะเลจากหลากหลายศาสตร์ที่แต่ละคนเชี่ยวชาญช่วยสื่อสารประเด็นด้านทะเล และพยายามระดมทุนเพื่อจัดหาเครื่อง Laser Therapy ที่สามารถช่วยระยะเวลาการฟื้นฟูให้พลังงานกับเซลล์ของกระดองเต่าทะเลที่มีเมตาบอลิซึมต่ำให้ฟื้นฟูได้เร็วขึ้น เครื่องที่ว่านี้ใช้ได้กับเนื้อเยื่อทุกส่วนรวมถึงใช้รักษาโลมาและวาฬได้ด้วย ซึ่งเป้าหมายหลักคือการรักษาเพื่อให้สัตว์เหล่านี้ได้กลับไปอาศัยอยู่ในธรรมชาติ ไม่ใช่ในศูนย์อนุรักษ์หรือบ่อพักที่ไม่ใช่บ้านของตัวเอง 

 

ทอม โพธิสิทธิ์
ภาพ: Wild Encounters Thailand

 

        แม้แต่ผู้ให้บริการเรือชมวาฬในธรรมชาติบริเวณอ่าวไทยตอนบนอย่าง Wild Encounters Thailand ก็ช่วยให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์และการชมสัตว์ป่าอย่างถูกต้องแก่ผู้ใช้บริการ และยังช่วยเก็บข้อมูลภาพถ่ายจำแนกวาฬทุกครั้งที่ออกเรือแก่นักวิจัยด้วย 

พลังของพวกเราจะช่วยเปลี่ยนวิกฤตในทะเลได้

        การช่วยเหลือการดูแลสัตว์ทะเลไทยจากคนธรรมดาที่ต้องการเห็นสัตว์ทะเลไทยมีโอกาสรอดเพิ่มขึ้นเหล่านี้คือกำลังใจชั้นดีแก่คนทำงานอนุรักษ์ ที่พวกเขาต้องพบเห็นการตายของสัตว์ทะเลรายวันจากเครื่องมือประมงและขยะพลาสติก โดยความรู้ความเข้าใจในการศึกษาเพื่อช่วยหาวิธีการแก้ไขวิกฤตการตายของสัตว์ทะเลจากทุกภาคส่วนทั้งทางหน่วยงานราชการ ที่มีการตื่นตัวมากขึ้นหรือแม้แต่องค์กรภาคเอกชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหานี้

 

ทอม โพธิสิทธิ์

 

        ความท้าทายของกลุ่มสัตวแพทย์นอกจากประเด็นต่างๆ ที่เราได้สังเกตเห็นก็คือเรื่องสุขภาพ กลุ่มสัตวแพทย์ที่ต้องทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทั้งการผ่าซากสัตว์ หรือการที่ต้องอยู่ดูแลสัตว์ที่ต้องได้รับการอนุบาลเป็นเวลานาน มีโอกาสเผชิญกับอาการ Zoonosis หรือโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น เชื้อรา ไวรัส ปรสิต แบคทีเรีย นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาทางสุขภาพที่ทีมหมอต้องเอาสุขภาพของตนเองเข้าแลกเพื่อการช่วยชีวิตสัตว์ป่วยหรือการวินิจฉัยสัตว์ตาย และเราก็คิดว่าทีมแพทย์ควรได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของสัตวแพทย์หรือการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่มีประสบการณ์ในด้านต่างๆ ที่จะสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถของทีมสัตวแพทย์และนักวิจัยทางทะเลของไทยให้ดีขึ้น น่าจะเป็นทางเลือกที่ควรให้ความสนใจ 

        ช่วงหลายปีที่ผ่านมา แนวโน้มการตายของสัตว์ทะเลมีจำนวนสูงขึ้น การให้ความรู้และอบรมชาวบ้านรวมถึงคนในพื้นที่ในการเข้าช่วยชีวิตสัตว์เกยตื้น หรือที่เรียกว่า First Response ช่วยเพิ่มอัตราการรอดให้กับสัตว์เกยตื้นก่อนถึงมือทีมสัตวแพทย์ โลกวันนี้ต้องการความร่วมมือจากทุกคนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ความรู้ที่ทีมนักวิจัยและสัตวแพทย์ได้สะสมมาจากการดูแลสัตว์ทะเลหายาก เป็นแค่ส่วนหนึ่งในการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลเหล่านี้ สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดเชื่อว่าคงมีบางอย่างที่คุณคงคิดว่าตัวเองน่าจะทำได้อยู่ในใจ ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องลงมือทำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้