รถไฟฟ้าใต้ดิน

สำรวจคุณภาพชีวิตผ่านรถไฟฟ้าใต้ดินใน 4 มหานครของโลกจากสายตาคนไทยผู้ใช้บริการทุกวัน

กรุงเทพฯ กำลังอยู่ในช่วงของพัฒนาและขยายระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้ผู้คนในเมืองเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ให้เหมือนกับเมืองใหญ่ต่างๆ ของโลกที่ให้ความสำคัญกับระบบขนส่งมวลชน และพัฒนาระบบรถไฟใต้ดินให้ทันสมัย รวดเร็ว ปลอดภัย

     สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ขยายเส้นทางเดินรถไฟ จัดตั้งโครงการที่เกี่ยวข้องมากมาย เพื่อโน้มน้าวให้ผู้คนหันมาใช้รถไฟฟ้าใต้ดินให้มากขึ้น โดยมุ่งหวังการแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัด และส่งเสริมให้พลเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในทุกๆ วัน

     เริ่มตั้งแต่การเดินทางภายในเมืองใหญ่ อย่างรถไฟฟ้าใต้ดินที่เก่าแก่ที่สุดในโลก London Underground สหราชอาณาจักร สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1864 หากเทียบกับ MRT กรุงเทพฯ ถือว่าเป็นน้องเล็กที่ห่างกันถึง 140 ปี ระหว่างที่ชาวบางกอกใช้ชีวิตติดริมน้ำ และยังคงเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก ชาวลอนดอนได้เดินทางไปยังเขตต่างๆ ด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน พวกเขาเคลื่อนตัวและแนวคิดไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันลอนดอนอันเดอร์กราวนด์มีทั้งหมด 11 สาย 270 สถานี รองรับผู้โดยสารมากกว่า 4.8 ล้านคนต่อวัน

     จากนั้นไม่นานนานาประเทศก็เริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยนำระบบรถไฟฟ้าใต้ดินของลอนดอนมาเป็นต้นแบบ
เช่น ประเทศจีนกับรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรก Beijing Subway เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 จูงใจชาวปักกิ่งให้หันมาใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อหลีกหนีปัญหาการจราจรติดขัดด้านบน ด้วยอัตราค่าโดยสารแสนถูกตลอดสาย (ปัจจุบันปรับราคาขึ้นเป็น 2 หยวนตลอดสาย) รวมไปถึงมหานครเซี่ยงไฮ้กับ Shanghai Metro เจ้าของสถิติเส้นทางเดินรถไฟที่ยาวที่สุดในโลก มีทั้งหมด 14 สาย รวมระยะทางถึง 558 กิโลเมตร แซงหน้าระบบรถไฟฟ้าใต้ดินของนิวยอร์ก 394 กิโลเมตร และลอนดอน 402 กิโลเมตร ส่าสุดได้อำนวยความสะดวกให้กับชาวจีนยุคใหม่ ด้วยการใช้แอพพลิเคชัน Yitongxing หรือ The Easy Pass สำหรับสแกนเข้าเกต โดยจะหักค่าเดินทางเมื่อออกจากสถานี

     ขยับถัดมาที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ กับ Seoul Metro เปิดให้บริการปี ค.ศ. 1974 ซึ่งเป็นที่แรกที่ใช้ระบบบัตร contactless smart ที่เรียกว่า Upass มีอินเทอร์เน็ตไว-ไฟ สัญญาณ 4G สามารถใช้สมาร์ตโฟนแทนตั๋วโดยสารได้เลย
นอกจากนี้ยังมีรถไฟใต้ดินของประเทศอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของชาวเมืองมาเป็นที่หนึ่ง ซึ่งจะจริงหรือไม่นั้น ลองไปฟังความประทับใจในรถไฟใต้ดินของคนไทยทั้ง 4 คน ที่คุ้นเคยกับเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินของ 4 เมืองใหญ่ของโลกอย่างนิวยอร์ก สิงคโปร์ มอสโก และไทเป ที่มาตอบโจทย์ชีวิตผู้คนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี

 

รถไฟฟ้าใต้ดิน

 

NEW YORK CITY SUBWAY

Diversity and Creativity

     เบื้องล่างของมหานครของโลกที่ไม่เคยหลับใหล รถไฟฟ้าใต้ดินนิวยอร์ก หรือ New York City Subway ได้เปิดใช้บริการแบบวิ่งทั้งวันทั้งคืนมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1904 ซึ่งนอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในระบบขนส่งใต้ดินที่เก่าแก่ที่สุดในโลกแล้ว นิวยอร์กซับเวย์ยังเป็นพื้นที่สะท้อนชีวิตของเมืองและโลกที่เชื่อมโยงผู้คนต่างสัญชาตินับล้านคน รวมถึง ‘ด๊อด’ – ทัศพงษ์ ชมจันทร์ หนุ่มไทยผู้หลงใหลความหอมหวานของนิวยอร์กและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นมากว่า 12 ปี มักใช้เวลาระหว่างวันไปกับการเทรดหุ้น ทำงานกราฟิกดีไซน์ เป็นผู้ช่วยบาร์เทนเดอร์ พร้อมกับถ่ายทอดแง่งามของนครนิวยอร์กออกมาเป็นภาพถ่ายสวยๆ ในอินสตาแกรมชื่อว่า doddd

     รถไฟใต้ดินนิวยอร์กมีเส้นทางให้บริการ 26 เส้น 472 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้ง 4 เขตนิวยอร์ก ได้แก่ แมนฮัตตัน, บรูคลิน, ควีนส์ และเดอะบรองซ์ แม้จะเรียกว่าซับเวย์ แต่บริการรถไฟใต้ดินของนิวยอร์กก็มีระบบรางที่เป็นทางรถไฟยกระดับหรือเป็นเส้นทางรางระดับดินอยู่ไม่น้อยกว่า 40% ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการต่อวันประมาณ 6.4 ล้านคนในวันธรรมดา ซึ่งนับว่าเป็นระบบขนส่งทางรางที่มีผู้ใช้งานหนาแน่นที่สุดในซีกโลกตะวันตก

 

รถไฟฟ้าใต้ดิน

 

     “ครั้งแรกที่เห็นนิวยอร์กซับเวย์ เราคิดเลยว่าทำไมมันสกปรกจัง เพราะตอนนั้นบีทีเอสบ้านเราเพิ่งสร้างเสร็จหมาดๆ แต่จริงๆ แล้วซับเวย์ที่นี่อายุเป็นร้อยปี สภาพที่เราเห็นก็ถือว่าดีมาก แล้วเขาก็มีการซ่อมบำรุงอยู่เรื่อยๆ เรามองว่าซับเวย์เป็นหัวใจหลักของเมืองที่คนนิวยอร์กขาดไม่ได้ เพราะครอบคลุมมาก ถ้าวันไหนซับเวย์เป็นอะไรไปคงแย่

     “ด้วยความที่ครอบคลุม และราคาค่าโดยสารเที่ยวละ $2.75 ที่ตอบโจทย์กับค่าครองชีพ ทำให้ทุกครั้งที่ใช้ซับเวย์ มันเหมือนเราได้อยู่ในโลกอีกใบ เพราะจะเจอกับผู้มาใช้บริการทุกชนชั้น ทั้งคนชั้นล่าง ชั้นกลาง คนรวย รวมไปถึงคนทุกแบบ ทุกภาษา ทุกเชื้อชาติ

     “นอกจากจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะแล้ว เมื่ออยู่นิวยอร์กนานๆ เราจะเริ่มเห็นกิจกรรมอื่นๆ ในซับเวย์ที่หลาย คนใช้หาเงินได้ด้วยเหมือนกัน เช่น เด็กวัยรุ่นผิวสีมาเต้นบีบอย ฮิปฮอป โหนราว ตีลังกากันในรถไฟ มีนักร้องนักดนตรีมาเปิดหมวกกันแบบสดๆ ในขบวน โดยเฉพาะช่วงเทศกาล ในสถานีรถไฟใต้ดินจะมีความน่ารักเป็นพิเศษ เพราะมีคนมาร้องเพลงประสานเสียงช่วงคริสต์มาส ทำให้เมืองอบอุ่นมาก หรือช่วงฮัลโลวีน คนก็แต่งชุดฮัลโลวีนลงซับเวย์กันแบบไม่อายเลย แล้วในวันฮัลโลวีนก็จะมีรถไฟใต้ดินแบบออริจินอลในสมัยก่อนมาวิ่งเป็นขบวนพิเศษให้คนได้เห็นด้วย”

 

รถไฟฟ้าใต้ดิน

 

     “พอเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมอื่นๆ มากขึ้น บางสถานีที่มีเนื้อที่กว้าง คนเดินเยอะ เขาก็จัดสเปซไว้ให้แสดงดนตรีโดยเฉพาะ แล้วเรียกว่า Music Underground ซึ่งก็ต้องลงทะเบียนมาล่วงหน้า ทำให้สามารถจัดระเบียบได้อย่างจริงจัง

     “เรามองว่ารถไฟใต้ดินสะท้อนตัวตนของเมืองได้อย่างชัดเจน เพราะเป็นพื้นที่ที่ทำให้เราเห็นว่าคนนิวยอร์กกล้าแสดงออก กล้าแต่งตัว กล้าคิด กล้าทำ ถึงแม้ว่ามันจะเก่า แต่ก็เป็นสถานที่ที่มีชีวิตชีวาและมีเสน่ห์เฉพาะตัวมากจริงๆ”

 

รถไฟฟ้าใต้ดิน

 

MRT SINGAPORE

Connection and Convenient

     วิธีการเดินทางในชีวิตประจำวันเป็นส่วนหนึ่งของการชี้วัดคุณภาพชีวิตของชาวเมืองในประเทศนั้นๆ สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกสบายติดอับดับต้นๆ ของโลก และค่าโดยสารยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ต่อเดือน โดยยืนยันได้จาก ‘หญิง’ – พิมพ์ฐณัช ภฐณวาณิชกุล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจหลัก (ประจำภูมิภาคเอเชีย) ที่ Takasago International Pte. ประเทศสิงคโปร์ หญิงสาวที่เป็นเหมือนคนหน้าใหม่สำหรับประเทศเล็กๆ แห่งนี้ แม้เธอเพิ่งเริ่มต้นใช้ชีวิตในสิงคโปร์ได้ไม่นาน แต่เธอได้ตั้งเป้ากับตัวเองว่า จะตระเวนกินอาหารตามศูนย์อาหารชุมชน หรือที่เรียกว่า Hawker Centre ให้ครบทุกศูนย์ ซึ่งมีทั้งหมดกว่า 100 แห่ง แต่ละแห่งมีตั้งแต่ 10-100 ร้านอาหารทั่วทั้งเกาะ

     สิงคโปร์มีรถไฟฟ้าใต้ดินครอบคลุมแถบจะทุกพื้นที่ทั่วเกาะ มีทั้งหมด 11 สายเชื่อมต่อกับรถโดยสารสาธารณะ เรือโดยสาร LRT หรือโมโนเรลวิ่งตามชานเมือง สามารถตรวจสอบการเดินทางได้ด้วยแอพพลิเคชัน รวมไปถึงการใช้บัตรโดยสาร MRT EZ-Link เพียงใบเดียวครอบคลุมทุกการเดินทาง และยังใช้ซื้อของใน 7-Eleven จ่ายค่าแท็กซี่ หรือจ่ายค่าทางด่วนได้ ปัจจุบันมีผู้โดยสารมาใช้บริการ MRT Singapore กว่า 3 ล้านคนต่อวัน

 

รถไฟฟ้าใต้ดิน

 

     “MRT สิงคโปร์ตอบโจทย์ชีวิตคนทำงาน โดยเฉพาะเรื่องบัตรโดยสาร EZ-Link ทำเป็นบัตรเครดิตหักค่าเดินทางล่วงหน้าได้เลย ซึ่งทำให้เราสามารถคำนวณค่าโดยสารได้ง่าย เพราะค่าโดยสารของที่นี่จะคิดตามระยะจริง ไม่เปลี่ยนราคาไปตามส่วนต่อขยายหรือเปลี่ยนผู้ให้บริการ และราคาไม่แพง เช่น บางสายนั่ง 2 สถานี ราคาเพียง 30 cents อย่างเรานั่ง MRT สุดสาย 11 สถานี เพื่อไปทำงาน ราคาเพียง 1.4 SGD ประมาณ 26 บาทเท่านั้น แต่ MRT สายสีส้ม Circle เป็นสายที่โดนร้องเรียนบ่อยเรื่องมาช้า ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 2-5 นาที เพราะเสียบ่อยเนื่องจากเป็นสายที่เก่าที่สุดจากทั้งหมด 11 สาย

     “ส่วนเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยของที่นี่ก็ดีเยี่ยม เพราะเจอมากับตัว เราเคยนั่งอ่านหนังสือรอเพื่อนนานเกิน 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ก็ปรี่เข้ามาแล้วยึดบัตรโดยสาร ถูกสอบสวนอย่างหนัก ตรวจสอบเจตนาผ่านกล้องวงจรปิด เสียค่าปรับ 2 SGD ก่อนคืนบัตรโดยสารให้”

 

รถไฟฟ้าใต้ดิน

 

     “โดยส่วนตัว เรายกให้ MRT ที่นี่เป็นระบบขนส่งที่ใช้ง่าย จำง่าย และเข้าใจได้ง่าย บางสถานีก็มีจุดเชื่อมต่อแทบทุกสายเข้าด้วยกัน เช่นที่สถานี Dhoby Ghaut ทำให้กลายเป็นจุดนัดพบ หรือจุดเริ่มต้นท่องเที่ยวได้สะดวก และเมื่อออกจากขบวนจะมีจุดเชื่อมต่อระหว่างสถานี หรือทางออกด้วย shopping mall หรือ underway

     “ที่สำคัญ สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบ big data ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้นทุกครั้งที่ tap in-out ผ่านประตูอัตโนมัติเข้าไปในสถานี ข้อมูลต่างๆ จะถูกเก็บไว้ก่อนนำไปประมวลผล เพื่อนำมาสร้างโครงการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้คนในหลายๆ ด้าน อย่างล่าสุดกับโครงการก่อสร้างหลังคาทางเชื่อมระหว่างทางออก MRT ไปยัง HDB Towns (Housing Department Board) หรือแฟลตรัฐบาล ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของชาวสิงคโปร์กว่า 70% ทั่วทั้งเกาะ ทำให้ผู้คนไม่ต้องชุ่มเหงื่อจากไอร้อนหรือตัวเปียกจากสายฝนอีกต่อไป”

 

รถไฟฟ้าใต้ดิน

 

MOSCOW METRO

Architecture and History

     ตามลงไปสำรวจความอลังการของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกรุงมอสโก กับ ‘เจน’ – วัฒนา ขจัดสารพัดภัย เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติผู้เคยได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อด้าน Infocommunications ในเมืองโอเรียล (Orel) ประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นระบบรถไฟที่ขึ้นชื่อด้านการวางแผนระบบอันแม่นยำ ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมโอ่อ่า ศิลปะร่วมสมัย และประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ของชาติ

     รถไฟใต้ดินมอสโกเปิดให้บริการในปี ค.ศ. 1935 ปัจจุบันมีจำนวน 194 สถานี ระยะทาง 325.4 กิโลเมตร ในแต่ละวันมีผู้โดยสารตั้งแต่ 7-9 ล้านคน โดยหากเทียบกับที่อื่นๆ ในโลก สถานีรถไฟฟ้ามอสโกมีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมที่โออ่า เนื่องจากแนวคิดที่ต้องการทำให้สถานีของรถไฟใต้ดินเปรียบเสมือนหนึ่งพระราชวังใต้ดินสำหรับคนธรรมดาทั่วไป และการตกแต่งแฝงไปด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองในยุคสตาลิน ทำให้ภายในประกอบไปด้วยอนุสรณ์รำลึกในเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งยังประดับด้วยหินอ่อน หินแกรนิต ให้ความรู้สึกงดงาม และน่าเกรงขามในเวลาเดียวกัน

 

รถไฟฟ้าใต้ดิน

 

     “ตอนไปเห็นมอสโกเมโทรครั้งแรกเราว้าวมาก เพราะรถไฟฟ้าใต้ดินบ้านเราเพิ่งเปิดกิจการได้ไม่นาน ซึ่งของเราก็ติดแอร์ ตกแต่งเรียบๆ ไม่มีอะไร แต่พอไปที่มอสโกแล้วเจอความอลังการ โอ่อ่า และดูยิ่งใหญ่มาก แค่บันไดเลื่อนที่ลงไปใต้ดินก็ยาวมากสุดลูกหูลูกตา เรายืนอยู่ตรงนั้นเกือบจะ 10 นาที จนรู้สึกเหมือนความเอียงของบันไดเลื่อนกลายเป็นเส้นตรงไปเลย (หัวเราะ)

     “ถึงแม้จะลึกขนาดนั้น แต่ระบบระบายอากาศของประเทศเขากลับดีมาก เพราะเขาสร้างทางลมที่ทำให้อากาศถ่ายเทเข้าไปได้อย่างทั่วถึง และเนื่องจากเป็นระบบขนส่งที่มีมาเกือบร้อยปี แน่นอนว่าตัวรถไฟเขาก็จะไม่ใหม่เท่าบ้านเรา เวลาวิ่งจึงค่อนข้างเสียงดัง บางทีมีหน้าต่างที่ไม่ได้ปิด แล้วลมตีเข้ามาก็มี แต่ด้วยโครงสร้างของมันดูแข็งแรงมาก เราเลยคิดว่ามันคงไม่บุบสลายง่ายๆ หรอก (หัวเราะ)”

 

รถไฟฟ้าใต้ดิน

 

     “สิ่งที่ทำให้เราประทับใจที่สุดก็หนีไม่พ้นความสวยงามของสถานี โดยเฉพาะในโซนใจกลางเมืองที่เขาเรียกกันว่า Golden Ring เพราะแต่ละสถานีจะตกแต่งแบบอลังการ และไม่ซ้ำกันเลยสักสถานีเดียว บางสถานีก็มีกิมมิกน่ารักๆ อย่างหมาทองเหลืองที่เชื่อกันว่าลูบหัวแล้วจะโชคดี หรือบางสถานีก็มีกระเบื้องโมเสก โคมโบราณ ภาพวาดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งป้าย หรือโคมไฟ ก็ทำขึ้นมาอย่างประณีตและละเอียดลออ

     “บรรยากาศแบบนี้มันทำให้ให้เห็นว่า แม้รัสเซียเป็นชาติที่ดูดุดัน เคร่งขรึม แต่จริงๆ แล้วพวกเขาให้ค่ากับศิลปะมาก ในที่นี้หมายถึงทั้งสถาปัตยกรรม วรรณกรรม ภาพยนตร์ จิตรกรรมต่างๆ ซึ่งมันสะท้อนผ่านรายละเอียดต่างๆ ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน”

 

รถไฟฟ้าใต้ดิน

 

TAIPEI METRO

Caring and Friendly

     ปี 2018 ไต้หวันได้ครองแชมป์อันดับหนึ่งโลกของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด และอันดับห้าของการมีการคมนาคมดีที่สุด ด้วยการจัดอันดับและสำรวจโดย Nations’ Expat Insider แสดงให้เห็นว่า รถไฟใต้ดินไทเปเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น ซึ่งตรงกับความเห็นของ ‘ส้มโอ’ – สารินี เจิน ผู้อยู่อาศัยอยู่ที่ไต้หวันมากกว่า 14 ปี ผู้เขียนหนังสือ ถูกและฟรีมีที่ไทเป และ เซียนไต้หวัน เธอสนใจทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับประเทศนี้ จนถึงกับต้องรวบรวมข้อมูล สถานที่ท่องเที่ยว การเดินทาง และความน่ารักทุกด้านไว้ที่ www.taiwanguru.com และ เซียนไต้หวัน Taiwan Guru ซึ่งเธอกำลังจะบอกเราถึงความน่ารักและความใส่ใจในรายละเอียดรอบด้านของไต้หวัน

     รถไฟใต้ดินไทเปเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1996 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ปัจจุบันมีทั้งหมด 5 สายหลัก แบ่งตามสีต่างๆ โดยมีสถานี Taipei Main Station เป็นศูนย์กลางเชื่อมทั้งเกาะด้วย TRA รถไฟท้องถิ่นของประเทศที่ THSR รถไฟความเร็วสูง และท่ารถบัสต่างๆ

 

รถไฟฟ้าใต้ดิน

 

     “รถไฟใต้ดินทำให้ทุกวันของชีวิตเต็มไปด้วยสีสัน เช้าๆ เราไปสูดอากาศบนยอดเขาที่ MaoKong ตอนกลางวันมาช้อปปิ้งกินกาแฟฮิปๆ ที่สถานี Ximending ตอนเย็นไปแช่น้ำร้อนที่สถานี Xinbeitou

     “เราชอบเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะกับคนท้อง จะมีที่นั่งพิเศษสีน้ำเงินภายในขบวน และมักจะเว้นว่างเสมอแม้คนจะแน่นแค่ไหนก็ตาม สำหรับคนท้องอ่อนๆ สามารถไปขอสติ๊กเกอร์คนท้องได้ที่เคาน์เตอร์ทุกสถานี ที่สำคัญ ตามสถานีหลักๆ ยังมีห้องให้นมลูก ตกแต่งด้วยการทาสีชมพูลายแพนด้า ด้านในมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคุณแม่อย่างครบครัน

     “ส่วนของผู้พิการที่ต้องใช้วีลแชร์ นอกจากจะมีลิฟต์พร้อมใช้งานแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะนำแผ่นเหล็กมาวางระหว่างชานชาลากับขบวนรถไฟ เพื่อให้เข็นผ่านได้ง่าย ส่วนทางด้านคนขับจะออกมาตรวจทุกสถานี เพื่อดูที่มอนิเตอร์ด้านนอกว่าแต่ละประตูทางเข้าออก ผู้โดยสารทุกคนเข้าออกเรียบร้อยหรือยังก่อนออกเดินทางต่อ”

 

รถไฟฟ้าใต้ดิน

 

     “แต่สิ่งที่รถไฟใต้ดินโน้มน้าวให้คนมาใช้บริการได้เป็นอย่างดีก็คือ ค่าโดยสารไม่แพงเมื่อเทียบกับรายได้ เฉลี่ยอยู่ที่ 16-48 NTD ผ่านบัตรโดยสาร easy card ที่ใช้ง่ายได้อย่างครอบคลุมทั้งค่าโดยสารและซื้อของ ทั้งยังเพิ่มความน่ารักให้กับสาวๆ ด้วยบัตรลายการ์ตูน หรือมาในรูปแบบสมาร์ตวอตช์สำหรับหนุ่มๆ พร้อมส่วนลดค่าโดยสาร 20% ตามด้วยโปรโมชันอีกเพียบ เช่น นั่งรถบัสฟรี หรือบัตรผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป มีส่วนลดค่าโดยสาร 50% แถมในบัตรยังมีเงินให้ 480 NTD เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุวัยเกษียณเกิด active life และให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกและมีความสุข”

 

รถไฟฟ้าใต้ดิน

 

     “เราชอบที่เขาสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวด้วยการอำนวยความสะดวกมากมาย เช่น ป้ายบอกสถานี 5 ภาษา ฟรีไว-ไฟ จุดชาร์ตแบตเตอรี่ฟรี ตกแต่งภายในสถานีให้น่ารัก เช่น ผนังภาพวาดของ จิมมี่ เหลียว ที่สถานี Nangang และยังมีจุดแสตมป์บนสถานีให้เก็บเป็นที่ระลึกอีกด้วย”