กวางเรนเดียร์

หมอเก๋อ: ชวนไปใช้ชีวิตในที่ที่ไร้สัญญาณโทรศัพท์ เพื่อค้นพบความสุขกับการจ้องตาเรนเดียร์

ผมหาเหตุผลในการไปเยี่ยมเยือนมองโกเลียอยู่นาน แต่นอกจากทะเลทรายโกบี เหยี่ยวในเทศกาล Golden Eagle Festival แล้วก็ เจง… เจง… เจงกิสข่าน (ใครอ่านเป็นทำนองเพลงได้ก็จัดว่าอายุไม่น้อยเลยนะครับ) ผมก็นึกหาแรงผลักดันในการพาตัวเองนั่งรถไฟหลายสิบชั่วโมงจากปักกิ่ง หรือเครื่องบินสองต่อจากประเทศไทยไปถึงอูลานบาตอร์ไม่ออก ทริปไปขี่อูฐสองหนอกก็เลยถูกพับเก็บไว้ ประเทศที่ดูไม่มีอะไรก็เลยถูกไล่ลงไปอยู่ในหมวด ‘เอาไว้ค่อยไปวันหลัง’

        จนกระทั่งผมไปเห็นรูปรูปหนึ่ง เป็นรูปกวางเรนเดียร์หลายตัวนอนสงบนิ่งอยู่ มีเต็นท์สามเหลี่ยมแบบอินเดียนแดงที่ฝรั่งเรียกว่า Teepee สีตุ่นเป็นฉากหลัง แต่ที่สะดุดตาคือเด็กน้อยอายุไม่เกินขวบปีในชุดดีล (deel) แบบมองโกเลีย นอนพิงพุงกวางเรนเดียร์สีขาวหิมะตัวหน้าสุดอย่างมีความสุข

        เฮ้ย! น้อง! (ใช่ครับ ทำเสียงสองใส่รูปอย่างไม่แคร์สายตาคนรอบข้าง) ที่นี่คือที่ไหน? ทำไมเด็กใส่ชุดประจำชาติมองโกเลีย? ทำไมมองโกเลียมีกวางเรนเดียร์ด้วย? ทำไม? ทำไม? และทำไม?

        แน่นอนว่าผู้ให้ความกระจ่างแก่คำถามมากมายที่ผุดขึ้นไวกว่าราบนขนมปังคงหนีไม่พ้นคุณกูเกิล หลายเว็บไซต์ต่อมากับการดำผุดดำว่ายในภาษาอังกฤษอีกชุดใหญ่ ผมได้คำตอบว่า หนึ่ง—ที่นั่นคือมองโกเลียจริงๆ ไม่จกตา สอง—มันเป็นมองโกเลียทางเหนือขอบชายแดนติดกับรัสเซียที่ภูมิประเทศเป็นแบบไทกา (Taiga) สาม—ภาพที่เห็นคือชนเผ่ากลุ่มหนึ่งซึ่งเลี้ยงกวางเรนเดียร์เพื่อยังชีพ สี่—ชนเผ่านี้มีชื่อเรียกว่าซาตัน (Tsaatan)

        และห้า—ผมหาเหตุผลในการไปมองโกเลียได้แล้วครับ

 

กวางเรนเดียร์

The Taiga and the Tsaatan

        สำหรับเด็กสายวิทย์ที่ไม่ถนัดวิชาสังคมศึกษาอย่างผม คำว่า ‘ไทกา’ กระตุ้นเซลล์สมองได้อย่างมากที่สุดไม่ถึงครึ่งเซลล์ หน้าครูผู้สอนวิชาโลกของเราแวบผ่านมาพร้อมกับคำว่า ‘ภูมิอากาศแบบทุนดรา’ (ซึ่งมันคนละอันกันไหมล่ะ!) แล้วสุดท้ายก็เป็นคุณกูเกิลอีกนั่นแหละที่มาเฉลยว่าไทกาคือภูมิอากาศกึ่งขั้วโลกที่พบได้หลายประเทศ ในกรณีของมองโกเลีย ไทกาอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ เป็นจุดเปลี่ยนจากทุ่งหญ้า (Grasslands) เข้าสู่ทุนดราในรัสเซีย ส่วนคำว่า ‘กึ่งขั้วโลก’ ก็กำลังบอกใบ้อยู่กลายๆ ว่าแถวนี้มีหิมะตก หนาวขนตาแข็งได้ในฤดูหนาว และแปลงร่างเป็นหนองโคลนในฤดูร้อน ซึ่งถึงแม้จะไม่มีหิมะ แต่ตอนกลางคืนก็ยังคงฉาบไปด้วยอุณหภูมิเลขตัวเดียวให้เปลี่ยวหัวใจได้อยู่ดี

       อาจฟังดูโหดร้าย แต่ความหนาวเย็นก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของกวางเรนเดียร์ และเป็นเหตุให้ชนเผ่าชาวซาตันเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ในเขตแดนไทกามานานแล้ว

        ตำนานเล่าขานของชาวซาตันบอกว่า ในดินแดนทูวา (Tuva) ซึ่งทุกสิ่งในธรรมชาติมีวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษาอยู่ มีชายคนหนึ่งและครอบครัวซึ่งแทบไม่มีทรัพย์สมบัติใดๆ ใกล้จะอดตายเต็มที ชายคนนี้ขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์รอบกาย แล้วไม่กี่อึดใจก็มีกวางเรนเดียร์ตัวผู้กับตัวเมียคู่หนึ่งโผล่ออกมา (ใช่ครับ แบบนี้ก็ได้) ซึ่งกวางเรนเดียร์สองตัวที่ว่าก็คือต้นตระกูลกวางของชาวซาตันสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

        ดินแดนทูวาที่ว่าอยู่ในเขตประเทศรัสเซีย ซึ่งก็ไม่ใกล้ไม่ไกล เดินข้ามไปจากฝั่งมองโกเลียก็ถึงกันสบายๆ เดิมทีชาวเผ่าซาตันนั้นร่อนเร่ข้ามฝั่งไปมา หน้าร้อนก็หนีขึ้นที่สูงไปหาความหนาว หน้าหนาวก็หนีลงที่ลุ่มมาอีกนิด แต่พอเส้นแบ่งเขตแดนเริ่มชัดเจนขึ้น คน (และกวาง) กลุ่มนี้ก็ตกค้างอยู่ในฝั่งประเทศมองโกเลีย

        การสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมไม่สามารถให้ข้อมูลได้ว่า ปัจจุบันยังมีญาติพี่น้องของชาวซาตันหลงเหลืออยู่ในฝั่งรัสเซียหรือไม่ ในขณะเดียวกันชาวซาตันในเขตประเทศมองโกเลียเองก็แบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือไทกาฝั่งตะวันออก (East Taiga) และไทกาฝั่งตะวันตก (West Taiga) แต่จากการสอบถามก็พบว่าทั้งสองฝั่งยังพอติดต่อไปมาหาสู่กันได้ และมีขนาดประชากรใกล้เคียงกันคือประมาณสามสิบครอบครัว ส่วนจำนวนประชากวางน่าจะมีประมาณสามถึงสี่ร้อยตัว 

 

กวางเรนเดียร์

กรุงเทพฯ ถึงไทกา—ใครว่าใกล้ๆ ลำดับขั้นตอนการเดินทางไปจ้องตาน้องกวางเรนเดียร์ เป็นดังนี้ 

Step 1: Bangkok to UlaanBaatar

        สายการบินประจำชาติของประเทศมองโกเลียชื่อ MIAT เดิมทีน่าจะเคยมีเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-อูลานบาตอร์ (เพราะยังเห็นรูปในเว็บไซต์และวารสารของสายการบินในกระเป๋าที่นั่งเบาะหน้า) แต่พอลองค้นหาดูผ่านหน้าเว็บไซต์ของสายการบินกลับไม่พบโดยไม่ทราบสาเหตุ วิธีการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปให้ถึงอูลานบาตอร์ด้วยเครื่องบินจึงงอกเงยกลายเป็นเที่ยวบินสองต่อ ซึ่งคุณสามารถเลือกได้ว่าจะไปแวะเดินเล่นที่ปักกิ่ง ฮ่องกง โซล ปูซาน โตเกียว มอสโก หรือแฟรงก์เฟิร์ตก่อนก็ได้ (สองเมืองหลังนี่ดูจะอ้อมไปนิดหนึ่ง) หากเวลาเอื้ออำนวยจริงจัง อาจพิจารณานั่งรถไฟจากหัวลำโพงยาวเข้าประเทศจีน แล้วเริ่มต้นรถไฟสายทรานส์มองโกเลียอันเลื่องชื่อที่ปักกิ่ง ลงรถไฟที่อูลานบาตอร์ก็ได้ (นอกจากจะสโลว์ไลฟ์ค่อยเป็นค่อยไปแล้ว ยังอาจได้แผลกดทับเป็นของแถม)

Step 2: UlaanBaatar to Murun

        มุรุน (Murun หรือ Mörön) เป็นหมุดไมล์ที่สองที่คุณจะต้องพาตัวเองไปให้ถึง โชคดีหน่อยที่คุณยังสามารถนั่งเครื่องบินอีกต่อจากอูลานบาตอร์ไปได้สบายๆ ผ่านตัวเลือกหลายสายการบิน แต่หากเบื่อการนั่งเครื่องบินแล้ว สามารถเปลี่ยนไปใช้บริการรถยนต์หรือรถบัสได้ ประมาณระยะเวลาทางรถจากอูลานบาตอร์ถึงมุรุนคือ 12 ชั่วโมง

Step 2.5: Border permit and supplies

        ดอกจันเล็กๆ ไว้ว่า หากคุณเลือกที่จะเดินทางเองโดยไม่ผ่านโปรแกรมทัวร์ มุรุนคือเมืองที่คุณจะต้องมาติดต่อขอทำใบอนุญาตผ่านเข้าเขตพิเศษและซื้อของกักตุนเตรียมเสบียงไว้สำหรับการหายเข้าไปในถิ่นทุรกันดารหลายวัน เหตุผลที่ต้องทำใบอนุญาต เพราะเขตคามไทกาของชาวซาตันอยู่ห่างจากชายแดนรัสเซียไม่ถึง 100 กิโลเมตร จึงถือเป็น ‘Red Zone’ ออฟฟิศเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตนี้เปิดทำการในวันธรรมดา ปิดบ่ายโมงตรง ต้องใช้สำเนาพาสปอร์ตและสำเนาหน้าที่มีการประทับตราเข้าประเทศมองโกเลียเป็นเอกสารแนบ นี่ยังไม่นับว่าต้องเขียนคำร้องเป็นภาษามองโกเลียด้วยตัวเองหากแบบฟอร์มหมดด้วย!

Step 3: Murun to Tsagaan Nuur

        เสบียงพร้อม กายพร้อม ใจพร้อมแล้ว อีกสิ่งที่ต้องพร้อมคือความอดทนและก้นครับ การเดินทางจากมุรุนไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อซากาน นูร์ คือการนั่งรถขับเคลื่อนสี่ล้ออีกราว 10 ชั่วโมง ผ่านทุ่งหญ้าไกลสุดลูกหูลูกตา ฝ่าฝูงแพะ แกะ ม้า หรือไม่ก็จามรีที่พร้อมใจกันวิ่งหนีเตลิดเปิดเปิงเมื่อรถเข้าใกล้ (อ้อ มีฝูงอูฐสองหนอกให้เห็นด้วยนะครับ เขาบอกว่าอูฐที่ถูกเลี้ยงมาบนทุ่งหญ้า ก็จะเป็นอูฐที่อาศัยอยู่บนทุ่งหญ้า อูฐไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในทะเลทรายเสมอไปนะเออ) บางทีก็ต้องหักรถลงข้ามแม่น้ำให้พอได้ลุ้น แม่น้ำบางสายที่กว้างใหญ่ไหลแรงมาก ก็มีสะพานปลูกสร้างไว้ให้แลกกับค่าผ่านทาง

        สิบชั่วโมงกับการกินและนอนบนรถขับเคลื่อนสี่ล้อจะพาคุณมาถึงหมู่บ้านเล็กๆ ริมทะเลสาบ (ซากาน นูร์ แปลว่า ทะเลสาบสีขาว) หมู่บ้านนี้เป็นที่ตั้งของ Tsaatan Community and Visitor Center (TCVC) ซึ่งเป็นผู้ประสานงานการเข้าไปเยี่ยมชมชาวซาตันอย่างเป็นทางการ

Step 4: Tsagaan Nuur to Tsaatan Camp

        ขั้นตอนสุดท้ายของการพาตัวเองไปเห็นกวางเรนเดียร์กับตาคือการขี่ม้าครับ ระยะเวลาในการขี่ม้าขึ้นกับแต้มบุญว่าคุณมาเยือนในฤดูกาลไหน และจุดตั้งแคมป์ของชาวซาตันตอนนี้อยู่ที่ไหน ในหนึ่งปีชาวซาตันจะเปลี่ยนจุดตั้งแคมป์ประมาณ 5-7 ครั้ง โดยแคมป์ในฤดูร้อนก็จะไกลกว่า (เพราะต้องขึ้นไปอยู่ในพื้นที่ที่สูงกว่า) ส่วนแคมป์ในฤดูหนาวก็จะใกล้หมู่บ้านซากาน นูร์มากกว่า และถ้าหิมะหนาพอก็สามารถเข้าถึงได้ด้วยรถยนต์ ส่วนคนที่มาเยี่ยมเยือนชาวซาตันในปลายฤดูร้อนอย่างผมจำเป็นต้องอดทนขี่ม้าทั้งสิ้น 7 ชั่วโมง

        ม้ามองโกเลียจะตัวไม่สูงมากนัก และถึงแม้คุณจะไม่มีประสบการณ์ในการขี่ม้าเลย การเดินทางนี้ก็ยังพอจะเป็นไปได้เพราะมีผู้ดูแลม้ามือฉมังคอยประกบอย่างใกล้ชิด แต่หากขี่ม้าเป็นสักหน่อยชีวิตจะน่ารื่นรมย์ขึ้น เพราะคุณจะสามารถเสพความเป็นไทกา ชื่นชมพุ่มไม้ หนองโคลน ป่าสน หรือไลเคนได้อย่างเต็มที่ (น่าชื่นชมไหมนะ?) แถมการยอมให้ม้าวิ่งเหยาะบ้างก็จะย่นระยะเวลาเดินทางลงไปได้อีกพอสมควร… ส่วนการตกม้านั้น เพื่อนๆ ที่ขี่ม้ารอบตัวของผมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ต้องตกม้าเจ็ดครั้งถึงจะได้เป็นนักขี่ม้าตัวจริง’ นะครับ ดังนั้น อย่ากลัวไปฮะ!

        อ้อ การเดินทางหลายชั่วโมงบนหลังม้านี้จะพาคุณมาสู่ไทกาฝั่งตะวันออกซึ่งคือฝั่งที่เดินทางไปถึงได้ง่ายกว่า (นี่ง่ายแล้วนะครับ) ส่วนไทกาฝั่งตะวันตกแม้จะเริ่มต้นจากหมู่บ้านซากาน นูร์เหมือนกัน แต่จะใช้เวลามากกว่า อาจต้องค้างคืนระหว่างทาง เส้นทางเต็มไปด้วยหินก้อนใหญ่และมีความชันมากกว่า ซึ่งแปลว่าจะทรมานน้องม้ามากกว่าและต้องใช้ทักษะในการขี่ม้ามากกว่านั่นเอง ส่วนคำถามที่ผมมีมาตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1-3 ว่า ทำไมต้องขี่ม้าด้วย (วะ)? ได้คำตอบก็ตอนที่ขี่ม้าไปได้ไม่ถึงชั่วโมงแล้วม้าต้องลุยหนองโคลนไปอีกเกือบตลอดทาง—โคลนแบบที่ม้าเดินย่ำแล้วจมไปเกือบครึ่งขา ไม่ต้องคิดเลยว่าถ้าลงไปเดินด้วยตัวเองจะลำบากขนาดไหน!

 

กวางเรนเดียร์

แคมป์ของชาวซาตันหน้าตาเป็นอย่างไร?

        อย่างที่บอกไปตอนต้นว่านี่คือแคมป์ฤดูร้อน เวลานี้จึงไม่มีหิมะให้เห็น ชาวซาตันกระจัดกระจายปลูก Teepee ในพื้นที่ที่เป็นลานโล่งกว้างราวสี่ห้าสนามฟุตบอล เขียวครึ้มไปด้วยหญ้าและพุ่มไม้เตี้ยๆ ล้อมรอบด้วยภูเขาไม่สูงนัก มีแม่น้ำเล็กๆ ไหลผ่านร้อยไขว้กันไปมา ดินอ่อนยวบไปด้วยโคลน แม้แดดจะแรงแต่อากาศเย็น รอบตัวนิ่งสงบไม่มีลมพัดให้หนาวยะเยือก

        นับ Teepee ที่มีทั้งหมดด้วยสายตาได้ 35 หลัง ได้รับคำเฉลยว่า บางหลังปลูกสร้างขึ้นไว้ให้นักท่องเที่ยวก็ตอนที่เขาพาเราไปยัง Teepee เปล่าที่ชายขอบแคมป์ด้านหนึ่งไม่ไกลจากจุดที่เราลงจากม้า เต็นท์สามเหลี่ยมแบบที่เห็นบ่อยในภาพยนตร์คาวบอยสูงกว่าที่คิดไว้ ประกอบขึ้นจากไม้วางพาดกันเป็นทรงกรวยคว่ำ พันรอบด้วยวัสดุกันน้ำและลม เปิดช่องตรงกลางไว้เป็นทางออกสำหรับควัน ช่องเปิดเป็นทางเข้าออกที่มีผ้าหนาและหนักพาดทับไว้ ภายในไม่มีอะไรนอกจากเตียงเตี้ยๆ ที่ทำจากไม้สองหลังกับฟูกบางๆ วางรองไว้พอเป็นไอเดีย และเตาฟืนสำหรับให้ความร้อนอยู่ตรงกลาง

        กลับออกมาถามหาห้องน้ำ ได้ความว่ามันคือสิ่งปลูกสร้างหน้าตาเหมือนคอกสัตว์เล็กที่มองเห็นอยู่ไม่ไกลจาก Teepee ลองทำใจกล้าเดินไปสำรวจดูก็พบว่ามันไม่ใช่ส้วมหลุมแบบขุด แต่เป็นไม้พาดยื่นไปอยู่บนเนินเตี้ยๆ (แน่นอนว่าผมคงไม่ต้องบรรยายว่าอะไรอยู่ใต้เนินนั่น) มีฉากกั้นรอบสี่ด้าน เปิดปิดได้สำหรับเข้าออกหนึ่งด้าน แต่อนิจจา ฉากที่ว่านั่นสูงเพียงระดับคอเมื่อคุณนั่งยองๆ เท่านั้น แถมยังอยู่ใกล้แหล่งน้ำแค่ปาหินจนน่าสงสัยเรื่องสุขอนามัยของคน (และกวาง) แน่นอนว่าการทำธุระส่วนตัวของคุณจะได้ชมวิวของแคมป์แบบสามร้อยหกสิบองศา ไม่นับว่าจะมีตัวอะไรบ้างเดินผ่านมาทักทายระหว่างการประกอบกิจกรรม

        ถ้าไม่นับม้าหกตัวที่เดินทางมาพร้อมกันกับเรา ในแคมป์ยังมีสุนัขอีกสามสี่ตัวให้เห็น แต่สิ่งที่ดึงดูดความสนใจไปเสียหมดคงหนีไม่พ้นกวางเรนเดียร์ที่ดั้นด้นมาตามหานั่นแหละ กวางบางส่วนถูกผูกรวมกันไว้เป็นกลุ่ม น่าจะเป็นกวางตัวเมียสำหรับรีดนมและกวางเด็กๆ เลยต้องรักษาความปลอดภัยเอาไว้ใกล้กับ Teepee ของเจ้าของ แต่กวางอีกหลายตัวก็ยังคงเดินเพ่นพ่านไปมา เล็มหญ้าอย่างสบายใจ กวางบางตัวอาจไม่ยอมให้เข้าใกล้มากเท่าไหร่ แต่บางตัวก็เป็นฝ่ายเดินเข้ามาสำรวจมนุษย์หน้าตาประหลาดที่เริ่มส่งเสียงกรี๊ดกร๊าดและยกกล้องถ่ายรูปขึ้นชักภาพชุดใหญ่ พลางแลบลิ้นเลียมือเติมเต็มเกลือแร่ให้แก่ร่างกาย ก่อนจะเบื่อและเดินหนีไปในที่สุด 

 

กวางเรนเดียร์

กวางเรนเดียร์

กวางเรนเดียร์

Daily life in the Tsaatan Camp

        ชีวิตในหนึ่งวันไม่มีตารางเวลาที่แน่นอน แต่เท่าที่สังเกตดู กิจวัตรประจำวันของชาวซาตันขึ้นกับช่วงเวลาครับ

        ช่วงเช้าเริ่มต้นด้วยการต้อนกวางเรนเดียร์ออกไปหาอาหารนอกบริเวณจุดตั้งแคมป์ (ยกเว้นบางส่วนที่ยังคงถูกผูกไว้ คือกวางตัวเมียสำหรับรีดนม และกวางเด็กน้อยที่ยังกินนมแม่) จุดเตาทำอาหารเช้า พอสายๆ ก็เริ่มรีดนมกวางเพื่อบริโภคในรูปชานมหรือแปรรูปเป็นชีสเก็บไว้กินในฤดูหนาว น้ำนมกวางเรนเดียร์รสชาติไม่เลวเพราะมีไขมันสูงถึงร้อยละ 16 (นมวัวมีไขมันร้อยละ 4) แต่กวางหนึ่งตัวก็ให้นมได้ไม่มากนัก แถมการรีดนมกวางก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

        ช่วงกลางวันคือการทำงานสัพเพเหระอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทำขนมปัง เก็บผลไม้ป่า ล่าสัตว์ ทำเนื้อตากแห้ง เก็บฟืน ผ่าฟืน ไปจนถึงเย็บปักถักร้อยทุกชนิดที่คิดออก หากไม่จำเป็นต้องทำอะไรก็พักผ่อน จิบชาร้อน พูดคุยกับเพื่อนบ้าน 

        ส่วนช่วงเย็นประกอบด้วยการไปตามกวางเรนเดียร์กลับมาผูกไว้ใกล้กับ Teepee นับจำนวนให้ครบ ก่อนรวมตัวกันกินอาหารค่ำ แล้วก็แยกย้ายกันเข้านอน อย่าลืมว่านี่คือชีวิตเรียบง่ายที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีทีวี และไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต

        ในฐานะผู้มาเยือน คุณสามารถมีส่วนร่วมได้ในเกือบทุกกิจกรรม ช่วงเช้าไปช่วยต้อนกวางเรนเดียร์ได้ ช่วงสายไปช่วยรีดนมกวางได้ (แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ) ช่วงกลางวันอาจได้ไปเยี่ยมเยียนครอบครัวอื่นๆ ในแคมป์ ซึ่งทุกครอบครัวก็จะต้อนรับด้วยขนมปังทำเองและชานมกวางเรนเดียร์ (ในแคมป์จะมีบุคคลซึ่งทำหน้าที่เป็น ‘หมอผี’ หรือ Shaman แต่เอาเข้าจริงก็เป็นคุณป้าท่าทางใจดีคนหนึ่งเท่านั้นเอง) และช่วงเย็นของบางวันอาจมีการรวมตัวกันเปิดร้านขายของทำมือจากชาวซาตันให้ได้ซื้อหาของฝากจากหนังหรือเขากวางเรนเดียร์เก็บไปเป็นที่ระลึก 

 

กวางเรนเดียร์

How to plan your visit to the Tsaatan

         ถ้าการเดินทางหลากหลายขั้นตอนรวมถึงการขี่ม้าไม่ทำให้คุณตระหนก ถ้าการใช้ชีวิตอยู่ในแคมป์ที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีห้องน้ำ ไม่มีอะไรให้ทำเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ได้ทำให้ความอยากพบปะน้องกวางเรนเดียร์ของคุณลดน้อยถอยลง นี่คือวิธีการเท่าที่เป็นไปได้ในการพาตัวเองไปพบกับชาวซาตันครับ

        1. เลือกใช้บริการบริษัททัวร์ที่ได้รับอนุญาตจาก TCVC ใน official website ของ TCVC มีรายชื่อของบริษัททัวร์ที่ได้รับอนุญาตจาก TCVC ให้จัดโปรแกรมเดินทางเข้าไปยังไทกาฝั่งตะวันออกของชาวซาตัน โปรแกรมทัวร์ส่วนใหญ่จะรวมเอาทะเลสาบฮุฟสกุล (Khövsgöl lake) ไว้ด้วย และมีระยะเวลาขั้นต่ำสองสัปดาห์ 

        2. ติดต่อผ่านชาวมองโกเลียตัวแทนของ TCVC ซึ่งพูดภาษาอังกฤษได้ ตัวแทนของ TCVC ซึ่งพูดภาษาอังกฤษได้และเป็นชาวซาตันตัวจริงเสียงจริงคนนี้มีชื่อว่าซายา (Zaya) คุณสามารถติดต่อกับเธอได้ผ่านทาง WhatsApp หมายเลขโทรศัพท์ (+976) 9977-0480 หรืออีเมลไปที่ [email protected] แต่เนื่องจากสัญญาณโทรศัพท์จะมีเฉพาะในช่วงของแคมป์ฤดูหนาวเท่านั้น (เนื่องจากอยู่ใกล้เมืองซากาน นูร์) ทำให้สามารถติดต่อกับซายาได้เฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน 

        ซายาเป็นชาวมองโกเลียที่เกิดในอูลานบาตอร์ และเคยไปใช้ชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกาสมัยเด็ก ทำให้เธอสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี เธอพบกับสามีซึ่งเป็นชาวซาตันตอนที่กลับมาทำงานให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) ซึ่งเข้ามาช่วยเหลือชาวซาตัน และหลังจากแต่งงานก็ย้ายเข้ามาใช้ชีวิตในไทกาฝั่งตะวันออกตั้งแต่ปี 2551

        ข้อมูลละเอียดขนาดนี้ เดาไม่ยากใช่ไหมครับว่านี่คือบุคคลที่ผมติดต่อเพื่อการเดินทางในครั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดที่จะทิ้งไว้คือซายาตั้งครรภ์และมีกำหนดคลอดในเดือนมกราคมปี 2563 การติดต่อผ่านซายาอาจเปลี่ยนแปลงไป ต้องสอบถามไปด้วยตัวเองครับ

        3. ติดต่อผ่านบ้านพัก/โรงแรมในอูลานบาตอร์หรือมุรุน น่าจะเป็นวิธีการที่ปวดหัวที่สุดและอันตรายที่สุดในคราวเดียวกัน หลายเว็บไซต์เขียนตรงกันว่า คุณมีความเสี่ยงที่จะติดต่อ TCVC ไม่ได้ ไปจนถึงโดนหลอกว่าซายาย้ายไปอยู่ต่างประเทศแล้ว (แบบนี้ก็ได้เหรอ?) นักท่องเที่ยวขาลุยบางคนอาจหาชาวมองโกเลียที่พูดภาษาอังกฤษได้ให้ช่วยติดต่อยื่นเอกสารและหารถสำหรับเดินทางไปถึงซากาน นูร์ แต่ถึงอย่างไรการเข้าไปยังไทกาฝั่งตะวันออกโดยไม่มีชาวซาตันเป็นผู้นำทางก็น่าจะเป็นไปได้ยากอยู่ดี 

ปีหนึ่งๆ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากแค่ไหน?

        ช่วงที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดคือกรกฎาคมถึงสิงหาคมของทุกปี สองเดือนนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวนับรวมกันได้ราว 80-100 คน นอกจากสองเดือนนี้ก็ประปราย ไม่เท่ากันในแต่ละปี นักท่องเที่ยวส่วนมากเป็นชาวยุโรปและชาวมองโกเลีย ทาง TCVC พยายามจำกัดให้มีนักท่องเที่ยวต่อกลุ่มไม่เกิน 10 คน และให้เป็นการประสานงานผ่านชาวซาตันเสมอ

การมาถึงของนักท่องเที่ยวดีหรือไม่ ส่งผลกระทบอะไรบ้าง?

        หลังจากตั้งคำถามนี้กับหลายคน ได้คำตอบตรงกันว่า ตราบใดที่ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาถึงไม่ได้มากเกินไปและรายได้มีการกระจายเข้าสู่ชาวซาตัน การมีอยู่ของนักท่องเที่ยวก็ส่งผลในด้านดี การมาถึงของเทคโนโลยีอาจส่งผลให้เด็กรุ่นใหม่อยากเข้าไปเรียนในเมืองใหญ่มากขึ้นก็จริง แต่สมาชิกชาวซาตันเองก็เชื่อว่าชนเผ่านี้จะยังคงมีอยู่ต่อไป หลายคนยังกลับมาใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม

        การเดินทางที่ใช้เวลานานและลำบากพอควร น่าจะกรองนักท่องเที่ยวไปได้ส่วนหนึ่ง คนที่นี่เชื่อว่านักท่องเที่ยวที่มาถึงได้คือคนที่ ‘อยากมาจริงๆ’ และเป็นคนที่ปรับตัวกับการดำรงชีพที่แทบไม่มีอะไรเลยของชาวซาตันได้ไม่ยาก แต่ในทางกลับกัน การมาถึงของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่เดินทางจากมุรุนไปยังทะเลสาบฮุฟสกุลโดยตรง ซึ่งเดินทางง่ายกว่าเพราะเป็นทางลาดยางตลอดสาย ทำให้มีการสร้างซุ้มถ่ายรูปที่มี Teepee เปล่ากับกวางเรนเดียร์สองสามตัวผุดขึ้นริมถนน แน่นอนว่าภูมิอากาศใกล้เมืองมุรุนร้อนเกินไป และหญ้าที่อยู่แถบนั้นก็ไม่ใช่อาหารที่เหมาะสมสำหรับกวางเรนเดียร์ และซุ้มที่ว่าเหล่านี้ก็ถูกเบ้ปากกับส่ายหัวใส่รัวๆ ตอนที่เราขับรถผ่าน

 

กวางเรนเดียร์

ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบอะไรต่อการดำรงชีวิตบ้าง?

        เท่าที่สังเกตคือสภาพอากาศแต่ละปีเปลี่ยนไป บางปีหนาวมากแต่ฤดูหนาวสั้น บางปีหนาวไม่มาก อากาศแปรปรวนส่งผลกระทบต่อกวางเรนเดียร์เป็นหลัก แต่ศัตรูหลักของกวางเรนเดียร์ก็ยังหนีไม่พ้นหมาป่าอยู่ดี เป็นเหตุผลที่ชาวซาตันต้องไปต้อนกวางมารวมกันไว้ตอนเย็น และให้อยู่ในขอบเขตด้านในของแคมป์อย่างมิดชิด

Your Own Experience

        อ่านจนจบแล้วอาจรู้สึกว่า โอ้โฮ เดินทางตั้งไกลเพื่อไปดูกวางเรนเดียร์… แค่เนี้ยเหรอ? —อยากจะยกคำคมๆ อย่าง ‘ระหว่างทางสำคัญกว่าจุดหมาย’ แต่จะว่าไปงานนี้จุดหมายก็ได้อะไรมากมายไม่น้อยไปกว่าระหว่างทางเลยครับ มองโกเลียมีอะไรมากกว่าที่คิด การได้มาสัมผัสกวางเรนเดียร์อย่างใกล้ชิดตัวเป็นๆ เรียนรู้การดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายสโลว์ไลฟ์ของชาวซาตัน ก็ทำให้เราตั้งคำถามกับความสำคัญของอะไรหลายๆ อย่างรอบตัว (แม้สุดท้ายจะได้คำตอบว่าเรายังคงต้องการโทรศัพท์มือถืออยู่ก็ตาม ฮ่าๆ)

        ประสบการณ์บางอย่างก็เก็บเกี่ยวเอาจากการดูรูปอย่างเดียวไม่ได้หรอกครับ 😉

 


เรื่องและภาพ: คัมภีร์ สรวมศิริ