๊US election

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020 ความล้าหลังและ ‘อิหยังวะ’ ของประเทศที่พัฒนาแล้ว?

เมื่อครบ 4 ปี ศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เวียนกลับมาอีกครั้ง คราวนี้เป็นศึกระหว่าง โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ดำรงตำแหน่ง Leader of Free World คนปัจุบัน 

        หลายคนอาจรู้สึกงงๆ ในระดับ ‘อิหยังวะ’ กับระบบการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา เราจึงอยากชวนมาทำความเข้าใจกับระบบนี้ รวมถึงตอบคำถามว่า – ทำไมคนไทยถึงควรสนใจศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้ 

 

๊US election

ศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020

        ในปี 2020 นี้ ศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นการขับเคี่ยวระหว่าง โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีของ บารัก โอบามา ตัวแทนจากพรรคเสรีนิยม (เดโมแครต) และ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐอเมริกาคนปัจุบัน 

        สถานการณ์ในตอนนี้ ถ้าดูจาก National Polling Average ด้านไบเดนนำอยู่ 53% แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าไบเดนจะชนะแน่ๆ เพราะแม้คะแนนโพลอาจจะพอบอกได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ Popular Vote แต่คะแนน Popular Vote ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี หากแต่เป็น Electoral Vote ต่างหาก

American Electoral College ระบบการเลือกตั้งสุด ‘อิหยังวะ’ ของประเทศที่พัฒนาแล้ว

        ระบบการเลือกตั้งของอเมริกานั้นมีความซับซ้อนมาก ชาวอเมริกันกว่า 60% ยังลงความเห็นกันเลยว่าควรยกเลิกการเลือกตั้งแบบ Electoral College และเปลี่ยนมาใช้ระบบแบบ Popular Vote ที่มีความตรงไปตรงมามากกว่า เพราะว่าถ้าผู้สมัครเลือกตั้งคนไหนได้เสียงส่วนมากของประชาชนอเมริกัน ผู้นั้นก็จะชนะไปเลย ซึ่งในอนาคต ระบบการเลือกตั้งของอเมริกาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงก็เป็นได้ แต่ในเมื่อการโหวตแบบ ‘คณะผู้เลือกตั้ง’ ยังคงอยู่ นี่ก็ถือเป็นวิธีการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ชาวอเมริกันและคนที่ติดตามทั่วโลกต้องมาปวดหัวทำความเข้าใจทุกๆ 4 ปี

        การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยปกติแล้วถูกกำหนดให้จัดในวันอังคารหลังจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนในปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน และจะรู้ผลในคืนวันเลือกตั้งนั้นเลย 

        ถ้าถามว่าระบบการเลือกตั้งแบบ Electoral College มันซับซ้อนตรงไหน คำตอบก็คือระบบการเลือกตั้งแบบนี้เป็นการเลือกแบบอ้อม 

        อ้อมอย่างไร?

        อ้อมโดยจะมีการนำคะแนน Popular Vote ไปหาคณะผู้เลือกตั้งเพื่อไปโหวตเลือกประธานาธิบดีจริงๆ อีกทีหนึ่ง ซึ่งคณะผู้เลือกตั้งที่จะมาเลือกในชั้นที่สองนี้เรียกว่า Electoral College 

        ในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ จะมีคณะเลือกตั้งทั้งหมด 538 คน ประกอบไปด้วยตัวแทนจากแต่ละรัฐ 435 คน สมาชิกวุฒิสภา 100 คน และผู้เลือกจากเมืองหลวง วอชิงตัน ดี.ซี. หรือที่เรียกว่า ดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย (District of Columbia) 

        โดยผู้ที่จะได้ตำแหน่งประธานาธิบดีไปจะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือว่า 270 เสียงขึ้นไป แต่ว่าในแต่ละรัฐจะมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากันโดยคิดจากจำนวนประชากรของรัฐนั้นๆ เป็นเหตุให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องคิดหาทางวางกลยุทธ์หาเสียงในแต่ละรัฐแตกต่างกันไป

        เช่น ในรัฐแคลิฟอร์เนีย มีคณะผู้เลือกตั้งอยู่ 55 คน ซึ่งในระบบ winner takes all ถ้าตัวแทนจากพรรคไหนเป็นฝ่ายชนะ คนคนนั้นก็จะได้ไปเลย 55 คะแนนเต็ม แต่ที่น่าตลกก็คือ ต่อให้คนใดคนหนึ่งชนะการเลือกตั้งจากรัฐนอร์ทดาโกตา, เซาท์ดาโกตา, มอนแทนา, ไวโอมิง, เวอร์มอนต์, นิวแฮมป์เชียร์, คอนเนตทิคัต และเวสต์เวอร์จิเนีย รวมทั้ง 8 รัฐ ก็จะได้เพียง 31 คะแนนเท่านั้น เรียกว่าแพ้แคลิฟอร์เนียรัฐเดียวถล่มทลาย

        วิธีการเลือกตั้งแบบ winner takes all สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวอเมริกันมาก เพราะว่าการแพ้ชนะการเลือกตั้งนั้นไม่ได้คิดจากเสียงส่วนมากของประชาชน แต่คิดจากเสียงส่วนมากของแต่ละรัฐ ที่ไม่ได้การันตีว่าจะเป็นเสียงส่วนมากของประเทศเสมอไป 

        แต่ว่าด้วยความที่สหรัฐอเมริกาตั้งต้นมาจากการรวมตัวของรัฐต่างๆ ที่มีกฎหมายและระบบการปกครองเป็นของตัวเอง Electoral College จึงเป็นการให้ความสำคัญกับรัฐแต่ละรัฐ และทำให้คะแนน Electoral Vote จากแต่ละรัฐมีความหมายมาก โดยเฉพาะในปีที่การแข่งขันสูสี 

        นอกจากนี้ยังมีอีกบางรัฐที่ไม่ว่าจะปีไหน ผู้เข้าชิงทุกคนจะต้องเน้นหนักและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ รัฐเหล่านี้เรียกว่า Swing State หรือรัฐที่อาจจะมีคะแนนเหวี่ยงไปมาได้

 

๊US election

แพ้ชนะวัดกันที่ ‘Swing State’ 

        เริ่มแรกนั้น รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาไม่ได้ตั้งใจจะให้มีพรรคการเมืองแต่อย่างใด แต่ว่าเมื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีจำนวนมากขึ้นและประเทศขยายออกอาณาเขตไปทางตะวันตก พรรคการเมืองจึงเกิดขึ้น โดยพรรคที่มีบทบาททางการเมืองมากที่สุดก็คือ พรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต โดยทั้งสองต่อยอดมาจากพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 และ 19 และต่อมา ประธานาธิบดีทุกคนก็มาจากพรรครีพับลิกันหรือพรรคเดโมแครตเท่านั้น

        แต่ละรัฐจะมีพรรคการเมืองที่เรียกได้ว่าเป็นแชมป์ประจำรัฐ ไม่ว่าเลือกตั้งกี่ครั้งพรรคนี้ก็ได้รับชัยชนะเสมอ ยกตัวอย่างเช่น รัฐออริกอน แมริแลนด์ และแมสซาชูเซตส์ มักจะโหวตให้กับพรรคเดโมแครตเสมอ ส่วนรีพับลิกันก็วางใจได้ว่าตัวเองจะได้คะแนนเสียงจากรัฐอย่างแอละแบมา แคนซัส และไอดาโฮ อย่างแน่นอน รัฐเหล่านี้เรียกว่า Safe State ก็คือไม่ว่าจะกี่ปีกี่ชาติก็เป็นฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่งแน่ๆ 

        แต่ Swing State คือรัฐที่ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างแน่นอน ไม่ว่าพรรคใดก็สามารถเป็นผู้กำคะแนนเสียงในปีนั้นไปได้ ถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญในการชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่ละครั้ง และผู้ท้าชิงก็จะเตรียมแผนการหาเสียงในรัฐเหล่านี้เป็นพิเศษ เช่น รัฐโอไฮโอ ฟลอริดา และมิชิแกน  

        ถามว่าการชนะ Swing State มีผลขนาดไหน

        ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 ฮิลลารี คลินตัน แพ้คะแนน Electoral Vote ให้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ถึงแม้ว่าจะมีคะแนน Popular Vote มากกว่าถึง 3 ล้านเสียงก็ตาม เพราะว่าเธอดันไปแพ้ใน Swing States ที่สำคัญอย่างมิชิแกน วิสคอนซิน และเพนซิลเวเนีย เพราะฉะนั้น ทั้งสามรัฐนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ไบเดนต้องพลิกคะแนนเสียงกลับมาเป็นของตัวเองให้ได้  

 

๊US election

COVID-19 และการลงคะแนนผ่านไปรษณีย์ ปัจจัยสำคัญที่ทรัมป์ได้เตรียมการไว้แล้ว?

        ในปี 2020 ทรัมป์เป็นหนึ่งในผู้นำที่โดนวิจารณ์มากที่สุดในเรื่องการจัดการปัญหาการระบาดของไวรัสใน COVID-19 อเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการออกมาบอกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ นั้นกำลังจะน้อยลงเรื่อยๆ แต่ตัวเลขกลับสวนทางกับสิ่งที่ทรัมป์พูด โดยขณะนี้สหรัฐฯ มีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไวรัส COVID-19 สูงที่สุดในโลก มากกว่า 2 แสนคน

        ทรัมป์ยังเคยออกมาบอกอีกว่า การฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อเข้าไปในใต้ผิวหนังเพื่อฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นอะไรที่ ‘น่าศึกษาเพิ่มเติม’ หลังจากนั้นเขาก็โดนบุคลากรทางการแพทย์ออกมาวิจารณ์อย่างหนักเพราะว่าอาจทำให้ผู้คนเข้าใจผิด ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อเข้าไปในร่างกายจริงๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ รวมถึงโทษประเทศเม็กซิโกว่าเหล่าผู้อพยพเป็นเหตุให้เกิดการระบาดรุนแรงในบริเวณเขตตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งประเด็น COVID-19 นั้นเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้คะแนนความนิยมของทรัมป์ตกลงอย่างเห็นได้ชัด เว้นแต่ว่าทรัมป์จะสามารถผลักดันผลิตวัคซีนออกมาได้ทัน

        ล่าสุด เมื่อตัวทรัมป์เองตรวจพบเชื้อ COVID-19 เขากลับบอกประชาชนชาวอเมริกันว่าอย่าไปกลัวเชื้อไวรัสตัวนี้ และอยากให้ทุกคนได้รับการรักษาในระดับเดียวกับเขา พร้อมทั้งถอดหน้ากากออกมาเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่าเขาไม่ได้มีความเกรงกลัวไวรัส COVID-19 แต่อย่างใด ซึ่งก็ยิ่งทำให้คะแนนนิยมในตัวเขาลดต่ำลงไปอีก

 

๊US election

 

        อีกสิ่งหนึ่งที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ New Normal ในการโหวต เนื่องด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ทำให้มีหลายหน่วยงานที่ออกมาสนับสนุนรณรงค์ให้ประชาชนเลือกตั้งผ่านไปรษณีย์แทนการไปเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ ซึ่งมีการคาดว่าจะมีการโหวตผ่านไปรษณีย์ถึง 60-70 ล้านใบ

        ดูเผินๆ เหมือนจะไม่มีอะไร แต่ทรัมป์ได้ออกมาบอกว่าเขาจะไม่ยอมรับคะแนนจากบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ที่เห็นว่าไม่มีความสุจริต และอาจมีการโกงบัตรเลือกตั้ง ซึ่งตามกฎแล้วสามารถรอนับคะแนนบัตรเลือกตั้งจากทางไปรษณีย์ได้ถึง 7 วันหลังจากวันเลือกตั้งจริง นี่อาจจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการเอาชนะของทรัมป์ เนื่องจากว่าฐานเสียงรีพับลิกันของทรัมป์ส่วนใหญ่เป็นคนชนชั้นกลางถึงสูงที่อาศัยอยู่ในบริเวณชานเมือง และสามารถไปเลือกตั้งที่คูหาเลือกตั้งได้โดยไม่มีความเสี่ยงต่อเชื้อไวรัส COVID-19 มากนัก แต่กลับกัน ฐานเสียงฝั่งเดโมแครตของไบเดนมักจะอาศัยอยู่ในเมืองที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่า การโหวตผ่านไปรษณีย์จึงอาจจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยมากกว่า

    ๊US election

 

        ปัญหามีอยู่ว่า ถ้าในคืนเลือกตั้งได้ผลชุดแรกออกมาทรัมป์เป็นฝ่ายชนะ แต่ว่าผลคะแนนจากบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ยังไม่เข้ามาอีกกว่า 20 ล้านเสียงจาก 30 กว่ารัฐนั้น ทรัมป์อาจจะไม่ยอมรับคะแนนจากบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์หลังจากคืนวันที่ 3 พฤศจิกายน และบอกว่าบัตรเลือกตั้งเหล่านั้นไม่มีความสุจริตก็ได้

        ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ไบเดนย่อมไม่ยอมแน่ๆ เรื่องก็คงต้องไปถึงศาลสหรัฐฯ เป็นตัวตัดสิน ตามหลักทั่วไป ศาลสหรัฐฯ นั้นจะมีผู้พิพากษาที่เป็นอนุรักษนิยม (ฐานเสียงรีพับลิกัน) 5 คน และเสรีนิยม (ฐานเสียงเดโมแครต) 4 คน เพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจ แต่ว่าตอนนี้ทรัมป์แต่งตั้งผู้พิพากษาคนใหม่ เอมี โคนีย์ บาร์เรต ผู้พิพากษาที่เป็นอนุรักษนิยม ซึ่งทรัมป์คงเตรียมการไว้แล้วว่าถ้าเกิดเรื่องผลการเลือกตั้งมาถึงศาลจริงๆ เขาจะได้มีคะแนนเสียงแบบ 6 ต่อ 3 ในแง่ของผู้พิพากษา ซึ่งถ้าต่างฝ่ายต่างพิสูจน์ไม่ได้ว่าบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์นั้นสุจริตจริงไหม ศาลน่าจะมีการตัดสินให้นับแค่ผลเลือกตั้งภายในวันที่ 3 พฤศจิกายนอย่างเดียว

 

๊US election

 

        เมื่อไบเดนเห็นแบบนี้ เขารู้ว่าเสียเปรียบแน่ๆ เขาจึงต้องรีบแก้เกมด้วยการเรียกร้องให้ทุกคนออกมารีบโหวตตั้งแต่ตอนนี้เลย เพื่อที่คะแนนเสียงของทุกคนจะได้ถูกนับให้ได้มากที่สุดภายในคืนวันที่ 3 พฤศจิกายน ถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่ต้องอาศัยการชิงไหวชิงพริบกันจนนาทีสุดท้ายจริงๆ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติในขณะนี้

ผลกระทบต่อไทย และภาพของประชาธิปไตยวาดฝันในประเทศที่พัฒนาแล้ว?

        เป็นประเด็นที่ต้องถูกหยิบยกมาถกเถียงกันเสมอ ไม่ว่าจะเลือกตั้งกันกี่ปี นั่นก็คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ มีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร? 

        ที่จริงแล้วไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบทางการเมืองและทางเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่าอเมริกาเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดของโลก และประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ก็มีอุดมการณ์ที่ชัดเจนแตกต่างกันไปตามพรรคที่ตนเองสังกัด

        พูดง่ายๆ ก็คือว่าถ้า โจ ไบเดน ของพรรคเดโมแครตชนะ อุดมการณ์ของพรรคเดโมแครตก็จะมีความเสรีนิยม มีกฎหมายที่สนับสนุนการทำแท้งถูกฎหมายได้ การจดทะเบียนสมรสของคนเพศเดียวกัน หรือกฎหมายที่สนับสนุนเหล่า LGBTQ ลดภาษีรับคนต่างชาติเข้ามาในประเทศเยอะขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเหล่านักศึกษาที่อยากไปเรียนต่อที่อเมริกา หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความหลากหลายทางสังคมมากขึ้น เพราะว่าอเมริกาจะเป็นแม่แบบทางสังคมให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาเหมือนอย่างประเทศไทยได้

        แต่ถ้าทรัมป์เป็นฝ่ายชนะ โดยอุดมการณ์ของพรรครีพับลิกันที่มีความเป็นชาตินิยมสูง เน้นความสุขสบายของชาวอเมริกันเท่านั้น กีดกันคนต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานภายในประเทศ ลดภาษีบริษัทใหญ่ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจภายในประเทศหมุนเวียนดี ชาวอเมริกันกล้าเป็นเจ้าของธุรกิจเอง รัฐไม่เข้าไปแทรกแซงภาคเอกชนมาก และที่สำคัญเป็นพิเศษก็คือความสัมพันธ์ที่เข้าขั้นย่ำแย่อย่างรุนแรงของ โดนัลด์ ทรัมป์ กับประเทศจีน ที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงกับประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับจีน จนเราอาจต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง จีนหรืออเมริกา

 

๊US election

 

        หลายคนมองว่าสหรัฐอเมริกาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย สัญลักษณ์ของความสวยงาม ทันสมัย และอิสรภาพนั้นอยู่คู่กับอเมริกามาเสมอ แต่ว่าเหรียญย่อมมีสองด้าน

        อเมริกาอาจจะเป็นแม่แบบของประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ แต่อเมริกาก็ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่แก้ไขไม่ได้ เช่น ปัญหาการเหยียดผิว ความขัดแย้งในอุดมการณ์ หรือแม้กระทั่งเรื่องที่ดูเล็กน้อยอย่างการใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสก็ตาม 

        ทุกประเทศมีปัญหาของตัวเองที่ต้องแก้ไปทีละส่วน เราไม่สามารถหยิบยกความดีความชอบของประเทศหนึ่งแล้วนำมาใช้กับประเทศตัวเองโดยไม่คำนึงถึงบริบทแวดล้อม

        ประชาธิปไตยแบบอเมริกาอาจจะไม่ใช่คำตอบให้กับประเทศไทยในตอนนี้โดยสมบูรณ์ แต่เราอาจเรียนรู้จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบนี้เพื่อนำมาใช้เป็นบทเรียนกับการจัดการวิกฤตในประเทศที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ได้

        นั่นต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ

 


ที่มา : 
https://prachatai.com/journal/2004/11/1015
www.bbc.com/thai/international-54117622
https://wapo.st/2G05ium
www.bbc.com/news/election-us-2020-54096399
https://bit.ly/2G2dYAB
www.ushistory.org/gov/7d.asp
https://spoti.fi/31KYSXD