สงครามโลก

เหตุใดเราจึงต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจประวัติศาสตร์สงครามโลกกันอย่างจริงจัง

ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา บนโลกสีน้ำเงินที่แซมไว้ด้วยสีเขียวของผืนป่า สีขาวของผืนหิมะ และสีน้ำเงินของท้องทะเล เป็นเพียงเวลาไม่กี่ช่วงอายุคนเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้โลกนั้นเปื้อนไปด้วยสีดำเทาของคราบเขม่นดินปืน ฉาบไปด้วยสีแดงสดจากเลือดของผู้คน เป็นยุคที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางความคิด จนเกิดสงครามที่ทำลายล้างมนุษย์ด้วยกันเองอย่างเหี้ยมโหด แต่หลังจากสงครามสงบลง ทุกอย่างกลับเงียบหาย ราวกับถูกใครหลายๆ คนปกปิด บิดเบือนประวัติศาสตร์ ให้คนรุ่นต่อๆ มารับรู้ความจริงแค่เพียงบางส่วน

สงครามโลก

 

     เมื่อเป็นเช่นนั้น อาจไม่ได้สร้างบทเรียนราคาแพงให้กับใครได้เลย และนั่นอาจทำไปสู่การเกิดเหตุการณ์แบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้โดยไม่รู้ตัวดังที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ อาทิ สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 ในช่วงปี ค.ศ. 1937 กับเหตุการณ์สุดสะเทือนโลก ‘การสังหารหมู่นานกิง’ หลังจากกองทัพญี่ปุ่นได้ยึดเมืองนานกิงของจีนสำเร็จ ก็เริ่มสังหารชาวจีนด้วยวิธีการต่างๆ นานา ชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์ด้วยกันจะกล้าลงมือ รวมทั้งการข่มขืนหญิงชาวจีนอย่างโหดเหี้ยมทารุณ ซึ่งกินเวลานานกว่า 6 สัปดาห์

     ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย กับเหตุการณ์ที่รัฐและประชาชนบางส่วนล้อมปราบนักศึกษาอย่างรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จนมีนักศึกษาเสียชีวิตมากมายภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากสิ้นเสียงปีน เรื่องราวทั้งหมดก็จบสิ้น และค่อยๆ จางหายไปจากการรับรู้ แต่เท่าที่ผ่านมาเหตุการณ์นองเลือดในลักษณะคล้ายๆ กันก็ยังคงเกิดขึ้นอีกหลายครั้งเหมือนเดิม

 

สงครามโลก

 

     ในขณะที่ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากสงครามจบลง เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมนีหลายอย่างยังคงถูกปิดเป็นความลับ แต่แล้ววันหนึ่งทุกอย่างก็กระจ่าง สถานที่ทุกแห่งถูกเปิดเผย มีการออกประกาศความผิดพลาดให้ชาวเยอรมันและคนทั้งโลกได้รับรู้ พร้อมกับมาตรการแก้ไขในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าหดหู่ขึ้นซ้ำ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้ใครหลายคนออกเดินทาง เพื่อไปค้นหาประวัติศาสตร์ พร้อมบอกกล่าวด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ผู้คนไม่ลืมจนเผลอทำซ้ำขึ้นมาอีก

     หนึ่งในวิธีการบอกเล่าที่ดีก็คือการเขียน อย่างที่ พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช ข้าราชการและนักเดินทาง ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศแคนาดา ได้เขียนหนังสือเรื่อง ยุโรปมืด ให้กับสำนักพิมพ์ a book เพื่อบันทึกเรื่องราวและแสดงความคิดเห็นพร้อมชวนตั้งคำถามว่า ‘เหตุใดเราจึงต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจประวัติศาสตร์สงครามโลก’ กันอย่างจริงจัง

 

สงครามโลก

 

     “ย้อนกลับไปในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ราวศตวรรษที่ 19 เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี วัตถุ หรือเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่ผู้คน สังคมและการเมืองไม่ได้เปลี่ยนได้เร็วตาม จากการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในช่วง 100 ปีนั้น ทำให้เกิดการขัดแย้งในหลายๆ เรื่อง และตัวสงครามเองก็ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่มันค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ ก่อนจะปะทุขึ้น ในขณะที่ผู้ที่ไม่รู้เรื่องหลายล้านคนไม่ทันได้ตั้งตัว

     “เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วเกินจิตสำนึกของคน เห็นได้จากสงครามโลกครั้งที่ 1 กับการใช้อาวุธเคมีที่โหดร้ายที่สุดอย่าง แก๊สมัสตาร์ด ที่ฆ่าคนได้เป็นล้านๆ คน ต่อมาก็เป็นก๊าซไซยาไนด์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่คือส่วนหนึ่งของความเป็นจริง แต่ความจริงอื่นๆ ที่ต้องกลับไปเผชิญนั้นไม่ได้อยู่ที่ความโหดร้ายของนาซี แต่ต้องไปเผชิญกับคำตอบที่ว่า เยอรมนีซึ่งเป็นชาติที่เจริญก้าวหน้ามากแทบทุกด้าน ทำไมประเทศนี้ถึงค่อยๆ ก้าวเข้าสู่สงครามโลก เพื่อตามไปจนถึงต้นเหตุที่แท้จริงของสงครามโลกครั้งนี้”

 

สงครามโลก

 

     “ตอนที่เยอรมนีพ่ายแพ้ ได้มีการตั้งศาลพิเศษขึ้น เรียกว่า Nuremberg Trials ที่เมืองนูเรมเบิร์ก ด้วยการนำผู้ก่ออาชญากรรมที่ยังหลงเหลืออยู่มาขึ้นศาลตัดสินเป็นคดีความและถ่ายทอดสดออกไป ปรากฏว่าชาวเยอรมันและคนทั่วโลกได้รับรู้ความจริงพร้อมกัน และเริ่มสำนึกผิด ทั้งยังเชิดชูกลุ่มต่อต้านนาซีมากมาย อาทิ กลุ่มใบกุหลาบขาว นำโดย โซฟี โชลล์ นักศึกษาชาวเยอรมันผู้ต่อต้านนาซีโดยไม่ใช้ความรุนแรง ก่อนจะถูกประหารด้วยเครื่องกิโยตีน หรือเมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีการเดินประท้วงที่กรุงเบอร์ลิน เพื่อต่อต้านกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Neo-Nazism เป็นกลุ่มที่ต่อต้านผู้อพยพจากตะวันออกกลาง อิสลาม และกลุ่ม LGBT นั่นชี้ให้เห็นว่าชาวเยอรมันส่วนใหญ่ต่างปฏิเสธลัทธินาซีโดยสิ้นเชิง”

     “จากหนังสือเรื่อง The Sleepwalkers โดย คริสโตเฟอร์ คลาร์ก ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่ ทำให้เรารู้ว่า เมื่อคนรุ่นก่อนก้าวพลาดเดินตกเหว แล้วจะทำอย่างไรให้คนรุ่นเราไม่เผลอเดินตกเหวตาม สำหรับผม สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้งแบบเดิมที่ดึงให้เราต้องตกเหวไปมากกว่า เราอาจจะต้องมีสติมากขึ้น เพื่อรับมือและพร้อมที่จะเรียนรู้เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เดิมเกิดขึ้นอีกในอนาคต

     “แม้แต่ทางยุโรปเองก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น อย่างเร็วๆ นี้กับ Brexit ซึ่งเป็นแนวคิดของคนสหราชอาณาจักรที่ต้องการออกจากสหภาพยุโรป หากเป็นเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ไม่ต้อง Brexit ก็รบกันเลย แต่ตอนนี้มนุษยชาติเลือกแก้ปัญหาด้วยการนั่งประชุม ผมว่าทุกฝ่ายต่างตระหนักถึงเรื่องนี้ และทำทุกทางเพื่อไม่ให้เกิดสงครามระหว่างชาติยุโรปในอนาคต”

 

สงครามโลก

 

     “เด็กๆ ชาวเยอรมันจะได้รับความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์สงครามโลกอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนในชั้นเรียน การทัศนศึกษาตามสถานที่สำคัญๆ การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ในขณะที่คนทั่วไปจะได้รับความรู้เหมือนกับเด็กๆ รวมทั้งผ่าน Selective Memory เช่น บ้านชาวยิวที่ถูกทิ้งร้าง เพราะโดนย้ายให้ไปอยู่ในค่ายกักกัน บริเวณหน้าบ้านของทุกบ้านจะมีแผ่นทองเหลืองสลักชื่อเอาไว้ เวลาเห็นก็จะระลึกได้ว่าเคยมีเรื่องนี้เกิดขึ้น รวมทั้งห้ามการแต่งกายด้วยเครื่องหมายสวัสติกะ การทำท่าบูชานาซี (Nazi Salute) ซึ่งเป็นกฎหมายแรกๆ ที่ห้ามทำหลังจบสงคราม

     “ในช่วงแรกๆ หลายคนคิดว่ายังมีคนนิยมฮิตเลอร์หลงเหลืออยู่ เลยไม่กล้าแสดงออก และหวาดกลัว ทำให้ต้องหาทางปกปิดร่องรอยอยู่บ้าง เช่น การห้ามขายหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับชีวิตฮิตเลอร์ วิดีโอที่ถ่ายไว้เมื่อตอนฮิตเลอร์หาเสียงที่นูเรมเบิร์ก ก่อนหน้านี้ก็ถูกเก็บไว้ ห้ามดู จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ หนังสือประวัติฮิตเลอร์ก็อนุญาตให้ขายได้ วิดีโอหาเสียงก็สามารถดูได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะรัฐบาลเชื่อว่าชาวเยอรมันมีวุฒิภาวะมากพอที่จะรับรู้เรื่องนี้ และคนในยุคนี้ควรรับรู้เรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตได้ อีกทั้งเนื้อหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลต่อบริบทในสังคมปัจจุบันอีกต่อไป”

ประสบการณ์ตรงจากผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2

 

สงครามโลก

 

บริตา อัลต์ (Brita Arlt): แพทย์หญิงชาวเยอรมันผู้เติบโตขึ้นในเยอรมนีตะวันออก

     “ตอนแรกพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายของฉันไม่ค่อยกล้าพูดเรื่องสงครามให้ลูกหลานฟัง เพราะมันเหมือนความเจ็บปวดที่เขาอยากปกปิดและไม่ขอพูดถึงมันอีก ตอนเด็กๆ ฉันเลยเติบโตมาโดยไม่รู้เรื่องสงครามมากนัก แล้วความสัมพันธ์ของพ่อแม่กับลูกในช่วงนั้นก็ค่อนข้างเหินห่าง พวกเขาเข้มงวดกับลูกๆ มาก สิ่งสำคัญคือคุณต้องเงียบ อย่าพูดมาก เพราะเราถูกปกครองโดยโซเวียต ถ้าดันไปพูดอะไรไม่ดี คุณอาจจะมีปัญหาได้

     “ฉันเติบโตมาในฝั่งเยอรมันตะวันออก ซึ่งไม่สามารถเดินทางออกไปเยอรมันตะวันตกหรือประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโซเวียตได้ แต่ตอนเป็นเด็กฉันก็ไม่ได้โหยหาจะไปไหนหรอก เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกๆ คนเกิดมาก็อยู่กันแต่ในนี้ แต่ด้วยความที่บ้านเราอยู่ใกล้กำแพงมาก ทำให้ทีวีบ้านเรารับสัญญาณช่องของตะวันตกได้ เราเห็นว่าเขาเจริญ มีอะไรมากมายกว่าฝั่งเรา เห็นวัยรุ่นใส่กางเกงยีนส์ เสื้อผ้าสวยๆ ซึ่งเราหาซื้อไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่เราก็มีกินเพียงพอ ไม่เคยต้องหิวโหย ไม่มีคนจน แต่ก็ไม่มีคนรวย ต่อให้คุณทำงานเป็นวิศวกรหรือพนักงานทำความสะอาด คุณก็ได้เงินเดือนเกือบเท่ากัน แต่คนก็ยังอยากให้กำแพงถูกทำลาย ไม่ใช่เพราะความยากจน แต่เป็นเพราะเราไม่สามารถพูดสิ่งที่เราคิดได้ มนุษย์เกิดมาต้องได้แสดงความเห็น แต่เราพูดอะไรไม่ได้เลย นั่นเป็นเหตุผลหลักมากกว่าที่ทำให้คนเยอรมันตะวันออกไม่มีความสุข

     “เมื่อเวลาผ่านไป กำแพงถูกทำลายลง คนเยอรมันเริ่มยอมรับและเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองมากขึ้น แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้สงครามเกิดขึ้นอีก การปิดปากเงียบก็ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาอะไร เด็กๆ จึงเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับความโหดร้ายของสงครามมากขึ้น อาจเป็นเพราะคนเยอรมันหลายๆ คนยังคงรู้สึกผิดกับการเหยียดเชื้อชาติ รวมทั้งการคลั่งชาติที่เกิดขึ้นตอนสงครามโลกครั้งสอง เราจึงกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เปิดรับชาวต่างชาติและผู้อพยพมากที่สุดในโลก”

 

สงครามโลก

 

โวโลดีเมียร์ คีรุค (Volodymyr Kyruk): คุณปู่ชาวยูเครน ผู้เกิดในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

     “วันที่เป็นจุดเริ่มของสงครามเป็นวันอาทิตย์ หมู่บ้านเราซึ่งตอนนั้นอยู่ในอาณาเขตของประเทศโปแลนด์กำลังจัดงานแต่งงาน แต่สักพักก็มีเครื่องบินเยอรมันบินอยู่เหนือหมู่บ้าน แล้วก็ทิ้งระเบิดลงมาที่บ้านของผม ทำให้ครอบครัวผมต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น ซึ่งไม่นานเราก็พบบ้านร้างในหมู่บ้านข้างๆ ที่เราพอไปอาศัยอยู่ได้ ผมและพ่อแม่จึงอยู่ที่นั่นจนผมโต

     “ปี 1943 ปู่ของผมถูกเรียกไปเป็นทหารที่เคียฟ แต่กว่าจะเตรียมความพร้อมทหารได้ สงครามก็จบแล้ว เมื่อปู่ผมกลับบ้านมา เขาซูบผอมมาก เพราะที่ฐานทหารแทบไม่ให้อะไรเขากินเลย คิดดูสิ เขาสูง 180 เซนติเมตร แต่ตอนกลับบ้านมาเขาหนักแค่ 41 กิโลกรัมเท่านั้น มันรุนแรงมากจนเขาเกือบเอาชีวิตไม่รอด

     “หลังสงครามจบ ยูเครนก็เป็นส่วนหนึ่งของโซเวียตถึงปี 1991 ผู้คนยากจนมาก พ่อของผมก็ไม่มีงานทำและต้องไปทำงานประเทศอื่น ส่วนผมเองตอนเด็กพ่อไม่มีเงินซื้อรองเท้า ผมต้องเดินเท้าเปล่าไปโรงเรียนในหน้าหนาว และป่วยอยู่โรงพยาบาลนาน 3 ปี แต่สุดท้ายหมอก็รักษาไม่ได้ ทำให้ผมเดินกะเผลกตั้งแต่ตอนนั้น ความเลวร้ายจากสงครามมันส่งผลต่อชีวิตผมไปตลอด

     “ใจหนึ่งก็โกรธและเกลียดสงครามครั้งนั้นมาก ผมกลายเป็นคนพิการตั้งแต่เด็ก พ่อผมกลายเป็นคนไร้บ้านเพราะบ้านโดนระเบิด ปู่ผมเกือบหิวตาย เราใช้ชีวิตแบบยากจนมาก ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากสงครามไหม แต่แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะรับรู้และศึกษาถึงผลเสียของมันอย่างจริงจัง เพื่อวันหนึ่งโลกเราจะได้ไม่ต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก”

 

สงครามโลก

The Sun Still Shines

     อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมของชีวิตหลังรั้วลวดหนามที่จะทำให้เราเห็นคุณค่าของชีวิตที่ได้อยู่ข้างนอก รับรู้ความเศร้าของชั้นหนังสือที่ว่างเปล่าและเปลวไฟที่เผาหนังสือหลายหมื่นเล่มที่เคยเกิดขึ้นในยุคสงครามโลกของยุโรปตะวันออกใน ยุโรปมืด The Sun Still Shines จากสำนักพิมพ์ a book (ราคา 310 บาท) สั่งซื้อได้ทาง https://godaypoets.com

 


ขอบคุณภาพถ่าย: พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช