ศิลปะสิงคโปร์

สตรีทอาร์ต กราฟฟิตี้ แกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ หายใจเข้าออกเป็น ‘ศิลปะ’ ที่สิงคโปร์

ตึกสูงระฟ้า บ้านเมืองสะอาดสะอ้านแต่ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ คือภาพของสิงคโปร์ที่เราเห็นผ่านสื่อและการไปเยี่ยมเยือนประเทศนี้หลายต่อหลายครั้ง จนบางทีก็นึกแปลกใจว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้สิงคโปร์ยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้ เพราะเศรษฐกิจที่แข็งแรงเท่านั้นหรือที่ทำให้ประเทศนี้เติบโตอย่างมั่นคง หรือเพราะองค์ประกอบอะไรที่รวมกันจนเกิดเป็นความแข็งแกร่ง

การเดินทางไปสิงคโปร์ครั้งล่าสุดทำให้เราพบคำตอบที่ต่างออกไป เพราะจากวิกตอเรียสตรีท สู่ตรอกฮิปสเตอร์ในย่าน Kampong Glam จนไปถึงเขตพื้นที่สุดโลคอลอย่างลิตเติลอินเดียและไชนาทาวน์ เราสังเกตได้ว่า ‘ศิลปะ’ คือสิ่งที่สอดแทรกอยู่ในทุกส่วนประกอบของชีวิตชาวสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดสตรีทอาร์ต กราฟฟิตี้ เทศกาลดนตรี งานอีเวนต์ทางศิลปะ รวมไปถึงแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์มากมายที่เปิดให้เข้าชมฟรีตลอดทั้งปี

     หากเศรษฐกิจต้องการเชื้อเพลิงที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศ ศิลปะก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการสร้างรากฐานทางสังคมและหลอมรวมจิตใจของประชาชน เพราะเมื่อย้อนไปดูประวัติศาสตร์แล้ว หลังจากสิงคโปร์ประกาศเป็นเอกราชตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1965 ประเทศเล็กๆ ปลายแหลมมลายูแห่งนี้ก็ริเริ่มโครงการพัฒนาให้ทันสมัยโลกตะวันตกอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น การสถาปนาอุตสาหกรรมการผลิต พัฒนาที่ดิน และลงทุนด้านการศึกษาอย่างเข้มข้น ทำให้เศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี และกลายเป็นชาติที่รุ่งเรืองที่สุดในเอเชีย

     แต่หากมองลึกลงไป ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากการพัฒนาทางจิตวิญญาณและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในประเทศ ผ่านการส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีร่วมสมัย ทั้งจากจีน มลายู อินเดีย จนสามารถสร้าง ‘ความเป็นสิงคโปร์’ ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ตัวเลขเชิงเศรษฐกิจหลักหลายล้าน แต่เป็นความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมที่ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนของเรื่องราวอันมีคุณค่าทั้งในอดีต ปัจจุบัน และยังเติมเต็มจิตใจของประชาชนและผู้มาเยือนได้เสมอมา

 

ศิลปะสิงคโปร์

 

1960s-1980s : Arts for the Community and Nation

     หลังประกาศอิสรภาพอย่างเป็นทางการ ประเทศสิงคโปร์ต้องเจอกับการก่อจลาจลและความขัดแย้งที่เกิดจากความแตกต่างของคนต่างชาติพันธุ์และศาสนาที่เข้ามาอาศัยในประเทศ ทั้งจีน มาเลย์ และอินเดีย รัฐบาลจึงริเริ่มสร้างความปรองดองโดยการปล่อยแคมเปญรณรงค์ด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างคนต่างเชื้อชาติ โดยมีกลุ่มตัวแทนประชาชนจัดกิจกรรมโชว์เคสด้านศิลปะและวัฒนธรรมมากมาย รวมทั้งมีการโปรโมตเพลงจากนักแต่งเพลงชาวสิงคโปร์เพื่อตอกย้ำ ‘คุณค่าของความเป็นสิงคโปร์’ (Singaporean Values) และส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ของชาติ

     ต่อมาจึงมีการก่อตั้ง National Theatre Company ซึ่งประกอบด้วย Singapore National Orchestra, Chinese Orchestra, Choir และ Dance Company เมื่อเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วในปี ค.ศ. 1970-1980 ภาครัฐก็หันมาสนับสนุนชุมชนศิลปะและงานจิตรกรรมดั้งเดิมของประเทศมากขึ้น ด้วยการเปิดตัวงานเทศกาลศิลปะแห่งชาติสิงคโปร์ (The Singapore Festival of Arts) สิงคโปร์ซิมโฟนีออร์เคสตรา (Singapore Symphony Orchestra) และ Cultural Medallion สถาบันเพื่อส่งเสริมและผลักดันศิลปินชาวสิงคโปร์

 

ศิลปะสิงคโปร์

ศิลปะสิงคโปร์

 

1990s-2007 : Investing in Cultural Infrastructure, Institutions and Industry

     สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี ค.ศ. 1985-1986 ทำให้ทางการสิงคโปร์มองหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาศักยภาพด้านอื่นๆ ของประเทศ โดยมีการก่อตั้ง Advisory Council on Culture and the Arts (ACCA) เพื่อศึกษาบทบาทของศิลปะในฐานะเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาชาติ และในปี ค.ศ. 1989 องค์กรดังกล่าวก็เปิดเผยรายงานชิ้นสำคัญออกมาว่า ศิลปะและวัฒนธรรมคือกุญแจในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างสังคมที่ดีงาม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งยังแนะนำให้ภาครัฐเพิ่มงบประมาณและเงินสนับสนุนอาร์ตสเปซต่างๆ เช่น หอศิลป์และสถานที่จัดแสดงโชว์ด้านวัฒนธรรม หลังจากนั้นสิงคโปร์จึงเปิดตัวเทศกาลใหม่ๆ มากมาย ทั้งเทศกาลนักเขียนสิงคโปร์ เทศกาลศิลปะนานาชาติ รวมทั้งมีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรศิลปะสำหรับเด็กๆ เพื่อบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ให้กับเยาวชน ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทีละเล็กทีละน้อย แต่ก็นำพามาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา

 

ศิลปะสิงคโปร์

 

2008-2018 : Global City for the Arts

     ปัจจุบัน สิงคโปร์ก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก โดยไม่ลืมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการส่งเสริมศิลปะในทุกแขนง อย่างล่าสุดในปี ค.ศ. 2017 รัฐบาลสิงคโปร์ได้เพิ่มงบประมาณในการสนับสนุนศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศ จาก 720 ล้านเหรียญฯ เป็น 840 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้องค์กรด้านศิลปะสามารถจัดงานอีเวนต์และการแสดงต่างๆ โดยไม่ต้องเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชน ทำให้เกิดการเข้าถึงศิลปะที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังวางกลยุทธ์เพื่อก้าวมาเป็นศูนย์กลางด้านศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

     เพื่อที่จะสร้างชุมชนศิลปะที่แข็งแรงยิ่งขึ้นในอนาคต ทางการสิงคโปร์ไม่หยุดคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อขยายจำนวนกลุ่มผู้ชมงานศิลปะ โดยเฉพาะผู้คนที่มาจากต่างประเทศ ไม่นานมานี้เราจึงได้ชมผลงานจากศิลปินระดับโลกของ ‘คุณป้าลายจุด’ หรือ ยาโยอิ คุซามะ จัดแสดงขึ้นใน National Gallery Singapore และยังมีการเชิญชวนสตรีทอาร์ทิสต์จากหลายมุมโลกเข้ามาแต่งแต้มสีสันให้กับกำแพงตามตรอกซอกซอยและย่านชุมชนเก่าให้กลับมามีชีวิตชีวากว่าที่เคย

 

หมุดหมายสำคัญของศิลปะในสิงคโปร์

     ค.ศ. 1938 Nanyang Academy of Fine Arts

     ค.ศ. 1977 Singapore Festival of Arts (Biennial)

     ค.ศ. 1979 Cultural Medallion

     ค.ศ. 1984 LASALLE College of the Arts

     ค.ศ. 1991 Singapore Writer Festival

     ค.ศ. 1999 Singapore Arts Festival (Annual)

     ค.ศ. 2004 The Arts House

     ค.ศ. 2006 Singapore Biennale

     ค.ศ. 2008 School of the Arts

     ค.ศ. 2015 National Gallery Singapore

 

ศิลปะสิงคโปร์

 

5 สถานที่เพื่อการเสพงานศิลปะของสิงคโปร์

1. National Gallery Singapore

     หอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ เป็นสถาบันทัศนศิลป์ใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดเมื่อปลายปี 2015 ตั้งอยู่ในใจกลางย่านซีวิก ดิสทริกต์ จัดแสดงคอลเล็กชันผลงานศิลปะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และศิลปะสิงคโปร์สมัยใหม่ที่มีเอกลักษณ์ มรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน มากกว่า 8,000 ชิ้น ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสกับผลงานภาพเขียนและงานศิลปะที่สำคัญโดยศิลปินผู้มีชื่อเสียงชาวสิงคโปร์ เช่น Georgette Chen, Chen Chong Swee, Chen Wen Hsi, Cheong Soo Pieng และ Liu Kang รวมถึงศิลปินชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับว่าเป็นสถานที่จัดแสดงงานทัศนศิลป์ที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์และเป็นหอศิลป์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคด้วยเนื้อที่กว่า 64,000 ตารางเมตร

ศิลปะสิงคโปร์

 

2. Lasalle College of Art

     วิทยาลัยแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1984 เป็นสถาบันการศึกษาของภาคเอกชนที่ไม่หวังผลกำไรเนื่องจากได้รับเงินช่วยเหลือจากกระทรวงการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความพร้อมสำหรับการทำงาน และมีโอกาสเป็นผู้ทรงอิทธิพลหรือผู้นำทางวัฒนธรรมในอนาคต รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาด้านศิลปะและการออกแบบในประเทศสิงคโปร์โดยมุ่งเน้นไปยังการปฏิบัติจริงและการวิจัย ด้วยรูปทรงอาคารที่แปลกตา ทำให้ Lasalle College of Art ไม่ได้เป็นแค่เพียงสถาบันการศึกษาด้านศิลปะชั้นนำของสิงคโปร์เท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่คุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรมที่ได้รับรางวัลด้านการออกแบบจากเวทีระดับโลกมากมาย

ศิลปะสิงคโปร์

 

3. Art & Science Museum

     อีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญที่ถ้าใครมาสิงคโปร์ก็คงต้องแวะถ่ายรูปและตีตั๋วเข้าไปชมนิทรรศการ เพราะพิพิธภัณฑ์รูปดอกบัวที่ตั้งอยู่หน้า Marina Bay Sands แห่งนี้เน้นการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการจัดแสดงผลงานนิทรรศการที่มีชื่อเสียงระดับระดับโลก เช่น American Museum of Natural History และ The Smithsonian Institute โดยมีโซนจัดแสดงกึ่งถาวร ซึ่งปัจจุบันเป็นผลงานชื่อ FUTURE WORLD : Where Art Meets Science ของกลุ่มศิลปินญี่ปุ่น Teamlab ผู้นำศิลปะไปผสมผสานกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ จนเกิดเป็น Interactive Art ในสไตล์โลกดิจิตอล

ศิลปะสิงคโปร์

 

4. Sultan Arts Village

     พื้นที่สำหรับผู้ชื่นชอบสตรีทอาร์ต ซ่อนตัวอยู่ในย่านสุดฮิปอย่าง Kampong Glam เมื่อเข้ามาจะพบกับกำแพงหลากสีที่เหล่าศิลปินชาวสตรีทมักแวะเวียนมาสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ๆ และยังเป็นที่ตั้งของกลุ่มกราฟฟิตี้ The Black Book หนึ่งในกลุ่มกราฟฟิตี้กลุ่มแรกๆ ของสิงคโปร์ที่เปิดร้าน ZincNITECrew ขายสีสเปรย์และอุปกรณ์พ่นกำแพง ที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่คอมมูนิตี้ของเหล่าอาร์ทิสต์เท่านั้น แต่ยังเป็นบ้านที่ศิลปินส่วนหนึ่งมาอาศัยอยู่จริงๆ โดยส่วนใหญ่จะมีร้านสักและทำกราฟิกดีไซน์ควบคู่ไปกับการทำงานสตรีทอาร์ต

ศิลปะสิงคโปร์

 

5. Haji Lane

     ตรอกฮาจิ หรือตรอกฮัจญี เป็นถนนช้อปปิ้งสายเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยสินค้าแฟชั่นจากร้านค้าและดีไซเนอร์อิสระวัยรุ่นและหนุ่มสาวสิงคโปร์ โดดเด่นด้วยบ้านเรือนแบบตึกแถวสไตล์โคโลเนียลสองชั้น ที่ตกแต่งและทาสีได้สดใส ที่สำคัญ ยังเป็นแหล่งรวมงานกราฟฟิตี้ที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่นงานของ Ceno2 บนผนังด้านนอกของร้านอาหาร The Singapura Club ซึ่งแสดงภาพของกรรมกรใส่ผ้าโพกศีรษะ หญิงอพยพชาวจีน และชายชาวมาเลย์ สื่อถึงประวัติความเป็นมาของถนน Arab Street และงานที่ผนังด้านนอกของร้านอาหารเม็กซิกัน Piedra Negra ซึ่งเป็นผลงานภาพวาดสีสันสดใสสไตล์ฮิปปี้และชนเผ่า โดย Jaba ศิลปินชาวโคลอมเบีย

ศิลปะสิงคโปร์

 

“เราตระหนักถึงบทบาทสำคัญของศิลปะ ที่สามารถเปิดมุมมองใหม่ๆ และมอบคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้ชีวิต ในระดับชุมชน ศิลปะสามารถนำพาผู้คนจากหลากหลายภูมิหลังให้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์และสร้างรากฐานทางสังคมที่แข็งแรง ในระดับประเทศ ศิลปะจะช่วยเสริมสร้างอัตลักษณ์ ความมั่นใจ และเน้นย้ำประวัติศาสตร์ของชาติ เราจึงทำงานกันอย่างหนักเพื่อสร้างความเป็นเลิศในวงการศิลปะสิงคโปร์ เพิ่มกลุ่มผู้ชม และทำให้แน่ใจว่าชาวสิงคโปร์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามสามารถเข้าถึงศิลปะได้อย่างเท่าเทียม”

– Grace Fu รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ชุมชน และเยาวชนสิงคโปร์