We Love Hua Lamphong… ผู้คน ความรัก และประวัติศาสตร์อันมีชีวิตที่ชื่อ ‘หัวลำโพง’

ถ้าให้คุณยืนอยู่หน้า ‘สถานีรถไฟหัวลำโพง’ พร้อมหลับตาจินตนาการไปว่า ตลอด 105 ปีที่เปิดทำการมา หัวลำโพงผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้าง…

        ‘โอ้โฮ!’ คุณยังไม่เห็นภาพเหล่านั้นหรอก แต่คงเป็นคำอุทานที่เผลอหลุดขึ้นมาก่อน เพราะที่นี่คือสถานีรถไฟแห่งแรกๆ ของประเทศไทย รวมทั้งยังเป็น ‘ศูนย์กลางการเดินทาง’ ที่กระจายตัวออกไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ทุกทิศทุกทาง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากจะจินตนาการเรื่องราวมากมายเหล่านั้นได้ไม่หมด

        นอกจากจะถูกใช้งานเป็นสถานีรถไฟหลักมายาวนาน หัวลำโพงยังเป็นสถานที่ที่สร้าง ‘วิถีชีวิต’ ให้กับผู้คนมากมาย จนกลายเป็นความผูกพัน ยิ่งมาถึงวันที่มีข่าวว่า ‘จะปิดหัวลำโพง’ ความวิตกกังวล ตลอดจนความสับสน ทำเอาผู้คนต่างไม่สบายใจ กับอนาคตของ ‘สมบัติของชาติ’ แห่งนี้

        a day BULLTIN เดินทางไป ‘ฟังเสียงของผู้คน’ เหล่านั้น บางคนเป็นผู้โดยสาร บางคนเป็นพนักงาน และบางคนใช้หัวลำโพงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำหารายได้มาหลายสิบปี แต่อีกไม่นานนี้ หัวลำโพงกำลังจะเปลี่ยนไป พวกเขาเห็นและรู้สึกเช่นไร เดินตามเราเข้าไปยังพื้นที่แห่งนี้กันเลย…

พรชัย พูลเกิด
ผู้โดยสาร

ใจหาย แต่เข้าใจว่าต้องเปลี่ยนแปลง

        “รู้สึกเสียดายนะ แต่ได้ข่าวว่าเขาจะไม่ได้ยุบทั้งหมด จะเหลือเพียงบางขบวน ไม่อยากให้เขารื้อทิ้งไป อยากให้เขาเก็บไว้ เพราะว่าเราใช้มานาน”

        พรชัย พูลเกิด มัคคุเทศน์ วัย 64 ปี เป็นคนหนึ่งที่ใช้บริการที่สถานีรถไฟหัวลำโพงแห่งนี้มากว่า 15 ปี บ้านเกิดของเขาอยู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงทำให้ต้องไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพ-สุราษฎร์ฯ อยู่เป็นประจำ ที่ผ่านมา พรชัยมักจะโดยสารรถไฟตู้นอนมาจากสุราษฎร์ฯ พอมาถึงที่หัวลำโพงก็เป็นเวลาเช้าตรู่พอดี 

        “พอมาถึงหัวลำโพงก็ลงสถานีรถไฟใต้ดินต่อ ที่พักเราอยู่แถววงเวียนใหญ่ จากนั้นก็นั่งรถไฟใต้ดินไปลงที่สถานีอิสรภาพ แล้วก็ลากกระเป๋าเข้าบ้านได้เลย”

        แม้จะมีข่าวหัวลำโพงปิดให้บริการ แต่โดยส่วนตัวของพรชัย เขาไม่ได้ติดขัดหากสถานีรถไฟแห่งนี้จะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะเข้าใจในการพัฒนาความเจริญของประเทศ แต่ถ้าเป็นไปได้ ไม่อยากให้รื้อทิ้งไปทั้งหมด ควรจะเก็บเอาไว้บางส่วนเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้ศึกษาต่อไป

        “เราเติบโตกับหัวลำโพงมานานมา ใช้บริการมาทั้งรถธรรมดา รถนอน รถเร็ว รถด่วน ไม่อยากให้เขาทิ้ง ต่อให้จะทำอะไรก็แล้วแต่ แต่เก็บรูปลักษณ์เอาไว้เถอะ เพื่อให้คนรุ่นหลานได้เรียนรู้ถึงสถาปัตยกรรม โครงสร้างทางประวัติศาสตร์ต่อไป”

วิโรจน์ แสงอุทัย
พนักงานขบวนรถไฟ

20 ปี หลับตาเดินยังรู้หมด

       “ผมทำงานที่นี่มา 20 ปีแล้ว ภูมิใจกับการทำงานที่นี่มาก เราได้อาศัยกิน ได้ใช้ เอาเงินมาเลี้ยงลูก เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่”

        วิโรจน์ แสงอุทัย พนักงานขบวนรถไฟที่ถือเป็นหนึ่งในคนเก่าคนแก่ของสถานีรถไฟหัวลำโพงแห่งนี้ กว่า 20 ปีกับการทำงานอยู่ที่นี่ เขาบอกว่าเป็นเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างให้กับตัวเอง แต่หากว่าสถานีแห่งนี้ปิดการให้บริการ หรือแม้แต่ตัวเขาจำต้องย้ายไปอยู่สถานีรถไฟแห่งอื่น เขาก็ยินดีรับคำสั่งไม่มีปัญหาใดๆ

        “ถ้าย้ายไปสถานีบางซื่อ ผมก็ต้องย้ายตามไป เราเป็นคนอยู่ที่ไหนได้หมด แต่โดยส่วนตัวก็คงคิดถึงที่นี่ เพราะอย่างที่บอก อยู่มา 20 กว่าปีแล้ว หลับตาเดินยังได้เลย (หัวเราะ) เสน่ห์ของหัวลำโพงคือความคลาสสิก เมื่อก่อนมีตู้เสบียง คลาสสิกมาก เพิ่งเลิกไปตอนโควิด-19 ระบาดนี่เอง เวลาฝรั่งมาเที่ยว เขาขอบมานั่งรถไฟเก่า มันมีเสน่ห์ดี”

        ในความเห็นของวิโรจน์ เขาอยากให้คงสถานีหัวลำโพงเอาไว้ และทำให้คล้ายกับสนามบิน ที่มีทั้งท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และใช้งานควบคู่กันไป 

        “ที่สถานีบางซื่ออาจจะใช้เป็นพวกรถไฟความเร็วสูง ส่วนที่นี่ก็อาจใช้เป็นสถานีรถไฟเชิงอนุรักษ์ เหมือนที่ญี่ปุ่น เขาก็พยายามอนุรักษ์สถานีรถไฟเก่าๆ เอาไว้ ใช้เป็นสถานีรถไฟนำเที่ยวก็ได้”

        ในฐานะพนักงานที่อยู่มายาวนาน วิโรจน์สะท้อนคุณค่าของ ‘รถไฟ’ ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาตลอดให้ฟังอีกว่า “รัชกาลที่ 5 ท่านสร้างรถไฟมาเพื่อให้ทุกคนได้ใช้ ใครมีเงินน้อยก็นั่งรถชั้น 3 ใครมีเงินมากก็นั่งชั้น 2 ชั้น 1 แต่ทั้งหมดคือเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอย่างแท้จริง”

ปราณี เกาะมั่น
พนักงานขบวนรถไฟ

ขอให้มีทางเลือก และให้นึกถึงผู้โดยสารเป็นที่ตั้ง

        “ส่วนใหญ่ผู้โดยสารจะติดภาพเก่าๆ เขาสะดวกมาลงตรงไหน เขาก็มักจะมาตรงนั้น”

        ปราณี เกาะมั่น อีกหนึ่งพนักงานขบวนรถไฟ เธอทำงานอยูที่สถานีรถไฟหัวลำโพงมากว่า 19 ปี ได้เห็นวิถีชีวิตของผู้โดยสารมาตลอด สิ่งหนึ่งที่เธอสัมผัสได้อยู่เสมอ คือความเคยชินของผู้โดยสารที่มักจะมาเริ่มต้นการเดินทางที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เธอบอกว่าน่าเป็นห่วงผู้โดยสารรุ่นเก่าๆ อยู่เหมือนกัน

        “เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับคนรุ่นเก่าๆ ที่คุ้นเคยกับหัวลำโพง ถ้าอะไรเปลี่ยนไป เขาอาจจะไม่กล้าไปใช้ของใหม่ก็ได้ เหมือนอย่างเราเมื่อก่อน นั่งรถเมล์มาทำงาน ไม่กล้านั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน เพราะใช้ไม่เป็น แต่พอปรับตัวได้ ทุกวันนี้ทำให้เรามีทางเลือกมากขึ้น”

        ปราณีมองว่า หนทางที่ลงตัวที่สุด ควรเปิดให้มีทางเลือกในการใช้งานที่หลากหลาย เพราะสุดท้ายคนที่ต้องใส่ใจให้มากที่สุด คือเหล่าผู้โดยสารที่มาใช้บริการนี่เอง

        “ตัวเราจะย้ายไปอยู่ไหนไม่ใช่ปัญหาหรอก แต่เราใส่ใจผู้โดยสารมากกว่า ผู้โดยสารสะดวกตรงไหน เราก็ไปตรงนั้น ถ้าถามเรา ควรทำให้เป็นทางเลือก มีทั้งแบบเก่า และแบบใหม่ ถนัดแบบไหนก็ไปแบบนั้น ถ้าผู้โดยสารสารเลือกทางเดิม ก็จัดให้เขาไป อย่าปิดหมด เท่านั้นเอง”

ปริยดา หมวดทอง
พนักงานทำความสะอาดบนขบวนรถไฟ

ผูกพันมานาน คงต้องปรับตัวอย่างหนัก

        “ตอนนี้แก่แล้ว ก็ไม่รู้จะไปไหนดี ข่าวที่ออกมา พี่ทำใจไม่ได้เลย เราผูกพันอยู่กับหัวลำโพงมาประมาณ 20 กว่าปีแล้ว”

        ปริยดา หมวดทอง พนักงานทำความสะอาดบนขบวนรถไฟ เธอเป็นผู้หนึ่งที่ผูกพันกับสถานีรถไฟหัวลำโพงมากว่าครึ่งชีวิต เมื่อก่อนเคยทำงานประจำตู้เสบียงของรถไฟสายเชียงใหม่-กรุงเทพ มาราวๆ 20 ปี แต่หลังจากที่รถตู้เสบียงถูกเลิกใช้งานไป เธอจึงถูกย้ายมาเป็นพนักงานแม่บ้าน คอยทำความสะสอาดบนขบวนรถไฟเป็นหลัก

        “เมื่อก่อนอยู่ตู้เสบียง แต่ทุกวันนี้มาทำความสะอาดบนรถไฟแทน พี่จะเริ่มต้นงานที่หัวลำโพง และเดินทางยาวไปถึงชุมพร จากนั้นก็จะเดินทางกลับมายังหัวลำโพงของอีกวันหนึ่ง”

        ปริยดาบอกว่า ข่าวการหยุดให้บริการที่สถานีหัวลำโพง ทำให้เธอรู้สึกทุกข์ใจอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่การย้ายไปยังสถานที่ทำงานแห่งใหม่ แต่เธอต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ส่วนตัวอีกด้วย

        “เราอยู่กับตู้เสบียงมาตั้ง 20 ปี พอยุบ ก็ไม่รู้จะทำอะไร เราแก่แล้วก็เลยมาอยู่ฝ่ายแม่บ้าน พอมาเป็นแม่บ้านก็จะยุบไปอยู่สถานีบางซื่ออีก ลำบากพี่เหมือนกันนะ เพราะพี่ก็ต้องตามรถไฟไปบางซื่อ ต้องไปหาพี่พักใหม่แถวนั้นอีก” 

นิรันดร์ และ นูรมา จูรีย์
ผู้โดยสารคู่สามีภรรยา

อยากให้ชั่งใจ นึกถึงประชาชนเอาไว้

        “ไม่เห็นด้วยที่จะปิด เพราะที่นี่เป็นจุดที่เชื่อมต่อกับรถไฟใต้ดิน แล้วสะดวกกว่า”

        นิรันดร์ นูรมา และ จูรีย์ นูรมา คู่สามีภรรยาสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อข่าวคราวของสถานีรถไฟหัวลำโพงออกมา วันนี้ทั้งสองมารอรับลูกชายที่เดินทางมาจากจังหวัดปัตตานี ซึ่งกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งคูได้ใช้บริการสถานีแห่งนี้ เดินทางไปกลับบ้านที่จังหวัดปัตตานีอยู่เป็นประจำ พอมีข่าวออกมาเช่นนี้ ทั้งนิรันดร์และจูรีย์ต่างรู้สึกผิดหวังอย่างมาก

        “ผมไม่เห็นด้วยที่จะปิด ถ้าลดขบวนรถไฟลงบ้าง แบบนี้ผมพอรับได้ แต่อย่าปิดเลย เราผูกพันที่นี่มานาน เมื่อก่อนกว่าจะกลับใต้ได้สักที เดินทางลำบากมาก แต่ทุกวันนี้สะดวกขึ้นมาก มีรถไฟฟ้าใต้ดินมาเชื่อมต่อ แต่พอความสะดวกมาถึงที่แล้วจะรื้อทิ้งอีก จะทำแบบนั้นไปทำไม”

        นิรันดร์และจูรีย์ ทิ้งท้ายด้วยการฝากไปถึงผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจว่า “อยากให้ชั่งใจสักนิดนึง ฟังเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบด้วย”

จำลอง สุทธิชัย
มอเตอร์ไซค์รับจ้าง

จะไปหาที่ไหน สถานีใหญ่ใจกลางเมือง

        “หัวลำโพงเป็นแหล่งชุมชน แล้วก็อยู่ตรงกลางเมือง การเดินทางไปไหนก็สะดวก ถ้าจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ผมก็อยากให้มี แต่ต้องจัดระเบียบดีๆ ด้วย”

        จำลอง สุทธิชัย ชายผู้มีอาชีพขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างบริเวณหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง แต่เมื่อก่อนเขาเคยขับรถกระบะรับจ้าง พอโควิด-19 ระบาด รายได้ลดลง จึงต้องผันมาขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่ที่หัวลำโพงแห่งนี้ จำลองเล่าอีกว่า เขาอยู่ย่านนี้มานานแล้ว เพราะพ่อแม่ทำงานที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ส่วนตัวเขาเชื่อว่าสถานีแห่งนี้ไม่น่าจะปิดตัวลงตามข่าว แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยบ้าง

        “ผมว่าสถานีหัวลำโพงไม่ปิดหรอก เพราะตรงนี้เป็นสถานีใหญ่ แต่เป็นธรรมดาที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ผมก็อยากให้เปลี่ยน”

        แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร จำลองบอกว่า ขอให้นึกถึงประชาชนส่วนใหญ่เข้าไว้ เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ต้องเสียไป คือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

        “ถ้าเปลี่ยนไปใช้สถานีบางซื่อทั้งหมด ประชาชนอาจจะหนักหน่อย เพราะเขาต้องต่อรถหลายต่อ ยิ่งถ้าเป็นคนทำงานละแวกนี้ ต้องต่อรถไฟฟ้าใต้ดินเข้ามา ราคาแพงกว่ารถไฟธรรมดาอยู่แล้ว”

สมาน พิมพลา
รถสามล้อรับจ้าง

รายได้ลด ผู้โดยสารลำบาก

        “ไม่อยากให้ปิด เพราะเดี๋ยวผู้โดยสารจะไปมาลำบาก เราก็ลำบากเพราะผู้โดยสารน้อยลง แต่ถ้าต้องมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เราคงอาศัยผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือพวกเด็กนักเรียน ตามโรงเรียนใกล้ๆ แถวนี้ เที่ยวละ 20-30 บาท”

        สมาน พิมพลา ลุงวัย 70 ยึดอาชีพขับรถสามล้อรับจ้างมานานกว่า 30 ปี โดยใช้พื้นที่ทำมาหากินบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นหลัก ซึ่งหากจะมีการย้ายสถานีรถไฟหลักแห่งนี้ไป ลุงสมานบอกว่า เขาเองก็คงเหนื่อยกับการหารายได้ยิ่งขึ้น

        “เมื่อก่อนรายได้ดี ขี่ได้วันละเป็นพัน แต่เดี๋ยวนี้ ได้วันละสองร้อย ช่วงโควิดเคยไม่ได้เงินเลยก็มี แต่เราก็พยายามประคับประคองชีวิตกันไป รอเวลาให้อะไรๆ มันค่อยๆ ดีขึ้น”

        ลุงสมานเฝ้ารอสถานการณ์โรคระบาดให้ซาลงไปอย่างมีความหวัง แต่จู่ๆ กลับมาเกิดการเปลี่ยนแปลงกับหัวลำโพงที่เป็นเสมือน ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ ของเขาขึ้นเสียอีก เขาบอกว่า รู้สึกเป็นห่วงอนาคตของตัวเองอยู่เหมือนกัน

        “ผมหากินแถวนี้มานาน ถ้าย้ายไปผมไม่เห็นด้วย ใช้อันนี้เป็นสถานีแม่ ส่วนอันโน้น (บางซื่อ) เป็นสถานีลูก มันจะดีกว่าไหม อย่างคนที่พักอยู่แถวชานเมือง พอเข้ามาทำงานในเมือง ถ้ามาลงตรงนี้ มันสบายกว่า เพราะบริษัทห้างร้านต่างๆ ก็อยู่แถวนี้ ถ้าไปลงแถวบางซื่อ พอจะเข้ามาตรงนี้ ค่ารถก็แพงขึ้น ไหนจะขากลับอีก ยิ่งเพิ่มภาระเข้าไปใหญ่”

        กว่าค่อนชีวิตที่อยู่ในพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพงมาตลอด ลุงสมานบอกว่า นี่คือวิถีชีวิตของเขา และหัวลำโพงสำหรับเขา คือสัญลักษณ์สำคัญของประเทศอีกด้วย

        “สถานีรถไฟแห่งนี้ รัชกาลที่ 5 ท่านสร้างขึ้นมา จะไปทุบของท่านได้ยังไง ที่นี่คือสัญลักษณ์ ปิดไม่ได้ เพราะทั่วโลกเขาก็รู้ว่านี่คือสถานีหัวลำโพง”

 

        การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นกับทุกอย่างบนโลก แต่ต้องไม่ลืมว่า ทุกๆ การเปลี่ยนแปลง ย่อมนำมาซึ่ง ‘ผลกระทบ’ ที่มักจะถูกส่งต่อกันไป บ้างได้รับผลกระทบน้อย บ้างได้รับผลกระทบมาก ทั้งหมดทั้งมวล ก่อนที่จะตัดสินใจนำความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใด ควรศึกษาและพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อให้เป็น ‘คำตอบ’ ที่เหมาะสมร่วมกันในท้ายที่สุด 

        ‘หัวลำโพง’ คงไม่ใช่เรื่องสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลง แต่การรู้จักจัดการกับความเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น นี่อาจเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ผู้คนในสังคมควรมี และให้ความสำคัญให้มากที่สุด…