INDIA, A LAND OF THOUSAND STORIES
เราไม่เคยเห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า “มาอินเดีย ถ้าไม่รักไปเลย ก็เกลียดไปเลย”
เพราะในระยะเวลา 6 วันในการมาเยือนประเทศนี้ แม้ว่าจะเจอกับเหตุการณ์ไม่คุ้นเคย เสียงรถบีบแตรจอแจ กลิ่นเครื่องเทศลอยฟุ้งในทุกอณูอากาศ แต่คำว่า ‘เกลียด’ น่าจะรุนแรงไปหน่อยกับเรื่องเล็กน้อยแค่นั้น
ในทางกลับกัน คำว่า ‘รัก’ คงจะหุนหันไปนิด สำหรับช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ที่เราได้เข้าไปสัมผัสกับสถาปัตยกรรมสวยงามสไตล์ภารตะ ลองชิมอาหารพื้นเมือง เรียนรู้วัฒนธรรม ความเชื่อและวิถีชีวิตชาวอินเดีย โดยไม่ทันได้รู้จักตัวตนของประเทศนี้อย่างลึกซึ้งผ่านการใช้ชีวิตในที่แห่งนี้อย่างจริงจัง
การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นการออกสำรวจและทำความรู้จักกับอินเดียอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในสองเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน คือ ชัยปุระ หรือจัยปูร์ (Jaipur) มหานครสีชมพูในรัฐราชสถาน และอัครา (Agra) เมืองเก่าแก่ที่ตั้งของทัชมาฮาลในรัฐอุตตรประเทศ ผ่านการสังเกต เก็บรวบรวมความรู้สึก และพูดคุยกับผู้คนท้องถิ่นที่ผ่านพบระหว่างทาง
ไม่ใช่เพื่อตัดสินว่า ‘รัก’ หรือ ‘เกลียด’ แต่เป็นการ ‘ทำความรู้จัก’ ดินแดนแห่งนี้ด้วยความเข้าใจมากที่สุด
JAIPUR
จัยปูร์ ให้มันเป็นสีชมพูร์
หากใครมีหมุดหมายมาชมความอลังการของสถาปัตยกรรมและเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของอินเดีย จัยปูร์ หรือ ชัยปุระ ต้องติดโผเป็นเมืองแรกๆ ในนั้นแน่นอน เพราะสิ่งที่น่าทึ่งมากๆ คือ แม้ว่าเมืองนี้จะก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1727 แต่กลับมีการวางผังเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย แบ่งออกเป็น 9 ส่วนเท่าๆ กันแบบตารางหมากรุก แถมผู้ก่อตั้งเมืองอย่าง มหาราชาสวาอี ชัยสิงห์ที่ 2 ยังเป็นผู้ที่รักทางด้านดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ทำให้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของเมืองนี้ดูน่าหลงใหลและเป็นสมัยใหม่ ทั้งๆ เมืองมีอายุตั้ง 300 ปีมาแล้ว
เราเดินทางจากเดลีเข้าสู่ชัยปุระในตอนเย็น ทำให้ได้เห็นแสงแดดตกกระทบบนตึกรามสีชมพูอมส้มบริเวณจัตุรัสกลางเมืองพอดี เราและเพื่อนร่วมทริปเกือบทุกคนลงความเห็นพ้องกันว่า จริงๆ แล้วเมืองนี้ไม่ได้เป็น ‘สีชมพู’ หวานจ๋อยอย่างที่ใครเขาว่ากัน แต่มันออกส้มอิฐๆ แบบสี Living Coral ที่ได้รางวัล Color of the Year จาก Pantone ไปในปีนี้มากกว่า
“ไกด์คะ สีของเมืองนี้มันไม่เห็นชมพูเลย ออกไปทางส้มๆ พีชๆ มากกว่า” เราเอ่ยปากถามความคิดเห็นของ Shailender Singh Rajawat ไกด์ท้องถิ่นชาวจัยปูร์แต่กำเนิด
“จริงเหรอ ผมว่ามันเป็นสีชมพูนะ คนอินเดียยังเรียกมันว่า Pink City เลย” เขารีบตอบทันที แถมเน้นคำว่า ‘Pink’ เสียหนักแน่นจนเรารู้สึกผิดที่ตั้งคำถามไปเลย โอเค… สงสัยนี่เป็นสีชมพูสำหรับคนอินเดียสินะ งั้น pink ก็ pink!
“แล้วทำไมต้องเป็นชมพูล่ะ” เราตั้งคำถามใหม่ คราวนี้เน้นที่คำว่า ‘Pink’ บ้าง ทำเอาไกด์หัวเราะลั่นก่อนจะเล่าต่อว่า
“ตอนสร้างเมืองแรกๆ ตึกต่างๆ ก็เป็นสีขาว สีน้ำตาล แตกต่างกันไปตามปกติ แต่ในปี ค.ศ. 1876 มหาราชาที่ปกครองเมืองนี้ชื่อว่า สวาอี ราม สิงห์ ที่ 2 (Sawai Ram Singh II) ได้มีพระบัญชาให้เปลี่ยนสีอาคารบ้านเรือนต่างๆ ในเมืองให้เป็นสีชมพูทั้งหมดด้วยการขูดเอาผงอิฐแดงผสมลงไปในปูน เพื่อเป็นการต้อนรับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ ที่จะเสด็จเยือนชัยปุระอย่างเป็นทางการ โดยว่ากันว่าสีชมพูเป็นสีโปรดของเจ้าชาย และเป็นสีที่แสดงถึงเครื่องนุ่งห่มของนักบวช ที่หมายถึงความสงบ”
เราพยักหน้าตามหงึกหงัก แต่ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดผู้โปรดปรานสีชมพูเป็นชีวิตจิตใจจะมองว่าเมืองนี้เป็นสี Pink หรือ Living Coral…
Save Water for Rajasthan
เนื่องจากเดินทางมาทั้งวันและสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวถึง 40 องศา สิ่งแรกที่เราทำเมื่อถึงโรงแรมจึงเป็นการพุ่งตัวไปเปิดฝักบัวอาบน้ำแบบหมุนเต็มแมกซ์ เพื่อให้สายน้ำจากราชสถานไหลผ่านร่างกายอยู่หลายสิบนาที แต่ในวันรุ่งขึ้นเราก็ค้นพบว่านั่นเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างแรง!
เรานั่งรถออกจากโรงแรมตรงไปที่ป้อมแอมเบอร์ (Amber Fort) ป้อมปราการที่ตั้งโดดเด่นอยู่บนผาหินเหนือทะเลสาบเมาตา (Maota) แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นทะเลสาบ แต่มองลงไปกลับเหือดแห้ง ไม่มีน้ำสักหยด ไกด์ของเราจึงเริ่มเล่าเรื่องปัญหาการขาดแคลนน้ำในราชสถานให้ฟังด้วยน้ำเสียงจริงจัง
“ราชสถานเป็นรัฐที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย โดยพื้นเพจึงเป็นรัฐที่แห้งแล้งมากๆ อยู่แล้ว ยิ่งตอนนี้เราเจอภาวะขาดแคลนน้ำกันหนักมากเพราะฝนไม่ตกมาหลายปี น้ำในทะเลสาบก็เหือดแห้ง ทางการของจัยปูร์จึงต้องใช้น้ำที่มาจากเขื่อนที่ตั้งห่างออกไปถึง 140 กิโลเมตร เพื่อแจกจ่ายให้ชาวบ้าน ซึ่งทุกวันเราจะใช้น้ำได้แค่ 6-7 โมงเช้าเท่านั้น”
“วันละ 1 ชั่วโมงเองเหรอ!” เราและเพื่อนร่วมทริปพูดขึ้นเสียงดัง
ไกด์ยืนยันว่าเขาเองก็ได้ใช้น้ำแค่วันละ 1 ชั่วโมง โดยจะต้องมีถังกักเก็บน้ำในบ้านเอาไว้สำรองใช้ตลอดทั้งวัน แถมยังพูดว่าชาวจัยปูร์โชคดีแล้วที่อย่างน้อยก็มีน้ำใช้ทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง เพราะหากอยู่ในเมืองเล็กๆ ของราชสถาน ชาวบ้านจะไม่มีน้ำประปาใช้เลย ต้องออกไปตักน้ำกันเองเท่านั้น แถมยังมีปริมาณน้อยและปะปนด้วยสิ่งสกปรก เช่น อะลูมิเนียม
ส่วนในโรงแรมที่เราอยู่นั้นมีน้ำใช้ตลอดเวลา เนื่องจากเจาะน้ำบาดาลใช้เอง ซึ่งจะต้องขุดลึกและใช้ค่าใช้จ่ายสูงมากๆ แม้แต่ในราชสถานเองก็มีสถานที่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่มีความสามารถในการขุดน้ำบาดาลได้
ฟังแล้วรู้สึกผิดขึ้นมาจับใจที่เราใช้น้ำในโรงแรมไปอย่างไม่รู้คุณค่า สัญญาเลยว่าคืนนี้จะกลับไปอาบน้ำแค่ 5 นาทีพอ
Amber Fort
ก็ถึงเวลาที่เราจะได้ขึ้นไปชมป้อมแอมเบอร์ ป้อมปราการสำคัญของเมืองบนผาหินสูง การเดินทางขึ้นไปมีทั้งหมด 3 วิธี นั่นคือ 1. ขี่ช้าง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย 1,100 รูปีต่อ 2 คน แต่จะได้ชมวิวชิลๆ ทั้งภูเขา บ้านคน และทะเลสาบ (ที่ไม่มีน้ำ) 2. นั่งรถจี๊ปของชาวบ้าน โดยต้องไปเข้าทางด้านหลังของป้อมแอมเบอร์ ราคาขึ้นอยู่กับความสามารถในการต่อรอง สุดท้ายคือการเดิน ซึ่งเป็นทางเดียวกับทางที่ช้างเดินขึ้นไป ใช้เวลาค่อนข้างนานและต้องมีสกิลในการหลบอึน้องช้างพอสมควร เราทุกคนจึงตกลงกันว่าจะขี่ช้างขึ้นไป
เมื่อไปถึงประตูทางเข้าด้านบน เราได้พบกับความโอ่อ่าของตัวโครงสร้างอาคารที่ผสมผสานระหว่างศิลปะฮินดูและศิลปะราชปุต มีการแกะสลักและวาดลวดลายบนผนังที่ประณีตและอ่อนช้อย ตรงกลางพระราชวังมีสวนสีเขียวชอุ่ม ตัดแต่งพุ่มไม้เป็นทรงอย่างสวยงาม เรียกว่าจะไปเดินเล่นชิลๆ ก็ได้ซึมซับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของอินเดียที่ซุกซ่อนอยู่มากมายหรือจะถ่ายรูปก็สวยทุกมุม (ซึ่งรูปจากที่นี่เราก็อัพขึ้นเป็นรูปในโปรไฟล์เฟซบุ๊กตั้งแต่วันแรก)
Hawal Mahal
พระราชวังสายลม หรือ Hawal Mahal หนึ่งในแลนด์มาร์กห้ามพลาดของจัยปูร์ เป็นอาคาร 5 ชั้น สร้างด้วยหินทรายสีชมพูและมีช่องหน้าต่างมากถึง 152 ช่อง ไกด์ของเราเล่าว่า เหตุผลที่สร้างหน้าต่างเยอะขนาดนี้คือ นอกจากจะใช้เป็นช่องแดดและช่องลมสำหรับพระราชวังแล้ว ยังเป็นที่ที่สร้างให้นางสนมในวังแอบดูชีวิตความเป็นอยู่ของสามัญชนทั่วไปด้วย โดยพวกเธอจะสามารถนั่งมองออกไปข้างนอกได้อย่างเป็นส่วนตัว มีหน้าต่างมิดชิด ต่างจากคนภายนอกที่มองเข้ามาจะไม่เห็นพวกเธอนั่นเอง
หากอยากได้รูปพระราชวังสายลมสวยๆ เราแนะนำให้ข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามและเข้าไปที่ร้าน Tattoos Cafe เพราะจะมีพื้นที่ดาดฟ้าให้นั่งจิบชาและกาแฟ โดยมีวิวสุดอลังการเป็นพระราชวังสายลมแบบเต็มตา ไม่มีอะไรมาบดบัง ยิ่งถ้าสั่งชามาซาลามาจิบคู่กับบิสกิตในตอนเย็นๆ ก็จะยิ่งได้ประสบการณ์ที่เสียดายแทนคนอินเดียที่ไม่เคยได้มาสัมผัส
City Palace
สถานที่สุดท้ายในจัยปูร์ของเราคือ City Palace หรือพระราชวังหลวงประจำเมือง
แค่เดินเข้ามาก็สวยจะขาดใจ…
พระราชวังนี้มีชื่อเสียงเรื่องงานจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามมาก ทุกอย่างแฝงไปด้วยรายละเอียดของประวัติศาสตร์และกาลเวลา ตั้งแต่กำแพง กระเบื้อง ภาพวาด รวมไปถึงข้าวของเครื่องต่างๆ ของมหาราชาและเหล่าราชวงศ์ โดยด้านนอกยังมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเครื่องใช้และเครื่องแต่งกายของราชาในหลายยุคสมัย
แม้ว่าปัจจุบันราชวงศ์อินเดียจะไม่ได้มีอำนาจด้านการเมืองการปกครองอีกแล้ว แต่พูดได้อย่างเต็มปากเลยว่า ในอดีต พวกเขาได้รังสรรค์สิ่งปลูกอันสร้างยิ่งใหญ่ บ่มเพาะวัฒนธรรม รวมทั้งริเริ่มขนบธรรมเนียมต่างๆ ไว้มากมาย ในระหว่างที่คิดเรื่องอดีตไปเรื่อยเปื่อย เราจึงถือโอกาสชวนไกด์เรื่องการเปลี่ยนผ่านของการปกครองในอินเดีย ซึ่งทำให้เราได้ค้นพบเรื่องราวอันตกใจของไกด์วัยกลางคนที่พาเราเที่ยวเต็มๆ ในช่วง 2 วันนี้
“ครอบครัวของผมมาจากชนชั้นปกครอง (Warrior) เนื่องจากเราสืบเชื้อสายมาจากราชา Man Singh ที่ 1 ผู้สร้างป้อมแอมเบอร์ที่เราไปเที่ยวกันมาเมื่อเช้า”
เราเบิกตาโพลง เพราะแทบไม่เชื่อคำพูดที่เพิ่งหลุดออกมา “จริงหรือเปล่าเนี่ย แล้วคุณมาเป็นไกด์ได้อย่างไร”
เขาเล่าให้เราฟังต่อว่า ราชาผู้ปกครองพระราชวังแอมเบอร์มีราชินีหลายคน โดยจะมีแค่ลูกของราชินีคนโปรดเท่านั้นที่ได้สืบเชื้อสายเป็นกษัตริย์ที่ปกครองพระราชวังต่อไป แต่บรรพบุรุษของเขาเป็นลูกชายของราชินีลำดับท้ายๆ จึงได้ครอบครองเพียงปราสาทนอกเมืองเท่านั้น แถมเขายังพูดให้เราฟังหน้าตาเฉยว่า “ตอนนี้ผมก็อาศัยกับลูกๆ ในปราสาทหลังนั้นนั่นแหละ”
ตั้งแต่ที่อังกฤษเข้ามายึดครองอินเดีย ราชวงศ์ก็เสื่อมอำนาจทางการเมืองและไม่มีรายได้จากการเรียกเก็บภาษี ทำให้ต้องอยู่โดยใช้ทรัพย์สมบัติเดิม แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาก็จำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะทำงานในอาคารของรัฐบาล ทำธุรกิจ ค้าขาย เป็นอาจารย์ หรือเป็นไกด์อย่างเช่น Shailender
“ผมเป็นไกด์มาเกิน 20 ปี และภูมิใจกับอาชีพนี้มาก เพราะผมได้โชว์เมืองที่ผมรักให้กับคนทั่วโลกได้รู้จัก อีกอย่างผมไม่เคยยึดติดว่าเรามีเชื้อสายแล้วจะไม่ต้องทำงาน เฮ้ย ถ้าไม่ทำงานจะเอาเงินที่ไหนเลี้ยงลูกล่ะ สุดท้ายแล้วเราก็เป็นแค่คนธรรมดานี่แหละ แต่คนที่นี่ถ้าได้ยินนามสกุลของผมเขาก็จะรับรู้ได้ว่าต้นตระกูลของผมมาจากไหน ซึ่งเราก็ยังได้รับความเคารพนับถือในสังคมอยู่”
เขายิ้มบางๆ ก่อนจะพาเราเดินออกจาก City Palace และเอ่ยคำลา แถมยังทิ้งท้ายด้วยว่าครั้งหน้าถ้ามีเวลาคงได้ไปเยี่ยมปราสาทหลังเล็กๆ ของเขาที่ชานเมืองด้วยกัน
AGRA
จากจัยปูร์ เรานั่งรถต่ออีกราวๆ 5 ชั่วโมงไปถึงเมืองอัครา (Agra) ที่ตั้งของทัชมาฮาลและป้อมแดง (Red Fort) อัคราเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของอินเดีย ในสมัยที่ยังเรียกว่า ‘ฮินดูสถาน’ (Hindustan) ก่อนจะถูกย้ายไปเดลีในปี ค.ศ. 1877
ตลอดทางจากจัยปูร์มาอัครา เรียกได้ว่าเป็น 5 ชั่วโมงบนถนนที่บันเทิงสุดๆ เพราะชาวอินเดียดูจะรักการบีบแตรและขับแซงกันเป็นชีวิตจิตใจ โดยแม้ว่าบางช่วงเราจะวิ่งอยู่บนทางด่วน แต่ก็ยังมีคนเดิน มีวัวเดิน มีอูฐ แล้วก็มีคนปั่นจักรยานด้วย เดิน (ใช่ เดินและปั่นจักรยานมันบนทางด่วนเนี่ยแหละ!)
“เดี๋ยวพรุ่งนี้เรามาเจอกันสักตีสี่ครึ่งเลยนะ จะได้เข้าไปในทัชมาฮาลตอนคนยังไม่เยอะมาก” ไกด์ท้องถิ่นของอัคราพูดขึ้น เห็นทีคืนนี้ต้องนอนตั้งแต่สามทุ่มซะแล้ว
Taj Mahal
เราไปถึงทางเข้าทัชมาฮาลตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น โดยยังคุยเล่นกันว่า พวกเราต้องเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ไปถึงแน่ๆ
แต่เปล่าเลย! เพราะตั้งแต่ตีห้าก็มีคนมารอเข้าชมความงามของสิ่งมหัศจรรย์ของโลกแห่งนี้กันอย่างคับคั่งแล้ว โดยด้านหน้าจะมีระบบการรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม ต้องใช้พาสปอร์ตไปซื้อตั๋ว (ถ้าเป็นพาสปอร์ตคนไทยจะลดเหลือแค่ 540 รูปี จาก 1,100 รูปี เพราะประเทศไทยเป็นสมาชิกของกลุ่มบิมสเตก (BIMSTEC) หรือกลุ่มความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล ที่จะได้ส่วนลดหรืองดเว้นค่าใช้จ่ายตามสถานที่ต่างๆ) แต่ทุกอย่างมีการจัดการที่เป็นระเบียบมาก ทำให้พวกเราผ่านประตูเข้าไปในทัชมาฮาลแบบไม่ต้องรอนานนัก
แล้วเราก็ก้าวเข้ามาในทัชมาฮาลจนได้! เป็นความรู้สึกที่บรรยายได้ยากมากๆ เมื่อภาพอนุสรณ์แห่งความรักที่เราเรียนมาตั้งแต่ประถมได้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนต่อหน้า ตลอดทางที่เดินเข้าไปเราผ่านสวนเล็กๆ จนไปถึงสระน้ำที่สะท้อนภาพของทัชมาฮาลออกมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยรูปทรงที่สมมาตรเป๊ะๆ ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความโอ่อ่า อลังการ และทึ่งไปกับความรักของของจักรพรรดิชาห์ ชหาน ที่มีให้กับหญิงที่ตนเองรักจนถึงวันสุดท้าย
อาจจะด้วยบรรยากาศด้านในอาคารที่มีความสงบกว่าด้านนอก ทำให้ความตื่นเต้นในช่วงแรกๆ เริ่มแปรเปลี่ยนความประทับใจ เมื่อไกด์ของเราเริ่มเล่าเรื่องราวความรักที่ทั้งหวานทั้งเศร้าของจักรพรรดิชาห์ ชะฮัน และมหาสีรูปงามผู้ล่วงลับของเขา อรชุมันท์ พานุ เพคุม หรือที่เขามักเรียกนางว่า ‘มุมตัซ มาฮาล’ แปลว่า ‘อัญมณีแห่งราชวัง’
“พระเจ้าชาห์ ชะฮัน จักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ของอินเดีย หลงรัก อรชุมันท์ พานุ เพคุม ลูกสาวของรัฐมนตรี ตั้งแต่แรกพบ 5 ปีให้หลัง ทั้งสองอภิเษกสมรสกันและไม่เคยอยู่ห่างกันเลย สำหรับพระเจ้าชาห์ ชะฮัน พระมเหสีมุมตัช มาฮาล เป็นทั้งภรรยา ผู้ให้คำปรึกษา คอยช่วยงานราชการ และติดตามไปออกรบ”
หลังจากครองคู่กันมา 18 ปี มุมตัช มาฮาล ได้ให้กำเนิดทายาทองค์ที่ 14 แต่พระนางตกเลือดมากจนสิ้นพระชนม์ การสูญเสียครั้งนี้ทำให้กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ต้องโศกเศร้าเสียใจอยู่เกิน 20 ปี ทั้งยังมีรับสั่งให้สร้างอนุสรณ์แห่งความรักของพระองค์กับพระมเหสีบนทำเลที่ดีที่สุดบริเวณริมโค้งแม่น้ำยมุนา หลังจากกินเวลานานถึง 22 ปี ใช้ราชสมบัติและแรงงานผู้คนมากมายกว่า 20,000 คน อนุสรณ์แห่งความรักอันยิ่งใหญ่ก็เสร็จสมบูรณ์อย่างงดงาม และพระองค์ก็ทรงให้ชื่อว่า ทัชมาฮาล ซึ่งมาจากชื่อของพระมเหสีนั่นเอง
Agra Fort
สถานที่สุดท้ายของการเดินทางในอินเดียของเราคือ Agra Fort หรือป้อมอัครา อนุสรณ์สถานสำคัญที่ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก ตั้งอยู่ห่างจากทัชมาฮาลเพียง 2 กิโลเมตรครึ่งเท่านั้น
สำหรับเรา ป้อมอัคราไม่ได้เป็นแค่ที่พักอาศัยของเหล่าราชวงศ์ในอดีต แต่นับได้ว่าเป็นเมืองเมืองหนึ่ง เพราะด้านในมีทั้งส่วนที่เป็นที่พัก ห้องท้องพระโรง มัสยิด สุเหร่า พระตำหนัก สวนดอกไม้ สวนองุ่น สระน้ำ และห้องหับอีกมากกว่าร้อยห้อง เรียกว่าต่อให้เดินทั้งวันก็คงดูไม่หมด เราเดินสำรวจกันสักพัก ก่อนไกด์จะพาเราตรงไปที่อาคารหินทรายสีแดง ที่สร้างขึ้นเพื่อคุมขังพระเจ้าชาห์ ชะฮัน หลังจากที่พระองค์โศกเศร้ากับการสูญเสียพระมเหสีจนควบคุมตนเองไม่ได้
ห้องนอนของพระเจ้าชาห์ ชะฮัน ถูกสร้างอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา และสามารถมองเห็นทัชมาฮาลได้ ว่ากันว่าในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต พระเจ้าชาห์ ชะฮัน ได้นอนถือกระจกที่สะท้อนให้เห็นภาพของทัชมาฮาลจากหน้าต่างห้อง เพื่อระลึกถึงหญิงผู้เป็นที่รักจนถึงวินาทีที่จากโลกใบนี้ไป
See you again, India
ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเรื่องราวน่าสนใจทางประวัติศาสตร์ ทำให้การเดินทางมาอินเดียครั้งนี้น่าประทับใจ สนุกสนาน และหลายครั้งก็บีบหัวใจชาวต่างชาติอย่างเราเหลือเกิน นี่คงเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ดินแดนแห่งนี้มีคาแรกเตอร์แตกต่าง เต็มไปด้วยเรื่องราวและประสบการณ์ให้เรียนรู้มากมาย
5 Fun Facts about my India Trip
– คนอินเดียชื่นชอบผู้หญิงเอเชียผิวขาวๆ หมวยๆ มาก เพราะฉะนั้น ไม่ต้องแปลกใจถ้าเขามาขอเซลฟีกับคุณ จากประสบการณ์ที่เราเจอมา ชาวอินเดียจะมาขอถ่ายรูปด้วยเพื่อความบันเทิงเท่านั้น ไม่ได้คิดเงินหรือเป็นมิจฉาชีพ
– ห้องน้ำอินเดียไม่ได้สกปรกไปเสียทุกที่ แต่ทางที่ดีให้เลือกเข้าตามพิพิธภัณฑ์ โรงแรม หรือร้านอาหารที่มีเครื่องปรับอากาศจะดีกว่า เพื่อที่จะไม่ต้องลุ้นมากตอนเปิดประตูเข้าไป
– ผู้ชายอินเดียที่เป็นเพื่อนกันจะเดินจูงมือกันเป็นเรื่องปกติ โดยถือเป็นการแสดงออกซึ่งมิตรภาพฉันเพื่อน ไม่ใช่รักโรแมนติกหรือคู่จิ้นแต่อย่างใด
– คนอินเดียข้ามถนนกันโหดมาก แม้จะกำลังมีรถกำลังขับมาเขาก็จะเดินข้ามด้วยจิตใจแน่วแน่ แล้วรถจะหยุดให้คุณเอง (แต่เราว่าอย่าทำตามเลย)
– การพกพาสปอร์ตไทยไปสถานที่ท่องเที่ยวเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะมักได้ส่วนลด หรือบางครั้งก็ได้ยกเว้นค่าเข้าชมด้วย
You made my day
งานนี้ต้องขอขอบคุณสายการบิน NokScoot ที่ช่วยให้เราเดินทางสะดวกขึ้นด้วยเส้นทางการบินใหม่ บินตรงจากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่เดลี 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ แถมยังมีบริการที่นั่งกว้างๆ แบบ ScootBiz ให้ตลอดระยะเวลา 5 ชั่วโมงในการบิน ถ้าใครอยากมาทำความรู้จักอินเดียในแบบฉบับของคุณเองด้วยการเดินทางที่สะดวกสบาย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nokscoot.com